Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ ๒๔ แผ่นดินสิ้นสงบ

พลิกพงศาวดาร

ถึงคราวแผ่นดินสิ้นสงบ

พ.สมานคุรุกรรม

พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชสมบัติอย่างสุขสงบมาได้เจ็ดพรรษากึ่ง ก็ทรงพระประชวรหนักเสด็จสวรรคตลง ในปีฉลู ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย พร้อมด้วยพระสังฆราชคามวาสีอรัญวาสี ปรึกษากันเสร็จแล้วอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ขึ้นผ่านพิภพไอสวรรยาธิปัตไตยถวัลยราช ตามประเพณีสืบไป

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แต่งการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชบิดา โดย ราชประเพณีพระมหากษัตริย์เจ้าแต่ก่อนมา

ถึงปีขาลพระศรีศิลป์ซึ่งบวชอยู่วัดระฆัง รู้ไตรปิฎกสันทัดได้สมณฐานันดร เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา ชำนาญทั้งไตรเพทางคศาสนะ มีศิษย์โยมมาก ทั้งจมื่นศรีสรรักษ์ก็ถวายตัวเป็นบุตรเลี้ยง คนทั้งหลายนับถือมาก จึ่งคิดกันกับจมื่นศรีสรรักษ์แลศิษย์โยมเป็นความลับ ซ่องสุมพรรคพวกได้มากแล้ว ก็ปฏิวัติออกเวลาพลบค่ำ พากันไปซุ่มพลที่ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ครั้นได้อุดมนักขัตฤกษ์ก็ยกพลมาฟันประตูมงคลสุนทรเข้าไปได้ในท้องสนาม

ขุนนางที่นอนเวรเอาความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตกพระทัยตลึงไปเป็นครู่ จึ่งตรัสว่าเวราแล้วก็ตามเถิด แต่อย่าให้ลำบากเลย พระพิมลธรรมเข้าในพระราชวังได้ ให้กุมเอาพระเจ้าแผ่นดินไปพันธนาการไว้ให้มั่นคง รุ่งขึ้นให้นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลร้อยหนึ่ง ให้ธูปเทียนสมาแล้วก็สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ เอาพระศพไปฝังเสีย ณ วัดโคกพระยา พระศรีเสาวภาคอยู่ในราชสมบัติปีหนึ่งกับสองเดือน

สมเด็จพระพิมลธรรมเสด็จขึ้นผ่านภิภพกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐ แลทรงพระกรุณาให้จมื่นศรีสรรักษ์เป็นอุปราช เป็นอยู่ได้เจ็ดวันพระมหาอุปราชก็ประชวรลงได้สามวันก็สวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้า อยู่หัวก็ให้แต่งการ พระราชทานเพลิง ตามอย่างมหาอุปราช

ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลธรรม ฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณห้าร้อย ยกเข้ามาในท้องสนามหลวงคอยจับกุมพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามาแปดรูป ได้พาเอาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปต่อหน้าพวกญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จออกไปแล้ว ญี่ปุ่นก็ร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ต่างก็ทุ่มเถียงกันอยู่เป็นโกลาหล ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ก็ไล่รบญี่ปุ่นล้มตายลงเป็นอันมาก พวกญี่ปุ่นก็แตกกระจายออกจากพระราชวัง ลงสำเภาหนีไป ตั้งแต่นั้นมาสำเภาเมืองญี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยาอีกเลย

พระมหาอำมาตย์ให้ไปเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง เพลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรงพร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ทรงพระมหากรุณาตรัสว่าราชการครั้งนี้พระมหาอำมาตย์มีความชอบมาก ให้เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ให้วิเสทแต่งเครื่องพระกระยาหารถวายพระสงฆ์วัดประดู่โรรงธรรมเป็นนิจภัตอัตรา

เข้าปีเถาะ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ชักพระมงคลบพิตร ซึ่งอยู่ฝ่ายทิศตะวันออกมาไว้ฝ่ายทิศตะวันตก แล้วก็ให้ก่อพระมณฑบใส่

ในปีนั้นมีหนังสือเมืองตะนาวศรีเข้ามาว่า กองทัพพม่ามอญมาล้อมเมือง ขอพระราชทานกองทัพไปช่วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสให้พระยาพิชัยสงคราม เป็นแม่ทัพออกไปถึงเมืองสิงขร นายทัพนายกองบอกเข้ามาว่าเมืองตะนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้หากองทัพกลับ

