กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี)



.........................................................................................................................................................



พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส


กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติเมือ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒ พ.ศ. ๒๓๓๓ ทรงผนวชเป็นสามเณรแต่ในรัชกาลที่ ๑ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพน องค์ที่แจ้งประวัติไว้ในคำนำหนังสือพระราชปุจฉาที่พิมพ์นั้น เสด็จทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพน จนได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ. ๒๓๕๔ และเสด็จประทับอยู่วัดพระเชตุพนต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

มีเรื่องราวเล่าสืบกันมาว่า เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้สัก ๓ พรรษา สมเด็จพระวันรัตนถึงมรณภาพ ยังไม่ทันจะได้โปรดให้ผู้ใดเป็นอธิบดีสงฆ์ในวัดพระเชตุพน ประจวบเวลาพระราชทานพระกฐิน พระสงฆ์ในวัดพระเชตุพนจึงเตรียมอุปโลกน์พระกฐินถวายพระราชาคณะที่รองลงมา ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปพระราชกฐินถึงวัดพระเชตุพน มีรับสั่งให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ แต่ยังไม่ได้รับกรม เป็นอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน เข้าใจว่าเห็นจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะด้วยในเวลานั้น ประเพณีทรงตั้งเจ้านายที่ทรงผนวชเป็นพระราชาคณะแต่ก่อน เป็นแต่พระราชทานพัดแฉกเท่านั้น ข้าพเจ้าได้เคยสดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ยังประทับอยู่วัดราชาธิวาส วันหนึ่งเสด็จเข้ามาถวายเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดแฉก รับสั่งว่า “ชีต้นบวชนานแล้ว เป็นพระราชาคณะเสียเถิด” เท่านี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯเป็นพระราชาคณะ ก็เห็นจะทำนองเดียวกัน คงทรงตั้งเมื่อวันเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน พร้อมกับเมื่อรับสั่งให้ครองวัด และรับสั่งให้ครองกฐินในปีนั้นด้วยทีเดียว กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ถวายพระพรว่า ไม่ได้เตรียมอุปโลกน์ มีรับสั่งว่าไม่เป็นไร เมื่อไม่ได้ท่องไว้ ให้องค์อื่นว่าแทนก็ได้ จึงเลยเป็นธรรมเนียมในวัดพระเชตุพนตั้งแต่วันนั้นมา พระราชาคณะผู้จะครองกฐินไม่ต้องว่าอุปโลกน์ จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ได้รับกรมครั้งแรก เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ แต่จะได้สถาปนาเมื่อใดยังไม่ทราบ ปรากฏจดหมายเหตุตั้งกรมในรัชกาลที่ ๒ สองคราว คราวแรกเมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖ ตั้งหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้น อีกคราว ๑ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙ ปรากฏพระนามแต่กรมหมื่นสุรินทรรักษ์พระองค์เดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เห็นจะได้เป็นกรมหมื่นในคราวหลัง คือเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ. ๒๓๕๙ นี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเห็นจะได้เป็นอาจารย์เจ้านายหลายพระองค์ มีเนื้อความปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนและวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เจ้านายพระองค์อื่นที่ได้ทรงศึกษาก็คงจะมีอีก ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชอยู่ในเวลานั้น ทรงเคารพนับถือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มากทั้ง ๒ พระองค์ เห็นจะเมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมวัดในกรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นคณะกลางอีกคณะ ๑ ให้ขึ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงบังคับบัญชาเสมอสมเด็จพระราชาคณะ

