24.1 พระสูตรหลักถัดไป คือเทวทหสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
23.16 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]

ความคิดเห็นที่ 7-6
GravityOfLove, 9 พฤศจิกายน เวลา 11:50 น.

             ข้อ ๑๒
             เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จักยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
วิราคะ (คลายกำหนัด) ย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร
              อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อวางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่
วิราคะก็ย่อมมีได้
             แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว

             แปลว่า ทราบว่าตัวเองยังมีเหตุแห่งทุกข์ จึงเพียร, จึงบำเพ็ญอุเบกขา
เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็สลัดทุกข์ได้ (นิพพาน)
             ถูกต้องไหมคะ
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-7
ฐานาฐานะ, 9 พฤศจิกายน เวลา 12:28 น.

              ถูกต้องครับ.

ความคิดเห็นที่ 7-8
GravityOfLove, 9 พฤศจิกายน เวลา 12:30 น.

ขอบพระคุณค่ะ
กำลังเริ่มอ่านอรรถกถาค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-9
ฐานาฐานะ, 9 พฤศจิกายน เวลา 12:33 น.

              รับทราบครับ.

ความคิดเห็นที่ 7-10
GravityOfLove, 9 พฤศจิกายน เวลา 13:58 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
             ๑. เทวทหสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สักยนิคม อันมีนามว่า เทวทหะ ในสักกชนบท
             พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
             มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า
             ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี
มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ใน (กาล) ก่อน
             เมื่อหมดกรรมเก่าด้วยตบะ และไม่ทำกรรมใหม่ ก็เป็นอันจะไม่ถูกบังคับต่อไป
(จะไม่อยู่ใต้อำนาจกรรมอีกต่อไป)
             เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม
             เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์
             เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา
            เพราะสิ้นเวทนา ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว
             พวกนิครนถ์มักมีวาทะอย่างนี้
(นิครนถ์ หมายถึงนักบวชนอกพุทธศาสนาพวกหนึ่งมีนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นเจ้าลัทธิ)
             เราเข้าไปหาพวกนิครนถ์ผู้มีวาทะอย่างนี้แล้วถามว่า
             พวกท่านมีวาทะอย่างนี้จริงหรือ
             พวกนิครนถ์ตอบยืนยันว่า ใช่
             เราจึงถามพวกนิครนถ์ว่า พวกท่านทราบละหรือว่า
             ๑. เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว
             ๒. เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้
             ๓. เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ (อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง)
             ๔. ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย
หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้วจักเป็นอันเราสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด
             ๕. การละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบัน (เป็นอย่างไร)
             พวกนิครนถ์ทูลตอบทุกข้อว่า หามิได้เลย
             ตรัสว่า
             (ทั้ง ๕ ข้อ) เท่าที่พูดกันมานี้เป็นอันว่า พวกท่านไม่ทราบเลย
             เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า
             ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
             เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรที่มียาพิษ พึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์
จากการเสียดแทงของลูกศร ตลอดจนจากการรักษาของหมอจนหาย
             ต่อมา เมื่อเขาหายแล้ว มีความคิดอย่างนี้ว่า
             เมื่อก่อน เราถูกยิงด้วยลูกศรที่มียาพิษ ได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
เดี๋ยวนี้ เราหายแล้ว ไปไหนมาไหนได้ ฉันใด
             ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพวกนิครนถ์ผู้มีอายุพึงทราบเหมือนบุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศร
พวกนิครนถ์ผู้มีอายุควรจะพยากรณ์ได้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นของอันปุริสบุคคลนั้นสลัดได้แล้ว
