Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ ๒๙ สัมพันธไมตรีสองกรุง

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๒๙ สัมพันธไมตรีสองกรุง

พ.สมานคุรุกรรม

ครั้นรุ่งเช้านายปานราชทูต จึ่งให้อาจารย์แต่งศิษย์ประมาณสิบหกคน ผูกเครื่องล้วนลงเลขยันต์คาถาศาสตราคมเสร็จ แล้วให้อาจารย์นุ่งขาวใส่เสื้อครุยขาว แลพอกเกี้ยวพันผ้าขาว ศิษย์สิบหกคนนั้นใส่กางเกงเสื้อหัสดูแดงทั้งสิ้น ทั้งสิบเจ็ดคนพอเข้ามาสู่หน้าพระลาน ก็กราบถวายบังคมแด่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส แล้วจึงขึ้นนั่งบนเบญจา และให้กราบทูลว่า ขอให้ทหารแม่นปืนห้าร้อยคนนั้น ยิงทหารไทยทั้งสิบเจ็ดคนซึ่งนั่งอยู่บนเบญจา

พระเจ้าฝรั่งเศสก็ทรงสั่งให้ทหารทั้งห้าร้อย ให้ระดมยิงทหารไทยพร้อมกัน ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย แลคุณเลขยันต์สรรพอาคมคาถาวิชา คุ้มครองป้องกันอันตราย พลฝรั่งทั้งหลายยิงปืนนกสับทั้งใกล้แลไกลเป็นหลายครั้ง เพลิงปากนกก็มิได้ติดดินดำแลมิได้ลั่นทั้งสิ้น

ทหารไทยทั้งสิบเจ็ดคนก็รับพระราชทานโภชนาหาร และมังฉะมังสาสุราบานเป็นปกติ มิได้มีอาการสะดุ้งหวั่นไหว พลทหารฝรั่งทั้งหลายก็เกรงกลัวย่อท้อรอหยุดอยู่ทั้งสิ้น

อาจารย์ทหารไทยจึงร้องอนุญาตไปว่าท่านจงยิงอีกเถิด ทีนี้เราจะให้เพลิงติดดินดำจะให้กระสุนออกทั้งสิ้น พลทหารพร้อมกันยิงอีกนัดหนึ่ง เพลิงก็ติดดินดำกระสุนก็ออกจากลำกล้อง ตกลงตรงปากกระบอกบ้าง ห่างออกไปบ้าง ลางกระสุนก็ตกลงที่ใกล้เบญจา แต่จะได้ถูกต้องทหารไทยผู้หนึ่งผู้ใดหามิได้

พระเจ้าฝรั่งเศสทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเชื่อเห็นความจริงของราชทูต ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญวิชาทหารไทยว่า ประเสริฐหาผู้เสมอมิได้ และรับสั่งให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้า เป็นรางวัลแก่ทหารไทยเป็นอันมาก ให้เลี้ยงดูเสร็จแล้วกลับไปที่พำนัก

จำเดิมแต่นั้นมาก็ทรงเชื่อถือถ้อยคำราชทูต จะเพ็ดทูลประการใดก็เชื่อมิได้มีความสงสัย ทรงพระมหาการุณภาพแก่ราชทูตยิ่งนัก

อยู่มาวันหนึ่งจึงสั่งให้ถามทูตว่า

“ ทหารไทยที่มีคุณวิชาวิเศษประเสริฐดั่งนี้ ในพระนครศรีอยุธยามีเท่านี้แลหรือ หรือยังมีทหารอื่นอยู่อีกมากน้อยเท่าใด “

ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ ทหารเหล่านี้เป็นแต่กองนอก สำหรับเกณฑ์จ่ายมากับเรือลูกค้าวานิช มีวิชาเพียงนี้เป็นแต่อย่างต่ำ อันทหารกองในสำหรับรักษาพระนครนั้น มีวิชาการต่าง ๆ วิเศษกว่านี้ มีมากกว่ามาก “

ได้ทรงฟังก็เชื่อถือ พระราชดำริก็เกรงฝีมือทหารไทยยิ่งนัก ราชทูตได้เข้าเฝ้าอยู่เป็นหลายเวลา แลพระเจ้าฝรั่งเศสนั้นเสด็จออกเหนือราชอาสน์อันสูง เพลาเช้าแลเห็นสีพระกายแดง เพลากลางวันเห็นพระกายมีสีเขียว เพลาเย็นเห็นสีพระกายขาว ราชทูตเข้าเฝ้าเป็นหลายเวลา ได้เห็นดังนั้นก็มีความสงสัยนัก

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าฝรั่งเศสตรัสสั่งให้ถามทูตว่า

“ ตัวท่านเป็นขุนนางผู้ใหญ่หรือเป็นขุนนางผู้น้อย กล่าวถ้อยคำสัตย์จริงยิ่งนัก อนึ่งอย่างธรรมเนียมพระนครศรีอยุธยา ถ้าแลขุนนางผู้ใด พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงพระเมตตาโปรดปรานมากกว่าข้าราชการทั้งปวง แลพระราชทานอภัยแก่ขุนนางผู้นั้นเป็นประการใด เราก็จะโปรดปรานประทานอภัยแก่ท่านเหมือนฉะนั้น “

ราชทูตคิดจะใคร่เห็นพระกายซึ่งมีสีต่างกันหลายวันมาแล้ว ครั้นได้โอกาสจึงให้กราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแต่ข้าราชการผู้น้อย สำหรับใช้แต่ไปมาค้าขายในนานาประเทศ ทั้งสติปัญญาก็น้อยนัก อันข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งมีสติปัญญายิ่งกว่าข้าพระพุทธเจ้านั้นมีเป็นอันมาก อนึ่งธรรมเนียมข้างกรุงพระนครศรีอยุธยา ถ้าพระองค์ทรงพระมหากรุณาขุนนางผู้ใดมากกว่าข้าราชการทั้งปวง ก็พระราชทานอภัยโปรดให้ผู้นั้นเข้าเฝ้าใกล้พระองค์ กราบถวายบังคมถึงพระบาทยุคลทุกครั้ง “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็ทรงเชื่อ จึงโปรดพระราชทานอภัยให้ราชทูตเข้าไปถวายบังคมถึงฝ่าพระบาททุกเวลาเฝ้า ราชทูตจึงได้เห็นพระราชอาสน์อันเรี่ยรายไปด้วยทับทิมโดยรอบในเวลาเช้า เพลากลางวันนั้นเรี่ยรายไปด้วยพลอยมรกต เพลาเย็นเรียงรายไปด้วยเพชร แสงแก้วขึ้นจับพระองค์ จึ่งมีสีต่าง ๆ อย่างละเพลาปรากฏ

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งเสด็จออกประพาสพระอุทยาน ทรงม้าสีขาวเป็นราชพาหนะ ประดับด้วยเครื่องม้าล้วนแล้วด้วยแก้วต่าง ๆ แลมีพลอยทับทิมดวงหนึ่ง ใหญ่เท่าผลหมากสงทั้งเปลือก ผูกห้อยคอม้าพระที่นั่ง แสงทับทิมนั้นจับพระองค์แลตัวม้านั้นแดงไปทั้งสิ้น พร้อมด้วยราชบริวารแห่แหนไปเป็นอันมาก โปรดให้ราชทูตตามเสด็จด้วย ครั้นถึงพระอุทยานจึงตรัสสั่งให้ถามทูตว่า พลอยทับทิมดวงใหญ่เท่านี้ พระนครศรีอยุธยามีมากหรือน้อย

ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นแต่คนภายนอก มิใช่ชาวพระคลัง ซึ่งจะกราบทูลว่ามีมากน้อยเท่าใดนั้น เกรงจะเป็นเท็จ แต่รับพระราชทานเห็นครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้ากรุงไทยเสด็จออกไปประพาสพระอุทยาน ทรงม้าพระที่นั่งสีขาว มีพลอยทับทิมดวงหนึ่งผูกคอม้าพระที่นั่ง มีสันฐานใหญ่ประมาณเท่านี้ “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เข้าพระทัยในคำราชทูต ทรงพระโสมนัสตรัสสรรเสริญว่า ราชทูตเจรจาไพเราะควรจะเอาไว้เป็นอย่างได้ จึงรับสั่งให้จดหมายเอาถ้อยคำไว้เป็นฉบับสืบไปภายหน้า แล้วเสด็จเที่ยวประพาสอุทยาน จนเพลาเย็นจึ่งเสด็จกลับพระราชวัง

วันหนึ่งราชทูตเข้าเฝ้า จึงให้กราบทูลพระกรุณาว่า

“ ลูกค้า ณ เมืองนี้เข้าไปค้าขาย ณ พระนครศรีอยุธยา กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวกรุงไทย สรรเสริญของวิเศษต่าง ๆ แลภายในพระราชนิเวศว่างามหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใคร่จะเห็นความจริง จึงดำรัสใช้ข้าพระพุทธเจ้าให้จำทูลพระราชสาส์น กับทั้งเครื่องราชบรรณาการ ออกมาจำเริญทางพระราชไมตรีด้วย “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟัง ก็ทรงโสมนัสดำรัสสั่งให้ข้าหลวงพาทูตานุทูต เข้าไปเที่ยวชมท้องพระโรงข้างใน แลพระราชฐานทั่วทั้งสิ้น ตรัสสั่งว่าให้จำเอาไปทูลพระเจ้ากรุงไทยเถิด เจ้าพนักงานกรมวังก็พาพวกแขกเมืองเข้าไปชมพระราชนิเวศสถานที่ข้างในตามรับสั่ง ราชทูตก็จดหมายแต่บรรดาที่เห็นนั้นทุกประการ ถูกต้องสมคำพระยาวิชาเยนทร์ซึ่งกราบทูลนั้น แล้วกลับออกมาเฝ้าทูลสรรเสริญสมบัติในพระราชฐานว่า งามเสมอทิพพิมานในเทวโลก

