ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

"หวงเหอ" มารดาของชนชาติจีน







หวงเหอ1
" แม่น้ำหวงเหอ หรือ ฮวงโห "

สายน้ำใหญ่ที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีนนาม 'หวงเหอ' (黄河) ‘ฮวงโห’
หรือ ‘แม่น้ำเหลือง’ ผู้เป็นเสมือน ‘แม่’ ของลูกหลานชาวจีน
ผู้ให้ชีวิต ผู้สร้างจิตวิญญาณ สั่งสมอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวจีน

หวงเหอ2
" หวงเหอหมู่ชิน แม่น้ำซึ่งเป็น 'มารดา' ของลูกหลานจีน "

เธออาจเปรียบได้กับนักเดินทาง
ที่รอนแรมผ่านมณฑลและเขตต่างๆทางตอนเหนือของประเทศจีน
นับตั้งแต่ชิงไห่ ซื่อชวน(เสฉวน) กันซู่ หนิงเซี่ย
สุยหย่วน(ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน)
ส่านซี ซันซี เหอหนัน และซันตง เป็นระยะทางยาวถึง 5,464 กิโลเมตร
มีบางตอนที่เธอไต่ขึ้นเหนือและบางตอนไหลล่องใต้คดเคี้ยวตามเส้นทางรูปตัว [ 几 ]

แม่น้ำเหลืองแตกเป็นแม่น้ำสาขามากกว่า 30 สายหลัก
และมีแม่น้ำสายน้อยและลำธารอีกนับไม่ถ้วน
รวมผืนดินและแหล่งพำนักของผู้คนริมฝั่งน้ำที่เธอไหลผ่าน
เป็นพื้นที่ทั้งสิ้นมากกว่า 750,000 ตร.กม.
หวงเหอมุ่งหน้าไปยังบูรพาทิศและสุดท้ายไหลลงทะเลป๋อไห่ที่มณฑลซันตง

หวงเหอ3
" แผนที่แสดงเส้นทางน้ำของหวงเหอ
แม่น้ำสายล่างคือ ฉางเจียง หรือ แยงซีเกียง
แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในประเทศจีน "

เนื่องจากตอนกลางของสายน้ำไหลเข้าสู่เขตที่ราบสูงที่เป็นดินเหลือง
ประกอบกับแม่น้ำสาขาหลายสายยังเต็มไปด้วยดินเลนและดินทรายจำนวนมาก
นับเป็นสายน้ำที่มีปริมาณของเลนและทรายจำนวนมากที่สุดในโลก
เฉลี่ย 37 กิโลกรัม / ลูกบาศก์เมตร
จนมีคำกล่าวว่า 'น้ำ(จากแม่น้ำเหลือง) 1 ชาม เป็นเลนอยู่เสียครึ่งชาม'
ส่งผลให้สายน้ำมีสีเหลืองอันเป็นที่มาของชื่อ

ในแต่ละปี สายน้ำหวงเหอตอนกลางจะพัดพาโคลนเลนและทรายลงสู่สายน้ำตอนปลาย
คาดว่ามีปริมาณเลนและทรายสูงถึง 400 ล้านตัน/ปี ใต้ก้นแม่น้ำเหลืองตอนล่าง
นานวันเข้าทำให้ลำน้ำตื้นเขิน น้ำเอ่อล้นตลิ่งและทลายเขื่อนกั้นน้ำจนเกิดอุทกภัยร้ายแรงหลายครั้ง
ซึ่งอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดลุกลามไปถึงนครเทียนจินทางทิศเหนือ
ส่วนทางใต้น้ำเคยท่วมไปถึงมณฑลเจียงซูและอันฮุย
รวมพื้นที่เสียหายกว้างขวางถึง 250,000 ตร.กม.

หวงเหอ4
" แม่น้ำเหลืองช่วงต้นน้ำ น้ำยังใสไม่ขุ่นเหลือง
อยู่ในบริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน "

แม่น้ำเหลืองกำเนิดขึ้นจากร่องน้ำสามสาย ได้แก่ ข่ายื่อชีว์ เยียว์กู่จงเลี่ยฉีว์ และจาชีว์
บริเวณเชิงเขาทางทิศเหนือของเทือกเขาปาเหยียนคาลาซัน
ณ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,400 เมตร
ที่ซึ่งล้อมรอบด้วยยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปีทั่วทั้งสี่ทิศ

หวงเหอช่วงต้นน้ำเป็นช่วงที่มีเส้นทางการไหลคดเคี้ยวมากที่สุด
เริ่มตั้งแต่บึงน้ำซิงซู่ไห่ (星宿海) ในมณฑลชิงไห่
ที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมน้ำจากทะเลสาบเล็กๆจำนวนมาก
เมื่อไหลออกจากบึงน้ำซิงซู่ไห่ก็ไหลเข้าสู่ทะเลสาบเอ้อหลิงหู (鄂陵湖) และจาหลิงหู (札陵湖)
จนไหลเรื่อยมาถึงเมืองหม่าตัว (玛多) อ้อมภูเขาจีสือซัน (积石山) และเทือกเขาซีชิงซัน (西倾山)
มาทะลุผ่านหุบเขาหลงหยังเสีย (龙羊峡) และมาออกที่เมืองกุ้ยเต๋อของมณฑลชิงไห่ (青海贵德)
หลังจากนั้นไหลเข้าสู่ดินแดนอดีตมณฑลสุยหย่วน (绥远省) และกันซู่

น้ำในบริเวณต้นน้ำที่ไหลจากมณฑลชิงไห่ผ่านเข้ามาในมณฑลกันซู่
บริเวณที่เป็นหุบเขาและหน้าผาจำนวนมากยังใสบริสุทธิ์และไม่เป็นสีเหลือง

ต่อเมื่อไหลเข้าสู่ช่วงตอนกลางของสายน้ำซึ่งเริ่มตั้งแต่ในเขตมองโกเลียในจนถึงมณฑลเหอหนัน
สายน้ำได้หักตัวไหลลงทิศใต้ทะยานเข้าสู่ ที่ราบสูงดินเหลือง (黄土高原)
ผ่านที่ลาดชันและเพิ่มความแรงขึ้นจนตกจากหน้าผากลายเป็นน้ำตกหูโขว่ (壶口瀑布)
น้ำจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพราะตะกอนดินทรายและเลนจากที่ราบสูงดังกล่าว

หวงเหอ5
" แม่น้ำเหลืองบริเวณน้ำตกหูโข่ว "

สายน้ำบริเวณตั้งแต่เมืองเมิ่งจิน (孟津) ในมณฑลเหอหนัน
เรื่อยมาจนถึงมณฑลซันตงเป็นช่วงที่ไหลราบเรียบที่สุด
ไหลผ่านบริเวณที่เป็นโตรกผาซันเหมินเสียและที่ราบภาคเหนือของจีน
ที่หวงเหอช่วงปลายน้ำนี้เองเป็นจุดที่เธอจะกระโจนลงสู่ห้วงทะเลลึก
ที่บริเวณเกือบเหนือสุดของอ่าวไหลโจว (莱州湾) ในมณฑลซันตง

