ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2564
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 มิถุนายน 2564
 
All Blogs
 

พระยมทรงกระบือ

เรื่องราวของ “พระยมทรงกระบือ” บนทับหลังปราสาทหนองหงส์  

ในประเทศไทยจะพบทับหลังที่ปรากฏรูป “พระยมทรงกระบือ” (Yama Deva riding a buffalo) อยู่เพียง 2 แผ่น ชิ้นหนึ่งที่เพิ่งได้รับคืนมาจากสหรัฐอเมริกา พบจากปราสาทบริวารหลังทิศใต้ของกลุ่มปราสาทหนองหงส์ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ อีกแผ่นหนึ่งผนึกกับฐานปูนอยู่ที่โบสถ์เก่าวัดโพธิ์ย้อย อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่อยู่ห่างไปทางเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร ทับหลังทั้งสองเป็นงานศิลปะร่วมสมัยแบบพระวิหาร-บาปวน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 
.
“พระยม –ยมราชา- ยมราช” (Yamarāja) “พระธรรมธิปติ อธิปราชา (Dharmahipati Adhi Raja) “พระธรรมราชา” (Dharmarāja) “พระธรรมประภู” (Dharmaprabhu) หรือ“พระธรรมเทพ” (Dharmadeva) ปรากฏพระนามครั้งแรกในคัมภีร์ “ฤคเวท” (Rigveda) ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวรรณคดีสันสกฤต อายุประมาณ 4,000-5,000 ปี โดยกล่าวว่า “พระยม” (ยะมะ-ยับยั้ง) นั้นเป็นบุตรของพระสูริยะเทพกับนางสรัญยู (Surya and Saranyu) เป็นฝาแฝดกับ “เทวียมี” (Yami) มนุษย์ชายหญิงคู่แรกที่กำเนิดขึ้นมาบนโลก พระยมได้ยอมอุทิศเสียสละความเป็นอมตะของตนเข้าสู่ความตาย เพื่อมารับหน้าที่เป็นเทพเจ้าเเห่งความตาย ผู้ปกครอง "นรกภูมิ" (Nāraka Bhūmi) “ยมโลก” (Yamaloka) หรือโลกหลังความตาย เพื่อพิจารณาพิพากษาความดีและความชั่วด้วยความยุติธรรม หากวิญญาณมนุษย์กระทำความดีก็จะถูกตัดสินให้ไปสวรรค์ หากกระทำความชั่วก็จะถูกส่งไปรับโทษทัณฑ์ (ทัณฑธร-ผู้มีอำนาจลงโทษ) ในขุมนรกหลายระดับ หรือให้กลับไปเกิดใหม่หากความดีและความชั่วไม่กลืนกินกัน โดยมีพระจิตรคุปต์ (Chitragupta) และพระธรรมะ (Dharma) และเหล่าเทวทูต เป็นผู้ช่วยคอยตรวจดูการกระทำความดีหรือความชั่วในวิญญาณมนุษย์ทุกคนครับ 
.
ซึ่งการอุทิศสู่ความตายของพระยม ทำให้ “นางยมี” ผู้เป็นพี่สาวฝาแฝดโศกเศร้าเสียใจ จนได้กลายมาเป็นเทวีแห่งแม่น้ำ “ยมุนา”(Yamuna) สายน้ำแห่งชีวิต เหล่าเทพเจ้าได้เริ่มสร้างกลางวันและกลางคืนและได้เริ่มต้นวัฏจักรของเวลาขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก
รูปกายของพระยมในครั้งแรกนั้นมีความสง่างามเป็นที่น่าหลงใหล จึงทำให้งานพิพากษาความดีงามของเขาไม่ประสบความสำเร็จ ความงดงามของพระยมทำให้ผู้คนไม่เกรงกลัวความตาย ความชั่วของมนุษย์จึงเพิ่มขึ้น พระศิวะจึงจำต้องสาปให้พระยมมีหน้าตาที่หน้ากลัว มีร่างกายกำยำสูงใหญ่ วรรณะกายสีเขียวคล้ำ นุ่งห่มภูษาสีแดง ทรงกระบือ-มหิงสา (Mahiṣa) อารมณ์ดุร้ายเป็นพระวาหนะ ถือไม้ทัณฑะ (Daṇḍa) หรือ “คทายมทัณฑ์” และปาศะ-บ่วงบาศก์ (Pāśa) ที่สามารถคล้องจับวิญญาณของมนุษย์ได้ทุกคน ปราสาทที่ประทับของพระยมมีชื่อว่า “กาลีจี” มีบัลลังก์ชื่อ “วิจารภู” บางตำนานเล่าทางเข้าสู่ยมโลกจะมีสุนัขรูปร่างประหลาด มี 4 ตา รูจมูกกว้าง มีขนสีน้ำตาล 2 ตัว ชื่อ สามะ(ดำ) และสวละ (มีปีก-สีด่าง) ทั้งยังมีนกฮูก อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความตายเฝ้าอยู่ครับ
