25.การเลือกตั้งประธานาธิบดี : ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและเป็นการต่อสู



การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐยกแรกจบลงทั้ง 2 พรรค กล่าวคือพรรครีพับลิกันได้นายดอนัลด์ ทรัมพ์ มหาเศรษฐีจากนิวยอร์กเป็นตัวแทนพรรค ขณะที่พรรคเดโมแครตได้ ฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ,อดีตวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก,อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้แทนพรรคลงชิงชัยกันตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง ( Election Day) ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นวันอังคารที่ 2 ของปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2016

ฉบับนี้ขอนำวันที่ถูกกำหนดไว้มากล่าวนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ  ที่น่าสนใจก็คือประวัติศาสตร์เกิดขึ้นและจะจารึกไว้อีก 2 ประการ  หลังจากเมื่อปี 2008 ประวัติศาสตร์จารึกไว้เมื่อนายบารัค โอบามา คนผิวสีหรือสมัยใหม่เรียกว่า African – American เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งนี้ความเป็นคนผิวดำก้าวเข้ามามีส่วนรวมทางสังคมและการเมืองในสหรัฐ นับตั้งแต่ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนสหรัฐประกาศวลีอมตะไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีความฝัน” (I Have a Dream) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ในระหว่างเดินขบวนไปที่วอชิงตันว่าด้วยงานและเสรีภาพ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกเรื่องรังเกียจผิว,ให้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจ (แก่คนผิวดำ)

ประวัติศาสตร์จารึก ประการแรกคือนับเป็นครั้งแรกที่การเมืองสหรัฐได้เลือกสตรี นางฮิลลารี คลินตัน เป็นผู้แทนพรรคใหญ่ (พรรคเดโมแครต)ลงชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐ  ประการที่ 2 ทั้งนางฮิลลารีและนายดอนัลด์ ทรัมพ์ ถือว่าเป็นคนมาจากรัฐเดียวกันคือฐานเสียงอยู่นิวยอร์กทั้งคู่   แม้ว่าฮิลลารีจะเกิดที่ชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ ก็ตาม แต่หลังจากพ้นตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลข 1 จากทำเนียบขาวที่วอชิงตันดีซี.เธอและครอบครัวไปปักหลักที่เมืองชัพพาคัว (Chappaqua) ตั้งอยู่ทางเหนือของนิวยอร์ก ซิตี้ จากนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจนได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 2000 และก็ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกที่เธอเป็นวุฒิสมาชิกสตรีคนแรกของรัฐนิวยอร์ก 

ส่วนนายดอนัลด์ ทรัมพ์ เป็นชาวนิวยอร์ก ซิตี้โดยกำเนิด ไม่มีประวัติการทำงานให้กับรัฐหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใดๆ เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามรอยบิดา จากนั้นก็ชอบจัดการประกวดนางงามและมาทำรายการทีวี เป็นต้น จนกระทั่งประกาศตัวลงสมัครเป็นผู้แทนพรรคเข้าชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคสมใจอยาก มาดูกันต่อไปว่าเขาจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะยุคสมัยนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป(Brexit)ก็เห็นๆกันอยู่

คำว่านิวยอร์กขอให้ทำความเข้าใจว่าเป็นทั้งชื่อรัฐที่ประกอบด้วยหลายเมืองเช่นเมืองบัฟฟาโล,โรเชสเตอร์,ยองเกอร์ส,ซีราคิวส์ โดยรัฐนี้เมืองหลวงอยู่ที่อัลบานี (Albany) ที่กล่าวมาเป็นเมืองใหญ่มีประชากรมากอยู่ในรัฐนิวยอร์ก  ส่วนนครนิวยอร์กที่โด่งดังไปทั่วโลกหมายถึง New York City  เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกเช่น Wall Street,ศูนย์กลางการค้า,ศูนย์กลางข่าวสาร-สื่อ-วัฒนธรรม-บันเทิง,แฟชั่นและอื่นๆ

การลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 นี้ยังมีอีก 2 คนเรียกว่ามาจากพรรคที่ 3 ประกอบด้วยนายแกรี จอห์นสัน อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก ลงในนามพรรคเสรีนิยม ( Libertarian Party)และดร.จิลล์ สไตน์ ในนามพรรคกรีน ทั้ง 2 คนเคยมีประสบการณ์ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้วเมื่อปี 2012    

ฮิลลารีบอกว่าทรัมพ์ไม่ใช่ตัวแทนอเมริกา

การประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่เมืองฟิลาเดลเฟียระหว่างวันที่ 25-28 กรกฎาคม 2016 นั้น ในวันที่ 28 กรกฎาคมเป็นวันสุดท้าย นางฮิลลารีแสดงความยินดีที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพร้อมกับ “ย้อน”คำพูดของนายดอนัลด์ ทรัมพ์ ไว้อย่างน่าฟัง เริ่มด้วยคำว่า “อเมริกายิ่งใหญ่เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ดี”พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับความเป็นคนอเมริกันหมายความว่าอย่างไร ย้อนนายทรัมพ์ที่กล่าวในการประชุมพรรครีพับลิกันว่าเขาเป็นคนเดียวที่สามารถแก้ไข(ปัญหา)อเมริกาได้ (I alone can fix it)

“อย่าไปเชื่อใครก็ตามที่พูดว่า I alone can fix it เพราะคนอเมริกันไม่เคยพูดคำนี้ แต่จะพูดคำว่าเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหา (We’ll fix it together) คุณลืมไปแล้วหรือว่าเรามีกองทัพที่ออกรบ,มีตำรวจและนักดับเพลิงเข้าระงับเหตุอันตราย,เรามีแพทย์และพยาบาลที่รักษาเรา,มีครูสอนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา,มีผู้ประกอบการที่รู้แทบจะทุกปัญหาและเรามีแม่ผู้สูญเสียลูกเพราะความรุนแรง จากนั้นก็รวมตัวกันเพื่อทำให้เด็กๆได้รับความปลอดภัย”

นักวิเคราะห์มองว่าพรรครีพับลิกันเองยังเชื่อในเรื่องของศาสนา,ครอบครัว,ความรักชาติ,เศรษฐกิจการค้าเสรีและระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ทรัมพ์กลับพูดว่าเขาต้องการถอนตัวจากองค์กรเนโต้,สร้างกำแพง(เป็นรั้วของประเทศห้ามกลุ่มฮิสแปนิกเข้า),ห้ามคนมุสลิมเข้าประเทศหรือคำพูดที่ว่าวลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง,เขาเองสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เพียงคนเดียว เรื่องนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นจุดอ่อนของนายทรัมพ์ที่เปิดช่องให้พรรคเดโมแครตและฮิลลารีเปิดฉากโจมตีได้ง่าย

ผู้เขียนเองมองว่าแนวคิดของนายทรัมพ์เหมือนหนังคาวบอย เรียกว่าเป็นพวก“วีรชนเอกชน”กล่าวคือมีการตัดสินใจคนเดียวหรือนำเดี่ยว ไม่ได้มองการมีส่วนร่วมของมวลชนหรือการรวมศูนย์  ลักษณะการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะถูกตีแตกและพ่ายแพ้ได้ง่าย

ขั้นตอนต่อไปของการเลือกตั้งประธานาธิบดี

เดือนสิงหาคม  ระหว่างวันที่ 4-7 เป็นการประชุมใหญ่พรรคกรีน (Green National Convention) กำหนดจัดขึ้นที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัสเพื่อเลือกตัวแทนพรรคและเป็นที่ทราบกันว่า ดร.จิลล์ สไตน์ จะได้รับเลือก ในระหว่างนี้ 2 พรรคใหญ่ก็จะมีการระดมทุน,การหาเสียงที่ทางพรรคได้กำหนดไว้ไปยังที่ต่างๆ

