กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน)

เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ นามเดิม ชม เป็นบุตรพระยาสุรินทรามาตย์(คล้าย) หลานพระยาเทพอรชุน(ถึง) พระยาศรีสหเทพ(เพ็ง)เป็นตา ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปรับราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ เป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ปลัดกรมตำรวจ ครั้นกรมพระราชวังทิวงคต มารับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นหลวงเสนีย์พิทักษ์ แล้วเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครไชยศรี แล้วได้เลื่อนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นเจ้าพระยา มีคำประกาศดังนี้


ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๕๖ พรรษากาลปัตยุบัน จันทร์โคจร อุศุภสัมพัตสร มาฆามาส กาฬปักษ์ ทวาทสีดิถีโสรวาร สุริยคติกาล กุมภาพันธมาส เอกวีสติมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ได้รับราชการมาช้านาน จำเดิมเป็นแต่มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ครั้นมาในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้ไปรับราชการในกรมพระตำรวจพระราชวังบวรฯ แล้วมาสมทบในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๖ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) ไปจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ ก็ได้เป็นข้าหลวงไปกับพระยามหาอำมาตย์ด้วย ได้ไปจัดการเมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม และทำด่านฝ่ายแม่น้ำโขงด้านตะวันแก และได้ไปป้องกันเจ้ากรุงญวน ซึ่งแตกหนีฝรั่งเศสมาใกล้เชิงเขาบรรทัด เพื่อมิให้หลบเข้ามาอาศัยในพระราชอาณาเขต เป็นการรักษาทางพระราชไมตรี และได้ทำด่านตามแม่น้ำโขงซึ่งต่อเขตแดนเขมร ต่อมาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับราชการสังกัดในกระทรวงมหาดไทย และโปรดฯให้ไปรับราชการกับพวกกอมมิสแซร์ฝรั่งเศสกองทำแผนที่ จนถึงเมืองกระแจซึ่งเป็นเขตแดนเขมร แล้วโปรดฯให้เป็นข้าหลวงที่ ๒ รักษาราชการเมืองพระตะบอง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้คุมกำลังไปป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตที่หนองคำนน เขตเมืองนครเสียมราฐ ตลอดจนชายทะเลสาบ และเป็นที่ปรึกษาราชการพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ (ดั่น) ซึ่งเวลานั้นรักษาราชการอยู่เมืองพระตะบอง ในระยะซึ่งไปรับราชการหัวเมืองลาวเมืองเขมรอยู่นี้ เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ต้องรับราชการด้วยความเหนื่อยยากตรากตรำลำบากเป็นอันมาก

ภายหลังตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร และโปรดฯให้ไปรักษาราชการตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แทนสมุหเทศาภิบาลในเวลานั้นซึ่งไปรับราชการหน้าที่อื่นคราว ๑ และได้ทำการตัดทางยกเสาพาดสายโทรเลขจากเมืองพิษณุโลกถึงเมืองนครสวรรค์

ครั้นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรีไม่มีตัว ทรงพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญกว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือ ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ราชการทำการแข็งแรง จึงจะรักษาการเป็นความสะดวกเรียบร้อย ทรงทราบความสามารถของพระยาสุนทรบุรีฯว่า สมควรจะรับราชการตำแหน่งนี้ได้ดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี และต่อมาได้เป็นผู้รับราชการแทนสมุหเทศาภิบาลด้วย ภายหลังทรงพระราชดำริเห็นว่า พระยาสุนทรบุรีฯมีความสามารถจะรับราชการเป็นใหญ่ เป็นประธานในมณฑลนครไชยศรีได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสุนทรบุรีฯเป็นสมุหเทศาภิบาล รับราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบมา พระยาสุนทรบุรีฯได้อุตสาหะจัดการทำนุบำรุงบ้านเมือง ระงับโจรผู้ร้ายสงบเรียบร้อย และบำรุงพระนครปฐมอันรกเรื้ออยู่แต่ก่อน ให้เป็นพระนครอันงดงาม มีถนนทางตึกตลาดไพศาล ครึกครื้นเป็นที่ประชุมชน ทำพระราชทรัพย์ให้บังเกิดทวีมากขึ้น ส่วนพระปฐมเจดีย์อัครบูชานียสถานก็ได้จัดการปฏิสังขรณ์ ทำนุบำรุงให้งดงามรุ่งเรือง เป็นที่ก่อเกิดความเลื่อมใสของพุทธบริษัททั้งปวง

ส่วนความประพฤติของพระยาสุนทรบุรีย่อมเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางโอบอ้อมอารี เป็นที่รักของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า ทั้งเป็นที่ชอบพอในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พระยาสุนทรบุรีฯมาก เพราะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยความสวามิภักดิ์ เป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย ทั้งเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระชนมพรรษาด้วย

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาแก่พระยาสุนทรบุรีฯเป็นอันมาก เพราะเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่ทรงคุ้นเคยและพอพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตลอดมาจนกาลบัดนี้ พระยาสุนทรบุรีฯยังรับราชการในหน้าที่ให้พระคุณมาช้านานโดยสม่ำเสมอ อุตสาหะทำนุบำรุงรักษาราชการในหน้าที่ให้เจริญมาโดยลำดับมิได้เสื่อมทราม จนมีชนมายุเจริญวัยกว่าสมุหเทศาภิบาลทั้งปวงในเวานี้ นับว่าเป็นผู้ที่รับราชการเป็นอย่างดีได้ผู้หนึ่ง ควรเป็นตัวอย่างวของจ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงที่จะดำเนินตาม เมื่อผู้ที่มีวุฒิปรีชาเห็นปานนี้ ทีรับราชการอยู่ในตำแหน่งใดๆก็สมควรที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อันสูงสุดในตำแหน่งนั้น เป็นบำเหน็จความชอบเพื่อเป็นเกียรติยศสืบไปนาน

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยาสุนทรบุรี มีอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ปฐมนครินทร์วิบูลยศักดิ นิตยสวามิภักดิรามาธิบดี ศรีมณฑลิกาธิการวิสิษฐ ธรรมสุจริตกฤตัญญุการ พิริยแรงหาญราญทุรชน โสภณสุนทรารชุนวงศ บรมราชประสงค์สิทธิปฏิบัติ พุทธาทิรัตนสรณธาดา อุดมอาชวาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ ฯ


บุตรของท่านคือ พระยาสฤษดิพจนกร(ชาย) จมื่นสิทธกฤดากร(เชื้อ) เป็นต้น

เจ้าพระยาศรีวิไชยฯ (ชม สุนทรารชุน) ถึงอสัญกรรมเมื่อ วันที่ ๘ กรกฎาคม ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ อายุ ๗๓ ปี
ท่านเป็นต้นสกลุ "สุนทรารชุน"


....................................................................................................................................................


