กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



...............................................................................................................................................

พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระนามเดิม จุ้ย ประสูติครั้งกรุงธนบุรี เมื่อวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๑๖ เป็นพระองค์ที่ ๗ ตามลำดับสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ซึ่งประสูติก่อนปราบดาภิเษกทั้ง ๙ พระองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น สมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ยมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา จึงไม่ได้ทรงรับกรมในครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาพระยศเจ้านายซึ่งมีความชอบต่อแผ่นดิน เนื่องในการปราบดาภิเษก ต่อมาอีกไม่ทราบปีแน่ แต่ประมาณกันว่าราว พ.ศ. ๒๓๓๕ มีเจ้าฟ้าลูกเธอหลานเธอได้รับพระราชทานกรม ๔ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าหญิง ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชาย ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชายทั้ง ๒ นั้นพระนามพ้องกันว่าจุ้ย พระองค์ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุ้ย ทรงสถาปนาเป็น กรมขุนเสนานุรักษ์ อีกพระองค์ ๑ คือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าจุ้ยเป็น กรมขุนพิทักษ์มนตรี

ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนานทสวรรคต และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรรับพระราชทานอุปราชาภิเษกแล้ว ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๕๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ขึ้นเป็นกรมหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้รับพระบัณฑูรน้อยด้วย

ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีพระราชทานอุปราชาภิเษก สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อย ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งพระมหาอุปราช

ในรัชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวรฯ เป็นกำลังราชการเป็นอันมาก ทั้งในเวลาทัพศึกและในเวลาไม่มีศึก การสงครามกับพม่าในรัชกาลนั้นยังมีอีกบ้าง เพราะเมื่อพม่าทราบว่าเมืองไทยเปลี่ยนแผ่นดิน ก็ส่งทัพซึ่งเตรียมไว้และงดไปในรัชกาลที่ ๑ นั้น ให้ยกทางเรือเข้ามาตีหัวเมืองไทยฝ่ายทะเลตะวันตกกองหนึ่ง ให้ยกทางบกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้อีกทางหนึ่ง ฝ่ายเมืองไทยได้ทราบข่าวศึก ก็โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงออกไปเกณฑ์กองทัพหัวเมืองยกไปป้องกันข้าศึกไว้ชั้นหนึ่ง แล้วให้ทัพกรุงฯ ยกตามไปอีก ๒ ทัพ

ในตอนต้นไม่ทรงทราบว่า พม่าจะยกเข้ามาทางด่านสิงขรและพระเจดีย์สามองค์หรือไม่ จึงเตรียมทัพคอยรับทั้งสองทาง คือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีกับเจ้าพระยาพลเทพทัพ ๑ กรมพระราชวังบวรฯ ทัพ ๑ ครั้นสืบได้ความได้แน่ว่าพม่าไม่ได้เตรียมจะยกมาทางด่านสิงขรและด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นจอมพลทัพหลวง ยกลงไปบัญชาการสงครามข้างฝ่ายใต้ (นายนรินทร์ธิเบศร์แต่นิราศที่เรียกกันว่า “นิราศนรินทรอิน” เมื่อตามเสด็จคราวนี้) ครั้นเสร็จราชการศึกพม่าแตกฉานไปสิ้น และทรงจัดราชการหัวเมืองเสร็จแล้ว กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสด็จยกทัพหลวงคืนพระนคร การรบพม่าครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่พม่ายกเข้ามาในแดนไทย

เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับจากราชการสงครามนั้น ประชวรไข้ป่าพระอาการหนักมาก ครั้นหายประชวรแล้วจึงเสด็จออกบรรพชาอุปสมบทอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๗ วัน จึงลาผนวช

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นพระราชภาดาพระองค์เดียวที่ร่วมพระราชชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อีกพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์) มีพระราชอัธยาศัยชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชแต่ทรงพระเยาว์ด้วยกัน เมื่อทรงรับตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว ก็ไม่เปลี่ยนแปลงพระราชอัธยาศัย เสด็จลงไปรับราชการในพระราชวังหลวงมิใคร่ขาด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป กล่าวกันต่อๆ มาว่า กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปพระราชวังหลวง ตอนเช้าประทับที่โรงละครข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก ทรงตรวจตราบัญชาราชการต่างๆ แล้วจึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ได้ทรงปฏิบัติเช่นนั้นจนสวรรคต นับว่าพระองค์เป็นกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งทรงทำราชการแผ่นดินร่วมกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน หาใช่ทรงรับแบ่งไปส่วนหนึ่งไม่

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ประชวรพระยอดก่อน โปรดให้ผ่าแล้วกลายเป็นพิษ สวรรคตที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๐ พระชนมายุ ๓๗ ปี

การก่อสร้างในรัชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงทำ คือเป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ทรงสร้างวัดที่เมืองนั้นวัด ๑ คือวัดทรงธรรม ทรงปฏิสังขรณ์วัดเก่าในกรุงเทพฯ ๒ วัด คือ วัดลิงขบ พระราชทานนามว่าวัดบวรมงคล ๑ วัดเสาประโคน พระราชทานนามว่า วัดดุสิดาราม ๑ และได้ทรงแก้ไขในพระราชวังบวรฯ หลายแห่ง


ราชสกุลในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


Create Date : 19 กันยายน 2550
Last Update : 19 กันยายน 2550 11:28:04 น. 1 comments
Counter : 6348 Pageviews.  
 
 
 
 
เขียนบล็อกได้ดีมากเลยครับ
loans line
 
 

โดย: lavenderbreeze999 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2554 เวลา:21:33:30 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com