จัดกิจกรรมครบ 2 ปีรัฐประหารกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รณรงค์“โหวตโน”หวิดปะทะกับกลุ่มเห็นต่าง



จัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร กลุ่มประชาธิปไตยใหม่รณรงค์โหวตโน หวิดปะทะกับกลุ่มเห็นต่างตำรวจต้องเข้าแยก กลุ่มเยาวชนฯส่อเค้าเลิกเชียร์ คสช.เหตุให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ไม่ทำ สุริยะใสชี้ความขัดแย้งอาจหนักข้อหากไม่ปฏิรูป ความแตกแยกแค่หลบฉาก ทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม

บรรยากาศการจัดงานรำลึกครบรอบ 2 ปีการรัฐประหาร คสช. เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินกลาง ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือวายพีดี(YPD) นำโดยนายธัชพงศ์ แกดำ อดีตพิธีกรเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)ที่เคยร่วมกับ กปปส.ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแนวร่วม อาทิ นายธิวัชร์ ดำแก้ว นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ แถลงจุดยืน “2 ปี รัฐทหาร การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง”

นายธัชพงศ์กล่าวว่า รัฐบาล คสช.ไม่ใส่ใจการปฏิรูปแม้แต่เรื่องเดียว เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลก็ไม่ทำ วันนี้ไม่ใช่การเมืองสีเสื้อสีใดอีก แต่เป็นการปกครองระหว่างประชาชนกับรัฐ การปฏิรูปของรัฐยังไปละเมิดสิทธิชุมชน แต่ชาวบ้านไม่สามารถพูดอะไรได้ นี่คือสิ่งที่บอกได้ว่าประชาชนไม่สามารถเชื่อรัฐบาลชุดนี้ได้อีก เพราะผิดสัญญา กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญประชาชนไม่มีส่วนร่วม ถือว่าโมฆะตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะคนที่เคยร่วมกับมวลมหาประชาชน ถึงวันนี้ต้องพิจารณาแล้วว่าจะเชียร์ต่อไปหรือไม่

“เอ็นดีเอ็ม” คึกจัดกิจกรรมต้าน คสช.

อีกด้านหนึ่งที่สวนประติมากรรมโครงการกำแพงประวัติศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือเอ็นดีเอ็ม (NDM) ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. นำโดยนายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาปริญญาโท มธ. นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น นายปกรณ์ อารีย์กุล นักกิจกรรมสังคม น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว บัณฑิต มศว.ประสานมิตร นัดกลุ่มแนวร่วมผู้เห็นต่างกับ คสช. ร่วมกิจกรรมรำลึกการรัฐประหาร “2 ปีกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก”

การจัดงานรำลึกปีนี้นับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของแนวร่วมต้าน คสช. ที่มีทั้งนักวิชาการ แนวร่วม นศ. และกลุ่มคนเสื้อแดง เข้าร่วมจำนวนมาก

ยูเอ็น–ฮิวแมนไรท์ส่งคนสังเกตการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนจัดชุมนุมกลุ่มเอ็นดีเอ็มทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในพื้นที่รับทราบก่อน ตามข้อกำหนด พ.ร.บ.การชุมนุม ทำให้ไม่ถูกสกัดขัดขวางเช่นครั้งที่จัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี การรัฐประหาร ที่หอศิลป์ฯ เมื่อปี 2558 โดยมี พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รอง ผกก.สส.สน.ชนะสงคราม นำกำลังเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลความปลอดภัยใกล้ชิด ขณะเดียวกันมีตัวแทนคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ยูเอ็น ฮิวแมนไรท์ 3 คน และนายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานองค์กรฮิวแมนไรท์วอท์ชประจำประเทศไทย มาเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย

ตะโกนไล่ คสช.–ไม่เอารัฐธรรมนูญ

ต่อมาเวลา 16.00 น. เมื่อกลุ่มแนวร่วมต้านคสช.ทยอยเดินทางมาร่วมมากขึ้น กลุ่มเอ็นดีเอ็ม จึงเปิดฉากการชุมนุมด้วยการใช้เครื่องกระจายเสียง ปราศรัยโจมตีการรัฐประหารอย่างดุเดือด พร้อมชักชวนแนวร่วมตะโกนคำว่า คสช.ออกไป และ รธน.ไม่เอา โดยมีการแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรธน. อาทิ หนังสือ “ก้าวข้าม” ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของเอ็นดีเอ็ม หน้าปกเป็นรูปทหารกำลังอมพาน รธน. มีการจัดจำหน่ายเสื้อ ข้อความว่า “โหวตโน ไม่รับ” กับ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” เอกสารเหตุผลไม่รับร่าง รธน.ของอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ ฯลฯ

หวิดมีปะทะกับกลุ่มที่เห็นต่าง

กระทั่งเวลา 17.30 น. กลุ่มเอ็นดีเอ็มนำมวลชนประมาณ 300 คน เคลื่อนขบวนอย่างสงบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้ารักษาความปลอดภัยให้ตลอดเส้นทาง พร้อมตั้งด่านขอตรวจกระเป๋าผู้ร่วมชุมนุมป้องกันผู้ไม่หวังดีแฝงมาก่อเหตุ

ขบวนผู้ชุมนุมมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อมีกลุ่มผู้เห็นต่างราว 10 คน รวมกันหน้าร้านแมคดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนตะโกนด่าทอผู้ชุมนุมเอ็นดีเอ็มว่า ก่อความวุ่นวายให้ประเทศชาติ ขายชาติ ตำรวจต้องกันกลุ่มมวลชนเห็นต่างให้ข้ามมาอีกฝั่ง แต่มีมวลชนเอ็นดีเอ็มจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจปรี่เข้ามาตบศีรษะผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรายหนึ่ง ทำให้เกิดการชุลมุนกันขึ้น

เมื่อฝ่ายเห็นต่างไม่ยอมปรี่จะเข้ามาเอาคืน ตำรวจทั้งใน นอกเครื่องแบบต้องมาห้ามทัพกันทั้งสองฝ่ายออกจากกัน จากนั้นขอร้องให้ฝ่ายเห็นต่างออกนอกพื้นที่ชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุ

ต่อมากลุ่มเอ็นดีเอ็มจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์รณรงค์ด้วยการแจกบัตรลงประชามติจำลองให้แนวร่วม โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์เข้าร่วมด้วย

เดินหน้าจัดกิจกรรมแบบนี้ทุกเดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการทำกิจกรรมประชามติ “2 ปีรัฐประหาร คสช. ควรไปต่อหรือไม่เสร็จสิ้นลง นายรังสิมันต์ โรม กล่าวปราศรัยปิดการชุมนุมว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้ ขอให้ทุกคนออกไปร่วมกันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรับหรือไม่ เอ็นดีเอ็มยืนยันสนับสนุนให้มีการทำประชามติ

จากนั้นได้เกิดฝนตกลงมาจนไม่สามารถจัดกิจกรรมต่อได้ ทางกลุ่มจึงประกาศยุติการชุมนุมลงในเวลาประมาณ 19.30 น. พร้อมระบุว่าจะมีการนัดหมายจัดการชุมนุมลักษณะนี้ในทุกๆ เดือน โดยจะแจ้งให้ทราบต่อไป

กรธ.ชี้กลุ่มนิติราษฎร์ต้านรัฐธรรมนูญคิดไม่ดีกับกรธ.อยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีเครือข่ายนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สิ่งที่กลุ่มดังกล่าวเคลื่อนไหวสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่ดีต่อ กรธ. อยู่แล้ว

