ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
3 มิถุนายน 2564
 
All Blogs
 
พระปรางค์วัดขุนแผน

“พระปรางค์วัดขุนแผน - พระปรางค์วัดเขารักษ์” เมืองหน้าด่านกรุงศรีอยุธยา บนเส้นทางตะวันตก
“เส้นทางตะวันตก” หรือ เส้นทางการค้าโบราณจากอ่าวเมาะตะมะ เข้าช่องด่านเจดีย์สามองค์ ข้ามเทือกเขาตะนาวศรีมาตามแควใหญ่–แควน้อย แยกแม่น้ำแม่กลองผ่านเข้าลำน้ำทวน ต่อมายังแม่น้ำจระเข้สามพันสู่เมืองโบราณอู่ทองออกไปยังแม่น้ำท่าจีน เชื่อมต่อมายังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ปรากฏร่องรอยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนมาถึงยุคอาณาจักรศรีเกษตร วัฒนธรรมพยู ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-12 เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเมืองโบราณอู่ทอง– นครปฐม ในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี  
.
จนมาถึงในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่ออาณาจักรมอญ-รามัญที่มีศูนย์กลางราชสำนักอยู่ที่เมืองพะโค-หงสาวดี พันธมิตรเก่าแก่ของรัฐสุพรรณภูมิเดิม ถูกรุกรานโดยอาณาจักรอังวะ อาณาจักรแปร จนในที่สุดก็เสียอาณาจักรให้แก่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรตองอู ซึ่งการขยายอำนาจด้วยการสงครามของอาณาจักรอังวะและอาณาจักรแปรในเขตพม่าตอนกลาง อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาต้องเข้ามาตั้งเมืองหน้าด่าน ที่ “เมืองท่าเสา” (เมืองกาญจนบุรีเก่า) บริเวณสบน้ำระหว่างห้วยลำตะเพินบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ ทางใต้ของเขาชนไก่ ซึ่งการตั้งเมืองหน้าด่านที่เมืองท่าเสาได้มีการสร้าง “พระมหาธาตุเจดีย์” ประจำชุมชน เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ขึ้นที่วัดขุนแผนครับ  
.
ตามเส้นทางลำน้ำทวน-จระเข้สามพัน ที่เชื่อมต่อขึ้นไปยังเขาพระยาแมน (แถน) ที่เมืองโบราณอู่ทอง จะไหลผ่านเขาลูกโดด 2 ลูก โดยมี “เขารักษ์” อยู่ในเขตตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา และ “เขาคลุกคลี” ในเขตตำบลตลาดเขต อำเภอพนมทวน ขนาบลำน้ำทั้งสองฝั่งอยู่ ซึ่งตามสภาพภูมิประเทศของเส้นทางแล้ว บริเวณนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นที่สูงที่สามารถมองเห็นการเดินทางตามเส้นทางน้ำได้จากมุมมองระยะไกล หากในกรณีที่จะเกิดเป็นการสงครามระหว่างอาณาจักร ที่จะเปลี่ยนแปลงให้เส้นทางการค้าโบราณจากด่านพระเจดีย์สามองค์นี้ กลายมาเป็นเส้นทางเดินทัพของอาณาจักรพม่าในอีกไม่นานนัก
.
พื้นที่ระหว่างสองเขาที่ขนาบแม่น้ำจระเข้สามพัน อาจเคยมีชุมชนโบราณขนาดใหญ่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้เข้ามาใช้ยอดเขารักษ์เป็นจุดสังเกตการณ์ระยะไกล ที่จะสามารถมองเห็นเส้นทางน้ำที่ไหลขึ้นมาจากแม่น้ำกลองได้ดีกว่า จึงได้มีการสร้างวัดที่มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานขึ้นบนยอดเขา เพื่อเกณฑ์ให้มีผู้คนขึ้นไปอยู่อาศัยสังเกตการณ์ อีกทั้งยังมีจุดสังเกตการณ์บนยอดเขาน้อย ปลายสุดทางทิศใต้ของเขาคลุกคลี ใกล้กับแม่น้ำจระเข้สามพันในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการสร้างวัดและพระเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาขึ้นเช่นกันครับ 
--------------------------