             แต่พวกนิครนถ์ผู้มีอายุไม่ทราบ จึงไม่บังควรพยากรณ์
             พวกนิครนถ์นั้นได้กล่าวกับเราว่า
             ท่านนิครนถ์นาฏบุตร เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง เป็นผู้เห็นธรรมทั้งปวง
ยืนยันญาณทัสสนะตลอดทุกส่วน (อย่างเบ็ดเสร็จ) ว่า
             เมื่อเราเดินก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะได้ปรากฏติดต่อเสมอไป
             บาปกรรมที่พวกท่านทำไว้ในก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย
ด้วยปฏิปทาประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยากอันเผ็ดร้อนนี้
             ท่านทั้งหลายเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ในบัดนี้นั้น เป็นการ
ไม่ทำบาปกรรมต่อไป
             หมดกรรมเก่าด้วยตบะ ไม่ทำกรรมใหม่ จักมีความไม่ถูกบังคับต่อไป
             เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป จักมีความสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จักมีความสิ้นทุกข์
เพราะสิ้นทุกข์ จักมีความสิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด
             ก็แหละคำนั้นถูกใจและควรแก่พวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าจึงได้ชื่นชม
(พวกข้าพเจ้าพอใจและเห็นด้วย)
             เราได้กล่าวกับพวกนิครนถ์นั้นว่า
             ธรรม ๕ ประการนี้ มีวิบาก ๒ ทางในปัจจุบัน (คือผิดก็ได้ ถูกก็ได้)
             ธรรม ๕ ประการคือ
             ๑. ความเชื่อ (ศรัทธา)
             ๒. ความชอบใจ (รุจิ)
             ๓. การฟังตามเขาว่า (อนุสสวะ)
             ๔. ความตรึกตามอาการ (อาการปริวิตก)
             ๕. ความปักใจดิ่งด้วยทิฐิ (ทิฏฐินิชฌานขันติ)
             บรรดาธรรม ๕ ประการนั้นพวกนิครนถ์ผู้มีอายุ มีความเชื่ออย่างไร
ชอบใจอย่างไร ร่ำเรียนมาอย่างไร ได้ยินมาอย่างไร ตรึกตามอาการอย่างไร
ปักใจดิ่งด้วยทิฐิอย่างไร ในศาสดาผู้มีวาทะเป็นส่วนอดีต
             (พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ มีความเชื่ออย่างไร ความเชื่อเหล่านั้นว่า อาจจะเป็นเท็จได้
จะเชื่อถืออะไรในศาสดาผู้มีวาทะอันเป็นส่วนอดีต)
             เรามีวาทะอย่างนี้แล จึงไม่เล็งเห็นการโต้ตอบวาทะอันชอบด้วยเหตุอะไรๆ
ในพวกนิครนถ์
             เรากล่าวกับพวกนิครนถ์นั้นต่อไปอีกอย่างนี้ว่า
             สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น พวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดจากความพยายามแรงกล้า
             แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น  พวกท่านย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดจากความพยายามแรงกล้า
             นิครนถ์รับว่า เป็นเช่นนั้น
             เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุ ไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า
ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
             (สมัยใดทำความเพียรตามวัตรของนิครนถ์ ก็ได้ทุกขเวทนา
สมัยใดไม่ทำ ก็ไม่ได้ทุกขเวทนา ดังนั้นจึงไม่ควรไปอ้างกรรมเก่า)
             ถ้าสมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดจากความพยายามพึงหยุดได้เอง
             และสมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดจากความพยายามพึงหยุดได้เอง
             เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควรพยากรณ์ได้ว่า ปุริสบุคคล
นี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
             (สมัยใดทำความเพียรตามวัตรของนิครนถ์ ก็ได้ทุกขเวทนา
ทั้งความเพียรนั้นก็หยุดได้เอง คือหยุดทำได้เอง จึงไม่ควรไปอ้างกรรมเก่า)
             ก็เพราะเหตุที่ สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า
มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้น พวกท่านจึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
อันเกิดจากความพยายามแรงกล้า
             แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า ไม่มีความเพียรแรงกล้า
สมัยนั้น พวกท่านจึงไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดจากความพยายามแรงกล้า
             พวกท่านนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อันเกิดแต่ความเพียรเองทีเดียว
ย่อมเชื่อผิดไปเพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ เพราะความหลงว่า
             ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
             เรามีวาทะแม้อย่างนี้แล จึงไม่เล็งเห็นการโต้ตอบวาทะอันชอบด้วยเหตุ
อะไรๆ ในพวกนิครนถ์
             (ทุกขเวทนาที่ได้รับนั้น เกิดจากการทำความเพียรเอง แต่หลงเองว่า
เกิดจากกรรมเก่า)

