23.14 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
23.13 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]

ความคิดเห็นที่ 6-160
ฐานาฐานะ, 25 ตุลาคม เวลา 22:21 น.

GravityOfLove, 43 นาทีที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
----------------
             คำถามสุภสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=11249&Z=11547

             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ข้อ [๗๑๒]  -  [๗๑๓]
อธิบายว่า ข้อ 712-713 มาจากคำของมาณพที่ว่า
             ฐานะแห่งการงานของฆราวาส มีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก
มีการเริ่มมาก ย่อมมีผลมาก (ส่วน) ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชา มีความต้องการน้อย
มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย ย่อมมีผลน้อย
             ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสตอบโดยนัยว่า
             การงานของฆราวาส และฝ่ายบรรพชา มีผลมากก็มี มีผลน้อยก็มี
             กล่าวคือ ถ้าการงานนั้นสมบูรณ์ดี ก็มีผลมาก ถ้าไม่สมบูรณ์ดี ก็มีผลน้อย.
             โดยนัยก็คือ ทรงยกการไถนาและกสิกรรมว่า เป็นการงานที่มีกิจมาก
เทียบการงานของคฤหัสถ์, ส่วนการค้าขาย เป็นการงานที่มีกิจน้อย เทียบการงาน
ของฝ่ายบรรพชา. เมื่อทำได้สมบูรณ์ก็มีผลมาก ถ้าไม่สมบูรณ์ก็มีผลน้อย.

              ๒. พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน ได้กล่าวอย่างนี้ว่า อย่างนี้นั่นแหละ ก็
สมณพราหมณ์เหล่าไรนี้ ย่อมปฏิญาณญาณทัสนะวิเศษ ของพระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรม
ของมนุษย์ ภาษิตนี้ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นภาษิต น่าหัวเราะทีเดียวหรือ
ย่อมถึงความเลวทรามทีเดียวหรือ ย่อมถึงความว่างทีเดียวหรือ ย่อมถึงความเปล่าทีเดียวหรือ
ถ้าเช่นนั้น มนุษย์จักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษ ของพระอริยะอย่าง
สามารถยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์ได้อย่างไร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
อธิบายว่า
             สุภมาณพโตเทยยบุตร โกรธ มุ่งจะด่า จึงยกคำของพราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตรขึ้นมา (ด่าแทน)
             นัยของคำของพราหมณ์โปกขรสาติ ก็คือ สมณพราหมณ์ใดกล่าวว่าเป็นพระอริยะ
เป็นคำที่น่าหัวเราะ หรือเป็นคำที่ว่างเปล่า (เพ้อเจ้อ) เมื่อเป็นเช่นนั้น มนุษย์จะเป็นพระอริยะไม่ได้เลย
นัยก็คือ สุภมาณพโตเทยยบุตรจะด่าพระผู้มีพระภาค ว่า ไม่ได้เป็นพระอริยะ.

              ๓. ข้อ [๗๒๔]
              [๗๒๔] ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลพึงอาศัยหญ้าและไม้
เป็นเชื้อติดไฟขึ้น และพึงติดไฟที่ไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ ไฟไหนหนอพึงมีเปลว มีสีและมีแสง?
              สุ. ท่านพระโคดม ถ้าการติดไฟอันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ เป็นฐานะที่จะมีได้
ไฟนั้นก็จะพึงมีเปลว มีสี และมีแสง.
              พ. ดูกรมาณพ ข้อที่บุคคลจะพึงติดไฟอันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อขึ้นได้นี้ ไม่ใช่ฐานะ
ไม่ใช่โอกาส เว้นจากผู้มีฤทธิ์ ดูกรมาณพ เปรียบเหมือนไฟอาศัยหญ้าและไม้เป็นเชื้อติดอยู่
ฉันใด เรากล่าวปีติอันอาศัยเบญจกามคุณนี้เปรียบ ฉันนั้น เปรียบเหมือนไฟไม่มีหญ้าและไม้เป็น
เชื้อติดอยู่ได้ ฉันใด เรากล่าวปีติ ที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมเปรียบฉันนั้น ก็ปีติที่
เว้นจากกามเว้นจากอกุศลธรรมเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ปีตินี้แลเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม
ดูกรมาณพ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรม
เอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
แม้ปีตินี้ก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม.
อธิบายว่า
              พระผู้มีพระภาคตรัสถามไฟที่มีหญ้าเป็นต้นเป็นเชื้อ และไฟที่ไม่ต้องใช้หญ้าเป็นเชื้อ
              มาณพไม่รู้จักไฟที่ไม่ต้องใช้หญ้าเป็นเชื้อ จึงกล่าวเป็นเงื่อนไขว่า
              ถ้าไฟที่ไม่ต้องใช้หญ้าเป็นเชื้อ จะมีได้ ก็คงมีเปลว มีสี และมีแสง.
              พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงว่า ไฟที่ไม่ต้องใช้หญ้าเป็นเชื้อ เป็นของผู้มีฤทธิ์กระทำได้
              ทรงตรัสเทียบไฟ กับปีติว่า
              ไฟที่อาศัยหญ้าเป็นเชื้อ เหมือนปีติที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ
              ไฟที่ไม่ต้องอาศัยหญ้าเป็นเชื้อ เหมือนปีติที่เกิดขึ้นเพราะปฐมฌานและทุติยฌาน.

