กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์



.........................................................................................................................................................



พระประวัติ

พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ. ธิดาพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์(วร บุนนาค) พระองค์ที่ ๒ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา(สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์) พระองค์ที่ ๓ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ เป็นกรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส แล้วจึงสิ้นพระชนม์

เมื่อกรมหลวงชุมพรฯยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาอักขรสมัยที่ในพระบรมมหาราชวัง แล้วได้เป็นนักศึกษาในโรงเรียนหลวง ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงศึกษาอยู่จนโสกันต์แล้ว เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปอยู่ด้วยกันและทรงเล่าเรียนอยู่ด้วยกัน จนถึงสมัยเมื่อจะทรงศึกษาวิชาเฉพาะพระองค์จึงได้แยกกัน กรมหลวงชุมพรฯทรงศึกษาวิชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรกในพระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในขณะเมื่อเป็นนักเรียนนายเรืออังกฤษนั้น ประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าออยู่หัวเสด็จไปยุโรปเป็นครั้งแรก เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ กรมหลวงชุมพรฯขอลามารับเสด็จพระบรมชนกนาถ มาเข้ากระบวนเสด็จที่เกาะลังกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับราชการตามตำแหน่งนักเรียนนายเรือไปในเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีลายพระหัตถเลขาพระราชทานมาถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯดังนี้

"ในเวลาเขียนหนังสืออยู่นี้ อาภากรกับหลวงสุนทรมาถึง อาภากรโตขึ้นมากและขาวขึ้น เขามีเครื่องแต่งตัวเป็นมิดชิบแมนพร้อมแล้ว ฉันได้มอบให้อยู่ใต้บังคับกัปตันเป็นสิทธิ์ขาด เว้นแต่วันนี้เขาอนุญาตให้มากินข้าวกับฉันวันหนึ่ง"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนพระนคร โปรดฯให้กรมหลวงชุมพรฯอยู่ทรงศึกษาวิชาทหารเรือในประเทศอังกฤษต่อมา จนสอบวิชาได้ถึงชั้นนายเรือ แล้วจึงเสด็จกลับคืนมายังประเทศนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างวังใหม่พระราชทานเป็นที่ประทับที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้สะพานชมัยมรุเชรษฐ

ตั้งแต่กรมหลวงชุมพรฯเสด็จกลับมาจากประเทศยุโรปก็ได้มีตำแหน่งรับราชการในกรมทหารเรือมาแต่แรก เดิมได้เป็นตำแหน่งผู้บังคับการเรือมรุธวสิตสวัสดิ์ และต่อมาถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นกรมหมื่นฯ ทรงยกน่องความชอบความดีไว้ในประกาศตั้งกรมดังนี้


ประกาศ


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๗ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม นาคสังวัจฉระ กติกมาส ศุกรปักษ์ ตติยดิถีครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ พฤศจิกายนมาส ทสมมาสาสะคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาจุฬาลงกรณฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาในประเทศยุโรป จนได้เข้าฝึกในการทหารเรือ ได้เสด็จลงประจำเรือจนเสร็จวิธีเรียน ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ได้เสด็จเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ เกาะลังกา ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งมหาจักรี ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามาในกรุงเทพพระมหานคร ก็ได้ทรงรับราชการในกรมทหารเรือสืบมาจนบัดนี้ มีวัยวุฒิปรีชาสามารถอาจหาญในวิชาการทางที่ทรงร่ำเรียนมา สมควรจะมีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีนามตามจารึกสุพรรบัฏว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิงหนาท ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฎิภาน คุณสารสมบัติ สรรพสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬารทุกประการ

เจ้ากรม เป็นหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือศักดินา ๖๐๐
ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นระนองนัครานุกิจ ถือศักดินา ๔๐๐
สมุหบัญชี เป็นหมื่นกาญจนดิษผดุงผล ถือศักดินา ๓๐๐

ให้ผู้ที่รับตำแหน่งทั้ง ๓ นี้ ทำราชการในหลวงและในกรมตามอย่างธรรมเนียม เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบัญชี ในพระอองค์เจ้าต่างกรมทั้งปวงสืบไป ให้มีสุขสวัสดิ์เจริญ เทอญ

ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๓ เป็นวันที่ ๑๓๑๔๘ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


..........................................