ความพยายามที่ไร้ผล ความเพียรที่ไร้ผล
             เรากล่าวกับพวกนิครนถ์นั้นต่อไปอีกอย่างนี้ว่า พวกท่านจะพึงปรารถนาได้ดังนี้หรือว่า
             ๑. กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในชาติหน้า
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๒. กรรมใดเป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๓. กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้น จงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๔. กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๕. กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล
อย่าเพิ่งเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๖. กรรมใดเป็นของให้ผลยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๗. กรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลน้อย
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๘. กรรมใดเป็นของให้ผลน้อย ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลมาก
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๙. กรรมใดเป็นของให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของอย่าให้ผล
ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด
             ๑๐. กรรมใดเป็นของไม่ให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล
ด้วยความพยายาม หรือด้วยความเพียรเถิด
             พวกนิครนถ์นั้นตอบทุกข้อว่า ข้อนี้หามิได้เลย
             เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็ไร้ผล

วาทะ ๑๐ ประการที่น่าตำหนิ
             พวกนิครนถ์มีวาทะอย่างนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตาม ๑๐ ประการของ
พวกนิครนถ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิ
             (การกล่าวก่อนและการกล่าวตาม คือวาทะของพวกครูและอนุวาทะของศิษย์ที่ว่าตามกัน)
             ๑. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน
พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้ทำกรรมชั่วไว้ก่อนแน่ ในบัดนี้พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็น
ทุกข์กล้า
            ๒. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้ถูกอิศวรชั้นเลวเนรมิตมาแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนา
อันเป็นทุกข์กล้า
            ๓. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
             ๔. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า
             ๕. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน
พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนา
อันเป็นทุกข์กล้า
             ๖. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน
พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตน
ทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ
             ๗. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ
             ๘. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ
             ๙. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ
             ๑๐. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน
พวกนิครนถ์ต้องน่าตำหนิ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายาม
ในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ก็ต้องน่าตำหนิ

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 7-11
[ต่อ]

ความพยายามที่มีผล ความเพียรที่มีผล คือ
             ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้
             ๑.๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม
             ๑.๒ ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม
             ๑.๓ ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น
             เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จักยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร
วิราคะ (คลายกำหนัด) ย่อมมีได้เพราะการตั้งความเพียร
             อนึ่ง ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อวางเฉย บำเพ็ญอุเบกขาอยู่
วิราคะก็ย่อมมีได้
             แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว
             (ทราบว่าตัวเองยังมีเหตุแห่งทุกข์ จึงตั้งความเพียร, จึงบำเพ็ญอุเบกขา
เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ก็สลัดทุกข์ได้ (นิพพาน))
             เปรียบเหมือนชายผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์พอใจอย่างแรงกล้าในหญิงคนหนึ่ง
             เขาเห็นหญิงคนนั้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น เขาจึงมีความโศก
ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจเพราะเห็นหญิงคนนั้น
ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น
             ต่อมาชายคนนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า เพราะเรากำหนัดนักแล้ว เราจึงทุกข์
อย่ากระนั้นเลย เราพึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้นที่เรามีนั้นเสียเถิด
             เขาจึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้นนั้นเสีย สมัยต่อมา เขาเห็นหญิง
คนนั้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น เขาก็ไม่ทุกข์แล้ว
             ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ทับถม
ไม่สละความสุขที่เกิดขึ้นโดยธรรม ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น แล้วตั้งความเพียร
เพื่อสลัดทุกข์ (เพื่อนิพพาน)
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความพยายามมีผล ความเพียรมีผล แม้อย่างนี้
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิธีปฏิบัติต่อทุกข์-สุข_4

