13.10 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาสีหนาทสูตรและมหาทุกขักขันธสูตร.
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
13.9 พระสูตรหลักถัดไป คือมหาสีหนาทสูตรและมหาทุกขักขันธสูตร.

ความคิดเห็นที่ 6-76
ฐานาฐานะ, 27 กุมภาพันธ์ เวลา 15:01 น.

GravityOfLove, 14 วินาทีที่แล้ว
             คำถามในมธุปิณฑิกสูตร
//84000.org/tipitaka/v.php?B=12&A=3752&Z=3952

             ๑. ภพใหญ่, ภพน้อยภพใหญ่แปลว่าอะไรคะ
             ตอบว่า น่าจะเป็นการเปรียบเทียบ นัยว่า ทุคติเป็นภพน้อย, สุคติเป็นภพใหญ่
             กามภพ เป็นภพน้อย, รูปภพ อรูปภพ เป็นภพใหญ่
             กามภพรูปภพ  เป็นภพน้อย, อรูปภพ เป็นภพใหญ่ เป็นต้น

             อรรถกถาทิฐิกถา
[บางส่วน]
             บทว่า ภวาภเว คือ ในภพน้อยภพใหญ่.
             บทว่า อภโว คือภพใหญ่ เพราะมี อ อักษรเป็นไปในอรรถว่าเจริญ.
             พึงทราบภพน้อยภพใหญ่นั้นเพราะความเปรียบเทียบกัน.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=294&p=3

             อรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[บางส่วน]
             บทว่า กามภเว ได้แก่ ภพกามาพจร.
             บทว่า รูปภเว ได้แก่ ภพรูปาพจร.
             บทว่า อรูปภเว ได้แก่ ภพอรูปาพจร. ความต่างกันของภพเหล่านั้นได้ประกาศแล้วในหนหลังนั่นแล.
             บทว่า ภวาภเวสูติ ภวาภเว ความว่า บทว่า ภโว ได้แก่ กามธาตุ. บทว่า อภโว ได้แก่ รูปธาตุและอรูปธาตุ,
             อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภโว ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ.
             บทว่า อภโว ได้แก่ อรูปธาตุ, ในภพน้อยภพใหญ่เหล่านั้น.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=30&p=5

             ๒. ในพระสูตรนี้ ใช้ทั้งคำว่า สัญญา และ จำ ทั้ง ๒ คำ
             ไม่ทราบว่า เป็นคำเดียวกันหรือไม่คะ
             ตอบว่า น่าเป็นคำเดียวกัน กล่าวคือ สัญญา คือจำได้หมายรู้
หรือความสำคัญหมาย.
             ส่วนความสามารถในการจำได้ กล่าวคือสามารถระลึกได้
สามารถที่จะให้อารมณ์เหล่านั้นปรากฎชัดเจนบ้าง นานแล้วก็ให้ปรากฏได้บ้าง
เป็นสติ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่สติเกิด สัญญาก็เกิด พร้อมเหตุว่า สัญญาเกิดพร้อมจิต.

             ๓. กรุณาอธิบายค่ะ
             ถามว่า ส่วนแห่งเครื่องเนิ่นช้าเกิดพร้อมกับชวนะ ถ้าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
จึงทำการถืออดีตและอนาคตเล่า.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=243
             ตอบว่า ในส่วนนี้ น่าจะเป็นการอธิบายในส่วนคำว่า
>>>>
เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลายที่พึงจะรู้ด้วยตาเป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคต
ก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.
<<<<
             คำถามนี้ น่าจะเป็นการกล่าวว่า ส่วนแห่งเครื่องเนิ่นช้าเกิดในขณะปัจจุบันที่
ตาเห็นรูป หูฟังเสียง ... ทำไมจะกล่าวคำว่า เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.
             คำนี้ น่าจะมี 2 นัย
             นัยแรก คือ พื้นๆ ว่า สิ่งเหล่านี้หรือเหตุการณ์เหล่านี้ เกิดอย่างนี้มาแล้ว
ในอดีต กำลังเกิดในปัจจุบัน และจะเกิดในอนาคต.
             นัยสอง ตาในปัจจุบัน เห็นรูปที่เป็นอดีต เห็นรูปที่เป็นอนาคต เห็นรูปในปัจจุบัน
             เมื่อพิจารณาแล้ว น่าจะเป็นนัยแรก.
             แต่ในส่วนของมโนทวาร อาจสามารถคำนึงถึงอารมณ์ต่างๆ ในอดีตได้
เช่น เราเคยมีความสุขอย่างนั้น เคยมีโภคสมบัติอย่างนั้นมาแล้วในอดีต
เราจักมีโภคสมบัติมากมายในอนาคต.

