23.1 พระสูตรหลักถัดไป คืออังคุลิมาลสูตร [พระสูตรที่ 36]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
22.13 พระสูตรหลักถัดไป คือสันทกสูตร [พระสูตรที่ 26]

ความคิดเห็นที่ 6-5
GravityOfLove, 26 กันยายน เวลา 14:59 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
             ๓๖. อังคุลิมาลสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดองคุลิมาลโจร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8237&Z=8451&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
             ก็สมัยนั้น ในแว่นแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีโจรชื่อว่าองคุลีมาล
เป็นคนหยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือด ปักใจ มั่นในการฆ่าตี ไม่มีความกรุณา
ในสัตว์ทั้งหลาย
             องคุลิมาลโจรนั้น กระทำบ้านไม่ให้เป็นบ้านบ้าง กระทำนิคมไม่ให้เป็นนิคมบ้าง
กระทำชนบทไม่ให้เป็นชนบทบ้าง (ก่อกวนให้เดือดร้อนไปทั่ว)
             เขาเข่นฆ่าพวกมนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงทรง (สวมคอ) ไว้
             ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
             ครั้นแล้วในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาตแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ
ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จดำเนินไปตามทางที่องคุลิมาลโจรซุ่มอยู่
             พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนาที่เดินมา ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
เสด็จดำเนินไปทางนั้น ก็กราบทูลว่า
             อย่าเดินไปทางนั้น เพราะมีโจรชื่อองคุลิมาลคอยซุ่มฆ่าอยู่
             คนที่จะเดินทางทางนี้ต้องรวมพวกกันให้ได้ ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง
๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง แม้กระนั้นก็ยังถึงความพินาศแก่องคุลิมาลจนได้
             เมื่อคนพวกนั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง ได้เสด็จต่อไป
             พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกชาวนา เดินผ่านมาพบ
พระองค์อีก ๒ ครั้ง ได้ทูลเตือนพระองค์ พระองค์ก็ทรงนิ่ง และเสด็จต่อไป
             องคุลิมาลโจรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ดำริว่า
             น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีเลย พวกคนจะเดินทางมาทางนี้ ก็ยังต้องรวม
เป็นพวกเดียว กระนั้นพวกเขาเหล่านั้นก็ยังถึงความพินาศเพราะมือเรา
             แต่สมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน ชะรอยจะมาข่ม
             ถ้ากระไร เราพึงปลงสมณะเสียจากชีวิต
             ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรถือดาบและโล่ห์ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาค
ไปทางพระปฤษฎางค์ (หลัง)
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร (การบันดาลด้วยฤทธิ์)
โดยประการที่องคุลิมาลโจรจะวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาค
ผู้เสด็จไปตามปกติ
             ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้มีความดำริว่า
             น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีเลย ด้วยว่าเมื่อก่อนแม้ช้างกำลังวิ่ง
ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้
             แต่ว่าเราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติ
             จึงหยุดยืนกล่าวกับพระผู้มีพระภาคว่า
             จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด
             องคุลิมาลโจรดำริว่า
             สมณศากยบุตรเหล่านั้นมักเป็นคนพูดจริง มีปฏิญญาจริง
             แต่สมณะรูปนี้เดินไปอยู่เทียว กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว ท่านเล่าจงหยุดเถิด
             ถ้ากระไร เราพึงถามสมณะรูปนี้เถิด
             ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถา ความว่า
                          ดูกรสมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และ
                          ท่านยังไม่หยุด ยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่าไม่หยุด ดูกร
                          สมณะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านหยุดแล้วเป็น
                          อย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุดแล้วเป็นอย่างไร?
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          ดูกรองคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่า
                          หยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
                          เพราะฉะนั้นเราจึงหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด
             องคุลิมาลโจรทูลว่า
                          ดูกรสมณะ ท่านอันเทวดามนุษย์บูชาแล้ว แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
                          มาถึงป่าใหญ่เพื่อจะสงเคราะห์ข้าพเจ้าสิ้นกาลนานหนอ ข้าพเจ้า
                          นั้นจักประพฤติละบาป เพราะฟังคาถาอันประกอบด้วยธรรม
                          ของท่าน องคุลิมาลโจรกล่าวดังนี้แล้ว ได้ทิ้งดาบและอาวุธ
                          ลงในเหวลึกมีหน้าผาชัน องคุลิมาลโจรได้ถวายบังคมพระบาท
                          ทั้งสองของพระสุคต แล้วได้ทูลขอบรรพชากะพระสุคต ณ ที่
                          นั้นเอง. ก็แลพระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรง
                          แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นศาสดาของโลกกับทั้งเทวโลก ได้
                          ตรัสกะองคุลิมาลโจรในเวลานั้นว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด
                          อันนี้แหละเป็นภิกษุภาวะขององคุลิมาลโจรนั้น ดังนี้
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระองคุลิมาลเป็นปัจฉาสมณะ (พระผู้ติดตาม)
เสด็จจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงพระนครสาวัตถี
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ปัจฉาสมณะ

พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้า
             พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี
             ก็สมัยนั้น หมู่มหาชนประชุมกันอยู่ที่ประตูพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ส่งเสียงอื้ออึงว่า ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล ฯลฯ
             ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากพระนครสาวัตถี ด้วยกระบวนม้า
ประมาณ ๕๐๐ เสด็จเข้าไปทางพระอารามแต่ยังวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
             (เพราะพระราชาทรงกลัวโจร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า
หากพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่า ตนจะพ่ายแพ้ ก็จะทรงห้ามเสีย ไม่ให้เสด็จไปจับโจร)
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             พระเจ้าแผ่นดินมคธจอมเสนา ทรงพระนามว่า พิมพิสาร ทรงทำให้พระองค์
ทรงขัดเคืองหรือหนอ หรือเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี หรือว่าพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์
เหล่าอื่น?
             พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
             หามิได้ แต่ในแว่นแคว้นของหม่อมฉัน มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล เป็นคน
หยาบช้า ฯลฯ หม่อมฉันจักกำจัดมันเสีย
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ถ้ามหาบพิตรพึงทอดพระเนตรองคุลิมาลผู้ปลงผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์
เว้นจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์
             มหาบพิตรจะพึงทรงกระทำอย่างไรกับเขา?
             พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า
             หม่อมฉันพึงไหว้ พึงลุกรับ พึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ พึงบำรุงเขา
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือพึงจัดการรักษา
ป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
             แต่องคุลิมาลโจรนั้น เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม จักมีความสำรวม
ด้วยศีลเห็นปานนี้ แต่ที่ไหน?
             ก็สมัยนั้น ท่านพระองคุลิมาล นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
             พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นชี้ตรัสบอกพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
             นั่นองคุลิมาล
             ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงมีความกลัว ทรงหวาดหวั่นจนขนลุก
             พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกลัว จึงตรัสว่า
             อย่าทรงกลัวเลย ภัยจากองคุลิมาลนี้จะไม่มีแก่มหาบพิตร
             ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระงับความกลัวแล้ว จึงเสด็จเข้าไปหา
ท่านพระองคุลิมาล แล้วตรัสถามว่า ท่านหรือคือองคุลีมาล
             ท่านพระองคุลิมาลถวายพระพรว่า อย่างนั้น มหาราช
             พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า บิดามารดาของท่านชื่ออะไร
(เพราะพระองค์ไม่ปรารถนาจะเรียกชื่อบรรพชิตด้วยชื่อที่ทำกรรมชั่วมา)
             ท่านพระองคุลีมาลทูลตอบว่า บิดาชื่อ คัคคะ มารดาชื่อ มันตานี
             พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า
             ขอพระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตร จงอภิรมย์เถิด ข้าพเจ้าจะขวนขวาย
ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่ท่านเอง
             ก็สมัยนั้น ท่านองคุลิมาล ถือการอยู่ในป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร
             ท่านพระองคุลิมาลจึงได้ทูลตอบว่า
             อย่าเลย ไตรจีวรของอาตมภาพบริบูรณ์แล้ว
             ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลว่า
             น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ที่พระผู้มีพระภาคทรงทรมาน (ฝึก) ได้
ซึ่งบุคคลที่ใครๆ ทรมานไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้สงบไม่ได้ ให้สงบได้
ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้ดับไม่ได้ ให้ดับได้
             หม่อมฉันไม่สามารถจะทรมานผู้ใดได้ แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศาตรา
แต่ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคทรงทรมานได้โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา
             พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่างนี้แล้ว ก็ทูลลาหลีกไป

