Gomorra เมืองมาเฟีย




Gomorra
เมืองมาเฟีย

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 4 และ 11 มกราคม 2552


*(1)

Gomorra (2008) เป็นหนังอิตาลีซึ่งโดดเด่นทั้งด้วยตัวหนังเองและการเป็นข่าวฮือฮานอกเหนือตัวหนัง เริ่มจากได้เข้าชิงปาล์มทองในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ก่อนจะคว้ารางวัลใหญ่อันดับสองมาครอง ทั้งยังเข้าชิงและคว้ารางวัลจากอีกหลายเทศกาล รวมทั้งเป็นตัวแทนอิตาลีชิงออสการ์หนังภาษาต่างประเทศ และเข้ารอบสุดท้ายสาขาเดียวกันบนเวทีลูกโลกทองคำ 2009

สำหรับข่าวฮือฮาเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ โรแบร์โต ซาวีอาโน ผู้เขียนหนังสือ Gomorra ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2006 ถูกข่มขู่และหมายหัวจากมาเฟียตระกูลกาซาเลซีซึ่งเป็นใหญ่ในองค์กรอาชญากรรม “กามอร์รา” (Camorra) เพราะไม่พอใจที่ซาวีอาโนเขียนหนังสือเปิดโปงความชั่วร้าย

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาซาวีอาโนต้องหลบซ่อนตัวภายใต้ความคุ้มครองของตำรวจโดยคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยอิตาลี แต่เมื่อหนังเรื่อง Gomorra ออกฉายและเป็นที่สนใจจากคนทั่วโลก เหมือนไปกระตุ้นความเคียดแค้นให้แก่มาเฟียกามอร์ราจนออกมาประกาศจะเด็ดหัวซาวีอาโนให้ได้ภายในวันคริสต์มาส กระทั่งนักเขียนเหยื่อมาเฟียวัย 29 ปี ต้องขอลี้ภัยออกนอกประเทศ

ข่าวน่าสนใจจากกรณีนี้คือ เดือนตุลาคมปี 2008 บิ๊กเนมรางวัลโนเบลจากสาขาต่างๆ 6 คน ได้แก่ ออร์ฮัน ปามุก, ดาริโอ โฟ, ริตา เลวี มอนตัลชีนี, เดสมอนด์ ตูตู, กึนเธอร์ กราสส์ และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ร่วมกันแสดงจุดยืนผ่านบทความหนุนหลังซาวีอาโน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีปกป้องชีวิตและช่วยซาวีอาโนให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

“กามอร์รา” เป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่ฝังรากลึกอย่างยาวนานในอิตาลี มีหลักแหล่งครอบคลุมแคว้นคัมปาเนียและเมืองเนเปิลส์จนแทบจะเรียกว่า “มาเฟียครองเมือง” หากินผิดกฎหมายสารพัดรูปแบบทั้งค้ายาเสพติด อาวุธเถื่อน รีดไถ ต้มตุ๋น เรียกค่าคุ้มครอง อันเป็นที่มาของเหตุฆาตกรรมจำนวนมาก

นอกจากนี้ กามอร์รายังควบคุมธุรกิจมากมายไว้ในมือ ทั้งอุตสาหกรรม การค้า และงานรับเหมาอย่างการกำจัดขยะที่กลายเป็นข่าวใหญ่ช่วงต้นปี 2008 เนื่องจากชาวเนเปิลส์ไม่พอใจที่ขยะล้นเมืองจนออกมาชุมนุมประท้วงรุนแรงถึงขั้นจลาจล ซึ่งสาเหตุหนึ่งของปัญหาก็เพราะการผูกขาดการกำจัดขยะอย่างไร้ประสิทธิภาพของพวกกามอร์รานั่นเอง

