กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) เปรียญ




พระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน



....................................................................................................................................................


ตั้งแต่ข้าพเจ้าแก่ชรา ได้ขอตัวไม่แต่งเรื่องประวัติให้ใครๆมานานแล้ว บัดนี้บุตรธิดาของพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ(อ่อน โกมลวรรธนะ)เปรียญ มาอ้อนวอนขอให้ข้าพเจ้าแต่งเรื่องประวัติของบิดา เพื่อจะให้ปรากฏอยู่ในหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาพฤฒาธิบดีฯ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะขัดด้วยนับถือท่านผู้ตายเป็นครูบาอาจารย์ อันงานปลงศพของท่านเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะสนองคุณได้เป็นครั้งหลัง และมาคิดตามคำของบุตรธิดาที่อ้างว่า ในเวลานี้ใครอื่นที่รู้เรื่องประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีฯเสมอเหมือนข้าพเจ้าไม่มีแล้ว ก็เห็นจริง ทั้งเรื่องประวัติของท่านก็เป็นคติอันสมควรจะให้ปรากฏอยู่ อย่าให้สูญเสีย ข้าพเจ้าจึงรับแต่งให้ตามประสงค์


พระยาพฤฒาบดี ศรีสัตยานุการ(อ่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุลว่า "โกมลวรรธนะ") เกิดในสกุลคฤบดี ณ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา แขวงจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ บิดาชื่อ ดี มารดาชื่อ จั่น การศึกษาเริ่มเรียนหนังสือไทยในสำนักพระอาจารย์ยิ้ม วัดยี่สาร เมื่ออายุได้ ๙ ปี ต่อมาเมื่ออายุ ๑๕ ปีไปเรียนมูลภาษามคธในสำนักอาจารย์ปั้น และพระครูญาณวิมล ณ วัดขุนตรา แล้วไปเรียนคัมภีร์ธรรมบท่อนายนาคเปรียญ ๘ ประโยค พระมหาน้อยเปรียญ ๔ ประโยค และเรียนต่ออาจารย์น้อยอีกคนหนึ่งที่เมืองเพชรบุรี เมื่ออายุได้ ๑๘ ปีกลับมาบวชเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระอธิการบุญ ชิตมาโร ณ วัดธรรมนิมิตรในแขวงจังหวัดสมุทรสงคราม พระอธิการบุญเห็นว่าเล่าเรียนเฉียบแหลม จึงพาเข้ามาถวายสมเด็จพระสังฆราช(ปุสฺสเทว สา)เมื่อยังดำรงพระยศเป็นที่พระสาสนโสภณ จึงได้อยู่ในวัดราชประดิษฐ์ฯแต่นั้นมา ถึง พ.ศ. ๒๔๑๕ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดราชประดิษฐ์ฯ พระจันทรโคจร(ยิ้ม) วัดมกุฏกษัตริยารามเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราชฯเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "อมโร" บวชแล้วศึกษาคันธุระอยู่ในวัดราชประดิษฐ์ฯ ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ สมเด็จพระสังฆราชเมื่อดำรงพระยศเป็นที่พระธรรมวโรดม ตั้งให้เป็นพระครูใบฎีกาในฐานานุกรมของท่าน ต่อมาอีกปีหนึ่งถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ เข้าแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวง ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค

มูลเหตุอันมาเป็นปัจจัยข้อสำคัญในประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีฯนั้น เกิดด้วยเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปอิน ตรัสปรารภแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ครั้งทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาสได้ขอพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารสำนักของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปครอง วัดที่ทรงสร้างใหม่นี้มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯ อันเป็นสำนักของสมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ไปครอง แต่ไม่ใช่วัดใหญ่โต จะทรงตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสเป็นแต่พระครู สมเด็จพระสังฆราชถวายพระพร รับจะจัดคณะสงฆ์ถวายตามพระราชประสงค์ ก็วัดราชประดิษฐ์ฯนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยเจตนาจะให้เป็นวัดขนาดย่อม สำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาอยู่ใกล้พระราชฐาน ให้สะดวกในการบำเพ็ญพระราชกุศล

ทำนองเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างนิเวศน์ธรรมประวัติที่ใกล้บางปอินนั่นเอง จำนวนพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯจึงมีน้อย เวลาหาพระสงฆ์สำหรับวัดนิเวศฯธรรมประวัตินั้น ที่วัดราชประดิษฐ์ฯมีพระที่พรรษาอายุและเป็นเปรียญทรงคุณธรรมสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสได้ ๒ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ ชื่อเปีย เป็นเปรียญ ๕ ประโยคองค์ ๑ พระครูสัทวิมล ฐานานุกรมตำแหน่งคู่สวด ชื่อ พุฒ พึ่งได้เปรียญ ๔ ประโยคองค์ ๑ สมเด็จพระสังฆราชชวนพระครูสัทวิมลกับพระสงฆ์อันดับที่รับจะไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้แล้ว ให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงยินดี พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูสัทวิมล(พุฒ)เป็นที่พระครูสถิตธรรมสโมธาน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

แต่ในระหว่างเวลา ๒ ปีที่กำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น เผอิญพระครูสถิตธรรมสโมธาน(พุฒ)อาพาธถึงมรณภาพ ยังเหลือพระครูปลัด(เปีย)องค์เดียวที่พอจะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติได้ สมเด็จพระสังฆราชตรัสชวน แต่แรกเธอก็รับจะไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่า พระครูปลัดเป็นตำแหน่งสูงอยู่แล้วจะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ แต่ยังไม่ทันทรงตั้ง พระครูปลัด(เปีย)กลับใจไม่ยอมออกไปอยู่หัวเมือง จะเป็นเพราะเหตุใดในใจจริงข้าพเจ้าไม่ทราบ ได้ยินแต่ว่าทูลขอตัวต่อสมเด็จพระสังฆราชโดยอ้างว่าไม่มีญาติโยม เกรงจะไปทนความลำบากที่บางปอินไม่ไหว สมเด็จพระสังฆราชตรัสปลอบสักเท่าใดก็ไม่ยอมไป ดูเหมือนหนึ่งว่าถ้าขืนให้ไปจะสึก สมเด็จพระสังฆราชก็จนพระหฤทัย ได้แต่ถวายพระพรให้ทรงทราบเหตุที่เกิดขัดข้อง และทูลว่าในวัดราชประดิษฐ์ฯยังมีเปรียญแต่พระมหาอ่อน(คือ พระยาพฤฒาธิบดีฯ)องค์เดียว แต่บวชยังไม่ถึง ๑๐ พรรษาซึ่งเป็นเขตสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงขัดเคืองในเรื่องที่พระครูปลัด(เปีย)กลับใจ ดำรัสสั่งให้ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า ถ้าพระมหาอ่อนทรงคุณธรรมอย่างอื่นอยู่แล้ว ถึงพรรษาอายุยังไม่ถึงขนาดก็ไม่ทรงรังเกียจ สมเด็จพระสังฆราชตรัสถามมหาอ่อนว่า ถ้าโปรดฯให้เป็นพระครูเจ้าอาวาสไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปอิน จะยอมไปหรือไม่ พระมหาอ่อนได้ทราบเรื่องมาแต่ต้น เห็นสมเด็จพระสังฆราชได้ความเดือดร้อนรำคาญมาก จึงทูลรับว่า ถ้าโปรดฯให้ไปถึงจะลำบากก็จะไปสนองพระเดชพระคุณให้สมพระราชประสงค์ สมเด็จพระสังฆราชก็สิ้นวิตก ให้นำความถวายพระพรทูลว่า พระมหาอ่อนเป็นผู้มีอัธยาศัยและความรู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสได้ มีบกพร่องแต่ที่พรรษาอายุยังน้อยเท่านั้น และตัวก็เต็มใจรับจะไปโดยไม่รังเกียจ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงยินดีดำรัสว่า ได้ทรงเจตนาจะตั้งพระครูปลัด(เปีย)เป็นพระราชาคณะ ถึงมหาอ่อนพรรษาอายุยังน้อยก็เป็นเปรียญและมีความกตัญญูเป็นความชอบพิเศษ สมควรจะเป็นพระราชาคณะได้ จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมราภิรักขิต (ตามฉายาของท่านว่า อมโร)

และทรงพระราชปรารภจะมิให้มีเดือดร้อนเมื่อขึ้นไปอยู่บางปอิน โปรดฯให้ไต่ถามถึงญาติโยม ได้ความว่าโยมผู้ชายยังมีตัวตนอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามและหลวงญาณวิจิต(จุ้ย ต้นสกุล "ผลพันธิน")เปรียญในกรมราชบัณฑิตย์ กับนางเพิ้งภรรยาเป็นโยมอุปัฎฐากอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๓ คนนั้นก็สมัครจะขึ้นไปอยู่ที่บางปอินกับพระอมราภิรักขิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างบ้านเรือนพระราชทานที่ริมเขตวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ แล้วทรงตั้งหลวงญาณวิจิตรเป็นหลวงธรรมวงศ์ประวัติ ตำแหน่งเจ้ากรมวัด และให้เป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมภิกษุสามเณรด้วย และทรงตั้งนายดีบิดาพระอมราภิรักขิตเป็นที่ขุนปฏิบัติชินบุตร ตำแหน่งปลัดกรมวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

อนึ่ง เมื่อกำลังสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติอยู่นั้น ทรงพระราชปรารภว่า ควรจะมีตำหนักสักหลัง ๑ สำหรับเวลาสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นไปจะได้พัก เหมือนอย่างตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างไว้ที่วัดเสนาสนาราม ณ พระนครศรีอยุธยา ทรงพระราชดำริว่า กุฏิที่สร้างสำหรับพระครูเจ้าอาวาสแต่เดิมอยู่ข้างเล็กไป จึ่งโปรดฯให้เปลี่ยนใช้เป็นตำหนัก และให้สร้างกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นใหม่อีกหลัง ๑ ให้ใหญ่โตสมศักดิพระราชาคณะ การอันนี้ก็เนื่องมาแต่ที่ทรงตั้งพระอมราภิรักขิตครั้งนั้น

การสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทำอยู่ ๒ ปีสำเร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ มีการฉลองที่บางปอินเป็นการใหญ่โต รายการจารึกไว้ในแผ่นศิลาที่พระอุโบสถดังนี้

".....ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก(พ.ศ. ๒๔๒๑) ได้เชิญพระพุทธปฏิมากรพระพุทธนฤมลธรรโมภาสและคัมภีร์ไตรปิฎก และรูปพระมหาสาวกและพระราชาคณะฐานานุกรมอันดับวัดราชประดิษฐ์สถิตยมหาสีมาราม ๘ รูป ลงเรือกลไฟแต่กรุงเทพฯมาพักไว้ที่วัดเชิงเลนตรงบางไทรข้าม ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ่น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ได้ตั้งกระบวนแห่แต่วัดเชิงเลน เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสตั้งบนบุษบกเรือพระที่นั่งชัยสุวรรณหงส์ พระธรรมคัมภีร์พระไตรปิฎกลงเรือเอกชัยหลังคาสีอีกลำหนึ่ง พระราชาคณะฐานานุกรมลงเรือกราบม่านทองแย่ง พระสงฆ์อันดับลงเรือราบม่านมัศรู่

แห่ขึ้นไปตามลำน้ำระหว่างเกาะบางปอินนี้ เลี้ยวศีรษะเกาะข้างเหนือ ล่องลงมาจอดที่ตะพานฉนวนฝั่งเกาะข้างตะวันตกริมลำน้ำใหญ่ แล้วตั้งกระบวนแห่บกเชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นพระยานมาศ พระธรรมพระคัมภีร์ พระไตรปิฎกขึ้นเสลี่ยงแปลง รูปพระมหาสาวกขึ้นเสลี่ยงโถง พร้อมด้วยเครื่องสูงกลองชนะคู่แห่ๆแต่ฉนวนน้ำไปโดยทางหน้าพระอุโบสถ เชิญพระพุทธนฤมลธรรโมภาสขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ รูปพระมหาสาวก ๖ องค์ตั้งรายไว้ ฯ

