ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

3 ตึกใหญ่แห่งแดนกังหนำ






ในสมัยโบราณ ชาวจีนเห็นว่าตึกหรือหอสูง
เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีและความศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้นหอโบราณของจีนโดยมาก
จึงสร้างขึ้นโดยเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง
เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป อาทิ เพื่อประโยชน์ทางการทหาร
ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ หรือเพื่อประกาศคุณงามความดี
หรือแม้แต่เพื่อใช้เป็นการปราบอาถรรพณ์ ปีศาจชั่วร้าย
บ้างก็สร้างอุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือแห่งตน
แต่ในชีวิตประจำวันโดยมากกลายเป็นจุดชมทิวทัศน์ธรรมชาติไป

สถาปัตยกรรมลักษณะนี้โดยมากเป็นที่นิยมและแพร่หลาย
ในแดนกังหนำ หรือ เจียงหนันของจีน
(ดินแดนทางทางตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเกียง)
หอโบราณซึ่งเป็นที่รู้จักเลื่องลือกันในแดนกังหนำ ได้แก่
หอเถิงหวัง (มณฑลเจียงซี), หอกระเรียนเหลือง (มณฑลหูเป่ย)
และ หอเยี่ยว์หยัง(มณฑลหูหนัน)
จนได้ชื่อว่าเป็น 3 หอแห่งแดนกังหนำ ( (江南三大名楼))




หอเถิงหวัง ((滕王阁))
แรกสร้างสมัยต้นราชวงศ์ถัง ปี ค.ศ. 653 ในรัชกาลถังเกาจงหลี่ยวน
โดย เถิงหวังหลี่หยวนอิง (น้องชายของหลี่ซื่อหมิน)
ได้สร้างหอเถิงหวังขึ้นระหว่างที่มาดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาเมือง
ด้วยจุดประสงค์ให้เป็นหอระวังไฟ
และเป็นสถานที่พักผ่อนชมทิวทัศน์ในฤดูกาลต่างๆ
ต่อมาในปี ค.ศ. 675 หวังป๋อ (ค.ศ. 650–675)
หนึ่งในสี่กวีอัจฉริยะแห่งราชวงศ์ถังตอนต้น
ได้เดินทางมาเยือนหอเถิงหวัง
และได้ประพันธ์บทกวีชื่นชมความงามเอาไว้
เนื่องจากบทกวีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา
จึงทำให้ชื่อเสียงความงามของหอเถิงหวังเป็นที่รู้จักทั่วไปในแผ่นดิน
ปราชญ์กวีเลื่องชื่ออีกจำนวนไม่น้อย
ต่างเคยเดินทางมาเยี่ยมเยือนสถานที่นี้




หอเถิงหวัง
ผ่านศึกสงครามการทำลายล้างและสร้างใหม่ถึง 29 ครั้ง
ซึ่งไม่เพียงรักษาต้นแบบอย่างโบราณเอาไว้
การซ่อมสร้างแต่ละครั้งยังมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น
โดยครั้งสุดท้ายถูกเผาทำลายระหว่างสงครามปฏิวัติในปี 1926
จวบถึงปี 1983 เริ่มงานซ่อมสร้างครั้งใหญ่ แล้วเสร็จในปี 1989
หอเถิงหวังใหม่มีอาณาบริเวณกว่า 47,000 ตารางเมตร สูง 57.5 เมตร 9 ชั้น
โดยเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยซ่ง
มีขนาดและความสูงที่สุดในสามหอแห่งแดนกังหนำ

ที่ตั้ง ริมฝั่งแม่น้ำกั้นเจียง เมืองหนันชาง มณฑลเจียงซี





หอกระเรียนเหลือง ((黄鹤楼))

หอกระเรียนเหลืองแรกสร้างสมัยสามก๊ก ใน ค.ศ. 223
ภายหลังก๊กอู๋ยึดได้เมืองจิงโจว หรือ เกงจิ๋ว
โดยก๊กอู๋สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์
ป้องกันการโจมตีจากก๊กสูของเล่าปี่

แต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับที่มาของหอกระเรียนเหลือง
ซึ่งเป็นที่แพร่หลายนั้นกล่าวกันว่า
สถานที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลือง
เป็นร้านเหล้าเล็กๆ ที่เปิดเป็นที่พักคนแรมทาง
ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านได้ให้อาหารและที่พัก
แก่นักพรตที่แต่งกายซ่อมซ่อท่านหนึ่งโดยไม่คิดเงิน
นักพรตนั้นจึงใช้เปลือกส้มวาดเป็นรูปกระเรียนสีเหลืองที่ผนังร้าน
เมื่อปรบมือขึ้นครั้งหนึ่ง
ภาพกระเรียนบนฝาผนังก็จะออกมาร่ายรำอย่างงดงาม
นักพรตได้มอบกระเรียนเหลืองนี้ไว้เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจเจ้าของร้าน
นับแต่นั้นก็มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนทางร้านกันคับคั่ง
เพื่อมาดูการแสดงของกระเรียนเหลือง กิจการของร้านเฟื่องฟูร่ำรวยขึ้น
สิบปีต่อมานักพรตนั้นกลับมาอีกครั้ง
และเมื่อกระเรียนเหลืองออกมาจากผนัง นักพรตก็ขึ้นขี่กระเรียนบินจากไป
เจ้าของร้านจึงสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้น
เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญคุณของนักพรตนั้น