และมีเรื่องซึ่งครั้ง ๑ เป็นความลับรู้กันแต่ในพระราชวงศ์ ว่าสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เคยทรงปรึกษาปรารภกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ถ้าราชสมบัติได้แก่เจ้านายบางองค์ บางทีจะถูกเบียดเบียนได้ความเดือดร้อน ทรงพระดำริเห็นพร้อมกันว่า ควรจะสร้างวัดเล็กๆ ไว้ในเรือกสวนสักแห่ง ๑ ถ้าถึงเวลาคับแค้นเมื่อใดจะเสด็จออกไปเสียที่วัดนั้นให้ห่างไกล อย่าให้เป็นที่กีดขวางแก่ราชการบ้านเมือง ทรงพระดำริพร้อมกันเป็นความลับอย่างนี้ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จึงไปทรงสร้างวัดชิโนรสขึ้นในคลองมอญ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไปทรงสร้างวัดนอก ซึ่งพระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาศ เมื่อภายหลัง แต่ชะตาเมืองไทยไม่ทรุดโทรมอย่างทรงพระวิตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระเกียรติยศกรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเป็นกรมสมเด็จ มีเนื้อความตามพระราชโองการประกาศเลื่อนกรมเมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ ว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทราอุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ได้ประดิษฐานดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่ เป็นที่สุขเกษมสมบูรณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหสุริยสมบัติ เพียบพูนด้วยชนคณานิกรบรรพสัษย์ คือบุรุษรัตนราชวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชมนตรีกระวีชาติราชปุโรหิต เป็นที่ไปมาค้าขายแห่งนานาประเทศพานิชวิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์ สรรพพัสดุล้วนวิเศษ เป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตรแห่งชาวนานาประเทศคามนิคมชนบท ปรากฏด้วยมหาชนอันเจริญขึ้นด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ และชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศษสนา ประดับด้วยเรือนพระปฏิมาอุโบสถาคารเสนาศน์ วิจิตรด้วยสุวรรณหิรัญมาศ เป็นที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จด้วยอำนาจบุญบารมีพระเดชานุภาพวิริยปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตเป็นประถม คือองค์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ที่ได้ทรงพระนามตามประกาศด้วยพระนามแห่งพระมโหทิศปฏิมา ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเดิมมา ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่าก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และได้ทรงผนวชรับธุระฝ่ายพระบวรพุทธศาสนามาช้านาน ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสตร์ ราชศาสตร์แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ และในทางปฏิสันถานปราสรัย แล้วมีพระหฤทัยโอบออ้มอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป และได้เป็นครูอาจารย์ครุฐานิยบุคคลแห่งราชสกุลวงศ์มหาชนอันมากควรที่จะเป็นประธานาธิบดี มีอิสริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณานิกรสงฆ์คามวสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง

เมื่อบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่ ก็มิควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิสริยยศฐานานุศักดิ์ยิ่งกว่า จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ บรมพงศาธิบดีจักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรางกูร ปรเมนทรนเรนทร์สูรย์สัมมานาภิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลจารพิเศษมหาวิมลมงคลธรรมเจดีย์ ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาไศรยไตรปิฎกกลาโกศล เบญจปดลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระววีโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนติ สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโร สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทราอุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุศมศิริสวัสดิ” ดังนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๓๙๖ พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษ พระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญพระอัฐิประดิษฐานไว้ที่พระตำหนัก ณ วัดพระเชตุพน และให้มีตำแหน่งฐานานุกรมสำหรับประจำรักษาพระอัฐิแต่นั้นมา ถึงเวลาเข้าพระวัสสาเสด็จไปถวายพุ่มวัดพระเชตุพน ย่อมเสด็จไปถวายพุ่มพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ด้วย และเมื่อวันเสด็จพระราชทานกฐินวัดพระเชตุพน ก็โปรดให้เชิญพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มาในพระอุโบสถ ทรงทอดผ้าไตรปีสำหรับฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฐิทุกปีมา ประเพณีที่ทรงเคารพบูชาต่อพระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ดังกล่าวมานี้ มีตลอดรัชกาลที่ ๔ มาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปฏิบัติตามแบบอย่างสืบมา จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯ เป็นกวีหนังสือไทยอย่างวิเศษที่สุดพระองค์หนึ่ง หนังสือเรื่องต่างๆ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ สอบได้บัญชีดังนี้ คือ
๑. สรรพสิทธิคำฉันท์ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๒. สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย แต่ต่อพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงค้างไว้จนจบ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๓. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ กรมศึกษาธิการพิมพ์แล้ว
๔. ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๕. กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๖. ฉันท์มาตราพฤติ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๗. ฉันท์วรรณพฤติ พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๘. ลิลิตเตลงพ่าย กรมศึกษาธิการพิมพ์ครั้งหลัง
๙. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคและชลมารถ ยังไม่ได้พิมพ์
๑๐. โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ดั้นบาทกุญชรและวิวิธมาลี พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๑๑. ร่ายทำขวัญนาค พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณแล้ว
๑๒. มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์ เคยได้พิมพ์แล้วแต่กัณฑ์ทศพล มหาราช ฉกระษัตริย์ นครกัณฑ์ รวม ๕ กัณฑ์ ยังไม่ได้พิมพ์ ๖ กัณฑ์
นอกจากนี้ยังมีโคลงฉันท์เบ็ดเตล็ด เช่น โคลงฤๅษีดัดตน โคลงกลบท เป็นต้น ซึ่งทรงรับแต่งพร้อมกับคนอื่นๆ จารึกหรือพิมพ์แล้วบ้างยังบ้าง

