นักวิชาการหวั่น ‘วัดพญากง’ อาจจะถูกลืม หลงเหลือไว้เพียงแค่ในตำรา

วัดพญากง เป็นวัดร้างนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา มีพระประธานศิลาขาวขนาดใหญ่ อยู่ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาท รวมถึงประวัติความเป็นมาของนิทานพื้นเมือง เรื่องพญากง พญาพาน ที่มาสร้างเป็นวัดขึ้นนอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้

 

วันที่ 14 มี.ค.59 นายกำพล จำปาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และนักเขียน กล่าวว่า วัดพญากง มีประวัติที่มาของพระพุทธรูปศิลาขาว ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  เป็น”พระประธานศิลาขาวขนาดใหญ่” อยู่ในท่า ประทับนั่งห้อยพระบาท ซึ่งมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าศึกษาค้นคว้ามาก รวมถึงเป็นวัดที่ประวัติและความเป็นมาจากประวัตินิทานพื้นเมือง เรื่องพญากง พญาพาน มาสร้างเป็นวัดขึ้นนอกเกาะเมือง ด้านทิศใต้ ใช้ชื่อวัดพญากง พญาพาน

นับเป็นประวัติวัดร้างที่ค่อนข้างสำคัญและมีประวัติที่น่าสนใจ สมควรจะได้รับการขุดแต่งและบูรณะให้เป็นโบราณสถานสำคัญของ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลก ได้อีกแห่งหนึ่ง ไม่ควรปล่อยให้ทิ้งร้างแบบนี้ หากปล่อยไปประวัติศาสตร์จะถูกลืม  ทิ้งร้างเหมือนอีกหลายๆวัด และจะหาค้นหาเรื่องราวได้จากเพียงภาพถ่ายเท่านั้น

ขณะที่บรรยากาศภายในบริเวณวัดยังคงเป็นไปปกติ มีคนดูแลสถานที่เข้ามาทำความสะอาดสำนักฎิบัติธรรมของแม่ชีอยู่ โดยเมื่อช่วงเช้ามีเจ้าหน้าที่กรมศิลป์เข้ามาสำรวจในบริเวณวัดบันทึกภาพตามจุดต่างๆที่เป็นซากโบราณสถาน  ชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และพุทธรูปที่นำมาประดิษฐานใหม่ 

สำหรับวัดพญากง วัดนี้มีประวัติที่มาของพระพุทธรูปศิลาขาว องค์ที่มีความเป็นมาที่แปลกประหลาดอัศจรรย์ โดยในปีในปี พ.ศ.2481 ได้มีการขุดค้น โบราณสถาน วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม โดย นายปิแอร์ ดูปองต์ (Pierre Dupont)” จาก “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ “ (École française d′Extrême-Orient (EFEO) และ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้ค้นพบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาว และโบราณวัตถุมากมาย และได้นำชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ โดยวางเรียงรายไว้โดยรอบระเบียงรอบพระปฐมเจดีย์ ในการขุดครั้งนี้ ได้พบชิ้นส่วนแตกหักส่วนล่างของพระวรกายของ ”พระประธานศิลาขาวขนาดใหญ่” ที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในท่า “ประทับนั่งห้อยพระบาท” ที่ตรงแกนกลางซากอาคาร 

ต่อมา ได้มีการพบพระพุทธรูปศิลาขาว ที่วัดพญากง วัดร้างนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและพระพุทธรูปเสด็จลงจากดาวดึงส์ เหนือพนัสบดี เป็นศิลปแบบทวารวดี (อยู่ในความครอบครองของเอกชน) ส่วนพระพุทธรูปศิลาขาว ได้นำไปซ่อมแซมและประดิษฐานไว้ที่วัดขุนพรหม วันดีคืนดี ก็มีคนลักลอบตัดเศียรไปจากวัดขุนพรหม ไปพบโผล่อยู่ที่ร้านขายของเก่าย่านเวิ้งนาครเกษม และได้ติดตามกลับคืนมาได้ และย้ายพระพุทธรูปที่วัดขุนพรหม มาเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

เมื่อตอนประกอบต่อองค์พระพุทธรูปศิลาขาว เพื่อจัดแสดง ได้มีการตรวจสอบกับชิ้นส่วนที่พบจากวัดพระเมรุ นครปฐม ได้พบว่า มีชิ้นส่วนด้านล่างขององค์พระพุทธรูปศิลาขาวที่สามารถนำไปต่อกันได้กับองค์ที่พบจากวัดพญากง แสดงให้เห็นว่า พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่วัดพญากง นั้น ถูกเคลื่อนย้ายมาจาก เมืองนครไชยศรี ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เพราะได้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ถึงการแบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี ในราวสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ์ ( พ.ศ.2091 – พ.ศ.2111 ) โดยนำชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่ขนมาจากเมืองนครชัยศรี และประวัตินิทานพื้นเมือง เรื่องพญากง พญาพาน มาสร้างเป็นวัดขึ้น โดยให้นามว่า วัด”พญากง” และ “วัดพญาพาน”

ตำนาน พญากง พญาพาน วรรณกรรมอยุธยา ลูกฆ่าพ่อ สร้างสถูปล้างกรรม

ตามนิยายปรัมปรา กล่าวถึงมูลเหตุการสร้างพระประโทนเจดีย์นี้ว่า พญาพาน ได้สร้างขึ้น โดยมีเรื่องว่า เมื่อพญากงได้ครองเมืองศรีวิชัย คือ เมืองนครปฐมในปัจจุบันนี้สืบต่อจากพระเจ้าสิการาชผู้เป็นพระราชบิดาแล้ว ต่อมาได้มีพระราชบุตร ที่ประสูติจากพระมเหสีองค์หนึ่ง

โหรได้ถวายคำพยากรณ์ พระราชกุมาร ว่าจะเป็นผู้มีบุญญาธิการมากจะได้ครองราชสมบัติ เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้าแต่ว่าพระราชกุมารนี้จะกระทำปิตุฆาต คือ ฆ่าพ่อ

เมื่อพญากงได้ทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้ราชบุรุษพา พระราชกุมารไปฆ่าทิ้งเสียในป่า ราชบุรุษจึงนำไปทิ้งไว้ที่ป่าไผ่ ที่ไร่ของยายหอม ยายพรมไปพบพระราชกุมาร จึงเก็บมาเลี้ยงไว้ แต่ยายพรมมีลูกหลานมาก

จึงยกพระราชกุมารให้ยายหอมไปเลี้ยงไว้ ยายหอมได้เลี้ยงพระราชกุมาร แล้วนำไปให้เจ้าเมืองราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

แต่เมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิชัย อยู่ภายหลังพระราชกุมารเติบโตขึ้น ได้แข็งเมืองไม่ยอมส่งบรรณาการ และได้ท้ารบกับพระยากง จนได้ชนช้างกัน เมื่อฆ่าพญากงสำเร็จแล้วได้เข้าเมืองศรีวิชัย

เวลานั้นพระมเหสีของพญากงซึ่งเป็นพระชนนีของพญาพาน ยังมีพระชนม์อยู่ กล่าวกันว่ารูปโฉมสวยงาม พญาพานคิดอยากได้เป็นมเหสี

ได้เสด็จเข้าไปที่ตำหนัก เทพยดาได้แปลงเป็นแพะบ้าง บ้างก็แปลงเป็นแมวแม่ลูกอ่อน นอนขวางบันไดปราสาทอยู่ เมื่อพญาพานข้ามสัตว์ทั้งสองนั้นไป สัตว์จึงพูดกับแม่ว่า ท่านเห็นพวกเราเป็นเดรัจฉานจึงข้ามไป แม่ตอบลูกว่า นับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่มารดาของท่าน ท่านยังจะเอาเป็นเมีย

พญาพานได้ฟังดังนั้นก็ประหลาดพระทัยนัก จึงทรงตั้งอธิษฐานว่า ถ้าพระมเหสีของพระยากงเป็นพระมารดาของเราจริงแล้ว ขอให้น้ำนมหลั่งออกจากถันทั้งสองข้างให้ปรากฏ ถ้าไม่ใช่พระมารดาของเราก็ขออย่าให้น้ำนมไหลออกมาเลย

พญาพานตั้งอธิษฐานแล้ว น้ำนมได้หลั่งออกมาจากถันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา พญาพานจึงได้ไต่ถาม ได้ความว่าเป็นพระมารดาจริงแล้ว ก็ทรงดื่มกินน้ำนม และทรงทราบว่าพญากงเป็นพระราชบิดา

จึงโกรธยายหอมว่า มิได้บอกให้ตนทราบว่าเป็นบุตรใคร จนได้ทำบาปถึงฆ่าพ่อ แล้วได้ไปเรียกยายหอมมา แล้วจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั้งปวงจึงเรียกพระราชกุมารว่า พญาพาล เพราะไม่รู้จักบุญคุณคน

และบ้างก็เรียก พญาพาน เพราะเมื่อเวลาเกิดนั้น พระพักตร์กระทบพานทองเป็นแผล

เมื่อพญาพานฆ่ายายหอมแล้ว รู้สึกเสียพระทัย ว่าฆ่าผู้มีพระคุณเสียแล้วอีกคนหนึ่ง จึงได้ถามสมณพราหมณาจารย์ว่าจะทำอย่างไร

จึงจะล้างบาปในการฆ่าพระราชบิดาและฆ่ายายหอม ผู้ที่ได้เลี้ยงตนมาแต่เยาว์วัย พระสงฆ์ก็ได้ถวายพระพรว่า ให้สร้างเจดีย์สูงแค่นกเขาเหิน

จึงได้สร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่าพ่อ และสร้างพระประโทณเจดีย์ขึ้นเพื่อล้างบาปที่ฆ่ายายหอม ตั้งแต่นั้นมา

ที่มา thaitribune




Create Date : 15 มีนาคม 2559
Last Update : 15 มีนาคม 2559 13:48:58 น. 0 comments
Counter : 301 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.