หอกระเรียนเหลือง
เป็นแหล่งรวมของบรรดาปราชญ์กวีและปัญญาชนจากทั่วทุกสารทิศ
ซึ่งก็ได้ฝากผลงานบทกวีที่มีชื่อไว้ไม่น้อย
ในจำนวนนี้มีผลงานของ ชุยเฮ่า ((崔颢)) ปราชญ์สมัยถัง
ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับความงามสง่าของหอแห่งนี้
รวมทั้งคำเล่าขานของหอกระเรียนเหลืองนี้เอาไว้อย่างละเอียด
จนกลายเป็นต้นแบบให้กวีในรุ่นหลังได้ศึกษาต่อมา
จวบจนปี 1884 รัชสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง
เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายลง




ในปี 1957 เนื่องจากได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแยงซี
ที่ผากระเรียนเหลือง ณ ที่ตั้งเดิมของหอกระเรียนเหลืองไปแล้ว
ดังนั้น ในปี 1984 เมื่อรัฐบาลจีนใหม่ประจำอู่ฮั่น
มีโครงการสร้างหอกระเรียนเหลืองขึ้นใหม่
เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีที่หอกระเรียนเหลืองถูกเผาทำลายไป
เมื่อครั้งสมัยจักรพรรดิกวงสูแห่งราชวงศ์ชิง
จึงต้องย้ายหอกระเรียนเหลืองไปปลูกสร้างยังที่ตั้งใหม่บนยอดเขาเสอซัน

หอกระเรียนเหลืองในปัจจุบัน
สร้างขึ้นด้วยปูนและเหล็กเลียนแบบโครงสร้างแบบไม้ที่เป็นของเดิม
เป็นหอ 5 ชั้น สูง 51 เมตร ระหว่างชั้นยังมีชั้นแทรก รวมทั้งสิ้นเป็น 10 ชั้น
ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองอู่ฮั่น

ที่ตั้ง (แห่งเดิม) ผากระเรียนเหลือง
(แห่งใหม่) เขาเสอซัน เขตอู่ชางเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย





หอเยี่ยว์หยัง ((岳阳楼))
แรกสร้างในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 215) ในดินแดนของก๊กอู๋
ภายใต้การนำของซุนกวน ได้สร้างหอนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็น
หอสังเกตการณ์ป้องกันการโจมตีของกวนอูจากเมืองจิงโจว (เมืองเกงจิ๋ว)
มีชื่อว่า “ หอส่องทัพ ”
สมัยจิ้นตะวันตกได้ชื่อว่าเป็น “ หอเมืองปาหลิง ”
เมื่อถึงสมัยถัง ภายหลังงานประพันธ์ของหลี่ไป๋เป็นที่แพร่หลาย
ก็รู้จักกันในนาม “ หอเยี่ยว์หยัง ”
จัดเป็นหอโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในสามหอแห่งแดนกังหนำ

หอเยี่ยว์หยังเป็นสถานที่ชมธรรมชาติยอดนิยม
ของบรรดาปราชญ์กวีมีชื่อในสมัยถัง
อาทิ ตู้ผู่, หานอี้ว์, ไป๋จีว์อี้, หลี่ซังอิ่น เป็นต้น
เมื่อถึงปี 1045 ขุนนางเถิงจื่อจิง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ
ได้ทำการซ่อมสร้างครั้งใหญ่
และขอให้ ฟ่านจงเหยียน ที่เป็นปราชญ์และนักปกครองแห่งยุค
ได้เขียน “ บันทึกหอเยี่ยว์หยัง ” เอาไว้
ชื่อเสียงของหอเยี่ยว์หยังจึงขจรขจายเป็นที่รู้จักกันทั่วไป


