ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 
อุปรากรสูงศักดิ์แห่งเทือกเขาคุนซัน







งิ้วคุนซัน
"อุปรากรจีน หรือ งิ้วคุนซัน"

เมื่อหลายร้อยปีก่อน
ตามลำคลองสายหลักในเมืองแถบเทือกเขาคุนซัน
ยังเต็มไปด้วยขบวนเรือน้อยใหญ่ของคณะงิ้วพเนจรที่พายมาจอดพักตามท่าเรือ
พวกเขาร้องงิ้วคุนฉี่ว์กันได้ทุกคน จนถึงเดี๋ยวนี้ที่ผู้เดินทางหันมาใช้ถนนแทนคูคลอง
แต่คณะงิ้วคุนซันแห่งซูโจว(苏州昆剧团)
ก็ยังคงเปิดสอนงิ้วคุนซันสร้างนักแสดงงิ้วเยาวชนรุ่นใหม่
และอาคารพิพิธภัณฑ์อุปรากรคุนฉี่ว์แห่งคุนซัน
ยังคงทำหน้าที่อวดขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม
ชาวจีนอพยพส่วนใหญ่ในท้องที่ก็ยังรู้จักงิ้วคุนซันนี้น้อยมาก
รวมถึงคนนอกอย่างเรา


แหล่งชมงิ้วคุนซันในเจียงซู

งิ้วคุนซัน (昆曲-คุนฉี่ว์) หรืออุปรากร
ที่ถือกำเนิดแถบเทือกเขาคุนซัน (昆山) ในมณฑลเจียงซู
มีการแสดงนิยมแพร่หลายในมณฑลริมฝั่งทะเลทางตะวันออกของประเทศนี้มานานหลายศตวรรษ
ปัจจุบัน เราสามารถหาชมงิ้วคุนซันได้ในเมืองซูโจว และโจวจวง
โดยเฉพาะที่โจวจวง งิ้วคุนซันได้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
ที่ลูกชาวนาในหมู่บ้านนำมา‘ขาย’เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง

เหมยหลันฟาง
เหมยหลันฟาง นักแสดงชายชาวเจียงซู ผู้รับบทเป็นตัวนางในงิ้วคุนฉี่ว์
เขาเริ่มเรียนงิ้วมาตั้งแต่เล็กๆ กับอาจารย์เฉินเต๋อหลิน และ หลี่โซ่วซัน
และแสดงงิ้วเรื่องแรกตั้งแต่ 10 ขวบ


ไช่เส้าหัว ผู้อำนวยการโรงงิ้วคุนซันแห่งเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เปิดเผยว่า
มีการแสดงงิ้วคุนซันของดารางิ้วอาชีพในตำบลโจวจวง เมืองเก่าในซูโจว อย่างน้อย 2-3 รอบทุกวัน
โดยมักจะเล่นอยู่ไม่กี่องก์ที่ดังๆ เช่น 《闹学》(เน่าเสียว์) 《游园》 (โหยวหยวน) 《惊梦》 (จิงเมิ่ง) เป็นต้น

ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในโจวจวงราว 2,500,000 คนต่อปี
หากว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้มาเข้าชมการแสดงคุนฉี่ว์ที่โรงละครเก่า
ก็เท่ากับว่าพวกเรามีผู้ชมกว่า 1,500,000 คนแล้ว
ซึ่งเราจะได้ใช้โอกาสนี้สืบทอดงิ้วคุนซันให้มีชีวิตต่อไปได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังปั้นนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ออกมาได้มากขึ้นอีกด้วย’
ไช่เส้าหัว กล่าว

โจวฉิน นักวิชาการจากศูนย์วิจัยอุปรากรคุนฉี่ว์แห่งชาติ กล่าวว่า
ทุกวันนี้ในเมืองซูโจวมีสมาคมคณะงิ้วคุนซันใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 คณะ
มีการแสดงทุกวันที่สวนโบราณแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของเมือง
คณะหนึ่งแสดงทุกวันบ่ายวันพฤหัส ที่สวนเฮ่อหยวน (鹤园)
อีกคณะหนึ่งแสดงทุกบ่ายวันอาทิตย์ ที่สวนอี๋หยวน (怡园)
นอกนั้นก็มีแสดงตามสวนต่างๆ ในเมือง อาทิ
สวนหลิว (留园) มีการร้องงิ้วคุนซันโชว์ทุกวันราว 80 รอบ
ส่วนที่สวนหวั่งซือ (网师园) ก็มีร้องโชว์ทุกค่ำ


