ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
8 กุมภาพันธ์ 2565
 
All Blogs
 
พระพุทธบาทสระบุรี

“หัวเม็ดยอดเสา” ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย พระมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี
.
.
.
“หัวเม็ด” คือ ชิ้นส่วนประดับ “ยอดเสา” หรือ “หัวเสา” ของกำแพงพระระเบียงหรือกำแพง/กำแพงแก้ว หรือแบบเสาเดี่ยว เรียกว่า “เสาหัวเม็ด” มีรูปทรงนิยม คือ หัวเม็ดทรงหม้อน้ำกลมยอดฝาหม้อน้ำ เรียงแหวนบัวลูกแก้วขึ้นไปจบที่ยอดแหม คล้ายตัวขุนเกมหมากรุก หัวเม็ดทรงหม้อน้ำเหลี่ยม เรียงชั้นเหลี่ยมขึ้นไปแบบเดียวกับแหวนลูกแก้วจบที่ยอดแหลม ทรงเหลี่ยมแบบยกมุม/หยักมุม หัวเม็ดทรงมัณฑ์/มณฑป เรือนยอดแหลมทรงปราสาท เป็นงานประดับสถาปัตยกรรมที่เริ่มนิยมมากในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา
.
พระมณฑปพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตําบลขุนโกลน อําเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี  สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แต่เดิมเป็นมณฑปโปร่งทรงยอดแหลม/กุฎาคาร ค้ำด้วยเสาใหญ่ไม่มีผนัง ซึ่งต่อมาได้รับการทำนุบำรุง/เสด็จมานมัสการบวงสรวงพระพุทธบาทในทุกรัชกาล ทั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระมหาบุรุษ/พระเพทราชา จนถึงสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี/พระเจ้าเสือ จึงมีการเปลี่ยนแปลงหลังคายอดพระมณฑปเป็นห้ายอด โดยมี พระครูสุวรรณมุนี/สมเด็จพระสังฆราชแตงโม เป็นแม่งาน
.
ถึงสมัยสมเด็จพระภูมินทราธิบดี/พระเจ้าท้ายสระ จึงได้มีการก่อผนังกำแพงระหว่างเสาเพื่อประดับกระจกเงาปั้นลายปิดทองภายใน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2/พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการหุ้มแผ่นทองคำหุ้มส่วนนาค เหมและยอดพระมณฑป ปูพื้นภายในด้วยแผ่นเงิน สร้างบานประตูประดับมุก ทั้ง 4 ด้าน    และหล่อเศียรนาค (สวมมงกุฎ) ชายราวบันไดฝั่งทิศเหนือ