              ๔. ข้อ [๗๒๖]
อธิบายว่า
              ข้อนี้มาจากข้อ 725 คือ ใน 5 ข้อที่พราหมณ์บัญญัติไว้ ข้อไหนมีผลมากที่สุด?
              ข้อ 726 พระผู้มีพระภาคทรงซักไซ้ไล่เลียง โดยทรงตั้งคำถามว่า
              ถ้าทำทานแก่คนเพียงคนเดียว แต่มีพราหมณ์ 2 คน จะมีคนหนึ่งที่ไม่ได้
คนที่ไม่ได้ ตั้งความหวังว่า เราจะได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ ฯลฯ เมื่อไม่ได้ ก็โกรธน้อยใจ
เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ให้ (เพียงคนเดียว) จะต้องรับวิบากอย่างไร?
              มาณพตอบว่า ไม่ควรกล่าวว่า พราหมณ์ผู้ให้นั้นทำให้พราหมณ์นั้นโกรธ
พราหมณ์ผู้ให้ ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์
              เมื่อทรงซักไซ้ไล่เลียง บัญญัติ 5 ข้อ ก็งอกข้อที่ 6 ขึ้นมาอีก.

              ๕. [๗๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
บ้านนฬการคามใกล้แต่ที่นี้ บ้านนฬการคามไม่ไกล ใกล้แต่ที่นี้มิใช่หรือ?
              ขอบพระคุณค่ะ
2:27 PM 10/25/2013
อธิบายว่า
              เนื่องมาจากปลายข้อ 728 ว่า
              สุภมาณพโตเทยยบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม
ข้าพเจ้าได้สดับมาว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักหนทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม.

              พระผู้มีพระภาคตรัสถามเพื่อยกเป็นตัวอย่างของคนที่เชี่ยวชาญหนทาง
เกิดและโตในถิ่นนั้นว่า เมื่อถูกถามเส้นทางไปที่ใดๆ ที่ตนเองคุ้นเคย ก็ตอบได้รวดเร็ว
ไม่ประหม่าเลย ฉันใด ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก
ก็ไม่ชักช้า ฉันนั้น.

ความคิดเห็นที่ 6-161
GravityOfLove, 30 ตุลาคม เวลา 10:01 น.

             ๑. กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก
             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติย่อมมีผลมาก
             ๓. ทำไมพระองค์ตรัสถามคะ มีนัยอย่างไร
              [๗๒๔] ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลพึงอาศัยหญ้าและไม้
เป็นเชื้อติดไฟขึ้น และพึงติดไฟที่ไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ ไฟไหนหนอพึงมีเปลว มีสีและมีแสง?
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-162
GravityOfLove, 30 ตุลาคม เวลา 11:49 น.