ประวัติ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน)

มหาเสวกโท เจ้าพระยาศรีวัชัยชนินทร์ฯ (ชม สุนทรารชุน) ร.ว., ป.จ., ป.ช., ป.ม., ว.ม.ล., รัตน.ม.ป.ร. ๕, จ.ป.ร. ๓, ว.ป.ร. ๓, ส.ผ. เกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม ปีฉลู พระพุทธศักราช ๒๓๙๖ เป็นบุตรพระสุรินทรามายต์(คล้าย) หลานพระยาเทพอรชุน(ถึง) มารดาเป็นธิดาพระยาศรีสหเทพ(เพ็ง)

ตระกูลของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ เป็นข้าราชการวังหลวง แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก เหมือนอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง จึงโปรดฯให้แบ่งข้าราชการวังหลวงขึ้นไปเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้าตระกูลละคนหนึ่งหรือสองคน บิดาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯถูกเลือกส่งไปรับราชการวังหน้า ได้มีตำแหน่งในกรมตำรวจ รับราชการมาจนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ลงมาสมทบรับราชการในวังหลวง จึงนำเจ้าพระยาศรีวิชัยฯถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษแต่ในรัชกาลที่ ๔

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญได้ทรงรับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ข้าราชการวังหน้าซึ่งยังมีตัวอยู่จะต้องกลับขึ้นไปรับราชการวังหน้าอย่างเดิม แต่ส่วนบิดาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเอาไว้รับราชการในกรมกลาโหมวังหลวงต่อไป จึงทูลขอให้เลื่อนเป็นที่พระสุรินทรามาตย์ แต่ขุนหมื่นไพร่ของพระยาสุนรินทรามาตย์ยังอยู่ในสังกัดวังหน้า จึงต้องให้นายชมบุตร(คือเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ)ขึ้นไปรับราชการวังหน้า เพื่อจะได้คงเป็นมูลนายผู้คนตัวเลกซึ่งเคยบังคับบัญชามาแต่ก่อน เจ้าพระยาศรีวิชัยฯขึ้นไปรับราชการวังหน้าได้เป็นที่จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ปลัดกรมตำรวจ อยู่จนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต

ตรงนี้จะกล่าวความซึ่งข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องประวัตินี้ได้ทราบด้วยตนเอง เป็นเรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯนอกทางราชการแทรกลงสักหน่อย เมื่อครั้งข้าพเจ้าแรกเป็นนายทหารมหาดเล็ก กำลังคะนองในเวลารุ่นหนุ่ม ได้เริ่มรู้จักกับเจ้าพระยาศรีวิชัยฯเมื่อยังเป็นที่จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ด้วยเป็นคนกว้างขวางในทางนักเลงมีเพื่อนฝูงมาก แต่ความประพฤติของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯในสมัยนั้น ต่อมาให้โทษแก่ตัวเอง ด้วยหมดสิ้นทรัพย์สมบัติไปในการเล่น ครั้นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคต ขุนนางวังหน้ากลับลงมาสมทบวังหลวงอีก เจ้าพระยาศรีวิชัยฯไม่มีกำลังที่จะรับราชการ จึงไปสมัครรับราชการอยู่กับพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ซึ่งเป็นลุงทางฝ่ายมารดา ต้องออกไปรับราชการอยู่เมืองจำปาศักดิ์และเมืองพระตะบองหลายปี ในตอนนี้จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงเสนีพิทักษ์ในกระทรวงมหาดไทย

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ พระยามหาอำมาตย์ให้เข้ามาแจ้งราชการในกรุงเทพฯ ประจวบข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้ได้เป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้พบปะกันต่างก็ยินดีด้วยได้คุ้นเคยชอบพอกันมาแต่ก่อน ในวันที่พบกันนั้น เผอิญเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เมื่อยังเป็นพระพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก มาปรึกษาข้าพเจ้าด้วยเรื่องจะหาตัวคนเป็นผู้ว่าราชการหัวเมืองต่างๆในมณฑลพิษณุโลก ปรึกษากันสำเร็จไปจนถึงผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร ไปติดอยู่ ทั้งเจ้าพระยาสุรสีห์ฯและตัวข้าพเจ้านึกไม่ออกว่าจะได้ผู้ใดดี นั่งตรองกันอยู่สักครู่ ข้าพเจ้านึกขึ้นถึงหลวงเสนีพิทักษ์ซึ่งได้มาพบกันในวันนี้ จึงบอกแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯว่ามีข้าราชการอยู่คนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ารู้จักคุ้นเคยมาแต่ก่อน คือหลวงเสนีพิทักษ์ แต่ตามเรื่องประวัติมีทั้งคุณมหันต์และโทษอนันต์ คือเป็นคนฉลาดและอัชฌาศัยกว้างขวางแต่ว่าเป็นนักเลงจัด จะให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรก็เป็นอย่างเสี่ยงทายจะได้กับเสียเท่ากัน เจ้าพระยาสุรสีห์ฯว่าควรจะลองดู เมื่อไม่ดีก็เปลี่ยนเสีย เป็นยุติกันดังนี้

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปแล้ว ข้าพเจ้าทราบว่าหลวงเสนีพิทักษ์ยังอยู่ในศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงเรียกตัวมาบอกว่าจะให้เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร แต่ราชการครั้งนี้ต้องทำกันจริง จะเอาแบบอย่างเจ้าเมืองแต่ก่อนนั้นไม่ได้ ถ้าทำไม่ดีก็จะมีผิด ข้าพเจ้าจึงอยากทราบเสียก่อนว่าจะเต็มใจรับตำแหน่งนั้นหรือไม่ เจ้าพระยาศรีวิชัยฯตอบว่าจะรับด้วยยินดี และขอให้ข้าพเจ้าวางใจเถิดว่าจะตั้งใจล้างบาปที่ได้เคยมีมาแต่ก่อนมิให้ร้อนใจ เจ้าพระยาศรีวิชัยฯขึ้นไปรั้งราชการเมืองพิจิตรก็ไปดีได้จริงดังสัญญา ด้วยอัชฌาศัยซึ่งเคยเป็นนักเลงนั้นเองกลับให้คุณ เพราะสันทัดทางที่จะคบหาสมาคมผู้คนกว้างขวาง ในไม่ช้าราษฎรชาวเมืองพิจิตรก็พากันนิยมนับถือ เลยเป็นเหตุให้โจรผู้ร้ายราบคาบจนขึ้นชื่อลือนามว่าไม่เคยมีเจ้าเมืองพิจิตรเช่นนี้มาแต่ก่อน แต่เจ้าพระยาศรีวิชัยฯว่าราชการเมืองพิจิตรอยู่ไม่ช้า พอเมืองนครชัยศรีฯซึ่งขึ้นชื่อลือชาว่าโจรผู้ร้ายชุกชุม บังคับบัญชายาก ว่างตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลง ข้าพเจ้าหาตัวผู้อื่นไม่ได้ จึงกราบทูลฯขอย้ายเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ จากเมืองพิจิตรมาว่าราชการเมืองนครชัยศรีก็ทำการดีต่อมา จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงคราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ครั้นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรีว่างลงก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี รับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาถึง ๑๘ ปีจนแก่ชรา

ความสามารถของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯเมื่อเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ควรยกย่องว่าวิเศษอย่างหนึ่งด้วยเรื่องกระบวนสืบจับผู้ร้าย ถ้าจะว่าเป็นอัศจรรย์ก็ว่าได้ ด้วยเจ้าพระยาศรีวิชัยฯมิได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษาตำรับตำราอันใด สามารถคิดวิธีขึ้นได้โดยประดิษฐ์ของตนเอง วิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯนั้นดังนี้ คือในเวลาที่ไปเที่ยวตรวจราชการตามท้องที่ หรือแม้อยู่โดยปกติ มีสมุดพกติดตัวอยู่เล่มหนึ่ง จดชื่อและประวัติของบรรดานักเลงซึ่งสืบรู้ได้ตามท้องที่บ้าง สืบได้จากนักโทษในเรือนจำบ้าง และถ้ามีโอกาสคงพยายามให้รู้จักกับตัวนักเลงเหล่านั้นเอง ให้รู้นิสัยใจคอว่าเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเหตุปล้นสดมภ์ขึ้นตำบลใด เจ้าพระยาศรีวิชัยฯอาจบอกให้ไปถามนักเลงตนนั้น หรือสั่งให้เรียกตัวนักเลงคนนั้นๆมาถาม มักได้ตัวผู้ร้าย หรือรู้ว่าใครเป็นผู้ร้ายไม่เว้นแต่ละราย ข้าพเจ้าเคยได้ยินข้าราชการในมณฑลนครชัยศรีกล่าวกันว่า คิดไม่เห็นว่าเจ้าพระยาศรีวิชัยฯรู้ได้อย่างไรจึงชี้ตัวถูกมิใคร่คลาด

ยังกระบวนถามผู้ร้ายเมื่อจับได้ตัวมาแล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องสำคัญเจ้าพระยาศรีวิชัยฯถามเอง ไม่ให้ผู้อื่นทำแทน บางทีถามที่แห่งหนึ่ง บางทีก็พาผู้ร้ายไปถามที่ต่างเมือง ลงปลายมักจะรับสารภาพโดยชื่นตา ไม่ต้องขู่เข็ญ หัวหน้าผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งจับมาได้จากเมืองปทุมธานี(๑)ในเวลาข้าพเจ้าอยู่เมืองนครปฐม ได้บอกข้าพเจ้าในภายหลังว่าถ้าเป็นผู้อื่นถามก็ไม่รับ แต่วิธีถามของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ท่านไม่ซักไซ้ขู่เข็ญเหมือนคนอื่น ถ้าไม่รับท่านก็ไปถามใหม่ แต่เวียนถามอยู่ ๒ วัน ๓ วันจนผู้ร้ายเบื่อลงเนื้อเห็นว่ารับท่านเสียให้สิ้นรำคาญ ดังนี้

วิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯได้ใช้เป็นตำราต่อไปในที่อื่น แต่ก็ไม่เห็นมีใครอาจทำได้เสมอเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ เว้นแต่ในกรุงเทพฯนั้นอย่างไรไม่ทราบ ด้วยวิธีโปลิศในกรุงเทพฯเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก เจ้าพระยาศรีวิชัยฯเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิชัยสงครามมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศง ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มีประกาศพระแสพระบรมราชโองการฯ เมื่อทรงตั้งดังนี้


ประกาศ

ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๕๖ พรรษากาลปัตยุบัน จันทร์โคจร อุศุภสัมพัตสร มาฆามาส กาฬปักษ์ ทวาทสีดิถีโสรวาร สุริยคติกาล กุมภาพันธมาส เอกวีสติมสุรทิน โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ได้รับราชการมาช้านาน จำเดิมเป็นแต่มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ครั้นมาในรัชกาลที่ ๕ โปรดฯให้ไปรับราชการในกรมพระตำรวจพระราชวังบวรฯ แล้วมาสมทบในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๖ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น) ไปจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ ก็ได้เป็นข้าหลวงไปกับพระยามหาอำมาตย์ด้วย ได้ไปจัดการเมืองเขมราฐ เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม และทำด่านฝ่ายแม่น้ำโขงด้านตะวันแก และได้ไปป้องกันเจ้ากรุงญวน ซึ่งแตกหนีฝรั่งเศสมาใกล้เชิงเขาบรรทัด เพื่อมิให้หลบเข้ามาอาศัยในพระราชอาณาเขต เป็นการรักษาทางพระราชไมตรี และได้ทำด่านตามแม่น้ำโขงซึ่งต่อเขตแดนเขมร ต่อมาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับราชการสังกัดในกระทรวงมหาดไทย และโปรดฯให้ไปรับราชการกับพวกกอมมิสแซร์ฝรั่งเศสกองทำแผนที่ จนถึงเมืองกระแจซึ่งเป็นเขตแดนเขมร แล้วโปรดฯให้เป็นข้าหลวงที่ ๒ รักษาราชการเมืองพระตะบอง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ ได้คุมกำลังไปป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตที่หนองคำนน เขตเมืองนครเสียมราฐ ตลอดจนชายทะเลสาบ และเป็นที่ปรึกษาราชการพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ (ดั่น) ซึ่งเวลานั้นรักษาราชการอยู่เมืองพระตะบอง ในระยะซึ่งไปรับราชการหัวเมืองลาวเมืองเขมรอยู่นี้ เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ต้องรับราชการด้วยความเหนื่อยยากตรากตรำลำบากเป็นอันมาก

ภายหลังตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตรว่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ไปรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองพิจิตร และโปรดฯให้ไปรักษาราชการตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แทนสมุหเทศาภิบาลในเวลานั้นซึ่งไปรับราชการหน้าที่อื่นคราว ๑ และได้ทำการตัดทางยกเสาพาดสายโทรเลขจากเมืองพิษณุโลกถึงเมืองนครสวรรค์

ครั้นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรีไม่มีตัว ทรงพระราชดำริว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญกว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือ ต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ราชการทำการแข็งแรง จึงจะรักษาการเป็นความสะดวกเรียบร้อย ทรงทราบความสามารถของพระยาสุนทรบุรีฯว่า สมควรจะรับราชการตำแหน่งนี้ได้ดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี และต่อมาได้เป็นผู้รับราชการแทนสมุหเทศาภิบาลด้วย ภายหลังทรงพระราชดำริเห็นว่า พระยาสุนทรบุรีฯมีความสามารถจะรับราชการเป็นใหญ่ เป็นประธานในมณฑลนครไชยศรีได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาสุนทรบุรีฯเป็นสมุหเทศาภิบาล รับราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบมา พระยาสุนทรบุรีฯได้อุตสาหะจัดการทำนุบำรุงบ้านเมือง ระงับโจรผู้ร้ายสงบเรียบร้อย และบำรุงพระนครปฐมอันรกเรื้ออยู่แต่ก่อน ให้เป็นพระนครอันงดงาม มีถนนทางตึกตลาดไพศาล ครึกครื้นเป็นที่ประชุมชน ทำพระราชทรัพย์ให้บังเกิดทวีมากขึ้น ส่วนพระปฐมเจดีย์อัครบูชานียสถานก็ได้จัดการปฏิสังขรณ์ ทำนุบำรุงให้งดงามรุ่งเรือง เป็นที่ก่อเกิดความเลื่อมใสของพุทธบริษัททั้งปวง

ส่วนความประพฤติของพระยาสุนทรบุรีย่อมเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางโอบอ้อมอารี เป็นที่รักของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า ทั้งเป็นที่ชอบพอในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พระยาสุนทรบุรีฯมาก เพราะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยความสวามิภักดิ์ เป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย ทั้งเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระชนมพรรษาด้วย