พระเจ้าฝรั่งเศสก็ทรงพระโสมนัสเชื่อถือถ้อยคำราชทูต ทรงพระการุณภาพเป็นอันมาก มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พืชพันธุ์ไว้ จึ่งพระราชทานนางข้าหลวงให้เป็นภรรยาคนหนึ่ง แล้วพระราชทานเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง ล้วนประดับด้วยพลอยต่าง ๆ กับสนองพระองค์ทรงองค์หนึ่ง แล้วให้เขียนรูปราชทูตแลจดหมายถ้อยคำไว้ทุกประการ แลราชทูตก็อยู่กินกับภรรยา จนมีบุตรชายคนหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนบิดา

อยู่มาประมาณสามปี นายปานราชทูตจึงให้กราบถวายบังคมลา แล้วให้ฝากบุตรภรรยาด้วย พระเจ้าฝรั่งเศสก็พระราชทานเงินทองเสื้อผ้า แลของวิเศษต่าง ๆ แก่ทูตานุทูตเป็นอันมาก แล้วให้แต่งพระราชสาส์นตอบโดยทางพระราชไมตรี กับทั้งสิ่งของเครื่องราชบรรณาการตอบแทน มาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้นก็มาก ทูตานุทูตก็กราบถวายบังคมลา อันเชิญพระราชสาส์นตอบ กับทั้งเครื่องมงคลราชบรรณาการมาลงกำปั่น โปรดให้จัดเรือแห่มาถึงปากน้ำ

ครั้นถึงวันศุภมงคลฤกษ์ใช้ใบออกท้องทะเลใหญ่ แล่นมาในมหาสมุทรหาอันตรายมิได้ ตราบเท่าถึงกรุงเทพมหานคร นายปานราชทูตแลอุปทูตตรีทูตก็ขึ้นเฝ้า ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งพระเจ้าฝรั่งเศสตอบแทนมานั้น แล้วทูลแถลงกิจการทั้งปวงให้ทราบสิ้นทุกประการ

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปรีดาโสมนัส ตรัสสรรเสริญสติปัญญานายปาน แล้วพระราชทานรางวัลแก่ทูตานุทูตโดยสมควรแก่ความชอบ ซึ่งไปได้ราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสมานั้น

ต่อมากรมการเมืองนครสวรรค์บอกลงมาถึงสมุหนายกว่า นายกองช้างผู้หนึ่งคล้องต้องช้างเผือกผู้ สูงประมาณสี่ศอกเศษ สรรพด้วยคชลักษณะงามบริบูรณ์ แลคล้องได้ ณ ป่าแขวงเมืองนครสวรรค์นั้น จึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดีเอาข้อราชการเศวตขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุดังนั้น ก็ทรงพระปราโมทย์ยิ่งนัก จึ่งมีพระราชดำรัสให้ท้าวพระยาเสนาบดี แลพระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลาย ขึ้นไปรับพระยาเศวตกุญชรชาติตัวประเสริฐ ลงมายังกรุงเทพมหานคร แลให้มีการสมโภชเจ็ดวันเป็นกำหนด

พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาบรม คเชนทรฉัททันต์ แลซึ่งนายช้างผู้คล้องนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นที่ขุนหมื่น ตามบูรพประเพณี แลพระราชทานเครื่องยศแลเสื้อผ้าเงินตราตามธรรมเนียม

ครั้งนั้นพระบาทบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาบุญญาธิการ แลมีเศวตคชสารพลายพังทั้งคู่เป็นบรมราชาพาหนะพระที่นั่ง พระราชกฤษฎาเดชานุภาพ แผ่ไพศาลไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวง บรรดาอริราชปรปักษ์ก็เข็ดขาม คร้ามพระเดชพระคุณเป็นอันมากนัก.

###########




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2558 6:21:23 น.
Counter : 709 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๘ ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๒๘ ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง

พ.สมานคุรุกรรม

ครั้นถึงปีระกา มีฝรั่งนายกำปั่นผู้หนึ่งบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจะเอาออกจากอู่ จึงให้ล่ามถามพ่อค้าฝรั่งเศสนั้นว่าจะกระทำอย่างไร จึงจะเอาออกได้ง่าย ฝรั่งผู้นั้นมีปัญญามากชำนาญในการรอกกว้าน จึงให้ล่ามกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะเอากำปั่นออกจากอู่ให้ โดยแต่งการผูกรอกกว้านแลจักร ชักลากกำปั่นออกจากอู่ลงสู่ท่าน้ำได้โดยสะดวก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก แล้วโปรดตั้งให้เป็น หลวงวิชาเยนทร์ พระราชทานที่บ้านเรือนแลเครื่องยศให้อยู่ทำราชการในกรุงนี้ แลหลวงวิชาเยนทร์นั้นก็มีความสวามิภักดิ์อุตสาหะในราชกิจต่าง ๆ มีความชอบมาก จึ่งโปรดให้เลื่อนเป็นพระวิชาเยนทร์ ครั้นนานมากระทำการงานว่ากล่าวได้ราชการมากขึ้น จึงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยา วิชาเยนทร์

อยู่มาวันหนึ่งจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ในเมืองฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชาเยนทร์ก็กราบทูลสรรเสริญสรรพสิ่ง เช่น นาฬิกา ปืนลม ปืนไฟ กล้องส่องทางไกลให้เห็นใกล้ เป็นต้น ทั้งเงินทองก็มีมาก ในพระราชวังของพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น หลอมเงินเป็นท่อนแปดเหลี่ยม ใหญ่ประมาณสามกำ ยาวเจ็ดศอกแปดศอก ประดุจท่อนเสากองอยู่ตามริมถนนเป็นอันมาก กำลังคนแต่สามสิบสี่สิบคนจะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว

ภายในท้องพระโรงนั้นดาษพื้นด้วยศิลามีสีต่าง ๆ จำหลักลาย ฝังด้วยเงินแลทอง แลแก้วต่างสีเป็นลดาวัลย์ แลต้นไม้ดอกไม้ภูเขาแลรูปสัตว์ต่าง ๆ พื้นผนังนั้นก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงาอันวิจิตรพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ แล้วผูกเป็นพู่พวงห้อยย้อย แลแขวนโคมแก้วมีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วแลสีทองก็รุ่งเรืองโอภาสงามยิ่งนัก

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงฟังพระยาวิชาเยนทร์ กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ แล้วก็มิได้ทรงเชื่อ มีพระราชดำริใคร่จะเห็นความจริง จึ่งมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เดิมคือขุนเหล็กว่า

“ เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเป็นนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษ ยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิชาเยนทร์หรือประการใด “

เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่น ซึ่งจะเป็นนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้ เห็นแต่นายปานผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อาจไปสืบข้อราชการ ณ เมืองฝรั่งเศส ดุจกระแสพระราชดำริได้ “

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หา นายปาน เข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า

“ ไอ้ปาน มึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะมีสมดั่งคำพระยาวิชเยนทร์กล่าว หรือจะมิสมประการใด “

นายปานกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศส สืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วก็กราบถวายบังคมลาออกไปจัดแจงการทั้งปวง

นายปานจึงจัดหาพวกฝรั่งเศส เข้ามาเป็นล้าต้าต้นหนคนท้ายและลูกเรือพร้อมเสร็จแล้ว ก็ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชา จนได้อาจารย์คนหนึ่ง ได้เรียนในพระกรรมฐาน ชำนาญญาณกสิน แลรู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยินดีจะไปด้วย

นายปานยินดีนักจึงให้เจ้าพระยา โกษาธิบดี ผู้พี่ชาย พาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา

พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น และแต่งตั้งให้นายปานเป็นราชทูต กับข้าหลวงอื่นเป็นอุปทูตและตรีทูต ให้นำพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ ออกไปจำเริญทางพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศส ตามพระราชประเพณี แล้วพระราชทานรางวัลแลเครื่องยศ แก่
ทูตานุทูตโดยควรแก่ฐานานุศักดิ์

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูตกับอุปทูตแลตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลาพาพรรคพวกบ่าวไพร่ ลงกำปั่นใหญ่ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเล ประมาณสี่เดือนก็บรรลุถึงวังวนใหญ่ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดเหตุเป็นลมพายุใหญ่พัดพากำปั่นไปในกลางวนเวียนอยู่ถึงสามวัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป

แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึงปรึกษาอาจารย์ว่า

“ กำปั่นของเราลงเวียนอยู่ในวนถึงสองสามวันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึงจะรอดพ้นจากความตาย “

อาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตกใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจนได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชาจุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาวห่มขาวเข้านั่งสมาธิ จำเริญพระกรรมฐานทางวาโยกสิณ ชั่วครู่หนึ่งจึงบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้นขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายก็มีความยินดียิ่งนัก

กำปั่นนั้นแล่นต่อไปจนถึงปากน้ำเมืองฝรั่งเศส แจ้งแก่นายด่านแลผู้รักษาเมืองกรมการว่า เป็นกำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุธยา โปรดให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญทางพระราชไมตรีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไปกราบบังคลทูลให้ทราบ

พระเจ้าฝรั่งเศสจึงโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ ลงมารับพระราชสาส์น กับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร ให้พำนักอยู่ ณ ตึกสำหรับรับแขกเมือง แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าที่เสด็จออก ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ

พระเจ้าฝรั่งเศสดำรัสพระราชปฏิสันถาร และให้เลี้ยงทูตานุทูตตามธรรมเนียม กับสั่งให้ล่ามถามทูตถึงทางอันมาในทะเลนั้นสะดวกดี หรือมีเหตุการณ์ประการใดบ้าง

ครั้นได้ทรงทราบว่ากำปั่นตกวนเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึงสามวัน จึงขึ้นพ้นมาได้ ก็ให้สงสัยพระทัยนัก ด้วยว่าแต่ก่อนแม้ว่ากำปั่นลำใดตกลงในวนนั้นแล้ว วนก็จะดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอีก ทูตให้การยืนคำอยู่ก็มิได้ทรงเชื่อ จึงให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือ ต่างก็ให้การสมคำราชทูตทั้งสิ้น ทรงเห็นเป็นมหัศจรรย์นัก จึงให้ซักถามราชทูตว่าคิดอ่านแก้ไขประการใด กำปั่นจึงรอดพ้นจากวนได้

