กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (พระราชหัตถ์ขวา)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ




....................................................................................................................................................


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขัติยพิศาลสุรบดีบรมราชินีศรีพัชรินทรภราดร สโมสรอเนกนิติปรีชา มหาสุมันตยานุวัตรวิบูลย์ ไพรัชราชกิจจาดุลย์สุนทรปฏิญาณ นิรุกติญาณวิทยาคณาทิศาสตร์ โหรกลานุวาทนานาปกรณ์ เกียรติกำจรจิรกาล บริบูรณ์คุณสารสมบัติ สุจริตสมาจารย์วัตรมัทวเมตตาชวาธยาศรัย ศรีรัตนไตรสรณธาดา กัลยาณธรรมมิกนาถบพิตร ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑

แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามนั้น พระราชทานพระพรด้วยคาถาพระราชนิพนธ์ดังต่อไปนี้

เทวญฺญตโรทยวํโส............อิติ เสฏฺฐาภิเธญฺยโต
นามํ โหตุ กุมารสฺส............อมสฺเสว ปิยสฺส เม
รตนตฺตยเตเชน.................มยฺหญฺจ ปุญฺญเตชสา
อยํ ทีฆายุโก โหตุ.............กุมาโร มมปุตฺตโก
อโรโค สุขิโต โหตุ.............ยสวา ปริวารวา
สมนฺนาคโต จ โหตุ............ตถารูเปน เตชสา
ยถาสกํ รกฺเขยฺย................มาตรํ อญฺญโปสโต
กุลญฺจ อนุรกฺเขยฺย.............เปตฺติกมฺปิ อนาคเต ฯ


คำแปลคาถาพระราชนิพนธ์

"คำว่า เทวัญอุไทยวงศ์ จงเป็นนามแห่งกุมารนี้นี่แล ผู้เป็นที่รักของเราโดยเป็นนามาภิธัยอันประเสริฐ เพราะเดชแห่งพระรัตนตรัยด้วย เพราะเดชแห่งบุญของเราด้วย ขอกุมารผู้เป็นบุตรของเรานี้ จงมีอายุยืนนานมีความสุขสำราญ ไม่มีโรค มียศ มีบริวาร แลประกอบด้วยเดชเป็นปานนั้น พึงรักษามารดาของตนอย่างไร จากบุรุษอื่น แลพึงตามรักษาตระกูล แม้เป็นของบิดาไว้ในอนาคตกาลฯ"

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นที่๒ ในพระเจ้าลูกยาเธอที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งทรงสภาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดีพัชรินทรมาตาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นพระชนนี พระองค์ที่ ๑ พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรชัย ประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระองค์ที่ ๒ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ ประสูติเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน ประสูติเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระมาตุฉาเจ้า พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถฯ ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ พระองค์ที่ ๖ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ ประสูติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘

พระโอรสธิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติในรัชกาลที่ ๔ ถ้าว่าโดยรุ่นพระชันษาเป็น ๓ ชั้น คือ ที่ประสูติแต่ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ นับว่าเป็นชั้นใหญ่ได้โสกันต์ แลถ้าเป็นพระราชกุมาร ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๔ แทบทั้งนั้น พระราชโอรสธิดาซึ่งประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ มาจนปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๔ นับว่าเป็นชั้นกลาง พอทรงพระเจริญวัย แต่ไม่ทันได้โสกันต์ในรัชกาลที่ ๔ พระราชโอรสธิดาซึ่งประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๕ มานับว่าเป็นชั้นเล็กในรัชกาลที่ ๔ ยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้น สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการอยู่ในพระเจ้าลูกเธอชั้นกลาง เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๔ กำลังทรงเล่าเรียน พอประจวบการเปลี่ยนแปลงวิธีศึกษาของพระราชกุมาร อันเป็นเหตุข้อสำคัญในเรื่องพระประวัติเนื่องตลอดถึงที่ทรงรับราชการบ้านเมืองในสมัยต่อมา เพราะฉะนั้นควรจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาของเจ้านายในสมัยนั้นให้พิสดารสักหน่อย

อันการศึกษาของเจ้านานยและลูกผู้ดีมีสกุลแต่ก่อนมา โรงเรียนหรือวิทยาลัยอย่างเช่นเราเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้ยังหามีไม่ แต่ส่วนวิธีศึกษานั้น ถ้าจะว่าก็มีเป็นชั้นประถม มัธยมและอุดมศึกษา ทำนองเดียวกับระเบียบในปัจจุบัน กุลบุตรเริ่มเรียนวิชาเบื้องต้นแต่อ่านเขียนและจรรยามารยาท แล้วเรียนวิชาสามัญชั้นสูงขึ้นไป ที่สุดเรียนวิชาเฉพาะอย่างเป็นอาชีพ แต่สถานที่เล่าเรียนนั้นต้องไปศึกษาสำนักชีต้นอาจารย์ และผู้ชำนาญวิชาซึ่งประสงค์จะเล่าเรียน ให้ฝึกหัดสั่งสอนโดยเฉพาะตัวไปจนกว่าจะรอบรู้ชำนิชำนาญทำการเป็นอิสระได้โดยลำพัง เป็นประเพณีมีมาดังนี้แต่โบราณ ส่วนพระราชกุมารนั้น การศึกษาชั้นประถมทรงเล่าเรียนภายในพระบรมมหาราชวัง ในสำนักเจ้านายหรือกุลนารีที่รอบรู้เป็นอาจารินี ฝึกสอนแต่ยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์ ครั้นเจริญพระชันษาถึง ๗ ปี ๘ ปี ก็เริ่มทรงเล่าเรียนชั้นมัธยมศึกษา คือ เรียนภามคธเป็นต้น แลฝึกหัดขัตติยวิชาต่างๆ เช่นทรงม้าแลยิงปืนเป็นต้น ถึงชั้นนี้ทรงศึกษาต่ออาจารย์ผู้ชาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้ฝึกสอนที่ในพระบรมมหาราชวังข้างฝ่ายหน้า ทรงร่ำเรียนไปจนโสกันต์ แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรไปประทับอยู่วัดพรรษาหนึ่งบ้าง นานกว่านั้นบ้าง ทรงศึกษาอักขรสมัยชั้นสูง แลพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเป็นที่สุดของชั้นมัธยมศึกษา ครั้นลาผนวชจะทรงปฏิบัติราชการทางใดก็ทรงศึกษาเฉพาะราชการทางนั้น ต่อท่านผู้ใหญ่ซึ่งชำนิชำนาญหรือได้บัญชาการนั้นๆ ไปจนทรงสามารถรับราชการได้โดยลำพังพระองค์ เป็นแบบแผนสืบมาดังนี้

การเปลี่ยนแปลงประเพณีศึกษาของเจ้านาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มก่อน เหตุด้วยทรงพระราชดำริเห็นโดยพระปรีชาญาณมาแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ว่าสยามประเทศนี้คงจะมีกิจการเกี่ยวข้องกับฝรั่งยิ่งขึ้นทุกที ความรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมฝรั่ง จะเป็นความต้องการของบ้านเมืองในวันหน้า จึงทรงพากเพียรเรียนภาษาอังกฤษต่อพวกมิชชันนารีอเมริกัน จนทรงสันทัดแต่ยังทรงผนวช แต่ผู้อื่นที่คิดเห็นดังพระราชดำริ หรือที่ได้อุตส่าห์พยายามตามเสด็จในการเรียนนั้นมีน้อย ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อมาไม่ช้าก็เกิดเกี่ยวข้องกับฝรั่งดังทรงคาดไว้ เหตุด้วยรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศมาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี แลมีกงสุลต่างประเทศกับพ่อค้าเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้นทุกที จนกิจการที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเป็นข้อสำคัญขึ้นในราชการแผ่นดิน