อีกสามปีต่อมาเป็นปีมะเมีย เมืองสระบุรีบอกมาว่าพรานบุญพบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขาเห็นประหลาด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จโดยเรือพระที่นั่งชัยพยุหยาตรา พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาสามนตราช ดาษดาโดยชลมารคนทีธาร ประทับท่าเรือ รุ่งขึ้นเสด็จทรงช้างพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ พร้อมด้วยคเชนทรเสนางคนิกรเป็นอันมาก ครั้งนั้นยังมิได้มีทางสถลมารค พรานบุญเป็นมัคคุเทศก์นำลัดตัดดงไปจนถึงเชิงเขา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นแท้ว่า เป็นรอยพระพุทธบาทมีลายลักษณะกงจักร ประกอบด้วยอัฐุตระสตะมหามงคลร้อยแปดประการ สมด้วยพระบาลีแล้ว ต้องกับเมืองลังกาบอกเข้ามาว่า กรุงศรีอยุธยามีรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพต ก็ทรงโสมนัสปรีดาปราโมทย์ ถวายทศนัขเหนือพระอุตมางคสิโรตม์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เป็นหลายครา กระทำนมัสการสักการบูชาด้วยธูปเทียนสุคันธรสจะนับมิได้ ท้าวพระยาเสนาบดีกวีราช ปราชญ์บัณฑิตชาติทั้งหลายก็ถวายวันทนาประณามน้อมเกล้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์กระทำสักการบูชา

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอุทิศถวายวนาวาสน์ เป็นบริเวณออกไปโยชน์หนึ่งโดยล้อมรอบ แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่ง ให้ช่างจัดการสถาปนาเป็นมณฑป สวมพระบรมพุทธบาท แลสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ ตึกกว้านกุฎีสงฆ์ เป็นเอนกนุปการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารค กว้างสิบวาตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วถางทุบปราบให้รื่นราบ เป็นถนนหลวงเสด็จ ณ ท่าเรือทรงพระกรุณาสั่งให้ตั้งพระราชนิเวศ ตำหนักฟากตะวันออกให้ชื่อว่า ตำหนักท่าเจ้าสนุก

ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงทรงพระกรุณาเร่งรัด ให้ช่างสร้างพระมณฑปพระพุทธบาท แลอาวาสบริเวณทั้งปวง สี่ปีจึ่งเสร็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทำการฉลอง มีงานมหรสพสมโภช เจ็ดวันแล้วเสด็จคืนกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา

อีกยี่สิบปีต่อมา ทรงพระกรุณาแต่งพระมหาชาติคำหลวง และสร้างพระไตรปิฎกธรรม ไว้สำหรับพระศาสนาจบบริบูรณ์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระเจ้าทรงธรรม มีพระราชบุตรสามองค์ พระองค์ผู้เป็นปฐมนั้นทรงพระนามว่า พระเชษฐาธิราชกุมาร พระองค์ที่สองนั้นทรงพระนาม พระพันปีศรีศิลป์ พระองค์ที่สามนั้นทรงพระนาม พระอาทิตยวงศ์

ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้นหกค่ำ เดือนยี่ ปีนั้นเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร เดือนหนึ่งกับสิบหกวัน ก็เสด็จสวรรคต ทรงอยู่ในราชสมบัติยี่สิบห้าพรรษา จึงเสนาพฤฒามาตย์ปุโรหิตาจารย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นประธาน ปรึกษาพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอองค์ใหญ่ พระเชษฐาธิราช ขึ้นราชาภิเษกครอบครองพระนคร ศรีอยุธยาโดยราชประเพณี

อยู่มาไม่นานนัก พระพันปีศรีศิลป์ผู้เป็นพระอนุชาธิราช ทรงพระโกรธว่ามุขมนตรีมิได้ยกสมบัติให้ ก็พาพรรคพวกของพระองค์ลอบหนีไปยังเมืองเพชรบุรี ซ่องสุมพวกพลจะยกเข้ามา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทราบเหตุตรัสให้แต่งกองทัพออกไป พระพันปีศรีศิลป์มิทันได้จัดแจง กองทัพล้อมจับได้ กุมเอาตัวมาถวาย ทรงพระกรุณาให้ประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แลชาวเมืองเพชรบุรีที่เป็นใจ เข้าด้วยพระพันปีศรีศิลป์นั้น ให้เอาตัวเป็นตะพุ่นหญ้าช้างทั้งสิ้น