ส่วนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาแก่พระยาสุนทรบุรีฯเป็นอันมาก เพราะเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นที่ทรงคุ้นเคยและพอพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตลอดมาจนกาลบัดนี้ พระยาสุนทรบุรีฯยังรับราชการในหน้าที่ให้พระคุณมาช้านานโดยสม่ำเสมอ อุตสาหะทำนุบำรุงรักษาราชการในหน้าที่ให้เจริญมาโดยลำดับมิได้เสื่อมทราม จนมีชนมายุเจริญวัยกว่าสมุหเทศาภิบาลทั้งปวงในเวานี้ นับว่าเป็นผู้ที่รับราชการเป็นอย่างดีได้ผู้หนึ่ง ควรเป็นตัวอย่างวของจ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวงที่จะดำเนินตาม เมื่อผู้ที่มีวุฒิปรีชาเห็นปานนี้ ทีรับราชการอยู่ในตำแหน่งใดๆก็สมควรที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อันสูงสุดในตำแหน่งนั้น เป็นบำเหน็จความชอบเพื่อเป็นเกียรติยศสืบไปนาน

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยาสุนทรบุรี มีอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มีราชทินนามว่า เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ ปฐมนครินทร์วิบูลยศักดิ นิตยสวามิภักดิรามาธิบดี ศรีมณฑลิกาธิการวิสิษฐ ธรรมสุจริตกฤตัญญุการ พิริยแรงหาญราญทุรชน โสภณสุนทรารชุนวงศ บรมราชประสงค์สิทธิปฏิบัติ พุทธาทิรัตนสรณธาดา อุดมอาชวาธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ดำรงศักดินา ๑๐,๐๐๐ จงเจริญสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ ฯ

.......................................................................



แต่เมื่อเจ้าพระยาศรีวิชัยฯได้เป็นเจ้าพระยานั้น เริ่มทุพพลภาพด้วยเกิดโรคภัยในตัวและอายุมากอยู่แล้ว ต่อมาไม่ช้าก็ปรากฎว่าไม่สามารถจะรับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ เป็นมหาเสวกโท มีสังกัดในกระทรวงวัง อยู่ได้หน่อยหนึ่งก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ปลดจากราชการประจำ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมาจนตลอดอายุ

เรื่องประวัติเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ตั้งแต่ออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลแล้ว ข้าพเจ้าไม่ทราบความพอที่เอามาเรียบเรียงได้ ด้วยตัวข้าพเจ้าเองก็ออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยใกล้ๆกับเวลาเจ้าพระยาศรีวิชัยฯออกจากสมุหเทศาภิบาล ความสมาคมเกี่ยวข้องกันมิได้มีมากเหมือนแต่ก่อน เป็นแต่ไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนกันฉันเป็นมิตร แต่เข้าใจว่าเรื่องประวัติของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ที่เป็นสาระอันควรนำมาแสดง ก็เห็นจะมีเพียงออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ต่อนั้นมาก็เป็นคนทุพพลภาพทั้งโรคภัยเบียดเบียน มีอาการป่วยหนักจะถึงอสัญกรรมแล้วกลับฟื้นเล่าหลายครั้ง ลงปลายกลายเป็นอย่างคนง่อยต้องอยู่แต่กับเรือนมานาน จนถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ คำนวนอายุได้ ๗๓ ปี

สิ้นเรื่องประวัติเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ เพียงเท่านี้


....................................................................................................................................................

(๑) คือ มหาโจรนามว่า จันทร์ ภายหลังมาก็กลับตัวเป็นคนดีได้ จนเป็นที่ทรงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว



....................................................................................................................................................


ประวัติ คุณหญิงเอี่ยม ศรีวิชัยชนินทร์(๑)


เรื่องประวัติของคุณหญิงเอื่ยม ศรีวิชัยชนินทร์ ข้าพเจ้าได้ทราบจากนางแย้ม พิทักษ์นรากร ผู้มารดาเล่าให้ฟังบ้าง เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรารชุน) และคุณหญิงเอี่ยมเองเล่าให้ฟังบ้าง ทราบด้วยตนเองบ้าง เห็นเป็นเรื่องมีคติ แต่เกี่ยวด้วยเรื่องประวัติเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์เป็นสำคัญ จำจะต้องกล่าวประวัติทั้งสามีภรรยาด้วยกันจึงจะได้ความชัดเจน

คุณหญิงเอี่ยม ศรีวิชัยชนินทร์ เกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพุธที่ ๒๙ มิถุนายน ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นธิดาของหลวงพิทักษ์นรากร(ชื่น ชินทักษ์) นายแย้ม พิทักษ์นรากรเป็นมารดา เดิมเมื่อบิดายังเป็นที่เมืองนนทราชธานี ตำแหน่งเกณฑ์เมืองรั้งในกระทรวงมหาดไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หลังวัดราชบพิธ ใกล้กับบ้านเรือนของตระกูลเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ ครั้นคุณหญิงเอี่ยมเป็นสาวขึ้น ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจึงได้แต่งงานวิวาหมงคลกับเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ แต่เมื่อยังเป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ มีบุตรธิดาด้วยกันชั้นนั้น ๓ คน ธิดาตายเสียแต่ยังเยาว์คน ๑ รองลงมาคือคุณหญิงเนียน พัศดีกลาง แล้วถึงพระยาสฤษดิพจนการ(ชาย สุนทรารชุน)

ในสมัยเมื่อเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ยังหนุ่มนั้นเป็นคนคะนอง ชอบคบเพื่อนฝูงประพฤติเป็นนักเลง ข้าพเจ้าผู้แต่งเรื่องประวัตินี้เมื่อแรกเป็นทหารมหาดเล็กก็ออกจะคะนอง จึงได้รู้จักชอบพอกับเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์มาแต่เมื่อยังเป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ แต่ว่าข้าพเจ้าเด็กกว่ามากจึงมิได้เป็นนักเลงด้วย การที่เป็นนักเลงพาให้เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ถึงความอัตคัดขัดสน จนบิดามารดาคุณหญิงเอี่ยมไม่ยอมให้ลูกสาวอยู่ด้วย จนบิดามารดาคุณหญิงเอี่ยมไม่ยอมให้ลูกสาวอยู่ด้วย เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์จึงออกจากกรุงเทพฯไปทำราชการในสำนักพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น ศรีเพ็ญ)ผู้เป็นลุงทางฝ่ายมารดา อยู่ที่นครจำปาศักดิ์และเมืองอื่นๆในมณฑลอุบล รับราชการทนความลำบากอยู่ทางนั้นช้านาน ส่วนคุณหญิงเอี่ยมก็ต้องพรากจากสามีและต้องเป็นผู้เลี้ยงลูกอยู่ทางกรุงเทพฯตลอดเวลานั้น

เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ได้เลื่อนเป็นที่หลวงเสนีพิทักษ์ มีตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย รับราชการอยู่ในมณฑลอุบลจน พ.ศ. ๒๔๓๘ มีกิจเข้ามาแจ้งราชการในกรุงเทพฯ ประจวบเวลาข้าพเจ้าได้รับราชการเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เริ่มจะจัดการมณฑลเทศาภิบาล จะหาตัวผู้เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ครั้นเห็นหลวงเสนีพิทักษ์ก็เหมาะใจ จึงกราบบังคมทูลฯขอให้ไปรั้งราชการจังหวัดพิจิตร คุณหญิงเอี่ยมจึงกลับได้อยู่ร่วมกับเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์อีกแต่นั้นมา เวลานั้นหลวงพิทักษ์นรากรและนางแย้มยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นด้วยสิ้นโกรธเคืองหรือถือเอาตัวข้าพเจ้าเป็นนายประกันก็เป็นได้ทั้งสองสถาน

แต่เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ขึ้นไปอยู่เมืองพิจิตรก็ไปทำราชการมีชื่อเสียงข้างฝ่ายดี จนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาสุนทรบุรี ศรีพิชัยสงคราม ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครชัยศรี ทำความชอบความดีคือแสดงความสามารถในการปราบโจรผู้ร้ายเป็นต้น จนได้เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี คุณหญิงเอี่ยมก็ได้มีความสุขและเกียรติยศในฐานะที่เป็นภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด และภรรยาสมุหเทศาภิบาลโดยลำดับ มีบุตรธิดาเกิดในสมัยเมื่อเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ย้ายกลับมาจากมณฑลอุบลอีก ๒ คน คือ จมื่นสิทธิกฤดากร(เชื้อ สุนทรารชุน) กับนางสาวช่วง สุนทรารชุน

ก็แลที่พระนครปฐมนั้น ตั้งแต่มีทางรถไฟแล้ว เป็นที่เสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งสมเด็จพระศรีพัชีรินทราบรมราชินีนาถฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชตลอดจนเจ้านาย ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็พากันไปเที่ยวเตร่เนืองๆ อาศัยโอกาสที่ได้สนองพระเดชพระคุณในการรับเสด็จและต้อนรับแขก คุณหญิงเอี่ยมจึงเป็นผู้ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ พระองค์นั้น และเจ้านายทรงพระเมตตากรุณา แม้ข้าราชการทั้งหลายก็ชอบพอคุ้นเคยโดยมาก

คุณหญิงเอี่ยมได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเลื่อนชั้นขึ้นโดยลำดับดังนี้

ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นชั้นตติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลื่อนขึ้นเป็นชั้นทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนภรณ์ชั้นที่ ๓ ด้วย

เมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์เมื่อยังที่พระยาสุนทรบุรี ศรีพิชัยสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี มีความชอบได้สนองพระเดชพระคุณในราชการส่วนพระองค์มาก ไม่มีบ้านเรือนที่อาศัยเป็นหลักแหล่งสมควรแก่เกียรติยศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ริมถนนกรุงเกษมทางฟากเหนือ ตรงที่ต่อกับถนนหลานหลวงให้เป็นที่บ้าน

มาถึงในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์มีความชอบ ด้วยได้สนองพระเดชพระคุณมาแต่ครั้งยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินให้สร้างบ้าน

เมื่อเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์มีความชราทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล จึงได้ย้ายครอบครัวพาคุณหญิงเอี่ยมกลับเข้ามาอยู่ที่บ้านเรือนอันได้รับพระราชทานนั้น จนตลอดอายุ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ถึงอสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ คุณหญิงเอี่ยมได้ปกครองบ้านเรือนและวงศ์ตระกูลต่อมา จนเกิดเจ็บป่วยเรื้อรังอาการมากขึ้น พระยากับคุณหญิงพัศดีกลางจึงรับไปรักษาพยาบาลต่อมา แต่อาการโรคกอปรด้วยความชราทุพพลภาพเป็นปัจจัย พ้นวิสัยที่จะหายได้ คุณหญิงเอี่ยม ศรีวิชัยชนินทร์ถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ คำนวนอายุได้ ๖๗ ปี

สิ้นเรื่องประวัติคุณหญิงเอี่ยม ศรีวิชัยชนินทร์เพียงนี้.


....................................................................................................................................................

(๑) (ผมเข้าใจว่า) แต่ก่อนยังไม่ใช้นามสกุล ชื่อผู้หญิงต้องระบุชื่อ(บรรดาศักดิ์)ผัวหรือบิดาต่อท้าย ตามประกาศในรัชกาลที่ ๔


....................................................................................................................................................

(เกร็ดประวัติ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์)


เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ มีโจรพวกหนึ่งสมคบกันเที่ยวปล้นในแขวงจังหวัดปทุมธานี จังหวัดอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรีเนื่องๆ ถึงเดือนกรกฎาคม โจรพวกนั้นปล้นไล่ฝูงกระบือในแขวงจังหวัดปทุมธานี แล้วไปปล้นที่บ้านชีปะขาวในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีอีกแห่งติดๆกัน เวลานั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรารชุน)ยังเป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เป็นผู้เข้มแข็งขึ้นชื่อในการปราบโจรผู้ร้าย สามารถจับโจรพวกนั้นที่เป็นชาวเมืองสุพรรณบุรีได้หลายคน ให้การรับเป็นสัจซัดพวกเพื่อน จึงให้จับโจรที่เป็นชาวเมืองอื่นเอาไปรวมกันชำระที่เมืองนครปฐม

ในเวลากำลังชำระโจรพวกนั้น วันหนึ่งฉันออกไปเมืองนครปฐมเพื่อจะพักผ่อนในเวลาราชการเบาบางตามเคย เห็นตำรวจภูธรคุมนักโทษคนหนึ่งขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยไปพร้อมกับฉัน แล้วไปลงที่สถานีพระปฐมเจดีย์ ฉันถามได้ความว่าเป็นพวกโจรร้ายที่กำลังชำระคนหนึ่ง ซึ่งจับตัวไปจากเมืองปทุมธานี ค่ำวันนั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยฯมากินอาหารด้วยกันกับฉันตามเคย แต่พอกินแล้วท่านขอลาว่าจะต้องไปชำระผู้ร้าย ฉันถามว่าเหตุไฉนจึงต้องไปชำระเอง ท่านบอกว่าโจรคนที่ได้ตัวมาใหม่ในวันนั้นเป็นตัวสำคัญนัก ที่เมืองปทุมธานีเรียกกันว่า "จันทร์เจ้า" เป็นหัวหน้าของผู้ร้ายพวกนั้นทั้งหมด ถ้าให้คนอื่นชำระเกรงจะไม่ได้ความจริง ถึงคืนต่อมาเมื่อกินอาหารด้วยกัน ฉันถามว่าชำระผู้ร้ายได้ความอย่างไร ท่านตอบว่า "ยังถวายรายงานไม่ได้" จนถึงคืนที่ ๔ เวลาเจ้าพระยาศรีวิชัยฯมากินอาหารดูยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันถามการชำระผู้ร้าย ท่านบอกว่าโจรจันทร์เจ้ารับเป็นสัจแล้ว