ปราชญ์ " ฟานจงเหยียน " ผู้บันทึกเรื่องของ หอเยี่ยว์หยัง


เมื่อกล่าวถึง “บันทึกหอเยี่ยว์หยัง”
ที่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ของหอเยี่ยว์หยัง
ยังประดับด้วยบทกวีดังกล่าวที่สลักบนไม้จันทน์
ด้วยข้อความและลายมือที่เหมือนกันราวฝาแฝด
แต่ชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในราวศตวรรษที่ 18
อีกชิ้นหนึ่งจัดทำขึ้นในศตวรรษที่ 19 กล่าวกันว่า
ชิ้นหนึ่งเป็นลายมือของ จางเจ้า ปราชญ์ราชเลขาฯ
สมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
ภายหลังมีขุนนางท้องถิ่นคนหนึ่ง
ต้องการแสดงความสามารถเชิงอักษรของตน
จึงเลียนแบบลายมือของจางเจ้า จัดทำ “บันทึกหอเยี่ยว์หยัง” ขึ้น
แต่นายช่างที่แกะสลักงานชิ้นนี้ไม่พอใจการกระทำของขุนนางนั้น
จึงแกะสลักอักษรตัวหนึ่งให้ผอมบางเป็นพิเศษ
เพื่อให้สามารถแยกจากต้นฉบับได้
จากนั้นขุนนางคนนั้นได้ปลดผลงานของจางเจ้าลงมา
เปลี่ยนเป็นผลงานของตนเอง แล้วนำชิ้นที่เป็นลายมือของจางเจ้า
ใส่เรือเพื่อขนย้ายไปที่อื่น แต่เรือก็มาล่มจมลงเสียก่อน
ขุนนางที่ไปกับเรือจมน้ำเสียชีวิต
ผลงานของจางเจ้า ถูกงมขึ้นมาจากก้นทะเลสาบต้งถิง
และถูกนำกลับมาประดับไว้ที่หอเยี่ยว์หยังอีกครั้ง
ดังนั้นหอแห่งนี้จึงประดับด้วยผลงานแกะสลักที่เหมือนกันสองชิ้น


ปัจจุบัน หอเยี่ยว์หยัง
ถือเป็นสถาปัตยกรรมเพียงหนึ่งเดียวในสามหอแดนกังหนำ
ที่ยังมีโครงสร้างเป็นไม้ตามแบบสถาปัตยกรรมแบบเก่า
(หลังการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยชิงแล้วร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ผ่านศึกสงครามหลายครั้งแต่ไม่สียหาย)
บูรณะครั้งหลังสุดในปี 1984 แม้ว่าหอมีความสูงเพียงสามชั้น
มีขนาดเล็กกว่าหอเถิงหวังและหอกระเรียนเหลือง
แต่ถือได้ว่า เป็นหอที่ยังคงรักษาสภาพบรรยากาศแบบเก่า
เอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด


ที่ตั้ง ริมฝั่งทะเลสาบต้งถิง* เมืองเยี่ยว์หยัง มณฑลหูหนัน

*ทะเลสาบต้งถิงหู
เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นที่สองในประเทศจีน
เดิมมีขนาด 6,000 ตร.กม. เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุด
ภายหลังเนื่องจากนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกของภาครัฐ
อีกทั้งการสะสมของตะกอนดิน เมื่อถึงปี 1986
พื้นที่ทะเลสาบหดเล็กลงเหลือเพียง 2,625 ตร.กม.
เป็นรองจากทะเลสาบพานหยังในมณฑลเจียงซีซึ่งมีขนาด 3,914 ตร.กม.



*** ขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- manager online
- //www.qianlong.com
- //www.china.org.cn
- //www.sohu.com
- //www.people.com
- //ly.kj110.cn
- //www.lotour.com
- //www.hwjyw.com













 

Create Date : 02 สิงหาคม 2552    
Last Update : 2 สิงหาคม 2552 19:24:55 น.
Counter : 1969 Pageviews.  

สุดหรู " โรงแรมเมืองมังกร " คืนละ 1,000,000 บ.









อดีตจวนผิงซีอ๋อง ในเขตบ่อชังผิงของปักกิ่ง
ได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นโรงแรมที่หรูหราที่สุดในจีน
และได้เปิดให้บริการแล้วด้วยราคาที่แพงลิบ
ถึงคืนละ 220,000 หยวน / ประมาณ 1,100,000 บาท
(อัตราแลกเปลี่ยน ณ เดือนกันยายน 2550)
โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นที่พักของบรรดามหาเศรษฐีจากทั่วโลก


จวนอ๋องแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร สามารถเข้าพักได้ 20 คน
ภายในตกแต่งด้วยเครื่องประดับที่ถูกสร้างขึ้นใหม่
โดยทำการเลียนแบบให้เหมือนจวนอ๋องโบราณ อาทิ เตียงมังกร
ที่ใช้มือแกะสลักที่มีมังกรประดับอยู่จำนวน 999 ตัว มูลค่า 1.8 ล้านหยวน
เครื่องเล่นแผ่นเสียงอายุร้อยกว่าปี ไข่มุกเขียวสมัยราชวงศ์ชิง

นอกจากนี้ระเบียงด้านนอกยังมี
เจ้าหน้าที่ รปภ. ที่แต่งกายเลียนแบบทหารองครักษ์
พนักงานต้อนรับแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เลียนแบบสมัยราชวงศ์ชิง

“รูปแบบการให้บริการ
จะเลียนแบบมาจากพิธีการในพระราชวังสมัยราชวงศ์ชิง
ลูกค้าไม่เพียงแต่จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน
แต่ยังได้ทดลองรับการปรนนิบัติระดับท่านอ๋องอีกด้วย”