พระองคุลิมาลโปรดหญิงมีครรภ์
             ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
             ขณะเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกอยู่นั้น ก็ได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก
             ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง
             ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลว่า
             ตนได้พบสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก และมีความดำริว่า
             สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง
             พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
             ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นแล้วพูดว่า
             ตั้งแต่เราเกิดมาแล้วจะได้รู้สึกว่า แกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้
(ตั้งแต่เกิดในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคยรู้ว่า จงใจปลงชีวิตสัตว์เลย)
             ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมี
แก่ครรภ์ของท่าน
             ท่านพระองคุลิมาลกราบทูลว่า
             ก็อาการนั้น จักเป็นอันข้าพระองค์กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่
             เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก
(ท่านพระองคุลิมาลเข้าใจว่า หมายถึงตอนเกิดจากครรภ์มารดา)
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวว่า
             ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตหามิได้
             ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์
ของท่าน
             ท่านพระองคุลิมาลเข้าไปหาหญิงนั้น แล้วกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอน
             ครั้งนั้น ความสวัสดีได้มีแก่หญิง ความสวัสดีได้มีแก่ครรภ์ของหญิงแล้ว
             (พระผู้มีพระภาคทรงให้ท่านพระองคุลิมาลกระทำสัจจกิริยา เพราะจะสงเคราะห์
พระเถระซึ่งลำบากด้วยบิณฑบาต และสัจจกิริยามิใช่เป็นเวชกรรม)

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 6-6
[ต่อ]

พระองคุลิมาลบรรลุพระอรหัต
             ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาล หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
             ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี
             เวลานั้นก้อนดิน ...  ท่อนไม้ ...  ก้อนกรวดที่บุคคลขว้างไปแม้โดยทางอื่น
ก็มาตกลงที่กายของท่านพระองคุลิมาล
             ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรแตก ผ้าสังฆาฏิฉีกขาด
แล้วท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ (ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์)
             เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอพึงหมกไหม้อยู่ในนรก
ตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปีเป็นอันมาก
ในปัจจุบันนี้แล้ว (ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันคือภพนี้
             กรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ของท่านคือ อุปปัชชเวทนียกรรม และ
อปราปริยเวทนียกรรม อันพระอรหัตตมรรคทำให้กรรมนี้สิ้นแล้ว
             แต่ยังมีทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ซึ่งแม้ท่านถึงพระอรหัตแล้ว ก็ยังให้ผลอยู่)
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กรรม_12