ความเน่าเฟะเรื่องขยะนี้ได้ถูกตีแผ่ในหนัง Gomorra ด้วย

ยังมีข่าวเกี่ยวกับกามอร์ราที่อาจจะเคยผ่านหูผ่านตาอีกมากมาย เช่น ความพยายามกวาดล้างกามอร์ราของตำรวจอิตาลีทั้งออกหมายจับและส่งตำรวจพิเศษนับพันเข้าไปในพื้นที่ การสังหารโหดผู้อพยพชาวแอฟริกัน 6 ศพ ใกล้เมืองเนเปิลส์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของกามอร์รา หรือแม้แต่ในวงการกีฬายังเคยมีข่าวเปิดโปงว่ากามอร์ราเดินเกมฮุบสโมสรฟุตบอลลาซิโอผ่านนอมินีแต่ถูกจับได้เสียก่อน หรือข่าวทางการอิตาลีระบุว่าแฟนบอลของสโมสรนาโปลีที่ก่อเหตุวุ่นวายเมื่อปีที่แล้วมีส่วนเชื่อมโยงกับมาเฟียแก๊งนี้

ในสื่อภาพยนตร์ หนังชุดทางโทรทัศน์เรื่อง The Sopranos เกี่ยวกับมาเฟียอิตาลีในสหรัฐอเมริกามีตัวละครที่เป็นสมาชิกกามอร์รา หนังเรื่อง Certi bambini (Stolen Childhood, 2004) เคยฉายในเทศกาลบางกอกฟิล์ม 2005 มีเนื้อหากล่าวถึงเด็กกำพร้าคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดท่ามกลางแก๊งมาเฟียในเนเปิลส์ ขณะที่จูเซปเป ตอร์นาโตเร ทำหนังเรื่องแรก Il Camorrista (The Professor, 1986) โดยอิงจากเรื่องจริงเกี่ยวกับความพยายามก่อตั้งกามอร์ราสายพันธุ์ใหม่ยุค 70-80

สำหรับ Gomorra ของผู้กำกับฯ มัตเตโอ การ์โรเน ต้องถือว่าเป็นหนังว่าด้วยกามอร์ราที่โด่งดังและประสบความสำเร็จที่สุดไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ การฉายภาพความเป็นไปในดงมาเฟียจากหลากหลายกรณีและถ่ายทำในสถานที่จริงคือเมืองเนเปิลส์ แคว้นคัมปาเนีย ช่วยเพิ่มความโดดเด่นในด้านความลึกและความสมจริงมากยิ่งขึ้น

*หนังเล่า 5 เรื่องราวสลับกันไปมา เรื่องแรกเล่าถึง ดอน ชิโร ชายวัยกลางคนผู้ทำหน้าที่แจกจ่ายเงินให้แก่ครอบครัวของสมาชิกกามอร์ราที่ติดคุกตามรายชื่อที่ถูกกำหนดไว้ เขาไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับกิจการของแก๊ง ไม่พาตัวเองเข้าไปใกล้ความรุนแรง นอกจากทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด แต่เมื่อเกิดเหตุทรยศขึ้น ชิโรจึงตกอยู่กลางสมรภูมิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาคารซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของชิโรเป็นสถานที่ทำงานของเด็ก 13 ขวบ อย่างโตโตเช่นกัน โตโตมีหน้าที่ส่งของชำจากร้านของแม่ให้ลูกค้าตามห้องต่างๆ วันหนึ่งเขาเก็บปืนของกลางได้แล้วเอาไปคืนทำให้ได้รับโอกาสพิสูจน์ตนเองว่าเข้าร่วมแก๊งได้หรือไม่ จากนั้นโตโตก็ไม่สามารถหันหลังกลับได้อีก

เด็กหนุ่มคู่หู มาร์โก กับ ชิโร เป็นพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อนด้วยการปล้นพวกค้ายา ขโมยปืนเถื่อน และคิดตั้งตนเป็นมาเฟียเสียเอง แต่ในโลกที่กามอร์ราปกครอง ทั้งสองจะมีสถานะอย่างไร

สำหรับคนหนุ่มมีการศึกษาอย่าง โรแบร์โต ได้งานเป็นผู้ช่วย ฟรานโก เจ้าของกิจการกำจัดขยะพิษที่มีเอี่ยวกับกามอร์รา นานวันโรแบร์โตยิ่งเห็นด้านเลวร้ายของธุรกิจนี้ที่ไม่ใส่ใจทั้งชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม

เรื่องสุดท้ายเกี่ยวกับ ปาสกวาล ช่างตัดเสื้อผ้าฝีมือดีทำหน้าที่ควบคุมการผลิตในโรงงาน ได้รับข้อเสนอพิเศษด้วยเงินก้อนโตให้ไปสอนตัดเย็บแก่ลูกจ้างโรงงานผลิตเสื้อผ้าชาวจีน การรับทำงานให้กับคู่แข่งทางธุรกิจโดยตรงทั้งยังเป็นพวกต่างถิ่นทำให้ปาสกวาลตกอยู่ในอันตราย

ห้าเรื่องราวดังกล่าวมีบางเรื่องเกาะเกี่ยวกันหลวมๆ ขณะที่บางเรื่องเป็นเอกเทศ กระนั้น ทุกเรื่องราวมีจุดร่วมเดียวกันคือ เป็นเรื่องของตัวละครที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งกามอร์ราทั้งโดยตั้งใจและสถานการณ์พาไป

ราวกับว่าในเมืองมาเฟียแห่งนี้ถึงอย่างไรก็ยากจะหนีพ้น




(2)

ขณะที่ขนบของหนังมาเฟียทั่วไปถ้าไม่นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของตัวละครซึ่งมีบทบาทสำคัญในแก๊งมาเฟีย (The Godfather) ก็มักว่าด้วยตัวละครบริสุทธิ์ซึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับมาเฟียอย่างไม่เต็มใจ โดยผู้ชมต้องคอยเอาใจช่วย (The Firm) หรืออีกลักษณะหนึ่งคือเล่าเรื่องจากฝั่งผู้รักษากฎหมายเป็นหลัก (The Untouchables)

แต่สำหรับหนังตีแผ่เมืองมาเฟีย Gomorra นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงเพราะไม่ใช่การเล่าประวัติชีวิตมาเฟียตัวเอ้ ไม่มีตัวละครเอกที่ผู้ชมต้องติดตามเอาใจช่วย และไม่มีตัวละครตำรวจแม้แต่คนเดียว แต่หนังเลือกถ่ายทอดเรื่องราวแยกย่อยของตัวละครจำนวนมากที่เข้าไปข้องแวะกับมาเฟีย โดยติดตามความเป็นไปของพวกเขาแบบการเฝ้ามองมากกว่าจะเข้าถึงความคิดจิตใจและเข้าใจการกระทำ

จุดประสงค์หนึ่งคือเพื่อนำเสนอเรื่องราวอย่างจริงจังและสมจริงที่สุด

อีกหนึ่งคือเพื่อให้เรื่องราวแยกย่อยทั้ง 5 เรื่องราว เหมือนเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นและผ่านไปอย่างง่ายดายไม่ต่างจากอีกหลายกรณี ณ ดินแดนที่ปกครองด้วยมาเฟียกามอร์ราอย่างฝังรากลึกเป็นเวลายาวนาน

สำหรับการนำเสนอเรื่องราวอย่างจริงจังและสมจริง นอกจากหนังจะไม่มีตัวละครเอกที่ส่งความเป็นดราม่า อีกทั้งแต่ละเรื่องราวไม่มีเส้นเรื่องเพื่อลากจูงความสนใจอย่างชัดเจนแล้ว หนังยังถ่ายทำโดยถือกล้องด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการลำดับจัดวางอย่างไม่พิถีพิถันนัก และไม่มีดนตรีประกอบ (มีแต่เพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของฉากนั้นๆ) เพื่อให้หนังดูปรุงแต่งน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมจะคล้ายไร้การปรุงแต่ง แต่หนังกลับมีองค์ประกอบภาพและใช้ภาพเล่าเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น การเชื่อมร้อยเปรียบเทียบการจำหน่ายยาเสพติดของพวกแก๊งและการส่งของชำของโตโตแก่ลูกค้าภายในตึกเดียวกัน หรือการส่งยาอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการส่งตัวคู่บ่าว-สาวโดยหนังใช้วิธีแพนกล้องเพียงเล็กน้อย ราวกับว่าสิ่งชั่วร้ายอย่างยาเสพติดและมาเฟียกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในละแวกนี้