             ๖. กรุณาอธิบายค่ะ
              คำว่า ยํ ปมาณกตํ กมฺมํ กรรมที่ทำไว้ประมาณเท่าใด. ความว่า ชื่อว่ากรรมที่ทำประมาณได้ เรียกว่ากามาวจร.
              ชื่อว่ากรรมที่ทำประมาณไม่ได้ เรียกว่ารูปาวจร. ในกรรมที่เป็นกามาวจรและอรูปาวจรแม้เหล่านั้น กรรมคือพรหมวิหารเท่านั้น ทรงประสงค์เอาในที่นี้. ก็พรหมวิหารกรรมนั้นเรียกว่ากระทำหาประมาณมิได้ เพราะกระทำให้เจริญไปด้วยการแผ่ล่วงพ้นประมาณ ไปยังทิศที่เจาะจงและไม่เจาะจง.
              คำว่า กามาวจรกรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ จักไม่คงอยู่ในรูปาวจรกรรมนั้น ความว่า กามาวจรกรรมนั้น ย่อมไม่ติด คือไม่ตั้งอยู่ในรูปาวจรกรรมนั้น.
              ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
              ท่านอธิบายไว้ว่า กามาวจรกรรมนั้นย่อมไม่เกี่ยวข้องหรือตั้งอยู่ในระหว่าง แห่งรูปาวจรกรรมนั้น หรือแผ่ไปยังรูปาวจรกรรม และอรูปาวจรกรรมแล้ว ครอบงำถือเอาโอกาสสำหรับตนตั้งอยู่. โดยที่แท้ รูปาวจรกรรมเท่านั้นแผ่ไปยังกามาวจรกรรม เหมือนน้ำมากเอ่อท่วมน้ำน้อย ครอบงำถือเอาโอกาสสำหรับตนแล้วคงอยู่. รูปาวจรกรรมห้ามวิบากของกามาวจรกรรมนั้นแล้ว เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหมด้วยตนเอง.
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-163
ฐานาฐานะ, 30 ตุลาคม เวลา 14:47 น.

GravityOfLove, 4 ชั่วโมงที่แล้ว
             ๑. กรุณายกตัวอย่างด้วยค่ะ
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก
             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติย่อมมีผลมาก

             อธิบายว่า
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือกสิกรรม ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก

             กล่าวคือ ต้องทำกิจมาก คือ ถากวัชพืช ไถดิน หว่านเมล็ดพันธุ์ ทดน้ำเข้า
เมื่อน้ำน้อย, ทดน้ำออก เมื่อน้ำมาก, ต้องไล่แมลงศัตรูพืช, ต้องไล่นกต่างๆ ที่มากิน
ช่อดอกผล, ต้องไล่หนูค้างคาววัว ที่จะไปกิน, หากฝนตกมากเกิน ก็ทำให้ผลเสียหายไปได้
หรือฝนตกน้อยไป หรือไม่ตกเลยก็เช่นกัน พืชพันธุ์ก็เหี่ยวเฉาเสียหายได้.
             กิจกรรมมีมาก หากปัจจัยต่างๆ ไม่ถึงพร้อม ก็ได้ผลน้อยหรือขาดทุน.
             กิจกรรมมีมาก หากปัจจัยต่างๆ ถึงพร้อมด้วย ก็ได้ผลมาก.

             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ฐานะคือการค้าขาย ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติย่อมมีผลมาก
             กล่าวคือ มีกิจไม่มากน้อย คือ หาสินค้าตรงตามความต้องการ
ตั้งราคาเหมาะสม เปิดร้านขายหรือไปขายตรงตามเวลา ต่างสถานที่.
             หากเลือกสินค้าไม่เหมาะสม ตั้งราคาไม่เหมาะสม สูงไปจนกระทั่งคนไม่ซื้อ
ต่ำเกินไปจนกระทั่งไม่กำไร, เปิดร้านขายไม่ตรงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ตรงกับ
ที่ผู้ต้องการซื้อผ่านไปผ่านมา ก็ได้ผลกำไรน้อยหรือขาดทุน.
             หากทำเหมาะสมดี คือถึงพร้อมด้วยสินค้า ราคา ที่ตั้ง ก็ได้กำไรมาก (ผลมาก)

             กล่าวสรุปว่า เป็นการเทียบการงานที่มีกิจมากและกิจน้อยว่า อาจจะได้ผลมาก
และผลน้อยตามปัจจัย แล้วเทียบการค้าขายว่า เป็นเช่นฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชา
ด้วยคำว่า ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

             ๓. ทำไมพระองค์ตรัสถามคะ มีนัยอย่างไร
             [๗๒๔] ดูกรมาณพ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลพึงอาศัยหญ้าและไม้
เป็นเชื้อติดไฟขึ้น และพึงติดไฟที่ไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ ไฟไหนหนอพึงมีเปลว มีสีและมีแสง?
             ขอบพระคุณค่ะ
10:01 AM 10/30/2013