พระองคุลิมาลเปล่งอุทาน
             ครั้งนั้น ท่านพระองคุลิมาลไปในที่ลับเร้นอยู่ เสวยวิมุติสุข เปล่งอุทานนี้ใน
เวลานั้นว่า
                          ก็ผู้ใด เมื่อก่อน ประมาท ภายหลัง ผู้นั้น ไม่ประมาท เขา
                          ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดังพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
                          ผู้ใด ทำกรรมอันเป็นบาปแล้ว ย่อมปิดเสียได้ด้วยกุศล
                          (กุศล ในที่นี้หมายถึงกุศลในองค์มรรค ทำให้กรรมนั้นหยุดให้ผล)
                          ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
                          ภิกษุใดแล ยังเป็นหนุ่ม ย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา
                          ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ
                          ฉะนั้น ขอศัตรูทั้งหลายของเรา จงฟังธรรมกถาเถิด ขอศัตรูทั้ง
                          หลายของเรา จงขวนขวายในพระพุทธศาสนาเถิด ขอมนุษย์ทั้ง
                          หลายที่เป็นศัตรูของเรา จงคบสัตบุรุษผู้ชวนให้ถือธรรมเถิด
                          ขอจงคบความผ่องแผ้วคือขันติ ความสรรเสริญคือเมตตาเถิด
                          ขอจงฟังธรรมตามกาล (หมายถึงฟังสาราณียธรรมกล่าวคือสันติและ
                          เมตตาอยู่ทุกขณะ (ม.ม.อ. ๒/๓๕๒/๒๔๘)) และจงกระทำตามธรรมนั้นเถิด
                          ผู้ที่เป็นศัตรูนั้น ไม่พึงเบียดเบียนเราหรือใครๆ อื่นนั้นเลย ผู้ถึงความ
                          สงบอย่างยิ่งแล้ว (พระนิพพาน) พึงรักษาไว้ซึ่งสัตว์ที่สะดุ้งและที่มั่นคง
                          คนทดน้ำ ย่อมชักน้ำไปได้ ช่างศร ย่อมดัดลูกศรได้ ช่างถาก ย่อมถาก
                          ไม้ได้ ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทรมานตนได้ ฉันนั้น คน
                          บางพวก ย่อมฝึกสัตว์ ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยขอบ้าง ด้วยแส้
                          บ้าง เราเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกแล้ว โดยไม่ต้องใช้อาญา
                          ไม่ต้องใช้ศาตรา เมื่อก่อน เรามีชื่อว่าอหิงสกะ แต่ยังเบียดเบียน
                          สัตว์อยู่ วันนี้ เรามีชื่อตรงความจริง เราไม่เบียดเบียนใครๆ เลย
                          เมื่อก่อน เราเป็นโจร ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล ถูกกิเลสดุจ
                          ห้วงน้ำใหญ่พัดไป มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแล้ว เมื่อก่อน
                          เรามีมือเปื้อนเลือด ปรากฏชื่อว่า องคุลิมาล ถึงพระพุทธเจ้า
                          เป็นสรณะ จึงถอนตัณหาอันจะนำไปสู่ภพเสียได้ เรากระทำ
                          กรรมที่จะให้ถึงทุคติเช่นนั้นไว้มาก อันวิบากของกรรมถูกต้อง
                          แล้ว เป็นผู้ไม่มีหนี้ บริโภคโภชนะ (สามิบริโภค)
                          พวกชนที่เป็นพาลทรามปัญญา
                          ย่อมประกอบตามซึ่งความประมาท ส่วนนักปราชญ์
                          ทั้งหลาย ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อัน
                          ประเสริฐ ฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงอย่าประกอบตามซึ่งความ
                          ประมาท อย่าประกอบตามความชิดชมด้วยสามารถความยินดี
                          ในกาม เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงความสุข
                          อันไพบูลย์ การที่เรามาสู่พระพุทธศาสนานี้นั้น เป็นการมาดีแล้ว
                          ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิดผิด บรรดาธรรมที่พระผู้
                          มีพระภาคทรงจำแนกไว้ดีแล้ว เราก็ได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ
                          สุดแล้ว (นิพพาน) การที่เราได้เข้าถึงธรรมอันประเสริฐสุดนี้
                          นั้น เป็นการถึงดีแล้ว ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่เป็นการคิด
                          ผิด วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำ
                          แล้วดังนี้.
บริโภค หมายถึงการบริโภค ๔ อย่าง คือ
             (๑) การบริโภคของผู้ทุศีล ชื่อว่าเถยยบริโภค ขโมยปัจจัย ๔ บริโภค
             (๒) การบริโภคโดยไม่พิจารณาของผู้มีศีล ชื่อว่าอิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้ (กิเลส)
             (๓) การบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่า ทายัชชบริโภค บริโภคอย่างทายาท
             (๔) การบริโภคของพระขีณาสพ ชื่อว่าสามิบริโภค บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ
             คำว่า วิชชา ๓
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิชชา_3
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=521&bgc=aliceblue#การบริโภค_๔_อย่าง

[แก้ไขตาม #6-7]

ความคิดเห็นที่ 6-7
ฐานาฐานะ, 26 กันยายน เวลา 20:54 น.