ในสมัยสมเด็จกรมขุนพรพินิต/พระเจ้าอุทุมพร ได้มีหุ้มแผ่นทองคำหลังคาพระมณฑป จนถึงสมเด็จพระสุริยาสน์อมรินทร์/พระเจ้าเอกทัศน์ กลุ่มชาวจีนอาสาจากคลองสวนพูลได้เข้าปล้นสะดมเผาทำลายพระมณฑป ลอกแผ่นทองคำและแผ่นเงินออกไปทั้งหมด
.
*** พระมณฑปพระพุทธบาท จึงเพิ่งได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ซ่อมประตูมุกที่เหลือรอดจากการเผาทำลายและสร้างขึ้นใหม่ ปูพื้นด้วยแผ่นเงิน หล่อเศียรนาคบันไดฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (2 คู่) ซึ่งการบูรณปฏิสังขรณ์ยังต่อเนื่องมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย/รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 3 
.
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 4 ได้มีการซ่อมแซมหลังคาเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างไม้ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท 4 ครั้ง   โดยในช่วงปลายรัชกาล ต่อเนื่องมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว/รัชกาลที่ 6  ได้มีการสร้างหลังคามณฑปขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยได้เสด็จมายกยอดพระมณฑปเมื่อปี พ.ศ. 2456
.
*** กำแพงแก้วล้อมรอบพระมณฑปเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนความสูงไม่มากนัก ชั้นล่างสุดเป็นระเบียงของฐานไพทีใหญ่ มีหัวเม็ดยอดเสาทรงมัณฑ์ทั้งหมด ชั้นที่ 2 และ 3 ผนังทึบแต่เจาะช่องยอดโค้งสอบแหลมไม่ทะลุเพื่อวางฝางประทีป มีหัวเม็ดยอดเสาทรงมัณฑ์ทั้งหมด ผนังระเบียงชั้นประทักษิณชั้นที่ 4 บนสุด ตั้งบนฐานสูงประดับฐานสิงห์ที่หน้ากระดานล่าง ผนังเจาะเป็นช่องลมยอดสอบแหลม เสาของระเบียงเป็นเสาสี่เหลี่ยมฐานบัว/หัวบัว สันเว้าโค้งแอ่นกลางเล็กน้อย ยกมุม 12  ยอดเสาหัวเม็ดของชั้นที่ 3 และ 4 บางเสาแกะสลักหินสบู่ (Soapstone) เป็นรูปปราสาทยอดปรางค์ขนาดเล็กมีซุ้มหน้าบันซ้อนปลายนาคเบือน 4 ด้าน ประดับกระจังที่มุมยก ส่วนฐานแกะสลักมุม 12 รับตรงมุมกับบัวยอดเสา ประดับมุมเสาระเบียงชั้นที่ 3 และมุมระเบียงชั้นบนรวม 8 ยอด แกะสลักเป็นรูปปราสาทยอดแหลม/เจดีย์ยกมุมไม้ 12 มีมุขหน้าบันซ้อนปลายนาคเบือน 4 ด้านประดับกระจังที่มุมยก ชั้นที่ 3 จำนวน 12 ยอด ชั้นบน 8 ยอด  
.
*** มีคำอธิบายว่า เดิมทีหัวเม็ด/หัวเสาระเบียงแกะสลักจากหินสบู่นี้เคยอยู่ที่วัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ดังที่พบเสมาทรงซุ้มที่แกะสลักเป็นช่องเพื่อวางฝาง/ตะคันพระประทีป บนสันกำแพงแก้วล้อมรอบลานประทักษิณของฐานไพทีองค์พระปรางค์ประธาน อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทได้ไปขนย้ายมาประดับกำแพงแก้วล้อมพระมณฑป ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6-7
.
*** แต่จากภาพวาดลายเส้นของ อ็องรี มูโอ ในปี พ.ศ. 2404 (รัชกาลที่  4) และภาพถ่ายเก่าประมาณ ปี พ.ศ. 2447 (รัชกาลที่ 5) และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2449 (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) ได้แสดงให้เห็นว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชั้นต่าง ๆ ของพระมณฑปได้สร้างเสร็จสมบูรณ์มาก่อนห้าแล้ว และก่อนหน้าจะมีการบูรณะส่วนเรือนยอดมณฑปครั้งใหญ่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 นั้น มีหัวเม็ดทรงปรางค์และเจดีย์เหล่านี้ประดับมาอยู่แล้ว   
.
หัวเม็ด/ยอดเสา แกะสลักจากหินสบู่ของพระมณฑปพระพุทธบาทจึงควรถูกแกะสลักขึ้นเพื่อประดับระเบียงของพระพุทธบาทโดยตรงในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังรูปศิลปะของกระจังปฏิญาณประดับมุมยกของหัวเม็ด หน้าบันลายกระหนกใบขด ลำยองตวัดไอยราโค้งที่มีกระจัง 3 ตัวเรียงด้านล่าง และรูปแบบสถาปัตยกรรมนิยมอย่างแข้งสิงห์ฐานประทักษิณบนและการเจาะช่องกำแพงรูปซุ้มยอดสอบแหลมเพื่อประดับฝางประทีป ที่ล้วนเป็นศิลปะในพระราชนิยมในช่วงเวลานี้
.
*** หัวเม็ดยอดเสาแกะสลักจากหินสบู่ ประดับพระมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ได้รับการซ่อมแซมใหม่ในช่วงยุคปัจจุบันจนสมบูรณ์ เป็นหัวเม็ดยอดเสาพระระเบียงที่จัดได้ว่ามีความงดงามที่สุดของประเทศไทยเลยครับ
เครดิต FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy


Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2565 12:34:39 น. 1 comments
Counter : 522 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา:3:38:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.