The Invasion คำเย้ยหยันจากนอกโลก



The Invasion
คำเย้ยหยันจากนอกโลก

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 2 และ 9 กันยายน 2550


*(1)

หลังจากหนังต่างดาวบุกโลกเรื่อง Invasion of the Body Snatchers ออกฉายเมื่อปี 1956 มีผู้วิเคราะห์เชื่อมโยงว่าหนังเปรียบเทียบได้ถึงสังคมอเมริกันในยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น ทั้งความหวั่นเกรงสหภาพโซเวียต และความหวาดกลัวลัทธิแม็คคาร์ธี

ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ และหลังจากมีการสร้างใหม่มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 1978 และปี 1993 (ในชื่อ Body Snatchers) หนังฉบับล่าสุดซึ่งออกฉายในปีนี้ด้วยชื่อที่กระชับสั้นลงว่า The Invasion ได้ย้อนรอยหนังต้นฉบับด้วยการเอนอิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ต่างไปตรงที่การเอนอิงแบบเก่าต้องผ่านการวิเคราะห์ตีความ ก่อนจะสรุปด้วยข้อสันนิษฐาน ส่วนหนังฉบับล่าสุดบอกอย่างชัดเจนว่ากำลังกล่าวถึงความขัดแย้งในโลกปัจจุบันที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง

นอกจากนี้ The Invasion ไม่ได้วาดภาพให้สิ่งมีชีวิตต่างดาวเป็นศัตรูของสหรัฐไม่ว่ากลุ่มหรือชาติใด และท่าทีของหนังก็ไม่ได้เลือกข้างอย่างชัดแจ้งว่าสนับสนุนหรือต่อต้านบทบาทของสหรัฐในเวทีนานาชาติ แต่หนังว่าด้วยสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวบุกโลกเรื่องนี้ได้ตั้งคำถามต่อผู้คนในโลกซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และชีวิตมากมายสูญสิ้นไม่เว้นแต่ละวัน

โดยเฉพาะต่อคนอเมริกันชนชั้นกลางที่เริ่มชาชิน ไม่ยินดียินร้ายต่อผู้คน ยกเว้นเมื่อภัยมาถึงตนเอง

The Invasion มีชื่อผู้กำกับฯในเครดิตคือ โอลิเวอร์ เฮิร์ชบีเกล(Oliver Hirschbiegel) ผู้กำกับฯชาวเยอรมันที่เคยทำ Der Untergang หรือ Downfall หนังว่าด้วยวาระสุดท้ายของฮิตเลอร์ ส่วนผู้เขียนบทคือ เดฟ ไคกานิช โดยมีกำหนดฉายในเบื้องต้นคือเดือนมิถุนายน ปี 2006 แต่เพราะสตูดิโอวอร์เนอร์ไม่ปลื้มกับผลงานของเฮิร์ชบีเกลและไคกานิชหลังจากถ่ายทำเสร็จสิ้น จึงว่าจ้างพี่น้องวาชอว์สกี้แห่ง The Matrix มารีไรต์บท และจ้าง เจมส์ แม็กทีค มาถ่ายทำใหม่แบบไม่มีเครดิต โดยเพิ่มฉากแอ๊คชั่นและเปลี่ยนตอนจบให้หักมุม กระทั่งเสร็จสิ้นและเข้าโรงฉายช้ากว่ากำหนดเดิมกว่า 1 ปี

หนังเริ่มต้นด้วยเหตุกระสวยอวกาศตกในสหรัฐโดยนำสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมายังโลกด้วย พวกมันเติบโตในร่างกายมนุษย์โดยเข้าไปยึดครองระบบประสาทขณะมนุษย์นอนหลับ โดยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก เคลื่อนไหวราวกับร่างไร้ชีวิต และมุ่งแพร่เชื้อร้ายรวดเร็วจนแทบจะไม่มีผู้เหลือรอด

