Departures การเดินทางแห่งชีวิต




Departures
การเดินทางแห่งชีวิต

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 29 มีนาคม 2552


*ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้พูดถึง “ความตาย” ที่มีความหมายต่อ “ชีวิต”

เริ่มต้นด้วยความตายของเด็กสาวคนหนึ่ง... ไดโงะ โคบายาชิ ติดตามชายชราไป “ส่งผู้เสียชีวิต” โดยอาสาตระเตรียมและตกแต่งร่างของเธอให้พร้อมต่อการเดินทาง นี่เป็นอีกครั้งที่ไดโงะได้ทำหน้าที่ผู้จัดพิธีศพอย่างเต็มตัวหลังจากเข้าทำงานนี้ตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อน

ย้อนไปก่อนหน้าเมื่อครั้งไดโงะยังเป็นนักเชลโลในวงออร์เคสตร้า ไล่ตามเก็บเกี่ยวความฝันวัยเยาว์ที่ต้องการเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อวงออร์เคสตร้าไม่ประสบความสำเร็จกระทั่งถูกยุบวง ไดโงะเริ่มมองไม่เห็นอนาคตของการเป็นนักเชลโลที่ต้องดูแลภรรยาและแบกรับค่าครองชีพสูงลิ่วในโตเกียว

หลังตรึกตรองไม่นาน...ไดโงะตัดใจขายทิ้งเชลโลคู่ชีพราคาแพงแล้วพาภรรยากลับบ้านเกิดของเขาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

บ้านของไดโงะเคยเป็นร้านอาหาร ถูกปล่อยร้างตั้งแต่แม่เสียชีวิตเมื่อสองปีก่อน ส่วนพ่อทิ้งเขากับแม่ไปตั้งแต่ไดโงะอายุเพียง 6 ขวบ ที่นี่จึงเต็มไปด้วยความทรงจำมากมายทั้งดี-ร้าย ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งชีวิตของไดโงะอย่างแท้จริง ไม่ว่าในขณะปัจจุบันหรือย้อนไปในอดีต

ไดโงะไปสมัครงานที่สำนักงานจัดพิธีศพโดยเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัททัวร์ ชายชราท่าทางภูมิฐานรับเขาทันทีพร้อมเสนอเงินเดือนในระดับที่ไดโงะไม่อาจปฏิเสธ แม้ในตอนแรกชายหนุ่มจะหวั่นกลัวและสะอิดสะเอียนกับการทำงานกับศพ แต่ผ่านนานวันขั้นตอน พิธีการ รวมทั้งการได้เฝ้ามองและรับรู้ว่าชายชรากระทำสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิตมากเพียงใด ไดโงะจึงเริ่มเปิดใจยอมรับพร้อมกับเรียนรู้ที่จะเป็นผู้จัดพิธีศพที่ดีคนหนึ่ง

ปัญหาคือไดโงะปกปิดไม่ให้ภรรยารู้ว่าเขาทำงานอะไรเพราะกลัวว่าเธอจะรับไม่ได้ เมื่อวันหนึ่งความจริงเปิดเผยและภรรยายื่นคำขาดให้เขาออกจากงาน ไดโงะจะตัดสินใจต่อ “ชีวิต” และ “ความตาย” ที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างไร

Departures (2008) หรือในชื่อดั้งเดิมว่า Okuribito คือหนังญี่ปุ่นที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์หนังภาษาต่างประเทศหนล่าสุด ชนะหนังเต็งอย่าง Waltz with Bashir จากอิสราเอล และ The Class จากฝรั่งเศส แบบเหนือความคาดหมาย ขณะที่ในบ้านเกิด Departures ถือเป็นหนังแห่งปีเรื่องหนึ่งด้วยการกวาดรางวัลมากมายในหลายเวทีประกวด งานกำกับฯของ โยจิโร ทากิตะ (เคยมีผลงานจัดจำหน่ายในไทยเรื่อง Ashura ดาบฆ่าปีศาจ) จากบทภาพยนตร์ของ คุนโดะ โคยามะ