แม่น้ำเหลืองนับเป็นอู่อารยธรรมอันทรงคุณค่าแห่งหนึ่งบนแผ่นดินใหญ่
มีหลักฐานการขุดพบซากฟอสซิลที่ระบุว่า
มีมนุษย์วานรอายุ 5-6 แสนปีก่อนในยุคดึกดำบรรพ์อาศัยอยู่เรียกว่า
‘มนุษย์วานรหลันเถียน’ "蓝田猿人"
มนุษย์วานรหลันเถียนเป็นบรรพบุรุษของชนชาติจีน
ที่อาศัยอยู่ในอำเภอหลันเถียนของมณฑลส่านซี

และเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองเป็นแหล่งที่ดินดี
และอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุสำคัญต่อพืชจึงเหมาะแก่การเพาะปลูก
ประกอบกับสภาพอากาศอบอุ่นชุ่มชื้นเหมาะแก่การตั้งบ้านสร้างเมือง
ถิ่นนี้จึงเป็นแหล่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางประเพณีวัฒนธรรม เช่น
บริเวณสายน้ำตอนกลางและตอนปลายเป็นแหล่งกำเนิด 'วัฒนธรรมหยั่งเสา' (仰韶文化)
ที่มีอายุเก่าแก่ราว 3,000 - 5,000 ปี

ทั้งนี้ ตามหลักฐานที่มีการค้นพบซากโบราณสถานและเครื่องเคลือบสี
โดยเฉพาะเครื่องเคลือบสีแดงซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
'วัฒนธรรมเครื่องเคลือบสี' (彩陶文化)
กระจายอยู่ในอาณาบริเวณมณฑลเหอหนัน ซันซี ส่านซี กันซู่ ชิงไห่ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้
ที่ทำจากหินและกระดูกสัตว์อีกด้วย

ริมฝั่งแม่น้ำเหลืองยังเป็นแหล่งตั้งเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์จีน
เช่น นครอันหยัง นครฉางอัน(ซีอัน) นครลั่วหยัง เสียนหยัง และไคเฟิง.

หวงเหอ6
" ชาวบ้านพากันมาจับปลาบริเวณที่แม่น้ำเหลืองเอ่อท่วมริมตลิ่ง
จนกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ ในมณฑลเหอหนัน "


หวงเหอในมุมต่างๆ

หวงเหอ7
" หวงเหอช่วงต้นน้ำ "

หวงเหอ8
" ทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำหวงเหอ "

จูหรงจี
" ริมฝั่งน้ำคือสถานที่ปลูกสร้างบ้านเรือน
และแหล่งทำนุบำรุงวัฒนธรรมและศาสนา "

หวงเหอ9
" หุบเขาสองฝั่งสายน้ำหวงเหอ "

หวงเหอ10
" หวงเหอยามสายัณห์ "

หวงเหอ11
" สายน้ำที่เชี่ยวกรากและทรงพลัง ภาพจาก oakroad.net "

หวงเหอ12
" สะพานข้ามแม่น้ำเหลือง เชื่อมเมืองในมณฑลซันตง
และเหอหนัน ความยาวทั้งสิ้นราว 4142.14 เมตร "

***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2548
- ซินหัวเน็ต 05/01/05




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 30 กรกฎาคม 2550 0:12:08 น.
Counter : 2829 Pageviews.  

อุปรากรสูงศักดิ์แห่งเทือกเขาคุนซัน







งิ้วคุนซัน
"อุปรากรจีน หรือ งิ้วคุนซัน"

เมื่อหลายร้อยปีก่อน
ตามลำคลองสายหลักในเมืองแถบเทือกเขาคุนซัน
ยังเต็มไปด้วยขบวนเรือน้อยใหญ่ของคณะงิ้วพเนจรที่พายมาจอดพักตามท่าเรือ
พวกเขาร้องงิ้วคุนฉี่ว์กันได้ทุกคน จนถึงเดี๋ยวนี้ที่ผู้เดินทางหันมาใช้ถนนแทนคูคลอง
แต่คณะงิ้วคุนซันแห่งซูโจว(苏州昆剧团)
ก็ยังคงเปิดสอนงิ้วคุนซันสร้างนักแสดงงิ้วเยาวชนรุ่นใหม่
และอาคารพิพิธภัณฑ์อุปรากรคุนฉี่ว์แห่งคุนซัน
ยังคงทำหน้าที่อวดขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม
ชาวจีนอพยพส่วนใหญ่ในท้องที่ก็ยังรู้จักงิ้วคุนซันนี้น้อยมาก
รวมถึงคนนอกอย่างเรา


แหล่งชมงิ้วคุนซันในเจียงซู

งิ้วคุนซัน (昆曲-คุนฉี่ว์) หรืออุปรากร
ที่ถือกำเนิดแถบเทือกเขาคุนซัน (昆山) ในมณฑลเจียงซู
มีการแสดงนิยมแพร่หลายในมณฑลริมฝั่งทะเลทางตะวันออกของประเทศนี้มานานหลายศตวรรษ
ปัจจุบัน เราสามารถหาชมงิ้วคุนซันได้ในเมืองซูโจว และโจวจวง
โดยเฉพาะที่โจวจวง งิ้วคุนซันได้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
ที่ลูกชาวนาในหมู่บ้านนำมา‘ขาย’เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง

เหมยหลันฟาง
เหมยหลันฟาง นักแสดงชายชาวเจียงซู ผู้รับบทเป็นตัวนางในงิ้วคุนฉี่ว์
เขาเริ่มเรียนงิ้วมาตั้งแต่เล็กๆ กับอาจารย์เฉินเต๋อหลิน และ หลี่โซ่วซัน
และแสดงงิ้วเรื่องแรกตั้งแต่ 10 ขวบ


ไช่เส้าหัว ผู้อำนวยการโรงงิ้วคุนซันแห่งเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เปิดเผยว่า
มีการแสดงงิ้วคุนซันของดารางิ้วอาชีพในตำบลโจวจวง เมืองเก่าในซูโจว อย่างน้อย 2-3 รอบทุกวัน
โดยมักจะเล่นอยู่ไม่กี่องก์ที่ดังๆ เช่น 《闹学》(เน่าเสียว์) 《游园》 (โหยวหยวน) 《惊梦》 (จิงเมิ่ง) เป็นต้น

ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในโจวจวงราว 2,500,000 คนต่อปี
หากว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มาเข้าชมการแสดงคุนฉี่ว์ที่โรงละครเก่า
ก็เท่ากับว่าพวกเรามีผู้ชมกว่า 1,500,000 คนแล้ว
ซึ่งเราจะได้ใช้โอกาสนี้สืบทอดงิ้วคุนซันให้มีชีวิตต่อไปได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังปั้นนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ออกมาได้มากขึ้นอีกด้วย’
ไช่เส้าหัว กล่าว

โจวฉิน นักวิชาการจากศูนย์วิจัยอุปรากรคุนฉี่ว์แห่งชาติ กล่าวว่า
ทุกวันนี้ในเมืองซูโจวมีสมาคมคณะงิ้วคุนซันใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 คณะ
มีการแสดงทุกวันที่สวนโบราณแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของเมือง
คณะหนึ่งแสดงทุกวันบ่ายวันพฤหัส ที่สวนเฮ่อหยวน (鹤园)
อีกคณะหนึ่งแสดงทุกบ่ายวันอาทิตย์ ที่สวนอี๋หยวน (怡园)
นอกนั้นก็มีแสดงตามสวนต่างๆ ในเมือง อาทิ
สวนหลิว (留园) มีการร้องงิ้วคุนซันโชว์ทุกวันราว 80 รอบ
ส่วนที่สวนหวั่งซือ (网师园) ก็มีร้องโชว์ทุกค่ำ