อยู่ต่อมาอีกเดือนเศษ มารดาของเจ้าพระยากลาโหม ถึงแก่ชีพิตักสัย แต่งการศพเสร็จแล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ออกไปตั้งการปลงศพ ณ วัดมงกุฎ ข้าราชการทั้งฝ่ายทหาร พลเรือนผู้ใหญ่ผู้น้อย ออกไปช่วยนอนค้างแรมอยู่เป็นอันมาก ฝ่ายข้าหลวงเดิมของพระเจ้าอยู่หัวกราบทูลยุยงเป็นความลับว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากเอาการศพเข้ามาบังไว้ เห็นทีจะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์เป็นมั่นคง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้มีวิจารณ์ให้ถ่องแท้ ก็ตกพระทัย ตรัสให้เหล่าชาวป้อมล้อม พระราชวังขึ้นประจำหน้าที่ แล้วเตรียมทหารไว้เป็นกอง แลมีดำรัสให้ขุนมหามนตรีออกไปหาตัวเจ้าพระยากลาโหมเข้ามา

ขณะนั้นจมื่นสรรเพชญภักดีสอดหนังสือลับออกไปก่อนว่า พระโองการจะให้เข้ามาดูมวยนั้น บัดนี้เตรียมไว้พร้อมอยู่แล้ว เมื่อเจ้าคุณจะเข้ามานั้นให้คาดเชือกเข้ามาทีเดียว ครั้นขุนมหามนตรีออกไปถึง กราบเรียนว่ามีพระโองการให้หา เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์แจ้งการซึ่ง จมื่นสรรเพชญภักดีบอกให้สิ้นอยู่แล้ว จึ่งว่าขึ้นท่ามกลางขุนนางทั้งปวงว่า

“ เราทำราชการกตัญญูแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวงมา ท่านทั้งปวงก็แจ้งอยู่สิ้นแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว ถ้าเรารักซึ่งราชสมบัติ ท่านทั้งหลายเห็นจะพ้นเราเจียวหรือ “

ขุนนางทั้งปวงกราบแล้วจึ่งว่า

“ การทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ฝ่าเท้ากรุณาเจ้าสิ้น ที่จะมีผู้ใดขัดแข็งนั้นข้าพเจ้าทั้งปวงก็ไม่เห็นมีตัวแล้ว “

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงว่า

" ท่านทั้งปวงจงเห็นจริงด้วยเราเถิด เรากตัญญู คิดว่าเป็นลูกเจ้าข้าวแดง จึงเป็นต้นคิดอ่านปรึกษามิให้เสียราชประเพณี ยกราชสมบัติถวายแล้วยังหามีความดีไม่ ฟังแต่คำคนยุยงกลับจะทำร้ายเราผู้มีความชอบต่อแผ่นดินอีกเล่า ท่านทั้งปวงจะทำราชการไปข้างหน้า จงเร่งคิดถึงตัวเถิด "

ขุนนางทั้งนั้นกราบแล้วว่าอันพระกรุณาทั้งนี้ควรนักหนา เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ดูท่วงทีขุนนางทั้งปวง เห็นยังไว้อารมณ์เป็นกลางอยู่มิลงใจเป็นแท้ จึ่งร้องสั่งทะลวงฟันให้กุมเอาตัวขุนมหามนตรีแลบ่าวไพร่ซึ่งพายเรือมานั้นให้ได้สิ้น ทะลวงฟันก็กรูกันจับเอาขุนมหามนตรีแลบ่าวไพร่ไปคุมไว้ ขุนนางทั้งปวงเห็นดั่งนั้นต่างคนตกใจหน้าซีดลงทุกคน

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เห็นดั่งนั้นจึงว่า

" บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินว่าเราทำการประชุมขุนนางพร้อมมูลทั้งนี้ คิดการเป็นกบฏ ก็ท่านทั้งปวงซึ่งมาช่วยโดยสุจริตนั้น จะมิพลอยเป็นกบฏด้วยหรือ "