ถ้าให้แจกแจงว่า Departures เป็นหนังญี่ปุ่นที่มีเนื้อหา บรรยากาศ และอารมณ์ประมาณใด คำตอบแบบเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดที่สุดคือ Departures คล้ายกับเรื่อง The Village Album (2004) ของ มิตสุฮิโระ มิฮาระ ซึ่งคอหนังคนไทยรู้จักดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการเดินทางกลับบ้านเกิดในชนบทของชายหนุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชาย การเรียนรู้เพื่อเข้าใจในคุณค่าความหมายของอะไรบางอย่างซึ่งไม่อาจรับรู้ได้อย่างฉาบฉวยผิวเผิน

จุดเด่นสำคัญของหนังคือบทภาพยนตร์ที่ร้อยเรียงตัวละคร เหตุการณ์ และความหมายของแต่ละเรื่องราวที่ส่งผ่านถึงกันได้อย่างกลมกลืน (แม้บางครั้งจะอดรู้สึกไม่ได้ว่าเป็นความเหมาะเจาะคล้องจองที่จงใจเกินไปอยู่บ้าง) ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างทางความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่กับลูก ไล่ตั้งแต่ตัวละครศูนย์กลางของเรื่องอย่างไดโงะที่ถูกพ่อทิ้งตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่ตนเองซึ่งมีปัญหากับภรรยาก็กำลังจะมีลูก ตัวละครเพื่อนของไดโงะไม่พอใจแม่ที่ไม่ยอมขายกิจการโรงอาบน้ำเก่าแก่เพื่อทำคอนโดมิเนียม และผู้คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเพิ่ง “มองเห็น” ลูกหรือพ่อ-แม่ของตนอย่างชัดเจนเต็มความรู้สึกเมื่อเหลือเพียงร่างไร้ชีวิต

*“ความตาย” ถูกนำเสนอตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งความตายที่ให้ความหมายต่อการใช้ชีวิต ความตายที่ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้จากไป และความตายในความหมายของการเดินทาง

ความตายที่ให้ความหมายต่อการใช้ชีวิต เช่นในฉากที่ไดโงะกับภรรยานำปลาหมึกที่ถูกจับมาเป็นอาหารไปปล่อยแต่มันกลับตายทันทีที่ลงน้ำราวกับว่าแหล่งน้ำแห่งนี้ไม่ใช่บ้านของมัน หรือความพยายามว่ายทวนกระแสน้ำของปลาแซลมอนเพื่อไปสู่ความตายในท้ายที่สุด ไดโงะเรียนรู้จากความตายเหล่านี้ว่าจุดเริ่มต้นของชีวิตมีคุณค่าความหมายอย่างยิ่ง เหมือนเขาที่กลับคืนสู่บ้านเกิดและได้โอกาสรำลึกรื้อฟื้นความทรงจำที่เลือนหายไป

เป็นความทรงจำจากจุดเริ่มของชีวิตซึ่งหลอมรวมอยู่ในตัวเขาเสมอมา ทั้งความฝันในการเป็นนักเชลโล บทเพลงแห่งอดีตซึ่งคอยปลอบโยนความรู้สึก และความรัก-ความอบอุ่นในบ้านหลังเก่า

เป็นความทรงจำซึ่งประทับเป็นหนึ่งเดียวกับความทรงจำเกี่ยวกับพ่อผู้ทิ้งไดโงะไปตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แม้ไดโงะพยายามลบเลือนภาพของพ่อ แต่สุดท้ายเขาก็รู้ว่าถึงจะลบออกจากความทรงจำ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะลบออกจากชีวิต

ถึงตรงนี้ความตายที่ให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของผู้จากไปเข้ามาสอดรับเรื่องราวระหว่างไดโงะกับพ่อ