เล่าอดีตงิ้วคุนซัน

โจวฉิน เล่าถึงงิ้วคุนซันในอดีตว่า
คณะละครงิ้วคุนซันยุคเริ่มต้นมักกินอยู่ในบ้านคหบดีหรือขุนนางผู้มีฐานะ
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)
ห้ามไม่ให้เอกชนมีการเลี้ยงคณะละครหรือกลุ่มคนต่างๆ
เพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว
คณะละครเหล่านี้จึงกระจัดกระจายออกมาทำมาหากินกันเอง
แต่เนื่องจากความนิยมของชนชั้นสูงที่มักจัดแสดงงิ้วเมื่อมีงานมงคลต่างๆ ยังคงมีอยู่
งิ้วคุนซันจึงสามารถยังชีพด้วยการรับจ้างแสดงงิ้วเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้ต่อมาได้

งิ้วคุนซัน
"การแสดงงิ้วคุนซันเป็นโชว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมาก"

ยุคที่งิ้วคุนฉี่ว์รุ่งเรืองสูงสุดอยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง
มีคณะงิ้วรายใหญ่รายย่อยอยู่ในเมืองซูโจวมากถึง 47 คณะ
ที่มีการแสดงงิ้วคุนซันทุกวัน

เหยาไป๋ฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านงิ้วคุนซันอีกท่านหนึ่ง
อธิบายว่า งิ้วคุนซันมีการออกตระเวนแสดงตามเมืองต่างๆ
แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองซูโจว
สายเหนือตระเวนไปแสดงตามเมืองอู๋ซี – เจียงอิน – อี๋ซิง
ส่วนสายใต้จากคุนซัน – อู๋เจียง – หูโจว – หังโจว
สมัยก่อนเมื่อไปถึงเมืองหนึ่งหรือหมู่บ้านหนึ่งจะปักหลักแสดงอยู่ราว 1- 3 วัน
ทั้งปีรับงานเป็น 1,000 กว่ารอบ

กู้ตู่หวง เจ้าของและผู้ก่อตั้งคณะงิ้วคุนซันแห่งซูโจวอีกคณะหนึ่ง
ผู้เรียนมาทางด้านละครพูด แต่กลับมาหลงรักงิ้วคุนซัน
ครอบครัวของกู้เป็นผู้มีฐานะได้เคยรวบรวมเพื่อนๆ
ซึ่งล้วนมาจากครอบครัวตระกูลสูงศักดิ์ในซูโจวและคุนซัน
เปิดสำนักศึกษางิ้วคุนซันเพื่อถ่ายทอด
และอนุรักษ์อุปรากรท้องถิ่นที่โรงงานทอผ้าเจียงหนัน ตั้งแต่ปี 1921


เรียนงิ้ว
"หยางฮั่นหยู ดารางิ้วไต้หวัน ผู้หนึ่งที่ยังคงทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะงิ้วคุนซัน"

กู้ ชี้แจงว่า สำนักศึกษางิ้วคุนซันก่อตั้งขึ้น
เพื่อหวังว่าจะเปิดสอนการแสดงให้แก่นักเรียนที่สนใจงิ้วคุนซัน
และเมื่อจบการศึกษาแล้ว
ก็จะให้เข้าทำงานในโรงงานไปด้วยและเล่นละครไปด้วย
แต่ไม่กี่ปีต่อมา เมื่อโรงงานเกิดล้มละลายเจ้าของก็ต้องเปลี่ยนมือไป
แต่สำนักละครงิ้วคุนซันก็ยังคงดำเนินกิจการต่อมา

กู้ตู่หวง ย้อนถึงวันเก่าๆให้ฟังว่า
แรกๆ การแสดงงิ้วคุนซันที่เปิดการแสดงในเมืองซูโจว
ส่วนมากเล่นตามสมาคมหรือโรงน้ำชา
หรือนั่งเรือไปเล่นตามหมู่บ้านต่างๆ
ต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงละครในยุคสาธารณรัฐจีน
เจ้าของคณะก็เริ่มมีรายได้จากการขายตั๋วตามที่นั่ง
เมื่องิ้วคุนซันเป็นที่นิยมอย่างมาก
นักแสดงหน้าใหม่ๆ มีฝีมือก็เกิดขึ้นมากตามไปด้วย
ทำให้นักแสดงงิ้วกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน

กู้ กล่าวว่า รายได้ของนักแสดงงิ้วอาชีพสูงมาก
ตัวอย่างเช่น "เหมยหลันฟาง" ดารางิ้วชื่อดัง
ไปแสดงที่เซี่ยงไฮ้ครั้งเดียวได้ค่าตัวอย่างน้อย 20,000 หยวน
ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนของพนักงานออฟฟิศสมัยนั้นเสียอีก

เหมยหลันฟาง
"เหมยหลันฟาง คนกลางร่วมแสดงในงิ้วคุนซันเรื่อง ต้วนเฉียว (《断桥》)"

สำนักงิ้วคุนซันของตระกูลกู้และเพื่อนได้รับความนิยมสูงสุด
พร้อมกับชัยชนะหลังสงครามจีนต่อต้านญี่ปุ่น (ค.ศ.
1945)
คราวหนึ่งมีการจัดแสดงงิ้วคุนซันติดต่อกัน 4 วันที่เซี่ยงไฮ้
ได้เชิญเหมยหลันฟางและดารางิ้วดังๆไปเล่น
จนราคาบัตรเข้าชมในตลาดมืดถีบตัวขึ้นสูงมาก
ผู้มีอันจะกินจากทุกสารทิศก็ยังตามไปดูกันอย่างเนืองแน่น
จนเต็มโรงงิ้วเหม่ยฉี โรงละครใหญ่ของเซี่ยงไฮ้

มู่ตันถิง
'หมู่ตันถิง' เรื่องราวความรักที่นิยมนำมาเล่นเป็นงิ้วคุนฉี่ว์


‘คุนฉี่ว์’ งิ้วโบราณชั้นสูงของจีน

‘เมื่อพระนางซูสีไทเฮาหันไปฟังงิ้วปักกิ่งไม่ฟังคุนฉี่ว์
อุปรากรแห่งเขาคุนซันก็ถึงยุคตกต่ำ
เปลี่ยนมือจาก ‘ของเล่น’ ของขุนนางมหาเศรษฐีมาเป็นของสามัญชน
เหมือนเช่นปัจจุบันที่ผู้คนหันไปฟังเพลงป๊อบและเลิกฟังงิ้วปักกิ่ง
มันก็มาจากหลักเหตุผลเดียวกัน’
กู้ตู่หวง ผู้ที่ทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับบทเพลงและศิลปการแสดงคุนฉี่ว์ กล่าว

คุนฉี่ว์ นาฏกรรมที่มีบทร้องและเพลงเป็นหลัก
จากเทือกเขาคุนซัน หรือ งิ้วคุนซัน หรือที่รู้จักในชื่อ คุนจี้ว์ (昆剧)
ในปัจจุบัน มีกำเนิดมากว่า 600 ปี เคยมีการกล่าวถึง ท่วงทำนอง
หรือเสียงคุนซัน (昆山腔-คุนซันเชียง) เรียกย่อว่า 昆腔 (คุนเชียง)
ในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หยวน-ต้นราชวงศ์หมิง
ซึ่งกำเนิดและค่อยๆ พัฒนาท่วงทำนอง
กลายเป็นเพลงที่เป็นระบบมากขึ้นในสมัยต่อๆ มา
จนแพร่หลายไปถึงปักกิ่งและทั่วประเทศ (มาในสมัยราชวงศ์ชิง นิยมเรียก คุนฉี่ว์)

ปลายสมัยจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง
เพลงคุนซันเริ่มพัฒนาขึ้น ทั้งเนื้อร้อง ท่วงท่าการแสดง
บทบาท การแต่งกายของนักแสดง
ก็พิถีพิถันมากขึ้นด้วย และเริ่มมีลักษณะเป็นอุปรากรมากขึ้น

เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีประกอบการแสดงอุปรากรคุนซัน

อุปรากรคุนซันโดยส่วนใหญ่
เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายตระกูลสูงศักดิ์ และข้าราชการชั้นสูง
เป็นอุปรากรเก่าแก่ที่ชาวจีนยกให้เป็นงิ้วชั้นสูง(雅部)
มีขนบการแสดง บทบาทตัวละคร และท่าทางการร่ายรำ
ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ท่วงทำนองการร้องอ่อนหวาน นุ่มนวลจับใจ
ศัพท์แสงที่ร้องเป็นคำชั้นสูง ชาวบ้านทั่วไปจึงเข้าถึงยาก

งิ้วคุนซันต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่อีกครั้ง
เมื่อกระแสงิ้วชาวบ้าน ที่เรียกว่า ฮวาปู้จูเชียง (花部诸腔)
ที่มีเรื่องราวตื่นเต้นเร้าใจกว่า เน้นเรื่องตลกโปกฮาถูกใจชาวบ้าน
และยังใช้ภาษาท้องถิ่นเข้าใจง่าย ได้รับความนิยมขึ้นมาแทน (ในสมัยชิง)
งิ้วคุนซันจากเดิมที่เคยแสดงเต็มเรื่อง
จึงตัดตอนมาแสดงเฉพาะบางตอนแบบที่เรียกว่า เจ๋อจื่อซี่ (折子戏)
ทำให้ได้อรรถรสมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน
กลับทำให้การแสดงเชื่องช้าลง ขาดความสดใหม่
จนในที่สุดเริ่มเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ
และมาได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์อย่างจริงจังจากรัฐบาล
เมื่อตอนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว

งิ้วคุนซัน
อีกฉากหนึ่งในเรื่อง 'สืออู่ก้วน' (《十五贯》)

วันที่ 18 พฤษภาคม 2001 องค์การยูเนสโกได้มีมติ
ยกให้งิ้วคุนซันเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมองมนุษยชาติ
ประเภทเรื่องที่เป็นมุขปาฐะและไม่จัดอยู่ในโบราณวัตถุสถาน

ปัจจุบัน กระแสการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านของทางการ
ทำให้งิ้วคุนซันยังคงสามารถสืบทอดและเปิดการแสดงในพื้นที่ต่างๆในจีน
อาทิ มณฑลเจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หนันจิง(นานกิง)
โดยมีคณะงิ้วเป็นของตนเองในท้องถิ่นด้วย.

***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
-ผู้จัดการออนไลน์ 21 มีนาคม 2548
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000038792
-นิตยสาร ‘เซิงหัวโจวคัน’ 生活周刊
-CCTV
-zhongguoxijuchang.com






 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2550 17:29:40 น.
Counter : 1185 Pageviews.  

อลังการสถาปัตย์แดนมังกร







ประเทศจีนนอกจากจะเป็นอู่วัฒนธรรมที่ยืนยาว สืบทอดมายาวนานนับพันปีแล้ว
ยังมีสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาสวยงามอัศจรรย์
ตั้งตระหง่านรอรับการชื่นชมจากนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าไปประเทศจีนก็มีไม่น้อย

แต่ขณะเดียวกันทุกวันนี้มีอาคารรูปลักษณ์แปลกใหม่ผุดขึ้นมากมายในแดนมังกร
ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในการบริโภคทรัพยากรปริมาณมหาศาลของโลกแล้ว
ยังสะท้อนผลงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่น่าทึ่งอีกด้วย
ลองไปสัมผัส 10 สุดยอดอาคารที่น่าอัศจรรย์ในประเทศจีนกันว่ามีอะไรบ้าง
และคุณจะสัมผัสได้กับคำพูดที่ว่า "อลังการงานสร้าง"
ใช้ได้กับอาคารเหล่านี้จริงๆ

สนามบินปักกิ่ง
1.สนามบินนานาชาติปักกิ่ง

จีนมีแผนที่จะสร้างสนามบินใหม่ถึง 108 แห่งระหว่างปี 2004-2009
ซึ่งรวมทั้งสนามบินนานาชาติปักกิ่งแห่งนี้ ที่จะเปิด
ให้บริการปลายปี 2007 เพื่อต้อนรับโอลิมปิก 2008
โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 43 ล้านคนในปีแรก และเพิ่มเป็น 55 ล้านคนในปี 2015

สนามบินโฉมใหม่ที่มีขนาดกว่า 1 ล้านตารางเมตร
ซึ่งใหญ่กว่าเพนตากอนของสหรัฐอเมริกานี้
เป็นฝีมือของผู้ออกแบบสนามบินเช็กแลพก๊อกของฮ่องกงด้วย
นั่นคือ Foster & Partners สถาปนิกนักเดินทาง ที่เข้าถึงจิตใจผู้โดยสาร
ด้วยการออกแบบทางเดินแต่ละส่วนให้สั้นที่สุด

ฟอสเตอร์ ได้แบ่งอาคารที่กว้างขว้างใหญ่โตของสนามบินนานาชาติปักกิ่งออกเป็น 2 ข้าง
ทอดตัวจากทิศใต้ไปสู่ทิศตะวันออก เพื่อช่วยลดไอร้อนจากแสงอาทิตย์
แต่ติดสกายไลท์ให้แสงแดดละมุนละไมฉายส่องเข้ามา พร้อมทั้งใช้นวัตกรรมใหม่
ที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนภายในตัวอาคารอีกด้วย
กำหนดสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2007

เดอะคอมมูน
2. The Commune - กรุงปักกิ่ง

‘เดอะคอมมูน (The Commune)
เกิดขึ้นตามความตั้งใจของคู่รักนักพัฒนาเรียลเอสเตท จางซินและพานซื่ออี๋
ที่ลงทุนควักกระเป๋าให้นักสถาปัตย์ชั้นนำชาวเอเชีย 12 คน คนละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
เพื่อเนรมิต House Complex หรูที่มีกลิ่นอายกำแพงเมืองจีนแห่งนี้ขึ้น

ปัจจุบัน เดอะคอมมูน เปิดให้บริการแล้วในส่วนที่เป็นHotel Boutique
ภายใต้การบริหารของเครือโรงแรมเคมปินสกี้ จากเยอรมนี
ซึ่งยังมีโครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติมต่อไปอีก

เฟสแรกสร้างเสร็จเมื่อ 2002 และทั้งโครงการจะเสร็จสิ้นในปี 2010

ศูนย์กลางการเงินฯ
3.ศูนย์กลางการเงินของโลก - เซี่ยงไฮ้

ศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่ของโลก กำลังจะเกิดขึ้นที่มหานครเซี่ยงไฮ้
ที่เขตการเงินหลู่เจียจุ้ย ในเขตผู่ตง ในรูปโฉมของตึกกระจกสูงเสียดฟ้า 101 ชั้น