เพราะเหตุดังกล่าวมา เมื่อพระโอรสธิดาทรงพระเจริญขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงกำหนดจะให้เรียนภาษาอังกฤษในชั้นมัธยมศึกษาทุกพระองค์ โปรดฯให้หาผู้ฝึกสอน ไดครูผู้หญิงมาจากเมืองสิงคโปร์คนหนึ่งชื่อ นางลีโอ โนแวน โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นเป็นที่แรกที่ภายในพระบรมมหาราชวัง พระโอรสธิดาที่เป็นชั้นใหญ่ได้ทันเข้าเล่าเรียนในโรงเรียนนั้น แต่นางลีโอ โนแวนสอนอยู่ไม่เต็ม ๓ ปีก็กลับไปเสีย หาตัวแทนไม่ได้จึงต้องเลิกโรงเรียนเสียคราวหนึ่ง แต่ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล่าเรียนรู้มากอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้จ้างหมอจันดเลมาสอนภาษาอังกฤษถวายในเวลาเมื่อทรงเสด็จออกไปประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนต่อมาตลอดจนรัชกาลที่ ๔ ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงพยายามจัดการศึกษาของพระเจ้าน้องยาเธอทั้งปวงตามพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถฯ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕

แต่การศึกษา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้น ขยายกว้างออกไปกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะเหตุได้เสด็จไปทอดพระเนตรวิธีการของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์แลเมืองชวาครั้งหนึ่ง ต่อมาได้เสด็จไปทอดพระเนตรที่ประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่ง จึงโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับผู้ดีมีสกุลขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กซึ่งทรงจัดขึ้นใหม่ เพราะเจ้านายและบุตรหลสานข้าราชการสมัครฝึกหัดเป็นทหารอยู่มากด้วยกัน โรงเรียนที่ตั้งขึ้นครั้งนั้น เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือแห่ง ๑ โปรดฯให้พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร)เมื่อยังเป็นหลวงสารประเสริฐ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษอังกฤษขึ้นอีกแห่ง ๑ ได้ครูอังกฤษชื่อนาย แฟรนซิส ยอช แปเตอรสัน มาเป็นอาจารย์ โปรดฯให้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอฯชั้นใหญ่ที่ยังไม่มีตำแหน่งราชการ กับทั้งพระเจ้าน้องยาเธอชั้นกลางชั้นเล็กซึ่งมีพระชันษาถึงเวลาเล่าเรียนชั้นมัธยม เข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแทบทั้งนั้น นอกจากพระเจ้าน้องยาเธอ ยังมีหม่อมเจ้าแลพวกผู้ดีที่เป็นนายทหารมหาดเล็กที่ โปรดฯให้เข้าเล่าเรียนในโรงเรียนภาษาอังกฤษก็อีกมาก ความที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องเบื้องต้นของการเปลี่ยนแปลงวิธีศึกษาในประเทศนี้ ซึ่งดำเนินสืบมาโดยลำดับจนเกิดกรมแลกระทรวงศึกษาธิการ จัดการศึกษาสำหรับประเทศปัจจุบันนี้ แต่นี้จะกล่าวถึงส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับพระประวัติ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการต่อไป

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงเล่าเรียนอักขรสมัยชั้นประถมในสำนักพระองค์เจ้าหญิงกฤษณา พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเริ่มทรงเล่าเรียนภาษามคธขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ในสำนักพระยาปริยัติธรรมดา(เปี่ยม) แต่ทรงพระเยาว์ไม่ทันจะได้เรียนภาษาอังกฤษเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงเล่าเรียนวิชาความรู้ชั้นมัธยมศึกษาต่อมา จนโสกันต์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อปีมะแม ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศ ทรงศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์แลเรียนอักขรสมัยชั้นสูงต่อมาในเวลาเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่นั้นจนตลอดพรรษา ได้ถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์ฉกษัตริย์ แล้วลาผนวชมาประทับอยู่ ณ ตำหนักข้างหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กับพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย ด้วยวังซึ่งพระองค์เจ้าอุณากรรณฯได้พระราชทานที่ใกล้สะพานถ่านยังสร้างไม่แล้ว แต่ต่อมาไม่ช้าสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้พระราชทานวังกรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ที่ริมแม่น้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์(อยู่ในบริเวณโรงเรียนราชินีบัดนี้) ทั้งสองพระองค์จึงหาแพจอดเป็นที่ประทับอยู่หน้าวังนั้น แต่พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยสิ้นพระชนม์เสียเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖

ขณะเมื่อ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการลาผนวชสามเณรนั้น พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยได้ทรงตำแหน่งเป็นนายร้อยตรีอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงทรงสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ได้ฝีกหัดอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กด้วยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นว่ามีพระปรีชาเฉลียวฉลาด และทรงเล่าเรียนรอบรู้เกินกว่าพระชันษาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่เพียงนั้น ก็ทรงพระเมตตาโปรดฯให้ตามเสด็จประพาสอินเดียในปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นรุ่นเล็ก ๒ พระองค์ด้วยกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเหตุให้ทรงชอบชิดสนิทเสน่หามาแต่ครั้งนั้น

ครั้นเสด็จกลับจากอินเดีย เมื่อโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง( ณ ตึกข้างประตูพิมานไชยศรี ที่ตั้งสำนักงานกรมพระคลังข้างที่บัดนี้) สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการก็ได้เข้าเป็นนักเรียนในชั้นแรก แต่ในชั้นนั้นนักเรียนมีมากด้วยกัน มีครูแต่คนเดียวจึงต้องแบ่งนักเรียนออกเป็นสองแผนกๆเจ้านายเรียนตอนเช้า แผนกนายทหารเรียนตอนบ่าย เจ้านายไม่ติดเล่าเรียนได้โอกาสได้เข้าเฝ้าแทนในตอนบ่ายเป็นนิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงใช้สอยสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการติดพระองค์ต่อมาในเวลาที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษอยู่นั้น แต่ส่วนโรงเรียนภาษาอังกฤษตั้งอยู่อย่างเช่นแรกตั้งเพียงสัก ๒ ปีเศษ นักเรียนร่วงโรยไป เพราะพระเจ้าน้องเธอที่เป็นชั้นใหญ่เสด็จไปมีตำแหน่งรับราชการต่างๆเสียเป็นลำดับมา พวกนายทหารมหาดเล็กเมื่อการทหารมีมากขึ้น เวลาที่จะเล่าเรียนภาษาอังกฤษก็น้อยลง

แลที่สุดนักเรียนที่เลิกเรียนไปโดยสิ้นความอุตสาหะก็ยังมีอีกพวกหนึ่ง นักเรียนลดน้อยลงจนครูคิดจะลากลับไป แต่สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แลพระเจ้าน้องยาเธอมีอีกบางพระองค์ ซึ่งทรงรักจะศึกษาต่อไปให้ตลอด จึงชักชวนครูแล้วกราบบังคมทูลฯขอให้ตั้งการฝึกสอน ณ ตำหนักหอเทพพิทย ที่ริมประตูศรีสุนทร(ตรงห้องเครื่องมหาดเล็กที่สร้างใหม่บัดนี้) อันเป็นที่ประทับของสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชในสมัยนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษต่อมาในชั้นนี้อีกปีเศษจึงเลิกเรียน เพราะต่างพระองค์ต่างไปมีตำแหน่งรับราชการตามกันโดยลำดับ

พระประวัติสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการตอนเสด็จเข้ารับราชการแผ่นดิน จะแสดงให้ทราบเรื่องชัดเจนจำจะต้องกล่าวถึงลักษณะราชการที่เป็นอยู่ในเวลานั้น พอเป็นเค้าความเสียก่อน เพราะสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเข้ารับราชการแผ่นดินในสมัยอันเป็นหัวต่อข้อสำคัญของพงศาวดารบ้านเมืองตอน ๑ แลได้ทรงมีหน้าที่กระทำการสำคัญของบ้านเมืองตั้งแต่แรกเสด็จเข้ารับราชการ ก็ลักษณะราชการตอนต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชันษาได้เพียง ๑๖ ปี ยังนับว่าอยู่ในเขตทรงพระเยาว์วัย จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์มา ๕ ปี เพราะฉะนั้นในระหว่างเวลา ๕ ปีนั้น ยังไม่ต้องทรงรับภาระราชการแผ่นดินทั่วทุกอย่าง จึงเสด็จไปประพาสทอดพระเนตรลักษณะการงานในนานาประเทศ แลทางจัดการแต่บางอย่าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเป็นข้อสำคัญถึงราชการบ้านเมือง ดังเช่นตั้งกรมทหารมหาดเล็กแลเริ่มจัดบำรุงการเล่าเรียนดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเป็นต้น

จนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระชันษาพ้นเขตทรงพระเยาว์วัย เมื่อทรงผนวชแล้วจึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นก็ทรงว่าราชการแผ่นดินรับผิดชอบเองต่อมา ราชการที่เป็นความลำบากอยู่ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็นพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับภาระว่าราชการแผ่นดินนั้น มีการพระคลังเป็นสำคัญ เหตุด้วยแต่ก่อนมาการเก็บภาษีอากรผลประโยชน์แผ่นดิน แยกย้ายกันอยู่ในกระทรวงต่างๆ แล้วแต่เจ้ากระทรวงจะจัดการเก็บ พระคลังมหาสมบัติเป็นแต่พนักงานรับเงินหลวงตามแต่ต่างกระทรวงจะส่งมา ผลประโยชน์ซึ่งควรได้สำหรับแผ่นดินรั่วไหลไปเสียทางอื่นเป็นอันมา แต่ส่วนการใช้จ่ายนั้นพระคลังมหาสมบัติต้งจ่ายเพิ่มรายการขึ้นทุกที ที่สุดเงินรายได้ก็ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลเป็นหนี้สินอยู่เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าว่าราชการแผ่นดิน จึงต้องทรงพระราชดำริแก้ไขความขัดข้องเรื่องการพระคลังก่อนอย่างอื่น ทรงหารือกับสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งอธิบดีพระคลังมหาสมบัติ จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ นั้น ให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากรในกระทรวงต่างๆขึ้นเป็นทีแรก อันเป็นต้นของกระทรวงพระคลังทุกวันนี้ แต่ในชั้นแรกเมื่อตั้ง ตัวพนักงานซึ่งสามารถทำงานให้ลุล่วงได้ดังพระราชประสงค์ยังมีน้อยไม่พอแก่การ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าการที่จัดจะไม่สำเร็จ จึงรับหน้าที่ส่วนการตรวจบัญชีต่างกระทรวงมาทรงทำเอง เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดฯให้จัดตั้งสำนักงานเรียกในครั้งนั้นว่า "ออดิต ออฟฟิศ" ขึ้นในพระราชมณเฑียรสถานใกล้ที่เสด็จประทับ แล้วทรงเลือกสรรผู้ช่วยพระราชธุระซึ่งทรงรับไปนั้น ได้กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งเพิ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นพระองค์ ๑ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเพิ่งทรงเล่าเรียนสำเร็จพระองค์ ๑ โปรดให้เป็นหัวหน้าพนักงาน ออดิต ออฟฟิศ มาแต่แรกตั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงทำการที่ออฟฟิศนั้นทุกวัน การก็สะดวกแก่พระราชธุระตลอดไปจนถึงราชการอย่างอื่นๆ จึงโปรดฯให้เจ้านายซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานในออดิต ออฟฟิศสนองพระเดชพระคุณช่วยพระราชธุระ อย่างเป็นราชเลขาธิการในราชการอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นจากการตรวจบัญชีคลัง และต่อมาไม่ช้าก็ทรงจัดออฟฟิศนั้นตั้งเป็นพนักงานราชเลขาธิการ เป็นต้นเดิมของกรมราชเลขาธิการทุกวันนี้ การตรวจบัญชีคลังคงเป็นแต่ส่วนหนึ่งของพนักงานราชเลขาธิการ

เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จเข้ารับราชการมีตำแหน่งในออดิตออฟฟิศนั้น แม้พระชันษาได้เพียง ๑๗ ปี พระคุณวุฒิปรากฏแก่คนทั้งหลาย ว่าทรงพระปรีชาฉลาดเฉลียวแลรอบรู้ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษและวิชาเลข ในกระบวนที่ได้เล่าเรียนไม่มีผู้ใดจะเยี่ยมยิ่งกว่าในสมันนั้น ก็ผู้ที่รับราชการใกล้ชิดพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแต่ก่อน มีรู้ภาษาอังกฤษคนเดียวแต่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งได้ไปเรียน ณ ประเทศอังกฤษเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เมื่อกลับมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเป็นนนายราชาณัตยานุหาร หุ้มแพรพิเศษในกรมพระอสาลักษณ์ รับราชการเป็นทำนองราชเลขาธิการฝ่ายภาษาต่างประเทศมาจนตลอดรัชกาล

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้เป็นตำแหน่งราชเลขาธิการ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาจางวางมหาดเล็ก แลเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย เมื่อสมเด็จฯพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสด็จเข้าไปรับราชการจึงมีผู้ที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ สำหรับทรงใช้สอยในการต่างประเทศเป็นสองขึ้นด้วยกันกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ก็แลราชการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศเกิดเป็นการสำคัญมาแต่ในรัชการที่ ๔ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ลักษณะการที่เกี่ยวข้องนั้น เมื่อในรัชการที่ ๔ มีแต่เนื่องด้วยเหตุที่ฝรั่งต่างประเทศเข้ามาค้าขายในเมืองไทย กับเรื่องเขตแดนเป็นข้อสำคัญ มาถึงรัชการที่ ๕ การเกี่ยวกับฝรั่งเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือที่มีพระราชประสงค์จะตรวจค้นตำรับตำราของต่างประเทศเลือกเฟ้นแบบแผนมาใช้ในราชการต่างๆที่จะทรงจัดขึ้นในประเทศนี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ จึงได้ทรงมีหน้าที่รับราชการเกี่ยวเนื่องในการต่างประเทศ เพราะเหตุทรงคุณวุฒิเหมาะแก่การนั้นมาแต่แรกมีตำแหน่งรับราชการแผ่นดิน

แม้เมื่อมีตำแหน่งรับราชการแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ยังทรงพยายามเล่าเรียนต่อมาในเวลาว่างราชการ ทั้งวิชาภาษาไทยภาษาอังกฤษและวิชาเลข วิชาเลขนั้น ในตอนนี้ทรงศึกษาวิชาเลขตามวิธีไทยในสำนักขุนโชติพรหมา(เสริม)ในกรมโหรหลวงต่อมา จนทรงทราบวิชาโหรศาสตร์ อาจจะทำปฏิทินแลคำนวนสุริยุปราคาจันทรุปราคาได้ ภายหลังมาจึงทรงคิดวิธีปฏิทินไทยใช้ตามสุริยกาลขึ้นทูลเกล้าฯถวายและโปรดฯให้ใช้เป็นประเพณีของการบ้านเมืองแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒ สืบมาจนบัดนี้ ในส่วนทางความรู้ฝ่ายต่างประเทศนั้น

ในตอนนี้ นายเฮนรี่ อาลบาสเตอร เข้ามารับราชการมีตำแหน่งอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เป็นที่ทรงปรึกษาหารือด้วยเนืองนิจ ผลของการที่ทรงพระอุตสาหะศึกษาหาความรู้ต่อมาโดยลำพังพระองค์ตอนนี้ เป็นเหตุเพิ่มพูลพระปรีชาสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้นโดยลำดับมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นคุณวุฒิ แลทรงพระเมตตาสมเด็จฯกรมพนระยาเทวะวงศ์วโรปการเพียงใด มีแจ้งอยู่ในประกาศครั้งทรงตั้งเป็นกรมหมื่นฯดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า ไม่จำต้องพรรณาในที่นี้

ถึงพ.ศ. ๒๔๒๑ มีเหตุอริเกิดขึ้นในระหว่างรัฐบาลไทยกับนายทอมัส ยอชนอกส์ ผู้เป็นเอเย่นต์แลกงสุลเยเนราลผู้แทนรัฐบาลอังกฤษอยู่ในกรุงเทพฯ แลในสมัยนั้นตั้งแต่ไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ รัฐบาลต่างประเทศเป็นแต่ตั้งกงสุลเป็นผู้แทนเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมียศเพียงเป็นกงสุลเยเนราลเป็นอย่างสูง ฝ่ายไทยก็ยังหามีทูตไปอยู่ในต่างประเทศที่มีทางไมตรีไม่ การที่จะเจรจาว่ากล่าวกับรัฐบาลต่างประเทศใด ได้แต่พูดจากับกงสุลของประเทศนั้นที่อยู่ในกรุงเทพฯ ถ้าเกิดอริขึ้นกับกงสุล ไม่มีทางที่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลของกงสุลนั้นทราบความจริงได้ นอกจากแต่งราชทูตพิเศษออกไปยุโรป เมื่อในรัชกาลที่ ๔ มองสิเออร์อุบาเล็ต กงสุลฝรั่งเศสเคยมาประพฤติเกะกะขึ้นคราว ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องโปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นราชทูตพิเศษออกไปยังเมืองฝรั่งเศส