แครอล(นิโคล คิดแมน) จิตแพทย์สาวรู้ถึงความผิดปกตินี้และพยายามสืบหาสาเหตุ โดยมี เบน(แดเนี่ยล เครก) หมอหนุ่มเพื่อนสนิทคอยช่วยเหลือ นอกจากต้องดิ้นรนไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อแล้ว แครอลยังต้องหาทางช่วยลูกชายในเงื้อมมืออดีตสามีไม่ให้กลายเป็นเหยื่อไปอีกคน

อะไรที่ชี้ว่าหนังเรื่องนี้เอนอิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน...คำตอบไม่ได้อยู่ที่เรื่องราว แต่เป็นองค์ประกอบแวดล้อมในแต่ละฉากและบทภาพยนตร์บางช่วงตอน

เห็นได้ว่าไม่ว่าตัวละครหลักจะอยู่ในบ้าน ในรถ หรือแม้กระทั่งเดินบนถนน ผู้ชมจะเห็นหรือได้ยินข่าวคราวเหตุการณ์ในต่างประเทศเสมอ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ (อันที่จริงควรมีอินเตอร์เน็ต แต่คงนำเสนอยาก) และหากไล่เรียงตั้งแต่ต้นจนหนังจบ จะพบว่าข่าวเหตุการณ์ที่ปรากฏล้วนแต่อยู่ในกระแสที่โลกให้ความสนใจ และมีสหรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

ไล่ตั้งแต่ความรุนแรงในอิรัก อัฟกานิสถาน วิกฤตการณ์ในเมืองดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน ปัญหานิวเคลียร์ในปากีสถาน อิหร่าน พร้อมด้วยภาพศัตรูของสหรัฐอย่าง คิม จอง อิล ของเกาหลีเหนือ ฮูโก้ ชาเวซ ของเวเนซุเอล่า

โลกแวดล้อมตัวละครซึ่งเต็มไปด้วยข่าวความขัดแย้งภายนอกประเทศดังกล่าว นอกจากจะช่วยชี้ชัดว่าหนังกำลังสื่อถึงเรื่องอะไรแล้ว ยังมีนัยให้คิดต่อไปได้ถึงโลกไร้พรมแดนที่ห้อมล้อมด้วยข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อนานาชนิด

คือข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนได้ใกล้ชิดกับทุกเรื่องราวจากทุกมุมโลก แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเรื่องราวประจำวันมักไม่พ้นความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่การสูญเสียชีวิต ความซ้ำซากและข้อเท็จจริงในเรื่องระยะทางจะทำให้ผู้คนค่อยๆ เฉยชา แสดงออกต่อข่าวนั้นๆ โดยอัตโนมัติเพียงชั่วครู่ เพื่อจะรอรับข่าวความสูญเสียเรื่องใหม่ในเวลาต่อมา

ใช่หรือไม่ว่าเราเองก็เป็นเช่นนี้...เหมือนกับหลายตัวละครใน The Invasion รวมทั้งตัวละครหลักอย่างแครอล

* แครอลคือตัวอย่างของชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตบนความปลอดภัย เธอพร้อมทั้งฐานะและหน้าที่การงาน ขาดเพียงครอบครัวซึ่งเธอต้องอยู่กับลูกชายตามลำพังหลังจากแยกทางกับสามี มีฉากหนึ่งในช่วงต้นเรื่อง หนังพาเราติดตามแครอลขณะเดินทางไปยังที่ทำงาน กระทั่งได้เห็นว่าเสียงประท้วงของคนตกงานหรือคนจรจัดขอเศษเงินดูจะไม่ใช่เรื่องที่เธอต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

นี่อาจไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นความเฉยชาที่มองปัญหาต่างๆ ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ต่างจากข่าวคราวความตายรายวันในอีกแผ่นดินหนึ่ง ซึ่งกว่าที่แครอลจะใส่ใจคนอื่นหรือเรื่องราวรอบข้างก็เมื่อปัญหาหนักหนาค่อยๆ คืบคลานเข้าใกล้ตัวเธอเอง เช่นในฉากที่เธอหันมองชายจรจัดถูกสิ่งมีชีวิตต่างดาวในร่างตำรวจกลุ้มรุมจับตัวไปเป็นเหยื่อ ในช่วงเวลาที่เธอกำลังหาทางเอาตัวรอดอยู่เช่นกัน