Kohn Pedersen Fox Architects ผู้ออกแบบเล่าว่า
การสร้างให้ตึกต้านทานแรงลมได้ ถือเป็นความท้าทายของงานนี้
ในที่สุด จึงได้ออกแบบให้ยอดตึกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมเจาะช่องตรงชั้นที่ 100
ซึ่งนอกจากจะปรับเป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดในโลกแล้ว
ยังสามารถบรรเทาแรงลม ลดการแกว่งตัวไปมาของตัวตึกได้ด้วย

ศูนย์กลางการเงินแห่งใหม่นี้มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2008

สระว่ายน้ำ
4.สระว่ายน้ำแห่งชาติ - กรุงปักกิ่ง

สระว่ายน้ำแห่งชาตินี้ สร้างขึ้นสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008
โดยมีรูปลักษณ์เหนือจินตนาการคล้าย “ปริมาตรน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่”
ซึ่ง PTW and Ove Arup ออกแบบโดยใช้วัสดุเทฟล่อนทำเป็นโครงร่าง
เน้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ซึ่งจะนำมาใช้ในการเดินเครื่องกรองน้ำเสียของสระน้ำ
ที่ใช้เติมในสระจะถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ฝั่งไว้ใต้ดิน

นอกจากนั้น เพื่อให้ดูเหมือนน้ำที่สุด
สถาปนิกยังใช้เทคโนโลยีจากงานวิจัยของนักฟิสิกส์จากDublin’s Trinity College
ที่สามารถทำให้กำแพงอาคารดูเหมือนฟองน้ำที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งนอกจากจะทำสระว่ายน้ำแห่งแดนมังกรนี้ดูดีเป็นเอกลักษณ์แล้ว
ยังสามารถต้านทานกับสั่นสะเทือนอันเกิดจากแผ่นดินไหวได้ด้วย

สระว่ายน้ำแห่งนี้มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2008

สถานี TV
5.สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งชาติ (CCTV) - กรุงปักกิ่ง

อาคารสำนักงานใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ CCTV
มีรูปลักษณ์ที่แหวกแนวไปจากตึกระฟ้าทั่วไป
โดยเกิดจากสองอาคารที่ตั้งมุมฉากต่อเข้าหากัน มองดูเหมือนอุโมงค์ขนาดใหญ่
ซึ่งช่วยกระจายแรงลมที่ปะทะกับตึกได้เป็นอย่างดี
ตึกใหม่นี้ออกแบบโดย Rem Koolhass และ Ole Scheeren
ส่วนวิศวกรผู้คุมงานก่อสร้างคือ Ove Arup

สถานีโทรทัศน์ CCTV มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2008

Linked Hybid
6.Linked Hybid - กรุงปักกิ่ง

สถาปัตยกรรมแห่งที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ Linked Hybid
เป็นที่ตั้งของบ้าน 2,500 หลัง อพาร์ทเม้นท์ 700 ห้อง บนเนื้อที่ขนาด 1.6 ล้านตารางฟุต
ถือเป็นตึกใหญ่สุดในโลกที่ใช้ระบบชีวภาพ
ในการทำความเย็นและให้ความอุ่น เพื่อรักษาอากาศทั้ง 8 ตึกให้คงที่
ในชั้นที่ 20 สร้างเป็นวงแหวน ‘บริการ’ ที่เชื่อมต่อกันทุกตึก
ครบครันด้วยบริการต่างๆ ทั้งซักผ้ายันร้านกาแฟ

Steven Holl และ Li Hu ยังออกแบบให้ ฝั่งท่อน้ำสองสายลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร
สำหรับให้น้ำไหลเวียน ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องกระจายความร้อน
และเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่
ที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าทำน้ำเดือดหรือแอร์ทำความเย็น
ขณะเดียวกัน ยังมีระบบบำบัดน้ำเสีย ที่จะรวบรวมน้ำจากห้องครัวและอ่างน้ำทั่วอาคาร
มาหมุนเวียนใช้ใหม่ในห้องส้วมอีกด้วย

Linked Hybid มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2008

เมืองเศรษฐกิจ
7.เมืองเศรษฐกิจตงถัน - เจียงซู

เมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่ของแดนมังกร
ออกแบบและพัฒนาโดย ซ่างไห่ อินตัสเทรียล คอร์ป (Shanghai Industrial Corp.)
ที่คาดว่าจะมีขนาดเทียบเท่ากับเกาะแมนฮัตตัน ตั้งอยู่บนเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน
กลางลำน้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ใกล้กับมหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2040

อย่างไรก็ตาม เฟสแรกของโครงการนี้
จะเรียบร้อยก่อนที่งานเอ็กซ์โปเซี่ยงไฮ้จะเปิดฉากขึ้นในปี 2010
ซึ่งจะมีประชากรราว 50,000 คน เข้าอยู่อาศัยที่นี้
จากนั้นอีก 5 ปี ระบบพิเศษต่างๆ จะเริ่มใช้งานได้
ไม่ว่าจะเป็น ระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ ระบบจัดการน้ำเสีย และการหมุนเวียนพลังงานมาใช้ใหม่
พร้อมด้วยถนนสายใหญ่ที่จะเชื่อตรงสู่นครเซี่ยงไฮ้อย่างสะดวกสบาย

คาดว่าเฟสแรกของเมืองเศรษฐกิจตงถันจะสร้างเสร็จในปี 2010

สนามกีฬา
8.สนามกีฬาโอลิมปิก - กรุงปักกิ่ง

สนามกีฬาหลายแห่งในโลก ออกแบบโดยเดินตามรอยสนามกีฬาชื่อดังของโลก
โคลิเซี่ยมแห่งโรม
แต่สนามกีฬานานาชาติของ Herzog & de Meuron ในปักกิ่งนี้
พยายามที่จะคิดออกแบบใหม่ให้เอื้ออำนวยต่อสิ่งแวดล้อมปัจจุบันมากขึ้น

สถาปนิกจากสวิสเซอร์แลนด์ Herzog & de Meuron
ต้องการที่จะช่องระบายอากาศตามธรรมชาติ ในสนามกีฬาโครงสร้าง 91,000 ที่นั่ง
อาจถือได้ว่า เป็นสนามกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้

สนามกีฬาดังกล่าวซึ่งจะใช้จัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2008
มีลักษณะภายนอกคล้ายกับ ”รังนก” ที่มีโครงตาข่ายเหล็กสีเทาๆ เหมือนกิ่งไม้
ห่อหุ้มเพดานและผนังอาคารที่ทำด้วยวัสดุโปร่งใส อัฒจันทร์มีลักษณะรูปทรงชามสีแดง
ซึ่งดูคล้ายกับพระราชวังต้องห้ามของจีน ภาพโครงสร้างของสนามกีฬาแห่งนี้
จึงดูคล้ายพระราชวังสีแดง ที่อยู่ภายในรั้วกำแพงสีเทาเขียว
ซึ่งให้กลิ่นอายที่งดงามแบบตะวันออก
สำหรับบันไดภายในสนามกีฬาถูกสร้างให้กลมกลืนกับโครงตาข่าย
ซึ่งให้ภาพลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเอกภาพ

สนามกีฬาแห่งนี้กำหนดสร้างเสร็จในปี 2008

สะพานตงไห่
9.สะพานตงไห่ เชื่อมระหว่างนครเซี่ยงไฮ้ - เกาะหยังซัน

สะพานข้ามทะเลแห่งแรกของจีน ซึ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อเดือนธันวาคมปี 2005
สะพานดังกล่าวเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง
ใช้เงินลงทุนราว 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนโครงสร้างหลักมีความยาว 32.5 กิโลเมตร กว้าง 31.5 เมตร มีทางรถวิ่ง 6 เลน
และเพื่อความปลอดภัยในการรับมือกับพายุไต้ฝุ่นและคลื่นลมแรง
สะพานตงไห่ ถูกออกแบบให้เป็นรูปตัวเอส (S)
เชื่อมจากอ่าวหลู่หูในเขตหนันฮุ่ยเมืองเซี่ยงไฮ้ ข้ามอ่าวหังโจว
ไปยังเกาะเสี่ยวหยังซันในมณฑลเจ้อเจียง ที่ได้วางแผนไว้
ให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีแห่งแรกของจีน (และจะเป็นท่าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก)
ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2010

ทั้งนี้ สะพานตงไห่ถูกก่อสร้างโดยความร่วมมือระหว่าง
ไชน่าจงเที่ย เมเจอร์ บริดจ์ เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป และเซี่ยงไฮ้ # 2 เอนจิเนียริ่ง
และเซี่ยงไฮ้ เออร์บัน คอนสตรักชั่น กรุ๊ป

โรงละครแห่งชาติ
10.โรงละครแห่งชาติ - ปักกิ่ง

ตั้งอยู่กลางกรุงปักกิ่ง ใกล้กับจัตุรัสเทียนอันเหมิน
มีเนื้อที่ 490,485 ตารางฟุต มีกำหนดเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2008
โครงสร้างภายนอกประกอบขึ้นจากกระจกผสมไทเทเนี่ยม ดูคล้ายกับทะเลสาบ
ซึ่งผู้ออกแบบจงใจให้สถาปัตยกรรมดูโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางถนนและตึกแบบโบราณ

สำหรับผู้ออกแบบคือสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อดัง พอล อังโดร
ที่มีผลงานออกแบบที่มีชื่อเสียง เช่น อาคาร 1 ของ
สนามบินชารลส์ เดอ โกล

โรงละครแห่งชาติ แห่งนี้แบ่งพื้นที่เป็น โรงโอเปร่า 2,416 ที่นั่ง
คอนเสิร์ตฮอล 2,017 ที่นั่ง และโรงภาพยนตร์ 1,040 ที่นั่ง
พื้นผิวของผนังที่กึ่งโปร่งแสงจะทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในตอนกลางคืน
จะมองเห็นการแสดงด้านในวับๆ แวบๆ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแห่งนี้

***ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ 1 มีนาคม 2549
- Businees Week




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2550    
Last Update : 25 มิถุนายน 2550 14:27:20 น.
Counter : 1189 Pageviews.  

10 เส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวสุดโหดในจีน # 3








เส้นทางลำดับที่ 6-10

ลำดับที่ 6 พลิก ‘เทือกเขาแอลป์แห่งแผ่นดินจีน’ เดินทัศนาจรจากเขาสี่ดรุณีสู่ปี้เผิงโกว

เขาสี่ดรุณี

ปัจจุบันนักเดินทัศนาจรชาวจีนต่างให้ความสนใจกับเส้นทางเดินเท้าในมณฑลซื่อชวน
ที่มุ่งสู่เมืองเต้าเฉิงและเขาสี่ดรุณีสองเส้นนี้มาก
เรียกได้ว่าพลาดไม่ได้สำหรับ “เขาสี่ดรุณี หรือซื่อกูเหนียงซัน”
อยู่ห่างจากตัวเมืองเฉิงตูไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 286 กิโลเมตร
(สามารถนั่งรถยนต์ใช้เวลา 6 ชั่วโมง)
มีทัศนียภาพที่น่าหลงใหลคล้ายธรรมชาติในแถบยุโรปใต้
จนได้รับฉายาว่า "เทือกเขาแอลป์ในแผ่นดินจีน"

การเดินเท้าจากเทือกเขาสี่ดรุณีสู่เขาปี้เผิงโกวไม่ยากลำบากนัก
เริ่มต้นจากยื่อหลง ในเขตทิวทัศน์เขาสี่ดรุณี ผ่านฉางผิงชุนโข่ว ชาจื่อโกวโข่ว ย่าโข่ว
และสิ้นสุดที่เขาปี้เผิงโกว อยู่ห่างจากเฉิงตู 221 กิโลเมตร) ใช้เวลาราว 3-4 วัน
เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแนะนำที่นักเดินทัศนาจรหลายคนชื่นชอบมากๆ
(สถานที่บางแห่งเก็บค่าเข้าชม เช่น อุทยานปี้เผิงโกว ราคาบัตรเข้าชม 30 หยวน)


ลำดับที่ 7 เดินรอบกำแพงเมืองจีน การเดินที่มีความหมายใหญ่หลวง

กำแพงเมืองจีน

ไม่ต้องบรรยายใครๆ ก็รู้จักกำแพงเมืองจีน
สัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมของประเทศจีน
และการได้ไปเยือนกำแพงเมืองจีนก็ถือเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าของลูกหลานจีนทุกคน
ในความคิดของคนทั่วไปแล้ว
การเดินขึ้นกำแพงเมืองจีนโดยสามารถเดินรอบกำแพงทั้งหมดทุกด่านได้นั้น
ยิ่งถือเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง ทว่าคนส่วนใหญ่เดินทางสู่กำแพงเมืองจีน
โดยเลือกขึ้นบางด่านบางช่วงเท่านั้น ซึ่งโดยมากมักเป็นจุดที่อยู่ใกล้กรุงปักกิ่ง

เนื่องจากความยาวของกำแพงที่ยากจะมีผู้พิชิตได้
การเดินรอบกำแพงเมืองจีนนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ ด่านซันไห่กวน
ริมทะเลทางตะวันออกของประเทศ (เขตมณฑลเหอเป่ย) จนมาถึงด่านเจียอี้ว์กวน
ในเขตทะเลทรายทางตะวันตก (ในเขตมณฑลกันซู่)
ที่มีความยาวโดยรวมแล้วถึง 6,700 กิโลเมตร
จึงนับเป็นการเดินทัศนาจรที่เต็มไปด้วยบททดสอบและความหมายอันยิ่งใหญ่
ที่รอคอยผู้กล้ามาพิสูจน์ความทรหด


ลำดับที่ 8 เดินหน้าสู่คาน่าซือ ชมความงามของวันคืนแห่งฤดูใบไม้ร่วง

ฮาน่าซือ

ทุกคนที่เดินทางกลับจาก คาน่าซือ (หรือ ฮาน่าซือ)
ในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง (ซินเกียง)
มักจะพร่ำเพ้อถึงทิวทัศน์อันงามสะพรั่งในฤดูใบไม้ร่วงอยู่ไม่ขาดปาก
ซึ่งสิ่งที่ประทับตาตรึงใจพวกเขาก็คือ สีส้มและสีเหลืองทองของใบไม้
ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของป่าเขาในฮาน่าซือ กับสีฟ้าใสบริสุทธิ์ของทะเลสาบฮาน่าซือนั่นเอง
นอกจากนี้
ความลึกลับน่าพิศวงของหมู่บ้านชนเผ่าถูหว่าเหริน
ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นที่เรียกตนเองว่าชนชาติมองโกล
ยังเป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้หลั่งไหลมาค้นหาความทรงจำดีๆ ที่ฮาน่าซือนี้
ซึ่งทั้งหมดคือที่มาของชื่อ 'ฮาน่าซือ' ที่มีความหมายตามภาษามองโกลว่า
“ความงามและความลี้ลับ”