แต่ก่อนมาฉันยังไม่เคยรู้จักตัวหัวหน้าโจร หรือที่เรียกตามคำโบราณว่า "มหาโจร" นึกอยากรู้จักโจรจันทร์เจ้า จึงบอกเจ้าพระยาศรีวิชัยฯว่า เมื่อท่านชำระสะสางโจรจันทร์เจ้าเสร็จสิ้นสำนวนแล้ว ขอให้คุมตัวมาให้พบฉันสักหน่อย ท่านก็ให้คุมมาในวันรุ่งขึ้น พอฉันแลเห็นก็นึกประหลาดใจ ด้วยดูเป็นคนสุภาพ รูปพรรณสัณฐานไม่มีลักษณะอย่างใดที่จะส่อว่าใจคอเหี้ยมโหดถึงเป็นตัวหน้านายโจร เมื่อพูดด้วยถ้อยคำที่ตอบก็เรียบร้อยเหมือนอย่างเคยเพ็ดทูลเจ้านายมาแต่ก่อน ฉันออกพิศวงจึงถามว่าได้เคยเฝ้าแหนเจ้านายมาแต่ก่อนบ้างหรือ โจรจันทร์ตอบว่าได้เคยเฝ้าหลายพระองค์ ที่เคยทรงใช้สอยก็มี ฉันยิ่งสงสัยถามว่า "ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่ทรงรังเกียจหรือ" โจรจันทร์ตอบว่า "เจ้านายท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่ในพวกโจรด้วยกันเท่านั้น" เพราะพวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เรียกกันว่า "นักเลง" คนอื่นก็เลยเรียกว่านักเลง หมายความแต่ว่าเป็นตนกว้างขวาง นักเลงคนไหนมีพวกมากก็เรียกกันว่า "นักเลงโต" นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี แต่นักเลงเป็นคนกว้างขวางรับใช้สอยได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงชอบใช้สอย ก็ได้คุ้นเคยกับผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยเหตุนั้น

ฉันไถ่ถามความข้ออื่นต่อไป โจรจันทร์ก็เล่าให้ฟังโดยซื่อแม้จนลักษณะที่ทำโจรกรรม คงเป็นเพราะเห็นว่าได้รับสารภาพความผิดต่อเจ้าพระยาศรีวิชัยฯหมดแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องปกปิดต่อไป แต่การที่ถามโจรจันทร์ ความประสงค์ของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯกับความประสงค์ของตัวฉันผิดกัน เจ้าพระยาศรีวิชัยฯประสงค์จะรู้เรื่องปล้นเมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นสำคัญ แต่ตัวฉันอยากรู้วิธีของโจรผู้ร้ายทั่วไป ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่โจรจันทร์ถูกจับ ฟังคำอธิบายของโจรจันทร์จึงเลยออกสนุก ยิ่งฟังไปก็ยิ่งตระหนักใจว่าโจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรม สมกับที่เป็นนายโจร ฉันถามถึงกระบวนโจรกรรมอย่างใดๆ โจรจันทร์พรรณนาได้ทั้งหมดว่าทำอย่างนั้นๆ และชี้แจงได้ว่าเพราะเหตุใดจึงทำอย่างนั้นๆ ดังจะเขียนพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้น เขาว่ามักมีคนที่อยู่ใกล้กับเจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ
ตอบว่า การที่ปล้นนั้นจำต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้
ถามว่า เพราะเหตุใดไม่มีสายจึงปล้นไม่ได้
ตอบว่า พวกโจรต้องอาศัยผู้เป็นสายหลายอย่าง เป็นต้นแต่ผู้เป็นสายไปบอก พวกโจรจึงรู้ว่าบ้านไหนมีทรัพย์ถึงสมควรจะปล้น และการที่ปล้นนั้น พวกโจรต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย พวกโจรก็รักชีวิตเหมือนกัน ต้องสืบสวนและไล่เลียงผู้เป็นสายให้รู้แน่นอนก่อน ว่าเจ้าทรัพย์มีกำลังจะต่อสู้สักเพียงไร เพื่อนบ้านเรือนเคียงอาจจะช่วยเจ้าทรัพย์ได้อย่างไร ทางที่จะเข้าให้ถึงบ้านเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร และต้องสืบหาโอกาสเวลาเจ้าทรัพย์เผลอหรือไม่อยู่เป็นต้น จนแน่ใจว่ามีกำลังกว่าเจ้าทรัพย์ตั้งเท่าตัวหนึ่งพวกโจรจึงจะปล้น การที่ปล้นนั้น ผู้เป็นสายมักเป็นต้นคิดไปชักชวนพวกโจรมาปล้น พวกโจรหาต้องหาคนเป็นสายไม่
ถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจรปล้นบ้าน
ตอบว่า มักอยู่ในคน ๓ ชนิด คือ คนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงินชนิดหนึ่ง เพื่อนบ้านที่บ้านอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ชนิดหนึ่ง ญาติที่โกรธเจ้าทรัพย์เพราะขอเงินไม่ให้ชนิดหนึ่ง
ถามว่า โจรที่ขึ้นปล้นเรือนนั้นไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน
ตอบว่า ประเพณีของโจรปล้น เมื่อขึ้นเรือนได้แล้ว หมายจับตัวเจ้าทรัพย์หรือคนในเรือนเป็นสำคัญ เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่หรือทำทรกรรมบังคับให้คนในเรือนนำชี้จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับตัวคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นหาเอง มักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบให้แล้วโดยเร็ว มิทันให้พวกชาวบ้านมาช่วย
ถามว่า การที่จับตัวเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้นไม่กลัวเข้าจำหน้าได้หรือ
ตอบว่า แต่ก่อนมา โจรที่ขึ้นเรือนใช้มอมหน้ามิให้เจ้าทรัพย์รู้จัก แต่เมื่อการปกครองมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เวลาเกิดปล้น ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านมาตรวจ จะล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรที่อยู่ถิ่นฐานห่างไกล เจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก เป็นพนักงานขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน ให้โจรที่อยู่ใกล้เปลี่ยนเป็นพนักงานซุ่มระวังทางอยู่ที่มืด
ถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า "อ้ายเสือ"
ตอบว่า คำว่า "อ้ายเสือ" นั้น มิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่คำสัญญาที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้นแต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า "อ้ายเสือเอาวา" พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า "อ้ายเสือขึ้น" พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า "อ้ายเสือถอย" ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จหัวหน้าร้องบอกสัญญาว่า "อ้ายเสือล่า" ต่างคนก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญกันอย่างนี้

พึงเห็นได้ตามคำอธิบายที่เขียนเป็นตัวอย่างไว้ ว่าโจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรมมาก ถ้าหากโจรกรรมเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ความรู้ของโจรจันทร์ก็ถึงภูมิศาสตราจารย์ เพราะฉะนั้นพอพูดกันได้วันหนึ่ง ฉันก็ติดใจนึกอยากจะรู้กระบวนของโจรต่อไปให้สิ้นเชิง แต่นั้นถึงเวลาเย็นฉันลงไปนั่งเล่นที่สนามหญ้า ก็ให้เบิกตัวโจรจันทร์มาถามต่ออีกหลายวันจึงคุ้นกัน