             ๔. บทว่า มโนวิญฺญาณํ ได้แก่ อาวัชชนะหรือชวนะ.
             ครั้นอาวัชชนะถือแล้ว ผัสสะ เวทนา สัญญาและวิตก ย่อมเกิดพร้อมกับอาวัชชนะ
เครื่องเนิ่นช้าเกิดพร้อมกับชวนะ ครั้นชวนะถือแล้ว ภวังคจิตซึ่งมีพร้อมกับอาวัชชนะ ชื่อว่าเป็นมโน
แต่นั้นผัสสะเป็นต้นแม้ทั้งหมดก็เกิดพร้อมกับชวนะ ส่วนในมโนทวาร อารมณ์แม้ทั้งหมดอันต่างโดย
เป็นอดีตเป็นต้นก็ย่อมมี เพราะฉะนั้น คำนี้ว่า เป็นที่อดีตอนาคตและปัจจุบัน เป็นอันเหมาะสมแล้ว.
12:20 AM 2/26/2013
             เนื้อความข้างบนนี้ ผมไม่ค่อยเข้าใจนัก.

ความคิดเห็นที่ 6-77
GravityOfLove, 27 กุมภาพันธ์ เวลา 19:19 น.

พอจะเข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-78
GravityOfLove, 27 กุมภาพันธ์ เวลา 19:29 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๒. สีหนาทวรรค          
             ๘. มธุปิณฑิกสูตร ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ (มธุปิณฺฑิกปริยายํ)
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=3752&Z=3952&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท
             ทัณฑปาณิศากยะได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
             พระสมณะมีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไรจึงไม่โต้เถียงกับใครๆ ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ แล้วดำรงอยู่ในโลก
             และสัญญา (ความหมายรู้อารมณ์) ทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย
ผู้ไม่มีความลังเลสงสัย ผู้ตัดความคะนองได้ ผู้ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด
             เราก็มีปกติกล่าวอย่างนั้น บอกอย่างนั้น (ทรงแสดงความที่พระองค์เป็นพระขีณาสพ)
             เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่น
แล้วจากไป

             ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสเล่าให้ฟังถึงเรื่องที่พระองค์
ทรงสนทนากับทัณฑปาณิศากยะ
             ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระองค์ว่า
             พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไรจึงจะไม่โต้เถียงกับใครๆ ...
             พระองค์ตรัสตอบว่า
             ถ้าการที่บุคคลจะไม่เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุอันทำให้ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า
สามารถครอบงำบุรุษได้ อันนี้เป็นที่สิ้นสุดแห่งราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย
ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย (อนุสัย ๗)
             และเป็นที่สิ้นสุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การโต้เถียง การด่าว่า
การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ  
             บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ
             ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ

             คำว่า กิเลสเครื่องเนิ่นช้า
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ปปัญจธรรม_3
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=อนุสัย_7