ส่วนที่นำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมาประกอบการวิจารณ์ชี้ถึงส่วนที่ไม่ดีนั้น ไม่กระทบกับการทำงานของวิทยากรกระบวนการระดับจังหวัด (ครู ก) ระดับอำเภอ (ครู ข) และระดับหมู่บ้าน (ครู ค) ที่เป็น เครือข่ายของ กรธ.ในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ การเคลื่อนไหวต่อต้านที่เกิดขึ้นเท่ากับก้อนกรวดในรองเท้าเท่านั้น และที่นักวิชาการฯพยายามรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พูดในถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่หน้าที่ของ กรธ. ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้วินิจฉัยว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า การทำงานของ กรธ.ขณะนี้ต้องคอยติดตามสถานการณ์ เพราะเริ่มมีการบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ มีเครือข่ายการเมืองพยายามพูดว่า ครู ก ครู ข และ ครู ค ทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนให้กับ กรธ. ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ครู ก ครู ข และครู ค เพียงทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญไปบอกกับประชาชน โดยไม่มีการชี้นำหรือให้ตัดสินใจลงประชามติอย่างไร ไม่เหมือนกับหัวคะแนนของนักการเมืองที่ต้องมีการชี้นำให้เลือกหรือไม่เลือกบุคคลใด

"สุริยะใส"ชี้ผลงาน คสช. 2 ปีความแตกแยกแค่หลบฉาก

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึงการครบรอบ 2 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าตนอยากให้ คสช.ย้อนกลับไปทบทวนสถานการณ์ก่อนตัดสินใจยึดอำนาจในวันนั้นว่า เงื่อนไขที่เป็นเหตุจูงใจยังคงอยู่หรือไม่ ได้รับการคลี่คลายหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยก ความสมานฉันท์และการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่าปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการคลี่คลายหรือทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าการเมืองไทยจะไม่วนกลับไปจมดิ่งอยู่กับความแตกแยกล้มเหลวอีกครั้ง แม้ คสช.จะริเริ่มปรับปฏิรูปในหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่กล้าทำ แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่าหลังเลือกตั้งจะถูกรื้อถอนกลับไปเหมือนเดิม ฉะนั้น คสช.ต้องใช้เวลาที่เหลือต่อยอดการปฏิรูปในระดับโครงสร้างอำนาจ หรือตรากฎหมายรองรับ

นายสุริยะใส กล่าวว่าเรื่องความแตกแยกไม่ได้ลดหายไปไหน แค่หลบฉากพรางตัวกันไปเท่านั้น รอวันปะทุอีกรอบ แม้  2 ปี ใต้ร่มเงา คสช. การเมืองจะนิ่งไร้ความวุ่นวาย แต่เงื่อนไขของความวุ่นวายไร้ระเบียบก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ที่สำคัญโรดแม็พการปรองดองของ คสช.ไม่มี แรกๆ หลังยึดอำนาจก็ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)แต่ตอนนี้ก็เงียบหายไป

จากนี้ไป 1 ปีที่เหลือตามโรดแม็พของ คสช.ก่อนจัดเลือกตั้งหาก คสช.ยังไม่เดินหน้าปฎิรูปในเรื่องใหญ่ๆ ก่อนเลือกตั้งและไม่กำจัดเงื่อนไขของการเมืองที่ล้มเหลวแตกแยก การเมืองไทยจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

"ที่สำคัญโค้งสุดท้ายจากนี้ไป คสช.จะต้องไม่ให้มีสภาพการใช้อำนาจแบบทิ้งทวนหาประโยชน์จนเต็มไปด้วยข่าวคราวทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนกรณีโยกย้ายตำรวจในขณะนี้ที่ถูกมองว่ามีเรื่องการวิ่งเต้นเรียกรับประโยชน์ตั๋วเกินตำแหน่ง จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง และเสื่อมเร็วกว่าที่คิด และประชาชนหมดความไว้วางใจ จน คสช.หมดความชอบธรรมในการประคองสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน" นายสุริยะใส กล่าว.

ที่มา thaitribune



Create Date : 23 พฤษภาคม 2559
Last Update : 23 พฤษภาคม 2559 13:17:32 น. 0 comments
Counter : 235 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.