ฉันเลยถามต่อไปว่าเพราะเหตุใดแกจึงรับเป็นสัจ โจรจันทร์ตอบว่าเดิมก็ตั้งใจจะไม่รับ ถ้าชำระที่เมืองปทุมธานีก็เห็นจะไม่ได้ความจากตัวแก แต่ใจมาอ่อนเสียที่ถูกเอามาชำระต่างเมือง ตั้งแต่ลงจากรถไฟแลหาพวกพ้อง แม้แต่ใครที่เคยรู้จักหน้าสักคนหนึ่งก็ไม่มี เหลือแต่ตัวคนเดียวก็เปลี่ยวใจ เมื่ออยู่ในเรือนจำพบปะนักโทษถามถึงพรรคพวกที่ถูกจับมา เขาบอกว่ารับเป็นสัจหมดแล้ว ก็ยิ่งครั่นคร้าม

แต่อย่างอื่นไม่ทำให้ท้อใจเหมือนวิธีชำระของเจ้าคุณเทศา ถามว่าท่านชำระอย่างไร โจรจันทร์เล่าว่า เวลาราวยามหนึ่งท่านเอาตัวไปที่ศาลอำเภอ ตัวท่านนั่งเก้าอี้อยู่ที่โต๊ะกับข้าราชการอีกสักสองสามคน ท่านเรียกตัวเข้าไปนั่งที่ข้างเก้าอี้ของท่านแล้วถามถึงเรื่องที่ไปปล้น แกปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วย ท่านก็หัวเราะแล้วว่า "คิดดูเสียให้ดีเถิด พวกพ้องเขาก็รับหมดแล้ว" ท่านว่าเท่านั้นแล้วก็หันไปพูดกับข้าราชการถึงการงานอย่างอื่นๆ และสูบบุหรี่กินน้ำร้อนไปพลาง ให้แกนั่งคอยอยู่นานจึงหันกลับไปถามอีกว่า "จะว่าอย่างไร" แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะว่า "คิดเสียให้ดี" แล้วหันไปพูดกับข้าราชการ ให้แกนั่งคอยอยู่อีกนานๆ หันมาถามอย่างนั้นอีก แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะแล้วบอกให้คิดให้ดีอีก เวียนถามอยู่อย่างนั้นหลายพัก จนเวลาสัก ๕ ทุ่มจึงเลิกชำระ ถึงวันที่ ๒ พอยามหนึ่งท่านก็เอาตัวไปชำระอีก พอได้ยินท่านถามเหมือนอย่างวันก่อนก็รำคาญใจ ยิ่งถูกถามซ้ำซากก็ยิ่งรำคาญหนักขึ้น แต่ยังแข็งใจปฏิเสธอยู่ได้อีกคืนหนึ่ง พอถึงวันที่ ๓ ระอาใจเสียแต่เมื่อเขาไปเอาตัวมาจากเรือนจำ พอเจ้าคุณเทศาตั้งคำถามอย่างเก่าอีกก็เกิดเบื่อเหลือทน เห็นว่าถ้าปฏิเสธท่านก็คงถามเช่นนั้นไปไม่มีที่สิ้นสุด นึกว่าไหนๆก็คงไม่พเนโทษ เพราะพวกเพื่อนรับเป็นสัจหมดแล้ว รับเสียให้รู้แล้วไปดีกว่าจะได้หลับนอนสิ้นรำคาญ แกจึงรับเป็นสัจในคืนวันที่ ๓ เพราะ "สู้ปัญญาเจ้าคุณเทศาท่านไม่ได้"

ในการชำระโจรผู้ร้ายเจ้าพระยาศรีวิชัยฯมีวิธีผิดกับคนอื่นหลายอย่าง ท่านเคยบอกกับฉันอย่างหนึ่งว่า ถ้าชำระในถิ่นที่ตัวผู้ร้ายอาศัยอยู่ไม่ใคร่รับเป็นสัจ ด้วยมันอายพวกพ้องของมัน ถ้าเอาไปชำระให้ห่างถิ่นฐานได้ความสัจง่ายขึ้น พระยามหินทรเดชานุวัติ(ใหญ่ ศยามานนท์)ซึ่งต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เวลานั้นยังเป็นที่พระยาศรีวิเศษยกกระบัตรมณฑล หัวหน้าพนักงานอัยการ เป็นมือขวาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯในการชำระโจรผูร้าย เคยเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อพวกโจรจันทร์ปล้นบ้านชีปะขาวครั้งนั้น พอรู้ข่าวถึงนครปฐม เจ้าพระยาศรีวิชัยฯก็ให้พระยามหินทรฯรีบลงเรือไปขึ้นไปเมืองสุพรรณบุรีสั่งว่าให้เอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนที่ตำบลบางซอมาซักถาม คงจะได้ความ พระยามหินทรฯตรงไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาซักไซ้ ก็ให้การรับเป็นสัจว่าอยู่ในพวกโจรที่ปล้นนั้น ให้การบอกชื่อโจรจึงจับตัวได้โดยมาก พระยามหินทรฯไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีวิชัยฯจึงสามารถชี้เจาะตัวได้ว่า ให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาชำระ

มีผู้อื่นว่าวิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯนั้น เวลาท่านไปเที่ยวไหนๆ ท่านสืบถามชื่อนักเลงในถิ่นนั้น จดไว้ในสมุดพกเสมอ ถ้าสามารถจะพบได้ก็คิดอ่านรู้จักตัวด้วย แล้วสืบถามเรื่องประวัติของพวกนักเลงจากคนร่วมถิ่นที่เป็นนักโทษติดอยู่ในเรือนจำจึงรู้แหล่งของพวกโจรในตำบลต่างๆ ท่านยังมีผู้ช่วยอย่างเป็นมือซ้ายของท่านอีกคนหนึ่งคือพระพุทธเกษตรานุรักษ์(โพธิ์) เมื่อยังเป็นหลวงชัยอาญาพะทำมะรงเรือนจำเมืองนครปฐม เป็นผู้มีคุณวุฒิอย่างแปลกประหลาดในกระบวนบังคับบัญชา ไม่ดุร้ายแต่สามารถให้นักโทษรักด้วยกลัวด้วย เรียกหลวงชัยอาญาว่า "คุณพ่อ" ทั้งเรือนจำ(๑) จนคนภายนอกพิศวงถึงกล่าวกันว่าหลวงชัยอาญาอาจจะจ่ายนักโทษไปทำงานได้ด้วยไม่ต้องมีผู้คุม เพราะแกรู้จักผูกใจนักโทษมิให้หนี ฉันเคยถามตัวแกเองว่าทำอย่างไรนักโทษที่แกจ่ายจึงไม่หนี แกบอกว่านักโทษมี ๒ ชนิด ชนิดที่จะหนีถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันคงหนี ชนิดนั้นจ่ายออกนอกตะรางไม่ได้ แต่นักโทษอีกชนิดหนึ่งใจยังรักดี คือพวกที่จะต้องติดไม่นานนักหรือพวกที่ใกล้จะถึงเวลาพ้นโทษ ชนิดนี้สั่งสอนได้ ถึงในพวกนี้แกก็เลือกจ่ายไปโดยลำพังแต่คนที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่หนี แกไม่มีวิชาอย่างไรที่เปลี่ยนอุปนิสัยของพวกมันได้ ฉันได้ฟังอธิบายของแกก็เข้าใจว่าความสามารถของแกอยู่ที่รู้จักคาดใจนักโทษเป็นสำคัญ ที่แกเป็นกำลังของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯนั้น อยู่ในการสืบเรื่องโจรผู้ร้ายจากความรู้ของพวกนักโทษอย่างหนึ่ง กับปลอบผู้ร้ายให้รับเป็นสัจอย่างหนึ่ง ดูเหมือนแกจะมีนักโทษที่ฝึกหัดไว้สำหรับให้อยู่ปะปนกับโจรผู้ร้ายที่แรกจับได้ ค่อยพูดจาเกลี้ยกล่อมให้รับเป็นสัจ ดังเห็นได้ในคำที่โจรจันทร์เล่า หลวงชัยอาญา(โพธิ์) เป็นทั้งพะทำมะรงและเป็นครูของพะทำมะรงในเรือนจำอื่น ซึ่งฉันสั่งให้ส่งไปศึกษาจากมณฑลต่างๆ อยู่ในตำแหน่งจนแก่ชราขอลาออก จึงได้เลื่อนเป็นที่พระพุทธเกษตรานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระนครปฐมมาจนถึงแก่กรรม