สำหรับปัญหาที่คุกคามแครอลและคนอื่นๆ มีจุดเริ่มมาจากการตกของกระสวยอวกาศ พร้อมกับนำสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกมาด้วย น่าสนใจตรงที่กระสวยอวกาศลำดังกล่าวมีชื่อว่า “แพทริออต” (Patriot) ซึ่งแปลว่า “ผู้รักชาติ”

คำว่า “แพทริออต” ที่อิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ย่อมไม่ใช่แค่คำแปลเบื้องต้น ไม่ใช่ทีมอเมริกันฟุตบอลจากนิวอิงแลนด์ และคงไม่ใช่ขีปนาวุธที่สหรัฐใช้ในสงครามปลดปล่อยอิรัก

แต่น่าจะหมายถึงกฎหมายที่รู้จักกันในนาม USA Patriot Act หรือ Patriot Act

Patriot Act คือกฎหมายต่อต้านก่อการร้ายที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เข็นออกมาหลังเหตุการณ์ วินาศกรรม 9/11 มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นการดักฟังโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต ติดกล้องสอดแนม ฯลฯ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากศาล รวมทั้งกักขัง-สอบสวนบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีภัยต่อสหรัฐอเมริกา

กระสวยอวกาศที่ตกลงสู่พื้นโลกนำพาสิ่งมีชีวิตจากภายนอกเข้าคุกคามชาวอเมริกันทุกครัวเรือน ผู้ที่ถูกครอบครองร่างกายจะมีสภาพภายนอกเหมือนเดิมทุกประการ นอกจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่คอยตรวจสอบและจับกุมคนที่คิดว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน

นี่คือความเลวร้ายที่กระตุ้นให้แครอลลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง



(2)

หนึ่งฉากสำคัญใน The Invasion คือฉากงานเลี้ยงที่บ้านของ ดร.เฮนริค หมอสูงอายุชาวเช็ก โดยแครอลกับเบนเป็นแขกสำคัญที่เจ้าบ้านต้อนรับอย่างดี และเชิญมานั่งร่วมโต๊ะอาหาร

ฉากนี้แครอลได้โต้ตอบบทสนทนากับนักการทูตชาวรัสเซียน โดยมี ดร.เฮนริคคอยเชียร์แครอลตลอดเวลา ขณะที่ท่าทีระหว่าง ดร.เฮนริคกับทูตรัสเซียจะเป็นการหยอกและข่มกันแบบทีเล่นทีจริง โดยเฉพาะการหยอกกันด้วยเรื่องทางเชื้อชาติ ซึ่ง ดร.เฮนริคดูจะเหนือกว่าเพราะมีคนร่วมโต๊ะคอยหัวเราะเป็นลูกคู่

ในเมื่อบรรยากาศแวดล้อมของเรื่องราวในหนังถูกกำหนดให้เกี่ยวข้องกับข่าวเหตุการณ์สถานการณ์โลก จึงเป็นไปได้ว่าฉากงานเลี้ยงดังกล่าวซึ่งมีตัวละครชาวเช็ก(ดร.เฮนริค) เป็นเจ้าบ้าน มีไมตรีจิตในเชิงให้เกียรติและยกย่อง ทั้งยังหนุนหลังชาวอเมริกัน(แครอลกับเบน) แต่กลับหยอกแรงๆ โต้ตอบกับรัสเซีย(ทูต) ซึ่งเป็นชาติที่เช็กหรือเชโกสโลวาเกียในอดีตเคยภักดี น่าจะถูกใส่เข้ามาอย่างมีนัยยะเช่นกัน

บังเอิญตรงที่กำหนดการฉายเรื่อง The Invasion อยู่ในช่วงที่มีข่าวสำคัญเกี่ยวกับสหรัฐมีแผนจะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก จนรัสเซียต้องออกมาต่อต้านอย่างขึงขัง ซึ่งหนึ่งในประเทศที่สหรัฐจะเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการนี้คือสาธารณรัฐเช็ก (อีกประเทศคือโปแลนด์)