นายปานราชทูตได้กราบทูลว่า

“ ข้าพเจ้าคิดกระทำสัตยาธิฐาน ขอเอาพระกฤษฎานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธ เจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธ์มีแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัจจาข้อนี้เป็นที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดเป็นมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นพ้นจากวนได้ “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูตก็เห็นจริงด้วย พระราชดำริว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญญามากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

อยู่มาวันหนึ่งจึ่งให้หาทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าหน้าพระลาน แล้วให้หาพลทหารฝรั่งแม่นปืนห้าร้อย เข้ามายิงให้แขกเมืองดู ให้แบ่งกันออกเป็นสองพวก พวกละสองร้อยห้าสิบ ยืนเป็นสองแถว ยิงปืนให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนแห่งกันและกันทั้งสองฝ่าย มิได้พลาดผิดแต่สักครั้ง แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนดังนี้พระนครศรีอยุธยามีหรือไม่

นายปานราชทูตให้ล่ามกราบทูลว่า ทหารแม่นปืนอย่างนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามิได้นับถือใช้สอย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เคืองพระทัย จึงให้ซักถามทูตว่าพระเจ้ากรุงไทยนับถือทหารฝีมือประการใดเล่า ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระเจ้ากรุงไทยทรงนับถือใช้สอยทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้ จะยิงใกล้แลไกลก็มิได้ถูกต้องกายทหาร บางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ลอบตัดเอาศรีษะนายทัพนายกองพวกข้าศึกมาถวายได้ ทหารบางพวกคงทนอาวุธต่าง ๆ จะยิงฟันแทงประการใดมิเข้า แลทหารมีวิชาอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงใช้สอยสำหรับพระนคร “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมิได้ทรงเชื่อ ตรัสว่าราชทูตไทยเจรจาอ้างอวดเกินหนัก จึ่งสั่งให้ซักถามว่า

“ ทหารไทยซึ่งมีวิชาเหมือนว่านั้น มีมาในกำปั่นบ้างหรือไม่ จักสำแดงถวายจะได้หรือมิได้ “

ราชทูตได้เห็นวิชาของอาจารย์มาแล้ว จึงให้ทูลว่าทหารที่เกณฑ์มาสำหรับกำปั่นนี้ เป็นทหารกองนอกมีวิชาแต่อย่างกลาง จะสำแดงถวายให้ปรากฎก็ได้ จึงสั่งให้ถามว่าจะสำแดงได้อย่างไร ราชทูตให้ทูลว่า

“ ขอรับพระราชทานให้ทหารที่แม่นปืนทั้งห้าร้อยนี้ จงระดมยิงเอาทหารของข้าพระพุทธเจ้าโดยไกลและใกล้ ทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนเสียทั้งสิ้น มิให้ตกต้องกาย “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังเกรงพลทหารฝรั่งจะยิงทหารไทยตาย จะเสียทางพระราชไมตรีไป จึงสั่งห้ามการนั้นเสีย ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ทหารข้าพระพุทธเจ้ามีวิชาอาจจะห้ามได้ ซึ่งกระสุนปืนมิให้ต้องกายได้เป็นแท้ จะเป็นอันตรายนั้นหามิได้ เวลาพรุ่งนี้ขอได้ตั้งเบญจาสามชั้น ในหน้าพระลาน ให้ดาดเพดานผ้าขาว แลปักราชวัตรฉัตรธงล้อมรอบ แล้วให้ตั้งเครื่องโภชนาหาร มัจฉะมังสาสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดูทหารข้าพระพุทธเจ้า จะสำแดงวิชาให้ปรากฎเฉพาะหน้าพระที่นั่ง “

แล้วนายปานราชทูตกรุงศรีอยุธยา ก็ถวายบังคมลาออกมาสู่ที่พำนัก พระเจ้าฝรั่งเศสก็รับสั่งให้จัดแจงการทั้งปวงพร้อม ตามคำราชทูตทุกประการ

รอเวลาที่ทหารไทยจักได้สำแดงวิชา ในวันรุ่งขึ้น.

############



ความคิดเห็นที่ 2


เรื่องโกษาปานไปฝรั่งเศสในพงศาวดารไทยมีความน่าเชื่อถือต่ำครับเพราะเพิ่งมีปรากฏครั้งแรกเป็นความที่ถูกเขียนแทรกในพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนพงศาวดารที่เก่ากว่านั้นไม่มีกล่าวถึงครับ และเนื้อหาหลายเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของทั้งไทยและฝรั่งเศสครับ

เชื่อว่าเอกสารเกี่ยวกับการส่งทูตไปฝรั่งเศสของไทยที่มีความค่อนข้างละเอียดครบถ้วนในสมัยกรุงศรีอยุทธยาคงมีอยู่ แต่ว่ามอดไหม้เป็นผงไปหมดตอนเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ประวัติศาสตร์ขาดวิ่นมาแต่นั้น ต่อมามีการชำระพงศาวดารขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ฉบับที่มีความตั้งแต่สถาปนากรุงจนเสียกรุงครั้งที่ ๒ ที่เก่าที่สุดที่ค้นพบคือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ชำระในจ.ศ.๑๑๕๗(พ.ศ.๒๒๓๘) สมัยรัชกาลที่ ๑

พงศาวดารฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกรัชกาลที่ ๑ ทรงชำระด้วยพระองค์เอง เข้าใจว่าเป็นการอิงจากเอกสารเก่าที่เหลืออยู่หรืออาจมีการชำระมาก่อนหน้า ระบุเหตุการณ์ตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุทธยา มาจบลงใน จ.ศ.๑๐๖๐(พ.ศ.๒๒๔๑) สมัยพระเจ้าเสือ(ศักราชผิด)

ส่วนที่สองชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพิพิธพิชัย โดยชำระตั้งแต่ปลายรกาลสมเด็จพระนารายณ์ใหม่จนถึงเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยมีข้อความในบานแพนกระบุว่า 'เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชาพระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป'

แต่ชำระมา เมื่อปัจจุบันมาสอบกับหลักฐานร่วมสมัยหลายเรื่องก็ไม่ตรง รวมถึงศักราชด้วย(มีพงศาวดารฉบับความเก่าสมัยธนบุรีเหลือบางส่วน ยังคงมีศักราชถูกอยู่ แต่พอชำระใหม่กลับผิดไปเป็นรอบ ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด)

ในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ส่วนแรก เขียนต่อเนื่องมาถึงสมัยพระนารายณ์ตอนพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)ไปตีเมืองไทรโยค แล้วมีข้อความระบุต่อจากนั้นว่า 'ยังขาดอยู่ ๒ สมุด แต่ศักราช ๑๐๓๐ เศษ' ซึ่งก็คือพงศาวดารหายไป ๒ เล่ม ข้อความที่ปรากฏต่อมาคือสมเด็จพระนารายณ์ก็สวรรคตแล้ว ทำให้ประวัติศาสตร์ตอนนี้ขาดตอนไป

พงศาวดารฉบับที่เก่าแก่ลำดับถัดมาคือพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ซึ่งก็ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงทูลเกล้าถวาย พงศาวดารฉบับนี้มีการรวมเนื้อหาที่เคยแยกเป็น ๒ ส่วนของฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ให้ต่อเนื่องไป แล้วมีการเพิ่มเติมเรื่องราวต่างๆเข้ามามาก และในส่วน ๒ เล่มที่ขาดไปก็มีการเพิ่มเรื่องราวเข้ามาเช่นกัน เรื่องของโกษาปานก็ถูกเพิ่มมาในตอนนี้เอง เนื่องจากชำระโดยการลอกของเก่าๆมาทำให้เนื้อหาในพงศาวดารฉบับต่อๆมาไม่ค่อยต่างจากฉบับนี้มากนัก

แต่เรื่องราวที่ถูกเพิ่มมานั้นเนื้อหานั้นเมื่อเทียบกับพงศาวดารเก่าที่มีอยู่ก่อนเนื้อความนั้นผิดแผกไปมาก ส่วนใหญ่ไม่มีการระบุศักราช เนื้อหามีการเพิ่มประวัติของปัจจเจกบุคคลมามากทั้งพระเจ้าเสือ พระยาวิไชเยนทร์(คอนสแตนซ์ ฟอลคอน) โกษาเหล็ก โกษาปานไปฝรั่งเศสซึ่งผิดกับคติการเขียนพงศาวดารเดิมซึ่งเขียนเรื่องพระมหากษัตริย์หรือเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เนื้อหาหลายเรื่องดูเหมือนเรื่องเล่า หลายเรื่องดูเหนือจริงและไม่น่าเชื่อถือเช่น พระยาช้างที่รู้ภาษามนุษย์ พระยาสีหราชเดโชหายตัวไล่ฆ่าพม่า และเรื่องของโกษาปานที่ความพิสดารมาก ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์ไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้ตรวจพิเคราะห์ดูในหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขา เห็นว่าเรื่องพระราชพงศาวดารที่ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จะมาจบลงเพียงกองทัพเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) ชนะพม่าที่เมืองไทรโยคแล้วกลับมาพระนคร ความต่อนั้นที่กล่าวขึ้นเรื่องวิชเยนทร์ดูต่อไม่สนิท และข้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ต่อนั้นมา ก็อยู่ข้างจะคลาดเคลื่อน วันคืนก็ไม่ใคร่มี ดูเป็นแต่เอาเรื่องที่เขาเล่ามาเรียงลง เช่น เรื่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เรื่องหลวงสรศักดิ์ ตลอดจนเรื่องเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ไปเมืองฝรั่งเศส เรื่องราวแม้เท่าที่เรารู้ในเวลานี้ยังถ้วนถี่ถูกต้องกว่าที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงเห็นว่าจะเป็นผู้ที่เกิดทีหลังแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนั้นเป็นแน่ จึงเลยผิดถึงปีสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตได้เป็น ๖ ปี"