เล่าอดีตงิ้วคุนซัน

โจวฉิน เล่าถึงงิ้วคุนซันในอดีตว่า
คณะละครงิ้วคุนซันยุคเริ่มต้นมักกินอยู่ในบ้านคหบดีหรือขุนนางผู้มีฐานะ
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)
ห้ามไม่ให้เอกชนมีการเลี้ยงคณะละครหรือกลุ่มคนต่างๆ
เพื่อสร้างความบันเทิงส่วนตัว
คณะละครเหล่านี้จึงกระจัดกระจายออกมาทำมาหากินกันเอง
แต่เนื่องจากความนิยมของชนชั้นสูงที่มักจัดแสดงงิ้วเมื่อมีงานมงคลต่างๆ ยังคงมีอยู่
งิ้วคุนซันจึงสามารถยังชีพด้วยการรับจ้างแสดงงิ้วเพื่อลูกค้ากลุ่มนี้ต่อมาได้

งิ้วคุนซัน
"การแสดงงิ้วคุนซันเป็นโชว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมาก"

ยุคที่งิ้วคุนฉี่ว์รุ่งเรืองสูงสุดอยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง
มีคณะงิ้วรายใหญ่รายย่อยอยู่ในเมืองซูโจวมากถึง 47 คณะ
ที่มีการแสดงงิ้วคุนซันทุกวัน

เหยาไป๋ฟาง ผู้เชี่ยวชาญด้านงิ้วคุนซันอีกท่านหนึ่ง
อธิบายว่า งิ้วคุนซันมีการออกตระเวนแสดงตามเมืองต่างๆ
แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองซูโจว
สายเหนือตระเวนไปแสดงตามเมืองอู๋ซี – เจียงอิน – อี๋ซิง
ส่วนสายใต้จากคุนซัน – อู๋เจียง – หูโจว – หังโจว
สมัยก่อนเมื่อไปถึงเมืองหนึ่งหรือหมู่บ้านหนึ่งจะปักหลักแสดงอยู่ราว 1- 3 วัน
ทั้งปีรับงานเป็น 1,000 กว่ารอบ

กู้ตู่หวง เจ้าของและผู้ก่อตั้งคณะงิ้วคุนซันแห่งซูโจวอีกคณะหนึ่ง
ผู้เรียนมาทางด้านละครพูด แต่กลับมาหลงรักงิ้วคุนซัน
ครอบครัวของกู้เป็นผู้มีฐานะได้เคยรวบรวมเพื่อนๆ
ซึ่งล้วนมาจากครอบครัวตระกูลสูงศักดิ์ในซูโจวและคุนซัน
เปิดสำนักศึกษางิ้วคุนซันเพื่อถ่ายทอด
และอนุรักษ์อุปรากรท้องถิ่นที่โรงงานทอผ้าเจียงหนัน ตั้งแต่ปี 1921


เรียนงิ้ว
"หยางฮั่นหยู ดารางิ้วไต้หวัน ผู้หนึ่งที่ยังคงทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะงิ้วคุนซัน"

กู้ ชี้แจงว่า สำนักศึกษางิ้วคุนซันก่อตั้งขึ้น
เพื่อหวังว่าจะเปิดสอนการแสดงให้แก่นักเรียนที่สนใจงิ้วคุนซัน
และเมื่อจบการศึกษาแล้ว
ก็จะให้เข้าทำงานในโรงงานไปด้วยและเล่นละครไปด้วย
แต่ไม่กี่ปีต่อมา เมื่อโรงงานเกิดล้มละลายเจ้าของก็ต้องเปลี่ยนมือไป
แต่สำนักละครงิ้วคุนซันก็ยังคงดำเนินกิจการต่อมา

กู้ตู่หวง ย้อนถึงวันเก่าๆให้ฟังว่า
แรกๆ การแสดงงิ้วคุนซันที่เปิดการแสดงในเมืองซูโจว
ส่วนมากเล่นตามสมาคมหรือโรงน้ำชา
หรือนั่งเรือไปเล่นตามหมู่บ้านต่างๆ
ต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงละครในยุคสาธารณรัฐจีน
เจ้าของคณะก็เริ่มมีรายได้จากการขายตั๋วตามที่นั่ง
เมื่องิ้วคุนซันเป็นที่นิยมอย่างมาก
นักแสดงหน้าใหม่ๆ มีฝีมือก็เกิดขึ้นมากตามไปด้วย
ทำให้นักแสดงงิ้วกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน

กู้ กล่าวว่า รายได้ของนักแสดงงิ้วอาชีพสูงมาก
ตัวอย่างเช่น "เหมยหลันฟาง" ดารางิ้วชื่อดัง
ไปแสดงที่เซี่ยงไฮ้ครั้งเดียวได้ค่าตัวอย่างน้อย 20,000 หยวน
ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนของพนักงานออฟฟิศสมัยนั้นเสียอีก