ขุนนางทั้งปวงพร้อมกันกราบเรียนว่า

" เป็นธรรมดาอยู่แล้ว อุปมาเหมือนหนึ่งนิทาน พระบรมโพธิสัตว์เป็นนายสำเภา คนทั้งหลายโดยสารไปค้า ใช้ใบไปถึงท่ามกลางมหาสมุทรต้องพายุใหญ่ สำเภาจะอับปางแล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึ่งคิดว่า ถ้าจะนิ่งอยู่ดั่งนี้ก็จะพากันตายเสียด้วย สิ้นทั้งสำเภา จึ่งตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะสำเร็จแก่พระบรมโพธิญาณ ขออย่าให้สำเภาอับปางในท้องมหาสมุทรเลย เดชะอานุภาพบารมีบรมโพธิสัตว์สำเภาก็มิได้จลาจล แล่นล่วงถึงประเทศธานีซึ่งจะไปค้านั้น ก็เหมือนการอันเป็นครั้งนี้ ถ้าท้าวพระกรุณานิ่งตาย คนทั้งหลายก็จะพลอยตายด้วย ถ้าท้าวกรุณาคิดรอดจากความตายคนทั้งปวงก็จะรอดด้วย "

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้ฟังขุนนาว่าดั่งนั้น ก็หัวเราะแล้วว่า

" เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง ท่านทั้งปวงจะว่าประการใด "

ขุนนางทั้งปวงกราบแล้วจึ่งว่า

" ถ้าท้าวกรุณาจะทำการใหญ่จริง ข้าพเจ้าทั้งปวงจะขอเอาชีวิตสนองพระคุณ ตายก่อน "

เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เห็นขุนนางปลงใจพร้อมด้วยสุจริต ก็จัดแจงเป็นหมวดเป็นกอง กำหนดกฎหมายกันมั่นคง พร้อมที่จะทำการใหญ่ต่อไป

เมื่อการเป็นดั่งนี้ บัลลังก์ของพระเชษฐาธิราช ก็คงจะต้องสั่นสะเทือน อย่างแน่แท้.

###########




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2558 18:27:04 น.
Counter : 352 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๓ บ้านเมืองสิ้นศึก

พลิกพงศาวดาร

ครั้งนั้นบ้านเมืองสิ้นศึก
พ.สมานคุรุกรรม

กรุงศรีอยุธยาราชธานีของไทยนั้น ได้ตั้งมั่นลงเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ โดยมี สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แห่งราชวงศ์อู่ทอง เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก และได้สืบราชวงศ์ต่อมาอีก สิบเจ็ดรัชกาลจนถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งทรงนำพาประเทศชาติให้พ้นจากการยึดครองของพม่า และครองราชสมบัติอยู่สิบห้าปี ตามพระราชพงศาวดารฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ นั้น สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนหก เพลาชายแล้วสองบาท พระชนมายุได้ห้าสิบพรรษา ศักราช ๙๕๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๓๖

ส่วนประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดพิษ สวรรคตเมื่อ วันจันทร์ เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘ ต่างกัน ๑๒ ปีพอดี และได้ขยายความต่อไปอีกว่า

สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำสงครามกับพม่ามาแต่พระชันษาได้ ๒๐ ปี การสงครามในชั้นต้น เป็นการกู้สยามประเทศให้พ้นจากอำนาจพม่า พยายามรบพุ่งมา ๙ ปี เมืองไทยจึงได้เป็นอิสระภาพสมดังพระราชประสงค์ เมื่อคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชา

การสงครามต่อมาใน ตอนกลาง เป็นการรวบรวมเขตแดนของสยามประเทศ ที่ได้เสียไป กลับมาเป็นของไทยหมดภายในระยะเวลา ๒ ปี การสงครามข้างตอนหลัง ในระยะเวลา ๔ ปี เป็นการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป

รวมเวลาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามมา ๑๖ ปี ด้วยสามารถ พระปรีชากล้าหาญ อันพึงเห็นได้ในเรื่องสงครามทุกคราวมา สยามราชอาณาจักรจึงรุ่งเรืองเดชานุภาพ มีอาณาเขตแผ่ไพศาลเป็นอย่างยิ่งในกาลครั้ง ๑ เพราะเหตุนี้คนทั้งหลายจึงยกย่องพระเกียรติยศ สมเด็จพระนเรศวรว่าวิเศษทั้งที่เป็นนักรบ และที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นับเป็นมหาราชพระองค์หนึ่ง ซึ่งเคยปรากฎมาในโลกนี้ การที่ยกย่องนี้จะได้เป็นแต่ในหมู่ไทยเท่านั้นหามิได้ ถึงในหนังสือพงศาวดารของชาติอื่นเช่น พม่า มอญ เขมร ลานช้างและเชียงใหม่ แม้ที่สุดจนในจดหมายเหตุของจีนและฝรั่ง บรรดาที่กล่าวถึงเรื่องพงศาวดารประเทศทางตะวันออกในสมัยนั้น ก็ย่อมยกย่องสมเด็จพระนเรศวร ว่าเป็น วีรมหาราช อย่างเดียวกัน พระเกียรติยศจึงยังปรากฏอยู่ จนตราบเท่าทุกวันนี้

ในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ได้ดำเนินความต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จกรีธาพลพยุหยกทัพหลวงจากเมืองห้างหลวงคืนมาโดยชลมารควิถี ตั้งแต่ วันพฤหัสบดี ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนหก แลเสด็จถึงกรุงมหานครศรีอยุธยา ในวันพฤหัสบดี ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง เบญจศกนั้น พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติ ในกรุงมหานคร ศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ทรงพระนามพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสรินทรบรมมหาจักรพรรดิ์

พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชโองการตรัสสั่งแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมุขมนตรีทั้งปวง ให้แต่งการพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวงแลแต่งเมรุมาศสูงเส้นสิบเจ็ดวา ประดับด้วยเมรุทิศ เมรุราย ราชวัติฉัตรนาคฉัตรเบญจรงค์ เสร็จแล้วก็อัญเชิญพระบรมศพ เสด็จเหนือกฤษฎาธาร อันประดับด้วยอภิรุมกลิ้งกลดรจนา แลท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายทั้งปวง มาประดับแห่ห้อมล้อมมหากฤษฎาธาร อัญเชิญพระบรมศพเสด็จลิลาโดยรัถยาราชวัตร ไปยังเมรุมาศด้วยบริวาร แลเครื่องสักการะบูชาหนักหนา พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จไปถวายพระเพลิง พระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง ให้นิมนต์พระสงฆ์ สบสังวาสหมื่นหนึ่ง ถวายพระราชทานเครื่องอัฐบริขาร ทักษิณาบูชาพระสงฆ์ทั้งปวงเป็นมโหฬาร

พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงทศพิธราชธรรม แลสถิตใน พุทธัตถจรรยา เสด็จเสวยไอสุรียาธิปไตยบุรีรัตน สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยช้างม้ารี้พลแสนยากร สมณ พราหมณาจารย์จัตุรพรรค ประชาชนคณะสบสมัยประเทศนานา พรรคนิกรสโมสรบรมสุขเกษมเปรมประชาราษฎร เลิศล้นพ้นกว่าโบราณราชประเพณี มีพระราชหฤทัยไกลกรุณาปราณีสัตว โลกากรทั้งหลาย หมายให้นฤทุกข์ปลุกใจราษฎรให้ศานติ เกษมสุขโดยยุติธรรมอันบวรขจร พระเกียรติปรากฏพระยศเซ็งซ่านทั่วทิศานุทิศ

แลท้าวพระยามหากษัตราธิราชเจ้าทั้งหลาย ก็แต่งเครื่องบรรณาการ ให้ทูตานุทูตมาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้ขาด พระยาตองอู แลพระยาล้านช้าง ก็แต่งราชทูต อุปทูต ตรีทูต ถือพระราชสาส์นคุมช้างม้าเครื่องราชบรรณาการ มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ขอพึ่งพระราชสมภารต่อไป ทรงพระกรุณาให้เบิกทูตานุทูตมาถวายบังคมในพระที่นั่งมังคลาภิเษก ตรัสพระราชปฏิสันฐานตามธรรมเนียมแล้วตรัสให้เลี้ยงดูแขกเมือง แลพระราชทานรางวัลโดยขนาด

ในปีนั้นข้าหลวงผู้รั้งเมืองเมาะลำเลิ่ง ได้พระยาพะโร่ แลมอญกบฎทั้งปวงอันอยู่ริมฝั่งสะโตงนั้นมาถวาย แลเมงมอญอันอยู่ในเมืองเมาะลำเลิ่ง เมาะตะมะนั้น ก็ราบคาบไปจนถึงเมือง ตองอู

ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชโองการ ตรัสแก่พระยารัตนบาลให้รจนาพรพุทธปฏิมากรสมาธิ เป็นพระพุทธรูปสนองพระองค์ถึงห้าองค์ องค์หนึ่งบุทองนพคุณ ทรงเครื่องมงกุฎกุณฑลพาหุรัดย่อม ประดับเนาวรัตน์ แลบัลลังก์นั้นบุทองจำหลักประดับเพชรัตน องค์หนึ่งบุทองนพคุณ บัลลังก์นั้นบุทองจำหลัก องค์หนึ่งนั้นเป็นพระพุทธปฏิมานาคาสน์ พระพุทธรูปองค์นั้นรจนาด้วยนาคสวาด แลเครื่องทรงทองจำหลักประดับเนาวรัตน์ แลบัลลังก์นั้นรจนาด้วยนาคสวาด พระพุทธปฏิมากรบุเงินสององค์ ฐานเงินจำหลักสรรพางค์

ถึงเดือนอ้ายขึ้น สิบสามค่ำ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกา ก็มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี ไปรับพระพุทธปฏิมาอันให้สถาปนานั้น แห่โดยขบวนเรือพระที่นั่งอันมโหฬาดิเรกด้วยเรือต้นทั้งปวงไปทางชลมารค แล้วอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรเสด็จทรงพระคชาธาร แห่ไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชญดาราม แล้วให้ตั้งการสมโภชเล่นมหรสพเจ็ดวัน เป็นมโหฬารยิ่งนัก

ปีรุ่งขึ้น ทรงพระกรุณาตั้งพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการ แลส่วนสมพัตสรอากรขนอนตลาด แลพระกัลปนาถวายเป็นนิจภัต แก่พระสงฆ์ราชาคณะคามวาสี อรัญวาสีบริบูรณ์

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชบุตรสองพระองค์ องค์หนึ่งทรงพระนาม เจ้าฟ้าสุทัศน์ พระอนุชาทรงพระนาม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ประชวรพระยอดเสียพระเนตรข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งยกพระราชบุตรผู้พี่ ขึ้นเป็นมหาอุปราชอยู่มาสี่เดือนเศษ พระมหาอุปราชกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอพิจารณาคนออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจักเป็นกบฏหรือ พระมหาอุปราชมีความกลัวสมเด็จพระราชบิดาเป็นกำลัง ออกจากที่เฝ้าเสด็จมาพระราชวังบวรสถานมงคล เพลาค่ำก็เสวยยาพิษถึงสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสโสกาดูรถึงพระราชโอรสเป็นอันมาก แล้วให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างมหาอุปราช

พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยบำเพ็ญทานการกุศลเป็นเอนกนุปการ อันพระเกียรติยศแผ่ไพศาล ไปทุกนานาประเทศธานีน้อยใหญ่ทั้งปวง เกรงพระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก กรุงเทพพระนครศรีอยุธยาครั้งนั้น เกษมสุขสมบูรณ์ยิ่งนัก

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง ในเวลานั้นกรุงศรีอยุธยากำลังมีอำนาจเต็มเปี่ยม อาณาเขตก็กว้างขวางกว่าครั้งใด ๆ ที่ล่วงแล้วมา และเป็นที่เกรงขามของต่างประเทศ ที่ใกล้เคียงโดยรอบ ถึงว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ความยำเกรงของคนทั้งหลายก็ยังมีต่อมา ถึงสมเด็จพระเอกาทศรถ ด้วยพระเกียรติยศปรากฎว่าพระองค์ก็เป็นนักรบ ได้ทำสงคราม เป็นคู่พระราชหฤทัยสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ต้นจนปลาย เพราะฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นผ่านพิภพ จึงไม่มีศึกเสี้ยนศัตรูกำเริบทั้งภายในภายนอก

พิเคราะห์ดูในเวลานั้นเมืองพม่าก็กำลังยับเยิน และแตกกันเป็นหลายก๊กหลายเหล่า ถ้าหากว่าสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงทำสงครามอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรต่อไป ก็เห็นจะตีเอาเมืองพม่าได้ไม่ยากนัก เพราะหัวเมืองมอญ และหัวเมืองไทยใหญ่ก็ได้มาเป็นของไทยมากแล้ว ยังเหลือแต่เขตพม่าเท่านั้น ที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ไม่ทรงพยายามตีเมืองพม่าต่อไป ก็คงเป็นด้วยทรงพิจารณาเห็นเหตุว่า ไทยได้ทำสงครามมาช้านาน ถึงชนะผู้คนก็เปลืองไปมาก ถ้ายังทำสงครามต่อไป ไพร่บ้านพลเมืองก็จะร่อยหรอล้มตายหนักลงไป ความมุ่งหมายที่ทำสงครามก็สำเร็จหมดแล้ว ควรจะหยุดพักการทัพศึก ทำนุบำรุงบ้านเมืองเสียสักที

