ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
10 พฤศจิกายน 2564
 
All Blogs
 
เจดีย์วัดจงกรม สุพรรณบุรี

“พระเจดีย์วัดจงกรม” ชะลูดสูงแบบสุพรรณภูมิ ครอบเจดีย์ทรงลังกาองค์แรกในอยุทธยา
 
ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 อิทธิพลในคติความเชื่อและงานศิลปะของพุทธศาสนาแบบ “ลังกาวงศ์” ได้เริ่มเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากร่องรอยหลักฐานที่กล่าวถึงพระราหุลเถระชาวลังกาและพระฉปัฏเถระชาวพุกาม พระเถระอีก 4 รูป และคณะพระสงฆ์อีกหลายคณะได้เดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยยังเกาะลังกา และชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกากลับมาที่พุกามและนครศรีธรรมราช จนราชสำนักตามพรลิงค์/ศรีวิชัยเดิม (จันทรภาณุ/ปทุมวงศ์) ที่เคยนิยมในนิกายมหายาน เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้เกิดมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ทรงโอคว่ำ (ฟองน้ำ) แบบเจดีย์ลังกาบนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยม มีชุดฐานเริ่มจากฐานปัทม์ (มีท้องไม้) สัณฐานกลม 3 ชั้น รองรับส่วนอัณฑะ (ระฆัง) บัลลังก์ด้านบนผังสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับพระเจดีย์ฉปัฏในอาณาจักรพุกาม พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จึงเป็นพระเจดีย์ในคติ “มหาธาตุ” ของฝ่ายลังกาวงศ์องค์แรกในประเทศไทยครับ
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ยังมีคณะพระสงฆ์จากสุโขทัย เดินทางผ่านเมืองรามัญไปยังลังกา ดังความในชินกาลมาลีปกรณ์ว่า “...พระสุมนเถระชาวเมืองสุโขทัยไปเมืองอโยชชปุระ (หริภุญชัย ?) แล้วเล่าเรียนพระธรรมในสำนักครูหลายครูแล้วกลับมาเมืองสุโขทัยอีก ครั้งนั้นพระมหาสามีชื่ออุทุมพรมาจากลังกาทวีปสู่รัมมนะ (รามัญ) ประเทศ พระสุมนเถระทราบข่าวนั้นแล้วจึงไปรัมมนะประเทศกับพระภิกษุผู้เป็นสหาย (พระอโนมทัสสี) ได้บวชอีกครั้งหนึ่งในสำนักของพระอุทุมพรมหาสามีแล้วเล่าเรียนพระธรรม (ที่เมืองพัน/เมาะตะมะ - Martaban)...”
.
ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 19 คณะพระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายในอิทธิพลพุกาม/ลังกาวงศ์ จากกรุงสุโขทัยเดินทางลงมาเผยแพร่พุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา และได้รับการยอมรับจากราชสำนักและผู้คนในเขตรัฐอยุธยา ยกย่องให้เป็นมหาสวามีองค์สำคัญ  
.
เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา/รามัญนิกายจึงเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกครับ
*** เจดีย์สุโขทัย มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับเจดีย์ในลังกาแต่รับอิทธิพลผสมผสานมาจากพุกาม มีลักษณะเด่นคือ ส่วนฐานล่างสุดนิยมทำเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเขียง 2 – 3 ชั้นรองรับฐานตรีมาลากลม ฐานบัวคว่ำแบบมีท้องไม้คั่นคล้ายปลายฉัตรหรือลาดหลังคา ที่เรียกว่า“บัวถลา” 3 ชั้น
.    
ใต้องค์ระฆังทำเป็น “บัวปากระฆัง” ทำเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายแบบไม่มีช่องท้องไม้ ใต้องค์ระฆังทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ อ้วนป้อม (ทรงฟองน้ำ) ตามแบบลังกา ไม่นิยมทำปากผาย บัลลังก์เหนือองค์ระฆังเป็นฐานปัทม์ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีเส้นลวด 2 เส้นคาดที่ท้องไม้ เหนือขึ้นไปเป็นก้านฉัตรผังกลมใหญ่ รองรับปล้องไฉน (ฉัตรวลี) มีบัวฝาละมี ปล้องไฉนและปลียอดครับ 
.
ซึ่งชุดประดับฐานเรือนอัญฑะอย่างบัวถลา บัวปากระฆัง ระฆังทรงโอคว่ำไม่ผายปากและฐานบัลลังก์ใหญ่มีเส้นลวด คือลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา/รามัญนิกาย ที่เป็นงานศิลปะนิยมจากรัฐสุโขทัยโดยตรง 