ขณะนี้จวนผิงซีอ๋อง มีกิจกรรมสืบหาทายาทรุ่นเหลนของท่านอ๋อง
เพื่อเชิญให้มาตัดริบบิ้นเปิดกิจการอย่างเป็นทางการ
พร้อมกับเชิญให้เข้าพักเป็นแขก VIP รายแรก
แต่ตอนนี้ยังหาทายาทคนดังกล่าวไม่เจอ (ข้อมูล ณ ก.ย. 50)
ทางโรงแรมจึงอยู่แค่ช่วงทดลองเปิดบริการ
โดยส่วนต่างๆ ของจวนได้เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด
ยกเว้นห้องนอนของท่านอ๋อง




" พนักงานต้อนรับแต่งกายเลียนแบบนางกำนัลในสมัยราชวงศ์ชิง "




" จวนผิงซีอ๋อง ในยามค่ำคืน "




" ความสง่างามในตอนกลางคืน "



*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์ (www.manager.co.th)
- ซินหัวเน็ต (XINHUANET)




 

Create Date : 05 เมษายน 2551    
Last Update : 5 เมษายน 2551 18:57:02 น.
Counter : 861 Pageviews.  

รถไฟใต้ดินต้อนรับโอลิมปิกที่เมืองจีน







เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ได้มีการทดลองวิ่งรถไฟใต้ดินสาย 10 เฟส 1 ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยง
ระหว่างสถานีปาโกว-ทางตะวันตกและสถานีจิ้นสง-ทางตอนใต้ของปักกิ่ง
โดยตลอดสายมีสถานีทั้งสิ้น 22 สถานี ได้แก่

ปาโกว - วั่นหลิ่ว - ซูโจวเจีย - หวงจวง - เคอหนันลู่ - จือชุนลู่ -
เสียว์เยวี่ยนลู่ - ฮัวหยวนตงลู่ - ปาต๋าหลิ่งเกาซู่ - สงเมาหวนเต่า
(สถานีนี้เชื่อมกับทางรถไฟใต้ดินสาย 8 ที่เชื่อมตรงสู่ศูนย์กีฬาโอลิมปิก)
- อันติ้งลู่ - เป่ยถู่เฉิงตงลู่ (สถานีนี้เชื่อมกับทางรถไฟสาย 5
ที่เปิดใช้ไปเมื่อปลายปี 0227) - เสาเย่าจีว์ - ไท่หยังกง - ไม่จื่อจั้นซีลู่ -
เลี่ยงหม่าเหอ - หนงจั้นกว่าน - กงถี่เป่ยลู่ - ฮูเจียโหลว -
กวงหวาลู่/จินไถซีเจ้า - กั๋วเม่า - ซวงจิ่ง - จิ้นสง



" แผนผังเส้นทางรถไฟใต้ดิน "


โจวเจิงอี้ว์ รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการคมนาคมแห่งปักกิ่ง
เผยว่า รถไฟใต้ดินสาย 10 นี้ มีความยาวทั้งสิ้น 25 กิโลเมตร
ใช้เวลาวิ่งทั้งสิ้น 45 นาที รัฐบาลปักกิ่งทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างไป
ทั้งสิ้น 15,500 ล้านหยวน (หรือ 2,180 ล้านเหรียญสหรัฐ)
และจะเริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้
โดยรถไฟใต้ดินสาย 10 จะเชื่อมโยงกับเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยัง
ศูนย์กีฬาโอลิมปิกและเส้นทางสู่สนามบินปักกิ่ง
ทำให้การเดินทางไปมาระหว่างสนามกีฬาและสนามบินนั้นสะดวกยิ่งขึ้น

โดยผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังศูนย์กีฬาโอลิมปิก สามารถเปลี่ยนเส้นทาง
ไปใช้รถไฟใต้ดินสาย 8 ซึ่งมุ่งตรงสู่ศูนย์กีฬาโอลิมปิกได้ที่สถานีสงเมาหวนเต่า
ทั้งนี้รถไฟใต้ดินสาย 8 แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส เฟสแรกได้แก่
เส้นทางสายโอลิมปิก มี 4 สถานี ได้แก่ สถานีสงเมาหวนเต่า
สวนสาธารณะเซินหลิน สวนสาธารณะโอลิมปิก ศูนย์กีฬาโอลิมปิก
ส่วนเฟส 2 จะสร้างต่อขึ้นไปทางเหนืออีก 5 สถานี
และจะสร้างต่อลงจากสถานีสงเมาหวนเต่าอีก 2 สถานี



" วันเปิดทดลองวิ่งรถไฟใต้ดิน "