GravityOfLove,
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค
             ๓๖. อังคุลิมาลสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดองคุลิมาลโจร
//84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=13&A=8237&Z=8451&bgc=aliceblue&pagebreak=0
...
2:59 PM 9/26/2013

             ย่อความได้ดีครับ มีข้อติงดังนี้ :-
             อย่าเสด็จไปทางนั้น เพราะมีโจรชื่อองคุลิมาลคอยซุ่มฆ่าอยู่
แก้ไขเป็น
             อย่าเดินไปทางนั้น เพราะมีโจรชื่อองคุลิมาลคอยซุ่มฆ่าอยู่
(เนื่องจากคนเหล่านั้นจำพระผู้มีพระภาคไม่ได้.)

             ดูกร องคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่า
แก้ไขเป็น
             ดูกรองคุลิมาล เราวางอาชญาในสรรพสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่า

(ท่านพระองคิลิมาลเข้าใจว่า หมายถึงตอนเกิดจากครรภ์มารดา)
             แก้ไขเป็น
(ท่านพระองคุลิมาลเข้าใจว่า หมายถึงตอนเกิดจากครรภ์มารดา)

             เครื่องหมาย footnote และคำอธิบาย ควรใช้ให้แตกต่างกัน.
----------------------------------
(๑) บริโภค หมายถึงการบริโภค ๔ อย่าง คือ
             ๑. การบริโภคของผู้ทุศีล ชื่อว่าเถยยบริโภค ขโมยปัจจัย ๔ บริโภค
             ๒. การบริโภคโดยไม่พิจารณาของผู้มีศีล ชื่อว่าอิณบริโภค บริโภคอย่างเป็นหนี้ (กิเลส)
             ๓. การบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่า ทายัชชบริโภค บริโภคอย่างทายาท
             ๔. การบริโภคของพระขีณาสพ ชื่อว่าสามิบริโภค บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ

ความคิดเห็นที่ 6-8
ฐานาฐานะ, 26 กันยายน เวลา 21:21 น.

             คำถามในอังคุลิมาลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8237&Z=8451

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?

ความคิดเห็นที่ 6-9
GravityOfLove, 26 กันยายน เวลา 22:34 น.

ขอบพระคุณค่ะ
------------------
             ตอบคำถามในอังคุลิมาลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8237&Z=8451

             เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. องคุลิมาลคิดว่าแม้ช้าง ม้า รถ เนื้อกําลังวิ่งอยู่ เราก็ยังวิ่งตามจับได้
แต่เราไม่สามารถวิ่งทัน สมณะนี้ผู้กําลังเดินอยู่ เขาจึงบอกว่า
             จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด
             องคุลิมาลทูลถามความหมายที่ตรัสเช่นนั้น แล้วเลื่อมใส ทูลขอบวช
ได้เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทารูปหนึ่ง
             ๒. ท่านพระองคุลิมาลได้เห็นสตรีคนหนึ่งมีครรภ์แก่หนัก พระพุทธองค์จึง
ตรัสให้ท่านเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวว่า
             ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตหามิได้
             ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่าน
             ๓. เรื่องราวของท่านพระองคุลิมาล
             องคุลิมาล ชื่อจริงคือ อหิงสกะ แปลว่า ไม่เบียดเบียน
             เรียนที่สำนักตักศิลา เป็นธัมมันเตวาสิก (คือศิษย์ชนิดทำการงานให้อาจารย์)
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=392&p=1

