ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
กันยายน 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
25 กันยายน 2563
 
All Blogs
 

กรุงสุโขทัย

กรุงสุโขทัย
ปราสาทสามยอด “พระพายหลวง” ราชวิหารบายนแห่งกรุงสุโขทัย-ศรีชยเกษมปุรี
     ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 อิทธิพลของราชสำนักเขมรโบราณ จากเมืองพระนครศรียโสธระปุระ เริ่มขยายตัวจากเมืองละโว้ เขาตีคลี ดงแม่นางเมืองและเมืองสองแคว ขึ้นมาสู่ลุ่มน้ำรำพันครั้งแรก ดังปรากฏซากของ “ปราสาทเขาปู่จ่า” บนยอดเขาในอำเภอคีรีมาศ ทางตอนใต้ของเมืองโบราณสุโขทัย ตามคติฮินดูไศวนิกายในความนิยมช่วงราชสำนักพระเจ้าสูริยวรรมเทวะที่ 1 ทั้งยังได้ขยายอิทธิพลต่อออกไปยังเมืองทุ่งยั้ง เมืองนครไทย เนินศาลาบ้านสระตาพรหม เมืองสุโขทัยกลายเป็นชุมชนเมืองชายแดนที่สำคัญทางทิศเหนือ มีผู้ปกครองในตำแหน่ง “พระบาทกมรเตง อัญ”(Phra Bat Kamradeng An) ที่เป็นพระญาติมาจากเมืองพระนครหลวงปกครอง
     ในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ได้มีการสร้างปราสาทสฺรุก 3 หลัง ในคติไศวนิกาย (ที่ยังคงเหลืออาคารบรรณาลัยศิลาแลงในตำแหน่งสมมาตร (Symmetry Plan) ด้านซ้ายและด้านขวาของปราสาทประธานที่กลางเมือง) ที่ต่อมาคือเจดีย์วัดมหาธาตุ พร้อมกับการสร้างกำแพงเมืองด้วยดิน ขุดคูน้ำรูปสี่เหลี่ยม และขุดตระพังตามแบบขนบเขมรขึ้นเป็นครั้งแรก
      จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ( 1601-1700)ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการ “ปราสาทตาผาแดง” ตามคติฮินดู “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism)  ที่นิยมในราชสำนักฝ่ายเมืองพระนครขึ้นภายในกำแพงเมืองสุโขทัย 
     ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18(1701-1750) ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 “จักรวรรดิบายน” ได้ขยายอิทธิพลทางการเมือง คติความเชื่อแบบ “วัชรยานตันตระ” (Vajrayāna Tantra-Tantric Buddhism) และลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) ขึ้นมาสู่ดินแดนลุ่มน้ำแม่รำพัน แทนคติฮินดูไวษณพนิกาย (ศาลตาผาแดง) ที่เคยเป็นที่นิยมของกมรเตงผู้ปกครองสุโขทัยเดิม ซึ่งในเวลานั้นอาจมีชื่อนามเมืองว่า “ปกเขม” (เมืองของชาวเขม-ขอม ?) “ปกเลือง” (เมืองของชาวไทเลือง) และยังอาจหมายถึงชื่อนาม “ศรีชยเกษมปุรี” (Śrí Jaya-Käemapurí) ที่มีความหมายว่า “เมืองที่มีความสุข” ตรงกับชื่อนาม “ศุโข ไท- ทัย” ที่หมายความว่า “ใจ-คนมีความสุข” ที่พบชื่อนาม 26 เมือง (วิษัย) จากจารึกปราสาทพระขรรค์ (K.908) จึงมีการสร้างปราสาทสามยอดหรือ “วัดพระพายหลวง” (Wat Pra Phai Luang Pr.) ในปัจจุบัน (เป็นชื่อใหม่ที่ชาวบ้านเรียกถวายให้ทรงทราบ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ เมืองโบราณสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ในปี พ.ศ. 2450 จึงได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง) เป็น “ราชวิหาร” ประจำนครขึ้นทางเหนือของเมือง ตามคติ “วัชรยานไตรลักษณ์” (Vajrayāna Triad -Trinity) เช่นเดียวกับปราสาทสามยอดกลางเมืองละโว้ทยปุระ อีกทั้งยังมีการขุดคูน้ำกว้าง 6 เมตร รูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 700 * 700 เมตร  เรียกว่า “แม่โจน” ล้อมรอบครับ