             ข้อ ๒. หายไปไหนหนอ?
             อธิบายว่า สันนิษฐานว่า ทรงตรัสถามถึงสิ่งที่มาณพไม่รู้ หรือเกินวิสัย
กล่าวคือ ไฟที่ไม่ต้องอาศัยหญ้าและไม้เป็นเชื้อ เพื่อเทียบกับปีติในฌานที่ 1 และ 2.
             เพื่อให้ตระหนักว่า มาณพยังมีสิ่งที่ไม่รู้ในเรื่องญาณทัสนะวิเศษ อยู่อีกมาก.
             โดยนัย มาณพอาจเห็นว่า พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน
มีความสุขดี มีปีติด้วยกามคุณเป็นปัจจัย มาณพอาจเห็นไปว่า นี้คือความสมบูรณ์ของพราหมณ์นั้น
แต่เมื่อรู้ว่า ปีติที่ไม่ประกอบด้วยกามคุณ มีอยู่และประเสริฐกว่า เพราะไม่ประกอบด้วยอกุศลธรรม
ย่อมเลื่อมใสในความสงัดจากกาม.
             คือ ผู้ที่หมกหมุ่นในกาม แม้มีปีติก็ประกอบด้วยอกุศลธรรม ถูกกามคุณ ๕ ครอบงำแล้ว
ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องถอนออก บริโภคอยู่ เขาจักรู้จักเห็นหรือจักทำให้แจ้งชัด
ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ เป็นไปไม่ได้
             ผู้ที่ไม่หมกหมุ่นในกาม สงัดจากกาม อาจสามารถรู้จักเห็นหรือจักทำให้แจ้งชัด
ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะได้.

ความคิดเห็นที่ 6-164
ฐานาฐานะ, 30 ตุลาคม เวลา 15:01 น.

GravityOfLove, 2 ชั่วโมงที่แล้ว
             ๖. กรุณาอธิบายค่ะ
...
11:49 AM 10/30/2013

             อธิบายว่า สันนิษฐานว่า
             เป็นการจำแนกกรรมที่ประมาณได้ เรียกว่ากามาวจร
             คำว่า ประมาณได้ โดยนัยน่าจะเป็นของเล็กน้อย จึงประมาณผลได้.
             ในกรรมที่เป็นกามาวจรและอรูปาวจรแม้เหล่านั้น กรรมคือพรหมวิหารเท่านั้น
ทรงประสงค์เอาในที่นี้.
             น่าจะหมายถึง กรรมทั้งปวงตั้งแต่กามาวจรถึงอรูปาวจรทั้งหลายนั้น
             กรรมที่เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ...
คือพรหมวิหารเท่านั้น ในพระสูตรนี้.
             คำว่า กามาวจรกรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ จักไม่คงอยู่ในรูปาวจรกรรมนั้น ความว่า กามาวจรกรรมนั้น
ย่อมไม่ติด คือไม่ตั้งอยู่ในรูปาวจรกรรมนั้น.
             วิบากกรรมของกามาวจร ไม่ได้โอกาสให้ผลในรูปภพ เช่น การได้กามคุณ
ทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต หรือทุกขเวทนาที่สัตว์ในอบายเป็นต้นได้รับ จะไม่โอกาสที่จะให้ผล.

ความคิดเห็นที่ 6-165
GravityOfLove, 30 ตุลาคม เวลา 20:04 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-166
GravityOfLove, 30 ตุลาคม เวลา 20:05 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
             ๔๙. สุภสูตร ทรงโปรดสุภมาณพ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=11249&Z=11547&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             สมัยนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตรอาศัยอยู่ในนิเวศน์ของคฤหบดีผู้หนึ่ง
ในพระนครสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง
             สุภมาณพโตเทยยบุตร กล่าวกับคฤหบดีที่ตนอาศัยอยู่ว่า
             ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระนครสาวัตถี ไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายเลย
วันนี้เราจะพึงเข้าไปนั่งใกล้สมณะ หรือพราหมณ์ผู้ไหนหนอ?
             คฤหบดีกล่าวว่า
             พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านจงเข้าไปนั่งใกล้พระองค์เถิด
             สุภมาณพโตเทยยบุตร จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามว่า
             ๑. พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวกันว่า คฤหัสถ์เท่านั้นเป็นผู้ยินดีกุศลธรรม
เครื่องนำออกไปจากทุกข์ บรรพชิตไม่เป็นผู้ยินดีกุศลธรรมเครื่องนำออกไปจากทุกข์
             ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ในเรื่องนี้ เราแยกออกกล่าว เราไม่รวมกล่าว
             เราพรรณนาการปฏิบัติผิดของคฤหัสถ์ หรือของบรรพชิต (ไม่สรรเสริญ)
             จริงอยู่ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยินดีกุศลธรรม
เครื่องนำออกไปจากทุกข์ เพราะเหตุแห่งอธิกรณ์ (เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ)
คือการปฏิบัติผิด
             เราพรรณนาการปฏิบัติชอบของคฤหัสถ์ หรือของบรรพชิต (สรรเสริญ)
             จริงอยู่ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตปฏิบัติชอบแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ยินดีกุศลธรรม
เครื่องนำออกไปจากทุกข์ เพราะเหตุแห่งอธิกรณ์คือการปฏิบัติชอบ
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อธิกรณ์