ข่าวนี้ทำให้เห็นภาพที่เห็นชัดเจนขึ้นว่าท่าทีระหว่างตัวละครในฉากงานเลี้ยงดังกล่าวเสมือนเป็นภาพจำลองของทิศทางสถานการณ์โลกปัจจุบันนั่นเอง

ความสำคัญของฉากนี้อีกอย่างหนึ่งอยู่ที่บทสนทนาระหว่างแครอลกับทูตรัสเซีย เริ่มจากทูตพูดว่าความรุนแรงคือธรรมชาติของมนุษย์ และเหตุที่ยังมีสงครามและการฆ่าฟันก็เพื่อแสดงว่าเรายังเป็นมนุษย์ แครอลแย้งอย่างมีหลักการโดยยืนยันความเชื่อของตนเองว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการ และได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

บทสนทนาดังกล่าวคือประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวทั้งหมด เพราะขณะที่โลกกำลังร้อนระอุด้วยข่าวความขัดแย้งรุนแรงทั่วทุกมุมโลก การมาถึงและยึดครองโลกของสิ่งมีชีวิตต่างดาวกลับทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดยุติลง พวกมันจัดระเบียบโลกใหม่ให้โลกอยู่ในสันติสุข ข่าวที่ทุกคนรอคอยอย่างสหรัฐถอนทหารจากอิรัก หรือภาพการพบปะกันอย่างชื่นมื่นระหว่าง จอร์จ ดับเบิลยู.บุช กับ ฮูโก้ ชาเวซ ผู้นำเวเนซุเอลา จึงปรากฏทางโทรทัศน์

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข่าวสันติสุขของโลก คนจำนวนหนึ่งกำลังรักษาความเป็นมนุษย์ไม่ให้ถูกครอบครองด้วยสิ่งมีชีวิตต่างดาว ทั้งยังหาทางกำจัดพวกมัน ถ้าทำสำเร็จโดยสิ่งมีชีวิตต่างดาวถูกทำลาย...มนุษย์ก็จะดำรงอยู่ต่อไป แม้ว่าผลลัพธ์อีกทางหนึ่งคือสันติสุขที่เพิ่งเกิดขึ้นจะสูญสลายไปก็ตาม

หรือมองอีกมุมหนึ่งได้ว่าเมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้ง นั่นแสดงว่าเรายังคงเป็นมนุษย์

นี่คือผลลัพธ์อันสอดคล้องกับคำพูดของทูตรัสเซียซึ่งแครอลไม่เห็นด้วย ทั้งที่เวลาต่อมาแครอลคือหนึ่งในผู้ต่อต้านสิ่งมีชีวิตต่างดาว เธอต้องดิ้นรนอย่างหนักเพราะได้รับเชื้อพวกนั้นเข้าไปในร่างกาย และปฏิเสธคำชักจูงใจเรื่องความสงบสุขของโลกโดยไม่ไยดี

* ที่น่าสนใจคือการที่หนังอธิบายขั้นตอนการครอบครองร่างกายมนุษย์โดยสิ่งมีชีวิตต่างดาวจะเข้าไปทำลายเซลพันธุกรรมขณะคนคนนั้นกำลังนอนหลับ หลังจากตื่นขึ้นมาเขาจะกลายเป็นพวกเดียวกับต่างดาว-เผ่าพันธุ์ที่จัดระเบียบโลกใหม่ด้วยความสงบสุข

ถอยออกมามองและถอดความได้ว่า...ถ้าจะให้โลกสงบสุขต้องแก้ที่พันธุกรรมมนุษย์

อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนดูเป็นการเย้ยหยันมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่หนังเดินมาไม่ได้แตะไปในภาพกว้างระดับปรัชญาความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด หากแต่หนังกำลังสื่อสารในเรื่องที่ทุกคนตระหนักดีว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันซึ่งมีสหรัฐเป็นศูนย์กลางนั้นยังคงดำเนินต่อไปโดยยากจะคลี่คลายไปในทางที่ดีอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง

ฉากจบหลังจากปราบสิ่งมีชีวิตต่างดาวหมดสิ้นและชีวิตกลับคืนสู่สภาพปกติ ปฏิกิริยาแบบเดิมๆ ต่อข่าวความตายในอิรักจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยสำทับด้วยเสียงพูดของทูตรัสเซียในฉากงานเลี้ยงที่ว่าเหตุที่ยังมีสงครามและการฆ่าฟันก็เพื่อแสดงว่าเรายังเป็นมนุษย์

แครอลอาจจะนึกได้ว่าที่ผ่านมาเธอคิดผิด แต่ใช่หรือไม่ว่าลึกๆ แล้วเธอพอใจ...