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เจดีย์ประธานในศาสนสถานของเขตเกาะเมืองใหม่ ยังคงนิยมเจดีย์ทรงปราสาทแบบรัฐละโว้/ศรีเทพ เจดีย์ 8 เหลี่ยม/ระฆังทรงลอมฟาง (ไม่มีบัลลังก์) แบบรัฐสุพรรณภูมิ ยังไม่ปรากฏความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงระฆังขึ้นแต่อย่างใดครับ 
.
--------------------------
*** “วัดจงกรม” ตั้งอยู่ในเขตชุมชนโบราณคลองสระบัว ทางตอนเหนือนอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา เจดีย์ประธานของวัดเป็นเจดีย์ทรงเพรียวชะลูด ก่ออิฐสอดิน สูงถึงยอดลูกแก้วประมาณ 30 เมตร ฐานล่างเป็นฐานเขียง ผัง 8 เหลี่ยม 3 ชั้น (ตรีมาลา) เรือนธาตุใหญ่ผังแปดเหลี่ยมท้องไม้กว้าง 2 ชั้น รองรับฐานปัทม์กลมที่มีการเสริมจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป (ในยุคหลัง) เหนือขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา (บัวลูกแก้ววางห่าง) รองรับองค์ระฆังทรงชะลูดสูง (แบบลอมฟาง/สุพรรณภูมิ) ฐานบัลลังก์แปดเหลี่ยมสูง (ท้องกว้าง) ก้านฉัตรใหญ่ (มีการเพิ่มเสาหานเข้ามาจากการปฏิสังขรณ์ในยุคหลัง) 
.
โครงสร้างเจดีย์ก่ออิฐแบบทิ้งน้ำหนักลงผนัง ช่องว่างภายในเรือนธาตุชั้นแรกเป็นรูปกลม เรือนธาตุชั้นบนขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผนังสอบเข้าหากันจนถึงส่วนระฆัง ใช้ขื่อไม้ใหญ่ค้ำทแยงตรงค้ำยันผนังอิฐจากภายในขึ้นไปหลายจุด ห้องคูหามีการเสริมผนังทำเป็นช่องโค้งประดิษฐานพระพุทธรูป 7 ช่อง (เว้นช่องประตู) ครับ
.
*** การขุดแต่งในปี พ.ศ. 2542 - 2544 แสดงให้เห็นว่า เจดีย์ประธานวัดจงกรมนี้ อาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงกลาง-ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 และมีการก่อพอกปฏิสังขรณ์ต่อเติมหลายครั้ง
.
*** เจดีย์ประธานทรงสูงที่เห็นอยู่ จึงควรถูกสร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์/จากเมืองสุพรรณบุรี/สุพรรณภูมิ) หรือในช่วงต้นสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา/จากเมืองสุพรรณบุรี) ก่อนเกิดความนิยมเจดีย์ทรงปราสาทในช่วงหลังครับ
.
แต่พระเจดีย์ประธานของวัดจงกรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็สร้างครอบทับเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่ง ปรากฏช่องทางเข้าไปภายในองค์เจดีย์เป็นซุ้มโค้งยอดแหลม (ก่ออิฐแบบเหลือมซ้อน) ที่ผนังทางด้านตะวันออก ภายในห้องคูหาแคบ ๆ มีเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานล่าง (ห้องกรุ) ถูกฝังจมลงไปในพื้นของฐานเจดีย์ใหญ่ที่ก่อส่วนฐานขึ้นมาประสานจนเจดีย์เล็กได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างฐานใหม่ ส่วนที่ลอยอยู่เหนือพื้นในคูหาเป็นเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่นัก ฐานประดับลวดบัวถลาแบบสุโขทัย 2 ชั้น บัวปากระฆัง องค์ระฆังแบบฟองน้ำลังกาไม่ผายปาก ฐานบัลลังก์ใหญ่คาดลวดซ้อน (อกไก่บนลูกฟัก) 2 เส้น ส่วนยอดหักพังทลาย (จากโครงขื่อไม้ด้านบนที่ค้ำทรงเจดีย์ใหญ่จากภายในที่ผุพังลงมา) ซึ่งเป็นเจดีย์ในศิลปะนิยมแบบรัฐสุโขทัย  
.
*** เจดีย์เล็กภายในเจดีย์ใหญ่วัดจงกรม เป็นเจดีย์ทรงระฆังลังกาจากอิทธิพลคติความเชื่อแบบรามัญนิกายและงานสถาปัตยกรรมแบบรัฐสุโขทัยองค์แรกของอยุทธยา สอดรับกับช่วงเวลาที่พระปิยทัสสีเดินทางลงมาเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์/รามัญนิกายในกรุงศรีอยุธยา ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 –ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และยังได้มีการเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยในคติเดียวกันขนาดไม่ใหญ่นักที่วัดสมณโกฏฐาราม ทางตะวันออกของเกาะเมือง ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันครับ
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy



Create Date : 10 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2564 21:44:48 น. 0 comments
Counter : 333 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.