             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลถามต่อไปว่า
             ๒. พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวกันว่า ฐานะแห่งการงานของฆราวาส มีความ
ต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก ย่อมมีผลมาก
             (ส่วน) ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชา มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย
มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย ย่อมมีผลน้อย
             ในเรื่องนี้ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             แม้ในเรื่องนี้ เราก็แยกออกกล่าว เราไม่รวมกล่าว
             ๒.๑ ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อวิบัติ (ทำได้ไม่สมบูรณ์)
ย่อมให้ผลผลิตหรือผลกำไรน้อย มีอยู่ คือ การไถหรือกสิกรรม
             ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ
เมื่อวิบัติ ย่อมมีผลน้อย
             ๒.๒ ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการมาก ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติ (ทำได้สมบูรณ์)
ย่อมให้ผลผลิตหรือผลกำไรมาก มีอยู่ คือ การไถหรือกสิกรรม
             ฐานะแห่งการงานของฆราวาสก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการมาก ฯลฯ
เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมมีผลมาก
             ๒.๓ ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อวิบัติ ย่อมให้ผลผลิตหรือ
ผลกำไรน้อย มีอยู่ คือ การค้าขาย
             ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ
เมื่อวิบัติ ย่อมให้ผลผลิตหรือผลกำไรน้อย
             ๒.๔ ฐานะแห่งการงานที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมให้ผลผลิตหรือ
ผลกำไรมาก มีอยู่ คือ การค้าขาย
             ฐานะแห่งการงานฝ่ายบรรพชาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่มีความต้องการน้อย ฯลฯ
เมื่อเป็นสมบัติ ย่อมให้ผลผลิตหรือกำไรมาก