อีกท่าทีเย้ยหยันที่หนังใส่ไว้คือฮีโร่ของเรื่องราวนี้ โอลิเวอร์(แจ๊คสัน บอนด์) ลูกชายของแครอลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปมปัญหาเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แต่ในช่วงต้นเรื่องในวันฮัลโลวีนเขากลับใส่ชุดซูเปอร์แมนเพียงคนเดียวท่ามกลางเพื่อนที่แต่งกายชุดผีปีศาจ และซูเปอร์แมนคนนี้นี่เองคือผู้ที่ช่วยกอบกู้โลกในตอนท้าย

ฮีโร่อีก 2 คน คือ เบน ซึ่งแสดงโดย แดเนียล เครก กับ สตีเฟน หมอเพื่อนร่วมงานของเบน แสดงโดย เจฟฟรีย์ ไรท์ ถ้ายังจำกันได้ทั้งสองแสดงร่วมกันใน Casino Royale(2006) หนังเจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุด โดยเครกรับบทบอนด์ ส่วนไรท์เป็น เฟลิกซ์ ซีไอเอที่ช่วยเหลือบอนด์ ฉากแรกที่ไรท์ปรากฏตัวใน The Invasion ร่วมกับเครก จึงมีลักษณะของการล้อเลียนอยู่ในที ว่า 2 สายลับจากหนังแอ๊คชั่นโม้ๆ เรื่อง Casino Royale มาทำงานร่วมกัน(เดิม The Invasion มีกำหนดฉายก่อน Casino Royale แต่เป็นช่วงที่เรื่องหลังเปิดเผยรายชื่อผู้แสดงแล้ว)

ดังที่กล่าวไว้ตอนที่แล้วว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวมายังโลกพร้อมกระสวยอวกาศชื่อ “แพทริออต” ซึ่งเชื่อมโยงได้ถึงกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายคุกคามสิทธิชาวอเมริกัน กระทั่งแครอลที่ไม่ได้ใส่ใจโลกภายนอกเท่าใดนักต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเอง นี่คือประเด็นคำถามที่มุ่งตรงไปยังชนชั้นกลางว่ายินดีจะดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขต่อไปโดยไม่ใส่ใจปัญหาไกลตัว แต่เลือกจะมีปฏิกิริยาต่อผลกระทบที่มาถึงตัวเท่านั้นหรือ

พูดให้กว้างกว่านั้นคือหนังตั้งคำถามต่อชาวอเมริกันว่าจะเอาอย่างไรในยุคสงครามต่อต้านก่อการร้าย ซึ่งปรากฏเป็นข่าวความตายรายวันในอิรัก ขณะที่ในประเทศก็วุ่นวายด้วยเหตุเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองอันเนื่องมาจากนโยบายกวาดล้างผู้ก่อการร้ายและสงครามอิรัก เช่นเมื่อปลายเดือนที่แล้ว รัฐมนตรียุติธรรมประกาศลาออกเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลบุชกับสภาคองเกรส เขาคือบุคคลที่ถูกโจมตีว่าสนับสนุนการดักฟังโทรศัพท์และตรวจสอบอี-เมลของประชาชนโดยไม่ต้องขออนุมัติจากศาล

ส่วนถามแล้วจะได้คำตอบอย่างไร ...ถึงที่สุดแล้วอะไรๆ ก็คงยากจะคลี่คลายไปในทางที่ดีอย่างที่ใครหลายคนคาดหวัง



Create Date : 02 ตุลาคม 2550
Last Update : 31 มีนาคม 2553 18:16:23 น. 0 comments
Counter : 1692 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
2 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.