ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2565
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
8 กุมภาพันธ์ 2565
 
All Blogs
 
ที่มาชื่อนครวัด

วิมานบนยอดสุดแห่ง “นครวัด/บรมวิษณุโลก”

ชื่อนามของ “นครวัด” (Angkor Wat) ในอดีต คือ “มหาวิษณุโลก” (Mahā Viṣṇuloka) ต่อมาคือเมืองพิศนุโลก (Bisnuloka) ที่เป็น “วัดพระเชตุพน” (Wat PhraJetavana) ตามพระนามของพระเจ้าสูรยวรมเทว ที่ 2 (Suryavarmadeva II) ภายหลังการสวรรคตว่า “บรมวิษณุโลก- พระบาทมหาวิษณุโลก” (Paramavishnuloka - Phra Bat Mahā Viṣṇuloka)  หรือ  "วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก" (Vora Bat Kamradeng An Paramavishnuloka)  ผู้สร้างมหาปราสาทอันยิ่งใหญ่ เป็น “พระเมรุมาศมหาปราสาท” เพื่อการเสด็จคืนสู่สวรรคาลัยไปรวมกับพระผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์ ตามคติความเชื่อ ปรมาตมัน/เทวราชา (Paramātman/Devarāja)
.
ซึ่งน่าจะเป็นการรวมกับพระวิษณุ โดยเชื่อว่าพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 เป็นดั่งพระอวตาร (Avatar) แห่งองค์พระวิษณุ ดังปรากฏภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงของระเบียงคดชั้นนอกและอวตารภาคอื่น ๆ ที่บอกเล่าวรรณกรรมสรรเสริญพระวิษณุในมหาวีรกรรมแต่ละอวตาร ทั้ง “กฤษณวตาร” (Krishna Avatar) ฉากสงครามทุ่งกุรุเกษตร พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ปราบท้าวพณาสูร กรุงพาณ “กูรมาวตาร” (Kurma Avatar) อวตารเป็นเต่าเพื่อปกป้องโลกจากเขามัทรคีรี ในการกวนเกษียรสมุทร “รามาจันทราวตาร” (Rama Avatar) อวตารเป็น “พระราม" ในมหากาพย์รามายณะ ภาพสลักชัยชนะของกองทัพเทวดาโดยการนำของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร ศึกเทวากับอสูร ฯลฯ ครับ
.
โดยผนังกำแพงของระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตกและฝั่งตะวันออก สลักเป็นเรื่องราวของพระองค์ในฐานะพระอวตาร เดินแบบ “อุตราวรรต” (เวียนซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา) ไปทางทิศตะวันออก เพื่อการเสด็จกลับคืนสู่สวรรคาลัยของพระองค์ เริ่มจากการนำขบวนกองทัพและพระเพลิง 22 กลุ่ม ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอันรุ่งเรืองในยุคสมัยของพระองค์ เดินผ่านการพิพากษาคุณงามความดี โดย “พระยมราชา” 18 กร ทรงกระบือ เทพเจ้าแห่งความความตาย และผู้ช่วย “ธรรมบาล - จิตรคุปต์” บนผนังต่อเนื่องปีกตะวันออก
ซึ่งพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 พระมเหสี นางใน ขุนศึกและข้าราชบริพารของพระองค์ทั้งหมดในโลกแห่งความเป็นจริง ได้รับการตัดสินให้เสด็จขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ตามภาพสลักแถวบน ส่วนศัตรูผู้คิดร้ายต่อพระองค์ จะถูกตัดสินความ แยกพาไปลงนรก 32 ขุม ที่สลักภาพการลงทัณฑ์ไว้อย่างสยดสยองในแถวล่าง
.
ภาพสลักนางอัปสรา ที่มีความงามอันหลากหลายนับพันรูปที่สลักเสลาอยู่โดยทั่ว สะท้อนให้เห็นความเป็นสรวงสวรรค์ ในขณะที่เหล่านักบวชและเจ้าหน้าที่กำลังนำพระบรมอัฐิ/พระบรมราชสรีรางคาร ที่ผ่านพิธีถวายพระเพลิงศักดิ์สิทธิ์จาก “หอพระวรเพลิง”  (วฺร เวลิง) /พระเพลิงกลาโหม-พระสังเวียนพิธีกูณฑ์ โดยราชโหตาจารย์ เหล่าพราหมณ์และและเหล่าราชบัณฑิต ประกอบดนตรีประโคม สังข์ แตร ฆ้องกลองและการฟ้อนรำถวายในภาพสลักขบวนที่ 16 ครับ