             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลถามต่อไปว่า
             ๓. พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติธรรม ๕ ประการเพื่อทำบุญ
เพื่อยินดีกุศล คือ
             สัจจะ ตบะ (ความเพียร) พรหมจรรย์ (เว้นเมถุน) การเรียนมนต์ และการบริจาค
             ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร?
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             1. - บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย แม้พราหมณ์คนหนึ่ง เป็นผู้ใดใครก็ตามที่กล่าวอย่างนี้ว่า
             เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้
มีอยู่หรือ?
             - แม้อาจารย์คนหนึ่ง แม้อาจารย์ของท่านคนหนึ่ง ตลอด ๗ ชั่วอาจารย์ของพวก
พราหมณ์ เป็นผู้ใดใครก็ตามที่กล่าวอย่างนี้ว่า ... มีอยู่หรือ?
             - แม้ฤาษีทั้งหลายผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฯลฯ
ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม
แม้ท่านเหล่านั้นได้กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า ... มีอยู่หรือ?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบทุกข้อว่า ไม่มี
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ได้ทราบกันดังนี้ว่า บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่ง
จะเป็นผู้ใดใครก็ตามที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง
แล้ว เสวยผลแห่งธรรม ๕ ประการนี้
              เปรียบเหมือนแถวคนตาบอดซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น คนกลาง
ก็ไม่เห็นคนหลังก็ไม่เห็น ฉันใด
             ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลายเห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด ฉันนั้น คือ
             แม้คนชั้นต้นก็ไม่เห็น แม้คนชั้นกลางก็ไม่เห็น แม้คนชั้นหลังก็ไม่เห็น
             สุภมาณพโตเทยยบุตร ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสเปรียบด้วยแถวคนตาบอด ก็โกรธ
เมื่อจะด่าติเตียนว่ากล่าวพระผู้มีพระภาคว่า พระสมณโคดม จักถึงความลามกเสียแล้ว
(จึงยกคำของพราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตรขึ้นมาด่าแทน) กราบทูลว่า
             พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสุภควัน ได้กล่าวอย่างนี้ว่า
             สมณพราหมณ์เหล่าไรนี้ ย่อมปฏิญาณญาณทัสนะวิเศษ ของพระอริยะอย่างสามารถ
ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ภาษิตนี้ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นภาษิตน่าหัวเราะ
เลวทราม ว่างเปล่า
             เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษ ของ
พระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมดาของมนุษย์
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             2. พราหมณ์ท่านนั้น กำหนดรู้ใจของสมณพราหมณ์ทั้งสิ้นด้วยใจของตนหรือ?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลว่า
             พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ย่อมกำหนดรู้ใจของนางปุณณิกาทาสีของตน
ด้วยใจของตนเองเท่านั้น ก็ที่ไหนจักกำหนดรู้ใจของสมณพราหมณ์ทั้งสิ้นด้วยใจของตนได้เล่า
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่มีรูปดำ
ไม่มีคนเห็นรูปดำ ไม่มีรูปที่เสมอและไม่เสมอ ไม่มีคนเห็นรูปที่เสมอและไม่เสมอ เป็นต้น
เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้นย่อมไม่มี
             เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบหรือไม่?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบว่า ไม่ชื่อว่ากล่าวชอบ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ
             จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจักรู้จักเห็นจักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะ
อย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
             ตรัสถามต่อไปว่า
             3. พราหมณ์มหาศาลชาวโกศลคือ จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์
ชาณุโสณีพราหมณ์ หรือโตเทยยพราหมณ์ บิดาของท่าน
             วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นกล่าวตามสมมติ หรือไม่ตามสมมติ?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบว่า กล่าวตามสมมติ
             ตรัสถามว่า
             วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นพิจารณาแล้วจึงกล่าว หรือไม่พิจารณาแล้วจึงกล่าว?
             ทูลตอบว่า พิจารณาแล้ว
             ตรัสถามว่า
             วาจาดีที่พราหมณ์มหาศาลเหล่านั้นรู้แล้วจึงกล่าว หรือว่าไม่รู้แล้วจึงกล่าว?
             ทูลตอบว่า รู้แล้ว
             ตรัสถามว่า
             วาจาดีอันประกอบด้วยประโยชน์ หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ที่พราหมณ์
มหาศาลเหล่านั้นกล่าว?
             ทูลตอบว่า ประกอบด้วยประโยชน์
             ตรัสถามกรณีพราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ซึ่งสุภมาณพโตเทยยบุตรก็
ทูลตอบมีใจความว่า
             ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร กล่าววาจาตามสมมติ
             เป็นวาจาที่ไม่รู้แล้วจึงกล่าว
             เป็นวาจาที่ไม่ได้พิจารณาแล้วจึงกล่าว
             กล่าววาจาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
             (นั่นคือ ทรงซักไซ้ไล่เลียงให้เห็นว่า พราหมณ์เหล่านั้นเหมือนคนตาบอดที่ตน
ไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น แล้วสรุปว่า สิ่งนั้นย่อมไม่มี ซึ่งไม่ชื่อว่ากล่าวชอบ, เป็นการกล่าวตามสมมติ
             เป็นวาจาที่รู้แล้วบ้างไม่รู้แล้วบ้าง, ไม่ได้พิจารณาแล้วบ้าง พิจารณาแล้วบ้าง,
ประกอบด้วยประโยชน์บ้าง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์บ้าง)
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             นิวรณ์ ๕ ประการคือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์
             พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ถูกนิวรณ์ ๕ ประการนี้ร้อยไว้แล้ว
จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะ
อย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=นิวรณ์_5

             กามคุณ ๕ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา หู
จมูก ลิ้น กาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
             พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร กำหนัด หมกมุ่นด้วยกามคุณ ๕ ประการนี้
ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องถอนออก บริโภคอยู่
             จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจักรู้จักเห็นหรือจักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสนะวิเศษของ
พระอริยะอย่างสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กามคุณ_5

             ตรัสถามว่า
             4. บุคคลพึงอาศัยหญ้าและไม้เป็นเชื้อติดไฟขึ้น และพึงติดไฟที่ไม่มีหญ้า
และไม้เป็นเชื้อ ไฟไหนหนอพึงมีเปลว มีสี และมีแสง?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบว่า
             ถ้าการติดไฟอันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ เป็นไปได้ ไฟนั้นก็จะพึงมีเปลว
มีสี และมีแสง
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ข้อที่บุคคลจะพึงติดไฟอันไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อขึ้นได้นี้ เป็นไปไม่ได้
ยกเว้นผู้มีฤทธิ์
             ปีติอันอาศัยเบญจกามคุณ เปรียบเหมือนไฟอาศัยหญ้าและไม้เป็นเชื้อติดอยู่
             ปีติที่เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม เปรียบเหมือนไฟไม่มีหญ้าและไม้เป็นเชื้อ
ติดอยู่ได้
             ปีติที่เว้นจากกามเว้นจากอกุศลธรรม คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ที่บรรลุปฐมฌาน
ถึงทุติยฌาน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ฌาน_4