*** “พระปรางค์วัดขุนแผน” และ “พระปรางค์เขารักษ์” เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกัน มีฐานเขียง (อุปานะ) ขนาด 10*10 เมตร รองฐานปัทม์ซ้อนชุดฐานลดหลั่นขึ้นไปแบบพีระมิด (ปรางค์วัดขุนแผน 3 ชุด ปรางค์เขารักษ์ 2 ชุด) ท้องไม้แต่ละชั้นคาดแถบบัวลูกฟักเหลี่ยมขนาดใหญ่ ที่ดูเหมือนว่าปรางค์วัดขุนแผนจะมีแบบแผนของบัวลูกฟักเหลี่ยมเก่าแก่กว่า ด้านบนฐานสูงเป็นเรือนธาตุเป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยม มุมหลักมีขนาดใหญ่กว่ามุมรอง ยกเก็จประธานซ้อน 2 กระเปาะ เก็จกลางยกซุ้มประตูซ้อน 2 ชั้น รับหน้าบันแบบใบหอกซ้อนติดกัน ซุ้มประตูเป็นผนังช่องจระนำทั้ง 4 ด้าน ไม่มีประตูทางเข้าเรือนธาตุ  
.
เหนือบัวรัดเกล้าเป็นชั้นอัสดงแบบประดับด้วยกลีบขนุนชะลูดแหลมไม่มีรูปประติมากรรมครุฑแบกมุมไขรา ยกชั้นวิมาน (รัดประคด-เชิงบาตร) แยกจากกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป 6 ชั้น ประดับกลีบขนุน (บัวกาบขนุน) เรียงชิดกัน กลีบขนุนของมุมหลักในแต่ละชั้นมีความสูงเท่ากับมุมย่อย แผ่นบรรพแถลงวางในระดับเดียวกับกลีบขนุนเหนือลวดบัวเชิงบาตรของมุขหน้าเก็จประธานในแต่ละชั้นทำเป็นรูปใบเสมา รูปทรงชั้นวิมานของพระปรางค์ทั้งสอง แตกต่างไปจากยอดปรางค์ทรงงาเนียมที่เคยนิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ครับ
.
*** ใบเสมาที่พบจากวัดเขารักษ์ทำขึ้นจากหินชนวน ไม่มีความหนา แกะสลักลวดลายประดับตามใบเสมาหินทรายแดงแบบรัฐสุพรรณภูมิที่เคยนิยมในยุคก่อนหน้า โดยวางรูปเสมาเป็นทรงกลีบบัวยอดแหลม คอดเอว ไม่ชะลูดสูง ส่วน“หน้าเสมา” สลักเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายนกนางแอ่นกางปีกโค้ง (ปีกค้างคาว) ภายในมีลวดลายสลักโดยมีประธานของลายอยู่ตรงกลาง มีโก่งคิ้วเป็นเสนลวดนูนรองรับใต้ปีก เดินเส้นลวดนูนคู่มาตามขอบข้างลงมาที่ “ท้องใบ” ที่วางโครงลายกรอบสามเหลี่ยมทรงจอมแห ยอดแหลมรับสันนูนของอกเลา (สันกลีบใบบัว) สลักลวดลายภายในกรอบ ฐานใบเป็นหน้ากระดานเหนือเดือย ขอบใบมีเส้นสันจากหมวก (จุก) ลงมาชนกับหน้ากระดานใต้เอว ซึ่งเป็นรูปแบบงานศิลปะของใบเสมาในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21  
*** พระปรางค์วัดขุนแผน พระธาตุแห่งเมืองท่าเสา (กาญจนบุรีเก่า) ควรถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ส่วนพระปรางค์วัดเขารักษ์ ควรถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังกว่า ประมาณกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 จากปลายยุคสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มาจนถึงสมัยพระไชยราชาธิราช ที่เมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาบนเส้นทางตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเส้นทางเดินทัพสำคัญในการพระราชสงครามระหว่างสองอาณาจักรครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy



Create Date : 03 มิถุนายน 2564
Last Update : 3 มิถุนายน 2564 11:00:59 น. 2 comments
Counter : 677 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 4 มิถุนายน 2564 เวลา:8:35:51 น.  

 
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 4 มิถุนายน 2564 เวลา:9:18:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.