ฉันได้ฟังอธิบายของโจรจันทร์ถึงกระบวนโจรกรรมต่างๆ คิดเห็นว่าโจรกรรมเป็นของมีจริงคล้ายกับเป็นวิชาอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นแต่คำสำหรับเรียกกันโดยโวหาร หากเป็นวิชาสำหรับทำความชั่ว สาธุชนไม่เอาใจใส่ที่จะรู้ จึงรู้กันแต่ในพวกโจรผู้ร้าย ว่าที่จริง ถ้าสาธุชนรู้ไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ เช่นพนักงานปราบปรามโจรผู้ร้ายก็จะได้รู้เท่าโจร หรือเป็นคฤหบดีก็จะได้รู้จักป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ตัวฉันมีโอกาสที่ได้พบปะกับศาสตราจารย์โจรกรรม น่าจะลองเขียนให้ความรู้เรื่องโจรกรรมเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายจามหัวเมือง ตลอดจนพวกเจ้าทรัพย์

คิดเห็นเช่นนั้นจึงเรียกโจรจันทร์มาถามอีกครั้งหนึ่ง ถามครั้งนี้ฉันเอากระดาษดินสอจดคำอธิบายและบอกโจรจันทร์ให้รู้ว่าฉันจะแต่งหนังสือเรื่องโจรกรรม ถ้าบอกให้ถี่ถ้วนดีจริง ฉันจะกราบบังคมทูลขอให้พ้นโทษเป็นบำเหน็จ โจรจันทร์ก็ยินดีรับชี้แจงให้ตามประสงค์และให้สัญญาว่าถ้าพ้นโทษ จะทิ้งความชั่วไม่เป็นโจรผู้ร้ายต่อไปจนตลอดชีวิต ฉันจึงเขียนเรื่องโจรกรรมอย่างพิสดารจนสำเร็จ แล้วให้พิมพ์เป็นเล่มสมุดเรียกชื่อว่า "สนทนากับผู้ร้ายปล้น" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น แต่พอหนังสือนั้นปรากฎ คนก็ชอบอ่านกันแพร่หลายถึงต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เพราะยังไม่เคยมีใครเคยรู้เรื่องโจรกรรมชัดเจน เหมือนอย่างพรรณนาในหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นมาแต่ก่อน

ส่วนตัวโจรจันทร์นั้น ฉันก็กราบทูลขอพระราชทานโทษด้วยยกความชอบที่ได้ชี้แจงกระบวนโจรกรรมให้เป็นประโยชน์ในการปราบปรามโจรผู้ร้าย(๒) เมื่อได้รับพระราชทานโทษแล้ว โจรจันทร์ไม่ประสงค์จะกลับไปอยู่เมืองปทุมธานี ขออยูรับใช้สอยที่เมืองนครปฐมต่อไป เจ้าพระยาศรีวิชัยฯว่าพวกโจรปล้น เช่น นายจันทร์ยังถือสัจ ถ้ากลับใจแล้วพอไว้ใจได้ ไม่เหมือนพวกขโมยที่ล้วงลักตัดช่องย่องเบา ท่านเห็นฉันคุ้นเคยจนชอบนายจันทร์ จะให้เป็นพนักงานเฝ้าเรือน "บังกะโล" ที่ฉันพักฉันก็ไม่รังเกียจ นายจันทร์ได้ตำแหน่งทำงานก็ให้ครอบครัวตามไปอยู่เมืองนครปฐม เมียไปตั้งร้านขายของ มีลูกชายคนหนึ่งเพิ่งรุ่นหนุ่ม เอาไปให้เจ้าพระยาศรีวิชัยฯฝึกหัดใช้ราชการ แต่นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมาทั้งครัวเรือน

ในสมันนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเสด็จประพาสเมืองนครปฐมเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวังใหม่เสด็จไปประทับที่เรือนบังกะโลของฉันเป็นนิจ ทรงทราบว่านายจันทร์คนรักษาเรือนเคยเป็นนายโจร ตรัสเรียกไปทรงไถ่ถามให้เล่าเรื่องโจรกรรมถวายจนทรงคุ้นเคย ถึงสมัยเมื่อเสวยราชย์แล้วเวลาเสด็จออกไปเมืองนครปฐม พบนายจันทร์ก็ตรัสทักด้วยพระกรุณา แม้พวกข้าราชการในราชสำนักหรือที่ไปรับราชการ ณ เมืองนครปฐม ก็รู้จักนายจันทร์ทุกคนไม่มีใครเกลียดชัง ถ้าจะว่าก็เพราะเหตุที่เคยเป็นนายโจรแล้วกลับใจได้ แม้เป็นพลเมืองสามัญไปรับจ้างเฝ้าเรือนบังกะโลก็เห็นจะไม่มีใครนำพานัก นายจันทร์เป็นผู้เฝ้าเรือนบังกะโลมากว่า ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวจึงออกจากหน้าที่ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ได้ยินว่า "โจรจันทร์" ยังอยู่ที่เมืองนครปฐมอายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว.


....................................................................................................................................................

(๑) ที่ตั้งชื่อกระทู้ว่า เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ "นักเลงยังเรียกพ่อ" ผมหมายเอาประวัติเรื่องที่ท่านเป็นนักเลงจนหมดตัวมาแต่ก่อน และสามารถกลับใจใช้ความเป็นนักเลงของท่านเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงเพื่อประเทศชาติ อีกทั้งความสามารถในเรื่องการสืบจับผู้ร้ายอย่างอัศจรรย์ ราวกับว่าท่านได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาของท่านเอง นะครับ

(๒) ในสมัยก่อน นักโทษจะพ้นโทษได้ด้วยพระราชทานอภัยโทษ ไม่มีกำหนดเวลาว่าโทษอย่างนี้ต้องจำเวลาเท่านี้ โทษอย่างนั้นต้องจำเวลาเท่านั้น และคุกสำหรับขังนักโทษมีบรรยายสภาพอยู่ใน "เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน" ครับ



คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม สุนทรารชุน) นักเลงยังเรียกพ่อ


Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 13:57:32 น. 0 comments
Counter : 4314 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com