Do You Remember Dolly Bell? ฉันจะค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน




Do You Remember Dolly Bell?
ฉันจะค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 30 กันยายน 2550


* ทศวรรษ 60 คือยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญของยูโกสลาเวีย เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ชื่อ ดีโน่ แห่งเมืองซาราเญโว ก็กำลังอยู่ในช่วงวัยและวันเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญเช่นกัน

ด้วยฐานะครอบครัวที่ย่ำแย่และไม่มีทางเลือกมากนัก เด็กหนุ่มอย่างดีโน่จึงจับกลุ่มกับเพื่อน 3-4 คน ใช้ชีวิตเกกมะเหรกไปวันๆ ไม่ก็ขลุกทำกิจกรรมอยู่ในศูนย์เยาวชนประจำเมือง หรือบางครั้งหาเงินใช้ด้วยการลักเล็กขโมยน้อย ดีโน่ยังมีงานอดิเรกประจำตัวอีกอย่างหนึ่งคือ เขากำลังฝึกวิธีการสะกดจิต โดยมีคำพูดสะกดตนเองเป็นประจำว่า “ฉันจะค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน” ราวกับเป็นคาถาวิเศษ

ครอบครัวของดีโน่ประกอบด้วยพ่อผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์มาร์กซิสต์ แม่ซึ่งเป็นแม่บ้าน พี่ชายวัยหนุ่ม น้องชายและน้องสาวอีกอย่างละคน อาศัยอยู่รวมกันในห้องเล็กๆ ยกเว้นดีโน่ซึ่งมักจะแยกตัวไปอยู่บนห้องใต้หลังคา วันดีคืนดีถ้าพ่อกลับบ้านในสภาพเมามาย ลูกๆ จะถูกเรียกมานั่งล้อมวงให้พ่อซักถามว่าทำอะไรไม่ดีบ้างในวันนั้น โดยน้องชายของดีโน่เป็นผู้บันทึกความผิดลงสมุด

คืนหนึ่ง พ็อก ชายที่เพิ่งพ้นคุกมาไม่นาน แวะมาเพื่อฝากหญิงสาวคนหนึ่งไว้กับดีโน่สักพัก ดีโน่พาเธอไปอยู่บนห้องใต้หลังคาโดยไม่ให้คนในบ้านรู้ หญิงสาวบอกว่าเธอชื่อ ดอลลี่ เบลล์ เหมือนชื่อนางระบำเปลื้องผ้าในหนังอิตาเลียนซึ่งดีโน่เพิ่งได้ดูเมื่อไม่นานมานี้ที่ศูนย์เยาวชน

ดีโน่รู้ดีว่าอันที่จริงดอลลี่เป็นโสเภณีซึ่งพ็อกดูแลอยู่ แต่เพราะเธอคือผู้หญิงคนแรกที่ดีโน่ได้ใกล้ชิด ในที่สุดเขาก็ตกหลุมรักเธอ

นอกจากดีโน่ต้องวุ่นวายอยู่กับดอลลี่แล้ว เขาและเพื่อนในกลุ่มถูกชักชวนให้ตั้งวงเล่นดนตรีโดยคนของทางการที่ต้องการให้เยาวชนเข้าถึงวัฒนธรรมตะวันตก ขณะเดียวกัน ดีโน่ยังได้รับข่าวร้ายว่าพ่อป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ทั้งเรื่องดีและร้ายที่ประดังประเดเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าอย่างไรดีโน่จะบอกตนเองเสมอว่า “ฉันจะค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน”...

Do You Remember Dolly Bell? หนังปี 1981 ผลงานเรื่องแรกของ อีมีร์ คูสตูริซา ผู้กำกับฯชาวเซิร์บที่เกิดในกรุงซาราเญโว เมืองหลวงของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวินาปัจจุบัน เขาโด่งดังบนเวทีหนังโลกตั้งแต่ครั้งยูโกสลาเวียยังไม่เกิดสงครามแยกประเทศ ด้วยการคว้ารางวัลสิงโตทองในฐานะผลงานเรื่องแรกที่เวนิซจากหนังเรื่องนี้ ตามติดด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองที่เมืองคานส์ด้วยผลงานลำดับต่อมาเรื่อง When Father Was Away on Business (1985)

ส่วนหนังของคูสตูริซาที่ได้รับการยกย่องยอมรับมากที่สุดคือ Underground ซึ่งส่งให้คูสตูริซาได้ปาล์มทองอีกครั้งเมื่อปี 1995