ยังมีภาพนำสายตาที่มีระยะความลึกโดยใช้ลักษณะภายในอาคาร เช่น ทางเดิน ที่จอดรถ ให้เห็นว่าตัวละครถูกล้อมกรอบและไร้ทางออกตลอดทั้งเรื่อง หรือภาพระยะไกลมุมกว้างมองเห็นอาคารที่พักเป็นเสมือนป้อมปราการของแก๊งมาเฟีย เต็มไปด้วยการสอดส่องตรวจตราแน่นหนา

เห็นได้ว่าวิธีการนำเสนอของ Gomorra ที่กล่าวมาต่างมุ่งเน้นแก่นสารจากพื้นฐานข้อเท็จจริงว่าด้วยเมืองมาเฟียซึ่งแผ่อิทธิพลต่อชีวิตผู้คน พร้อมกับหนุนเสริมเนื้อหาเรื่องราวแยกย่อยทั้ง 5 เรื่องราว ซึ่งล้วนแต่มีตัวละครเกี่ยวโยงกับแก๊งกามอร์รา ไม่ว่าถลำลึกอย่างตั้งใจหรือพลั้งพลาดพัวพันโดยไม่รู้ตัว

การเปิดเรื่องและปิดท้ายด้วยเหตุการณ์คล้ายกัน นั่นคือการฆ่าระยะประชิดโดยที่เหยื่อไม่ทันตั้งตัว ซึ่งทั้งผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าต่างเป็นบุคคลผู้ฝักใฝ่มาเฟียด้วยกันเอง จึงมองได้ว่าเรื่องราวที่เหลือระหว่างนั้นถูกควบคุมห้อมล้อมด้วยโลกมืดที่ปกครองโดยองค์กรอาชญากรรมและตกอยู่ท่ามกลางความเป็นความตายตลอดเวลา

*แม้เรื่องราวทั้งห้าจะเป็นเพียงแค่กรณีตัวอย่างจากเหตุการณ์จริงนับไม่ถ้วน แต่ถือได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างซึ่งค่อนข้างครอบคลุมเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยของตัวละครที่มีทั้งเด็ก 13 ขวบ อย่างโตโต วัยรุ่นอย่างมาร์โกและชิโร คนหนุ่มอย่างโรแบร์โต ขณะที่ปาสกวาลและดอน ชิโร เป็นตัวอย่างของวัยกลางคนและผู้สูงวัย เพื่อแสดงให้เห็นว่ากามอร์รามีอิทธิพลต่อทุกชีวิตและทั้งชีวิต

ส่วนลักษณะของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมาเฟีย ทั้ง 5 เรื่องราวถือเป็นตัวอย่างที่ต่างกรณีกันไป โตโตเติบโตโดยรู้จักคุ้นเคยกับมาเฟียคนกันเองที่อยู่ละแวกที่พักอาศัยเดียวกัน เฝ้ามองกิจกรรมผิดกฎหมายราวกับเป็นเรื่องปกติ (เขาส่งของชำให้ลูกค้าไม่ต่างจากพวกแก๊งส่งยาเสพติด) และเหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเด็กๆ ถูกขีดไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของแก๊งมาเฟียตั้งแต่เริ่มต้นโดยไต่เต้าจากหน้าที่ดูต้นทางเป็นลำดับแรก

สำคัญคือเมื่อเริ่มต้นแล้วไม่มีทางหันหลังกลับ และคงเติบใหญ่ในสายงานไปเรื่อยๆ...ถ้าไม่ตายเสียก่อน

ดอน ชิโร คือตัวอย่างของคนที่ทำงานให้แก๊งมาเฟียมาทั้งชีวิต เขามีหน้าที่แจกจ่ายเงินให้แก่ครอบครัวสมาชิกแก๊งที่ติดคุก แม้จะวางตัวให้ห่างจากความเสี่ยงนานาประการ แต่ถึงอย่างไรอันตรายก็มาถึงตัวได้ทุกเมื่อ และเขาทำได้เพียงหาทางเอาชีวิตรอด