Voyage des ambassadeurs de Siam en France โดย Jean Donneau de Visé
พิมพ์ใน ค.ศ.๑๖๘๖ ปีเดียวกับตอนคณะทูตกลับอยุทธยา

เรื่องพิสดารก็เช่น เปลี่ยนการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกลายเป็นจัดแจงเดินทางหาเรือกันไปเองเพื่อดูว่าที่ฟอลคอนพูดเป็นความจริง โกษาเหล็กเองก็ตายไปก่อนหน้าแล้ว เรือถูกพายุจมเหลือลำเดียว ทั้งที่ๆหลักฐานร่วมสมัยของไทยและฝรั่งเศสระบุว่ามีพายุแต่ไม่มีเรือจม เรื่องของนักเลงสุราช่วยให้พ้นจากพายุก็ไม่มีระบุในนิราศ 'ตนทางฝรงงเสษ' ซึ่งแต่งโดยกวีที่เดินทางไปด้วยได้บรรยายช่วงพายุอย่างละเอียด แต่ไม่มีปรากฏว่าได้ทำพิธีอะไร(มีแต่กวีอ้อนวอนเทวดาดาวนพเคราะห์ พระรัตนตรัย) คณะทูตเดินทางด้วยเรือไม่ใช่รถม้าตามหลักฐานร่วมสมัย(การจัดขบวนเรือมาแห่รับพระราชสาส์นเป็นธรรมเนียมของไทย) และเรื่องเอาอาจารย์นักเลงสุราไปโชว์อาคมที่ฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขัดต่อหลักฐานร่วมสมัยจำนวนมากอย่างจดหมายเหตุแบบวันต่อวันว่าคณะทูตทำอะไรที่ไหนบ้างและได้ตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.๑๖๘๖(พ.ศ.๒๒๒๙) ซึ่งเป็นปีที่คณะทูตเดินทางกลับอยุทธยา

นอกจากนี้บันทึกของโกษาปานที่เหลืออยู่ก็แสดงให้เห็นว่าท่านจดทุกสิ่งตามท่านเห็นอย่างละเอียดตามความเป็นจริง ไม่มีข้อความใดที่พิสดาร บันทึกโกษาปานถูกเก็บอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามาตลอด ยังมีหลักฐานฝรั่งเศสระบุว่าเจ้าศรีสังข์โอรสเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเคยเอามาอ่าน แต่ก็คงหายไปแล้วตอนเสียกรุง ทำให้เกิดเรื่องพิสดารเหนือจริงที่ผ่านการเล่าแบบปากต่อปากจนเนื้อความฟั่นเฝือไปหมดครับ


เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ผู้แต่งตำรา 'ดรุณศึกษา'

เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แปลจดหมายเหตุเรื่องคณะทูตไทยที่ไปฝรั่งเศส(Voyage des ambassadeurs de Siam en France)ของฌ็อง ด็องโน เดอ วีเซ(Jean Donneau de Visé)เป็นภาษาไทยในชื่อ 'โกศาปานไปฝรั่งเศส' ก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องโกษาปานให้อาจารย์โชว์อาคมในพงศาวดารของไทยไว้ว่า

"โท่ ช่างเขียนเล่นให้คนเซอะหลงเชื่อได้ ถ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังอยู่และทรงทราบเรื่องนี้คงทรงพระศรวลก๊ากใหญ่เป็นแน่ เพราะเป็นเรื่องน่าหัวเราะมิใช่น้อย แต่นึกไปนึกมาการที่จับปดเล่นในเรื่องพงศาวดารได้ถึงเพียงนี้ดูเป็นที่น่าสลดใจนัก เพราะทำให้นักเรียนเสื่อมศรัทธา คลายความเลื่อมใสในคำให้การแห่งพงศาวดาร ด้วยว่าเมื่อตนกำลังอ่านพงศาวดารนั้น ใช่จะมีพระครูยืนกำกับคอยตักเตือนอยู่เสมอว่า ข้อนี้จริง เชื่อได้ ข้อนี้เขียนเล่น ข้ามไปเถอะ

จริงอยู่การเขียนพงศาวดารเป็นของยาก เพราะบางข้อจับความจริงไม่ค่อยจะได้ แต่สิ่งที่รู้จริงๆ ทำไมยังเปลี่ยนรูปให้เป็นอื่นไปได้เล่า? ไม่มีหิริโอตตัปปะแลหรือ? ทุกวันนี้ลวงกันยากกว่าก่อนหน่อย แต่กระนั้นก็ยังต้องระวังเมื่ออ่านเหมือนกัน เพราะยังอาจพบคนที่เขียนลวงให้ผู้ไม่รู้เท่าเชื่อถืออยู่บ้าง เช่น ข้อความใดเกี่ยวข้องกับผู้ที่ตนชอบ ข้อความเรื่องนั้นอาจกลายเป็นเรื่องงามไปหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้อื่นซึ่งตนไม่สู้จะชอบ ความดีของเขาอาจศูนย์หายไปหมดไม่ปรากฎให้คนเห็น หรือว่ากล่าวบ้างแต่พอสังเขป เพื่อกันมิให้มีข้อครหาว่าแกล้งปิดบังเท่านั้น ทุกวันนี้การที่จะปั้นลมปั้นน้ำให้เป็นตัวเหมือนสมัยก่อนค่อนข้างยากๆ อยู่ เพราะนักรู้ออกจะหนาแผ่นดินอยู่แล้ว แต่พิเคราะห์ดูอาการพวกนักเขียนชะนิดนั้น หากว่าโอกาสให้ดูเหมือนคนจำพวกนี้ จะยังไม่สิ้นความพยายามที่จะลวงให้ผู้อื่นซึ่งไม่รู้เท่า หลงเข้าใจความผิดๆ ถูกๆ อยู่เสมอ"


จิตร ภูมิศักดิ์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ตัวพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาเองในตอนกลาง ๆ ก็มีเรื่องอภินิหารพิลึกกึกกือเมื่อคราวโกษาปานไปฝรั่งเศสอยู่ทั้งท่อน. ซึ่งเป็นการจดด้วยความอัศจรรย์ที่คนไทยไปไกลถึงเมืองฝรั่งเศสได้ มากกว่าจะเป็นบันทึกเรื่องการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองประเทศ, จนนักศึกษาทางการทูตบางท่านถึงกับกล่าวว่า เมื่อเทียบกับจดหมายเหตุและเอกสารทางฝรั่งเศสแล้ว พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนนี้นับว่าจดอย่างน่าขายหน้าเป็นที่สุด ! แต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิได้ทำให้พงศาวดารทั้งเล่มสูญค่าไปทั้งหมด เพราะตอนที่จดจากความจริงตามลำดับยุคสมัยลงมาก็ยังมีเป็นส่วนมากของพงศาวดารนั้นอยู่, อาศัยแต่ว่าเราต้องศึกษาโดยยึดพื้นฐาทางสังคมไว้ให้มั่นคงแลัวสอบทานกับหลักฐานอื่น ๆ ให้รอบด้านโดยระมัดระวังเท่านั้น."
แก้ไขข้อความเมื่อ วันพฤหัส เวลา 21:11 น.
ตอบกลับ
0 1
ศรีสรรเพชญ์
วันพฤหัส เวลา 17:24 น.
เจียวต้าย ถูกใจ
∨ดู 2 ความเห็นย่อย ∨

ความคิดเห็นที่ 3
ส่วนหนึ่งที่ผิดความจริงไปมากคือให้ทหารฝรั่งเศสยิงกรอกเข้าไปในลำกล้อง สมัย Louise XIV นั้นปืนไฟของฝรั่งเศสไม่ได้มีความแม่นยำอะไรมากไปกว่าปืนไฟของอยุธยาสักเท่าไรเลย อีกกว่าร้อยปีต่อมาช่วงสงครามประกาศอิสระของอเมริกาปืนไฟก็ยังหาความแม่นยำได้น้อยมาก แม้จะใช้การตั้งแถวยิงก็ยังหวังผลอะไรได้ไม่มาก ไม่ต้องพูดถึงการยิงกรอกเข้าไปในลำกล้องเลย
ตอบกลับ
0 1
zodiac28
วันพฤหัส เวลา 22:49 น.
เจียวต้าย ถูกใจ

ความคิดเห็นที่ 3-1
ถ้าเป็นตำนวนก็ว่าไป แต่นี่เป็นพงศาวดารจึงไม่ควรมีเรื่องเช่นนี้ ผมเห็นด้วยครับ.
ตอบกลับ
0 0
เจียวต้าย
1 นาทีที่แล้ว




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2558 5:49:33 น.
Counter : 1462 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๗ หอกข้างแคร่

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๒๗ หอกข้างแคร่

พ.สมานคุรุกรรม

อยู่มาอีกไม่นาน พระยาพิชัยสงคราม พระมหามนตรี ทูลแด่สมเด็จพระรามราชาธิราชว่า พระยาพัทลุงแลพระศรีภูมิปรีชา ซึ่งทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ไปกินเมืองนั้น ก็มิได้ไป แลคนทั้งสองนี้เพลากลางคืนได้ลงไปวังหลังมิได้ขาด แลคิดอ่านด้วยพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ จะคิดร้ายแก่แผ่นดิน จึ่งสมเด็จพระรามราชาธิราชก็เอาคดีนั้น กราบทูลพระกรุณา จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่าจะให้เสาะแสวงหาฟังดูเนื้อความจงมั่นแม่นก่อน