คูสตูริซาถือเป็นผู้กำกับฯที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่น เหมือนเป็นลายเซ็นคุ้นเคยซึ่งแฟนขาประจำสามารถระบุได้แม้ไม่ต้องเห็นชื่อผู้กำกับฯ ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายของเรื่องราว ความอลหม่านของตัวละครจำนวนมาก โดยมีสัตว์หลากชนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญ ความอึกทึกของเสียงดนตรีเครื่องเป่า(โดยวงของคูสตูริซาเอง) และแม้จะมีเนื้อหาขื่นเข็ญลำเค็ญเพียงใด “อารมณ์หรรษา” ยังเป็นรสชาติอันโดดเด่นเสมอในหนังของเขา

ที่สำคัญ หนังของคูสตูริซามีเนื้อสารสะท้อนเรื่องการบ้านการเมืองของยูโกสลาเวีย และเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของคนที่เคยอยู่บนดินแดนเดียวกัน โดยเฉพาะในผลงานที่สร้างหลังจากเกิดสงครามคาบสมุทรบอลข่านอันนำไปสู่การสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาล

*ถึงกระนั้น ถ้าใครได้รู้จักคูสตูริซาจากผลงานช่วงหลัง ก่อนจะไล่ย้อนมาดู Do You Remember Dolly Bell? ซึ่งเป็นผลงานเรื่องแรก จะพบว่ามีความแตกต่างอยู่พอสมควร ไม่ใช่แค่องค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งยังไม่เด่นชัดอย่างในงานยุคหลัง

แต่เพราะ Do You Remember Dolly Bell? คืองานที่มีอารมณ์ละมุนที่สุดของคูสตูริซา

หนังจัดอยู่ในแนว “เติบใหญ่ในช่วงวัย” หรือ coming of age ของตัวละครที่กำลังก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในเส้นทางชีวิตและทัศนคติต่อโลก ต้องพบกับประสบการณ์ทางเพศครั้งแรก และเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครอบครัว ขณะเดียวกัน ฉากหลังซึ่งเป็นทศวรรษ 60 ก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยูโกสลาเวียเช่นกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นายพลติโตปลดแอกยูโกสลาเวียจากการเป็นบริวารของสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ โดยดำเนินแนวทางสังคมนิยมของตนเอง และพยายามจัดตั้งขั้วคอมมิวนิสต์ชาตินิยมขึ้นมาเคียงกับคอมมิวนิสต์จีนและโซเวียต ก่อนจะเป็นแกนหลักในความเคลื่อนไหวรวมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างเป็นทางการในปี 1961

สถานการณ์ดูเหมือนจะราบรื่นสวยหรู ความเป็นกลางทำให้เงินทั้งจากตะวันตกและตะวันออกหลั่งไหลเข้าประเทศจนจีดีพีเติบโตสูงสุด รัฐจัดหาที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และการศึกษาแก่ผู้คน กระทั่งคุณภาพชีวิตดีขึ้นผิดหูผิดตา แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 70 ถึงต้นทศวรรษ 80 เศรษฐกิจของยูโกสลาเวียก็พังพินาศ

ย้อนกลับมาที่ Do You Remember Dolly Bell? แม้ฉากหลังทศวรรษ 60 จะถูกบันทึกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความมั่งคั่ง แต่สิ่งที่หนังนำเสนอกลับไม่เป็นเช่นนั้น ครอบครัวของดีโน่ยังไม่มีที่อยู่เป็นของตนเอง โดยผู้เป็นแม่พูดว่าครบ 6 ปีแล้วที่ต้องอยู่ในที่พักอาศัยชั่วคราว(ที่แม้แต่หลังคายังรั่ว) และตบท้ายว่าคนของทางการโกหก

ความยากลำบากดังกล่าวขัดแย้งกับความเชื่อเรื่องสังคมอุดมคติแบบมาร์กซิสต์ของพ่อ พ่อซึ่งมักจะพูดพร่ำถึงประกาศแห่งความเสมอภาค และปฏิบัติตนตามแนวทางของคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายพร้อมๆ กับร่างกายที่ป่วยไข้ พ่อเริ่มมองเห็นว่าความเชื่อมั่นศรัทธาของตนเองก็กำลังป่วยไข้ไม่ต่างกัน

ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกิดพายุฝนขณะครอบครัวกำลังสนุกสนานในงานปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านลุงของดีโน่ ทุกคนต่างวิ่งหลบฝนยกเว้นพ่อซึ่งยืนเปียกปอนแหงนมองฟ้า ก่อนจะถามดีโน่ด้วยสีหน้าปลงๆ ว่า “แสงแดดจะไม่สาดส่องลงที่เมืองนี้เลยหรือ” แล้วพ่อก็ตอบคำถามของตนเองว่า “คงไม่หรอก ดีโน่, ไม่มีวัน”

