ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2563
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
15 พฤศจิกายน 2563
 
All Blogs
 
ปราสาทบายน

ปราสาทบายน
ศิลปะอันงดงามที่ “ซอกรักแร้” บายน  
“รักแร้” ในที่นี้ หมายความถึง “มุม”  (Corner) ที่ผนังสองด้านชนเข้าหากันแบบตั้งฉาก ทั้งแบบหักเข้าด้านในเป็น “ซอก” และ “สันมุม” ที่เป็นการชนตั้งฉากกันแบบ “หักออก” แบบเดียวกับการยกเก็จบนผนังเรือนสี่เหลี่ยมที่ทำให้เกิดผนังใหม่ยื่นออกมาจากผนังเรือนเดิม จึงมีเก็จประธานยกขึ้น 1 กะเปาะ เกิดเป็นสันมุมทั้งสองด้าน หรือ การ “ยอมุม – ย่อมุมไม้ - ยกมุม” ที่คล้ายกับการยกเก็จ แต่จะลดขนาดของเรือนสี่เหลี่ยมที่มุม พอ ๆ กับการเพิ่มมุม ทำให้เกิดสันมุมเพิ่มได้เป็นจำนวนมากที่บริเวณมุม ทั้ง 4 ด้านของตัวเรือนเท่านั้น
ซอกรักแร้ ที่มีผนังหักมุมตั้งฉากเข้าไปเป็นซอกมุม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคารแบบต่าง ๆ ทั้งปราสาท กําแพง  อุโบสถ เทวาลัย 
ซอกรักแร้ ในงานสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นมุมฉาก แต่ในงานก่อสร้างปราสาทเทวาลัยที่มีการวางเรือนธาตุของวิมานซ้อนชั้นที่มีขนาดใหญ่มีเรือนสี่เหลี่ยมตรงกลางขนาดใหญ่กว่า มุมที่ยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน กมุมของเรือนธาตุก็จะแทรกออกมาตรงมุมรักแร้ ทำให้เกิดเป็นสันมุมใหญ่ขึ้นมา แต่หากยอดปราสาทมีขนาดใหญ่ เพิ่มมุมขึ้นมากกว่า 1 มุม ตามมุมของเรือนวิมานซ้อนชั้น (ยอดปราสาทด้านบน) ก็จะเกิดการยกสันมุมจากมุมหลักขนาดใหญ่ของเรือนที่มุมรักแร้เพิ่มขึ้น 
-----------------------------------
*** ในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 งานศิลปะแห่งราชสำนักบายน ได้เกิดเทคนิคการก่อหินขยายซอกมุมรักแร้ เพื่อเสริมผนังกำแพงมุขรองรับน้ำหนักเรือนวิมานที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการแกะสลักงานศิลปะลวดลายประดับหินที่ก่อเสริมซอกรักแร้ จนทำให้ตัวอาคารมีความสวยงามโดดเด่น แตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่เป็นเพียงการสลักลวดลายบนผนังว่างของซอกรักแร้ ทั้งแบบมุมฉากหรือสันมุมที่ยกขึ้นตามการยกมุมของเรือนธาตุเท่านั้น
งานศิลปะแกะสลักที่ซอกมุมรักแร้ที่ดูงดงามที่สุดก็คงต้องยกให้ ซอกรักแร้ของซุ้มประตูเมืองพระนครธม-พระนครหลวง “นครชยศรี”(Nokor - Nagara Jaya sri) ทั้ง  5 ประตู ที่เป็นประตูก่อซุ้มโค้ง (Arc) ขนาดใหญ่ ซ้อนด้วยยอดปราสาท 3 ยอด ยอดกลางสูง 23 เมตร สลักเป็นรูปใบพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในฐานะที่ทรงเป็น “พระมหาโพธิสัตว์” ผู้ดูแลคุ้มครองอาณาจักรไปทั่วทุกทิศ
ที่ซอกรักแร้ซุ้มประตูมีการก่อหินขยายมุม เพื่อเสริมผนังกำแพงมุขรองรับน้ำหนักเรือนวิมานขนาดใหญ่ที่ด้านบน สลักเป็นรูปพระอินทรา (พระอินทร์ ท้าวสักกะเทวราช) และพระมเหสี ทรงช้างไอราวตตะ – เอราวัณ (Airavata - Airāvana) 3 เศียร ในท่ามกลางสระบัว โดยช่างได้ประยุกต์ให้ปลายงวงช้างยุดดึงกอบัวขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเสารองรับน้ำหนักหินสลักส่วนหน้าช้างและงวงที่ยื่นออกมา
ในคัมภีร์ “ฤคเวท” (Rigveda) ของฝ่ายฮินดู และวรรณกรรม “มหากาพย์รามายาณะ” (Ramayana story Sanskrit epic) เล่าว่า เมื่อพระอินทร์ทรงช้างไอราวตตะ ไปปราบอสูรงูยักษ์ “วฤตระ” (Vritra) ที่ยึดครองน้ำไปเก็บไว้ใต้ยมโลก เมื่อได้รับชัยชนะพระอินทร์ได้แหวกท้องอสูร เพื่อนำน้ำกลับคืนมา ในบางสำนวนเล่าว่า “...ช้างผู้ยิ่งใหญ่ได้ใช้งวง ยื่นลงไปดูดน้ำจากยมโลกกลับขึ้นมา และได้ก็พ่นน้ำขึ้นไป ทำให้เกิดเป็นเมฆบนท้องฟ้า พระอินทร์ทรงใช้วัชระเป็นสายฟ้าบันดาลให้เกิดลมฝนและพายุ น้ำฝนฉ่ำเย็นโปรยปรายลงมาจากนภา เกิดเป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงแผ่นดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลก....” 
คติพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงหมายถึงเป็นเทพเจ้าผู้พิชิตความแห้งแล้ง เทพเจ้าผู้สร้างเมฆฝนและเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ ส่วนช้างไอราวตตะในยุคโบราณ หมายถึง “ช้าง (ผู้เป็น) เมฆฝน” (Elephant of the clouds) 
ในวรรณกรรมฝ่ายพุทธศาสนากล่าวถึงช้างเอราวัณว่ามี 33 หัว แต่ละเศียรมีงา 7 งา งาแต่ละงายาวถึง 4 ล้านวา งาแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ มี 7 เกสร แต่ละเกสรมีปราสาทอยู่ 7 หลัง ปราสาทแต่ละหลังมี 7 ชั้น แต่ละชั้นมี 7 ห้อง แต่ละห้องมี 7 บัลลังก์ แต่ละบัลลังก์มีเทพธิดาสถิต 7 องค์ เทพธิดาแต่ละองค์มีบริวาร องค์ละ 7 นาง เทพธิดาบริวารแต่ละนางมีนางทาสีนางละ 7 ทาสี รวมทั้งนางเทพอัปสรทั้งหมดประมาณ 190,248,432 นาง เทพธิดา บริวารรวมกันทั้งหมดประมาณ 13,331,669,031 นาง  แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสระบัวโบกขรณีที่เป็นสัญลักษณ์ของช้างไอราวตตะ-เอราวัณ วรรณกรรมพุทะศาสนาบางสำนวนเล่าว่า ในยามที่โลกสงบสุข ปราศจากความแห้งแล้งและทุกข์ยาก พระอินทร์เมื่อมีเวลาว่าง ก็จะพาพระมเหสีทรงช้างเอราวัณชมอุทยานสวรรค์ “จิตรลดา” ในท่ามกลางสระบัว (สระโบกขรณี) ที่ชื่อว่า “สุนันทา” บนสวรรค์ดาวดึงส์ (Trāyastriṃśa) 
งานศิลปะสลักรูปช้างเอราวัณเกี่ยวรั้งกอบัวที่มุมรักแร้ซุ้มประตูเมืองนครชยศรี (นครธม) จึงมีความหมายถึงความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร อันเกิดขึ้นจากพระมหาโพธิสัตว์ (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ) ที่ปรากฏเป็นรูปสลักส่วนพระพักตร์ขนาดใหญ่อยู่เหนือยอดประตูนั่นเอง
----------------------------
*** งานสลักประดับมุมรักแร้ที่มีความวิจิตรอลังการที่สุด น่าอยู่ที่  “ปราสาทพระถกล” (Preah Thkol) หรือที่เรียกกันว่า “ปราสาทแม่บุญ” (Mebon) ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางบารายใหญ่ ทางตะวันออกของเมืองรูปสี่เหลี่ยม  “ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย” (Preah Khan Kampog Svay) นครใหญ่ทางตะวันออกในยุคจักรวรรดิบายน
ภาพลายเส้นที่ “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศส ได้เคยบันทึกในช่วงทศวรรษที่ 2400 ได้แสดงรูปสลักที่ซอกรักแร้ของเรือนธาตุ สลักเป็นรูปช้างไอราวตตะ 3 เศียรดึงกอบัวในท่ามกลางหมู่นางอัปสราและเทพยดาบนสวรรค์ผุดออกจากดอกบัวถวายอัญชลี ด้านบนขึ้นไปทำเป็นครุฑมีแผงขนคอรอบหัวตามแบบศิลปะบายนกำลังยุดนาคเหนือหน้าเกียรติมุขขนาดใหญ่ที่มุมหลักของเรือนธาตุ หัวนาคผุดออกออกด้านข้าง โดยครุฑยกแขนกางปีกแบกชั้นบัวรัดเกล้าที่ด้านบนสลักประดับเป็นรูปหมู่หงส์เหิน
เป็นที่น่าเสียดายว่า รูปสลักอันงดงามที่กำปงสวายได้ถูกปล้นสะดม สกัดหินตัดออกไปขายในช่วงสงครามกลางเมือง คงเหลือความงดงามจากอดีตเพียงไม่มากนัก 
----------------------------
*** ที่ซอกรักแร้ของซุ้มประตูด้านนอกสุดที่ปราสาทตาพรหม ปราสาทบันเตียกะเดย (บันทายกุฎี) ปราสาทบันทายฉมาร์ อันเป็นศาสนสถานราชวิหาระ-ศาสนวิหารในยุคสมัยราชสำนักบายนเดียวกัน ปรากฏงานสลักรูป “ครุฑยุดนาค” (Khrut yut nak - Garuda holding Nāga) ในความหมายของความดีเหนือความชั่ว  ที่ฝ่ายพุทธศาสนามหายานยืมรูปศิลปะมาจากคติฮินดูโดยไม่มีพระวิษณุมาประกอบ โดยสลักเป็นรูปพญาครุฑมีแผงขนรอบหัวแบบศิลปะบายน กางปีกยกแขนที่จับหางนาคชูขึ้น ส่วนกงเล็บพญาครุฑจับตัวนาคตรงส่วนหัวที่แยก (ส่ายเป็น 5 หัว) ออกเป็นสามทาง
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า



Create Date : 15 พฤศจิกายน 2563
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2563 20:53:39 น. 1 comments
Counter : 468 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 17 ธันวาคม 2563 เวลา:11:54:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.