ในเวลาบ่ายวันนั้น ได้ทรงถวายไตรจีวรบริกขารแก่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะกับฐานานุกรม และพระสงฆ์อันดับซึ่งมาอยู่ในพระอารามนี้ ๘ รูป นิมนต์ให้ขึ้นอยู่กุฏิที่ได้ทรงสร้างขึ้นไว้นั้น แล้วประชุมพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญคณะธรรมยุติกนิกาย ๕๗ รูป มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน ทั้งพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามนี้ ทรงถวายวิสุงคามสีมากำหนดโดยยาวเส้น ๔ วา โดยกว้าง ๑๖ วา ๖ นิ้ว มีเสาศิลาแนวกำแพงแก้วในทิศทั้ง ๖ เป็นที่สังเกต และที่เขตรอบบริเวณพระอารามซึ่งเป็นที่พระสงฆ์ได้อาศัยนั้น กำหนดตั้งแต่กำแพงรั้วเหล็กหน้าพระอารามด้านเหนือ ตลอดทั้งที่วิสุงคามสีมาจนถึงกำแพงสกัดท้ายโรงเรือยาว ๔ เส้น ๑๑ วา ๖ นิ้ว กว้างตกลำน้ำตามฝั่งเกาะทั้งสองด้านเป็นเขตพระอาราม แล้วทรงถวายผ้าไตรแด่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญคณะธรรมยุติกนิกาย ๕๐ รูป สวดพระพุทธมนต์เวลาเย็น ตั้งแต่ ณวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก ๓ เวลา จนถึง วันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศก พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ๕๘ รูปได้ทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว

เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินทรงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้ง ๓ เวลา และทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่างๆแก่พระสงฆ์ ๕๘ รูป ครั้น ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาบ่ายทรงถวายผ้าไตรแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญมหานิกาย ๕๘ รูป เวลาเย็นสวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ รุ่งขึ้น ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทรงเลี้ยงพระสงฆ์แล้วถวายเครื่องบริขารไทยธรรมต่างๆ และในวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลสัมฤทธิศกนั้น เวลาเช้าพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายรับพระราชทานฉัน ๓๐ รูป เวลาค่ำมีพระธรรมเทศนากัณฑ์หนึ่งเป็นพระราชกุศลส่วนมาฆบูชา ณ วันขึ้น ๒๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ เวลาบ่าย มีพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวันละกัณฑ์ แล้วโปรดเกล้าฯให้มีเทศนาเป็นธรรมทานวันละ ๓ กัณฑ์ เจ้าพนักงานตั้งบายศรี ราษฎรพร้อมกันเวียนเทียนรอบพระอาราม ๓ วัน และมีการมหรสพสมโภช การเล่น(มีโขนชักรอกโรงใหญ่) เต้นรำครบทุกสิ่ง และตั้งต้นกัลปพฤกษ์และฉลากต่างๆเป็นมโหฬารบูชา ตั้งแต่วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๕ ค่ำ จนถึง วันอาทิตย์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ รวมสี่วีนสี่ราตรีเป็นเสร็จการพระราชกุศลมหกรรมพุทธาทิรัตนบูชา....ฯ

พระอมราภิรักขิต(พระยาพฤฒาธิบดีฯ)ขึ้นไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่ออายุ ๒๗ ปีบวชได้ ๖ พรรษา เวลานั้นมีพระสงฆ์เถรานุเถระกับทั้งเจ้านายขุนนางขึ้นไปฉลองวัดอยู่ที่บางปอินเป็นอันมาก มิใคร่มีใครรู้จักพระอมราภิรักขิตมาแต่ก่อน ทราบกันแต่ว่าได้เป็นพระราชาคณะไปครองวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพราะมีความกตัญญู ยอมทนความลำบาก เพื่อปลดเปลื้องความเดือดร้อนของสมเด็จพระสังฆราช ต่างก็พากันอยากเห็น ที่เป็นพระสงฆ์เถรานุเถระได้พบก็อวยชัยให้พร ที่เป็นคฤหัสถ์ก็พากันแสดงไมตรีจิตรถึงถวายปวารณารับเป็นอุปัฎฐากก็มี พระอมราภิรักขิตจึงมีฐานะพิเศษผิดกับพระราชาคณะองค์อื่นๆในชั้นเดียวกันมาแต่แรก ความลำบากที่ไปอยู่บางปอินเมื่อ ๕๐ ปีมาแล้วมีอย่างไรบ้าง บุคคลในสมัยนี้ยากที่จะเข้าใจได้ ที่พระครูปลัด(เปีย)กลัวนั้นที่จริงมีมูลอยู่บ้าง(จะพรรณนาถึงความลำบากในที่อื่นต่อไปข้างหน้า)

แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงพระวิตก เกรงว่าพระสงฆ์ที่ขึ้นไปอยู่วัดนิเวศฯฯจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งระเบียบการ ถึงเดือนหนึ่งให้เรือหลวงบรรทุกเสบียงอาหารพระราชทานสำหรับทำครัวเลี้ยงพระขึ้นไปส่งครั้งหนึ่ง และในการกฐินพระราชทานผ้าไตรพระสงฆ์ทั้งวัดอีกส่วนหนึ่ง นอกจากผ้าไตรปีเป็นนิจผิดกับวัดอื่นๆ แต่ส่วนตัวพระอมราภิรักขิตเองนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงคุ้นเคยมากขึ้นก็ยิ่งทรงพระเมตตากรุณา ตรัสชมมารยาทและอัธยาศัยว่าสุภาพเรียบร้อย ถวายเทศนาก็โปรดปฏิภานถึงคนทั้งหลายอื่น

เมื่อท่านขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯไม่ช้านานเท่าใด ก็พากันเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านทั่วไปในท้องถิ่นอำเภอบางปอิน มีคนไปทำบุญถือศีลฟังธรรม และให้ลูกหลานไปบวชเรียนอยนู่วัดนิเวศน์ฯมากขึ้นจนกุฏิไม่พอพระอยู่ จึงโปรดฯให้แก้ตึกแถวที่สร้างสำหรับเป็นที่อยู่ของลูกศิษย์วัด กั้นห้องเรียงกันแปลงเป็นกุฏิสำหรับพระที่บวชใหม่ ต่อมาจำนวนพระสงฆ์ยังคงเพิ่มขึ้นอีก ต้องโปรดฯให้สร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มขึ้นอีก ๒ แถว จึงพอพระสงฆ์อยู่ได้ไม่ยัดเยียด


เหตุที่ข้าพเจ้าจะเป็นศิษย์ของพระยาพฤฒาธิบดีฯนั้น เมื่อท่านได้เป็นที่พระอมราภิรักขิตขึ้นไปครองว่านิเวศน์ฯได้พรรษาหนึ่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๒๒ ข้าพเจ้าก็ได้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มีหน้าที่ตามเสด็จไปไหนๆด้วยเสมอ มักเสด็จไปประทับที่พระราชวังบางปอินเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ตั้งแต่สร้างวัดแล้วเสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปอินครั้งใด ก็เสด็จไปที่วัดด้วยทุกครั้ง ครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๒๕ เสด็จไปวัดนิเวศน์ฯทรงบูชาพระในอุโบสถแล้ว ทรงพระราชดำเนินเที่ยวทอดพระเนตรการบำรุงรักษาในบริเวณวัด

เมื่อเสด็จไปถึงตรงตำหนัก เห็นจะทรงรำลึกขึ้นว่าปีนั้นอายุข้าพเจ้ากำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีพระราชดำรัสแก่ข้าพเจ้าว่า "วัดนิเวศน์ฯนี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี" ข้าพเจ้าก็ทูลสนองในทันทีว่า เมื่อข้าพเจ้าบวช ถ้าโปรดให้อยู่วัดนิเวศน์ฯก็จะยินดี ตรัสถามซ้ำว่า "จริงๆหรือ" ข้าพเจ้าทูลสนองซ้ำว่า จริงอย่างนั้น ก็ทรงยินดีไปตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช แต่ท่านถวายพระพรว่าความขัดข้องมีอยู่ ด้วยในปีนั้นพระอมราภิรักขิตจะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เพราะบวชยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาบริบูรณ์ หย่อนอัตราตามพระวินัยอยู่พรรษาหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงกราบทูลว่าถ้าเช่นนั้นจะรอไปบวชต่อปีหน้า ก็เป็นตกลง

ข้าพเจ้าจึงเลื่อนเวลามาบวชต่อใน พ.ศ. ๒๔๒๖ เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช สมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช ปุสฺสเทว(สา)เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอัมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสสยาจารย์ก็ลงมานั่งในคณะปรกด้วย เมื่อบวชแล้วพักอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฟื้นประเพณีครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์ฯมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข กับทั้งพระอมราภิรักขิตและตัวข้าพเจ้าเข้าไปรับบิณฑบาตรที่ชาลาต้นมิดตะวันในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศน์(อันอยู่ในสวนศิวาลัยบัดนี้) เสด็จลงทรงบาตรพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระสังฆราชว่า ข้าพเจ้าจะไปจำพรรษาอยู่ใกล้ ญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯไม่มีโอกาสทำบุญด้วย จึงให้ไปรับบิณฑบาตเสียก่อน

วันต่อนั้นมาจะขึ้นไปทูลลาเสด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดนิเวศน์ฯ สมเด็จพระสังฆราชท่านทราบพระอัธยาศัยว่าสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯไม่พอพระหฤทัยที่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่วัดอื่นนอกจากวัดบวรนิเวศฯจึงเรียกพระอมราภิรักขิตกับข้าพเจ้าขึ้นไปสั่งแต่กลางคืน ว่าให้ขึ้นไปเฝ้าด้วยกัน เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์ฯให้พระอมราภิรักขิตเอาดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการส่วนของท่านขึ้นไปถวายก่อน ให้ข้าพเจ้าคอยอยู่ข้างล่างสัก ๑๐ นาที แล้วจึงขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องสักการทูลลา เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเฝ้าก็เห็นเสด็จพระอุปัชฌาย์ทรงเบิกบานดี ตรัสฝากข้าพเจ้าแก่พระอมราภิรักขิตแล้วประทานพระโอวาทกำชับข้าพเจ้าให้เคารพนับถือ อยู่ในถ้อยคำของท่านผู้เป็นอาจารย์ การทูลลาก็เป็นอันเรียบร้อยทุกสถาน สมเด็จพระสังฆราชให้เจ้าคุณอมราฯกลับขึ้นไปก่อนวันหนึ่ง รุ่งขึ้นนับเป็นวันที่ ๕ ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวช จึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจากวัดวรดิษฐ์ฯ ท่านอุตส่าห์ตามลงไปอำนวยพรถึงท่าราชวรดิษฐ์