             ๔. ท่านพระองคุลิมาลนั้นได้เคยถวายบริขาร ๘ แก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน
             พระพุทธองค์จึงทรงประทานความเป็นเอหิภิกขุให้
             ๕. ท่านพระองคุลิมาลเรียนมูลกัมมัฏฐานเพื่อทําสมณธรรม จิตย่อมปรากฏ
อาการของพวกมนุษย์ที่ถูกท่านฆ่าเท่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นว่า ให้ท่านทําสัจจกิริยา
โดยอริยชาติเสียก่อน แล้วจึงจะเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหันต์ได้
             ๖. เมื่อท่านพระองคุลิมาลบรรลุอรหันต์แล้ว ขณะเข้าไปบิณฑบาตนั้น
ก้อนดิน ท่อนไม้ ที่บุคคลขว้างไปทางอื่น ก็มาถูกท่านหัวแตก บาตรแตก ผ้าฉีกขาด
พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิดพราหมณ์ เธอได้เสวยผลกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เธอ
พึงหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดปีเป็นอันมาก ตลอดร้อยปีเป็นอันมาก ตลอดพันปี
เป็นอันมาก ในปัจจุบันนี้เท่านั้น
             ๗. ตั่งที่ท่านพระองคุลิมาลนั่งกล่าวคําสัตย์นั้น แม้ชาวบ้านเอาน้ําล้างตั่ง
ไปรดหัวของสัตว์ตัวเมียที่มีครรภ์หลงมา หรือให้นอนที่ตั่งนั้น สัตว์นั้นก็คลอดออกได้ง่าย
แม้โรคอย่างอื่นก็สงบไป มหาปริตรนี้มีปาฏิหาริย์อยู่ตลอดกัป
             ๘. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบัน ) นั้นแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว
ก็ยังให้ผลอยู่
             ๙. ผู้คงที่ในที่นี้หมายถึงความคงที่ ๕ ประการ คือ
             (๑)ความคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
             (๒) ความคงที่เพราะคายอามิสคือกาม
             (๓) ความคงที่เพราะสละกิเลสมีราคะเป็นต้น
             (๔) ความคงที่เพราะข้ามพ้นห้วงน้ำ คือกามเป็นต้น
             (๕) ความคงที่เพราะถูกอ้างถึงตามความจริงด้วยคุณมีศีลเป็นต้น
             (ม.ม.อ. ๒/๓๕๒/๒๔๘,ม.ม.ฏีกา ๒/๓๕๒/๑๘๘)

ความคิดเห็นที่ 6-10
ฐานาฐานะ, 27 กันยายน เวลา 14:53 น.

GravityOfLove, 14 ชั่วโมงที่แล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
------------------
             ตอบคำถามในอังคุลิมาลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8237&Z=8451
...
10:33 PM 9/26/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ.

             ๘. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบัน ) นั้นแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว
             ๘. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบัน) นั้นแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว
             (๑)ความคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ << คัดลอกมาหรือหนอ?
             (๑) ความคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
14:54 27/9/2556

             อันที่จริงแล้ว ม.ม.อ. ๒/๓๕๒/๒๔๘ ก็น่าหมายถึงอรรถกถาอังคุลิมาลสูตร
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=521

ความคิดเห็นที่ 6-11
GravityOfLove, 27 กันยายน เวลา 15:10 น.

คัดลอกมาหรือหนอ?

ค่ะ เขาไม่เว้นวรรคกับวงเล็บ หลุดลอดสายตาไปค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-12
ฐานาฐานะ, 27 กันยายน เวลา 15:23 น.

             รับทราบครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-13
ฐานาฐานะ, 27 กันยายน เวลา 15:27 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า อังคุลิมาลสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8237&Z=8451

              พระสูตรหลักถัดไป คือปิยชาติกสูตร [พระสูตรที่ 37].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
              มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
              ปิยชาติกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8452&Z=8627
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=535

              พาหิติยสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8628&Z=8788
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=549

              ธรรมเจติยสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8789&Z=8961
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=559

              กรรณกัตถลสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8962&Z=9194
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=571

ความคิดเห็นที่ 6-14
GravityOfLove, 27 กันยายน เวลา 15:37 น.

             คำถามปิยชาติกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=13&A=8452&Z=8627

             กรุณาอธิบายค่ะ
             [๕๓๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะคฤหบดีผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วว่า ดูกร
คฤหบดี อินทรีย์ไม่เป็นของท่านผู้ตั้งอยู่ในจิตของตน ท่านมีอินทรีย์เป็นอย่างอื่นไป.
              บทว่า อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ความเป็นโดยประการอื่น เพราะมีวรรณะแปลกไป.
ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ ชื่อว่าอินทรีย์. แต่คำนี้ท่านกล่าวหมายถึงโอกาสที่อินทรีย์ตั้งอยู่แล้ว.
            ขอบพระคุณค่ะ

ย้ายไปที่



Create Date : 14 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 11:54:30 น.
Counter : 1050 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog