The Last Communist คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย



The Last Communist
คอมมิวนิสต์คนสุดท้าย

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 3 ธันวาคม 2549


*The Last Communist เป็นหนังสารคดีจากมาเลเซีย ผลงานของ อามีร์ มูฮัมหมัด ว่าด้วยประวัติชีวิตของ “จิน เป็ง” หรือ “เฉิน ผิง” ในภาษาจีนกลาง อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะถูกทางการมาเลย์ห้ามกลับเข้าประเทศ

ขณะที่หนังชีวประวัติของเขาเรื่องนี้ก็ถูกห้ามฉายในมาเลเซีย

คือ “จิน เป็ง” คนเดียวกับที่ปรากฏในข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบทางภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้(2549) จากคำพูดของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ขณะยังไม่ได้เป็นประธาน คมช. ว่าลูกน้องของจิน เป็ง หรือ “โจรจีนคอมมิวนิสต์” ในอดีต เกี่ยวข้องกับขบวนการป่วนใต้

ดังนั้น ก่อนจะเข้าเรื่องจึงต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่า แม้เนื้อหาใน The Last Communist จะมีส่วนที่พูดถึงชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมทั้งเข้ามาถ่ายทำใน อ.เบตง จ.ยะลา แต่ไม่มีตอนใดกล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเรา

นอกจากนี้ แม้หนังจะถูกห้ามฉายในมาเลเซีย แต่เนื้อหาโดยรวมไม่ได้หมิ่นเหม่หรือสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ใครหรือฝ่ายใด ที่ถูกแบนคงเป็นเพราะหนังกล่าวถึง “บุคคลต้องห้าม” ของทางการอย่างเรียบง่ายจนเกินไป กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลคนหนึ่งออกมาระบุว่า ที่ต้องแบนหนังเรื่องนี้เพราะหนังไม่มีความรุนแรงเพียงพอ จึงถือเป็นการบิดเบือนอดีต

ขอเล่าย้อนไปอีกหน่อยว่า ตอนแรกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของมาเลเซียพิจารณาหนังเรื่องนี้แล้วให้ผ่านโดยไม่มีการตัดฉากใดๆ และนับเป็นหนังสารคดีสัญชาติมาเลย์ซึ่งฉายในวงจำกัดเรื่องแรกที่ได้เรต U หรือเหมาะสำหรับทุกวัย

จากนั้น The Last Communist ได้เดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ ทั่วโลก แต่เมื่อจวนจะฉายในบ้านเกิด หนังสือพิมพ์ภาษามาเลย์แนวอนุรักษนิยมฉบับหนึ่งได้ออกมาต่อต้านการฉายหนังเรื่องนี้ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางแม้แต่ในสภา กระทั่งมีการกลับคำตัดสินดังกล่าว

เส้นทางชีวิตของ “จิน เป็ง” หรือ “เฉิน ผิง” สู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เริ่มจากการเข้าเป็นสมาชิกพรรคและร่วมรบในกองกำลังชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ความดีความชอบจากอังกฤษซึ่งปกครองมาเลเซียในขณะนั้น แต่เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด สถานะของจิน เป็ง พลิกผันไปสุดขั้วเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเปลี่ยนเป้าหมายจากการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

เหตุการณ์ทวีความรุนแรงเมื่อผู้บริสุทธิ์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวอังกฤษถูกสังหาร จิน เป็งและพรรคคอมมิวนิสต์ถูกปราบปรามอย่างหนัก โดยอังกฤษใช้สารพัดวิธีเพื่อตัดการช่วยเหลือจากประชาชน การสู้รบดำเนินต่อเนื่องกว่าทศวรรษภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉิน กระทั่งปี 1955 อังกฤษเริ่มให้มาเลเซียปกครองตนเองในบางด้าน จิน เป็งจึงต้องการวางอาวุธและนำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าสู่เวทีการเมือง แต่การเจรจาสงบศึกระหว่างจิน เป็ง กับตัวแทนมาเซียและอังกฤษไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้จิน เป็ง ยอมแพ้

*จิน เป็งลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและอาศัยอยู่ในไทยตั้งแต่ตอนนั้น โดยไม่เคยยอมแพ้หรือละวางอุดมการณ์ต่อต้านชาติตะวันตกเจ้าอาณานิคม

ประวัติของจิน เป็ง ที่เล่ามานี้อยู่ใน The Last Communist ในรูปของข้อความสั้นๆ ที่ใส่เข้ามาเป็นระยะ โดยที่ตลอดทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นหน้าของจิน เป็ง ไม่ว่าจะเป็นภาพในอดีตหรือปัจจุบัน จะมีแค่เพียงภาพการ์ตูนจำลองเหตุการณ์การเจรจาสงบศึกระหว่างจิน เป็ง กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

ขณะที่การสัมภาษณ์ผู้คนในเมืองหรือสถานที่ที่จิน เป็งเคยผ่านพักอาศัยซึ่งผู้สร้างได้เดินตามรอยไปนั้น มีเพียงครั้งเดียวที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงเรื่องราวของจิน เป็ง และมีไม่กี่ฉากที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและเหตุการณ์ในอดีต (ในจำนวนไม่กี่ฉากนี้ กว่าครึ่งคือการสัมภาษณ์อดีตลูกน้องของจิน เป็ง ในหมู่บ้านสันติที่เบตง)

ดังนั้น ภาพและการสัมภาษณ์ผู้คนส่วนใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องราวหลากหลายที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจิน เป็ง หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง เช่นช่วงต้นเรื่องที่บ้านเกิดของจิน เป็ง เมื่อข้อความขึ้นมาว่าเขาเกิดในครอบครัวที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับจักรยาน หนังได้พาเราไปยังร้านขายจักรยานในเมืองนั้น แล้วให้เจ้าของร้านเล่าถึงธุรกิจการขายจักรยานในปัจจุบัน หรือเมื่อไปยังเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องใด ประเด็นการพูดคุยก็เป็นเรื่องนั้น เช่นคุยกันเรื่องส้มโอเมื่อไปยังเมืองหนึ่งในเปรัค อีกลักษณะหนึ่งคือสัมภาษณ์ผู้คนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา บ้างสุข บ้างทุกข์ แตกต่างกันไปแต่ละคน

ภาพและเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประวัติชีวิตของบุคคลต้นเรื่องนี้ คงเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการเชื่อมอดีตกับปัจจุบัน เพราะขณะที่หนังกำลังเล่าเรื่องสำคัญระดับชาติในอดีต ใช่หรือไม่ว่าเรื่องดังกล่าวล้วนมีผลต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

ที่สำคัญ ผู้คนที่ให้สัมภาษณ์มีทั้งคนมาเลย์ แขก และชาวจีน ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นคนชายขอบ หรือคนเล็กๆ ในสังคมที่ไม่มีปากเสียง ในเมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจอย่างกัวลาลัมเปอร์ ทำให้คิดต่อไปได้ว่า ผู้สร้างกำลังเขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนซึ่งต่างจากประวัติศาสตร์ที่รัฐเขียนขึ้นมาตลอด

การพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติของผู้คนหลากหลาย ผ่านการถ่ายภาพที่ไม่พิถีพิถันมากนัก และการตัดต่อที่ใส่ลูกเล่นง่ายๆ ทำให้หนังมีเสน่ห์และสัมผัสได้ง่าย ไม่แปลกที่คราวแรกกรรมการเซ็นเซอร์จะมองว่าหนังเหมาะกับทุกช่วงอายุ

บางครั้งคำพูดของผู้คนที่ไม่ได้ผ่านการประดิดประดอยก่อให้เกิดความหมายชวนใคร่ครวญคิดตามได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่นการแจกแจงประเภทของสะตอว่ามี 3 ชนิด และแต่ละชนิดก็เป็นที่โปรดปรานของคน 3 เชื้อสาย ทั้งมาเลย์ จีน และอินเดีย เหมือนเป็นตัวอย่างของความแตกต่างด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