เมื่อขึ้นไปถึงวัดนิเวศน์ฯไปบูชาพระพุทธเจ้าที่ในอุโบสถก่อน แล้วไปยังกุฏิเจ้าคุณอมราภิรักขิตถวายเครื่องสักการขอนิสัยท่านตามระเบียบพระวินัย พิธีขอนิสัยก็คือไปถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของท่าน ขอให้ท่านเอาเป็นภาระปกครองเรา ฝ่ายเราก็จะรับเอาเป็นภาระปฏิบัติท่านตามสมควร เพราะฉะนั้นเมื่อท่านให้นิสัยรับเป็นอาจารย์แล้ว เราจึงมีหน้าที่ยจะต้องกระทำการปฏิบัติ การนั้นถ้าอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์เรียกว่า "อุปชฌายวัตร" ถ้าอยู่ในสำนักอาจารย์เช่นตัวข้าพเจ้าเรียกว่า "อาจาริยวัตร" แต่เป็นการอย่างเดียวกัน คือเวลาเช้าเมื่อท่านตื่นนอนต้องเอาน้ำบ้วนปากล้างหน้ากับไม้สีฟันไปถวาย พอค่ำถึงเวลาที่ท่านกำหนดต้องขึ้นไปฟังท่านสั่งสอน แต่ท่านให้ทำพอเป็นวินัยกรรมไม่กี่วันก็อนุญาตให้หยุด เป็นเช่นนั้นเหมือนกันทุกวัด เมื่อทำพิธีขอนิสัยแล้วข้าพเจ้าไปอยู่ตำหนัก เจ้าคุณอมราฯท่านให้พระปลัดชื่อนาคเป็นผู้อุปการะอย่างพี่เลี้ยงของข้าพเจ้าด้วย

ข้าพเจ้าบวชขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯครั้งนั้น นอกจากบ่าวไพร่มีพวกต้องตามไปหลายคน ที่บวชไปจำพรรษาอยู่วัดนิเวศน์ฯด้วยกันก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ไปอยู่เป็นเพื่อนก็มี ที่บวชนั้นคือ หม่อมเจ้าโอภาส ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพองค์ ๑ นายร้อยตรีหลวงสุรยุทธโยธา(ดั่น ต่อมาได้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแต่แรกตั้ง ภายหลังได้เป็นนายพันโท ไปบังคับทหารที่เมืองนครราชสีมาอยู่จนถึงแก่กรรม)คน ๑ นายร้อนตรีขุนชาญสรกล(อิ่ม ภายหลังได้เลื่อนเป็นหลวงเป็นพระและได้นำทหารไปรบเงี้ยวที่เมืองเชียงราย ที่สุดได้เป็นพระยาวิเศษสัจธาดา)คน ๑ พลทหารเพ็งเล็ก เวลานั้นเป็นทหารรับใช้ของข้าพเจ้าอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ภายหลังได้เป็นขุนวรการพิเศษในกระทรวงธรรมการ คน ๑ ทั้ง ๔ นี้บวชเป็นพระภิกษุ ที่บวชเป็นสามเณรคือ หม่อมเจ้าหลง ในกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ภายหลังได้มีตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรม องค์ ๑ หม่อมเจ้าเล็ก ในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ภายหลังได้มีตำแหน่งในกระทรวงพระคลังฯ ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น นายเพ็งใหญ่ เสมียนในกรมทหารมหาดเล็กซึ่งเคยบวชอยู่วัดโสมนัสวิหารหลายพรรษาขอลาไปอยู่เป็นผู้แนะนำข้าพเจ้าในการปฏิบัติพระวินัยคน ๑

แต่ที่เป็นคนสำคัญควรกล่าวถึงอีกคนหนึ่งนั้นคือ เจ้าพระยายมราช เวลานั้นเรียกกันว่า "มหาปั้น" ท่านเป็นสหชาติเกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า แต่อุปสมบทก่อนข้าพเจ้าปีหนึ่ง ชอบกันมาแต่ยังเป็นเปรียญ ท่านบวชพระอยู่พรรษาเดียวก็ลาสิกขา เมื่อใกล้เวลาข้าพเจ้าบวชยังไม่ได้รับราชการ จึงสมัครไปอยู่ด้วยตลอดพรรษาจนข้าพเจ้าสึกจึงได้กลับมากรุงเทพฯด้วยกัน มารดาของข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปอยู่บางปอินด้วย ท่านอยู่แพจอดทางพระราชวังตรงวัดนิเวศน์ฯข้าม ถึงวันพระท่านรักษาศีลอุโบสถ ข้ามไปเลี้ยงพระและทำวัตรฟังเทศน์ด้วยกันกับพวกอุบาสกอุบาสิกาเป็นนิจ เขาเลยขอให้ท่านเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาตลอดพรรษา เพราะมีคนขึ้นไปด้วยกันกับข้าพเจ้ามากเช่นนั้น พวกที่อยู่วัดนิเวศน์ฯมาแต่ก่อนพากันออกปากว่า ตั้งแต่เป็นวัดนิเวศน์ฯมายังไม่เคยครึกครื้นเหมือนเมื่อพรรษานั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง

แต่ถ้าว่าสำหรับตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อแรกขึ้นไปในคราวบวชนี้ออกจะรู้สึกอ้างว้าง เพราะแต่ก่อนไม่เคยขึ้นไปบางปอินแต่ตามเสด็จประพาส ในเวลาเช่นนั้นมีเรือจอดหลามตลอดเกาะ ทั้งมีเรือไฟไปมาทุกวัน เรือแจวพายขายของและเที่ยวเตร่กันในแม่น้ำก็มีไม่ขาดสาย ที่บนบกผู้คนกล่นเกลื่อนทั้งที่พระราชวังและตามตำหนักเจ้าบ้านขุนนาง มีทั้งตลาดยี่สาน พวกชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งขายของต่างๆครึกครื้น ดูราวกับเป็นเมืองอันหนึ่ง ขึ้นไปในเวลาเสด็จไม่อยู่ดูเงียบเหงาไม่มีเรือแพผู้คนเหมือนกับเป็นเมืองร้าง ด้วยในสมันนั้นอย่าว่าแต่ยังไม่มีรถไฟเลย ถึงเรือไฟที่จะไปทางนั้นเช่นเรือเมล์รับคนโดยสาร หรือเรือสินค้าขึ้นล่อง ก็ยังไม่มี หลายๆวันจะเห็นเรือไฟแล่นผ่านวัดสักลำ ๑ ถึงพวกลูกศิษย์วัดพากันชอบวิ่งออกไปดู มีแต่เรือหลวงบรรทุกเสบียงอาหารขึ้นไปถึงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนใหม่เสมอทุกเดือน เรือลำนั้นชื่อ "นกอินทรีย์" เสียงไอเสียขึ้นปล่องดังอย่างยิ่ง พอเรือถึงเกาะเกิดก็ได้ยินเสียงถึงวัดนิเวศน์ฯ เลยถือกันเป็นสัญญาพอได้ยินเสียงพวกที่อยู่วัดก็พากันลงไปคอยขนเสบียงอาหารที่พระราชทานของที่ส่งขึ้นไปสำหรับพวกข้าพเจ้าก็มักฝากเรือหลวงไป

เพราะฉะนั้นอยู่วัดนิเวศน์ฯมีเวลาเงียบเหงาเดือนละหลายๆวันแต่ไปอยู่ไม่ช้าก็ชิน พอชินแล้วก็รู้สึกว่าอยู่วัดนิเวศน์ฯสบายมาก สยาบกว่าอยู่วัดในกรุงเทพฯ เช่นวัดบวรนิเวศน์ฯที่ข้าพเจ้าเคยอยู่เมื่อบวชเป็นสามเณร และวัดราชประดิษฐ์ฯที่ข้าพเจ้าไปพักอยู่ และวัดบวรนิเวศน์ฯ เมื่อก่อนขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ เพราะที่บางปอินอากาศดี อยู่ที่เกาะกลางน้ำห่างละแวกบ้าน ไม่มีผู้คนละเล้าละลุมและเงียบสงัดไม่อึกกระทึก จะเที่ยวเดินเหินหรือนั่งสำราญอิริยาบถที่ไหนก็เป็นผาสุข แลเห็นลำน้ำและไร่นาจนสุดสายตาพาให้เพลิดเพลินเจริญใจ

ทั้งตัววัดเองนับตั้งแต่พระอุโบสถตลอดจนเสนาสนะ ก็ทรงสร้างอย่างปราณีตน่าดูและอยู่สบาย แต่วัดนิเวศน์ฯนั้นใครเห็นแต่ไกลมักสำคัญว่าเป็นวัดในศาสนาคริสตัง เพราะสร้างตามแบบช่างอย่างโคธิก ซึ่งสร้างวัดในศาสนาของเขา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่า ศาสนาไม่ได้อยู่ที่อิฐปูน การสร้างวัดในพระพุทธศาสนาก็ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องสร้างเป็นรูปร่างอย่างใด แม้วัดหลวงที่สร้างมาแต่ก่อน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงยักเยื้องแบบอย่างสร้างตามพระราชอัธยาศัย (เช่นการสร้างวัดพระเชตุพนฯกับวัดราชโอรสก็ผิดกันห่างไกล) ทรงอุปมาการสร้างวัดว่าเหมือนเก็บดอกไม้บูชาพระ ถึงจะเป็นดอกไม้หลายอย่างต่างพรรณ ถ้าถวายโดยเจตนาบูชาพระแล้วก็เป็นพุทธบูชาอยู่นั่นเอง

ที่วัดนิเวศน์ฯมีของอันควรจะบอกอธิบายไว้ในหนังสือนี้บางสิ่ง สิ่งหนึ่งคือพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า "พระพุทธนฤมลธรรโมภาส" ซึ่งเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ เป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการซึ่งทรงเกียรติคุณว่าเป็นช่างอย่างวิเศษมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยทำพระพุทธรูปนับไม่ถ้วน แต่คนทั้งหลายเห็นพ้องกันหมดว่า พระพุทธนฤมลธรรโมภาสงามเป็นยอดเยี่ยมในฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงสร้างพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งขนาดเดียวกัน มีพระราชดำรัสกำชับพระองค์เจ้าประดิษฐ์ฯ ว่าขอให้ทำให้งามเหมือนพระพุทธนฤมลธรรโมภาส แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้สมพระราชประสงค์ได้ เพราะ "สิ้นฝีมือ" อยู่ที่พระพุทธนฤมลฯ จึงนิยมกันว่าเป็นพระพุทธรูปงามอย่างเอกองค์หนึ่ง

อนึ่งด้านหน้าพระอุโบสถสองข้างประตูมีซุ้มยอดตามแบบโคธิก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดฯให้ปั้นรูปพระอินทร์กับพระเบญจสีขรตั้งไว้ในซุ้มข้างละองค์อย่างรูปนักบุญที่เขาตั้งตามศาสนาคริสตัง รูปปั้นนั้นนามมาถูกฝนสาดชำรุดด้วยเนื้อซีเมนต์ร่อยหรอไป ปีหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าสึกแล้วเสด็จไปทอดพระเนตร โปรดฯให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รับสั่งจัดการหล่อเทวรูปด้วยทองสัมฤทธ์ปิดทองคำเปลวไปเปลี่ยนของเดิม มีพระราชดำรัสว่า "จะได้เป็นที่ระลึกในการที่เธอบวชอยู่วัดนี้" เทวรูปนั้นยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

เรื่องราวที่กล่าวมาในตอนตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชดูเป็นเล่าเรื่องประวัติของตนเอง แต่ก็จำเป็นเพราะเล่าความตามที่ได้รู้เห็นเอง ไม่ได้คัดเอาความในหนังสือหรือตามที่ได้ยินผู้อื่นบอกเล่ามากล่าว จะเลยเล่าต่อไปถึงความลำบากที่ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บางปอินในสมัยนั้น ข้อใหญ่ก็อยู่ที่ "อดอยาก" จะว่า "อด" ไม่ได้ เพราะข้าวปลาอาหารไม่อัตคัด แต่อาหารที่ชาวบางปอินเขาบริโภชกันผิดกับอาหารที่เราชอบบริโภคในกรุงเทพฯ จึงควรเรียกว่า "อดอยาก" คืออดเฉพาะของที่อยากกิน เป็นต้นว่าชาวกรุงเทพฯชอบกินข้าวนาสวน แต่ชาวบางปอินชอบกินข้าวนาเมือง ซึ่งรสชาติต่างกันไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง กับข้าวของชาวบางปอินก็มีแต่ผักกับปลาเอามาประสมกัน มักปรุงรสด้วยปลาร้ากับพริกและเกลือ รสชาติแปลกไปอีกอย่างหนึ่ง หลายๆวันจึงมีเรือเจ๊กมาขายหมู หรือเรือชาวกรุงเทพฯบรรทุกของสวน เช่น มะพร้าวและกล้วยอ้อยขึ้นไปขายที่บางปอินสักครั้งหนึ่ง

