'5 สิ่งควรระวังช่วงหน้าฝน' เรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติและอุบัติเหตุในหน้าฝนอย่างถูกต้อง



ช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่หน้าฝน นอกจากการดูแลสุขภาพร่างกายให้ปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ แล้ว ยังอาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องระมัดระวังกันด้วย

 

เกี่ยวกับอันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้บอกถึงสาเหตุ พร้อมแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดภัยอันตราย ดังนี้

1.โรคติดต่อ

โรคระบบทางเดินหายใจ ในหน้าฝนอากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้หลายโรค เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วย เพราะเชื้อโรคสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งผ่านการไอหรือจาม

ขณะเดียวกัน โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ ดังนั้นในหน้าฝนนี้จึงควรระมัดระวังอาหารการกินเป็นพิเศษ โดยรับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ สะอาด และใช้ช้อนกลาง

2.อุบัติเหตุจราจร

อุบัติเหตุที่เกิดในหน้าฝนมักเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรง และสร้างความสูญเสียให้กับผู้ประสบเหตุ ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก กระดูกหัก หรือเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นช่วงหน้าฝนผู้ขับขี่ยานพาหนะ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเตรียมสภาพรถให้พร้อม และตรวจสอบระบบสัญญาณไฟให้อยู่สภาพใช้งานได้ดี หากพบเห็นอุบัติเหตุหรือประสบอุบัติเหตุควรรีบโทรสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ และผู้ประสบเหตุไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยตนเอง เพราะหากช่วยเหลือผิดวิธีจะทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายมากขึ้น ควรรอเจ้าหน้าที่เข้ามาให้การช่วยเหลือเคลื่อนย้าย

3.อันตรายจากไฟดูดและไฟช็อต

อุบัติเหตุที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่พบบ่อยในช่วงหน้าฝน มักเกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีไฟรั่ว ซึ่งวิธีป้องกันการโดนไฟฟ้าดูดนั้น เมื่อเราตัวเปียกห้ามเปิดสวิสต์ไฟหรือเสียบปลั๊กไฟ เพราะอาจจะทำให้โดนไฟฟ้าดูดได้ และควรหมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์และสายไฟ ที่สำคัญควรติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าลัดวงจรภายในบ้านหรือต่อสายดิน เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันที่ดี

สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูด ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ที่จะเข้าไปช่วยกลับถูกไฟดูดเสียชีวิตไปด้วย โดยหากผู้ที่ถูกไฟดูดยังติดอยู่กับสายไฟ ให้ถอดปลั๊กหรือสับคัทเอาท์ลงเพื่อตัดแหล่งจ่ายไฟ จากนั้นให้ใช้วัสดุไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้าแห้งพันมือหนา ผลักหรือฉุดผู้ป่วยให้หลุดออกโดยเร็ว พร้อมตรวจดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ หากหัวใจหยุดเต้น ต้องทำการนวดหัวใจไปพร้อมๆ กับการผายปอด แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

4.อันตรายสัตว์มีพิษ

ช่วงเข้าฤดูฝนต้องระวังสัตว์ที่มีพิษชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแมงป่อง ตะขาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืองู ควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่รกมีหญ้าสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว เตรียมไฟฉายและไม้ ถ้าถูกงูพิษกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด บีบเลือดบริเวณบาดแผลออกเท่าที่ทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดเลือด ห้ามกินยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะจะเสริมฤทธิ์ให้พิษงูทำงานเร็วยิ่งขึ้น และไม่ควรใช้ผ้าหรือเชือกรัดแบบขันชะเนาะ เหนือบริเวณที่ถูกกัดแน่นเกินไป เพราะจะทำให้แขนขาส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง หากจะรัดควรรัดให้แน่นพอสมควร และรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

5.ฟ้าผ่า-งดใช้โทรศัพท์มือถือ

นพ.ภูมินทร์ บอกถึงการป้องกันการถูกฟ้าผ่าว่า หากอยู่ในที่โล่งแจ้งให้หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น ในตัวอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรงมั่นคง หลีกเลี่ยงการหลบบริเวณใต้ต้นไม้ หากหาที่หลบไม่ได้ให้หมอบนั่งยองๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าทุกชนิด อาทิ เงิน ทอง นาค รวมไปถึงงดการใช้โทรศัพท์มือถือในขณะที่มีฝนฟ้าคะนอง อย่างไรก็ตามหากผู้ถูกฟ้าผ่าหัวใจหยุดเต้น หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ หรือ CPRตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ที่มา thaitribune




Create Date : 22 มิถุนายน 2559
Last Update : 22 มิถุนายน 2559 20:02:04 น. 0 comments
Counter : 259 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.