ฮาน่าซือ เดิมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีป่าพืชพันธุ์โบราณ
โดยเฉพาะหมู่บ้านที่คงความบริสุทธิ์ราวกับดินแดนบนสรวงสวรรค์
แต่ปัจจุบัน....
ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปเป็นจำนวนมากอย่างไม่หยุดหย่อน
จนทำให้เสน่ห์ของฮาน่าซือ ถูกเหยียบย่ำเสียหายไปอย่างน่าเสียดาย
ฉะนั้นหากนักเดินทางท่านใดสนใจเดินทางเข้าไปชมความงามที่นี่ โปรดเดินทางอย่างมีสติ
พร้อมกับปฏิบัติตามกฎการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างเคร่งครัด

เส้นทางที่นักเดินเท้าส่วนใหญ่ใช้มักเริ่มต้นจากเกาะต้าหงอี๋ว์ ในทะเลสาบฮาน่าซือ
เมืองอาเล่อไท่ ทางตอนเหนือของซินเจียง ผ่านเฮยหู หรือทะเลสาบสีดำ
หมู่บ้านเหอมู่ชุน และมาสิ้นสุดจุดหมายปลายทางที่หุบเขาเจี่ยเติงอี้ว์
เส้นทางนี้ค่อนข้างไกลใช้เวลาเดินอย่างต่ำ 3 วัน


ลำดับที่ 9 เดินตามสมัยนิยม เดินประจันหน้าผาหู่เที่ยวเสีย

ผาหู่เที่ยวเสีย

หน้าผาหู่เที่ยวเสีย จัดอยู่ในทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยวผู้เดินทางไปเยือนเมืองเก่าลี่เจียง
หนึ่งในมรดกโลกทางวัฒนธรรมในมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) ที่จะต้องแวะไปชม
สามารถใช้เวลาเดินเท้าเพียง 2 วัน
สำหรับเดินเข้าและออกบริเวณทิวทัศน์ธรรมชาติของหน้าผาหูเที่ยวเสีย
ความจริงหนทางเดินเท้าสู่ผานี้ไม่ยากลำบากเลย แต่เพราะความเชี่ยวกรากของสายน้ำจินซาเจียง
เบื้องล่างเขาเป็นภาพระทึกใจที่อาจสร้างความน่าหวาดหวั่นให้กับนักเดินทางได้

ผาหู่เที่ยวเสียตั้งอยู่ในเขตทิวทัศน์ธรรมชาติใกล้เมืองลี่เจียง
ท่านสามารถเดินทางไปลี่เจียงซึ่งมีเส้นทางต่อไปยังหน้าผานี้ได้สะดวก


ลำดับที่ 10 ดื่มด่ำหลีเจียง ชื่นชมความงามเลิศในปฐพีแห่งกุ้ยหลิน

หลี่เจียง

กุ้ยหลิน ทิวทัศน์เขาสวยน้ำงามทางตอนเหนือ
ในเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง กว่างซี หรือ กวางสี
ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ที่ชาวจีนและชาวต่างชาติต่างใฝ่ฝัน
จะได้ไปสัมผัสซักครั้งหนึ่งในชีวิต เนื่องจากภาพความงดงามของทิวเขาบนสายน้ำหลีเจียง
ที่ได้ได้รับการยกย่องเป็นเสมือนภาพวาดพู่กันจีนที่เป็นเอกในปฐพี
ทว่าหลายท่านที่เคยไปเที่ยวกุ้ยหลิน ล้วนใช้บริการของบริษัททัวร์ท่องเที่ยว
ซึ่งถึงแม้กลับบ้านไปแล้วก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ 'เข้าถึง' กุ้ยหลินอยู่ดี

เส้นทางท่องเที่ยวที่จะแนะนำนี้เป็นเส้นทางชื่นชมแม่น้ำหลีเจียงโดยทางเท้า
ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากท่าเรือหยังตี บนแม่น้ำหลีเจียง
มีเส้นทางเดินเท้าลงใต้มาที่ซิงผิง รวมระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร สามารถใช้เวลาเพียง 1 วัน
ก็สามารถดื่มด่ำกับความงามของทิวทัศน์หลีเจียงได้อย่างใกล้ชิด
และเข้าถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมืองหยางซั่วได้อย่าง
เต็มอิ่ม

ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อความ, ข้อมูลและรูปภาพ
- ผู้จัดการออนไลน์ 4 สิงหาคม 2548
- จงกั๋วจิงจี้เน็ต






 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 5 มิถุนายน 2550 17:04:07 น.
Counter : 2218 Pageviews.  

10 เส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวสุดโหดในจีน # 2





เส้นทางลำดับที่ 1-5

ลำดับที่ 1 เส้นทางเดินเท้าในเขตม่อทัว หมู่บ้านสุดท้ายที่ถนนหลวงยังเข้าไม่ถึงเส้น

ม่อทัว

เส้นทางเดินเท้าเส้นแรกที่จะแนะนำก็คือ ม่อทัว ในเขตปกครองตนเองทิเบต (ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้)
เป็นสถานที่ที่แม้แต่ชาวจีนเองก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะตั้งอยู่ในตำบลที่ยังไม่มีถนนตัดผ่าน
จึงกลายเป็นสวรรค์ของนักผจญภัยผู้พิสมัยการเดินทัศนาจรเป็นอย่างมาก

“ม่อทัว” มีความหมายในภาษาทิเบตว่า “ดอกบัวที่ซ่อนเร้น”
เป็นสถานที่ซึ่งมีทัศนียภาพและประเพณีพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หนทางเดินหฤโหดมากเนื่องจากต้องเผชิญกับความทารุณของระดับความสูง
สภาพอากาศและการคมนาคมที่เลวร้าย โดยเฉพาะในฤดูหนาว
ซึ่งเส้นทางถูกปิดเพราะปกคลุมไปด้วยหิมะ
จะเปิดระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมเท่านั้น
ดังนั้น ที่นี่จึงกลายเป็นที่ดึงดูดนักเดินเท้าอาชีพจำนวนหนึ่งอย่างมาก

การเดินเท้าเข้าม่อทัว ก่อนอื่นต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตที่เรียกว่า “เปียนฝางเจิ้ง” ที่ที่ว่าการ
เขตหลินจือ
เริ่มออกเดินจากที่นี่ผ่านหมู่บ้านเล็กบนเขาสูงและทิวทัศน์ทะเลสาบที่งดงาม
หากจะเดินเท้าให้ทั่วม่อทัวต้องใช้เวลาราว 9 วัน
เป็นเส้นทางที่ท้าทายพละกำลัง ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
ตลอดจนไหวพริบปฏิภาณของนักเดินทางอย่างมาก