ใน “มหาภารตะ” (Mahābhārata Sanskrit epic) ที่มีอายุการรจนาเริ่มแรกที่ประมาณ 2,500 ปี ได้จัดให้พระยมมาเป็นเทพผู้รักษาทิศ หรือ “ทิศปาลกะ” (Dikpālas -Dikpālakas) “พระโลกบาล” (Lokapāla) ผู้รักษาทิศใต้ ซึ่งต่อมา คัมภีร์ “ปุราณะ” (Purāṇa) ที่มีอายุเริ่มแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 ได้จัดกลุ่มพระโลกบาล ผู้ปกป้องรักษาทิศทั้ง 8 แห่งจักรวาล ที่เรียกว่า “อัษฏทิศปาลกะ-ทิศปาล” (Aṣṭadikpālaka) ขึ้นเป็นครั้งแรก  
.
------------------------
*** ดูเหมือนว่าในงานศิลปะเขมรโบราณ จะไม่ปรากฏความนิยมในคติพระยม-เทพเจ้าแห่งความตายที่น่าสะพรึงกลัวมากนัก รูปศิลปะพระยมทรงกระบือจึงมักจะถูกใช้ประดับเทวสถานฝั่งที่หันหน้าไปทางทิศใต้ในฐานะของทิศปาลกะ-เทพผู้รักษาทิศโดยเฉพาะ ไม่หันหน้าไปในทิศทางอื่น แต่ทับหลังพระยมทรงกระบือที่ปราสาทหนองหงส์กลับหันหน้าไปทางตะวันออก แตกต่างไปจากขนบแบบแผนและคติความเชื่อโดยทั่วไปในวัฒนธรรมเขมรโบราณ 
.
*** ซึ่งจนถึงในปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยพบการจัดวางทับหลังรูปพระยมทรงกระบือหันหน้าไปทางตะวันออกอย่างที่ปราสาทหนองหงส์ตามปราสาทหินหลังอื่น ๆ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณเลยครับ                   
.
เมื่อได้พิจารณาการจัดวางทับหลังของปราสาททั้ง 3 (จากภาพการสำรวจของอาจารย์ มานิต วัลลิโภดม เมื่อพ.ศ.250) จะพบว่า ปราสาทประธานหลังกลางนั้นวางรูปทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในท่ามกลางลวดลายหน้ากาล-เกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยประกอบรูปกระหนกพวยใบไม้ ปราสาทบริวารทางทิศเหนือวางรูปพระวิษณุทรงครุฑ โดยปราสาทบริวารหลังทางทิศใต้วางรูปพระยมทรงกระบือ 
.
การวางทับหลังรูปพระยมทรงกระบือเหนือซุ้มประตูปราสาทบริวารหลังทิศใต้ อาจได้แสดงความหมายของเทพผู้รักษาทิศ-ทิศปาลกะตามขนบแบบแผนเดิม ที่จะวางหันหน้าไปทางทิศใต้เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า การจัดวางรูปทับหลังของปราสาททั้งสามองค์นั้นมีความสัมพันธ์ในเชิงคติความเชื่อกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจครับ
.
โดยความหมายของรูปพระวิษณุทรงครุฑของปราสาทบริวารทางฝั่งทิศเหนือ มีความหมายในการอำนวยพรให้เกิดความเป็นมงคลในการกำเนิดชีวิต ดั่งการที่พระวิษณุได้ให้กำเนิดพระพรหมและการสร้างโลกใหม่ ส่วนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมีความหมายมงคลถึงความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธัญญาหาร การดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกที่มีพระอินทราคอยดูแลให้เกิดความสงบสุข ส่วนทางทิศใต้มีความหมายมงคลถึงการพิพากษาวิญญาณของมนุษย์หลังความตาย เพื่อการเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์หากกระทำความดีงามและการถูกลงทัณฑ์ในนรกภูมิ 32 ขุม หากได้กระทำความชั่วไว้
.
*** การวางรูปศิลปะตามคติความเชื่อ “การกำเนิด การเป็นอยู่และความตายของชีวิต” ที่ปราสาทหนองหงส์ อาจได้แสดงปรัชญาความคิดของเหล่าผู้ศรัทธาลัทธิฮินดูในท้องถิ่น ที่แตกต่างไปจากขนบแบบแผนมาตรฐานของราชสำนักที่มุ่งเน้นไปในการบูชาเทพเจ้าชั้นสูงอย่างพระศิวะหรือเทพเจ้าตรีมูรติ โดยได้นำเอาคติมงคลของเหล่าเทพเจ้าที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้เป็นงานศิลปะประดับปราสาทในชุมชนสฺรุกของตน เพื่ออำนวยพรมงคลอันเป็นกำลังใจสำคัญให้แก่การดำเนินชีวิตของผู้คนในความเป็นจริงครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2564
0 comments
Last Update : 5 มิถุนายน 2564 18:24:50 น.
Counter : 827 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.