มีข้อสังเกตอย่าง ๑ ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ไม่ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเป็นกลอนแปดเลยสักเรื่องเดียว ไม่ใช่ทรงไม่ได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ไม่ทรงกลอนแปดนั้น เพราะกลอนแปดมักใช้แต่งในทางสังวาสและบทละคร จึงทรงรังเกียจอย่าง ๑ อีกประการ ๑ จะเป็นเพราะเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ในสมัยเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องต่างๆนั้น กวีที่เชี่ยวชาญกระบวนกลอนแปดมีมาก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสุนทรภู่ เป็นต้น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จะทรงพระดำริเห็นว่า กระบวนแต่งกลอนแปดจะสู้กวีที่มีอยู่ในเวลานั้นยาก จึงไม่ทรงเสียทีเดียว เหมือนอย่างหนังสือมหาชาติกัณฑ์มหาพนซึ่งไม่ทรงแต่งสู้พระเทพโมฬี (กลิ่น) ฉะนั้น

ข้อควรรู้ในเรื่องเทศน์มหาชาติยังมีอีกอย่าง ๑ คือประเพณีแต่ก่อนถือกันว่า เมื่อเจ้านายทรงผนวช ควรจะฝึกหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ใดกัณฑ์หนึ่ง จนได้เทศน์ถวาย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เองถวายเทศน์กัณฑ์นครกัณฑ์ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชสามเณร ได้ทรงเทศน์กัณฑ์มัทรีถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชสามเณร ก็ได้เทศน์กัณฑ์สักรบรรพถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายลูกยาเธอในรัชกาล ที่ ๔ เมื่อทรงผนวชได้หัดเทศน์มหาชาติแทบทุกพระองค์ ถวายเทศน์ในรัชกาลที่ ๔ บ้าง ที่มาทรงผนวชในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ถวายในรัชกาลที่ ๕ ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงนิยมในประเพณีเทศน์มหาชาติ พระองค์เองได้ทรงศึกษาทำนองในสำนักพระมหาราชครูพิราม (ชูเปรียญ) ทรงได้ทั้งกัณฑ์สักรบรรพและทานกัณฑ์ ได้ทรงซักซ้อมกัณฑ์สักรบรรพให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส ถวายเทศน์เมื่อทรงผนวชสามเณร และได้ทรงฝึกสอนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๖) ให้ทรงเทศน์ทานกัณฑ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่เสด็จออกไปศึกษาวิชาการในประเทศยุโรปเสียก่อน ไม่ได้ทรงผนวชสามเณรจึงไม่ได้ถวาย แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะยังทรงเทศน์ทำนองทานกัณฑ์ได้อยู่จนทุกวันนี้ ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ หนังสือมหาชาติจึงเป็นหนังสือจำพวก ๑ ซึ่งนิยมกันในราชตระกูล

ข้าพเจ้าเชื่อว่า บรรดาผู้ที่เป็นกวีและผู้ที่ชอบใจอ่านหนังสือบทกลอน จะพอใจอ่านหนังสือมหาชาติของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ซึ่งได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นคราวนี้



(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖




.........................................................................................................................................................


(คัดจากหนังสือมหาชาติ)


พระนิพนธ์เรื่อง "ลิลิตตะเลงพ่าย" คลิกที่นี่ ครับ



Create Date : 01 มิถุนายน 2550
Last Update : 8 มิถุนายน 2550 10:08:01 น. 0 comments
Counter : 3181 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com