ก่อนหน้านี้ในฐานะผู้จัดพิธีศพซึ่งต้องชำระร่างกาย ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และตกแต่งใบหน้าให้แก่ผู้เสียชีวิตด้วยขั้นตอน-พิธีการตามระเบียบแบบแผน คำนึงถึงการแสดงความเคารพต่อผู้จากไปและเต็มไปด้วยความงดงามในทุกความเคลื่อนไหว เพื่อบันทึกเป็นภาพสุดท้ายแก่สายตาครอบครัว-ญาติพี่น้องก่อนจะบรรจุลงในโลงศพ

งานของไดโงะช่วยให้คนตายราวกับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง ทำให้ลูกซึ่งไม่เคยใส่ใจความรู้สึกของแม่ แม่ที่ไม่ชอบพฤติกรรมเกเรของลูกสาว หรือพ่อที่ตะขิดตะขวงใจกับเพศของลูกชายได้มองเห็นว่าแท้จริงแล้วคนที่กำลังจากไปชั่วนิรันดร์คือคนที่พวกเขารักอย่างหมดใจโดยไม่มีเงื่อนไขใดมาขวางกั้น

ในที่สุดไดโงะก็ได้ “มองเห็น” พ่อโดยไร้ซึ่งเงื่อนไขเช่นกัน

สำหรับความตายในความหมายของการเดินทาง นอกจากความหมายในเชิงคติความเชื่อที่ว่าคนตายจะเดินทางสู่อีกภพหนึ่งแล้ว ความตายยังสะท้อนให้ผู้มีชีวิตอยู่อย่างไดโงะรู้ว่าเขาก็กำลังเดินทางอยู่ด้วย

จากความฝันในวัยเยาว์ที่จะเป็นนักดนตรีเดินทางแสดงคอนเสิร์ตรอบโลก ต้องหวนคืนบ้านเกิดซึ่งเปรียบได้กับจุดเริ่มต้นราวกับไม่ได้ไปไหนเลย แต่ความตายแต่ละครั้งที่ไดโงะได้เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้จัดพิธีศพ (ไดโงะมีหน้าที่ขับรถให้ชายชราผู้เป็นเจ้านาย) โดยจะทำทุกขั้นตอนอย่างประณีตใส่ใจไม่ต่างจากเวลาเล่นเชลโลในวงออร์เคสตร้า จึงเสมือนเขาได้เดินทางเพื่อบรรเลงเพลงขับกล่อมปลอบโยนความรู้สึกของผู้อื่น

แต่ละสถานที่ แต่ละบทเพลง แต่ละกลุ่มผู้ฟัง…แม้ไม่ได้เดินทางไกลรอบโลก แค่ไปถึงจุดหมายในทุกการเดินทางก็เพียงพอ




Create Date : 16 มิถุนายน 2552
Last Update : 16 มิถุนายน 2552 17:07:58 น. 12 comments
Counter : 3915 Pageviews.

 
ใกล้จะได้ดูแล้ว


โดย: คนขับช้า วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:20:43:38 น.  

 
ชอบเรื่องนี้ด้วย
แต่ The Class น่าจะชนะออสการ์มากกว่านะครับ


โดย: เอกเช้า IP: 124.120.183.68 วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:21:59:10 น.  

 

ชอบหนังเรื่องนี้จังค่ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 16 มิถุนายน 2552 เวลา:22:10:22 น.  

 
อยากดูมากครับ
โดยเฉพาะน้องเรียวโกะที่สลัดคราบ
แบ๊วออกได้อย่างน่าภาคภูมิ
ตัวเนื้อเรื่องก็น่าสนใจ
และที่สำคัญไม่ดีจริงคงไม่ได้ OSCAR หรอก

^__^


โดย: Teeraratsakul วันที่: 17 มิถุนายน 2552 เวลา:8:14:40 น.  