กรมหลวงชุมพรฯรับราชการในกรมทหารเรือ ทรงมุ่งหมายจะฝึกหัดไทยให้เดินเรือทะเลได้อย่างชาวต่างประเทศเป็นสำคัญมาแต่แรก ด้วยก่อนนั้นมาบรรดาเรือรบกลไฟยังต้องหาฝรั่งมาเป็นผู้บังคับการ ชาวประเทศนี้ที่สามารถจะเดินเรือได้มีแต่พวกอาสาจามบางคน ซึ่งพอจะเดินเรือได้ในอ่าวสยามโดยอาศัยความชำนาญอย่างเดียว แม้เมื่อตั้งกรมทหารเรือขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และได้ตั้งโรงเรียนสำหรับนายทหารเรือแล้ว การฝึกสอนให้นายทหารไทยรู้วิธีเดินเรือทะเลก็ยังไม่สำเร็จประโยชน์ได้ ยังต้องใช้ฝรั่งบังคับการเรืออยู่ จนกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ จึงทรงเริ่มริบำรุงการฝึกสอนนายทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตั้งกรมหลวงชุมพรฯเป็นตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๘ แต่นั้นก็ทรงพยายามจัดการฝึกสอนนายทหารเรือมาจนได้ย้ายโรงเรียนนายเรือไปตั้งที่พระราชวังเดิม ใต้วัดวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปเปิดโรงเรียน เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๙ พอพระราชหฤทัยในการที่กรมหลวงชุมพรฯได้ทรงจัด ทรงเขียนลายพระราชหัตถเลขาชมไว้ในสมุดของโรงเรียนดังนี้

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๕
เรา จุฬาลงกรณ ป.ร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เห็นการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเป็นที่มั่นสืบไปภายหน้า


ถึงรัชกาลที่ ๖เมื่อโปรดฯให้ยกกรมทหารเรือขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงชุมพรฯเลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่รับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ปีเดียว กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ ต่อมาในปลายปีนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นเสนาธิการ

ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓ ราชนาวีสมาคมจัดการเรี่ยไรได้เงินสำหรับซื้อเรือรบลำหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงชุมพรฯเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปยุโรป เพื่อจัดหาเรือที่ราชนาวีสมาคมทูลฯถวายนั้น เมื่อได้เรือพระร่วงแล้ว กรมหลวงชุมพรฯทรงบังคับเรือนั้นเอง แล่นมาแต่ประเทศอังกฤษจนถึงกรุงเทพฯ ปรากฏเป็นครั้งแรกว่านายทหารเรือไทยสามารถแล่นมาไกลถึงเพียงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระยศเป็นกรมหลวงฯมีคำประกาศทรงยกย่องความชอบความดีดังนี้

คำประกาศ


ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาค ๒๔๖๓ พรรษา ปัตยุบันรกาล มักกฏสังวัจฉระ พฤศจิกายนมาส เอกาทสมสุรทิน ชีวะวาร โดยกาลนิยม

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้โดยเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการ ณ ประเทศยุโรปคราวเดียวกัน ได้ประทับอยู่เล่าเรียนชั้นประถมศึกษาในสำนักเดียวกัน เป็นผู้คุ้นเคยสนิทร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมาช้านาน ยิ่งกว่าพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่น เมื่อทรงแยกไปศึกษาวิชาการทหารเรือสำเร็จ ได้กลับเข้ามารับราชการในกระทรวงทหารเรือก็ได้ทรงอุตสาหะจัดราชการด้วยพระปรีชาสามารถ อาจหาญ ในวิชาการที่ทรงร่ำเรียนมา ได้รับพระราชทานยศในตำแหน่งราชการเป็นลำดับมา จนได้เป็นนายพลตรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ มีความชอบปรากฏในประกาศตั้งกรมก่อนนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับราชการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือเพิ่มขึ้นอีก ได้ทรงวางระเบียบแบบแผนต่างๆ ให้ราชการทหารเรือดำเนินเจริญยิ่งขึ้นโดยลำดับ ข้อสำคัญที่ควรยกขึ้นกล่าวคือ ได้ทรงพระราชดำริจัดการโรงเรียนนายทหารเรือ และนายช่างกลให้เจริญยิ่งขึ้น ทรงเพาะวิชาการฝ่ายทหารเรือและวิชาช่างกลให้นายทหารเรือไทยมีความรู้ความชำนาญ สามารถเป็นผู้บังคับบัญชาการและเป็นครูได้ผลสำเร็จ ไม่ต้องใช่ชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นครูเหมือนแต่กาลก่อน ทั้งได้ทรงทำแผนการทัพเรือ และทรงจัดการศึกษาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีกระบวนรบในกองทัพเรือให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นเป็นอันมาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือโท และในปีนี้เองได้ทรงเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือเอก และเป็นคณะกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือรบหลวง "พระร่วง" เข้ามาสู่กรุงเทพพระมหานครด้วยพระองค์เอง ได้มาถึงโดยสวัสดิภาพเป็นความชอบพิเศษของพระองค์อีกส่วนหนึ่ง ในบัดนี้ก็ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ อันเป็นตำแหน่งสำคัญ ทรงตั้งพระทัยรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยพระปรีชาสามารถ กอปรด้วยพระอุตสาหะพิริยะภาพมิได้ย่อหย่อน ทรงมีความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมควรเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และสมควรที่จะทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒน์มงคล วิบูลสกลเกียรติยศอิสริยศักดิ์มโหฬารทุกประการ

ให้ทรงเลื่อน
เจ้ากรม เป็นหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถือศักดินา ๘๐๐ ปลัดกรม เป็นขุนระนองนัครานุกิจ ถือศักดินา ๖๐๐
สมุหบัญชี คงเป็นหมื่นกาญจนดิฐผดุงพล ถือศักดินา ๔๐๐


..........................................


ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือว่างลง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงชุมพรฯผู้แทนเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่ ๖ เดือน พอถึงเดือนเมษายน ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นเสนาบดี ทรงบัญชาการทหารเรือเต็มตำแหน่ง

แต่เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ ได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือนั้น เป็นพระโรคภายใน ประชวรเสาะแสะอยู่แล้ว พอทรงรับตำแหน่งแล้วก็กราบถวายบังคมลาออกไปเปลี่ยนอากาศที่ชายทะเลข้างใต้ปากน้ำเมืองชุมพร ณ ที่ซึ่งได้ทรงจองไว้หมายจะทำสวน เผอิญไปถูกฝนเกิดเป็นโรคหวัดใหญ่ ประชวรอยู่เพียง ๓ วันก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ ประมวลพระชันษาได้ ๔๔ ปี ได้เป็นตำแหน้งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออยู่เพียงเดือนเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญพระศพกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานเป็นนิจมา จนเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงโปรดเกล้าฯให้เชิญพระศพกรมหลวงชุมพรฯมีกระบวนแห่ฝ่ายทหารตามพระเกียรติยศ นายพลเรือเอก และกระบวนฝ่ายพลเรือนตามพระเกียรติยศเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ไปพระราชเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ กรมหลวงชุมพรฯได้ดำรงพระยศและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายชั้น เลื่อนขึ้นโดยลำดับ จะกล่าวถึงแต่ที่เป็นชั้นสูงสุด ซึ่งดำรงอิยู่ในเวลาเมื่อสิ้นพระชนม์คือ เป็นนายพลเรือเอก ราชองครักษ์ และ องค์มนตรี นายกองโทเสือป่า ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์นพรัตนราชวราภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ตรารัตนวราภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎมหาโยธินรามาธิบดี เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้นที่ ๒ เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๑ เหรัยญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เหรียญจักรมาลา เหรียญราชินี กับทั้งเหรียญและเข็มราชพิธีต่างๆ ตามพระเกียรติยศอีกหลายอย่างทั้งเข็มข้าหลวงเดิมด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำรัสขอหม่อมเจ้าหญิงสัมพันธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชทานเป็นพระชายากรมหลวงชุมพรฯ มีพระโอรสด้วยกัน คือ หม่อมเจ้าชายอาทิตย์ทิพยอาภา สมเด็จพระไอยกาธิราชทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าชายรังษิยากร พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์สิ้นชีพิตักษัยไปเสียก่อน กรมหลวงชุมพรฯ มีหม่อมเจ้าชายหญิงนอกจากที่กล่าวมาอีก ๗ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงจารุพักครา ๑ หม่อมเจ้าหญิงสิริมาบังอร ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้าชายไขแสงรพีในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ๑ หม่อมเจ้าหญิงสมรบรรเทิง ๑ หม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง ๑ หม่อมเจ้าชายคำแคงฤทธิ์ ๑ หม่อมเจ้าชายครรชิตพล ๑ หม่อมเจ้าชายต้น ๑

จะกล่าวถึงพระอัธยาศัยของกรมหลวงชุมพรฯ ไว้ในที่สุดเรื่องพระประวัติพอเป็นที่ระลึกโดยสังเขป กรมหลวงชุมพรฯ มีพระอัธยาศัยอันเป็นข้อสำคัญในพระคุณวุฒิ คือ ความซื่อตรงอย่างหนึ่ง ความกล้าหาญในบรรดาการซึ่งทรงนำ ด้วยหวังจะให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่งว ความสามารถซึ่งจะทรงทำการอันทรงจำนงให้สำเร็จดังพระประสงค์อย่างหนึ่ง และความโอบอ้อมอารีต่อมิตรไม่เลือกหน้าอย่างหนึ่ง อาศียพระคุณสมบัติดังกล่าวนี้ จึงทรงสามารถทำราชการต่างๆ ซึ่งได้รับทำในหน้าที่ลุล่วงดังได้กล่าวมาข้างต้น และทรงศึกษาการอื่น คือ วิชาช่างเขียน วิชาแพทย์ และกระบวนมวยปล้ำ ตลอดจนวิชาดนตรีสันทัดแทบทุกอย่าง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่บุคคลทั้งหลายก็มิได้ทรงเลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ได้คบใครคงอารีดีด้วยทั่วไปไม่ถือพระองค์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรฯ ได้คบหาสมาคม จะเป็นพระก็ตาม คฤหัสห์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีน้ำใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบรรดาผู้ซึ่งได้คุ้นเคยกับกรมหลวงชุมพรฯ คงจะเห็นจริงด้วยทุกประการ สิ้นพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ เพียงเท่านี้


.........................................................................................................................................................



ประวัติบุคคลสำคัญ
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ





Create Date : 18 มีนาคม 2550
Last Update : 10 มิถุนายน 2550 17:51:52 น. 0 comments
Counter : 2508 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com