เหมยหลันฟาง
"เหมยหลันฟาง คนกลางร่วมแสดงในงิ้วคุนซันเรื่อง ต้วนเฉียว (《断桥》)"

สำนักงิ้วคุนซันของตระกูลกู้และเพื่อนได้รับความนิยมสูงสุด
พร้อมกับชัยชนะหลังสงครามจีนต่อต้านญี่ปุ่น (ค.ศ.
1945)
คราวหนึ่งมีการจัดแสดงงิ้วคุนซันติดต่อกัน 4 วันที่เซี่ยงไฮ้
ได้เชิญเหมยหลันฟางและดารางิ้วดังๆไปเล่น
จนราคาบัตรเข้าชมในตลาดมืดถีบตัวขึ้นสูงมาก
ผู้มีอันจะกินจากทุกสารทิศก็ยังตามไปดูกันอย่างเนืองแน่น
จนเต็มโรงงิ้วเหม่ยฉี โรงละครใหญ่ของเซี่ยงไฮ้

มู่ตันถิง
'หมู่ตันถิง' เรื่องราวความรักที่นิยมนำมาเล่นเป็นงิ้วคุนฉี่ว์


‘คุนฉี่ว์’ งิ้วโบราณชั้นสูงของจีน

‘เมื่อพระนางซูสีไทเฮาหันไปฟังงิ้วปักกิ่งไม่ฟังคุนฉี่ว์
อุปรากรแห่งเขาคุนซันก็ถึงยุคตกต่ำ
เปลี่ยนมือจาก ‘ของเล่น’ ของขุนนางมหาเศรษฐีมาเป็นของสามัญชน
เหมือนเช่นปัจจุบันที่ผู้คนหันไปฟังเพลงป๊อบและเลิกฟังงิ้วปักกิ่ง
มันก็มาจากหลักเหตุผลเดียวกัน’
กู้ตู่หวง ผู้ที่ทั้งชีวิตคลุกคลีอยู่กับบทเพลงและศิลปการแสดงคุนฉี่ว์ กล่าว

คุนฉี่ว์ นาฏกรรมที่มีบทร้องและเพลงเป็นหลัก
จากเทือกเขาคุนซัน หรือ งิ้วคุนซัน หรือที่รู้จักในชื่อ คุนจี้ว์ (昆剧)
ในปัจจุบัน มีกำเนิดมากว่า 600 ปี เคยมีการกล่าวถึง ท่วงทำนอง
หรือเสียงคุนซัน (昆山腔-คุนซันเชียง) เรียกย่อว่า 昆腔 (คุนเชียง)
ในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หยวน-ต้นราชวงศ์หมิง
ซึ่งกำเนิดและค่อยๆ พัฒนาท่วงทำนอง
กลายเป็นเพลงที่เป็นระบบมากขึ้นในสมัยต่อๆ มา
จนแพร่หลายไปถึงปักกิ่งและทั่วประเทศ (มาในสมัยราชวงศ์ชิง นิยมเรียก คุนฉี่ว์)

ปลายสมัยจักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง
เพลงคุนซันเริ่มพัฒนาขึ้น ทั้งเนื้อร้อง ท่วงท่าการแสดง
บทบาท การแต่งกายของนักแสดง
ก็พิถีพิถันมากขึ้นด้วย และเริ่มมีลักษณะเป็นอุปรากรมากขึ้น

เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีประกอบการแสดงอุปรากรคุนซัน

อุปรากรคุนซันโดยส่วนใหญ่
เป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายตระกูลสูงศักดิ์ และข้าราชการชั้นสูง
เป็นอุปรากรเก่าแก่ที่ชาวจีนยกให้เป็นงิ้วชั้นสูง(雅部)
มีขนบการแสดง บทบาทตัวละคร และท่าทางการร่ายรำ
ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ท่วงทำนองการร้องอ่อนหวาน นุ่มนวลจับใจ
ศัพท์แสงที่ร้องเป็นคำชั้นสูง ชาวบ้านทั่วไปจึงเข้าถึงยาก

งิ้วคุนซันต้องปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่อีกครั้ง
เมื่อกระแสงิ้วชาวบ้าน ที่เรียกว่า ฮวาปู้จูเชียง (花部诸腔)
ที่มีเรื่องราวตื่นเต้นเร้าใจกว่า เน้นเรื่องตลกโปกฮาถูกใจชาวบ้าน
และยังใช้ภาษาท้องถิ่นเข้าใจง่าย ได้รับความนิยมขึ้นมาแทน (ในสมัยชิง)
งิ้วคุนซันจากเดิมที่เคยแสดงเต็มเรื่อง
จึงตัดตอนมาแสดงเฉพาะบางตอนแบบที่เรียกว่า เจ๋อจื่อซี่ (折子戏)
ทำให้ได้อรรถรสมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน
กลับทำให้การแสดงเชื่องช้าลง ขาดความสดใหม่
จนในที่สุดเริ่มเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ
และมาได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์อย่างจริงจังจากรัฐบาล
เมื่อตอนสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว

งิ้วคุนซัน
อีกฉากหนึ่งในเรื่อง 'สืออู่ก้วน' (《十五贯》)

วันที่ 18 พฤษภาคม 2001 องค์การยูเนสโกได้มีมติ
ยกให้งิ้วคุนซันเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมองมนุษยชาติ
ประเภทเรื่องที่เป็นมุขปาฐะและไม่จัดอยู่ในโบราณวัตถุสถาน

ปัจจุบัน กระแสการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านของทางการ
ทำให้งิ้วคุนซันยังคงสามารถสืบทอดและเปิดการแสดงในพื้นที่ต่างๆในจีน
อาทิ มณฑลเจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หนันจิง(นานกิง)
โดยมีคณะงิ้วเป็นของตนเองในท้องถิ่นด้วย.

***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
-ผู้จัดการออนไลน์ 21 มีนาคม 2548
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000038792
-นิตยสาร ‘เซิงหัวโจวคัน’ 生活周刊
-CCTV
-zhongguoxijuchang.com






Create Date : 18 กรกฎาคม 2550
Last Update : 19 กรกฎาคม 2550 17:29:40 น. 10 comments
Counter : 1189 Pageviews.

 
แวะมาจ๊า


โดย: meaw_1985 วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:16:11:41 น.  

 
แวะมาเยี่ยมก่อนกลับบ้านครับ

มีความสุขในทุกลมหายใจนะครับ


โดย: มิสเตอร์ฮอง วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:29:17 น.  

 
บล๊อค ย้อนยุค นี่นา อิอิ


โดย: หลังคาดำแดง วันที่: 18 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:16:16 น.  

 
ว้าว รู้ลึกรู้จริง ...

มาทักทายและทำความรู้จักครับ


โดย: DAN_KRAB วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:32:35 น.  

 
ฟามรู้ใหม่ เย้ ๆๆ ว่าแต่ ไอ้ตัวเหลี่ยม ๆ นี้ไรอ่ะ

มันอ่านมะออก

รักกันมันดีแบบนี้อ่ะ โน๊ะ


โดย: ตุส (Logetus ) วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:19:45 น.  

 
งิ้วไทยไปไกลสุดๆมีเสียงพูดอีสานบ้านเฮา
ด้วย อยากจะฟังต้องไปตอนเขาเล่นกลางวัน
ถวายเจ้า สนุกดี
งิ้วที่เน้นบทร้องจะมีปัญหาถ้าฟังภาษาไม่ออก
ชัดเจนไปดูงิ้วชอบดูการแสดงทางอวัจนภาษา
บางคณะแสดงทางสีหน้าได้ดีมาก ยังกับเขาเปลี่ยนหน้ากากได้
สมัยนี้ไม่มีจอมยุทเสียแล้วสมัยก่อน ตีรันฟันแทง
สนุกกว่าสมัยนี้ครับ


โดย: ชัดเจนน้องนาง วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:23:23 น.  

 
แวะมาหลายทีแล้ว
พอพิมพ์เสร็จ กดส่ง
ก็โดนไล่ไป (ให้log in) ทุกครั้ง

โอเชจ้า บ่นนิดหน่อย
แบบว่ามาดูงิ้วคับป๋ม


โดย: PddY วันที่: 19 กรกฎาคม 2550 เวลา:23:21:55 น.  

 
ตอนเด็กแถวบ้านมีงานฉลองศาลเจ้า มีงิ้วมาแสดงด้วย
อาม่าจะให้หลานๆหิ้วเก้าอี้ไปจองที่แต่เนิ่นๆ
แต่เราฟังไม่ออกเลยค่ะ ได้แต่ดูชุดอลังการ วูบวาบ ๆ


โดย: เอ๊กกี่ วันที่: 20 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:38:55 น.  

 
你好 !


โดย: แมลงวันตาโต วันที่: 21 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:35:32 น.  

 
แวะมาเสพความรู้ค่ะ ดีจริงๆ เลย เลยแวะไปอ่านมาหลายอันเลยค่ะ เมืองจีน สวย มากๆ เลยค่ะสบายดีนะค่ะ แวะมาทักทายยามค่ำค่ะ


โดย: Aiko (Yushi ) วันที่: 24 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:04:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.