 
อ่านแล้วเห็นอีกประเด็นคือการเดินทางไปสู่ความตายอันสงบด้วยครับ

ผมชอบประเด็น "ชีวิต" และ "ความตาย" ของหนังครับ บางฉากบางตอนก็พูดถึงประเด็นนี้ได้คมคายดีครับ เช่นฉากกินไข่ปลา

แต่ผมกลับรู้สึว่ากมันสวยงามเกินไปในโลกความจริงครับในกรณีของความรู้สึกต่อพ่อของพระเอก

แต่ทุกข้อเสียผมยกให้ครับ เพราะหนังเรื่องนี้มีเรียวโกะ ฮิโรซุเอะ --" แต่ก็ยังงงอยู่ดีครับว่าเหตุใดถึงได้ออสการ์???


โดย: Seam - C IP: 58.11.30.53 วันที่: 17 มิถุนายน 2552 เวลา:21:19:55 น.  

 
ความเห็นส่วนตัวผมนะครับ

Departures [B+]

-ความรู้สึกคล้ายๆ ตอนดู The Village Album, Tokyo Towers ครับ ซึ่งถ้าใครที่ชอบแนวๆ นี้ก็น่าจะชอบหนังเรื่องนี้ แต่ผมเฉยๆ

-ผมคิดว่าหนังดี แต่ไม่น่าจะถึงขั้นได้ Best Pictures เอาชนะตัวเต็งอย่าง Waltz with Bashir, The Class ไปได้
เป็นอีกปีนึงที่คณะกรรมการใช้หัวใจในการตัดสินรางวัล (แต่ก็ยังดีกว่า The Counterfeiters ผู้ชนะปีที่แล้วที่ไม่รู้ว่าชนะมาได้ยังไง)

-โดยรวมๆ ตัวหนังทำได้ดี อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งการกำกับ การแสดง บทภาพยนตร์ ดนตรีประกอบ หนังดูกลมกลืน ลงตัว แต่ยังไม่มีอะไรที่โดดเด้งจนถึงขั้นต้องปรบมือให้หลังหนังจบ

-เนื้อเรื่องน่าสนใจ ให้แนวคิดเรื่องความตาย กับการเลือกใช้ชีวิต หนังขมวดปมง่ายๆ แต่ดี

-นางเอก เรียวโกะ ฮิโรสุเอะ น่ารักมากๆ เสียแต่แอ๊บแบ๊วไปหน่อย

-ชอบฉากกินไข่ปลา “น่าเศร้านะที่มันอร่อย”


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:1:27:45 น.  

 
อ่านเรื่องย่อแค่กระจิ๊ดริด ...
พอจะเดาได้ว่าประเทศนี้น่าจะทำหนังเศร้าๆ อย่างที่เคยผ่านมาได้อีกหลายเรื่อง


โดย: haro_haro วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:13:21:41 น.  

 
ชอบความหมายของ "การเดินทาง" ค่ะ

ทั้งของ ผู้ตาย - กว่าจะไปถึงอีกภพ

และ ไดโงะ - กว่าจะพบว่ายังมีอย่างอื่นที่เขาทำได้ดี ไม่น้อยไปกว่าการเป็นนักเชลโล



โดย: renton_renton วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:6:48:15 น.  

 
เสียดาย... คนตายไม่ได้ดู


โดย: ป้าชุลี IP: 58.64.79.241 วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:22:13:32 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณ จขบ.

แวะมาบอกว่า แอบส่งอะไรไปให้ทางหลังไมค์ ช่วยเช็กให้ด้วยนะคะ

ปล. แวะไปลงคะแนนให้หนังเรื่องนี้หน่อย
//www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7993561/A7993561.html


โดย: จูริง IP: 41.233.120.5 วันที่: 21 มิถุนายน 2552 เวลา:18:41:13 น.  

 
ชอบเหมือนกันค่ะ


โดย: เจ้าแห่งน้ำคือพระจันทร์ วันที่: 22 มิถุนายน 2552 เวลา:1:17:38 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทวิจารณ์ค่ะ

อ่านแล้ว ก็รู้สึกว่า เข้าใจเรื่องนี้ขึ้นอีกเยอะ

ติดตามผลงานคุณเสมอค่ะ


โดย: นางมารร้าย IP: 110.164.25.210 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:18:30:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.