สำหรับการตกแต่งของแต่ละสถานีรถไฟใต้ดินสาย 10 นั้น
เป็นการผสมผสานระหว่างความทันสมัยและเก่าแก่เข้าไว้ด้วยกัน เช่น
ทางรถไฟใต้ดินสาย 10 สถานีเป่ยถู่เฉิง นักออกแบบได้นำลวดลาย
ที่งดงามคลาสสิกของเครื่องลายครามจีนไปวาดไว้บนเสา
ให้ความรู้สึกถึงความเป็นจีนได้เป็นอย่างดี ขณะที่สถานีหวงจวง
ซึ่งตั้งอยู่ในจงกวานชุน ย่านสินค้าไฮเทคของปักกิ่ง ก็ตกแต่งสไตล์โมเดิร์น
ส่วนทางรถไฟสาย 5 และ 8 ก็มีการออกแบบและตกแต่ง
อย่างมีเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน เช่น สถานีหย่งเหอกง ของรถไฟสาย 5
ก็มีการจำลองเสาโบราณเหมือนในพระราชวัง
ให้กลิ่นอายเหมือนกับนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปสู่ยุคอดีตยังไงยังงั้น

โจวกล่าวเสริมว่า ถึงแม้ว่าโอลิมปิกปักกิ่งจะปิดม่านลงในเดือนสิงหาคมนี้
แต่โครงการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าจะไม่หยุดนิ่ง ภายในปี 2015
รถไฟใต้ดินของปักกิ่งจะมีโครงข่ายเชื่อมกันยาวไม่ต่ำกว่า 561 กิโลเมตร
ประกอบไปด้วยสถานีทั้งสิ้น 420 สถานีเลยทีเดียว
โดยปัจจุบันรถไฟใต้ดินในปักกิ่งมีความยาว 155 กิโลเมตร
มีสถานีทั้งสิ้น 93 สถานี โดยงบประมาณในการพัฒนา
ต่อความยาวรถไฟใต้ดินนั้นเฉลี่ยกิโลเมตรละ 500 ล้านหยวน
ทีนี้ไปดูกันว่า แต่ละสถานีนั้นตกแต่งกันสวยงามขนาดไหน




" เสาในสถานีเป่ยถู่เฉิง ตกแต่งด้วยลวดลายจากเครื่องลายครามจีน "




" อีกมุมของสถานีเป่ยถู่เฉิง "




" สถานีจินไถซีเจ้า ดูแปลกตาเพราะตกแต่งเพดานด้วยโคมไฟขนาดต่างๆ "




" รถไฟใต้ดินปักกิ่ง เส้นทางสายโอลิมปิก สถานีสวนสาธารณะเซินหลิน (รถไฟสาย 8) "



" อีกมุมของสถานีเซินหลิน "




" สถานีรถไฟฟ้าศูนย์กีฬาโอลิมปิก "




" สถานีสวนสาธารณะโอลิมปิก "




" สถานีหย่งเหอกง ของรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 "




" พื้นที่บริเวณรอรถไฟใต้ดินสาย 5 เป็นรูปกระดานหมากรุกจีน "



***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000026446
- CCTV
- XINHUANET




 

Create Date : 18 มีนาคม 2551    
Last Update : 18 มีนาคม 2551 15:04:33 น.
Counter : 871 Pageviews.  

ใบไม้หลากสีที่แดนมังกร







" ฤดูที่แตกต่าง "
ความงามหลากสีสันยามใบไม้เปลี่ยนสีที่แดนดินถิ่นมังกร
ผลิ ร้อน ร่วง หนาว ฤดูกาลทั้ง 4 ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผัน
เฉกเช่นคำเปรียบเปรยที่ว่าชีวิตก็เหมือน ‘ฤดูที่แตกต่าง’

เดือนกันยายน
ในประเทศไทยเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว
ผืนป่าหลายแห่งกำลังชุ่มฉ่ำหรือบ้างก็อยู่ในช่วงพักฟื้น
แต่สำหรับในประเทศจีนแล้ว นอกจากจะเพิ่งเปิดเทอมใหม่
หลังปิดภาคเรียนฤดูร้อน ยังเป็นช่วงที่กิ่งใบของต้นไม้นานาพันธุ์
พากันแปลงโฉมอวดสีสันเพื่อรอวันผลัดใบ

ด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลของจีน ได้รังสรรค์ความหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมและภูมิประเทศ ให้งดงามต่างกันในแต่ละพื้นที่
โดยดินแดนกว่าครึ่งของจีน ทั้งภาคเหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งแต่ เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ ซินเจียง(ซินเกียง) ทิเบต
มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) กุ้ยโจว หยุนหนัน(ยูนนาน) ส่านซี เหอเป่ย
จนถึง มองโกเลียใน ล้วนอุดมด้วยผืนป่าทุ่งหญ้า ขุนเขา แม่น้ำ ลำธาร
จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าค้นหาและชวนให้ตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก

ลองมาชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เหมาะแก่การชม ‘ ใบไม้เปลี่ยนสี ’
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เผื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอยากไปสัมผัส
เป็นความทรงจำสักครั้งในชีวิต.....
ธรรมชาติ....ที่ตระการตาดุจสวรรค์บนดิน กำลังรอคอยการไปเยือนของทุกคน.