     ปราสาทพระพายหลวง เป็นปราสาทสามหลังก่อด้วยศิลาแลงประดับด้วยปูนฉาบและปูนปั้นประดับ (Stucco) ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ฐานปัทม์ไม่มีบัวลูกฟักที่ท้องไม้  มีบันไดทางขึ้นตรงกับตำแหน่งประตูหลอกของปราสาททั้งสามหลัง ปราสาทประธานมีผังกากบาทจัตุรมุข มีมุขยาวออกไปทั้ง 4 ด้าน ขนาดใหญ่กว่าปราสาทบริวาร โดยคูหาซุ้มประตูด้านหน้าและหลังเป็นประตูทางเข้าออกได้จริง ยาวกว่าซุ้มประตูด้านข้าง ปราสาทบริวารทั้งสองหลังมีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน แต่มีซุ้มประตูเข้าทางด้านหน้าเพียงทางเดียว ด้านที่เหลือก่อทึบเป็นประตูประดับผนัง (ประตูหลอก) หลังคาซุ้มประตูก่อหินซ้อนเหลื่อมขึ้นไปชนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านหน้ามุขเก็จก่อหินเป็นหน้าบันซ้อน 2 ชั้น บัวเชิงและบัวรัดเกล้าของตัวเรือนธาตุ มุขและซุ้มประตูอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด ซึ่งผนังของเรือนธาตุทั้งหมดเคยมีการฉาบปูนและปั้นปูน เป็นลวดลายต่าง ๆ (บัวโกมุท สลับลายดอกไม้ต่อเนื่อง 4 กลีบ (ประจำยาม) กลีบดอกหยักเป็นลอนคลื่นซ้อนกัน ดอกกระหนกโค้งตวัดปลาย ลายบัวหงายซ้อนกลีบ  กระหนกตัวเหงา กระหนกสองหัว พุ่มกระหนกใบขดต่อเนื่อง ฯ) ประดับอยู่ทั้งหมด
     ชั้นวิมาน (เรือนยอด) ของปราสาท ก่อเป็นชั้นเชิงบาตรยกวิมานจำลองซ้อนชั้นทรงศิขระขึ้นไป 5 ชั้น ฐานเชิงบาตรแต่ละชั้นยกสูง หน้ากระดานของเชิงบาตรยกขึ้นซ้อน 2 ชั้น ทำให้ตัวเรือนวิมานของปราสาทชะลูดเรียวสูงขึ้นแตกต่างไปจากสถาปัตยกรรมเขมรโดยทั่วไป ตรงกลางแต่ละด้านประดับซุ้มบัญชร มีซุ้มบรรพแถลงปักรูปพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้ว (ในพระหัตถ์มีพุ่มดอกไม้) แกะสลักจะหินชนวนและหินทรายปักอยู่ด้านหน้า (พบเฉพาะปราสาทประธาน) และปูนปั้นรูปเทพเจ้าประจำทิศอย่างพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ มุมเพิ่มแต่ละด้านของแต่ละชั้นสลักศิลาแลงเป็นโกลน ปั้นปูนประดับเป็นรูปนาค (ปัก) และรูปทวารบาลประดับบนยอดมุม ส่วนยอดสุดของปราสาทก่อเป็นบัวกลุ่มยอดปราสาท
     กรอบหน้าบันที่เหลืออยู่ 3 ชุด ของปราสาทบริวารฝั่งทิศเหนือ ปั้นปูนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอนเทศนาธรรมโปรดพุทะมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ทางทิศตะวันตก) ตอนตัดพระเกศา-เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ทางทิศใต้ ติดกับปราสาทประธานหลังกลาง) ตอนมารผจญ (ทางทิศเหนือ) และหน้าบันส่วนที่พังทลายด้านหน้าทิศตะวันออก น่าจะเป็นพุทธประวัติตอนปฐมเทศนาที่พบชิ้นส่วนปูนปั้นเป็นรูปของแถวเทพยดาแสดงอัญชลี ชิ้นส่วนพระเศียรของพระพุทธรูปและพระสาวกในซากที่พังทลาย 
     พุทธประวัติทั้ง 4 ภาพวางอยู่ภายในช่องกรอบรวยนาคโค้ง 5 หยักสลับกัน ด้านบนเป็นสามเหลี่ยมยอดแหม มีแง่งแหลมด้านใน คั่นกลางด้วยดอกจอกระหว่างรอยต่อของโค้งที่สลับไปมา ปลายกรอบรวยปั้นปูนเป็นตัวมกรคลายนาค 5 เศียรที่ปลายหน้าหน้าบันทั้งสองด้าน ทั้งหมดประดับด้วยปูนปั้นตามแบบการวางแม่ลายในขนบศิลปะเขมร แต่มีรายละเอียดของลวดลายเป็นเอกลักษณ์ที่พบเฉพาะท้องถิ่นสุโขทัย