หรือคำบอกเล่าของคน 2 คน 2 ความรู้สึก ต่อเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกมาเลเซีย คนหนึ่งคือชาวบ้านผู้ทุกข์ตรม อีกคนคือเจ้าของโรงงานผลิตถ่านผู้ภาคภูมิใจในกิจการของตนเอง

*ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือ การผสมผสานรูปแบบ ‘หนังเพลง” อันเป็นความแตกต่างเหลือเกินกับหนังสารคดี เนื้อเพลงและดนตรีฟังสนุกประกอบการแสดงเน้นความสนุกสนานเป็นหลักถูกใส่แทรกเข้ามาราว 5-6 เพลง เช่น ตอนกล่าวถึงโรคมาลาเรีย กล่าวถึงภัยคอมมิวนิสต์

สำหรับผู้ชมต่างชาติอาจจะมองฉากเพลงดังกล่าวด้วยความไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นส่วนเกิน แต่สำหรับชาวมาเลเซียเองเมื่อดูแล้วจะรู้ทันทีว่าผู้สร้างกำลังล้อเลียนหนังสารคดีที่ทางการมาเลย์สมัยอังกฤษปกครองเคยใช้เป็นเครื่องมือให้ข้อมูลข่าวสารตามหมู่บ้านในรูปแบบความบันเทิง หรือนัยหนึ่งคือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อนั่นเอง

The Last Communist จึงเป็นหนังสารคดีประวัติชีวิตบุคคลที่แปลกต่าง ดูสนุกสนาน มีเสน่ห์ จริงใจ สื่อสารในเรื่องยากๆ ทั้งประเด็นการเมืองและประวัติบุคคลให้กลายเป็นเรื่องง่าย มีภาพชีวิตหาดูยากให้ได้สัมผัส

อย่างไรก็ตาม ข้อด้อยของหนังที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องราวความเป็นไปของจิน เป็ง ที่หนังนำมาอ้างอิงนั้น มาจากหนังสืออัตชีวประวัติของจิง เป็ง เรื่อง My Side of History เพียงด้านเดียว ไม่มีแง่มุมคัดง้างหรือแตกต่าง ไม่มีการสืบค้นนอกเหนือจากนั้น ทำให้เกิดความเอนเอียงและไม่มีมุมมองใหม่ๆ ที่แหลมคมและพอจะต่อยอดได้

ก่อนจบแถมท้ายด้วยประวัติชีวิตของจิน เป็ง ที่ไม่ได้ปรากฏในหนังอีกสักนิด ปี 1989 หรือ พ.ศ.2532 ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็น ผบ.ทบ. จิน เป็งลงนามในสัญญาสงบศึกร่วมกับตัวแทนฝ่ายไทยและมาเลเซีย เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย

ปี 2005 เขาทำเรื่องขอกลับเข้ามาเลเซีย แต่คำขอถูกปฏิเสธ



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2550 1:02:01 น. 12 comments
Counter : 2646 Pageviews.

 
โอ้ น่าสนใจมาก
ต้องหามาดูเสียแล้ว
ชักอยากจะรู้จัก อามีร์ มูฮัมหมัด ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เสียแล้วสิ

เรามัวแต่ไปดูหนังยุโรป หนังฮอลลีวูด แต่หนังสารคดีของเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ติดกับเราแท้ๆ
เราแทบจะไม่รู้จักหนังของเขา หรือความเป็นอยู่่่ของพวกเขาเลย

วันนี้ก็เพิ่งอ่านที่คุณเขียนถึง Renaissance ไปน่ะค่ะ แหะ แหะ

ป.ล. สีตัวอักษรในช่องคอมเม้นท์ มันกลืนกับภาพอ่ะค่ะ ทำให้เขียนยากมาก


โดย: grappa วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:15:40:06 น.  

 
ขอบคุณที่บอกครับ คุณ grappa
ปกติไม่ได้เขียนตอบในบล็อกตัวเอง เลยไม่เคยสังเกต

แก้แล้วครับ น่าจะดีขึ้นนะ


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:16:17:19 น.  