อีกวันหนึ่งพระยาจักรีแลพระยาคลัง ก็มาบอกแก่พระยาพิชิตภักดีว่า นายผูก เดิมเป็นมหาดเล็ก เป็นโทษครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง มาบอกว่าพระยาพัทลุง พระศรีภูมิปรีชาแลหมื่นภักดีศวร ต่างก็ลงไปหาพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ที่วังหลัง คิดอ่านซ่องสุมไพร่พลจะทำร้ายแก่แผ่นดิน พระยาพิชัยภักดีก็กราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบ จึ่งมีพระราชโองการสั่งพระยา คลังว่า หมื่นภักดีศวรซึ่งสั่งให้ไปรั้งเมืองแลมิได้ไปนั้น เห็นว่าจะคบคิดกันทำร้ายพระองค์ ให้ลงโทษตัดศรีษะเสียบไว้หน้าศาลาลูกขุน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล

ต่อมาข้าหลวงซึ่งแต่งให้ออกไปฟังกิตติศัพท์นั้น ก็ได้นำเอาเนื้อความมากราบทูล พระกรุณาว่า ได้ยินจากข้าไทว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์คิดว่า ในการพระราชพิธีตรียัมปะวายนั้น ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปกลางคืนไซร้ จะแต่งข้าอาสาให้ซุ่มซ่อนอยู่ที่ทางแคบ แลออกทำร้ายในละอองธุลีพระบาท ครั้นทรงทราบเนื้อความทั้งนี้แล้ว จึ่งทรงพระดำริว่าองค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ไซร้เป็นอนุชาธิราชแห่งเราก็ไว้พระทัยเป็นที่สนิทเสน่หานัก แลซึ่งจะคิดมิตรโทษแก่เรา จะทำร้ายแก่เราก็ให้ทำเถิด เราจะเอาแต่บุญญาธิการแห่งเราเป็นที่พึ่ง

ครั้นถึงวันการพระราชพิธีตรียัมปะวายกลางคืนนั้น ก็เสด็จทรงช้างต้นพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ ประดับด้วยเครื่องราโชปโภคทั้งปวง แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย แห่โดยซ้ายขวาหน้าหลัง ก็เสด็จแต่พระราชวังบวรสถานมงคลมาโดยทางหอรัตนชัย มาทางสะพานช้าง แลพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ก็ขึ้นช้าง ตามช้างพระที่นั่งมา พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปโดยทางชีกุน แลคนซึ่งแต่งซุ่มไว้นั้นล้วนถือปืนนกสับ อยู่ที่สะพานช้างเป็นอันมาก ครั้นให้ถามก็บอกว่าข้าวังหลัง ก็มิได้มีพระราชโองการแต่ประการใด เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนมายังพระราชวังบวรสถานมงคล

ต่อมานายสุกนั้นเดิมเป็นข้าพระไชยราชาธิราช พระโอรสพระเจ้าทรงธรรม แล้วมาเป็นข้าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ มาบอกแก่หมื่นราชามาตย์แลบอกต่อแก่หลวงพิชัยเดช ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบในละอองธุลีพระบาท ว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์จะคุมคนยกขึ้นมาในเดือนยี่แรมสามค่ำ

ณ วันหนึ่งพระยาจักรีแลพระยาพลเทพ จึงกราบทูลพระกรุณาว่า ได้ยินกิตติศัพท์ว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์จะคิดร้ายในละอองธุลีพระบาทนั้นเป็นมั่นแม่น จึ่งพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ตรัสสั่งแก่เสนาบดีแลข้าหลวงผู้มีความซื่อสัตย์นั้นว่า

“ องค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ไซร้ เป็นพระอนุชาธิราชแห่งเรา ก็มีความเสน่หาเป็นอันมากคิดว่าจะบำรุงไว้ให้วัฒนาการไปภายหน้า แต่หาได้มีความซื่อสัตย์ต่อเราไม่ ฟังเอาถ้อยคำคนโกหกมายุยง แลคิดซ่องสุมผู้คนจะทำร้ายแก่เรานั้น จะเป็นประการใด “

จึ่งเสนาบดีแลข้าหลวงผู้มีความสวามิภักดีนั้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า

“ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ไซร้มิได้คิดถึงคุณ แลมิได้มีความสวามิภักดิ์ จะไว้ให้ทำตามอิจฉาภาพนั้นมิได้ ขอพระราชทานสำเร็จโทษตามประเพณีราชกุมาร ซึ่งเป็นมหันตโทษนั้น “

จึ่งพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการตรัสว่า

“ ซึ่งจะสำเร็จโทษในกรุงเทพมหานครนี้มิได้ เราจะไปพระนครหลวงแล้ว เราจะทรงม้าต้น ให้องค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ขี่ม้าต้นตัวหนึ่ง ออกไปกลางพระนครหลวง ถ้าองค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์จะคิดทำร้ายแก่เรา เราก็มิได้เข็ดขาม จะยุทธนาด้วย ณ พระที่นั้น แลเราจะเอาบุญญาธิการแห่งเราเป็นที่พึ่ง “

ครั้นถึงวันอังคาร ขึ้นสามค่ำ เดือนสาม ปีวอก อัฐศก กอรปด้วยพิชัยฤกษ์เพลาอุษาโยค ก็เสด็จด้วยเรือพระที่นั่งศรีสมรรถชัย แลเรือท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง แห่หน้าหลังซ้ายขวาโดยเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพระนครหลวง จึ่งเสด็จขึ้นพระตำหนัก ครั้นเพลารุ่งแล้วประมาณสองนาฬิกาเศษ จึ่งเสด็จทรงม้าต้นพระที่นั่งราชพาหนะ ให้พระอินทรราชาทรงม้าตัวหนึ่ง พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ทรงม้าตัวหนึ่ง แลสมเด็จพระรามราชาธิราชทรงม้าตัวหนึ่ง แลเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง โดยเสด็จแห่หน้าหลังซ้ายขวา เสด็จออกไปกลางทุ่งหน้าพระตำหนักนครหลวงนั้น

พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ก็กลัวพระเดชเดชานุภาพพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้า อยู่หัว มิอาจจะทำร้ายได้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังพระตำหนัก พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ก็ตามเสด็จเข้ามาในพระราชวังพระนครหลวง จึ่งพระสุรินทรภักดีก็ตามพระไตรภูวนาทิตยวงศ์เข้ามาถึง แลเห็นพระไตรภูวนาทิตยวงศ์แก้จางนางดาบออก แล้วก็ขึ้นไปบนฉนวน จึ่งพระสุรินทรภักดีก็ตามกราบทูลพระกรุณาให้ทราบ เมื่อจะเสด็จเข้าพระที่นั่งบรรทม ก็มีพระราชโองการตรัสสั่งพระยาวิชิตภักดี พระสุรินทรภักดี แลขุนเหล็กมหาดเล็ก ให้เอางานพัชนีพิทักษ์รักษาระวังระไวอยู่ จึ่งพระสุรินทรภักดีซึ่งเอางานพัชนีอยู่นั้น ก็แลเห็นอินทราชาธิราชแลพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ออกจากพระตำหนักมาใกล้ที่พระบรรทม ครั้นเห็นพระสุรินทรภักดีก็กลับคืนเข้าไป แล้วขุนเหล็กมหาดเล็ก ก็รับงานพัชนีผลัดพระสุรินทรภักดี แลพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ใช้ให้พระองค์ทอง ออกมาเอาพระแสงหอกต้นของหลวงซึ่งอยู่ ณ ที่นั่งมุขเด็จนั้นไป

ครั้นพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จตื่นขึ้นจากพระบรรทม จึ่งขุนเหล็กมหาดเล็กกราบบังคมทูลพระกรุณา ที่พระองค์ทองออกมาเอาพระแสงหอกต้นนั้นไป จึ่งทรงพระกรุณาตรัสว่า ซึ่งพระแสงหอกต้นไซร้ จะได้เป็นสำหรับองค์พระไตรภูวนาทิตยวงศ์หามิได้ แลซึ่งให้มาเอาพระแสงต้นเข้าไปไว้ดั่งนี้ เห็นว่าพระองค์ไตรภูวนาทิตยงวศ์จะคิดร้ายต่อเราเป็นมั่นแม่น จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการตรัสสั่งให้ พระยาพิชัยสงครามคุมไพร่พล อยู่รักษาประตูหน้าพระราชวัง ให้พระศรีมหาราชาคุมไพร่พลอยู่รักษาประตูพระราชวังฝ่ายซ้าย ให้พระธนบุรีคุมข้าหลวงอยู่รักษาประตูฉนวน แลให้พิทักษ์รักษาอย่าให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าออกได้

ครั้นเพลาเช้าห้านาฬิกา จึ่งพระอินทรราชา พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ แลพระองค์ทองก็ออกมาเฝ้าที่ฉนวนนั้น พร้อมด้วยข้าหลวงผู้มีชื่อ ซึ่งได้รับพระราชโองการให้เป็นพนักงานควบคุม พระยาจักรีก็ขอพระราชทานเข้าเฝ้าใกล้ละอองธุลีพระบาท แล้วรับพระราชโองการว่าเอาเถิด พระยาจักรี พระยาวิชิตภักดี พระมหามนตรี หลวงอินทเดช ก็กุมพระองค์ไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระ สุรินทรภักดี หลวงเทพสมบัติ หลวงกำแพง แลพระราม หมื่นมไหสวรรย์ กุมพระองค์อินทรราชา แลชิงเอาดาบไว้ได้ทั้งสองพระองค์

ฝ่ายพระองค์ทองผู้เป็นอนุชา ก็เข้าช่วงชิงพระไตรภูวนาทิตยวงศ์แลทุบตีข้าหลวงผู้เกาะกุม ข้าหลวงก็กุมเอาพระองค์ทองนั้นด้วย แล้วก็เอาพระไตรภูวนาทิตยวงศ์แลพระองค์ทองสำเร็จโทษในที่นั้น แต่พระอินทราธิราชนั้น ทรงพระกรุณายกโทษไว้ เพราะว่ามิได้เข้าด้วย จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จลงเรือพระที่นั่ง เอาพระอินทรราชาลงเรือพระที่นั่งมาด้วย แลเรือเสนาบดีมุขมนตรีทั้งปวง ก็เข้าขบวนโดยเสด็จซ้ายขวาหน้าหลัง เสด็จพระราชดำเนินมายังพระรางวังบวรสถานมงคล

แล้วจึ่งมีพระราชโองการสั่งให้ตำรวจนอกตำรวจใน ไปเอาข้าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ซึ่งร่วมคิดด้วยนั้นมาถวาย เมื่อถามข้าหลวงเดิมก็ให้การซัดทอดถึงผู้ร่วมคิดอีกมาก ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงพิพากษาโทษ ผู้ซึ่งคิดอ่านด้วยพระไตรภูวทิตยวงศ์ จะทำร้ายในละอองธุลีพระบาทนั้นเป็นมหันตโทษถึงสิ้นชีวิต ส่วนผู้ไปมาคบหา ซึ่งมิได้คิดร้ายด้วยนั้น เป็นแต่สาขาโทษ ทรงพระกรุณาโปรดให้ลงพระราชอาญาแล้วประทานชีวิตไว้

เป็นอันสิ้นภยันตรายจากบรรดาผู้ที่มิได้จงรักภักดี ดุจหอกข้างแคร่ที่อยู่ใกล้พระองค์ ตั้งแต่นั้นมา.