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อนายนอกส์ กงสุลเยเนราลอังกฤษประพฤติเกะกะขึ้น เสนาบดีปรึกษากันให้ทำตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษออกไปว่ากล่าวกับรัฐบาลที่เมืองอังกฤษ เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปราชการครั้งนั้น ตำแหน่งราชเลขาธิการว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นราชเลขาธิการ ต้องรอการทรงผนวชเป็นพระภิกษุมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้ทรงผวชพร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามประเพณีพระเจ้าน้องยาเธอทรงผนวช สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสสเทว วัดราชประดิษฐ์เป็นพระกรรมวามจาจารย์ ทรงผนวชแล้วไปประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ์ แต่ในเวลานั้นราชการในหน้าที่ราชเลขาธิการมีมาก ทรงเกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงได้ความลำบาก จึงกราบถวายบังคมลาทรงผนวชแต่เพียง ๑๕ วัน พอมิให้ผิดขัตติประเพณีที่เคยมีมา เมื่อลาผนวชแล้วได้พระราชทานวังเดิมของพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัยที่ใกล้สะพานถ่าน แลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักพระราชทาน ได้เสด็จประทับอยู่วังใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ แลต่อมาถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นฯ มีคำประกาศทรงยกย่องความชอบความดีในครั้งนั้นดังนี้


คำประกาศ


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๔ พรรษา ปัตยุบันกาลสัปปสังวัจฉรวิสาขมาส กาฬปักษ์เอกาทสีดิถี ศศิวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำรอว่า พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ได้ทรงอุตส่าห์ร่ำเรียนวิชาทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษชำนิชำนาญ จึงได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตรากตรำมาแต่ทรงพระเยาว์จนเวลาบัดนี้ มีพระทัยจงรักภักดีต่อราชการ ประกอบด้วยความอุตสาหะพากเพียรมิได้ย่อหย่อน ทรงบังคับการงานสิ่งใดโดยซื่อตรงเที่ยงธรรมเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาช้านาน บัดนี้ทรงเจริญวัยวุฒิปรีชาฉลาดในราชกิจทั้งปวงทั่วถึง สมควรจะได้รับราชอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนตำแหน่งยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงเจริญพระชนมายุพรรณสุขพลปฏิญาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลธนสารสมบูรณ์อดุลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการเทอญ

ให้ทรงตั้ง เจ้ากรม เป็นหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๖๐๐

ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นภูบาลสวามิภักดิ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้ทรงตั้งสมุหบาญชี เป็นหมื่นรักษพยุหพลถือศักดินา ๓๐๐

ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงแลในกรมตามอย่างตามธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ตั้งแต่ ณ วัน ๒ฯ๑๑๖ ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก ศักราช ๑๒๔๓ เป็นวันที่ ๔๕๗๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


..........................................................................



ถึงสมัยนี้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงรับราชการสองตำแหน่ง คือ ในตำแหน่งราชเลขาธิการ เป็นที่ทรงปรึกษาในราชการต่างประเทศด้วยตำแหน่งหนึ่ง มีตำแหน่งในกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้บัญชาการกรมบัญชีกลางด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ต้องแบ่งเวลาไปรับราชการที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ แล้วเข้าไปประจำราชการในสำนักงานกรมราชเลขาธิการเสมอทุกวัน เมื่อทรงรับราชการในตำแหน่งดังกล่าวมานี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงคิดอ่านการสำคัญให้สำเร็จดังพระราชประสงค์สองอย่าง คือ ในเรื่องตั้งราชทูตไทยไปประจำอยู่ในราชสำนักต่างประเทศเป็นทีแรก ได้เริ่มตั้งในประเทศอังกฤษเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ แล้วตั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆต่อมา ได้ผลตัดความลำบากซึ่งต้องเจรจาว่าขานกับกงสุลในกรุงเทพฯนี้ แล้วเลยเป็นเหตุให้นานาประเทศยกย่องเกียรติยศสยามประเทศตั้งราชทูตมาประจำในราชสำนักนี้เรื่อง ๑

ต่อมาถึงปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ได้ทรงคิดอ่านเรื่องทำสัญญากับรัฐบาลอังกฤษให้มีวิธีการศาลต่างประเทศเข้ามาไว้ในอำนาจศาลไทยได้อีกเรื่อง ๑ การทั้งสองเรื่องนี้มิได้ปรากฎพระนามสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการในจดหมายเหตุราชการ เพราะเวลานั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดียังเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้จัดการแลทำหนังสือสัญญาตามรับสั่ง แต่ที่แท้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงขวนขวายแต่ต้นจนสำเร็จทั้งสองเรื่อง

ต่อมาถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เกิดปัญหาขึ้นถึงเรื่องผู้ที่จะเป็นแทน คนทั้งหลานเห็นกันโดยมากว่าไม่มีผู้ใดจะเหมาะกว่าสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริเห็นเช่นนั้น แต่หากยังทรงเกรงอยู่ว่าจะเกิดความครหา เพราะเหตุที่เสนาบดีในสมัยนั้นล้วนเป็นผู้ใหญ่สูงอายุ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการพระชันษาได้เพียง ๒๗ ปี คนทั้งหลายจะเข้าใจกันว่า ทรงตั้งแต่งเพราะความลำเอียงโดยทรงสพระเมตตาในส่วนพระองค์ ต่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์กราบบังคมทูลรับรอง จึงได้ทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรงต่างประเทศนั้น ประเพณีที่เป็นอยู่ในกระทรวงต่างๆ เสนาบดีเจ้ากระทรวงย่อมบัญชาราชการที่บ้านเรือนของตน เจ้าหน้าที่มีราชการอันใดก็นำไปเสนอแลรับคำสั่งที่บ้านเสนาบดี ยังมิได้ตั้งสำนักงานซึ่งข้าราชการในกระทรวงตั้งแต่ผู้ใหญ่จนผู้น้อยจะต้องไปพร้อมกันทำราชการตามเวลาอย่างทุกวันนี้ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการไม่ทรงเห็นชอบในประเพณีที่เป็นอยู่เช่นนั้นได้กราบบังคมทูลเมื่อจะทรงตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้มีที่สำนักงานกระทรวงการต่างประเทศเหมือนกับประเทศอื่น จึงพระราชทานวังสราญรมย์ให้ยืมใช้เป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เป็นแรกที่จะมีศาลาว่าการกระทรวงฯซึ่งเสนาบดีต้องไปประจำทำการเหมือนกับข้าราชการผู้น้อยเป็นเยี่ยงอย่างขึ้นก่อน แล้วกระทรวงอื่นจึงได้จัดตามต่อมา ไม่ได้ตั้งสำนักงานอย่างเดียว ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระดำริจัดขึ้นเป็นที่แรกถึงระเบียบการในสำนักงานกระทรวง เช่นแบ่งหน้าที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดจนร่างเขียนแลเก็บจดหมายในราชการ ซึ่งใช้กันเป็นแบบอยู่ทุกกระทรวงในทุกวันนี้ ก็เป็นของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงพระดำริจัดขึ้นในครั้งนั้น กระทรวงอื่นรับแบบอย่างทำตามต่อมา แลที่สุดมีข้อสำคัญในพงศาวดารอย่างหนึ่ง ซึ่งควรกล่าวไว้ให้ปรากฏ คือที่สมเดจฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเป็นเสนาบดีแรกที่เป็นผู้รู้ภาษาต่างประเทศ แต่ก่อนมาหาปรากฏเคยมีไม่

ถึงปีจอ พ.ศ ๒๔๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระเกียรติยศเป็นกรมหลวงฯ มีคำประกาศทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้