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 6-167
[ต่อ]

             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             5. ในธรรม ๕ ประการที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศลนี้
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติธรรมข้อไหน เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล ว่ามีผลมากกว่า?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบว่า จาคะ
             ตรัสว่า
             ในการบริจาคทานนี้ จะพึงมีมหายัญเกิดขึ้นเฉพาะแก่พราหมณ์คนหนึ่ง
             ครั้งนั้น พราหมณ์สองคนพึงมาด้วยหวังว่าจักเสวยมหายัญของพราหมณ์ชื่อนี้
             ในพราหมณ์สองคนนั้น คนหนึ่งมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า
             เราเท่านั้นพึงได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต พราหมณ์อื่นไม่พึง
ได้อาสนะที่เลิศ น้ำที่เลิศ บิณฑะที่เลิศ ในโรงภัต
             แต่ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ พราหมณ์คนอื่นพึงได้อาสนะที่เลิศ ฯลฯ
             พราหมณ์นั้นโกรธน้อยใจว่าพราหมณ์เหล่าอื่นได้อาสนะที่เลิศ ฯลฯ ส่วนเราไม่ได้
             แล้วตรัสถามว่า
             พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติวิบากอะไรของกรรมนี้ (ผู้ให้จะต้องรับวิบากอย่างไร)?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลตอบว่า
             ในเรื่องนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมให้ทานด้วยคิดอย่างนี้ว่า
             พราหมณ์นั้น อันพราหมณ์ผู้นี้แลทำให้โกรธให้น้อยใจดังนี้หามิได้ ในเรื่องนี้
พราหมณ์ทั้งหลายย่อมให้ทานอันเป็นการอนุเคราะห์เท่านั้นโดยแท้
             (ไม่ควรกล่าวว่า ผู้ให้นั้นทำให้พราหมณ์นั้นโกรธ เพราะผู้ให้ ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์
ซึ่งแย้งกับข้อกล่าวในตอนแรกที่ว่า จาคะ มีผลมากกว่า)
             ตรัสว่า
             เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อที่พราหมณ์ทั้งหลายให้ทานอันเป็นการอนุเคราะห์นี้
ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๖ ของพราหมณ์ทั้งหลายซิ?
             ทูลตอบว่า เป็นเช่นนั้น
             ตรัสถามต่อไปว่า
             6. ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล
ท่านพิจารณาเห็นมีมากที่ไหน?
             ทูลตอบว่า
             ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นมีมากในบรรพชิต มีน้อยในคฤหัสถ์
             เพราะคฤหัสมีความต้องการมาก มีกิจมาก มีอธิกรณ์มาก มีการเริ่มมาก
จะเป็นผู้พูดจริง, เป็นผู้มีความเพียร, ประพฤติพรหมจรรย์, มากด้วยการสาธยาย,
หรือมากด้วยการบริจาคเสมอร่ำไปไม่ได้
             ส่วนบรรพชิตมีความต้องการน้อย มีกิจน้อย มีอธิกรณ์น้อย มีการเริ่มน้อย
จึงเป็นผู้พูดจริง, เป็นผู้มีความเพียร, ประพฤติพรหมจรรย์, มากด้วยการสาธยาย,
หรือมากด้วยการบริจาคเสมอร่ำไปได้
             (ซึ่งแย้งกับข้อกล่าวในตอนแรกที่ว่า งานคฤหัสถ์เป็นงานใหญ่ มีผลมาก)
            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล
เรากล่าวว่า เป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน
             ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีธรรม ๕ ประการนี้ เธอรู้สึกว่า เราเป็นผู้มีธรรม
๕ ประการนั้น ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์ประกอบด้วยธรรม
             ความปราโมทย์อันประกอบด้วยกุศลนี้ เรากล่าวว่าเป็นบริขารของจิต
เพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน
             สุภมาณพโตเทยยบุตรกราบทูลว่า
             ข้าพเจ้าได้สดับมาว่าพระสมณโคดมทรงรู้จักหนทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
             บ้านนฬการคามใกล้แต่ที่นี้ บ้านนฬการคามไม่ไกล ใกล้แต่ที่นี้มิใช่หรือ?
(บ้านนฬการคามก็ใกล้แค่นี้ อยู่ไม่ไกลจากที่นี้เลย มิใช่หรือ)
             สุภมาณพกราบทูลว่า อย่างนั้นท่านพระโคดม
             ตรัสถามว่า
             บุรุษผู้เกิดและโตในบ้านนฬการคามนี้ เขาออกจากบ้านนฬการคามไปในขณะนั้น
เมื่อถูกถามถึงหนทางแห่งบ้านนฬการคาม จะพึงชักช้า หรือตกประหม่าหรือไม่?
             ทูลตอบว่า
             ข้อนี้หามิได้ เพราะบุรุษนั้นทั้งเกิดและโตในบ้านนฬการคาม รู้จักทางของ
บ้านนฬการคามทุกแห่งดีแล้ว
             ตรัสว่า
             ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลก หรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้า
หรือตกประหม่าเช่นเดียวกัน
             เราย่อมรู้จักทั้งพรหมโลกและปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก
             อนึ่ง ผู้ปฏิบัติด้วยประการใด จึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย
             สุภมาณพโตเทยยบุตรทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงทางเพื่อความเป็นสหายของ
พรหมแก่ตน
             พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
             ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปทุกทิศ ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ด้วยเมตตาอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
             เมื่อเมตตาเจโตวิมุติอันภิกษุนั้นเจริญแล้ว กรรมใดเป็นกามาพจรที่ภิกษุทำแล้ว
กรรมนั้นจักไม่เหลืออยู่ ไม่คงอยู่ในกรรมเป็นรูปาวจรนั้น แม้ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็น
สหายของพรหม
             ภิกษุมีใจประกอบด้วยกรุณา ...
             มีใจประกอบด้วยมุทิตา ...
             มีใจประกอบด้วยอุเบกขา ... แม้ข้อนี้ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พรหมวิหาร_4