 
เบตง...อากาศดี ของกินอร่อย
และค่อนข้างสงบ เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในเขตชายแดนใต้
ไม่รู้จะเกี่ยวอะไรกับอดีตจคม.รึป่าว


โดย: G IP: 203.113.76.7 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:19:23:44 น.  

 
เหมือนผมเคยได้ข้อมูลหนังเรื่องนี้จากไบโอสโคป แต่ลืม ๆ ไปแล้ว ขอบคุณครับที่เขียนให้ได้อ่านกัน

ผมนึกไปถึงอาจารย์ใจ คนที่ประกาศตัวว่าเป็นมาร์กซิสท์คนสุดท้ายบนประเทศนี้

ไม่น่าเชื่อนะครับว่าทุกวันนี้คนที่มีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ยังจะถูกมองเป็นคนอื่นดั่งในอดีตอีก ทั้งที่ผมว่าคนก็รู้กันมากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น การคิดต่างกันไม่เห็นเป็นอะไร แต่นี้ยังกลับปิดกั้น

สงสัย่มนุษย์ในโลกนี้คงไม่ต้องการความหลากหลายกระมังครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:19:32:09 น.  

 
บอกตรงๆว่าไม่ถูกกับหนังการเมืองค่ะ ไม่ว่าจะมารูปแบบไหน คือถ้ามีให้ดูก็ดูแต่จะไม่ขวนขวายหามาดู ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเบื่อการเมืองที่เห็นอยู่ทุกวันรึเปล่า


โดย: goldfish memory วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:21:15:49 น.  

 


ไม่ค่อยโปรดหนังการบ้านการเมืองเช่นเดียวกับคุณ goldfish memory เลยค่ะ ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

ขอพูดถึงเบตงหน่อย ใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายหนังบ่อยเหมือนกันเนอะบอสเนอะ
แถมเห็นใครไปก็มักจะกลับมาบอกเหมือนที่จีบอกเลยอ่ะ ว่าบรรยากาศดี๊ดี
ตอนที่ดูเรื่องโอเคเบตง ก็ยังคิดเลยว่า เออ เมืองนี้น่าอยู่ดีแฮะ
(แต่ ... ไม่รู้ว่าตอนนี้จะยังสุขสงบเหมือนเดิมหรือเปล่า ...)

ปล.ชอบรูปใหม่ในกล่องเม้นต์จังเลยบอส น่ารักดี



โดย: LunarLilies* วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:23:43:11 น.  

 
อืมมม...อ่านแล้วเซ็งไอ่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจริง


โดย: ShadowServant วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:0:21:10 น.  

 
อยากไปเบตงด้วยจิ


โดย: ทะเลอาบแสงจันทร์ วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:17:19:55 น.  

 
อยากดูจังค่ะ อยากรู้ว่าหนังสารคดีการเมืองที่บวกกับเพลงสนุกๆนั้น จะออกมาเป็นยังไง


โดย: renton_renton วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:8:40:31 น.  

 
เดี๋ยวกลับมาอ่านค่ะพี่ มาแจ้งว่าหายไปนาน เพราะไปนอน ร.พ.มา 3 คืน เปื่อยเจ้าค่ะ


โดย: tistoo วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:12:31:34 น.  

 


บอสสสสส
ตื่นยัง ลุกขึ้นมาเฮกันต่อเถอะ
เย้ๆๆๆๆๆ



What man believes Man can achieve



โดย: LunarLilies* วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:12:47:42 น.  

 
ปี 2005 เขาทำเรื่องขอกลับเข้ามาเลเซีย แต่คำขอถูกปฏิเสธ

***********


ปี 2007 เขาขอทำเรื่องนำเงิน 200 ล้านออกนอกประเทศ แต่คำขอถูกปฏิเสธ อิอิ

***********



ถ้ามีหนังทุกเรื่องที่คุณเขียนมาดูคงจะมีความสุขมากเลยเรา


โดย: เช้านี้ยังมีเธอ วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:17:09:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
18 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.