คำประกาศ



ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๒๙ พรรษา ปัตยุบันกาลโสณสังวัจฉร วิสาขมาส กาฬปักษ เอการสีดิถี ศุกรวาร ปุริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ มีความชอบเป็นอันมาก ได้ปรากฎอยู่ในประกาศเมื่อเลื่อนกรมครั้งก่อนนั้นแล้ว จำเดิมแต่นั้นมาก็ได้ทรงพระอุตสาหะรับราชการต่างๆซึ่งเป็นราชการสำคัญใหญ่ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นที่ได้ทรงปรึกษาหารือในราชกิจต่างประเทศแลการในพระนครเป็นอันมาก แต่ยังเสด็จดำรงอยู่ในที่ไปรเวตสิเกรตารีหลวง ก็ได้รับกระแสพระราชดำริมีหนังสือไปมากับคนต่างประเทศด้วยข้อราชการในส่วนพระองค์บ้าง ข้อราชการแผ่นดินบ้าง ระงับเหตุการณ์อันจะเป็นความลำบากในราชการให้เบาบางแลสงบระงับไปโดยมาก จนภายหลังได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศ จัดการในตำแหน่งให้เป็นไปโดยเรียบร้อย สมควรแก้แบบอย่างราชการกรุงสยามในกาลก่อน แลอนุโลมตามแบบอย่างประเทศทั้งปวงในการซึ่งสมควรนั้น ราชการในกรมผู้ว่าการต่างประเทศก็สงบเรียบร้อยเป็นอันเบาพระราชหฤทัย แลเป็นคุณต่อราชการขึ้นเป็นอันมาก การซึ่งจะทรงพระดำริการอันใดย่อมดำรงอยู่ในความสุจริตยุติธรรมเป็นประธานที่ตั้ง ทั้งความซื่อสัตย์กตัญญูต่อใต้ละอองธุลีพระบาททั้งสองประการเจือกัน เพราะฉะนั้นการอันใดซึ่งจะทรงพระดำริย่อมเป็นคุณแก่ปวงชนทั่วหน้า แลเป็นการเชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เป็นการได้อย่างหนึ่งเสียอย่างหนึ่ง จะเป็นแบบบันทัดฐานของข้าราชการ ซึ่งจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปภายหน้า การซึ่งทรงประพฤติพระองค์อยู่พระอัธยาศัยแลความประพฤติพระองค์ทั้งปวงย่อมเหินห่างจากอคติทั้ง ๔ ประการ เบาบางจากความริษยาแลความกำเริบฟุ้งซ่าน โอบอ้อมอารีแลอ่อนน้อมทั่วไปในพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการทั้งปวง ประกอบไปด้วยพระสติปัญญากว้างขวางลึกซึ่ง สามารถในราชกิจใหญ่ยิ่งทั้งปวงทุกประการ ถึงว่ามีพระชนมายุน้อยก็ได้รับราชการในตำแหน่งอันใหญ่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งราชการในแผ่นดินและราชการในพระองค์ สมควรที่จะได้ดำรงพระเกียรติยศในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสั่งให้สภาปนาเลื่อนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ นาคนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณสุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลธนสารสมบูรณ์ อดุลยเกียรติยศเดชานุภาพทุกประการเทอญ

ให้ทรงเลื่อนเจ้ากรม เป็นหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๖๐๐

ให้ทรงเลื่อนปลัดกรม เป็นขุนภูบาลสวามิภัดิ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้ทรงเลื่อนสมุหบาญชี เป็นหมื่นรักษพยุหพล ถือศักดินา ๓๐๐

ให้ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงแลในกรมตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี ในพระองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

ตั้งแต่ ณ วัน ๖ฯ๑๑๖ ค่ำ ปีจออัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ เป็นวันที่ ๖๔๐๗ ในรัชกาลปัจจุบันนี้


..........................................................................



ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประเทศอังกฤษจะทรงฉลองรัชกาลครบ ๕๐ ปี ในงานใหญ่เช่นนี้เป็นประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดิน แลประธานาธิบดีต่างประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรไมตรี ถ้ามิได้ไปช่วยงานเองก้ย่อมแต่งเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่เป็นผู้แทนไปช่วยงาน แลในครั้งนี้เมื่อรัฐบาลอังกฤษบอกกำหนดงานมากราบบังคมทูลฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จไปช่วยงานฉลองราชสมบัติ ณ ประเทศอังกฤษแทนพระองค์ แล้วโปรดฯให้เสด็จไปยังประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวีเดน และไปถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่สมเด็จพระเจ้าวิลเฮมที่ ๑ เอมปเรอเยอรมัน ณ ประเทศเยอรมันนีด้วย

สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสด็จไปยุโรปครั้งนั้น นอกจากที่เป็นผู้แทนพระองค์แลไปเจริญทางพระราชไมตรีดังกล่าวมา ได้รับกระแสรับสั่งไปให้ทรงตรวจตราลักษณะการปกครองของนานาประเทศเป็นสำคัญด้วยอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเวลานั้นกระทรวงเสนาบดีที่ได้จัดการเป็นระเบียบเรียบร้อยตามสมควรแก่สมัยแล้ว มีแต่กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว กระทรวงอื่นๆยังคงทำตามแบบโบราณบ้าง ได้แก้ไขระเบียบการแต่เล็กน้อยบ้าง กระทรวงแลกรมซึ่งทรงได้จัดตั้งขึ้นใหม่นอกจากกระทรวงเสนาบดีก็มี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าถึงเวลาสมควรจะจัดกระทรวงเสนาบดีทั้งปวง ให้ทำหน้าที่ติดต่อเป็นรัฐบาลอันเดียวกันตามแบบแผนประเทศรุ่งเรือง จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงตรวจตราลักษณะการปกครองของนายนาประเทศ มาประกอบการที่ทรงปพระราชดำริ เพราะเหตุนี้ เมื่อเสร็จราชการในยุโรปแล้ว สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงเสด็จกลับมาทางอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นด้วย แลเมื่อเสด็จมาถึงประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลญี่ปุ้นแสดงความประสงค์ที่จะให้ทางพระราชไมตรีในระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสยามกลับมีขึ้นรเหมือนแต่โบราณ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงทำหนังสือแสดงทางไมตรีมีกับญี่ปุ่นในเวลาเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงโตกิโอนั้น


Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 20 มีนาคม 2550 8:12:03 น. 1 comments
Counter : 11957 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


ครั้นสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลรายงานที่ได้ไปตรวจตราวิธีการปกครองในนานาประเทศ จึงโปรดฯให้เริ่มตั้งเสนาบดีสภาขึ้นในปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ แต่มีพระราชประสงค์จะทรงทดลองการที่ทรงมีพระราชดำริจัดขึ้นใหม่นั้นให้เห็นประโยชน์แน่นอนก่อน จึงยังมิได้ประกาศแก้ไขตำแหน่งเสนาบดี คืออัครมหาเสนาบดีกระทรวงมหาดไทน ๑ อัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ๑ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ นายกกรรมการซึ่งบัญชาการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ๑ เสนาบดีกระทรวงวัง ๑ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ๑ กับอธิบดีกรมต่างๆ ซึ่งทรงกะว่าจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดีอีก ๖ ตำแหน่ง คือกรมยุทธนาธิการ ๑ กรมพระคลังมหาสมบัติ ๑ กระทรวงศาลยุติธรรม ๑ กรมธรรมการ ๑ กรมโยธาธิการ ๑ กรมราชเลขาธิการ ๑ รวม ๑๒ ตำแหน่งนั่งประชุมเป็นเสนาบดีสภา เสด็จประทับเป็นประธานเอง มีการประชุมปรึกษาหารือราชการต่างๆเป็นเนืองนิจมา ๓ ปี จนทรงพระราชดำริเห็นว่า ควรใช้เป็นแบบแผนในการปกครองพระราชอาณาจักรได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศตั้งเสนาบดี ๑๒ ตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ มีความในประกาศ(๑)ดังนี้