             ภิกษุเหล่านั้นยังมีความสงสัยในอุเทศที่ทรงแสดงโดยย่อ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า ควรไปถาม
เนื้อความโดยละเอียด (พิสดาร) กับท่านพระมหากัจจานะ ผู้ที่พระองค์ทรงยกย่องและเพื่อนพรหมจรรย์
ผู้รู้ก็สรรเสริญ
             เมื่อพากันไปถามท่านพระมหากัจจานะๆ ตอบว่า
             อุปมาเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้โดยผ่านโคนและลำต้นซึ่งเป็นที่ๆ มีแก่น
ไปแสวงหาแก่นที่กิ่งและใบไม้ ฉันใด
             ท่านทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อพระองค์ทรงปรากฏอยู่หน้าท่านทั้งหลายๆ ก็ผ่านพระองค์ไป
แล้วมาสอบถามเรา
             แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้ ทรงเห็นเป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม
เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต
             ภิกษุเหล่านั้นกล่าวเห็นด้วยกับท่านพระมหากัจจานะ พร้อมกล่าวว่า
             เนื่องจากพระองค์ทรงยกย่องท่าน และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้ก็สรรเสริญท่าน ดังนั้นขอท่าน
ไม่ต้องหนักใจ โปรดตอบมาเถิด
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุเทศ / อุทเทส

             ท่านพระมหากัจจานะชี้แจงโดยพิสดารดังนี้
             ๑. จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูปารมณ์ ความประจวบกันแห่งธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ
(ความกระทบอารมณ์)
                       เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา (การเสวยอารมณ์)
                       บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น
                       บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนานั้น
                       บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น
                       บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าก็ครอบงำบุรุษ
เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลายที่พึงจะรู้ด้วยตาทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
(ไม่ว่า อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็กล่าวอย่างเดียวกัน)
             ๒. โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและสัททารมณ์ ...
             ๓. ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและคันธารมณ์ ...
             ๔. ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรสารมณ์ ...
             ๕. กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ ...
             ๖. มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ ความประจวบกันแห่งธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ
                       เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา
                       บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น
                       บุคคลจำเวทนาอันใด  ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น
                       บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น
                       บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าก็ครอบงำบุรุษ
เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิญญาณ_6
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ผัสสะ_6
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เวทนา_6

             (ท่านพระมหากัจจานะแสดงวัฏฏะ)
             เมื่อมีตา มีรูปารมณ์ และมีจักขุวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติผัสสะ
             เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติเวทนา
             เมื่อมีการบัญญัติเวทนาเป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติสัญญา
             เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติวิตก (ความตรึกอารมณ์)
             เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า

             เมื่อมีหู มีสัททารมณ์ ...
             เมื่อมีจมูก มีคันธารมณ์ ...
             เมื่อมีลิ้น มีรสารมณ์ ...
             เมื่อมีกาย มีโผฏฐัพพารมณ์ ...

             เมื่อมีใจ มีธรรมารมณ์ และมีมโนวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติผัสสะ
             เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติเวทนา
             เมื่อมีการบัญญัติเวทนา เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติสัญญา
             เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติวิตก
             เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจะบัญญัติว่า การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า

             เมื่อไม่มีตา ไม่มีรูปารมณ์ ไม่มีจักขุวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติผัสสะ
             เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติเวทนา
             เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติสัญญา
             เมื่อไม่มีการบัญญัติสัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติวิตก
             เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญา
เครื่องเนิ่นช้า

             เมื่อไม่มีหู ไม่มีสัททารมณ์ ...
             เมื่อไม่มีจมูก ไม่มีคันธารมณ์ ...
             เมื่อไม่มีลิ้น ไม่มีรสารมณ์ ...
             เมื่อไม่มีกาย ไม่มีโผฏฐัพพารมณ์ ...