.
ปราสาทประธานที่บรรจุพระบรมอัฐิ  เป็นปราสาทกลางเพิ่มมุมที่ยกชั้นซ้อนขึ้นไป 3 ชั้น มีเรือนวิมานเป็นยอดสูงสุดของมหาปราสาทในความหมายของเขาไกลาส/ไวกูณฐ์ มีซุ้มประตูและมุขชั้นลดแบบจัตุรมุขทั้ง 4 ด้าน ต่อระเบียงคดในรูปกากบาทเชื่อมต่อกับโคปุระในแต่ละทิศ เหนือมณฑปมุมระเบียงก่อเป็นยอดวิมานปราสาท 4 หลัง ในความหมายของมหาคีรีทั้ง 4 (สุทัสสนะกูฏ/จิตตะกูฏ/กาฬกูฏ/คันธมาทณ์กูฏ) ถัดลงมาเป็นปราสาทเหนือมุมระเบียงคดชั้น 2 ในความหมายของทวีปทั้ง 4 สอดรับกับการวางผังสระน้ำทั้ง 4 ของชั้นล่าง ที่หมายถึงมหาสมุทรทั้ง 4 (ปีตะสาคร/เกษียรสมุทร/ผลึกสาคร/นิลสาคร) บริเวณทางขึ้นด้านหน้าฝั่งตะวันตก 
.
ห้องครรภคฤหะของปราสาทประธานมีขนาดประมาณ 7*7 เมตร  มีฐานรูปประติมากรรมพระวิษณุ (?) ขนาดใหญ่ตั้งอยู่  ใต้ฐานตรงกลางก่อเป็นช่องลึกลงไปประมาณ 24 เมตร (อาจเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิพร้อมของมีค่าและใช้เป็นแกนเดือยของรูปเคารพ ?) แต่เดิมนั้นทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าไปภายในคูหาได้ทั้ง 4 ด้าน ซึ่งต่อมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 22  “นักองค์จัน” (Ang Chan I) “พระญาจันทราชา” (Chan Reachea) หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมราชาที่ 2 /สมเด็จพระบรมราชาองค์บรมบพิตร” ปฐมกษัตริย์อาณาจักรละแวก-ลงแวก (Lovek) ได้นำไพร่พลกลับมาครอบครองและฟื้นฟูปราสาทนครวัดขึ้นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม อย่างการแกะสลักภาพนูนต่ำบนผนังระเบียงคดชั้นแรกจากเค้าโครงเดิมที่ทิ้งค้างไว้ ฝั่งตะวันออกปีทิศเหนือและฝั่งทิศเหนือขึ้นใหม่ทั้งหมด 
.
*** จากรูปถ่ายเก่าภายในห้องครรภคฤหะ ของ“จอร์จ อเล็กซานเดอร์ ตรูเว่” (Georges Alexandre Trouvé) ภัณฑารักษ์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient หรือ EFEO)  ประมาณปี พ.ศ. 2477 และภาพของสำนักจดหมายเหตุ EFEO ประมาณปี พ.ศ. 2490 แสดงให้เห็นว่าแต่เดิมนั้นภายในห้องครรภคฤหะเคยมีฐานรูปเคารพขนาดใหญ่ในสภาพแตกหัก ที่กรอบประตูทั้ง 4 มีการนำหินก้อนมาอุดช่องประตู 3 ช่อง คงเหลือแต่ฝั่งทิศใต้เท่านั้นที่ไม่มีการอุดช่องกรอบประตูครับ
.
การอุดช่องประตูทั้ง 3 ด้าน คงเกิดขึ้นในสมัยนักองจันทราชา โดยได้มีการการแกะสลักพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยตามรูปแบบศิลปะละแวกบนผนังกำแพงด้านนอก โดยทางทิศใต้แกะสลักเป็นพระพุทธรูปยืนแบบลอยตัวในรูปศิลปะเดียวกัน ตั้งประดิษฐานที่หน้าประตู
.
*** การเปิดช่องประตูทางทิศใต้ของปราสาทประธานในสมัยพระญาจันทราชา อาจเพื่อให้สอดรับกับภาพสลักขบวนกองทัพและภาพการพิพากษาคุณความดีบนผนังระเบียงคดฝั่งทิศใต้ ที่ปรากฏรูปของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 และจารึกกำกับชื่อพระนาม “สมตจ วรปาท กมรเตง อัญ ปรมวิษณุโลก” ที่ชัดเจนทั้งสองภาพครับ 
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy


Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2565 21:26:34 น. 0 comments
Counter : 205 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.