##########




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2558 8:13:00 น.
Counter : 790 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๖ ก่อแล้วต้องสาน

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๒๖ ก่อแล้วต้องสาน

พ.สมานคุรุกรรม

สมเด็จพระนารายณ์ได้ฟังคำของพระขนิษฐา แลทรงพระราชดำริแล้ว จึ่งให้หาขุนนางเข้ามาในพระราชวัง แจ้งประพฤติเหตุที่จะทำยุทธนากับพระเจ้าอานั้น ขุนนางทั้งหลายต่างก็ทูลอาสา ขอเอาชีวิตเป็นแดนแทนพระคุณทุกคน สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าได้ทรงฟัง ก็มีพระทัยปราโมทย์ยิ่งนัก แล้วก็ให้สักการะบูชาพระศรีรัตนตรัย พระอิศวร แลเทพดาผู้มีฤทธิสิทธิศักดาทั้งปวง ดำรัสสั่งขันเสนาชัย ขุนจันทราเทพ ขุนทิพมนตรี ขุนเทพมนตรี ขุนสิทธิคชรัตน์ ขุนเทพศรีธรรมรัตน์ ให้คุมไพร่พลร้อยหนึ่งอยู่รักษาพระราชวังบวรมงคลสถาน

ในวันพฤหัสบดี ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง เพลาชายแล้วห้านาฬิกาเศษ สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ก็เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลไอยเรศ ตรัสให้พระเทพเดชะ เป็นกลางช้างพระที่นั่ง ขุนพระศรีควาญ และตรัสให้ พระอินทราธิราชผู้เป็นอนุชาทรงช้างต้นพังกะพัดทอง ขุนพรหมธิบาลเป็นกลางช้างพระที่นั่ง หมื่นเทพกุญชรควาญ แลให้หมื่นราชกุญชร ขี่ช้างต้นพังตลับนำช้างพระที่นั่ง เสด็จกรีธาพลพยุหยาตราไปโดยทางหน้าวัดพลับพลาชัย จึ่งพระยาเสนาภิมุข พระยา ไชยาสุรคุมญี่ปุ่นสี่สิบมากราบทูลขออาสาราชการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชีกุน

ฝ่ายสมเด็จบรมบพิตรพระศรีสุธรรมราชา รู้ว่าสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ยกเข้ามาแต่พระราชวังบวรสถานมงคล ก็สั่งแก่พระมหาเทพ หลวงอินทรเดช ให้เอาขุนบำเรอภักดิ์ แลไอ้มั่นผู้เป็นทาส ไปพิฆาตเสียที่หน้าบางตรา แต่ขุนบำเรอภักดิ์หนีรอดไปได้ จึงกราบถวายบังคมสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าถึงหน้าวัดฉัททันต์ แลสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้ามาหยุดช้างต้นหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ์ พระยาอนันทกะยอสู พระยาอนันทกะยอถาง พระราชมนตรี หลวงโยธาทิพ หลวงอมรวงศา หลวงพิชิตเดช ขุนตรัส ขุนทรงพานิช ขุนสนิทวาที มีรายาฝันเมาลามักเมาะตาด ให้คุมไพร่พลไปอยู่ด้านศาลาลูกขุน ให้รายาลิลาคุมศรีต่วนแลแขกชวาแขกจามอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ให้หลวงเทพวรชุน คุมไพร่พลอยู่ประตูศรีสรรพทวาร ให้พระจุฬานัง คุมไพร่พลอยู่ทางสระแก้ว หลวงวิสุทธิสงครามคุมไพร่สารวัต หลังวัดรามาวาสแลประตูสแดงราม จนถึง ประตูหอพระ

ไพร่พลฝ่ายข้างสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช แลไพร่พลข้างสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าก็ได้รบพุ่งกันแต่ค่ำจนรุ่ง แลญี่ปุ่นที่คุมกันเข้ามาอาสา ก็ได้เข้าช่วยรบพุ่งด้านรายาลิลา ไพร่พลล้มตายบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย จึ่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ตรัสสั่งขุนจันทราเทพ แลพันทิราช เอาปืนใหญ่สามกระบอกตั้ง ณ ท้องสนามหลวงยิงเข้าไปในพระราชวังเป็นหลายนัด

ครั้นเพลาชายแล้วประมาณหนึ่งนาฬิกาเศษ มีผู้มากราบทูลว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชทรงช้างออกมายืนอยู่ ณ ศาลาหลังลูกขุน จึ่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปถึงนอกกำแพงหน้าศาลาลูกขุน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งต่อแย้งกัน แลทหารอาสาสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ก็ยิงปืนนกสับ ต้องพระพาหุสมเด็จพระสุธรรมราชาธิราช ฝ่ายทหารสมเด็จพระสุธรรมราชาธิราชก็ยิงปืนนกสับ ต้องหลังพระบาทซ้ายสมเด็จพระนารายณ์ เป็นเจ้า เผินไปหน่อยหนึ่ง แลสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชก็กลับช้างเข้าไปในพระราชวัง แลไพร่พลฝ่ายข้างสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช ก็แตกฉานซ่านเซ็นหนีเข้าไปในพระราชวัง แล้วปิดประตูวังไว้

สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าก็เสด็จขึ้นมายังพระที่นั่งจักรวรรดิ์ จึงพระไตรภูวนาทิตยวงศ์พระอนุชา เสด็จทรงช้างต้นออกมาแต่ในพระราชวังถวายบังคม จึ่งตรัสใช้ให้ทหารอาสาคุมกันไปทำลายประตูพระราชวัง พระสิทธิชัยเปิดทวารออกมา ทหารก็ตรูกันเข้าไปในพระราชวังได้ มหาดเล็กนำพระสิทธิชัยมาถวายบังคม ณ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ กราบทูลว่าทหารอาสาเข้าไปในพระราชวังได้แล้ว แลพระสิทธิชัยบอกว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิาชหนีลงไปยังวังหลัง สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าจึงเสด็จเข้าในพระราชวัง เสด็จขึ้นราชมณเทียรพระวิหารสมเด็จในวันเดียวนั้น เสนาบดีก็ไปตามสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชได้ ณ วังหลัง ก็ให้เอาไปสำเร็จโทษเสียที่วัดโคกพระยาตามประเพณี

ในเมื่อสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้ามีชัยชำนะแก่ราชศัตรูด้วยเดชบุญญานุภาพนั้น ลุศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก อัฐศก วันศุกร์ ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ เดือนสิบสอง เพลาชายแล้วสองนาฬิกาสี่บาท พระศรีสุธรรมราชาธิราช เสวยราชสมบัติได้สองเดือนกับยี่สิบวัน

อีกเจ็ดวันต่อมา พระมหาราชครู พระราชครูแลท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีทั้งปวงก็อัญเชิญสมเด็จบรมบพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้าเสด็จปราบดาภิเษก เสวยราชสมบัติ ถวัลยราชประเพณี โดยบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน ถวายพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชา ธิราชรามาธิบดีศรีสรรเพชญราชาบรมมหาจักรพรรดิศวร ฯ บรมบพิตรพระพุทธเจ้า พระเจ้ากรุงเทพพระมหานคร บวรทราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ แลถวายเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์เครื่องราโชปโภคทั้งปวง แลบูชาบรมเทพอัษฎามุรติอันประเสริฐ สถิตสถาวรในพระองค์โดยยถาศาสตร์แลถวายอาเศียรพาทอภิเษก จำเริญพระพรบวรราชศรีสวัสดิพิพัฒน มงคลนิฤมลพระองค์ คือพระนารายณ์เป็นเจ้าสังขจักรคทาธรอันกอรปด้วยพระเดชเดชาฤทธา นุภาพอันประเสริฐ เพื่อจะรักษาสมณพราหมณาจารย์แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขประชา ราษฎรทั้งปวงให้สุขเกษมเปรมปรีดิ์ทั่วธานีจำเริญสืบต่อไปเมื่อหน้า

แล้วก็ให้เบิกท้าวพระยาสามลตราช เสนาบดีมนตรีมุขทุกกระทรวงการทั้งหลาย ถวายบังคมแลถวายสัตยานุสัตยาธิษฐาน ถือน้ำพิพัฒน์ ตามบุรพประเพณีแล้วเสร็จ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกถวัลยราชประเพณีแล้วนั้น พระชนม์ได้ยี่สิบห้าพรรษา