     ถึงแม้ว่าตัวปราสาทประธานและปราสาทบริวารฝั่งทิศใต้จะพังทลายลงมาตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 (ในยุคที่พระนเรศ ขึ้นมาปราบกบฏเมืองสวรรคโลก)  แต่ก็ยังคงปรากฏร่องรอยหลักฐานของงานศิลปะตามคติความเชื่อในช่วงที่มีการสร้างปราสาทสามยอดขึ้นครั้งแรกหลงเหลือจากการขุดค้นทางโบราณวิทยาอยู่ ซึ่งในช่วงแรกนั้น มีการสร้างอาคารหลังคาเครื่องไม้อยู่โดยรอบ โดยด้านหน้าของปราสาทเคยมีลานเรียงหินศิลาแลงปูพื้น อาจเคยมีอาคารพลับพลาหลังคาเครื่องไม้ เพื่อประดิษฐานรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  หันหน้าเข้าหาตัวปราสาทประธาน ซึ่งยังคงเหลือฐานขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ตรงฐานชุกชีของวิหารด้านหน้าที่สร้างขึ้นในสมัยต่อมา 
     ภายในห้องครรภธาตุของปราสาทประธาน ยังปรากฏฐาน “สนานโทรณี” (Sanandorini) บัวลูกฟักประกอบหลายชิ้นตามแบบขนบเขมรที่มีร่องรอยถูกทุบทำลาย เป็นฐานเพื่อประดิษฐานรูปเคารพขนาดใหญ่ สลักขึ้นหินทรายออกสีเทาเข้ม เนื้อเป็นชั้นแบบหินชนวนที่พบในท้องถิ่นสุโขทัย อาจเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกตามคติวัชรยานไตรลักษณ์ และยังมีฐานรูปเคารพชิ้นยาว มีช่องรางน้ำอีกชิ้นหนึ่งวางอยู่
ภายในคูหาปราสาทบริวารหลังทิศเหนือ มีฐานรูปเคารพแบบบัวลูกฟักเรียงชั้นแบบขนบเขมรที่อาจเคยประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ตามที่มีร่องรอยชิ้นส่วนแตกหักของรูปบุคคล 4 กร ที่พบจากคูน้ำแม่โจน ส่วนคูหาปราสาทบริวารทางทิศเหนือ ก็มีฐานรูปเคารพวางประกอบแบบขนบเขมรที่อาจเคยประดิษฐานรูปประติมากรรมของเทวีปรัชญาปารมิตา  
     ภายหลังที่การสิ้นสุดอำนาจของจักรวรรดิบายน อิทธิพลพุทธศาสนานิกายเถรวาท - รามัญนิกาย คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะจากละโว้และศิลปะนิยมแบบพุกาม-ล้านนา ได้ส่งอิทธิพลเข้ามาสู่สุโขทัยในช่วงต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อและงานศิลปะ  ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนปั้นปูนประดับหน้าบันและทับหลังขึ้นใหม่ทั้งหมด ต่อมาเมื่อเหล่าลูกครึ่งขอม – ไท/ลาว ชนชั้นปกครองจากเมืองบางขลัง บางยาง เมืองราด ได้ใช้สงครามเข้ายึดครองตัวเมืองสุโขทัยจากพวกผู้ปกครองชาวเขมรเดิมอยู่หลายครั้ง จนอำนาจการปกครองได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นชนตระกูลไทในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จึงอาจได้มีการเคลื่อนย้ายและทุบทำลายรูปประติมากรรมในงานศิลปะแบบเขมรจากทุกยุคสมัยในสุโขทัย ปรับพื้นที่ใหม่สร้างอาคารวิหารก่ออิฐด้านหน้า อุดช่องประตูของตัวปราสาทประธานเพื่อสถาปนาขึ้นเป็น “พระมหาธาตุเจดีย์” ตามคติความเชื่อของฝ่ายเถรวาท (เชื่อตามพระเถระ)
ตัวอย่างของรูปประติมากรรมที่แสดงอิทธิพลของอำนาจเมืองพระนครอย่าง รูปเหมือนจริงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามแบบรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในเมืองพระนครหลวง ประทับนั่งในท่าธยานะมุทรา (นั่งขัดสมาธิราบ) บนฐานเขียง นุ่งภูษาสมพตขาสั้น พระวรกายเอียงมาทางด้านหน้า หน้าแข้งคม ที่หัวเข่าสลักเป็นลูกสะบ้ามีกล้ามเนื้อล้อมรอบคล้ายดอกไม้ สกัดขึ้นจากหินทรายหมวดพนมกุเลน ส่งตรงมาจากเมืองพระนคร ที่เคยตั้งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง)  ก็อยู่ในสภาพที่ถูกทุบทำลายอย่างรุนแรง
เครดิต:
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า




 

Create Date : 25 กันยายน 2563
0 comments
Last Update : 25 กันยายน 2563 18:41:09 น.
Counter : 476 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.