แย่ตรงที่เป็นการเอาชีวิตรอดในฐานะคนส่งเงินให้แก๊งมาเฟียต่อไป ไม่ใช่การเอาชีวิตรอดอย่างเป็นอิสระแต่อย่างใด

สำหรับมาร์โกและชิโรไม่ใช่เด็กที่ถูกสภาพแวดล้อมกำหนดวิถีชีวิตอย่างโตโต แต่ด้วยความคึกคะนองของวัยรุ่นบวกกับจิตใจฝักใฝ่ทำให้ทั้งสองกระโจนลงไปเกี่ยวข้องกับมาเฟียอย่างคนที่อยากเล่นกับไฟ

ความแตกต่างที่เห็นชัดเจนเกิดขึ้นกับโรแบร์โต แม้เขาจะเข้ามาทำงานกับฟรานโกซึ่งเป็นเจ้าของกิจการกำจัดขยะพิษที่มีเอี่ยวกับกามอร์รา แต่พื้นฐานของเขาต่างจากโตโตและดอน ชิโร โรแบร์โตมีการศึกษาและรู้สึกต่อต้านความเลวร้ายที่เขาค่อยๆ รู้จักมากขึ้น ดังนั้น เมื่อปมขัดแย้งในใจถึงจุดแตกหัก โรแบร์โตจึงเข้มแข็งพอที่จะถอนตัวออกจากวงจรอันเลวร้าย

รายสุดท้ายคือปาสกวาลถือว่าแตกต่างจากคนอื่นมากที่สุด เพราะเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาเฟียโดยตรง แต่บังเอิญนายจ้างเจ้าของโรงงานผลิตเสื้อผ้าเป็นลูกหนี้ของพวกกามอร์รา เมื่อปาสกวาลแอบรับจ็อบสอนตัดเย็บให้กับโรงงานของชาวจีนซึ่งเป็นคู่แข่งจึงเหมือนเป็นการกวักมือเรียกการลงโทษจากมาเฟียโดยไม่รู้ตัว

ถึงไม่ใช่พวกแกว่งเท้าหาเสี้ยน แต่โชคร้ายก็อาจมาเยือนได้ทุกขณะในเมืองมาเฟียแห่งนี้

แม้จะนำเสนอกรณีตัวอย่างของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมืองที่ถูกควบคุมโดยกามอร์รา แต่หนังกลับไม่มีบทสรุปใดๆ นอกจากบทลงท้ายที่อาจยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของแต่ละเรื่องราว หรือกล่าวได้ว่าท่าทีของหนังมุ่งเปิดเผย-ตีแผ่ให้ผู้ชมได้รับรู้ความเลวร้ายของกามอร์ราในหลากหลายแง่มุม โดยมีอาวุธเด็ดคือระดับความเข้มข้นจริงจังและความสมจริงมากกว่าจะเสนอทางออกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้วยท่าทีและอาวุธเด็ดดังกล่าวคาดว่าหนังทำได้ตามที่เจ้าของงานเขียนต้นฉบับอย่างซาวีอาโนต้องการ แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้าตัวจะปลื้มกับความสำเร็จบนความโชคร้ายหรือเปล่า




 

Create Date : 05 มิถุนายน 2552
13 comments
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 18:14:58 น.
Counter : 3054 Pageviews.

 

กะว่าจะไปดูอยู่ครับเรื่องนี้

 

โดย: joblovenuk 5 มิถุนายน 2552 19:25:30 น.  

 

ในที่สุด ก็มีหนังที่เราได้ดูก่อนคุณสุขใจ เย้ รอมานานแล้ว ผมยังไม่ค่อยชอบเท่าไหร

 

โดย: Ghoeby 5 มิถุนายน 2552 20:30:18 น.  

 


เดือนนี้ไม่ว่างไปดูหนังเลยค่ะ
ตั้งใจมาดูทางบ๊อกแทนค่ะ
ขอบคุณที่นำมาฝากนะคะ

 

โดย: อุ้มสี 5 มิถุนายน 2552 22:11:38 น.  

 

เดี๋ยวไปดูครับ :-)

 

โดย: เอกเช้า IP: 124.122.80.98 6 มิถุนายน 2552 23:59:53 น.  

 

ผมชอบพล็อตส่วนของ Pasquale มากๆ(รองลงมาก็คือเกรียนสองคนนั่น) และอีกอันที่ทำให้หนังดูดีขึ้นมาอีกจมหูคือเพลงตอน end credit ครับ

แต่วันนี้ผมดู Il Divo แล้วดันชอบมากกว่า Gomorra แฮะ
(และรู้สึกว่าสองเรื่องนี้น่าจะเอามาฉายต่อกันซะัเลย)

 

โดย: ืnanoguy IP: 125.24.120.150 7 มิถุนายน 2552 3:42:01 น.  

 

เพิ่งเห็นรีวิวเรื่องนี้ใน Filmax เองครับ

คุณแค่เพียงรู้สึกสุขใจหามาดูได้ไวเชียว

สนุกแบบ City of God ไหมครับ

 

โดย: jonykeano 7 มิถุนายน 2552 11:10:43 น.  

 

เพิ่งไปดูที่ House มา เหนื่อยเลย เพื่อนที่ไปดูด้วยท่าทางมึนเหมือนกัน
เรื่องหน้าหนังญี่ปุ่นครับ น่าจะสื่อสารกันรู้เรื่องมากกว่าหนังอิตาลีนะ

 

โดย: คนขับช้า 7 มิถุนายน 2552 17:53:20 น.  

 

ยังไม่กล้าอ่านเยอะครับ ขออ่านผ่านๆก่อน เพราะมีแผนจะดูอยู่ครับ แล้วจะกลับมาอ่านอีกครั้งภายหลัง

^^

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.198.95 8 มิถุนายน 2552 15:40:29 น.  

 

เข้มข้น ดุดันดีค่ะ

ชอบฉากเรียกเด็กมาขับรถบรรทุก เป็นฉากเดียวที่ทำให้อมยิ้ม





 

โดย: renton_renton 9 มิถุนายน 2552 16:20:05 น.  

 

ยังไม่ได้ดูเลยครับ แค่แวะมาทักทาย

 

โดย: beerled IP: 203.150.245.181 12 มิถุนายน 2552 17:04:55 น.  

 

โห
ถึงขนาดโหดกันนอกจอด้วย

 

โดย: ม่วน IP: 125.24.213.18 14 มิถุนายน 2552 18:56:42 น.  

 

อืม... ออกมาจาก house มองหน้ากันกับเพื่อน
ไงละ ....ดูหนังด้วยความเชื่อในฝีมือ และ รางวัล ว่าต้องมีไรดีๆ แน่ ถึงได้มา มึนอะดิ

ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกตัวเองยังเด็ก.. เตาะแตะ มากกับหนังที่เล่าเรื่องแบบนี้ คือดูไปงงไปไม่หนุก.. พาลจะหลับ แต่พอได้อ่านบทวิจารณ์หลังจากดู ย้อนกลับไปคิดตามอีกที
อืม... พอได้ พอได้
มีดีจริง ๆ นะแหละ ....
ค่อย ๆ ตามดู ตามเก็บไป...

ไม่ต้องรู้รายละเอียดทั้งหมดล่วงหน้าก็ได้
จะได้รู้ความคิดของตัวเองด้วย
ไม่รู้อะไร จะได้ค้นหาต่อ

... หลายพื้นที่ในโลกนี้... ไม่มีเสรีภาพในการใช้ชีวิต ... ชะตาชีวิตของคนถูกครอบงำ... ทั้งโดยรู้และไม่รู้ตัว... ดูแล้ว รักบ้านเราเนอะ

 

โดย: wind IP: 115.67.117.163 15 มิถุนายน 2552 21:31:26 น.  

 

สนุกแบบโหด เลือดสาดเลย

 

โดย: คมลาดกระบัง IP: 125.27.42.254 10 พฤศจิกายน 2553 21:44:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
5 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.