พระบาทสมเด็จพระนารายณ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระกรุณาแก่ประชาราษฎรทั้งปวง ให้ลดส่วยอากรขนอนตลาดแก่ประชาราษฎรทั้งปวง มิให้เข้าท้องพระคลังเป็นเวลาสามขวบปี แล้วก็ตรัสให้แต่งการซึ่งจะถวายพระเพลิงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คือพระเมรุมาศสูงสองเส้น สิบเอ็ดวาศอกคืบ แลเมรุทิศเมรุรายประดับด้วยฉัตรทองฉัตรนาคฉัตรเงินฉัตรเบญจรงค์ธงเทียว จึ่งอัญเชิญพระศพเสด็จเหนือบุษบก แล้วอัญเชิญพระศพเสด็จลีลาศ คราเคลื่อนเครื่องแห่แหนโดยขบวนเสด็จรถยาราชวัต ไปยังพระเมรุมาศ แลให้บำเรอด้วยดุริยดนตรีแตรสังข์ ฆ้องกลอง โขนหนังระบำบันฟ้อนมโหฬารมหรสพทั้งปวง แลนิมนต์พระสงฆ์สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายทักษิณทานบูชาแก่พระสงฆ์ทั้งปวงด้วยเครื่องไทยทานโดยโบราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ถวายพระเพลิง แล้วให้รับพระอัฐธาตุเข้ามาวัดพระศรีสรรเพชญ นิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้วก็บรรจุพระอัฐธาตุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินออกไปประทับยัง พระราชวังบวรมงคลสถาน
สมเด็จพระนารายณ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติได้เพียงสองเดือน ก็มีข้าหลวงเอาเนื้อความมากราบทูลว่า อำแดงแก่นผู้เป็นข้าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ เอาเนื้อความอันเป็นโกหกว่าข้าหลวงฝ่ายพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว กล่าวหาว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์แลข้าไททั้งปวงนั้น เข้าด้วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชช่วยรบพุ่ง ครั้นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชปราชัย พระไตรภูวนาทิตยวงศ์แลข้าไททั้งปวงก็มาบรรจบเข้าด้วยข้าหลวง แลอำแดงแก่นได้ทูลยุยงเป็นหลายครั้ง พระไตรภูวนาตยวงศ์ก็มิได้พิจารณา ฟังแต่คนถ่อยนั้น ก็คิดซ่องสุมผู้คนไว้นอกกรุงเทพมหานครเป็นอันมาก

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณา ตรัสสั่งให้ข้าหลวงอันมีใจซื่อสัตย์นั้น ออกไปฟังกิตติศัพท์ดูจงมั่นแม่น ถ้าแม้นจริงไซร้ก็ให้ข้าหลวงคิดอุบายว่าจะเข้าด้วย

ครั้นข้าหลวงออกไปได้แจ้งเนื้อความนั้นเป็นหลายแห่งว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ให้ซ่องสุมผู้คนเป็นมั่นแม่น จึ่งข้าหลวงซึ่งออกไปนั้นก็แสร้งอุบายว่าจะเข้าด้วย จึงให้สัญญานัดวันคืนแก่กันว่าจะยกเข้ามา แลข้าหลวงนั้นก็ลากลับคืนเข้ามากราบทูลพระกรุณาตามเนื้อความนั้น

##########




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 7 กรกฎาคม 2558 7:37:58 น.
Counter : 587 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๕ บุญญาภินิหาร

พลิกพงศาวดาร

บุญญาภินิหาร
พ.สมานคุรุกรรม

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ จุดเพลิงเผาศพมารดาที่วัดมงกุฎแล้ว ถึงเพลาชายบ่ายสามโมงเศษได้อุดมฤกษ์ ก็ลงเรือพร้อมด้วยเรือขุนนางทั้งปวงประมาณสักร้อยลำ คนประมาณสามพันเศษ พลสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธล่องมาขึ้นประตูชัย เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ใส่เสื้อดำกางเกงดำขึ้นม้าดำ ขุนนางแลพลไพร่ตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงหน้าพระกาฬจึงลงจากหลังม้าตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าปรารถนาโพธิญาณ ถ้าจะเสร็จแก่พุทธสมบัติเป็นแท้ จะยกเข้าไปล้างผู้อาสัจให้สำเร็จดังปรารถนา

เสร็จอธิษฐานแล้วเพลาพลบค่ำจึงมาตั้งชุมพลอยู่ ณ วัดสุทธาวาส ครั้นเพลาแปดทุ่มก็ยกพลมาเข้าประตูมงคลสุนทร ให้ทหารเอาขวานฟันประตูเข้าไปได้ ด้วยเดชากฤษฎาภินิหารอันใหญ่ยิ่ง หามีผู้ใดออกต่อต้านมิได้ ก็กรูกันไปถึงท้องสนามใน ข้าหลวงเดิมซึ่งนอนเวรประจำซอง ร้องกราบทูลเข้าไปว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ยกเข้ามาได้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินได้ฟังก็ตกพระทัยนักมิได้คิดอ่านที่จะต่อสู้ ออกจากพระราชวังกับพวกข้าหลวงเดิม ลงเรือพระที่นั่งหนีไป เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าในพระราชวังได้ รู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินหนี จึงสั่งให้พระยาเดโช พระยาท้ายน้ำ ไปตามแต่ในเพลาคืนนั้น

วันรุ่งขึ้นเช้าพระยาทั้งสองไปทันพระเจ้าแผ่นดินที่ป่าโมกน้อย ล้อมจับเอาตัวมาได้ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สั่งให้เอาไปสำเร็จโทษ ตามประเพณีกษัตริย์ พระเชษฐาธิราชอยู่ในราชสมบัติ ปีหนึ่งกับเจ็ดเดือน

ฝ่ายเสนาพฤฒามาตย์ปุโรหิตทั้งหลาย จึงนำเอาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ไปถวาย เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์มิได้รับ ว่าเราทำราชการนี้จะชิงเอาสมบัตินั้นหามิได้ เพราะภัยมาถึงตัวแล้วก็จำเป็น พระอาทิตยวงศ์ซึ่งเป็นพระราชบุตรพระมหากษัตริย์นั้นยังมีอยู่ ควรจะยกพระอาทิตย์วงศ์ขึ้นผ่านสมบัติ โดยราชประเพณีจึงจะชอบ เมื่อปรึกษาเสนาบดีทั้งปวงพร้อมแล้ว ก็ราชาภิเษกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นผ่านพิภพ กรุงเทพพระนครศรีอยุธยา

พระอาทิตยวงศ์ ไ ด้ผ่านสมบัติครั้งนั้น พระชนม์ได้เก้าพรรษายังทรงพระเยาวราชอยู่นัก มิได้รู้ที่จะว่าราชกิจสิ่งใด มีแต่เที่ยวประพาสจับแพะจับแกะเล่น เจ้าพนักงานต้องนำเครื่องทรงเครื่องเสวยตามไปทุกแห่ง แต่ทำดังนี้อยู่ได้ประมาณหกเดือน มุขมนตรีทั้งปวงก็ปรึกษากันว่า พระมหากษัตริย์เป็นดั่งนี้การแผ่นดินจะเสียไป จำจะยกพระอาทิตยวงศ์ลงเสียจากเศวตฉัตร ควรจะเอาราชสมบัติถวายแก่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ จะเป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินต่อไป

ปรึกษากันเสร็จแล้วก็นำเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มาถวายแก่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ทูลประพฤติเหตุซึ่งพระอาทิตยวงศ์จะครองแผ่นดินไปมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอถวายราชสมบัติแก่พระองค์ จงพระกรุณารับทำนุบำรุงสมณชีพราหมณ์ แลอาณาประชาราษฎร ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะได้อยู่เย็นเป็นสุข เพราะพระเดชานุภาพของพระองค์นั้นเถิด เจ้าพระยา กลาโหมสุริยวงศ์ได้ฟังมุขมนตรีทั้งปวงมาอ้อนวอนดังนั้น ก็รับว่าจะครองราชสมบัติ เสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายมีความยินดีนัก ก็อัญเชิญเสด็จเข้าอยู่ในพระราชวัง แล้วเสนาพฤฒามาตย์ราชโรหิตทวิชาจารย์พร้อมกันให้โหราธิบดีหาฤกษ์ แลตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก ในพระที่นั่งมังคลามหาปราสาท

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นผ่านถวัลยราชภิภพ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง ครั้นเสด็จออกขุนนางทรงพระกรุณาตรัสปูนบำเหน็จ เจ้าหมื่นสรรเพชญภักดี เป็นพระยาราชภักดีเจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานเจียดทองกระบี่ เต้าน้ำพานทองเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก แลขุนนางซึ่งสวามิภักดิ์นั้นก็แต่งตั้งโดยสมควรแก่ฐานาศักดิ์ แลพระอาทิตยวงศ์นั้นทรงพระกรุณาโปรดให้อยู่ในพระราชวัง กับพระนมพี่เลี้ยง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอนุชาองค์หนึ่ง ทรงพระกรุณาตรัสว่า น้องเราคนนี้น้ำใจกักขฬะหยาบช้า มิได้มีหิริโอตัปปะ จะให้เป็นอุปราชแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้ ให้เป็นเจ้าชื่อพระศรีสุธรรมราชา ตั้งบ้านหลวงอยู่ริมวัดสุทธาวาส แลที่บ้านสมเด็จพระพันปีหลวงนั้น พระเจ้าอยู่หัวให้สถาปนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ มีพระระเบียงรอบ แลมุมพระระเบียงนั้นกระทำเป็นเมรุทิศ เมรุรายอันรจนา แลกอรปด้วยพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญ แลสร้างกุฎีถวายพระสงฆ์เป็นอันมาก เสร็จแล้วให้ชื่อวัดไชยวัฒนาราม เจ้าอธิการนั้นถวายชื่อพระอชิตเถระ ราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี ทรงพระราโชทิศถวายนิจภัตพระกัลปนาเป็นนิรันดรมิได้ขาด

ปีต่อมา ทรงพระกรุณาให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครหลวง แลปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศ เข้ามาให้ช่างก่อสร้างพระราชวังเป็นที่ประทับร้อน ตำบลริมวัดเทพจันทร์ สำหรับเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิมซึ่งถ่ายมา ให้ชื่อว่าพระนครหลวง แลในปีนั้นก็สถาปนาวัดพระศรีสรรเพชญ์เสร็จ กระทำการฉลองแลมีมหรสพสมโภชเป็นเอนกนุปการ

พระกฤษฎานุภาพพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ดำรงพิภพมณฑลสกลสมาประชาราษฎรเกษมสุขสนุกสบาย เภทภยันตรายโรคาพยาธิก็เบาบาง อีกหมู่เสนางคนิกรโยธาทวยหาญ มั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยพลช้างพลม้า ฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญญาหารก็บริบูรณ์ ทั่วประเทศนิคมชนบท พระยศแผ่ไปนานาประเทศทั้งปวง ครั้งนั้นเรือสำเภาลูกค้าพานิชเข้ามา ค้าขายเป็นอันมาก

ปีต่อมาทรงพระกรุณาสร้างมหาปราสาทองค์หนึ่ง สิบเอ็ดเดือนเสร็จ ให้นามว่า ศรียโสธรมหาพิมานบรรยงค์ แต่พระมหาราชครู แลพระครูปโรหิตพฤฒาจารย์ถวายคำพยากรณ์พระสุบินว่า ควรจะให้ชื่อพระมหาปราสาทว่า จักรวรรดิ์ไพชยนต มหาปราสาท ตามลักษณะเทพสังหรณ์ ให้สุบินนิมิตอันประเสริฐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งให้แปลงชื่อพระมหาปราสาท ตามคำพระมหาราชครูทั้งปวง

ในปีเดียวกัน พระราชเทวีประสูติพระราชบุตรองค์หนึ่ง พระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น สี่กร แล้วกลับเป็นสองกรปกติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแจ้งความ เห็นเป็นมหัศจรรย์ จึงพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร

แลในปีนั้นทรงพระกรุณาให้สร้างพระที่นั่งไอสวรรค์ทิพาอาสน์ บนเกาะบางนางอิน มีพระราชนิเวศปราการ ประกอบพฤกษาชาติร่มรื่น เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ประกาศราชตระกูลสุริยวงศ์องค์นารีทั้งปวง แล้วสร้างพระอารามเคียงพระราชนิเวศถวายเป็นสังฆทาน มีพระเจดีย์วิหารเป็นอาทิ สำหรับพระศาสนาเสร็จบริบูรณ์ แล้วให้ชื่อวัดชุมพลนิกายาราม

ในเดือนยี่ปลายปีนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอพระองค์อิน ซึ่งประสูติต่างพระชนนีกับพระนารายณ์ราชกุมาร ที่เกาะบ้านเลน เมื่อโสกันต์แล้วพระราชทาน พระนามว่า เจ้าฟ้าไชย

ถึงปีถัดมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร ด้วยพระสนมอีกสามพระองค์ พระนาม พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ พระองค์ทอง แล พระอินทราชา เมื่ออาสาฬหะมาสเข้าพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยสนมราชกัญญาออกไปนมัสการ จุดเทียนพรรษาถวายพระพุทธปฏิมากร ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ แลเสด็จประพาสมาถึงหน้าวิหารใหญ่ ทอดพระเนตรเห็น พระอาทิตยวงศ์ ราชบุตรพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งยกออกเสียจากราชสมบัตินั้น ขึ้นนั่งห้อยเท้าอยู่บนหลังกำแพงแก้ว ทรงชี้พระหัตถ์ตรัสว่า พระอาทิตยวงศ์องอาจมิได้ลงจากกำแพงแก้วให้ต่ำ จึ่งลดพระอาทิตยวงศ์ลงจากยศ ให้ไปปลูกเรือนเสาไม้ไผ่สองห้องสองหลัง ริมวัดท่าทราย ให้อยู่กับบ่าวสองคนพอแต่ตักน้ำหุงข้าว สั่งแล้วก็เสด็จเข้าพระราชวัง

ในเดือนสิบสองทรงพระกรุณาตรัสว่า พ้นเทศกาลราษฎรเกี่ยวข้าวแล้ว จะเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท จึงให้ช่างขึ้นไปตกแต่งพระตำหนักใต้ธารทองแดง แลให้ไขน้ำมาแต่ธารทองแดงให้สนุกสนาน แลทางสถลมารคแต่ท่าเจ้าสนุก ขึ้นไปถึงท้ายพิกุลนั้น คิดให้มีน้ำแลศาลาตามระยะทาง ผู้คนจะได้อาศัย เสนาบดีรับพระราชโองการแล้ว ก็ยกช่างไพร่พลขึ้นไปตกแต่งพระตำหนักท่าสนุก แลแบ่งให้ทำศาลาขุดบ่อบางโขมด ตำบลบ่อโศกนั้นขุดบ่อริมต้นโศกจึงให้ชื่อบ่อโศก แล้วให้ขึ้นไปขุดบ่อทำศาลากลางทาง พอพระสงฆ์แลสามเณรเดินขึ้นไปเห็น สามเณรจึงว่าศาลาทั้งห้าห้องนี้ คั่นเสียสักสองห้องพอเป็นฝากรงให้ดี คนจะได้อาศัยนอน ถ้าไม่มีฝาเสือจะกินเสีย ช่างทั้งปวงฟังเจ้าสามเณรว่าก็เห็นชอบด้วย ครั้นทำเสร็จแล้วจึงให้นามว่าศาลาเจ้าเณร

ที่ตำบลหนองคณฑีนั้นมีน้ำอยู่แล้ว ก็ทำศาลาสำหรับอาศัย แลไพร่ซึ่งทำศาลาลงไปตักน้ำกินได้คณฑีใบหนึ่ง จึงให้ชื่อหนองคณฑี แลช่างกองใหญ่ยกขึ้นไปทำพระตำหนักริมลำธารท้ายธารทองแดง คิดทดท่อน้ำปิดเปิดให้ไหลเชี่ยวมาแต่ธารทองแดง อันพระราชนิเวศซึ่งทำนั้น อยู่ในดงพฤกษาชาติร่มรื่นชิดเชื้อ เป็นที่สำราญพระราชหฤทัย แล้วคิดผ่อนทางชลชลาให้ไหลหลั่นลงมายังห้วยศีลาดาษ จึงให้นามว่าพระราชนิเวศธารเกษม แต่ตกแต่งพระราชนิเวศ แลบริเวณพระพุทธบาททั้งปวง สามเดือนก็แล้วเสร็จ

ครั้นถึงเดือนสี่ขึ้นสองค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาแปดบาท สมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทรงบาตรแล้ว ก็เสด็จโดยขบวนเรือพระที่นั่งยาตราไปโดยแนวทางชลมารค จากพระราชวังหลวง ถึงที่ประทับร้อนพระนครหลวงเป็นทางสามร้อยเก้าสิบหกเส้น พักพลเป็นสุขสบายถึงเพลาชายแล้วสองนาฬิกา ก็เสด็จกรีฑาพลาพลนาเวศไปโดยลำดับชลมารค เป็นระยะทางหกร้อยหกสิบเอ็ดเส้น เพลาชายแล้วสี่นาฬิกาถึงท่าเจ้าสนุก ก็เสด็จขึ้นพระราชนิเวศ ประทับแรมอยู่คืนหนึ่ง

ครั้นเพลารุ่งแล้ว สมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงช้างต้นยกพลทวยหาญ พยุหยาตราพรั่งพร้อมโดยขบวนเสด็จ ทั้งรถประเทียบทางนางพระสนมบริพาร ตรงไปยังพระราชนิเวศตำหนักธารเกษม เพลาเช้าเสด็จมานมัสการพระพุทธบาท กระทำการบูชาเป็นมโหฬารยิ่งนักแล้วให้มหรสพสมโภชเป็นกำหนดเจ็ดวัน พระองค์ก็บริจาคราชทรัพย์ให้ทานแก่ยาจกพรรณิพกทุกวันเป็นอันมาก เสด็จนมัสการเช้าเย็นครบเจ็ดวัน แล้วเสด็จประพาสธารโศกธารทองแดง แลห้วยเขาถ้ำธารเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา

อีกสองปีต่อมา ถึงเดือนแปด สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกปฏิบัติพระสงฆ์ ณ วัดชัยวัฒนาราม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระเยาว์ ก็ตามเสด็จไปหลายพระองค์ แต่พระนารายณ์ราชกุมารพระชนม์ได้ห้าพรรษานั้นประชวร พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสว่าป่วยอยู่แล้วอย่าตามไปเลย เพลาเช้านั้นฝนตกพรำอยู่ พระนารายณ์ราชกุมารเสด็จออกไปเล่นที่เกย พระสนมพี่เลี้ยงทูลห้ามก็ไม่ฟัง จะถวายพระกรดก็ห้ามเสีย พระสนมพี่เลี้ยงก็จนใจต้องเล่นอยู่ด้วย พระองค์ยืนยุดเสาหลักชัยอยู่ อสุนีก็ตกต้องหลักชัยแตกตลอดลงไปจนดิน พระนารายณ์ราชกุมารจะเป็นอันตรายก็หามิได้ พระองค์ยืนยุดหลักชัยทรงพระสรวลอยู่ตามประสาพระเยาว์ แต่พระสนมพี่เลี้ยงนั้นสลบไปสิ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ยินเสียงอสุนีนั้นตรงพระราชวัง ก็ตกพระทัยตรัสให้ข้าหลวงเข้าไปดู ก็กลับออกมากราบทูลตามซึ่งมีเหตุนั้น ให้ทรงทราบทุกประการ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนั้น ก็เร่งให้หมอเข้าไปแก้คนทั้งปวง ครั้นปฏิบัติพระสงฆ์แล้วเสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรเห็นประจักษ์ ทรงพระกรุณาตรัสว่าราชบุตรนี้จะมีบุญอยู่ แล้วให้สมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายณ์ราชกุมารสามวัน

อันบุญญาธิการของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ จะมีประการใดบ้าง จำจะต้องพลิกหาในพงศาวดารหน้าถัดไป.

##########




 

Create Date : 06 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 6 กรกฎาคม 2558 5:23:10 น.
Counter : 668 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.