“ ซินเจียง” นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่สำคัญของจีนแล้ว
ทิวทัศน์ก็ไม่เป็นรองใคร




" เต้าเฉิง " อำเภอที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน ใกล้กับทิเบต




ฤดูกาลแห่งสีสันเหนือขุนเขา เขตอนุรักษ์ธรรมชาติน่าพ่าไห่
อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนาน
1 ในความงามของเส้นทางสายแชงการีล่า




" อุทยานแห่งชาติจิ่วไจ้โกว " ดินแดนที่งามดุจเทพนิยาย
อยู่ในมณฑลเสฉวน หนึ่งในมรดกโลกแดนมังกร




" สระมรกต " ลดหลั่นกันกว่า 3,000 สระ เป็นระยะทางถึง 3.6 กิโลเมตร
ณ อุทยานแห่งชาติหวงหลง อยู่ติดกับจิ่วไจ้โกว




ระหว่างทางจากเมืองเฉิงตู สู่จิ่วไจ้โกว เต็มอิ่มกับ “หมี่ย่าหลัว”
อาณาจักรแห่งใบไม้แดง ระยะทางกว่า 3,600 ตารางกิโลเมตร




“ ซื่อกูเหนียงซัน ” หรือ " ขุนเขาสี่ดรุณี " ในมณฑลเสฉวน
ได้รับการขนานนามว่าเป็นเทือกเขาแอลป์แห่งตะวันออก




“ เขาเซียงซัน ” ชานกรุงปักกิ่ง ก็มีใบไม้เปลี่ยนสีให้ได้ชมเช่นกัน




" เออจี่น่า " อำเภอเกือบสุดชายแดนมองโกเลียใน
ก็ติดอันดับสถานที่ชมใบไม้เปลี่ยนสีของดินแดนมังกรเช่นกัน



***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ทีมงานมุมจีน ผู้จัดการออนไลน์ 24 กันยายน 2547





 

Create Date : 11 ตุลาคม 2550    
Last Update : 11 ตุลาคม 2550 16:50:36 น.
Counter : 1458 Pageviews.  

" อักขระนารี " ภาษาเฉพาะผู้หญิงที่....เจียงหย่ง







เมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา
ในประเทศจีนปรากฏภาษาๆ หนึ่ง ซึ่งจะสอนกันเฉพาะในหมู่สตรี
เพื่อบอกเล่าหรือระบายความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่ต้องการเก็บงำเป็น 'ความลับ’
มาในวันนี้ เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนไป
ผู้หญิงสามารถพูดและทำสิ่งต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา
ภาษานี้จึงค่อยๆเลือนหายไปตามธรรมชาติ
ทำให้เห็นว่า "ภาษาเป็นดั่งกระจกบานใหญ่ ที่สะท้อนสภาพสังคมได้เป็นอย่างดี"
เฉกเช่นที่เราสามารถเรียนรู้ชีวิตผู้คนในยุคสมัยต่างๆ
ผ่านทางภาษาที่อุบัติขึ้นในยุคสมัยนั้นๆ

ณ อำเภอเจียงหย่ง เมืองหย่งโจว มณฑลหูหนัน
ในภาคกลางของประเทศจีน มีวัฒนธรรมการใช้อักขระจีนของชนชาติส่วนน้อย
ที่สื่อสารกันในเฉพาะกลุ่มผู้หญิง และเป็นประเพณีสืบทอดจากยายสู่แม่
และแม่สู่ลูกสาว มาเป็นเวลากว่าพันปีแล้ว

อักขระนารี
" ตัวอย่างตัวหนังสือจีนในปัจจุบัน (แถว 1 , 3 และ 5 จากซ้าย)
เทียบกับ ‘อักขระนารี’ (แถวที่ 2 ,4 และ 6)
ซึ่งแปลได้ว่า คุณต้องส่งฉันกลับบ้าน , คุณต้องมีใจรักและเจตจำนงที่มุ่งมั่น ,
เกิดเป็นมนุษย์ปุถุชน มีใครบ้างไม่คิดถึงบ้านเกิด ตามลำดับ "


รหัสลับของผู้หญิง

‘อักขระนารี’ หรือเรียกในภาษาจีนกลางว่า ‘หนี่ว์ซู’ (女书)
มีอีกชื่อว่า ‘หนี่ว์จื้อ’ (女字) เป็นตัวอักขระจีนที่ใช้กันในกลุ่มชนชาติส่วนน้อย
มาแต่โบราณ เช่น ชาวจ้วง, ต้ง และไป่เยี่ยว์
ซึ่งมีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ในมณฑลหูหนัน, กว่างซี(กวางสี), กุ้ยโจว
บริเวณตอนกลางและใต้ของประเทศ
นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า ถิ่นกำเนิดตัวอักขระพิเศษนี้อยู่ในอำเภอเจียงหย่ง
และคาดว่าอาจมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 2,000 ปี

จากหลักฐานชี้ชัดว่า ถิ่นที่ใช้ภาษานี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ
นักภาษาศาสตร์จีนจึงเชื่อว่า อักขระดังกล่าวมีวิวัฒนาการมาจากการผสมผสาน
อักษรของวัฒนธรรมชนชาติต่างๆ อาทิ ฉู่เหวินจื้อ, ปาเหวินจื้อ และ เยี่ยว์เหวินจื้อ
นอกจากนี้ บางท่านยังสันนิษฐานว่า
อักขระดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับจารึกโบราณบนกระดองเต่า
หรือ ‘เจี๋ยกู่เหวิน' ที่มีอายุกว่า 3,000 ปีด้วย

อักขระรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่สง่างาม มีขีด 4 แบบเป็นองค์ประกอบหลัก
ได้แก่ จุด เส้นนอน เส้นเอียง และเส้นโค้ง คาดว่า
มีทั้งหมดราว 1,000 - 5,000 ตัว
โดยสามารถใช้เป็นภาษาพูดที่สื่อความรู้สึกข้างใน และความยากเข็ญของผู้หญิง
ตลอดจนถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต หรือใช้คุยเรื่องสัพเพเหระ

‘หนี่ว์ซู’ มีรูปแบบภาษาเขียนเป็นหลัก
บางส่วนเป็นเพลงกลอนและเพลงพื้นบ้าน เนื่องจากในสมัยโบราณ
ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนเหมือนผู้ชาย
และยังอยู่ภายใต้การปกครองของเพศชาย
ในขณะที่เด็กชายในเจียงหย่งได้เรียนภาษาราชการ
เด็กสาวก็ใช้ภาษาดังกล่าวเป็นทางออกในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ
ในชีวิตประจำวันระหว่างกัน โดยมียายและแม่เป็นครู และงานฝีมือของพวกเธอ
ก็กลายเป็นตำราเรียนและสมุดการบ้าน

การใช้ภาษาเฉพาะในหมู่หญิงสาวในอำเภอเจียงหย่ง
บางครั้งก็นำมาซึ่งความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิต
โดยเฉพาะในช่วงยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’
ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์ว่าเป็น ‘ กากเดนของระบบศักดินา ’
ดังที่ หญิงสาวคนหนึ่งในอำเภอนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นจารชน
และถูกตำรวจนอกพื้นที่จับตัวไป หลังจากตำรวจตรวจพบชิ้นงานที่มีอักขระพิศวง
ที่เขาอ่านไม่เข้าใจในกระเป๋าเดินทางของเธอ

นักวิชาการจีนต่างชี้ว่า
ความเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเฉพาะของสตรีเพศ
และไม่เหมือนที่ใดในโลกของอักขระผู้หญิงนี้
ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างเพื่อนหญิงด้วยกัน
ในการแสดงถึงความรู้สึกนึกคิดในห้วงลึกของอารมณ์
ซึ่งเพศชายยากที่จะเข้าใจได้

ขณะที่นักจิตวิทยาชาวตะวันตก เสนอว่า รูปแบบการสื่อสารดังกล่าว
เป็นการขยายช่องว่างทางภาษาที่เป็นความลับของผู้หญิง ในสังคมชายเป็นใหญ่


แม่เฒ่าคนสุดท้ายของ ‘อักขระนารี’

ข่าวการถึงแก่กรรมของคุณยายหยังห้วนอี๋ ในวัย 98 ปี
เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2547
ได้นำความสูญเสียทางวัฒนธรรมมาสู่วงการภาษาศาสตร์
และกระตุ้นให้สื่อมวลชนของจีนตื่นตัว
หันมาสนใจภาษาประหลาดนี้กันอย่างครึกโครม
เนื่องจากแม่เฒ่าผู้ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลด้าน ‘อักขระนารี’ คนสุดท้าย
ที่เก็บงำความรู้เรื่องอักษรดังกล่าวไว้มากมายและมีความน่าเชื่อถือที่สุด
โดยไม่มีลูกหรือหลานคนใดรับช่วงความเชี่ยวชาญพิเศษนี้จากท่านเลย

คุณยายหยัง เกิดที่หมู่บ้านหยังเจีย ในอำเภอเจียงหย่ง
เรียนรู้การอ่านและเขียน ‘อักขระนารี’ ตั้งแต่ยังเล็ก เมื่ออายุ 14 ปี (ก่อนแต่งงาน)
เธอเคยเขียนจดหมายโต้ตอบกับเพื่อนสาวรุ่นพี่ชื่อ 'เกาหยินเซียน"
สาวจากหมู่บ้านซิ่งฝู ซึ่งเป็นเจ๊ใหญ่ หนึ่งใน ‘สตรีเจ็ดพี่น้องร่วมสาบาน’
ที่ร่ำเรียนและสืบทอดการใช้ ‘อักขระนารีสื่อความนัย’ ในหมู่บ้านของเธอ
ถึงแม้ทั้งคู่จะไม่ได้สาบานตนเป็นพี่น้องกัน
แต่ในวัยเยาว์ คุณยายหยังก็ได้เรียนภาษาผู้หญิงจากคุณเกาอยู่ถึง 3 ปี
จนเกิดเป็นมิตรภาพอันลึกซึ้ง