             เมื่อไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีมโนวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติผัสสะ
             เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติเวทนา
             เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติสัญญา
             เมื่อไม่มีการบัญญัติสัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติวิตก
             เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญา
เครื่องเนิ่นช้า

             เมื่อท่านพระมหากัจจานะชี้แจงโดยพิสดารจบแล้ว ได้ปรารภให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เพื่อทูลถามเนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้นไว้
โดยประการนั้นเถิด.
             ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
กราบทูลเล่าให้ฟังว่า
             พวกตนได้สอบถามอุทเทสที่พระองค์ทรงแสดงโดยย่อกับท่านพระมหากัจจานะๆ ได้ชี้แจง
เนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
              มหากัจจานะเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก แม้ว่าเธอทั้งหลายจะถามเนื้อความนี้กับเรา
เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นอย่างนี้ เธอทั้งหลายจงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนี้เถิด
             ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า
             ผู้ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ ได้ขนมหวาน เขากินในเวลาใดๆ ก็จะพึงได้รับ
รสหวานอร่อย ในเวลานั้นๆ แม้ฉันใด
             ภิกษุผู้เป็นนักคิด เป็นบัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้
ด้วยปัญญาในเวลาใด ก็จะพึงได้ความพอใจและความเลื่อมใสแห่งใจในเวลานั้นๆ
             แล้วทูลถามชื่อของธรรมบรรยายนี้
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชื่อ มธุปิณฑิกปริยาย
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
             ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

[แก้ไขตาม ๖-๗๙, ๖-๙๘]

ความคิดเห็นที่ 6-79
ฐานาฐานะ, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 19:47 น.  

GravityOfLove, 20 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             ๒. สีหนาทวรรค
             ๘. มธุปิณฑิกสูตร ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ (มธุปิณฺฑิกปริยายํ)
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=3752&Z=3952
7:28 PM 2/27/2013

             ย่อความได้ดี รวบรวมประเด็นสำคัญได้ครบถ้วน
             มีข้อติงเล็กน้อย ดังนี้ :-
             ข้อ 1.
             เมื่อท่านพระมหากัจจานะชี้แจงโดยพิสดารจบแล้ว ได้ปรารภให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เพื่อทูลถามเนื้อความนั้น
             ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
กราบทูลเล่าให้ฟังว่า
ควรเพิ่มเนื้อความให้ครบถ้วนว่า
             เมื่อท่านพระมหากัจจานะชี้แจงโดยพิสดารจบแล้ว ได้ปรารภให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เพื่อทูลถามเนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้นไว้
โดยประการนั้นเถิด.
             ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
กราบทูลเล่าให้ฟังว่า

             ข้อ 2. เรื่องประโยคที่ใช้ในย่อความบางประโยค ขอยกไปในส่วนของคำถามในพระสูตร.

ความคิดเห็นที่ 6-80
ฐานาฐานะ, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 20:16 น.   

             คำถามในพระสูตรชื่อว่า มธุปิณฑิกสูตร
//84000.org/tipitaka//v.php?B=12&A=3752&Z=3952

             ย่อความส่วนหนึ่งของคุณ GravityOfLove ว่า :-
             พระองค์ตรัสตอบว่า
             ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า (แง่ต่างๆ แห่งสัญญา อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
คือตัณหา ทิฏฐิ มานะ) จะครอบงำบุรุษไม่ได้ หากสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือนั้นไม่มี
             อันนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ...
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<
             ขอให้คุณ GravityOfLove ใช้ประโยคพื้นฐานง่ายๆ ว่า เนื้อความควรเป็นอย่างไร?
เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ. ทั้งนี้ได้นำเนื้อความในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มหามกุฏฯ
และมหาจุฬาฯ ตามลำดับ มาแสดงด้านล่าง เพื่อให้สะดวกในการเทียบเคียง ดังนี้ :-
             เนื้อความในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ มหามกุฏฯ และมหาจุฬาฯ ตามลำดับ.
             พระผู้มีพระภาคตอบว่า
             ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

             พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
             ดูก่อนภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า  ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
             “ภิกษุ แง่ต่างๆ แห่งปปัญจสัญญา ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีในเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย

ความคิดเห็นที่ 6-81
GravityOfLove, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 22:29 น.