ข้าพเจ้าเคยอยากกินกล้วยน้ำว้าเผา ครั้งหนึ่งเวลาไม่สบาย มารดาให้เที่ยวหาซื้อตลอดถิ่นก็หาไม่ได้ ยิ่งผู้ที่ชอบกินหมากยังลำบากต่อไปถึงที่ต้องกินแต่หมากสงกับพลูนาบ เพราะจะหาหมากดิบและพลูสดในที่นี้ได้โดยยาก แต่ความลำบากด้วยเรื่องอดยากดังกล่าวมา มีแต่แก่ผู้ซึ่งขึ้นไปอยู่ใหม่เช่นข้าพเจ้า ถ้าไปอยู่จนเคยเสียแล้วเช่นเจ้าคุณอมราฯกับพระสงฆ์ซึ่งขึ้นไปด้วยกันจากกรุงเทพฯ ไปอยู่แรมปีก็สิ้นลำบาก บริโภคได้เหมือนคนในท้องถิ่น แต่ตัวข้าพเจ้ารู้สึกลำบากในเรื่องอาหารอยู่ตลอดพรรษา เมื่อแรกขึ้นไปอยู่วัดนิเวศน์ฯข้าพเจ้าลองออกไปรับบิณฑบาต ๒ ครั้ง ได้อาหารมากินไม่ได้ก็เลยเลิกไม่ไปอีก ด้วยเห็นว่าเหมือนหนึ่งไปแย่งอาหารอันควรจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมาเททิ้งเสียเปล่าๆ รอดตัวมาได้ด้วยมารดาขึ้นไปหาเลี้ยง เพราะท่านรู้ว่าข้าพเจ้าชอบกินอะไรอย่างไร ท่านทำให้กินได้อยู่เสมอ

ถึงกระนั้นเมื่อของอัตคัดก็ทำได้แต่บางอย่าง กับข้าวที่ได้กินอยู่เป็น "ท้องเครื่อง" นั้นมีแต่ ๓ สิ่ง คือ ไข่เค็มสิ่ง ๑ พริกกับเกลือสิ่ง ๑ กับปลากุเราอีกสิ่ง ๑ ถึงวันชาวบ้านเขามาเลี้ยงพระ ข้าพเจ้าลงไปฉันในการเปรียญด้วยกันกับพระสงฆ์ ของธารณะที่มารดาหาเลี้ยงพระ ท่านทำอาหารที่ข้าพเจ้าชอบกินห่อไปส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าเขานิมนต์ไปฉันที่อื่น ท่านก็ให้คนเอาของเช่นนั้นไปช่วยเขา ขอให้ใส่ในสำรับเลี้ยงข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงไม่เดือดร้อนด้วยอาหารการกิน แต่เมื่อถึงเวลาเสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังบางปอิน กลับตรงกันข้าม อาหารการกินบริบูรณ์จนเกินต้องการ ส่วนตัวข้าพเจ้าเองมีสำรับของหลวงพระราชทานมาแต่ห้องเครื่องสำรับ ๑ ของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรโปรดประทานสำรับ ๑ และท่านผู้หญิงอิ่ม สุรวงศ์วัยวัฒน์(มารดาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์)มีเมตตาส่งมาสำรับ ๑ นอกนั้นยังมีอาหารที่เจ้านายขุนนางอันเป็นญาติและมิตรสหายส่งมาทุกวัน เวลาฉันมีสำรับและโต๊ะถาดอาหารตั้งล้อมราวกับฆ้องวง

อยู่บางปอินเวลานั้นมีความลำบากอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาเจ็บป่วยหาหมอยากได้อาศัยแต่ยากลางบ้าน ใครนับถือยาขนานไหนก็ทำไว้สำหรับบ้านเรือน ใครเจ็บป่วยก็ไปขอกิน ข้าพเจ้าเคยไปป่วยครั้งหนึ่ง และการรักษาอยู่ข้างจะขบขันจะเล่าให้ฟังต่อไป เมื่อถึงเดือนกันยายน เห็นจะเป็นเพราะปีนั้นฝนตกชุกกว่าปกติ ข้าพเจ้าทนชื้นไม่ได้ ก็เกิดมีอาการมือเย็นเท้าเย็นและเมื่อยขบ อาหารกินมิใคร่ได้ นอนก็ไม่หลับสนิท เขาว่าเป็นโรคกระสาย มารดาให้กินยาก็ไม่หาย ขอยามาที่มีตามกุฏิพระมากินก็ไม่ถูกโรค ข้าพเจ้ารำคาญบ่นกับพระปลัดนากที่เป็นพี่เลี้ยง ท่านบอกว่า หลวงแพ่งซึ่งอยู่บ้านแป้งตรงวัดข้ามฟากมียาขนานหนึ่งชื่อว่า "ยาอภัยสาลี" แก้โรคกระสายชะงักนัก แต่เป็นยาแรงด้วยเข้ากัญชาเท่ายาทั้งหลาย ใครกินมักเสียสติอาจจะทำอะไรวิปริตไปได้ในเวลาเมื่อฤทธิ์ยาแล่นอยู่ในตัว เจ้าของจึงไม่บอกตำราแก่ผู้อื่น เป็นแต่ทำไว้สำหรับบ้าน ถ้าใครไปขอต่อเห็นว่าเจ็บจริงจึงให้กิน ข้าพเจ้าได้ยินเล่าก็ออกคร้ามฤทธิ์ยาอภัยสาลี เกรงว่าถ้ากินเข้าไปเสียสติ เจ้าคุณอมราฯท่านจะติโทษได้

จึงนิ่งมาจนถึงกลางเดือนกันยายนอาการโรคกำเริบขึ้น ประจวบเวลาเจ้าคณอมราฯลงมากรุงเทพฯในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา ทางโน้นพระปลัดนากเป็นผู้บัญชาการวัด ข้าพเจ้าไม่สบายเหลือทนจึงบอกพระปลัดว่า ขอลองกินยาอภัยสาลีสักทีเผื่อจะถูกโรคบ้าง ท่านก็ให้ไปขอยานั้นจากหลวงแพ่ง เป็นยาผงเคล้าน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กำหนดให้กินครั้งหนึ่งเท่าเมล็ดพุทรา วันเมื่อจะกินข้าพเจ้ายังครั่นคร้าม จึงอ้อนวอนชวนให้พระที่ชอบพอกันฉันด้วยสักสี่ห้าองค์รวมทั้งท่านปลัดด้วย แรกกินยานั้นเมื่อเวลาเย็นก็เฉยๆไม่รู้สึกว่ามีพิษสงอย่างไร จนออกนึกทะนงใจว่าคงเป็นเพราะกำลังของเราสู้ฤทธิ์ยาได้ ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกา พระสงฆ์สามเณรลงประชุมกันทำวัตรที่ในพระอุโบสถตามเคย ท่านปลัดเป็นผู้นำสวดแทนเจ้าวัด พอขึ้น "หนฺท มยํ" เสียงก็แหบต้องกระแอม พอข้าพเจ้าได้ยินเสียงท่านปลัดดัง "แอ๊ม" ก็ให้นึกขัน กลั้นหัวเราะไม่อยู่ปล่อยกิ๊กออกมา พระสงฆ์องค์อื่นที่ได้ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันก็เกิดนึกขันที่ข้าพจ้าหัวเราะ พลอยหัวเราะกันต่อไป เสียงดังกิ๊กกั๊กไปทั้งโบสถ์ ดูเหมือนพระเณรองค์อื่นๆที่ไม่ทราบเรื่องจะพากันตกใจ แต่ท่านปลัดยังมีสติ พอทำวัตรแล้วก็รีบเลิกประชุมไม่สาธยายสวดมนต์ต่อไปตามเคย

ข้าพเจ้ากลับมาถึงตำหนัก เมื่อเข้านอนรู้สึกเตียงโคลงไปโคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นโคลงไปโคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นในทะเล แต่มีสติเข้าใจว่าเป็นด้วยฤทธิ์ยาอภัยสาลี นิ่งนานหลับตาอยู่สักครู่หนึ่งก็หลับ คืนนั้นนอนหลับสนิทเหมือนสลบจนรุ่งเช้าตื่นขึ้นรู้สึกแจ่มใส ไปนั่งกินอาหารก็เอร็ดอร่อยแทบลืมอิ่มทั้งเวลาเช้าและเพล เลยกลับสบายหายเจ็บ ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าลองกินยาอภัยสาลีอีกจนบัดนี้ พระที่ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันคืนวันนั้นกลับไปกุฏิก็ไปมีอาการวิปริตต่างๆ แต่อาการขององค์อื่นไม่แปลกเหมือนคุณแช่ม เธอไปนอนไม่หลับ ร้อง "ตูมๆ" เต็มเสียง จนเพื่อนสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียงพากันตกใจไปถามเธอบอกว่าหายใจไม่ออก ถ้าได้ร้องตูมเสียค่อยหายใจคล่อง ก็พากันเห็นขัน ข้าพเจ้าได้รู้ฤทธิ์ของกัญชาในครั้งนั้น ว่ามีคุณมหันต์และโทษอนันต์ แต่ยังเข้าใจไม่ได้ว่าสบายอย่างไร จึงมีคนชอบสูบกัญชากันจนติด

เมื่อเจ้าคุณอมราฯครองวัดนิเวศน์ฯ ดูเหมือนท่านถือการ ๓ อย่างเป็นหลัก อย่างหนึ่งในระเบียบสงฆ์ ท่านรักษาแบบแผนของวัดราชประดิษฐ์ฯมิให้เคลื่อนคลาด อนุโลมตามพระราชประสงค์ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงประทานปรารถนาจะให้วัดนิเวศน์ฯเป็นสาขาของวัดราชประดิษฐ์ฯ อีกอย่างหนึ่งท่านเอาใจใส่ในการบำรุงรักษาวัดให้เรียบร้อยสะอาดสะอ้าน เฉลิมพระราชศรัทธามิให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงติเตียนได้ ใครไปก็ออกปากชมว่าวัดนิเวศน์ฯรักษาสะอาดดี กับอีกอย่างหนึ่งท่านพยายามสั่งสอนสงเคราะห์บริษัทไม่เลือกหน้า ส่วนตัวท่านเองก็ไว้วางอัธยาศัยสุภาพไม่ดุร้าย หรือถือตัวทำพูมแก่ใครๆชอบสนทนาสมาคมกับบุคคลทุกชั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เหลาะแหละหย่อนตัวแก่ใครให้ลวนลาม

อีกประการหนึ่งท่านประพฤติกิจวัตรสม่ำเสมอ ดูเหมือนจะตั้งใจให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พระภิกษุสามเณรในวัดนั้น โดยปกติท่านลงโบสถ์นำทำวัตรสวดมนต์เช้าครั้ง ๑ ค่ำครั้ง ๑ เป็นนิจ ถึงวันพระท่านนำพระสงฆ์รับธารณะที่การเปรียญแล้วลงโบสถ์ให้ศีลแก่สัปบุรุษ และแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟังในตอนเช้ากัณฑ์ ๑ แต่ตอนบ่ายท่านให้พระองค์อื่นที่เป็นฐานานุกรม หรือเปรียญเทศน์(เคยให้ข้าพเจ้าเทศน์ครั้งหนึ่ง) การสวดปาฏิโมกข์ที่วัดราชประดิษฐ์ฯดูเหมือนสมเด็จพระสังฆราชทรงสวดเองเป็นนิจ แต่ที่วัดนิเวศน์ฯเจ้าคุณอมราฯสวดเองบ้าง บางครั้งก็ให้พระองค์อื่นสวด เห็นจะเป็นการฝึกหัดพระในวัดนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้าท่านคงรู้สึกเกรงใจมาก ด้วยเป็นเจ้านายองค์แรกที่เป็นศิษย์ของท่าน ทั้งเมื่อก่อนบวชข้าพเจ้าก็เป็นราชองครักษ์ และเป็นนายพันตรีผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก อย่างว่า "เป็นคนโต" อยู่บ้างแล้ว ถึงกระนั้นท่านก็ประพฤติอย่างเป็นอาจารย์มิได้ลดหย่อนอย่างไร เว้นแต่ไม่ให้เข้าเวรปฏิบัติท่านเหมือนพระบวชใหม่องค์อื่น และไม่เรียกไปหาที่กุฏิของท่าน เพราะพบกันที่โบสถ์วันละ ๒ ครั้งเสมอ ถ้าท่านมีกิจธุระจะไตร่ถามหรือบอกเล่าแก่ข้าพเจ้า ท่านก็มักพูดที่ในโบสถ์ ท่านให้ทอดอาสนะของข้าพเจ้าไว้ใกล้กับอาสนะของท่านทางข้างหลัง มิให้นั่งปะปนกับพระองค์อื่น นานๆท่านจะมายังตำหนักที่ข้าพเจ้าอยู่สักครั้งหนึ่ง และดูเหมือนท่านจะคอยระวังมิให้ข้าพเจ้ารู้สึกรำคาญที่ตัวท่าน เป็นต้นว่า เวลาข้าพเจ้าไปสำราญอิริยาบถอยู่ที่ใด เช่นข้าพเจาไปนั่งเล่นที่ศาลาริมน้ำในเวลาเย็นๆ เวลานั้นท่านก็มักออกเดินตรวจวัด แต่ไม่เคยเห็นท่านเดินมาใกล้ศาลาที่ข้าพเจ้านั่งอยู่สักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าสังเกตเห็นท่านเกรงใจเช่นนั้น จึงมักหาเหตุไปหาท่านที่กุฏิเนื่องๆ ไปถามข้ออรรถธรรมะบ้าง ไปเรียนเรื่องอื่นๆบ้าง ดูท่านก็ยินดีชี้แจงให้ทราบ และสนทนาปราศรัยฉันอาจารย์กับศิษย์ที่สนิทสนมกัน

ในสมัยนั้นยังไม่เกิดประเพณีมีหลักสูตรสำหรับพระบวชใหม่จะต้องเรียนและสอบความรู้ เป็นแต่เมื่อแรกเข้าพรรษา ลงโบสถ์เวลาค่ำไหว้พระสวดมนต์แล้ว มีพระฐานานุกรมหรือเปรีญยองค์หนึ่งขึ้นธรรมาสน์ปาฏิโมกข์ อ่านบุพพสิกขาสอนพระบวชใหม่วันละตอนไปจนจบคัมภีร์ นอกจากนั้น เช่นคำไหว้พระสวดมนต์และข้อวัตรปฏิบัติต้องท่องและเรียนเอาเอง แต่เจ้านายมักได้ศึกษามาแต่ก่อนทรงผนวชแล้ว กิจที่ข้าพเจ้าจะต้องเรียนเมื่อบวชจึงมีน้อยกว่าพระบวชใหม่องค์อื่น สามารถจะช่วยการอย่างอื่นๆให้เป็นประโยชน์ได้ ข้าพเจ้ารับเป็นหน้าที่ในสองอย่าง คือ จัดโรงเรียนอย่าง ๑ กับบำรุงตันไม้ที่ปลูกเป็นเครื่องประดับพระอารามอย่าง ๑ ด้วยเมื่อก่อนข้าพเจ้าบวชได้รับหน้าที่จัดตั้งโรงเรียนหลวงอยู่แล้ว เป็นแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นกรมศึกษาธิการ ไปเห็นโรงเรียนที่วัดนิเวศน์ฯ เกิดประหลาดใจที่เด็กนักเรียนเรียนตั้งปียังอ่านหนังสือไม่ออกโดยมาก ถามอาจารย์รอดซึ่งเป็นผู้สอนว่าทำไมเด็กจึงเรียนรู้ช้านัก แกบอกเหตุให้ทราบว่า ที่บางปอินนั้นพ่อแม่ให้เด็กมาเรียนหนังสือแต่เวลาว่างทำนาถ้านับวันเรียนๆปีหนึ่งไม่กี่เดือน พอมีการทำนาเมื่อใดพ่อแม่ก็ลาเอาลูกไปช่วยทำการ เช่นให้เลี้ยงน้องในเวลาผู้ใหญ่ไปทำนาเป็นต้น จนเสร็จการจึงกลับเอามาส่งโรงเรียนอีก เป็นเช่นนั้นปีละหลายๆคราว เด็กได้เรียนอะไรไว้ก็มักไปลืมมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อกลับมาต้องสอนย้อนขึ้นไปใหม่ จึงรู้ช้า

ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าที่พ่อแม่ให้ลูกหยุดเรียนเช่นนั้นด้วยความจำเป็นในทางอาชีพจะห้ามไม่ได้ ทางแก้ไขมีแต่ต้องคิดแก้กระบวนสอน แยกความรู้เป็นอย่างๆให้เด็กเรียนสำเร็จภายในเวลาเรียนระยะละอย่าง เป็นมูลเหตุที่ข้าพเจ้าจะแต่งหนังสือ "แบบเรียนเร็ว" ซึ่งใช้โรงเรียนทั้งปวงในภายหลัง แต่เด็กนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์วัดอยู่ประจำวัดก็มีอีกพวก ๑ มักเป็นลูกผู้ดีเป็นพื้น ลูกศิษย์วัดในปีที่ข้าพเจ้าบวช เมื่อเติบใหญ่มาได้เป็นขุนนางก็หลายคน จะระบุแต่ที่นึกได้ในเวลาที่เขียนหนังสือนี้ คนหนึ่งชื่อแช่ม เป็นบุตรหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ได้เป็นพระยาวรุณฤทธีสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ยังลูกหลวงธรรมวงศ์ประวัติก็หลายคน ที่เติบใหญ่ในเวลาข้าพเจ้าบวชพอยกสำรับประเคนข้าพเจ้าได้ ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อเพิ่ม ต่อมาได้เป็นหลวงอนุสาสนวินิจ คนที่ ๒ ชื่อสด ต่อมาได้เป็นหลวงสังขวิทยวิสุทธิ์ คนที่ ๓ ชื่อเหม ได้เป็นพระยาโอวาทวรกิจ อยู่ในกรมศึกษาธิการทั้ง ๓ คน คนที่ ๔ ชื่อทองสุก เวลานั้นยังเล็กชอบเที่ยววิ่งเล่นในลานวัด แต่อย่างไรมาติดข้าพเจ้าบิดาเลยยกให้ ครั้นเติบใหญ่สำเร็จการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้าขอเอามาฝึกหัดให้รับราชการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้าพเจ้าออกจากกระทรวงมหาดไทยมาแล้วได้เป็นพระยาแก้วโกรพผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ลูกชายคนเล็กชื่อบุญศรี เกิดเมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่ที่วัดนิเวศน์ฯ เติบใหญ่เข้ารับราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นหลวงประชาภิบาล ตำแหน่งนายอำเภอ นอกจากระบุมายังมีคนอื่นแต่นึกไม่ออกจึงไม่กล่าวถึง

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่โรงเรียนนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวช แล้วจึงแพร่หลายไปถึงโรงเรียนทั้งปวง ตือให้นักเรียนสวดคำนมัสการคุณานุคุณ ข้าพเจ้าไปสังเกตเห็นว่าในโรงเรียนยังขาดสอนคดีธรรม แต่จะให้เทศน์ให้เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่าถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารภไปยังพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจาริยางกูร)ขอให้ท่านช่วยแต่งคำนมัสการส่งขึ้นไปให้ ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ ๗ บทขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอนเป็นภาษาไทยทุกบท นมัสการพระพุทธเจ้าขึ้นต้นว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาร" เป็นต้นบท ๑ นมัสการพระธรรมบท ๑ นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท ๑ สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า มีคำบูชาคุณบิดามารดาบท ๑ บูชาคุณครูบท ๑ สำหรับให้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่าย และมีคำบูชาพระคุณพระมหากษัตริย์บท ๑ คำขอพรเทวดาบท ๑ สำหรับสวดเมื่อจะเลิกเรียน เริ่มสวดกันในโรงเรียนวัดนิเวศน์ฯตั้งแต่ข้าพเจ้ายังบวชอยู่

มีการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มเกิดขึ้นที่วัดนิเวศน์ฯ เมื่อปีข้าพเจ้าบวช ด้วยข้าพเจ้าไปทราบว่าในฤดูน้ำว่างการทำนาและสามารถใช้เรือไปไหนๆได้สะดวก เป็นเวลาสำหรับราษฎรเที่ยวเตร่หาความสนุกสบายตลอดแขวงจังหวัดอยุธยา พอออกพรรษาก็พากันเที่ยวไหว้พระตามวัดต่างๆ และแข่งเรือกันเล่นที่หน้าวัดเป็นประเพณีมีมาแต่โบราณ จนถือกันเหมือนกับนัดหมายว่าวันนั้นประชุมกันที่วัดนั้นเป็นแน่นอน เริ่มตั้งแต่เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ไปจนสิ้นเดือน ตั้งแต่สร้างวัดนิเวศน์ฯพวกราษฎรอยากนัดกันไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯ แต่ยังเกรงกลัวด้วยมิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ข้าพเจ้าทูลความตามที่ได้ทราบลงมายังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงยินดีดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดการให้ราษฎรไหว้พระ ณ วัดนิเวศน์ฯในปีนั้น จึงเอาวันแรม ๑๒ ค่ำเป็นกำหนดมิให้พ้องกับวันไหว้พระที่วัดอื่น แล้วชักชวนพวกกรมการกับพวกคฤหบดีให้ช่วยกันตกแต่งวัดและมีการมหรสพ ประกาศพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรรู้กันแพร่หลาย ก็เลยมีประเพณีไหว้พระวัดนิเวศน์ฯแต่ปีนั้นต่อมาทุกปีจนบัดนี้

การที่ข้าพเจ้าช่วยแต่งต้นไม่ในวัดนิเวศน์ฯมีข้อขบขันอยู่บ้าง ด้วยในพระวินัยห้ามมิให้พระภิกษุตัดต้นไม้ ดูน่าสันนิษฐานว่า ความหมายห้ามมิให้ทำให้ต้นไม้ตายเป็นสำคัญ แต่พระถือกันว่า ถ้าตัดต้นไม้แม้เพียงกิ่งก้านหรือตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้งอกงามดีขึ้น ก็เป็นอาบัติล่วงสิขาบทนั้น ถึงสั่งให้ผู้อื่นตัดก็ไม่พ้นอาบัติ แต่ว่ามีทางหลีกอาบัตินั้นได้ด้วยสั่งเป็นกัปปิยโวหารว่าให้ไป "ดู" ถึงผู้รังคำสั่งจะไปตัดต้นไม้ พระผู้สั่งก็ไม่เป็นอาบัติ ถือกันมาดังนี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะใช้กันมาแต่ก่อนเก่า เพราะบางทีมีความจำเป็นที่พระจะให้ตัดต้นไม้ เช่นมีต้นไม้เอนจะล้มทับกุฏิก็ดี หรือในป่าดงมีต้นไม้รกกีดขวางทางเดินจะหลีกไปไม่ได้ก็ดี พระจึงสั่งให้ผู้อื่นโดยกัปปิยโวหารให้ไป "ดู" ต้นไม้นั้น ผู้รับใช้เห็นเหตุก็ตัดต้นไม้ให้สำเร็จประโยชน์ ก็เลยสั่งเช่นนั้นเป็นประเพณี

จะมีมูลมาอย่างไรก็ตาม การที่สั่งให้ตัดแต่งต้นไม้ พระใช้คำว่า "ดู" เป็นประเพณี ถ้าใครไม่รู้มูลเหตุไปได้ยินคำสั่งเช่นว่า "ดูกิ่งนั้นเสียวสัดหน่อย ดูกิ่งนั้นให้สั้นเสียอีกสัก ๖ นิ้ว" หรือว่า "ดูหญ้าเสียให้เตียน" และ "ดูต้นนั้นเสียทั้งต้นทีเดียว" ดั่งนี้ ก็จะประหลาดใจ ข้าพเจ้าทราบคติเรื่องนี้มาตั้งแต่บวชเป็นสามเณร เมื่อบวชพระก็สั่งให้ "ดู" คล่อง ที่วัดนิเวศน์ฯมีต้นโพธิ์พันธุ์พระศรีมหาโพธิเมืองพุทธคยาปลูกไว้เป็นเจดีย์วัตถุต้น ๑ โพธิ์ต้นนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดมาก ด้วยทรงเพาะเมล็ดเองแต่เมื่อก่อนเสวยราชย์(ดังปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์แจกในงานพระศพ พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี) เดิมอยู่ในกระถางมาช้านาน ครั้นเอาไปปลูกที่วัดนิเวศน์ฯได้อากาศและรสดินถูกธาตุก็งอกงามรวดเร็ว แต่แตกกิ่งสาขาเก้งก้างไม่มีใครกล้าตัดแต่งด้วยเกรงพระราชอาญาหือกลัวบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงเอาเป็นธุระสั่งให้ "ดู" กิ่งก้านพระศรีมหาโพธิที่เกะกะแต่งจนเรือนงาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นก็โปรด นอกจากนั้นข้าพเจ้าให้หาต้นมะม่วงขึ้นไปปลูกรายเป็นระยะในกำแพงวัด และหลวงสุรยุทธโยธาหาต้นหูกวางขึ้นไปปลูกรายที่ริมเขื่อนเพื่อให้รากยึดดินกันพัง ดูเหมือนจะยังอยู่จนบัดนี้ทั้ง ๒ อย่าง

เมื่อเวลาข้าพเจ้าบวช สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบางปอิน ๒ ครั้ง ครั้งแรกเสด็จไปถวายพุ่มเมื่อแรกเข้าพรรษา ครั้งหลังเสด็จไปพระราชทานพระกฐินเมื่ออกพรรษา โปรดฯให้นิมนต์พระสงฆ์วัดนิเวศน์ฯกับวัดชุมพลนิกายารามเข้าไปรับบิณฑบาตที่ในพระราชวังทั้ง ๒ ครั้ง ครั้งแรกรับบิณฑบาตทางบก ใช้สะพายบาตรมีสายโยคตามอย่างโบราณ อยู่ข้างลำบากแก่พระธรรมยุตเพราะเคยแต่อุ้มบาตร เจ้าคุณอมราท่านสั่งให้ฝึกหัดซักซ้อมรับบาตรสะพายสายโยค ด้วยเกรงว่าฝาบาตรหรือแม้ตัวบาตรจะไปพลัดตกลง

แต่เมื่อคราวพระราชทานกฐินเป็นฤดูน้ำ เข้าไปรับบาตรทางเรือ มีเรือสามปั้มฝีพายหลวงไปรับสมเด็จพระสังฆราช เจ้าคุณอมราฯ และตัวข้าพเจ้ากับพระและเจ้าเณรที่บวชขึ้นไปด้วยกัน เราเป็นแต่นั่งไป ไม่ต้องทำอไรนอกจากคอยเปิดฝาบาตรรับอาหาร แต่พระสงฆ์ในท้องถิ่นองค์อื่นลงเรือสามปั้นเล็ก ซึ่งเรียกกันว่า "เรือรับบิณฑบาตร" มีบาตรตั้งข้าหน้าพายไปเองเหมือนอย่างไปเที่ยวรับบิณฑบาตรโดยปกติ พระสงฆ์บางองค์ไม่ชำนาญการพายเรือ เพราะโดยปกติไม่ใคร่ออกรับบาตร ไปได้ความลำบากก็มี ในปีข้าพเจ้าบวชนั้นได้ยินว่าเรือพระครูธรรมทิวากร(โห้)เจ้าอาวาสวัดชุมพลฯเข้าไปล่มที่ในพระราชวังต้องช่วยกันเอะอะ

เมื่อข้าพเจ้าบวชอยู่วัดนิเวศน์ฯประจวบกับมีเหตุสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งควรจะเล่า เพราะคนภายหลังยังไม่มีใครได้เคยพบเหตุเช่นนั้น เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ ๒๗ จนถึงวันที่ ๓๐ เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลหลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพายท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุผลต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงทราบข่าวว่าภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งละลอกน้ำในท้องทะเลแผ่ไปถึงนานาประเทศไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน เรื่องที่ข้าพเจ้าเล่านี้ถ้าใครจะใคร่รู้โดยพิศดาร จงไปดูในหนังสือเอนไซโคลปีเดีย บริแตนนิคะ ตรงอธิบายเรื่องเกาะกระกะเตาก็จะรู้ชัดเจน

คราวนี้ถึงตอนข้าพเจ้าจะสึก มีเรื่องประหลาดที่น่าเล่าอยู่บ้าง เมื่ออกพรรษาแล้วมีเวลาก่อนทอดพระกฐินหลวงอยู่หลายวัน ข้าพเจ้าทูลลาไปเที่ยวหัวเมืองข้างเหนือ ก็โปรดฯพระราชทานเรือไฟหลวงให้ใช้ และให้ไปทอดกฐินหลวงที่วัดธรรมามูล แขวงเมืองชัยนาทด้วย เมื่อกลับมาจัดการให้ราษฎรไหว้พระที่วัดนิเวศน์ฯแวลงมากรุงเทพฯ เพื่อทูลลาสึกตามธรรมเนียม ตั้งแต่ข้าพเจ้าบวชได้ลงมากรุงเทพฯครั้งเดียวเท่านั้น พักอยู่ ๓ วัน พอเฝ้าทูลลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็กลับขึ้นไปวัดนิเวศน์ฯ ต่อมาไม่กี่วันมีเรือไฟหลวงรับมหาดเล็กเชิญลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปถึงข้าพเจ้าฉบับ ๑ ความว่า พวกฮ่อจะลงมาตีหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตทางตะวันออกเฉียงเหนือ(คือ มณฑลอุดร)อีก จะแต่งกองทัพให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์(เวลานั้นทรงบัญชาการมหาดไทย) เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปปราบฮ่อ มีพระราชประสงค์จะให้ข้าพเจ้ามีตำแหน่งไปในกองทัพครั้งนั้นด้วย ในพระราชหัตถเลขาตรัสว่า "เมื่อรับกฐินแล้วขอนิมนต์ให้สึกโดยเร็ว" ข้าพเจ้าทราบก็ยินดี ด้วยเป็นทหารจะได้ไปเห็นการทัพศึก รีบสั่งให้โหรหาฤกษ์ เฉพาะไปได้ฤกษ์ตรงกับวันที่จะพระราชทานพระกฐิน

สมเด็จพระสังฆราชท่านปรึกษากับเจ้าคุณอมราฯว่าข้าพเจ้าควรจะอยู่ให้เสร็จพิธีกรานกฐินเสียก่อน แล้วจึงสึกเมื่อตอนดึกในค่ำวันนั้น ครั้นถึงวันพระราชทานกฐิน พอเสด็จกลับแล้วข้าพเจ้าไปถวายสักการลาเจ้าคุณอมราฯ ท่านบอกว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงปรารภว่ามีความขัดข้องอยู่อย่างหนึ่งในการที่ข้าพเจ้าจะสึกในค่ำวันนั้น ด้วยพระสงฆ์ต้องสภาคาบัติเพราะค่ำวันนั้นนุ่งห่มผ้าไตรย้อมขมิ้นที่พระราชทานในการพระกฐินด้วยกันทั้งวัด แม้สมเด็จพระสังฆราชเองเมื่อก่อนวันทอดพระกฐินเข้าไปสวดมนต์ที่พระตำหนักใหม่ของพระอัครชายาเธอฯก็ไปห่มผ้าไตรย้อมขมิ้นเป็นอาบัติอย่างเดียวกัน จะรับปลงอาบัติให้ไม่ได้ ขอให้บอกข้าพเจ้าว่าเมื่อบวชได้บวชโดยบริสุทธิ์แล้ว จะสึกก็ควรให้บริสุทธิ์อย่าให้อาบัติติดตัวไปจึงจะสมควร ความยากก็เกิดขึ้น ด้วยพระสงฆ์ธรรมยุตซึ่งจะรับแสดงอาบัติมีอยู่ถึงวัดเสนาสน์ฯที่พระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างใกล้ ในเวลากำลังมาปรึกษากันอยู่ที่ตำหนักนั้น เผอิญเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ไปหา ท่านมีแก่ใจให้ยืมเรือไฟของท่านรับพระขึ้นไปแสดงอาบัติที่วัดเสนาสน์ฯ จึงวานคุณทรัพย์ขึ้นไปแสดงอาบัติบริสุทธิ์แล้วกลับมารับอาบัติข้าพเจ้าได้ทันเวลา

พิธีการสึกนั้นทำที่พระอุโบสถ ข้าพเจ้านิมนต์สมเด็จพระสังฆราชกับเจ้าคุณอมราฯ และพระฐานานุกรมอีก ๓ รูปนั่งเป็นคณะปรก พิธีก็ทำง่ายๆข้าพเจ้าเข้าไปกราบแล้วนั่งคุกเข่าประณมมือกล่าวแก่พระสงฆ์ว่า "คีหิติ มํธาเรถ" ถ้าแปลก็ว่า "ท่านทั้งหลายจงถือว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัส" แต่เมื่อว่าไปแล้วเห็นสมเด็จพระสังฆราชท่านนั่งนิ่งเฉยอยู่ ข้าพเจ้าก็ประนมมือนั่งคุกเข่านิ่งอยู่ ประเดี๋ยวท่านสั่งให้ข้าพเจ้าว่าอีก แต่ให้ว่าอยู่เช่นนั้นซ้ำถึงสี่ห้าครั้ง เมื่อว่าครั้งหลัง ท่านหันไปถามเจ้าคุณอมราฯว่า "เห็นจะขาดละนะ" เจ้าคุณอมราฯรับว่า "ขาดแล้ว" ท่านจึงบอกให้ข้าพเจ้าไปเปลื้องไตรผลัดผ้าเป็นคฤหัส ทีทำเช่นนั้นเพราะท่านถือว่าการที่สึกใจต้องสิ้นอาลัยจริงๆ จึงจะขาดจากเพศสมณะถ้าใจยังอาลัยอยู่ถึงปากจะว่าอะไรก็ไม่ขาด ถ้าไปทำอะไรละเมิดพระวินัยก็จะเกิดเป็นปาบกรรมฐานภิกษุทุศีล จึงให้ว่าลาสึกซ้ำอยู่จนเห็นว่าใจสิ้นอาลัยจริงๆแล้วก็อนุญาตให้สึก

ครั้งนั้นจะเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงเมืองลพบุรีด้วย เมื่อสึกแล้วข้าพเจ้าเตรียมตัวจะไปตามเสด็จในตำแหน่งราชองครักษ์ แต่รุ่งขึ้นเช้าไปถวายพระราชกุศลมีพระราชดำรัสว่า อย่าไปตามเสด็จเลย ให้รีบกลับกรุงเทพฯเตรียมตัวไปทัพ พอเสด็จไปแล้วไม่มีเรืออื่น ข้าพเจ้าจึงขอยืมเรือแวดของหลวงสุนทรภักดีที่บ้านแป้ง ให้คนแจวลงมาจากวัดนิเวศน์ฯในเย็นวันนั้น จนใกล้รุ่งสว่างจึงมาถึงบ้าน แต่การที่จะไปทัพนั้น ต่อมาอีก ๑๕ วันก็บอกเลิก ด้วยได้ข่าวว่าพวกฮ่อถอยหนีไปหมดแล้ว เพราะรู้ว่าทางหัวเมืองเตรียมกองทัพไว้ไม่ประมาทเหมือนหนหลัง

ตั้งแต่สึกแล้วข้าพเจ้าก็ห่างกับเจ้าคุณอมราฯมาหลายปี เพราะนานๆท่านจึงลงมากรุงเทพฯครั้งหนึ่ง แต่เวลาข้าพเจ้าขึ้นไปบางปอินคราวใดก็ไปหาท่านเสมอ นอกจากตัวข้าพเจ้า ในเจ้านายมีกรมพระสมมตฯอีกพระองค์หนึ่งซึ่งสนิทชิดชอบกับท่าน เพราะทรงผนวชอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯเมื่อท่านยังอยู่วัดนั้น มักไปหาท่านเหมือนกับข้าพเจ้า เรื่องเนื่องกับประวัติของท่านในระยะนี้ ดูเหมือนขุนปฏิบัติชินบุตร บิดาของท่านถึงแก่กรรม(หรือจะถึงแก่กรรมก่อนข้าพเจ้าบวชก็จำไม่ได้แน่) และทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานฐานานุศักดิ์ให้ท่านตั้งพระวินัยธรกับพระวินัยธรรมได้อีก ๒ รูป เสมอยศเจ้าคณะจังหวัด นอกจากนั้นก็ที่มีคนศรัทธามาบวชเรียนในวัดนิเวศน์ฯมากขึ้น จนต้องสร้างกุฏิคณะนอกเพิ่มเติมดังกล่าวมาแล้ว


Create Date : 22 มีนาคม 2550
Last Update : 22 มีนาคม 2550 11:31:12 น. 1 comments
Counter : 2958 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


มามีเหตุสำคัญเกิดขึ้นเนื่องในประวัติของเจ้าคุณอมราฯเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ในปีนั้นข้าพเจ้าตามเสด็จขึ้นไปบางปอิน เมื่อเข้าพรรษาไปถวายพุ่มตามเคย เห็นท่านผ่ายผอมและผิวพรรณหม่นหมองผิดกับแต่ก่อน ถามอาการท่ายตอบว่าไม่ใคร่สบาย ไม่บอกว่าป่วยเจ็บอย่างไร กรมพระสมมตฯก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ครั้นเมื่อออกพรรษาตามเสด็จขึ้นไปทอดพระกฐิน ไปหาเจ้าคุณอมราฯอีก ดูท่านยังหม่นหมองอยู่เช่นนั้น แต่คราวนี้ถามท่านๆบอกให้ทราบว่า ความเบื่อหน่ายสมณเพศเกิดขึ้นกับท่านมาหลายเดือนแล้ว เพียรระงับสักเท่าใดก็ไม่ระงับได้ เห็นจะต้องลาสิกขาเป็นสิ้นวาสนาเพียงนั้น กรมพระสมมตฯกับข้าพเจ้าไม่อยากให้ท่านสึก ต่างอ้อนวอนห้ามปรามท่านก็ไม่ยอม พูดจาชี้แจงแก่ท่านอย่างไร ท่านก็โต้แย้ง ประหลาดใจในคำโต้แย้งของท่านนั้นมักยกเอาคำกลอนในเรื่องพระอภัยมณีมาท่องอ้าง ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้จักกับท่านมาไม่เคยได้ยินท่านพูดถึงเรื่องประโลมโลก หรือได้ยินว่าท่านอ่านหนังสือเรื่องใด ซึ่งในทางศาสนาปรับว่าเป็น "ติรัจฉานกถา" มาแต่ก่อน เห็นจะจับอ่านหนังสือพระอภัยมณีเมื่อเกิดไม่สบายนั่นเอง เป็นอันรู้ว่าท่านเป็นโรคซึ่งชาววัดเรียกว่า "โรคกระสัน" อันเป็นเหตุที่พระราชาคณะและเปรียญสึกมาแต่ก่อนโดยมาก ที่จริงพระภิกษุเป็นโรคอย่างนี้มีมาแต่พุทธกาล ปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าเช่น นิบาตชาดกเป็นต้นหลายเรื่อง แต่พระคันถรจนาจารย์เห็นจะยกมาแสดงแต่เฉพาะเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงสามารถแสดงพระธรรมเทศนาให้กลับใจได้

ในเรื่องเจ้าคุณอมราฯ กรมพระสมมตฯกับข้าพเจ้าปรึกษากันเห็นว่าอาการโรคหนักเสียแล้ว ยังมีแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์เดียวที่จะทรงห้ามปรามได้ ด้วยเจ้าคุณอมราฯมีความกตัญญูมาก แต่เมื่อไปกราบทูลให้ทรงทราบ มีพระราชดำรัสว่าโรคอาการถึงเช่นพระอมราฯ ยอมให้สึกเสียดีกว่าถ้าขืนใจให้บวชอยู่ต่อไปอาจจะให้โทษแก่ตัว เมื่อท่านทราบว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะไม่ทรงขัดขวาง ก็ถวายพระพรลาสึก เมื่อต้น พ.ศ. ๒๔๓๒ เมื่อสึกนั้นอายุได้ ๓๗ ปี บวชเป็นพระภิกษุอยู่ ๑๖ พรรษา

เมื่อพระยาพฤฒาธิบดีฯสึกแล้วเข้าถวายตัวทำราชการ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้เป็นที่หลวงวิจิตรธรรมปริวัติ ตำแหน่งปลัดจางวางกรมราชบัณฑิตย์ในปีที่สึก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ นั้นต่อมา ท่านได้นางสาวพึ่ง ในสกุลคหบดีอันหนึ่งเป็นภรรยา มีบุตรธิดาด้วยกัน คือ

๑. บุตรชื่อ ทิพย์
๒. ธิดาชื่อ เอิบ แต่งงานเป็นภรรยานายพันโทหลวงเสรีเริงฤทธิ์(จรูญ รัตนกุล)
๓. บุตรชื่อ อวบ
๔. บุตรชื่อ ชิต
๕. บุตรชื่อ ศิริ
๖. ธิดาชื่อ อัมพัน

คุณหญิงพึ่งถึงแก่กรรมไปเสียก่อน แต่บุตรธิดายังมีตัวอยู่ทุกคน ได้ทำการปลงศพสนองคุณท่านด้วยกันกับนายพันโทหลวงเสรีเริงฤทธิ์ผู้เป็นบุตรเขยในครั้งนี้ อันสมควรจะได้รับอนุโมทนาของสาธุชนทั่วไป

เหตุที่พระยาพฤฒาธิบดีฯจะได้มาอยู่ร่วมราชการกับข้าพเจ้าเมื่อเป็นคฤหัสถ์ด้วยกันนั้น ท่านสึกมาแล้วไม่ช้าประจวบเวลาตั้งกระทรวงธรรมการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการคนแรก เมื่อหาคนเข้าบรรจุตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ข้าพเจ้าคิดว่า หลวงวิจิตรธรรมปริวัติอยู่ในกรมราชบัณฑิตย์ไม่มีอะไรทำเป็นแก่นสารสมคุณวุฒิ เงินเดือนก็ไม่ได้ จึงชวนท่านมาทำราชการในกระทรวงธรรมการเป็นตำแหน่งนายเวรกรมสังฆการี ด้วยเห็นว่าท่านชำนาญระเบียบการพิธีสงฆ์และรู้จักพระสงฆ์มาก ท่านก็สามารถทำการตามหน้าที่ได้ดี แต่ได้อยู่ด้วยกันในกระทรวงธรรมการเพียง ๓ ปี

พอถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าย้ายจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้ายังไม่คุ้นเคยกับข้าราชการในกระทรวงนั้น เห็นว่าถ้าเอาคนที่เคยใช้สอยไปด้วยหลายคนก็จะไปเกิดเป็นที่รังเกียจ จึงเอาไปด้วยแต่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่หลวงพิศาลศิลปศาสตร์ ตำแหน่งเลขานุการประจำตัวของข้าพเจ้าแต่คนเดียว เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จฯไปได้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระมนตรีพจนกิจในกระทรวงมหาดไทย ทางกระทรวงธรรมการ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ผู้บัญชาการต่อข้าพเจ้าก็กราบบังคมทูลขอเปลี่ยนที่หลวงวิจิตรธรรมปริวัติเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ และย้ายหน้าที่จากกรมสังฆการีมาเป็นนายเวรสารบรรณ พนักงานเก็บหนังสือของกระทรวงธรรมการ และต่อมาให้เป็นพนักงานสอบความรู้นักเรียนด้วยคนหนึ่ง พระยาพฤฒาธิบดีฯพรากกันกับข้าพเจ้าในตอนนี้ ๕ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านมาบอกข้าพเจ้าว่าไม่อยากอยู่ในกระทรวงธรรมการต่อไป ข้าพเจ้าจึงทูลขอมารับราชการเป็นปลัดกรมสำรวจในกระทรวงมหาดไทย รับราชการอยู่ในตำแหน่งนี้ปีหนึ่ง ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ ความรำคาญเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า ด้วยได้ยินคนภายนอกนินทาพนักงานห้องเสมียนตรา ซึ่งมีหน้าที่ออกท้องตราและหนังสือเดินทาง ว่าทำการมีพวกพ้องเป็นนายหน้า ข้าพเจ้าจึงให้ท่านไปเป็นตำแหน่งเสมียนตรา ด้วยเชื่อความซื่อตรงของท่าน ก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นพระพจนวิลาศ รับราชการในตำแหน่งนั้นโดยเรียบร้อยมาถึง ๑๓ ปี

ในระหว่างเวลาที่ พระยาพฤฒาธิบดีฯ เป็นที่พระพจนวิลาศอยู่นั้น มีกรณีซึ่งควรนับว่าเป็นบุญของท่านเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง จะเป็นเมื่อปีใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ถวายฆ้องชัยของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดว่าเสียงไพเราะไม่มีฆ้องอื่นเสมอ ทรงปรารภว่าจะเป็นแต่เก็บไว้ดูเล่นก็ป่วยการ ทรงพระราชดำริว่า ในงานเชลยศักดิ์ ถ้ามีสวดมนต์เลี้ยงพระเป็นการมงคล เขาย่อมลั่นฆ้องชัยเวลาเมื่อพระสงฆ์สวดจบสูตรหรือบทบาลีเป็นระยะไปจนตลอด ควรจะเอาอย่างมาใช้ ให้ตีฆ้องชัยใบนั้นเมื่อพระสงฆ์สวดนวหายุสมธรรม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา แต่มีความลำบากอยู่ด้วยพระปริตนวหายุสมธรรมนั้น สมเด็จพระสังฆราชทรงเรียบเรียงขึ้นใหม่และยืดยาวมาก ไม่เหมือนพระปริตเจ็ดตำนานที่สวดและจำกันได้แพร่หลายในพื้นเมือง จะต้องเป็นผู้รู้นวหายุสมธรรมจึงจะตีฆ้องชัยให้ถูกระยะได้

ทรงระลึกอยู่สักครู่หนึ่งแล้วดำรัสว่า "มีตัวแล้ว เอาตาอ่อน(คือพระยาพฤฒาธิบดีฯ)ของกรมดำรงนี่เอง เมื่อบวชอยู่วัดราชประดิษฐฯเคยสวดนวหายุสมธรรม คงตีฆ้องถูก" โปรดฯให้ข้าพเจ้าไปถาม ท่านก็ยินดีรับสนองพระเดชพระคุณ ถึงวันงานต้องนุ่งขาวใส่เสื้อขาวคาดผ้ากราบขาว เข้าไปทำพระราชพิธีกับพวกโหรด้วยกัน เมื่อเสร็จงานเฉลิมพระชันษาเคยพระราชทานบำเหน็จแก่พวกโหร พระพจนวิลาศเข้าไปตีฆ้องชัยก็ได้รับพระราชทานบำเหน็จด้วยปีละ ๔๐ บาท