เดือนกันยายน-วันที่ 26 กันยายนจะมีการอภิปรายโต้แย้งกัน(debate)ในประเด็นต่างๆในหมู่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง 4 คน กำหนดจัดขึ้นที่ Hofstra University  เมืองเฮมป์สเตด  รัฐนิวยอร์ก 

เดือนตุลาคม

วันที่ 4 ตุลาคม เป็นการดีเบตของผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ จัดขึ้นที่  Longwood University เมืองฟาร์มวิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ดีเบตของผู้สมัครรองประธานาธิบดีทำครั้งเดียว

วันที่ 9 ตุลาคม เป็นการดีเบทของผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ 2 จัดขึ้น  Washington University เมืองเซนต์ หลุยส์ รัฐมิสซูรี  

วันที่ 19 ตุลาคม เป็นการดีเบตครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐจัดขึ้นที่  University of Nevada เมืองลาส เวกัส รัฐเนวาด้า   

วันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นวันเลือกตั้ง (Election Day) แต่ละคนก็จะไปลงคะแนนเสียงตามหน่วยเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ซึ่งไม่ไกลจากที่อยู่อาศัยอาทิเช่นตามสนามโรงเรียน,โบสถ์,ลานจอดรถซูเปอร์ มาร์เก็ต,พลเมืองอเมริกันบางรายถึงกับอุทิศบริเวณที่จอดรถของบ้านตน (garage)ให้เป็นคูหาเลือกตั้งเพื่อเลือกบุคคลที่ตนเห็นว่าเหมาะสมที่สุด  การลงคะแนนนั้นมีระบบการลงล่วงหน้าตามที่กำหนดไว้ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ของเคาน์ตี้ด้วยการโหวตผ่านเครื่อง (Voting Machine) ที่ตั้งไว้,การกาบัตรแล้วส่งผ่านไปรษณีย์ (Vote by Mail) ,นักอวกาศอาจลงคะแนนผ่านอีเมลส่งลงมายังหน่วยเลือกตั้งของตน ฯลฯ

การจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า (Register to Vote) ทุกคนที่ลงทะเบียนไว้จะมีหมายเลขลงคะแนนเสียงของตนเอง  ไม่ใช่อยู่ดีๆเดินทะเร่อทะร่าไปลงคะแนน แม้จะเป็นพลเมืองอเมริกันก็หมดสิทธิ์ (และก็ไม่ต้องมีลิงหรือมีเด็กไปฉีกบัญชีรายชื่อให้เสียหาย)

เดือนธันวาคม- วันที่ 19 ผู้เลือกตั้ง (The Electors)ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College)จะประชุมกันที่เมืองหลวงของแต่ละรัฐเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกรองประธานาธิบดีและประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ (เรื่องนี้คงจะต้องขยายความต่อไป)   

วันที่ 6 มกราคม 2017 ผลของการลงคะแนน Electoral votes จะประกาศอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุมสภาคองเกรสคือทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาประชุมร่วม  ผู้ทำหน้าที่ประกาศเป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภา ( the President of the Senate) หรือรองประธานาธิบดีโดยตำแหน่ง ดังนั้นในปี 2017 คนที่จะประกาศก็คือ นายโจ ไบเดน นั่นเอง   

วันที่ 20 มกราคม ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ในระหว่างนั้นที่วอชิงตันดีซีก็จะมีงานรื่นเริงกันทั้งเมืองมีผู้คนเดินทางไปจากรัฐต่างๆเพื่อร่วมแสดงความยินดี ฝ่ายรักษาความปลอดภัยก็จะต้องทำงานหนักหน่อย

โดย.....ไพสันติ์ พรหมน้อย

 ที่มา thaitribune



Create Date : 29 กรกฎาคม 2559
Last Update : 29 กรกฎาคม 2559 23:45:33 น. 0 comments
Counter : 247 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.