ปลายทศวรรษที่ 90 แห่งศตวรรษที่แล้ว หญิงสาวเจ็ดพี่น้องได้เสียชีวิตลง
อำเภอเจียงหย่งจึงเหลือแต่ 'หยังห้วนอี๋'
ที่สามารถอ่านเขียนและร้องเพลงด้วยภาษาผู้หญิงได้เพียงคนเดียว
และเธอก็กลายเป็นบุคคลที่ถ่ายทอดอักขระพิเศษนี้สืบมาทั้งในหมู่บ้าน
และละแวกใกล้เคียง

แม่เฒ่าหยัง
" คุณยายหยัง กำลังอธิบายถึงความหมายใน อักขระนารี "

ปี ค.ศ.1995 แม่เฒ่าหยังได้รับเชิญไปร่วมในงานสัมมนาสตรีสากล
ที่จัดขึ้นโดย องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่มหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง
โดยคุณยายหยัง ได้นำผลงานวรรณกรรมทั้งบทกวี จดหมาย
และบทร้อยแก้วต่างๆ ไปแสดงด้วย

ซึ่งนักภาษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัว
ได้เก็บรวบรวมงานเขียนของแม่เฒ่าไว้เพื่อการศึกษาวิจัย
ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวออกสู่สาธารณชน

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์กล่าวว่า ภาษาผู้หญิงที่แม่เฒ่าหยังใช้
มีมาตรฐานตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งไม่พบว่าได้รับอิทธิพลจากภาษาฮั่น
หรือภาษาจีนกลางแต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากคุณยายไม่เคยเข้าโรงเรียนนั่นเอง

คุณยายหยังห้วนอี๋ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ว่า
“ตอนที่ฉันเรียนภาษาผู้หญิง ก็เพื่อใช้เขียนจดหมาย
และแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด กับพวกพี่ๆ น้องๆ ผู้หญิง
ฉันใช้มันเขียนความคิดที่แท้จริงที่ฝังลึกอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ
แต่สมัยนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนภาษานี้อีกต่อไปแล้ว”

โรงเรียน
" หน้า ‘โรงเรียนอักขระนารี’ ในอำเภอเจียงหย่ง
ซึ่งเคยเปิดสอนลูกหลานชนส่วนน้อยในท้องถิ่น แต่ต่อมาต้องปิดตัวลง
เพราะประสบปัญหาทางการเงิน "


งานอนุรักษ์ภาษาถิ่น ความหวังริบหรี่

นอกจากการถึงแก่กรรมของคุณยายหยัง
จะดับอนาคตการศึกษาเรื่องภาษาผู้หญิงแล้ว
ปัจจุบัน ต้นฉบับวรรณกรรมอักขระนารี ก็ยังเป็นงานเขียนที่หายากมากด้วย
เนื่องจากในประเพณีของชนส่วนน้อยเชื่อว่า หากผู้หญิงเสียชีวิตลงจะนำงานฝีมือ
ซึ่งส่วนใหญ่มีอักขระนารีประดับอยู่ เผาหรือฝังไปพร้อมกับศพด้วย
ทั้งนี้ งานศึกษาวิจัยที่ทำอยู่
อาศัยการสัมภาษณ์เจ้าของงานศิลปะเหล่านี้เป็นสำคัญ

ตามที่เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ แห่งมณฑลหูหนัน ระบุว่า
มีต้นฉบับงานเขียนอักขระเช่นนี้อย่างน้อย 100 ชิ้นเก็บรักษาอยู่ในต่างประเทศ
และกำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ซึ่งทางการจีนกำลังเอาจริงเอาจังกับการอนุรักษ์
ภาษาถิ่นที่กำลังจะสาบสูญนี้ โดยมีการเก็บรวบรวมผ้าเช็ดหน้า พัด ภาพเขียน
ลายสือศิลป์ ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ และผ้ากันเปื้อน
ที่มีการจารึกหรือปักลวดลายด้วยอักขระพิศวงนี้

ซึ่งปัจจุบันนี้ หอจดหมายเหตุของมณฑลหูหนัน
สามารถรวบรวมงานมีค่าได้ถึง 303 ชิ้น จากอำเภอเจียงหย่ง
ซึ่งบางชิ้นมีอายุเก่าแก่นับย้อนไปถึงต้นทศวรรษ 1900 สมัยราชวงศ์ชิง
และมีที่ผลิตในช่วงยุค 1960 – 1970
รวมถึงผลงานของ ' โจวซั่วอี้ ' ข้าราชการปลดเกษียณวัย 79 ปี
ชายคนแรกที่ใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษศึกษา ‘อักขระนารี’
และกำลังเรียบเรียงพจนานุกรมศัพท์ภาษาผู้หญิง
ประกอบคำอธิบายด้านไวยากรณ์ด้วย.


***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ 19 พฤศจิกายน 2547
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000082274
- หย่งโจวซิตี้ ดอท คอม / ซินหัวเน็ต / พีเพิลเน็ต / เชียนหลงเน็ต








 

Create Date : 15 กันยายน 2550    
Last Update : 15 กันยายน 2550 16:24:22 น.
Counter : 844 Pageviews.  

1  2  3  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.