แต่เมื่อเข้าไปรับพระราชททานบำเหน็จนั้น พวกโหรเขามีแบบคำมงคลขึ้นด้วยคาถา ทิวาตปติ อาทิจฺโจฯ แล้วมีคำถวายพระพรเป็นภาษาไทยต่อไป เมื่อปีแรกพระพจนวิลาศเข้าไปรับพระราชทานบำเหน็จ ท่านเตรียมจะถวายพระพรตามอย่างโหร พอเอ่ยคำต้น ก็มีพระราชดำรัสห้ามว่า "แกเป็นราชาคณะไม่ใช่โหร ควรจะอติเรก" ท่านก็เปลี่ยนทันพระกระแส ขึ้น "ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม อติเรกวสฺสสตํ ชีวตุ ฯลฯ" เมื่อลงท้ายต่อบท "ภวตุ สพฺพทา" ท่านเติม "ขอเดชะ" เข้าข้างท้ายแล้วถวายบังคม บรรดาผู้รู้ที่ได้ฟัง รวมทั้งพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย ไม่มีใครกลั้นยิ้มได้ ด้วยพึ่งเห็นคฤหัสถ์ถวายอดิเรกอย่างพระเป็นครั้งแรก แต่ตัวท่านเองตั้งใจถวายพระพรอย่างเคร่งครัด ไม่กระดากเลย การที่ต้องเลือกหาพระราชาคณะลาสิกขาเป็นผู้ตีฆ้องชัยในงานพระราชพิธีสวดนวหายุสมธรรม กับที่ต้องถวายอดิเรกเมื่อรับพระราชทานบำเหน็จ ก็เลยเป็นธรรมเนียมสืบมาแต่นั้น

พระยาพฤฒาธิบดีฯได้รับราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าทั้งในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย ถ้านับเวลารวมกัน ๑๖ ปี สังเกตความประพฤติของท่านมีความหมั่นเพียรและความมั่นคงเป็นข้อสำคัญในจริยวัตร มาทำงานตรงเวลาและไม่ทิ้งงานจนเสร็จธุระประจำวัน การอันใดที่ให้ท่านทำเป็นหน้าที่ ท่านทำการงานนั้นโดยพินิจสถิรและซื่อตรงมิให้ติได้ อีกประการหนึ่งท่านไว้วางอัธยาศัยต่อเพื่อนข้าราชการเหมาะแก่ฐานะ คือฟังคำสั่งผู้มีตำแหน่งเหนือตัวท่าน แม้เป็นเด็กกว่าก็ไม่แสดงความรังเกียจ วางตนเป็นสหายกับผู้ที่มีตำแหน่งชั้นเดียวกันและเมตตากรุณาต่อผู้น้อยที่อยู่ในบังคับบัญชา และไม่หย่อนตัวให้ผู้ใดดูหมิ่น ไม่มีใครทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยที่จะรังเกียจเกลียดชังท่าน ถ้าว่าถึงความสามารถ ท่านได้รับการอบรมและทรงคุณวิเศษมาในสมณเพศ ลาสิกขามาเริ่มรับราชการอย่างคฤหัสถ์เมื่ออายุเกือบจะถึง ๔๐ ปีแล้ว พ้นเวลาที่จะเกณฑ์ให้ท่านศึกษาวิชาการบ้านเมืองเหมือนอย่างคนที่ยังหนุ่ม

ข้าพเจ้าจึงเลือกตำแหน่งให้ท่านทำการซึ่งเห็นเหมาะแก่คุณวุฒิของท่าน เพราะเหตุนั้นท่านจึงมิได้มีโอกาสออกไปรับราชการหัวเมือง ฝ่ายตัวท่านเองก็เห็นจะปลงใจเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่านแสดงความปรารถนาจะเป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันช้านาน ถ้าหากเป็นผู้ลุแก่อคติก็น่าจะถือเหตุที่เคยเป็นครูบาอาจารย์มาใช้เป็นปัจจัยทวงให้ข้าพเจ้ายกย่องสนองคุณ แต่ไม่มีเลยที่ท่านจะแสดงอาการเช่นนั้นแม้แต่สักหน่อยหนึ่ง ความจริงตรงกันข้าม ดูท่านระวังอยู่เสมอมิให้ใครติได้ในข้อนั้น ข้าราชการคนอื่นเคารพนบนอบต่อข้าพเจ้าอย่างไร ท่านก็เคารพนบนอบอย่างนั้นเป็นนิจ ตัวข้าพเจ้าเองเสียอีกมักจะพลาดพลั้งด้วยแสดงอาการเคารพต่อท่านผิดกับผู้อื่นเนืองๆ ดังเช่นพูดกับท่านเมื่อยังเป็นพระพจนวิลาศ มักเรียกท่านว่า "เจ้าคุณ" โดยติดปากมาแต่ท่านยังบวชอยู่

แต่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นประจักษ์ใจ ว่าความที่ท่านรักข้าพเจ้าอย่างอาจารย์รักศิษย์อยู่ในใจของท่านเสมอไม่บกพร่องจนตลอดเวลาของท่าน ถ้ามีโอกาสจะทำคุณแก่ข้าพเจ้าเมื่อใดเป็นทำเสมอ แต่ทำตามถนัดของท่าน เป็นต้นว่าข้าพเจ้าทำบุญมีการพิธีสงฆ์เมื่อใด ท่านเป็นมาทำกิจสังฆการีให้เป็นนิจ ถึงวันเกิดของข้าพเจ้าหรือเมื่อข้าพเจ้าได้เลื่อนกรม ก็มาอำนวยพรเสมอไม่ขาด แต่ที่จับใจข้าพเจ้ามากที่สุดนั้นในเวลามีทุกข์โศก เช่นเกิดการสิ้นชีพในครอบครัวของข้าเจ้า ถ้าท่านสังเกตเห็นว่าข้าพเจ้ามีความวิโยคโศกศัลย์เมื่อใด ก็แต่งพระธรรมเทศนาเขียนเป็นอย่างจดหมายใส่ซองเอามายื่นให้อ่าน ปลอบใจให้ระงับทุกข์ด้วยพระบรมพุทโธวาทแทบทุกคราว ที่ท่านไม่สั่งสอนด้วยวาจาก็เห็นจะเป็นเพราะเกรงคนอื่นติเตียนว่าท่านตั้งตัวเป็นอาจารย์เสนาบดี และมีอีกอย่างหนึ่งในความประพฤติของท่านที่ควรจะกล่าวไว้ด้วย คือตลอดเวลาที่ได้สมาคมกับข้าพเจ้ามา ท่านไม่เคยขอลาภสักการอย่างใดต่อข้าพเจ้าเลย จะให้ก็ให้เอง และท่านไม่เคยรบกวนข้าพเจ้าในกิจธุระของท่าน เว้นแต่เมื่อใดมีความเดือดร้อนจึงมาปรึกษาหารือ

จะยกมากล่าวเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อท่านยังเป็นพระพจนวิลาศ เคยมาปรับทุกข์กับข้าพเจ้าว่าบุตรธิดามีมากขึ้น บ้านเรือนที่อยู่คับแคบไม่พอกัน ข้าพเจ้าแนะให้ท่านทูลเกล้าฯถวายฎีกา ขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ด้วยตระหนักใจว่าท่านอยู่ในบุคคลซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเมตตากรุณามาแต่เดิม ถวายฎีกาก็ได้รับพระราชทานบ้านหลวงที่ริมถนนพระสุเมรุ มีเรือนชานพร้อมเสร็จเป็นที่อยู่กับครอบครัวมาจนตลอดอายุของท่าน

พระยาพฤฒาธิบดีฯเป็นที่พระพจนวิลาศ รับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และรับหน้าที่ตีฆ้องชัยในการพระราชพิธีเฉลิมพระชันษามาจนตลอดรัชกาลที่ ๕ และได้รับราชการเช่นนั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๖ อีก ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนขึ้นเป็ปน "พระยาพฤฒาธิบดี ศรีสัตยานุรักษ์" ตำแหน่งผู้กำกับการถือน้ำ อันมีในทำเนียบกระทรวงมหาดไทย ๒ คนคือ พระยาพฤฒาธิบดีฯ ๑ พระยาวจีสัตยารักษ์ ๑ ในกระทรวงกลาโหม ๒ คนคือ พระยาวิเศษสัจธาดา ๑ พระยาจิรายุมนตรี ๑ มักทรงตั้งข้าราชการที่สูงอายุ พออายุครบ ๖๐ ปี พระยาพฤฒาธิบดีฯก็ได้รับตำแหน่งนั้น แต่มาถึงตอนเมื่อพระยาพฤฒาธิบดีฯถึงเขตชรานี้เกิดทุพพลภาพอย่างหนึ่งด้วยหัวเข่าฟกทานน้ำหนักของตัวท่านที่สูงใหญ่มิใคร่ไหว จะลุกนั่งหมอบคลานมักปวดหัวเข่า แรกยังเป็นน้อย ท่านก็ทนทำงาน แต่อาการหนักขึ้นทุกที ในรัชกาลที่ ๖ เข้าไปตีฆ้องชัยได้สักสองปี ก็มาร้องทุกข์บอกอาการแก่ข้าพเจาว่าเห็นจะทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ข้าพเจ้าจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯขอให้เปลี่ยนตัว โปรดฯให้หลวงพิบูลย์บรรณกิจ(หรุ่ม อมรรักษ์ ป.๙)ซึ่งเคยเป็นพระราชาคณะที่พระราชเทวีอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรฯมาศึกษาต่อพระยาพฤฒาธิบดีฯ แล้วรับหน้าที่แทนต่อมา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้าพเจ้ามีอาการป่วยทรุดโทรม ถึงต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ข้าพเจ้าเป็นตำแหน่งเสนาบดีที่ปรึกษา และให้รับหน้าที่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครต่อมา ในปีนั้นเองพระยาพฤฒาธิบดีฯมีความทุพพลภาพมากขึ้น ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งราชการประจำ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ เมื่อท่านออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ยังตามมาช่วยงานในหอพระสมุดด้วย เพราะอยู่เปล่าๆท่านรำคาญใจ และงานหอพระสมุดไม่หนักนักพอจะทำได้ เวลาข้าพเจ้ามีการบุญท่านก็ไปช่วยเหมือนแต่ก่อน ต่อมาอีกหลายปี จนอาการที่หัวเข่าฟกหนักขึ้นถึงจะขึ้นลงบันไดเรือนท่านเองก็ลำบาก ท่านจึงอยู่แต่กับบ้าน แต่นั้นมาได้พบกับข้าพเจ้าแต่เมื่อขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าไปแสดงความเคารพรดน้ำสงกรานต์ ท่านยังอุตส่าห์แต่งตัวรับเหมืออย่างจะเข้าไปยังสำนักงานทุกคราว ห้ามก็ไม่ฟัง พึ่งมาขาดหน้าไม่ได้พบกันเพราะข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯสองปีมานี้ รู้สึกเสียดายยิ่งนักที่มิได้ไปเยี่ยมเมื่อท่านป่วยครั้งหลัง พระยาพฤฒาธิบดี ศรีสัตยานุการป่วยเป็นโรคชรา ถึงอนิจกรรมในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่อถึงอนิจกรรมอายุได้ ๘๒ ปี

สิ้นเรื่องประวัติของพระยาพฤฒาธิบดี ศรีสัตยานุการ(อ่อน โกมลวรรธนะ)เปรียญ เพียงเท่านี้.


..............................................................................................................................................................


ประวัติบุคคลสำคัญ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง ประวัติอาจารย์
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:10:56:58 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com