ขอให้คุณ GravityOfLove ใช้ประโยคพื้นฐานง่ายๆ ว่า เนื้อความควรเป็นอย่างไร?

สัญญาอันเจือด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ จะครอบงำบุรุษไม่ได้เลย หากสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือนั้นไม่มี
อันนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย (อนุสัย ๗)

ความคิดเห็นที่ 6-82
ฐานาฐานะ, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 22:42 น.  

             อ่านแล้วก็ยังงงๆ ครับ
             ทดลองแปลทีละ ประโยค หรือทีละ ประโยคย่อย จากประโยคอีกครั้ง
เดี๋ยวจะเฉลยดูว่า จะเห็นด้วยกับการแปลความของผมหรือไม่?
(ประโยคในพระไตรปิฎกนี้ ผมอ่านอยู่นานเลย)

             เนื้อความในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ.
             พระผู้มีพระภาคตอบว่า
             ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

ความคิดเห็นที่ 6-83
GravityOfLove, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 22:52 น.

(ประโยคในพระไตรปิฎกนี้ ผมอ่านอยู่นานเลย) << (เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ)

ส่วน + แห่งสัญญา + เครื่องเนิ่นช้า ==> สัญญาอันเจือด้วยตัณหา ทิฏฐิ มานะ ไม่มีเลยสักส่วน (ที่จะครอบงำ)
ย่อมครอบงำบุรุษไม่ได้ หากบุรุษนั้นไม่มีตัณหา (เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน)
อันนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ...

คณฐานาฐานะแปลอย่างไรคะ

ความคิดเห็นที่ 6-84
ฐานาฐานะ, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 23:00 น.  

             ผมแปลอย่างนี้คือ ประโยคหลัก :-
             ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...
แปลครั้งที่ 1
             ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะไม่มีความเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...
หรือ
             ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด
ถ้าการที่บุคคลจะไม่เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...
แปลครั้งที่ 2
             ถ้าการที่บุคคลจะไม่เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุอันทำให้
ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

             เห็นด้วยไหมหนอ?

ความคิดเห็นที่ 6-85
GravityOfLove, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 23:09 น.

ถ้าการที่บุคคลจะไม่เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุอันทำให้ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

ขอเป็นประโยคใหม่อีกทีได้ไหมคะ แบบว่า อะไรเป็นประธาน เป็นภาคแสดง ภาคขยาย
อ่านตอนแรกก็พอเข้าใจ แต่ตอนท้ายประโยคมีเขียนว่า "ย่อมครอบงำบุรุษ" ก็เลยนึำกภาพไม่ออกเลย

ความคิดเห็นที่ 6-86
ฐานาฐานะ, 28 กุมภาพันธ์ เวลา 23:20 น.
             แก้ไขใหม่ว่า
             ถ้าการที่บุคคลจะไม่เพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ในเหตุอันทำให้
ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า สามารถครอบงำบุรุษ อันนี้เทียวเป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย ...

             ประโยคในชีวิตประจำวัน
             ถ้าการที่เธอจะไม่เพลิดเพลิน ในสุราอันเป็นเหตุทำให้ความเมา
สามารถครอบงำเธอได้ นี้เป็นที่สุดแห่งความปลอดภัยในชีวิต ...
             ถ้าเธอจะไม่เพลิดเพลิน ในสุราอันเป็นเหตุทำให้ความเมา
สามารถครอบงำเธอได้ นี้เป็นที่สุดแห่งความปลอดภัยในชีวิต ...
             พอไหวไหมหนอ?

ย้ายไปที่



Create Date : 13 มีนาคม 2556
Last Update : 21 มิถุนายน 2557 9:56:55 น.
Counter : 501 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



มีนาคม 2556

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
15
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
13 มีนาคม 2556
All Blog