ศาลปกครองกลางคุ้มครองซิม 2G เอไอเอสจนถึง 14 เม.ย. 24.00 น. - ศาลฎีกาพิพากษาให้ ‘เอไอเอส’ ชดใช้ กสท.

ศาลปกครองกลางพิจารณาคำขอเอไอเอสที่ขอขยายเวลาบริการคลื่นความถี่ 900 ที่จะใช้งานไม่ได้ หรือซิมดับ จำนวน 4 แสนเลขหมาย ไปจนถึง 14 เม.ย. 24.00 น. ขณะเดียวกันศาลฎีกาพิพากษาให้ ‘เอไอเอส’ ชดใช้ กสท. 7 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากการลักลอบโรมมิ่ง

 

       เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ศาลปกครองกลางออกบัลลังก์ไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ 406/2559 เพื่อพิจารณาคำขอของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) ที่ขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขยายระยะเวลาการหยุดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นเวลา 3 เดือน จากมติเดิมของ กสทช.ที่สั่งให้เอไอเอสยุติการให้บริการคลื่นความถี่ดังกล่าวในวันที่ 16 มี.ค.นี้

       ทั้งนี้ คดีดังกล่าว เอไอเอสได้ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช., กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าผู้ถูกฟ้องได้ ร่วมกันออกคำสั่งให้เอไอเอสยุติการให้บริการคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามมติ กสทช.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2558 และเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิรตซ์ กับเอไอเอสจำนวน 8 ล้านเลขหมายจะไม่สามารถใช้เลขหมายเดิมได้

       โดยในการไต่สวนครั้งนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างเดินทางมาให้ถ้อยคำต่อศาลกันอย่างคึกคัก ฝ่ายเอไอเอสมีคณะผู้บริหาร นำโดยสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานกรรมการบริหารฯ และฝ่ายกฎหมาย ขณะที่ด้าน กสทช.มี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. โดยมีทีมกฎหมายของบริษัททรูมูฟ ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์รายใหม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งก่อนเริ่มการไต่สวน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมทั้ง พ.อ.เศรษฐพงค์ นายประเสริฐ พล.อ.สุกิจ และนายประวิทย์ ยืนยันสอดคล้องกันว่า กสทช.ไม่สามารถขยายเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2 จี ตามที่เอไอเอสร้องขอได้ เนื่องจากขณะนี้ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ส่วนแจสโมบาย แม้จะยังไม่ได้จ่ายเงินประมูลงวดแรก แต่ กสทช. ก็ถือว่าคลื่นดังกล่าวยังเป็นสิทธิของแจสโมบายอยู่ จนถึงวันที่ 21 มี.ค.นี้ ซึ่งต้องการเคารพผู้ชนะประมูลใบอนุญาตทั้ง 2 รายด้วย

       “กทค.เดินตามกฎหมายและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากขณะนี้สัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ สิ้นสุดลงแล้ว และได้มีมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่สิ้นสุดสัมปทานเมื่อ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทางเอไอเอส และ กทสช.ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าย้ายออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ด้วยระยะเวลาที่ถือว่านานเพียงพอแล้ว” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว

       ขณะที่นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส เปิดเผยว่า เอไอเอสเข้าใจดี หากทรูมูฟจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์แล้ว บริษัทจะใช้งานคลื่นดังกล่าวต่อไม่ได้ ส่วนการที่ทรูมูฟยื่นข้อเสนอให้บริษัทใช้งานได้ฟรีนั้น ไม่ได้มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ มีเพียงการพูดผ่านสื่อเท่านั้น อีกทั้งคลื่นที่เอไอเอสต้องการก็อยู่ในล็อตแรก ไม่ใช่ล็อตที่ 2 ของทรูมูฟ ซึ่งทางผู้ที่ประมูลได้อีกรายยังไม่ได้เข้ามาชำระเงิน ทางเอไอเอสจึงขอต่อเวลาคลื่นย่านนี้ไปอีก 3 เดือน เพื่อสื่อสารกับลูกค้าให้เรียบร้อยก่อน

       “ต้องขอบคุณที่คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ยื่นข้อเสนอนี้มาให้ แต่เราขอรับไว้ด้วยใจ เพราะการโรมมิ่งลูกค้าที่มีในมือของเราไปไว้ที่ทรูนั้น ค่อนข้างลำบาก ในเรื่องระบบโรมมิ่งที่ต้องใช้ของทีโอที และการโยกย้ายโครงข่ายจะซับซ้อนหลาย ขั้นตอนและผิดกฎหมายแน่นอน เราจึงขอปฏิเสธข้อเสนอนี้ และถ้า กสทช.ยอมยืดเวลาออกไปอีก 3 เดือน ทางเอไอเอสยอมจ่ายค่าเช่าให้กับทาง กสทช.ในคลื่นล็อตแรกมากกว่า เพราะทำงานได้ทันทีไม่ซ้าซ้อน”

       นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า เอไอเอสได้เตรียมตัวและวางแผนที่จะให้บริการลูกค้ามาก่อน และมองว่า ดีแทคเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการร่วมมือกัน โดยจะใช้งบกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในการอุดรอยรั่วนี้ ลูกค้า 3 กลุ่มที่ยังคงค้างอยู่ใน โครงข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์นั้น ได้แก่ ลูกค้าเอไอเอส 4 แสนรายที่ยังคงค้าง ลูกค้าทีโอที 2 แสนราย และลูกค้าเอดับบลิวเอ็น 7.6 ล้านราย ซึ่งทางเอไอเอสได้ยื่นข้อเสนอไปยัง กสทช.อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น 1. การเยียวยาลูกค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2. ดูแลลูกค้าภายใต้การดำเนินงานที่เป็นไปได้จริง และ 3. ข้อเสนอหรือการกระทำใดๆ จะต้องเป็นประโยชน์กับภาครัฐและประชาชน

       ภายหลังใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมงศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดีที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีเอไอเอส คัดค้านมติคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ที่ไม่อนุญาตให้ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่นโครงข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยเอไอเอสร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เอไอเอสยัง ยังให้บริการในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

       โดยภายหลังการไต่สวนองค์คณะได้มีการพิจารณาจนกระทั่งเวลา 23.00 น. ศาลได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ กทค.ในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ไม่ให้ขยายเวลาเยียวยาออกไป จึงมีผลไม่ให้ซิมดับโดยให้เอไอเอสดำเนินมาตรการเยียวยาต่อไปเป็นเวลา 30 วัน ถึงวันที่ 14 เมษายน 2559 เวลา 24.00 น.

ศาลฎีกาพิพากษาให้ ‘เอไอเอส’ ชดใช้ กสท. 7 ล้านบาทจากการลักลอบโรมมิ่ง

ในวันเดียวกัน 15 มีนาคม 2559 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสเป็นจำเลย กรณีผิดสัญญาตัวแทน เรียกค่าเสียหาย 7,067,921.58 บาท คำฟ้องระบุว่า โจทก์ได้รับสิทธิให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยอนุญาตให้จำเลยซึ่งได้รับสัมปทานจากบริษัท ทีโอที จำกัดมหาชน เชื่อมต่อโครงข่าย โทรศัพท์ของจำเลย ผ่านโครงข่ายของบริษัท ทีโอทีฯ ไปยังชุมสายบริษัทของโจทก์เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยจะแจ้งที่อยู่ของผู้ใช้บริการดังกล่าวให้โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ เรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการโดยตรง โดยโจทก์แบ่งรายได้ให้จำเลยผ่านบริษัททีโอทีฯเป็นค่าตอบแทน จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยาย แบบมีบำเหน็จของโจทก์ในการทำสัญญา เช่าให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ แต่จำเลยในฐานะตัวแทนประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีผู้ใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนปลอม สำเนาทะเบียนบ้านปลอม หรือนำเอกสารของคนอื่นมาแอบอ้าง และปลอมรายมือชื่อบุคคลอื่น เพื่อเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนรวม 165 ราย 185 เลขหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 7,067,921.58 พร้อมดอกเบี้ย

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากโจทก์แม้ผ่านบริษัททีโอทีก็ตาม จำเลยจึงเป็นตัวแทนโดยปริยายแบบมีบำเหน็จของโจทก์ การที่มีผู้นำเอกสารปลอมมาแอบอ้าง ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำเลยและใช้โทรศัพท์ไปยังต่างประเทศ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งหากพนักงานของจำเลยใช้ความรอบคอบตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร ว่าบุคคลที่ยื่นขอใช้บริการเป็นบุคคลเดียวกับบุคคลที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารหรือไม่ ก็ย่อมทราบได้ว่าเป็นบุคคลคนละคนกัน ถือว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยเอง ซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมาย แพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 812 จำเลยจึงต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 7,067,921.58 พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2547 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

ที่มา thaitribune




Create Date : 16 มีนาคม 2559
Last Update : 16 มีนาคม 2559 12:36:43 น. 0 comments
Counter : 291 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.