             สุภมาณพโตเทยยบุตรกราบทูลว่า
             ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ ฯลฯ
             ข้าพระองค์ขอถึงท่านพระองค์ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
             ขอเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
             สุภมาณพโตเทยยบุตรเพลิดเพลินพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุก
ออกจาก อาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วกลับไป
             ชาณุโสณีพราหมณ์ออกจากพระนครสาวัตถี โดยรถอันเทียมด้วยม้าขาวทั้งหมด
ได้เห็นสุภมาณพโตเทยยบุตรกำลังมาแต่ไกล เมื่อรู้ว่ามาณพโตเทยยบุตรมาจากสำนักพระ
ผู้มีพระภาค จึงถามสุภมาณพโตเทยยบุตรว่า
             ท่านภารทวาชะเห็นจะเป็นบัณฑิต รู้พระปัญญาอันเฉียบแหลมของพระสมณโคดม?
             สุภมาณพโตเทยยบุตรตอบว่า
             ข้าพเจ้าเป็นใคร และเป็นอะไรเล่า จึงจักรู้เท่าพระปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์
ผู้ใดพึงรู้เท่าพระปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์ แม้ผู้นั้นก็พึงเป็นเช่นพระองค์เป็นแน่
             ชาณุโสณีพราหมณ์กล่าวว่า
             เพิ่งได้ฟัง ท่านภารทวาชะสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง
             สุภมาณพโตเทยยบุตรกล่าวว่า
             ข้าพเจ้าเป็นใคร เป็นอะไรเล่า จึงจักสรรเสริญพระองค์ พระองค์อันเทวดาและ
มนุษย์สรรเสริญแล้วๆ ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
             อนึ่งธรรม ๕ ประการนี้ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติ เพื่อทำบุญ เพื่อยินดีกุศล
พระสมณโคดมตรัสว่า เป็นบริขารแห่งจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มีเวร ไม่ให้มีความเบียดเบียน
             ชาณุโสณีพราหมณ์ลงจากรถ แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง น้อมอัญชลี
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วเปล่งอุทานว่า
             เป็นลาภของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ดีแล้วหนอ
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับในแว่นแคว้นของพระองค์

ความคิดเห็นที่ 6-168
ฐานาฐานะ, 31 ตุลาคม เวลา 00:12 น.

GravityOfLove, 1 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค
             ๔๙. สุภสูตร ทรงโปรดสุภมาณพ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=11249&Z=11547&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
8:04 PM 10/30/2013

             ย่อความได้ดีครับ.

ย้ายไปที



Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 12:57:53 น.
Counter : 779 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
16 ธันวาคม 2556
All Blog