ความหมายของแสงแดดคือความดีงาม-ความสุขที่พ่อเฝ้าหวังรอคอยมาตลอดนั่นเอง

สำหรับดีโน่ ประสบการณ์ทางเพศที่มาพร้อมกับความรักครั้งแรก ไม่ต่างจากการถกเถียงกับพ่อเรื่องการสะกดจิตและเรื่องคอมมิวนิสต์เลย พ่อไม่เห็นด้วยกับการสะกดจิต เขาบอกดีโน่ว่าการสะกดจิตเป็นความฝันเลื่อนลอย แต่คอมมิวนิสต์ถูกหล่อหลอมขึ้นในโรงงาน เปรียบกันแล้ว...การหลงว่ารักก็คือความเลื่อนลอย ต่างจากเพศรสซึ่งสัมผัสได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายดีโน่คงได้รู้ว่าประสบการณ์ทางเพศนั้นไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง แต่ทำให้เขาได้เรียนรู้และสามารถก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ

เพราะไม่ว่าอย่างไร เขาจะพูดกับตนเองเสมอว่า...

“ฉันจะค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน”




ทำความรู้จักกับ อีมีร์ คูสตูริซา เพิ่มเติมใน Life Is a Miracle ‘โศกหรรษา’แห่งเซอร์เบียฯ

ผลงานล่าสุดของคูสตูริซาคือ Zavet (2007) หรือ Promise Me This ชิงปาล์มทองเมื่อปีที่แล้ว


Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2551 0:51:07 น. 12 comments
Counter : 1754 Pageviews.

 

ลองฟังเพลงจากซาวน์ดแทร็คเรื่อง Life is a Miracle
โดยวง No Smoking Orchestra ของ อีมีร์ คูสตูริซา







โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:56:22 น.  

 

รู้สึกอายจังเลย ไม่เคยดูหนังของคนนี้เลย

แม้แต่ Underground ยังไม่เคยดูเลยครับ

วันนี้อ่านบทวิจารณ์หนังที่เบอร์ลินแล้วรู้สึกดีหน่อย หนัง 3 เรืองวันนี้ Night & Day (ฮองซานซู), Happy-Lucky-Go (ไมค์ ลีห์) และ S.O.P (เอรอล มอร์ริส) ได้รับคำชมหมดเลย

ส่วนตัวแล้วผมเชียร์หนังของฮองครับ (หนังยาวตั้ง 145 นาที!) อีกเรื่องที่เชียร์คือ Elegy ของอิซาเบล โคเซ่ต์

ป.ล. แทบจะเป็นลมตอนอ่านข่าวสมัครสัมพาดเรื่อง 6 ตุลาที่ CNN


โดย: merveillesxx วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:4:52:30 น.  

 

^
^
ตอนอ่านผมก็ช็อกเหมือนกัน
ทำไมกล้าพูดลวงโลกได้ขนาดนั้น

หนังของฮองซานซู ผมก็ไม่เคยดู
อิซาเบล โคเซ่ต์ ด้วย เคยดูแต่หนังสั้นของเธอใน Paris, je t'aime


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:25:27 น.  

 
ผ่านมาก็นานแล้ว แต่ Underground ก็ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ



โดย: renton_renton วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:16:09:30 น.  

 
เคยดู Underground และชอบ แต่หาหนังของแกดูไม่ง่ายนักน่ะครับ


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:51:07 น.  

 
เพลงเจ่งมากจริงๆ ค่ะ !!


โดย: ม่วนน้อย วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:8:00:33 น.  

 
แก้คำ เจ๋ง ค่ะ ไม่ใช่ เจ่ง


โดย: ม่วนน้อย วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:8:08:01 น.  

 
Isabel Coixet เคยดูแค่งานของเธอในปารีสเฌอแตม กับ My Life without Me ที่ไม่ได้ชอบมากมายครับ

ส่วนของ คุสตูริก้า ไม่เคยดูเลย ฮือๆ

แต่ความเปลี่ยนแปลงของ ยูโกสลาเวีย เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่นิ่งเลย


โดย: nanoguy IP: 125.24.78.107 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:5:43:50 น.  

 
หนังเรื่องนี้น่าสนใจดีครับ
ชอบเพลงมากๆเลย ต้งลองหามาฟังซะแล้ว


โดย: wayakon วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:12:16:54 น.  

 
บีเองค่ะ ไม่ได้มาหานานมากๆๆๆๆ

มาคราวนี้ต้อง add ไปด้วย

หาแทบตายว่าบลอคไหน เลยต้องไปไล่ดูตั้งแต่เดือน กค. แน่ะค่ะ

แล้วมาหาใหม่นะคะ


โดย: be-oct4 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:56:06 น.  

 
บีเองค่ะ ไม่ได้มาหานานมากๆๆๆๆ

มาคราวนี้ต้อง add ไปด้วย

หาแทบตายว่าบลอคไหน เลยต้องไปไล่ดูตั้งแต่เดือน กค. แน่ะค่ะ

แล้วมาหาใหม่นะคะ


โดย: be-oct4 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:56:06 น.  

 
^
^
หวัดดีครับ


โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:6:26:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
12 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.