ประกาศตั้งเสนาบดี



มีพระบรมราชโองการมานบัณฑูรสุรสิงหนาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร วรขัตตินราชนิกโรดม จาตุรตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ แลดินแดนทั้งหลายที่ใกล้เคียง คือลาว มลายู กะเหรี่ยง ฯลฯ ดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า มีพระราชหฤทัยหวังจะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เจริญยิ่งขึ้นไปทุกเวลา แลจะรักษาขนบธรรมเนียมที่ดีให้คงมีอยู่ และจะผ่อนผันแก้ไขการที่เสียให้หมดสิ้นไป เพื่อประโยชน์ที่อาณาประชาราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นสุขทำมาหากินโดยชอบ บ้านเมืองจะได้เจริญทันกับกาลสมัยที่เป็นทั่วไปในโลกนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าราชการบ้านเมืองย่อมจะเป็นที่เรียบร้อยได้ ด้วยจัดการแบ่งกระทรวงหน้าที่พนักงานให้ทำการเป็นหมวดเป็นหมู่ ให้สมควรแก่กำลังสติปัญญาสามารถของผู้ที่จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งนั้นๆ แลต้องแบ่งหน้าที่ราชการให้เป็นส่วนเป็นแพนกตามกระทรวง ราชการทั้งปวงจึงจะสำเร็จไปได้ทันกาลสมัยที่ควรจะเป็น เพื่อว่าถ้าทรงพระราชดำริจะให้จัดการสิ่งใด ก็จะได้มีหน้าที่จัดการสิ่งนั้นทันท่วงที ไม่มีที่ติดขัดข้องด้วยการดีการเจริญอันเป็นพระบรมราชประสงค์ ให้มีเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ประชาชนนั้นจึงจะเป็นผลสำเร็จบริบูรณ์ได้ เพราะเหตุฉะนี้จึงได้ทรงพระราชดำริแก้ไขธรรมเนียมกระทรวงของการที่เสียอยู่ให้ดีขึ้นใหม่เป็นขั้นๆ ตามกาลสมัยที่มีหน้าที่นั้นเกิดขึ้นใหม่ เพื่อความเจริญแก่บ้านเมืองดังกล่าวมาแล้ว แลเจ้ากระทรวงใหญ่ในพระราชกำหนดกฎหมายเดิมมีอย่างไรไม่ต้องกล่าวด้วยย่อมทราบอยู่ทั่วกันแล้ว แต่ตำแหน่งนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งเติมบ้างบางคราว แลงดเสียบ้างตามเวลาที่ควรจะมีจะเป็น จะกล่าวแต่ตำแหน่งเสนาบดี ๖ ตำแหน่งที่มีอยู่แต่แรกได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา มีอัครมหาเสนาบดี ๒ คือ (๑) เสนาบดีกรมมหาดไทย ที่สมุหนายก ได้บังคับบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง (๒) เสนาบดีกรมพระกลาโหม ที่สมุหพระกลาโหม ได้บังคับบัญชาการหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวง แลกรมทหารบกทหารเรือ จัตุสดมภ์ทั้ง ๔ คือ (๑) เสนาบดีที่พระคลัง ได้บังคับบัญชาการต่งประเทศและกรมพระคลัง (๒) เสนาบดีกรมเมือง ได้บังคับบัญชาการรักษาพระนคร แลความนครบาล (๓) เสนาบดีกรมวัง ได้บังคับบัญชาการในพระบรมมหาราชวัง แล (๔) เสนาบดีกรมนาที่เกษตราธิการ ได้บังคับบัญชาการไร่นา รวมเป็น ๖ ตำแหน่ง นับว่าเป็นตำแหน่งประจำในที่ประชุมเสนาบดีฤาลูกขุน ณ ศาลา แลในที่ประชุมนี้บางทีมีพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ แลขุนนางผู้ใหญ่บางท่าน อย่างเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แลเจ้าพระยาทิพากรวงศ์นั้นเป็นต้น อยู่ในที่ประชุมนี้ด้วย

ครั้นต่อมาในปีกุนสัแปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ (ร.ศ. ๙๔) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกกระทรวงพระคลังออกจากกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น แลในปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ (ร.ศ. ๑๐๒) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เติมกระทรวงโทรเลขแลไปรษณีย์ขึ้นใหม่ แลในปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔ธ๙ (ร.ศ. ๑๐๖) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แยกกรมทหารเรือทหารบกออกจากกรมพระกลาโหม ตั้งกรมยุมธนาธิการขึ้น แลในรัตนโกสินทรศก ๑๐๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมการโยธาต่างที่อยู่ในกระทรวงต่างๆมาตั้งเป็นกระทรวงโยธาธิการขึ้น แลรวมกรมโทรเลขไปรษณีย์เข้ามาในกระทรวงโยธาธิการ แลหรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกกรมธรรมการแลสังฆการีย์ที่ขึ้นอยู่ในกรมมหาดไทยมารวมกับกรมศึกษาธิการ เป็นกระทรวงหนึ่งต่างหากแล้ว บัดนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่า กระทรวงเมืองซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นกอมมิดตีบังคับการมาแต่ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๗ (ร.ศ. ๑๐๗)นั้น ได้จัดการแก้ไขเป็นแบบแผนขึ้นใหม่ควรให้เลิกกอมมิดตีนั้นเสีย ให้คงเป็นเสนาบดีไปตามเดิม แลกระทรวงเกษตราธิการที่ได้บังคับการโรงภาษีสินค้าเข้าออกนั้น ให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงพระคลัง ให้คงแต่เกษตรพาณิชการ แลการเกษตรากรที่จัดขึ้นใหม่ต่อไป แลกระทรวงยุติธรรมที่ได้รวบรวมผู้พิพากษาและตระลาการพิจารณาคดีความนั้น ก็ให้จัดการขั้นต้นพอจะให้ราชการเป็นไปได้ในแห่งเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ขึ้น แลกรมอาลักษณ์มีราชการหน้าที่มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงใหญ่เรียกว่ากระทรวงมุรธาธร แลกระทรวงยุทธนาธิการนั้นทรงพระราชดำริเห็นว่าราชการจัดลงเป็นแบบแผน และควรให้แก้กระทรวงลงเป็นกรมยุทธนาธิการ บังคับการกรมทหารบกทั้งปวง มีผู้บัญชาการให้มีเสมอเสนาธิการ แลให้เข้าที่ประชุมเสนาบดีด้วย แต่การบัตรหมายราชการทั้งปวงนั้น ให้กรมพระกลาโหมเป็นเจ้าหน้าที่ไปตามธรรมเนียมเดิม แลกรมทหารเรือ กรมช้าง กรมแสง ซึ่งยกเป็นกระทรวงยุทธนาธิการนั้น ให้ยกมาขึ้นกรมพระกลาโหม เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดมีกระทรวงใหญ่ให้ประชุมกันปรึกษาราชการตามหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกัน เป็นที่ประชุมเสนาบดี ๑๒ ตำแหน่ง เรียกว่าเสนาบดีสภา ฤาลูกขุน ณ ศาลา อันจะมีหน้าที่รวมกันแลต่างกันโดยแพนก ซึ่งมีพระราชบัญญัติต่างหากจะประกาศต่อไปภายหลังแล้วดังนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า ให้บรรดาเสนาบดีทั้งปวงนี้ให้มียศเสมอเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่ให้ถือว่าเป็นอัครมหาเสนาบดี ฤาเป็นจัตุสดมภ์ ฤาเป็นเสนาบดีตำแหน่งใหม่ แลพนักงานหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ทั้งปวงนี้จะได้มีพระราชบัญญัติออกต่อไปในภายหลังด้วย

เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งตำแหน่งใหม่ฉะนี้แล้ว จึงทรงพระราชดำริว่าราชการกรมมหาดไทยทุกวันนี้มีมากขึ้น แลต้องการเร็วจะทอดทิ้งเป็นไปเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เจ้าพระยารัตนบดินทรที่สมุหนายกนั้นก็ชรา ร่างกายทุพพลภาพมากจะเข้ามารับราชการประจำตามหน้าที่ ซึ่งต้องเป็นไปในระดับปัจจุบันนี้ไม่ไหว แต่เจ้าพระยารัตนบดินทรได้รับราชการมีความชอบมา หาได้มีความผิดร้ายในราชการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ จึงโปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ ไม่ประจำการกระทรวงตามอย่างเช่นเคยมีมาแต่ก่อน แลให้เข้าในที่ประชุมเสนาบดีสภาได้เป็นครั้งเป็นคราวตามเวลาที่สามารถทำได้ คงให้มีบรรดาศักดิ์สมุหนายกอยู่ตามเดิม

แลโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ รับตำแหน่งที่เสนาบดี บังคับการในกระทรวงนั้นทั่วไป อนึ่งกระทรวงเมืองนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งได้เป็นกอมมิดตีผู้หนึ่งแต่ก่อนนั้น เป็นเสนาบดีว่าการกรมพระนครบาล อนึ่ง กระทรวงโยธาธิการที่โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นอธิบดีอยู่ก่อนแล้วนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเป็นเสนาบดีขึ้น อนึ่ง กระทรวงธรรมการและศึกษาธิการที่ว่างอยู่ ด้วยโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้วนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการมาเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการแลศึกษาธิการ อนึ่งกระทรวงเกษตรพานิชการที่ว่างอยู่ด้วยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการและศึกษาธิการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาสรุศักดิ์มนตรี เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ อนึ่ง กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมุรธาธรที่โปรดเกล้าฯให้ตั้งขึ้นใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤติธาดา เป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อนึ่งกรมยุทธนาธิการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นผู้บัญชาการ อนึ่งตำแหน่งเสนาบดีอีก ๔ กระทรวงที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คงอยู่ตามเดิม ให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่งแลยศเสนาบดีทั้งปวงนี้ อุตส่าห์ทำการตามหน้าที่ให้สำเร็จโดยพระบรมราชประสงค์ ความงามความดีจะได้มีแก่ราชการบ้านเมืองจะได้เจริญยิ่งขึ้นไป

ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๑ เป็นศกที่ ๘๕๔๓ ในรัชกาลประจุบันนี้


..........................................................................



ในการจักตั้งเสนาบดีสภานี้ เป็นการสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้เป็นที่ทรงปรึกษาหารือโดยเฉพาะพระองค์มาแต่แรก แลเมื่อตั้งที่ประชุมเสนาบดีสภาแล้ว ได้ทรงเป็นหัวหน้าเสนาบดีในที่ประชุมเสนาบดีสภามาทั้ง ๒ รัชกาลจนตลอดพระชนมายุ ถ้าจะประมวลเวลาได้ถึง ๓๑ ปี เรื่องพระประวัติของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการแต่ตั้งเสนาบดีสภาแล้ว ยากที่จะนำมาเรียบเรียงในที่นี้เพราะราชการบ้านเมืองในรัชกาลที่ ๕ ที่ได้จัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในระยะเวลา ๑๘ ปี นั้นมากมายหลายอย่างนัก อย่างใดที่จะไม่ได้เกี่ยวเนื่องถึงพระประวัติของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการนั้นแทบจะไม่มี ถ้าจะพรรณนาให้หมด ก็คือต้องแต่งเรื่องพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ ตลอดในตอนนั้น เห็นจะยืดยาวเกินประมาณ แต่การที่สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาในตอนนี้อย่างไร มีกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฎอยู่ในพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานพระพรแก่สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อพระชันษาครบ ๕๐ ได้นำสำเนามาพิมพ์ไว้ต่อไปนี้


สวนดุสิต
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗




ถึง กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ

ฉันได้ทราบว่าปีนี้เป็นปีที่เธอทำบุญวันเกิดอายุครบ ๕๐ ปี จะกล่าวว่ายินดีที่เธอมีอายุมาถึงเพียงนั้นก็ไม่ใช่ ความยินดีบังเกิดจากแลถอยหลังขึ้นไป ว่าเธอกับฉันได้ทำราชการแลมีความรักใคร่อาศัยกันแลกันส่วนพี่น้อง ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กด้วยกันมาล่วงเวลาช้านานจนถึงนับว่าเป็นคนแก่ด้วยกัน การที่ได้ทำมาแล้วล้วนเป็นการสำคัญๆ ที่ได้ก้าวล่วงเข้ามาหาเป็นชั้นๆจนถึงเวลาบัดนี้ เป็นข้อที่ควรยินดีต่อความสำเร็จอันเรามุ่งหมายได้กระทำให้เป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เมื่อระลึกถึงการล่วงมาแล้วเช่นนี้ ให้บังเกิดความยินดีปลื้มเปรมในใจ จึงอาจจะนำมาชักชวนเธอให้ระลึกถึง แล้วบังเกิดความยินดีในใจเช่นได้เกิดขึ้นแก่ตัวฉัน เมื่อความยินดีเกิดขึ้นเช่นนั้นก็นับว่าเป็นมงคลอันอุดม

ส่วนการในอนาคต เมื่อพิจารณาดูฉันกับเธอก็ยังทำการมาด้วยกันอย่ในเวลานี้มีท่าทางจะได้อาศัยกันแลกัน ทั้งราชการแผ่นดินแลในการส่วนตัวสืบไปภายหน้าอีกช้านาน ไม่มีเหตุอันใดที่จะสอดแคล้วสงสัย ว่าเราจะไม่ได้ทำการไปด้วยกันจนสุดความสามารถ เมื่อแลดูการเช่นนี้ก็ให้เกิดความยินดีปรีดาในใจ ว่ายังจะได้ร่วมสุขร่วมทุกข์กันไปอีกนาน นับว่าเป็นมงคลประการที่สอง

อนึ่งด้วยเดชะความสัตย์ที่ฉันตั้งใจพระพฤติตัวอยู่ในธรรม ดำเนินราชการด้วยความมุ่งหมายให้ดำรงอิสรภาพของแผ่นดิน แลให้มีความสมัครสโมสรในพระราชวงศานุวงศ์ แลให้อาณาประชาราษฎรมีความสุขสำราญเจริญด้วยโภคทรัพย์ นี่เป็นความสัตย์ซึ่งตั้งอยู่ในใจฉัน อันสัตยาธิษฐานนี้ย่อมถือมาแต่โบราณ ว่าเมื่อนำมาแสดงเป็นสัจจาธิษฐานแล้ว จึงตั้งความปรารถนาอย่างหนึ่งอย่างใดก็อาจจะสำเร็จได้โยมากดังนี้

อาศัยเหตุที่ตั้งแห่งความสวัสดี ที่ได้ยกมากล่าวแล้ว ๓ ประการเป็นที่ตั้ง ขออำนวยพระให้เธอมีชนมายุยืนนาน ประกอบด้วยกำลังกายแลปฏิภาณยั่งยืนมั่งคงสืบไปในถายหน้า ความมั่นคงอันนี้จงเป็นเครื่องนำมาแห่งความสุขโสมนัสสวัสดิมงคลแก่ตัวเธอ ในอภิลักขิตสมัยอันนี้แลปีซึ่งจะเป็นไปในภายหน้า

ฉันได้ส่งเงิน ๕๐ ชั่งมาทำขวัญเท่าปีอายุของธอปีละชั่งเป็นส่วยพระราชทานของพระราชา กับดุมมือสำรับหนึ่งส่งมาเป็นส่วนซึ่งมิตรที่รักให้ต่อเธอ ขอให้รับไว้ใช้เป็นที่ระลึกกันสืบไป


(พระปรมาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.




..........................................................................



ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ทั้งตำแหน่งแลหน้าที่ของสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ยิ่งสำคัญขึ้นกว่าในรัชกาลก่อนเพราะเป็นเวลาเปลี่ยนรัชกาล แลพระองค์ทรงเป็นหัวหน้าเสนาบดีทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วประการ ๑ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระมาตุลาผู้ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกประการ ๑ ประกอบด้วยทรงเกียรติคุณสุนทรจรรยา เป็นที่สรรเสริญของบุคคลทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงได้ทรงรับความนับถือของคนทั้งหลายทั่วไปว่าเป็นหลบักในราชการแผ่นดิน รองแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงมา ด้วยประการฉะนี้ทรงพระกรุณาโปรดฯให้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็นกรมพระ ในคราวทรงตั้งกรมเจ้านายเป็นฤกษ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๕๔ มีคำประกาศทรงยกย่องพระเกียรติคุณแลความชอบความดีดังนี้