ลำดับที่ 2 เดินเท้าขึ้นชมยอดเอเวอเรสต์ สัมผัสความรู้สึกบนแผ่นดินสูงสุดของโลก

ยอดเขาเอเวอเรสต์

คงไม่มีใครไม่รู้ถึงกิตติศัพท์ความยากลำบากในการขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์
ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยอันยิ่งใหญ่ตามชายแดนประเทศจีนและเนปาล
และมีนักไต่เขาเพียงไม่กี่คนที่สามารถพิชิตยอดเขาแห่งนี้ได้
แม้แต่คนที่จะเดินเท้าขึ้นไปเฉียดยอดเอเวอเรสต์ถึงบริเวณที่เรียกว่า "เอเวอเรสต์ เบสแคมป์"
ก็หาตัวได้น้อยเช่นกัน กล่าวกันในหมู่ชาวจีนว่า
จะหาคนที่จะเดินขึ้นไปเหยียบยอดเขาแห่งนี้
ช่างยากเย็นราวกับการเสาะหาขนหงส์เขากิเลนเลยทีเดียว

การเดินเท้าไปเอเวอเรส เบสแคมป์ ในพื้นที่เขตปกครองตนเองทิเบต
จุดที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่า
สามารถชมยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สวยและใกล้ชิดกว่ามองจากฝั่งประเทศเนปาล
โดยทั่วไปนักเดินเท้านิยมเลือกเส้นทางจาก เมืองติ้งยื่อ และออกทางตำบลเหล่าติ้งยี่
ใช้เวลาเดิน 2 วันบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,200 เมตร ถึงเบสแคมป์
จุดที่นักไต่เขาจะเริ่มปีนขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์
จากจุดนี้จะสามารถมองเห็นยอดเอเวอร์เรสได้จากมุมไกลๆ
แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราซึมซับความยิ่งใหญ่ของเทือกเขา
แห่งนี้ได้


ลำดับที่ 3 ก้าวย่างสู่ภูไตรผาริมฝั่งแยงซี คือ บทกวีชิ้นเลิศแห่งสหัสวรรษ

ภูไตรผาริมฝั่งแยงซีเกียง

การเดินทัศนาจรสู่ภูไตรผาแห่งแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) หรือซันเสีย
โดยเฉพาะในปีนี้ทางการท่องเที่ยวจีนรณรงค์แผนท่องเที่ยวเส้นทางนี้อย่างคึกคัก
เพราะนับเป็นการชมฉากสุดท้ายของภูเขาอันยิ่งใหญ่
ท่ามกลางสายน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีน
ก่อนที่ภาพความงดงามทั้งหมดจะจมลงสู่สายน้ำ
เนื่องจากระดับน้ำจะสูงขึ้นตามโครงการสร้างเขื่อนยักษ์ซันเสียที่จะเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ.2009

'ซันเสีย' คือ คำเรียกของหน้าผาใหญ่สามลูกทางตอนบนของแม่น้ำแยงซี
ช่วงตั้งแต่เมืองไป๋ตี้เฉิงในเขตนครฉงชิ่ง
จนมาถึงหนันจินกวนในเมืองอี๋ชางเขตมณฑลหูเป่ย รวมความยาว 192 กิโลเมตร
ได้แก่ ผาจี้ว์ถังเสีย ผาอูเสีย ผาซีหลิงเสีย (เรียงจากทิศตะวันออกไปตะวันตก)

การเดินทัศนาจรสู่เขตทิวทัศน์ภูไตรผาในเขตรอยต่อนครฉงชิ่ง (ทางตะวันออกเฉียงเหนือ)
กับมณฑลหูเป่ย (ทิศตะวันตก) นี้ ยังไม่มีเส้นทางที่แน่นอน
อยู่ที่นักเดินเท้าแต่ละคนจะวางแผนหรือเลือกเส้นทางกันเอง
โดยมีจุดสำคัญได้แก่ เมืองไป๋ตี้เฉิงไปชมผาจี้ว์ถังเสีย มุ่งสู่อำเภออูซัน ในฉงชิ่ง
เพื่อข้ามเข้าเขตอำเภอปาตงในหูเป่ยชมผาอูเสีย และต่อไปยังเมืองอี๋ชาง
เพื่อไปชมผาซีหลิงเสีย นอกจากธรรมชาติแล้วเส้นทางนี้ยังมี
วัดวาอารามและแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจให้ชมระหว่างทางด้วย
ถึงแม้เส้นทางดังกล่าวจะไม่เจอกับอุปสรรคเรื่องระดับความสูง
ทว่าผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเส้นทางสู่ซันเสียเต็มไปด้วยอันตราย
ที่นักผจญภัยต้องเตรียมพร้อมให้ดีก่อนเดินทาง


ลำดับที่ 4 สู่เส้นทางจาริกแสวงบุญบนยอดเขาเซียน 'กั่งเหรินปอฉี'

กั่งเหรินปอฉี

มีชาวทิเบตและชาวพุทธไม่น้อยที่ใช้พลังศรัทธาพิชิต "ภูเขากั่งเหรินปอฉี"
ที่ตั้งอยู่ในเขตอาหลี ทางทิศตะวันตกในเขตปกครองตนเองทิเบตมาแล้ว
ภูเขาดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า “ภูเขาเซียน”
เป็นถิ่นที่พุทธศาสนิกชนชาวทิเบตนิยมเดินทางไปแสวงบุญกันมากที่สุด
เชื่อกันว่าในปีม้า (ปีมะเมีย) ใครได้ไปแสวงบุญบนเขาแห่งนี้ ถือเป็นสิริมงคลยิ่งยวดเป็นทวีคูณ

เส้นทางจาริกแสวงบุญสู่เขากั่งเหรินปอฉี เริ่มจากต้าจิน
ระหว่างทางผ่านวัดเก่าแก่ของทิเบตหลายแห่ง เดินทางเป็นวงกลมอ้อมเขาใช้เวลา 3 วัน
ความยากลำบากของการขึ้นเขานี้อยู่ที่สภาพอากาศอันทารุณ
บนระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 5,000 เมตร


ลำดับที่ 5 ป้ายสุดท้ายของดินแดนเชียงการีล่า – ย่าหนิงในเต้าเฉิง

ย่าหนิง อ.เต้าเฉิง

อำเภอเต้าเฉิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกในซื่อชวน (เสฉวน)
มณฑลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งธรรมชาติอันงดงาม เคยได้รับการกล่าวขานว่า
เป็นจุดสิ้นสุดของดินแดนที่เรียกว่า "เชียงการีล่า"
แม้ว่าข้อขัดแย้งเรื่องการกำหนดเขตเชียงการีล่าได้ยุติลง
เมื่อมีการยกจงเตี้ยน (ในมณฑลหยุนหนัน) ให้เป็นอำเภอเชียงการีล่า
แต่ความงดงามทางธรรมชาติของดินแดนเต้าเฉิงไม่เคยลดเลือนไปจากสายตาของผู้มาเยือน
โดยเฉพาะ ย่าหนิง
ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่ทอดตัวอย่างสงบงามอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่
ท่านสามารถเดินทางออกจากอำเภอเต้าเฉิง มุ่งหน้าลง
ใต้ผ่านเซ่อลาเข้าสู่ย่าหนิง
โดยใช้เวลาเดินเท้า 3 วัน


ขอขอบคุณ (Thank You) ข้อความ, ข้อมูลและรูปภาพ
- ผู้จัดการออนไลน์ 4 สิงหาคม 2548
- จงกั๋วจิงจี้เน็ต








 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 5 มิถุนายน 2550 17:21:54 น.
Counter : 1009 Pageviews.  

1  2  3  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.