             ๒. ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
             เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อม
             แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
             อย่ากระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด
             เธอจึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่
อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง
             สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้ เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตน
เพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา
เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้
             เปรียบเหมือนช่างศร ย่างลนลูกศรบนข่าไฟ ๒ อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้
ประโยชน์นั้นของเขาเป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา ช่างศรจึงไม่ต้องย่างลนลูกศร
บนข่าไฟ ๒ อันอีก

             ๓. ตถาคตอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ (พระพุทธคุณ ๙)
             กุลบุตรได้ฟังธรรมนั้น แล้วย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคต เห็นตระหนักชัดว่า
ฆราวาสคับแคบ บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและอาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย
             คือเป็นผู้ละการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ ตีชิง
การปล้น และกรรโชก
             (สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
แต่ในที่นี้หมายถึง อธิสีลสิกขา
             สาชีพ หมายถึง แบบแผนแห่งความประพฤติที่ทำให้ชีวิตร่วมเป็นอันเดียวกัน
ได้แก่ สิกขาบททั้งปวงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย อันทำให้ภิกษุทั้งหลาย
ผู้มาจากถิ่นฐานชาติตระกูลต่างๆ กัน มามีความเป็นอยู่เสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สิกขา
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สาชีพ

             เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร ด้วยบิณฑบาต
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สันโดษ

             ประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะ ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถืออนุพยัญชนะ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว พึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก
คืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อินทรีย์สังวร&detail=on

             ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอันเป็นอริยะ
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ธรรมมีอุปการะมาก_2

             ละนิวรณ์ ๕
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             บรรลุปฐมฌานถึงจตุตถฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

             ๔. บรรลุวิชชา ๓
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3

วาทะ ๑๐ ประการที่ควรสรรเสริญ
             ตถาคตมีวาทะอย่างนี้ วาทะ ๑๐ ประการของตถาคต
อันชอบด้วยเหตุของตถาคตผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมถึงฐานะควรสรรเสริญ ฯ
             ๑. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน
ตถาคตต้องเป็นผู้ทำกรรมดีไว้ในก่อนแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุข
หาอาสวะมิได้เห็นปานนี้
             ๒. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
ตถาคตต้องเป็นผู้อันอิศวรชั้นดีเนรมิตแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุข
หาอาสวะมิได้เห็นปานนี้
             ๓. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
ตถาคตต้องเป็นผู้มีความบังเอิญดีแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุข
หาอาสวะมิได้เห็นปานนี้
             ๔. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
ตถาคตต้องเป็นผู้มีอภิชาติดีแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุข
หาอาสวะมิได้เห็นปานนี้
             ๕. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน
ตถาคตต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันดีแน่ ผลในบัดนี้ จึงเสวยเวทนาอันเป็นสุข
หาอาสวะมิได้เห็นปานนี้
             ๖. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน
ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตน
ทำไว้ในก่อน ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ
             ๗. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุที่อิศวรเนรมิตให้
ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ
             ๘. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ
ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ
             ๙. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งอภิชาติ
ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ
             ๑๐. ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายามในปัจจุบัน
ตถาคตต้องน่าสรรเสริญ ถ้าหมู่สัตว์ไม่ใช่เสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งความพยายาม
ในปัจจุบัน ตถาคตก็ต้องน่าสรรเสริญ
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 7-12
ฐานาฐานะ, 11 พฤศจิกายน เวลา 15:54 น.

GravityOfLove, 9 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
             ๑. เทวทหสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511&bgc=aliceblue&pagebreak=0
...
1:55 PM 11/9/2013

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 7-13
ฐานาฐานะ, 11 พฤศจิกายน เวลา 19:08 น.

             คำถามในเทวทหสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. ข้อปฏิบัติของพวกนิครนถ์ เข้ากันได้กับที่สุด 2 อย่าง ข้อใด?
             คำว่า ที่สุด 2
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ที่สุด+2

ความคิดเห็นที่ 7-14
GravityOfLove, 11 พฤศจิกายน เวลา 19:26 น.

             ตอบคำถามในเทวทหสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑.  ธรรม ๕ ประการมีวิบาก ๒ ทางในปัจจุบัน (คือผิดก็ได้ ถูกก็ได้) คือ
ความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตามเขาว่า ความตรึกตามอาการ ความปักใจดิ่งด้วยทิฐิ
             ๒. วาทะ ๑๐ ประการของพวกนิครนถ์นั้น น่าตําหนิ
             วาทะ ๑๐ ประการอันชอบด้วยเหตุของพระตถาคต ย่อมถึงฐานะควรสรรเสริญ
             ๓. ความพยายามที่ไร้ผล ความเพียรที่ไร้ผล ๑๐ ประการของพวกนิครนถ์
             ความพยายามที่มีผล ความเพียรที่มีผลของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
             ๔. ทิฏฐิธรรมเวทนียกรรม คือกรรมให้วิบากในอัตภาพนี้ เช่น
             ๔. ๑ เรื่องคนเข็ญใจ ชื่อปุณณะ ได้ทําบุญกับท่านพระสารีบุตรซึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
แล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น
             ๔. ๒ เรื่องภรรยาของคนเข็ญใจ ชื่อกาฬวฬิยะ ได้ทําบุญกับท่านพระมหากัสสป
ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า อีก ๗ วัน นายกาฬวฬิยะจะได้ฉัตรเศรษฐี
             ๔.๓ เรื่องนันทมาณพปฏิบัติผิดต่อพระอุบลวัณณาเถรี
             ๔.๔ เรื่องนายโคฆาตก์ชื่อนันทะ
             ๔.๕ เรื่องนันทยักษ์เหาะไปกับยักษ์ตนอื่น เห็นพระสารีบุตรเถระมีผมที่ปลงไว้ใหม่ๆ
นั่งอยู่กลางแจ้ง ในเวลากลางคืน ใคร่จะตีศีรษะ จึงบอกแก่ยักษ์ที่มาด้วยกัน แม้จะถูกยักษ์นั้น
ห้ามปรามก็ตีจนได้ พลางร้องว่า ร้อนๆ แล้วก็จมลงในแผ่นดินตรงที่นั้นเอง เกิดในมหานรก
             ๕.  อุปมาภิกษุกับการรักษาร่างกาย กับบุรุษผู้มีความกําหนัดต่อภรรยาที่นอกใจ
----------------------------------------------
             2. ข้อปฏิบัติของพวกนิครนถ์ เข้ากันได้กับที่สุด 2 อย่าง ข้อใด?
             ตอบว่า อัตตกิลมถานุโยค (การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตนเอง,
การบีบคั้นทรมานตนให้เดือดร้อน)

ความคิดเห็นที่ 7-15
ฐานาฐานะ, 11 พฤศจิกายน เวลา 19:57 น.

GravityOfLove, 21 นาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในเทวทหสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1&Z=511
...
7:25 PM 11/11/2013
             ตอบคำถามได้ดีครับ.
             เพิ่มเติมเรื่องของพระนางมัลลิกาเทวี ด้วยลิงค์ 3 ลิงค์ด้านล่าง.
             อรรถกถามัลลิกาสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=346&p=1
             อรรถกถาราชสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=110&p=1
             อรรถกถากุมมาสปิณฑชาดก ว่าด้วยอานิสงส์ถวายขนมกุมมาส
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1107&p=1

ย้ายไปที



Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:01:02 น.
Counter : 627 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
16 ธันวาคม 2556
All Blog