คำประกาศ



อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเป็นพระเจ้าบรมวงศ์ผู้ใหญ่ อันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องแลทรงเมตตาเป็นอันมาก ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณเป็นเสนาบดีมานานยิ่งกว่าเสนาบดีทั้งปวงในกาลบัดนี้ อันหน้าที่ในราชการในแผนกว่าการต่างประเทศนั้นเล่า ก็นับว่าเป็นราชการอันสำคัญแลยากยิ่งนัก เพราะต้องทรงพระราชดำริคอยหาอุบายที่จะรักษาทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงสยามกับนานาประเทศให้คงดีเป็นที่ปรองดองกันอยู่เสมอ ต้องคอยระวังรักษาพระเกียรติยศแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแลเกียรติยศแห่งชาติบ้านเมือง มิให้มีสิ่งใดมากระทั่งกระเทือนอันจะทำให้พระบรมเดชานุภาพมีหนทางที่จะเสื่อมถอย หรือเป็นที่สบประมาทได้แม้แต่นิดเดียว คอยทรงระวังพิจารณาดูความเจริญแห่งชาติอื่นๆว่าจะดำเนินไปทางใด แล้วแลคอยจัดการทางฝ่ายกรุงสยามให้เป็นไปตามสมควรเทียมทันนานาประเทศมิให้เสียเปรียบเข้าได้ ในการเหล่านี้ก็ย่อมจะต้องมีเวลาที่ทรงศึกษาโต้เถียงข้อราชการ กับผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศอยู่เนื่องๆ การที่ได้ทรงทำมาแล้วในทางนี้ นับว่าเป็นที่เรียบร้อยทุกคราวมา ทั้งชนชาวต่างประเทศก็พากันสรรเสริญพระปรีชาสามารถแลเป็นที่นิยมในพระอัธยาศัยอันสุภาพ ฝ่ายชาวไทยทั่วไปก็นิยมอยู่ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯประกอบด้วยพระสติปัญญาสามารถ ทรงรอบรู้ในวิทยาสาตร์ต่างๆ ทั้งหนทางแห่งพระดำริก็เป็นอย่างสุขุมรอบคอบ ปราศจากอคติทั้ง ๔ ประการ พระวาจาก็ไพเราะอ่อนหวานเป็นที่พึงใจ มีพระอัธยาศัยกอปรด้วยพระเมตตาการุณาภาพจึงเป็นที่ควรนับถือได้

อนึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ก็เป็นพระราชโสทรเชษฐาธิบดีแห่งสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ได้ทรงสำแดงความจงรักภักดีในส่วนพระองค์มาโดยเอนกประการ นับว่าเป็นมนตรีที่ปรึกษาส่วนพระองค์อันประเสรฐ สมควรที่จะเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เป็นที่ควรเคารพได้

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ขึ้นเป็นกรมพระมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ขัตติยพิศาลสุรบดี ศรีพัชรินทรภราดร สโมสรเอนกศาสตร์วิบูลย์ เกียรติจำรูญไพรัชการสุภสมาจารสารสมบัติ มัทวเมตตาธยาศรัย ศรีรัตนตรัยคุณานุสร สุนทรธรมิกบพิตร นาคนามให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ในพระบรมมหาราชวัง จงทรงจำเริญพระชนมายุ พรรณสุขพลปฏิ๓ณ คุณสารสมบัติ สรรสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผลสกลเกียรติยศ เดชานุภาพมโหราฬทุกประการ

ให้ทรงเลื่อนเจ้ากรม เป็นพระเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๘๐๐

ให้ทรงเลื่อนปลัดกรม เป็นหลวงภูบาลสวามิภักดิ ถือศักดินา ๖๐๐

ให้ทรงเลื่อนสมุหบาญชี เป็นขุนรักษ์พยุหพล ถือศักดินา ๔๐๐


..........................................................................



ต่อมาทรงพระราชดำริว่า ที่ได้ทรงเลื่อนเป็นกรมพระนั้นยังไม่พอแก่ความชอบความดีที่ได้มีมาแต่หนหลัง แลยังไม่สมแก่ที่ทรงเคารพนับถือ จึงโปรดฯให้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาฯ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ อีกครั้ง มีคำประกาศดังนี้



คำประกาศ



อนึ่งทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศมาช้านาน ได้ทรงกระทำความดีความชอบทั้งในราชการแผ่นดิน แลในส่วนพระองค์แต่ในรัชกาลที่ ๕ มาจนรัชกาลปัจจุบัน ราชการในหน้าที่จะมีสำคัญประการใด แลได้ทรงจัดราชการนั้นๆให้เป็นไปโดยเรียบร้อยประการใดมีปรากฏในประกาศเลื่อนกรมครั้งก่อนนั้แล้ว ต่อมาราชการในหน้าที่ยิ่งสำคัญมากขึ้น กล่าวคือการรักษาความเป็นกลางในระหว่างมหาประเทศ ที่มีทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามทำสงครามแก่กัน จึงได้ทรงผ่อนผันจัดราชการนั้นๆให้เป็นไปตามกระแสพระบรมราโชบายมิได้คลายเคลื่อน จึงมิได้มีเหตุกระทบกระเทือนให้เป็นที่มัวหมองแก่ทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศแม้แต่เล็กน้อย เป็นเหตุประกอบให้เจริญพระราชอิสริยยศปรากฏพระเกียรติคุณแผ่พ่านไป กระทำให้มหาประเทศทั้งปวงมีความนับถือพระราชกฤดาภินิหารยิ่งขึ้น จนสมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษทรงถวานพระราชอสริยยศตำแหน่งนายพลเอกพิเศษกองทัพบกอังกฤษ แลทรงรับตำแหน่งนายพลเอกพิเศษกองทัพบกสยาม อันพระราชาธิบดีในชมภูทวีปยังมิเคยทรงรับเลยนั้นเป็นต้น ในส่วนพระองค์ทรงนับว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการเป็นเอกอัครมนตรี ผู้ที่ได้ทรงปรึกษาสรรพราชกิจน้อยใหญ่ได้สมพระราชหฤทัยได้ทุกเมื่อ เพราะพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯพระองค์นั้น ทรงมีความชำนาญในเชิงรัฐประศาสโนบายหาผู้ใดเปรียบปานได้โดยยาก ทั้งทรงเป็นผู้ที่กราบบังคมทูลความเห็นโดยตรงทุกเมื่อโดยความจงรักภักดี และประกอบด้วยสัตยธรรมสุจริต ปราศจากอคติทั้งสี่ประกาณ จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแลทรงเคารพอยู้พระองค์หนึ่ง

อนึ่งก็ทรงพระเจริญวัยอยู่ในชั้นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แล้วสมควรจะเพิ่มพระราชอิสริยยศให้ใหญ่ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนพระบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เป็นสมเด็จกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ขัตติยพิศาลสุรบดี บรมราชินีศรีพัชรินทรภราดร สโมสรเอนกนิติปรีชา มทาสุมัตยานุวัตรวิบูลย์ ไพรัชราชกิจจาดุลย์สุนทรปฏิภาณ นิรุกติญาณวิทยาคณนาทิศาสตร์ โหรกลานุวาทนานาปกรณ์ เกียรติกำจรจิรกาล บริบูรณ์คุณสารสมบัติ สุจริตสมาจารย์วัตรมัทวเมตตาชวาธยาศรัย ศรีรัตนตรัยสรณธาดา กัลยาณธรรมิกนาถบพิตร นาคนาม ให้ทรงศักดินา ๓๕๐๐๐ เป็นพิเศษ ในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณสุขพลปฏิภาณ คุณสารสมบัติสรรสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบูลยศุภผลเกียรติยศ อิสริยศักดิเดชานุภาพมโหฬารทุกประการ

ให้ทรงเลื่อนเจ้ากรม เป็นพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ถือศักดินา ๑๐๐๐

ให้ทรงเลื่อนปลัดกรม เป็นพระภูบาลสวามิภักดิ ถือศักดินา ๘๐๐

ให้ทรงเลื่อนสมุหบาญชี เป็นหลวงรักษ์พยุหพล ถือศักดินา ๕๐๐



..........................................................................



นอกจากพระราชทานพระเกียรติยศดังกล่าวมา ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังเทวะเวสม์พระราชทานที่ริมแม่น้ำ ณ ตำบลบางขุนพรหม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานที่ดินไว้แต่ก่อนนั้น ให้เป็นที่ประทับให้ทรงพระเกษมสำราญในเวลาเมื่อมีพระชันษามาก เมื่อสร้างวังนั้นสำเร็จไสด็จขึ้นวังพร้อมกับทรงบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชนมายุ แลอายุหม่อมใหญ่ เทวกุล ณ กรุงเทพฯ ครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๑


.....................................................................................................................................................................

(๑) ประกาศนี้เข้าใจว่า สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นผู้ร่างตามกระแสรับสั่ง



ประวัติบุคคลสำคัญ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ราชหัตถ์ขวา
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:8:06:36 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com