อีกประการหนึ่งคงจะทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชอาณาเขตก็แผ่ไพศาลมากอยู่แล้ว ถ้ายังจะขยายต่อออกไปการที่จะปกครองเอาไว้ในอำนาจ ก็จะยิ่งยากขึ้นทุกที เพราะเป็นบ้านเมืองของคนต่างชาติต่างภาษา คงจะไม่ราบคาบอยู่ได้เสมอ ก็จะต้องยกกองทัพไปเที่ยวปราบปรามไม่มีที่สุด ที่ไหนจะได้ผ่อนพักทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นสันติสุข คงทรงพระราชดำริเห็นดังนี้ จึงไม่คิดตีเมืองพม่าต่อไป

แม้ว่าพงศาวดารทั้งสองฉบับ จะบันทึกศักราชแตกต่างกันไปถึงหนึ่งรอบนักษัตร แต่ก็ระบุตรงกันว่า พระมหานครศรีอยุธยาในแผ่นดินนี้ บ้านเมืองจึงได้ร่มเย็นเป็นสุขสมบูรณ์อยู่นานหลายปี โดยไม่มีเหตุเพทภัยใดใดเลย.

##########




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2558 9:47:37 น.
Counter : 2296 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๒ สิ้นวีรกษัตริย์

พลิกพงศาวดาร ตอนที่ ๒๒

สิ้นวีรกษัตริย์

พ. สมานคุรุกรรม

สมเด็จพระนเรศวรบพิตรเป็นเจ้า แลสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถ เมื่อเหยียบกรุงหงสาวดีแล้ว ทั้งสองพระองค์จึ่งเสด็จเข้าไปนมัสการ พระพุทธเจ้าพระเมาะตาว ในเมืองหงสาวดี แล้วก็มีพระราชโองการตรัสแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาตองอูแต่งทูตานุทูตถือพระราชสาส์นไปถึงพระนคร ขอเป็นพระราชไมตรีด้วยเรา แลให้สัญญาอาณัติว่าจะยกทัพหลวงมา แลจะช่วยกันรบเอาเมืองหงสาวดี แล้วพระยาตองอูก็มิได้อยู่ท่าทัพหลวง แลยกมาปล้นเอาเมืองหงสาวดีเอง อนึ่งครั้นรู้ว่าเรายกมายังเมืองหงสาวดี พระยาตองอูก็มิได้แต่งทูตานุทูต มาสำหรับการพระราชไมตรี แลหนีไปเมืองตองอูนั้น เห็นว่าพระยาตองอูมิได้ครองโดยสัตยานุสัตย์ ควรเราจะยกทัพหลวงไปหาพระยาตองอูให้ถึงเมืองตองอู ให้รู้การซึ่งพระยาตองอู จะเป็นซึ่งไมตรีด้วยเราหรือไม่

ส่วนพระยาละเคิ่งซึ่งใช้ทูตานุทูต ถือพระราชสาส์นมาถวายบังคม ขอเป็นพระราชไมตรี แลว่าจะยกช้างม้ารี้พลมาช่วยงานพระราชสงคราม แต่เมื่อทัพหลวงเสด็จมาถึงเมือง หงสาวดีครั้งนั้น พระยาละเคิ่งก็มิได้ยกทัพมาเอง ดุจมีพระราชสาส์นมานั้น ใช้แต่ท้าวพระยาให้ยกทัพเรือพลห้าพันมาถึงตำบลตาว แลสั่งท้าวพระยาผู้นั้นให้ยกพลขึ้นเข้าทัพหลวงเสด็จงานพระราชสงคราม เมื่อพระยาพระรามนำมากราบทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการตรัสแก่ ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีทั้งหลายว่า พระยาละเคิ่งให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะยกมาเองช่วยการพระราชสงคราม แลซึ่งพระยาละเคิ่งมิได้ยกทัพมาเองให้แต่ท้าวพระยาถือพลมาเข้าทัพเราครานี้ เราจะเอาชาวละเคิ่งไปโดยเสด็จนั้นดูมิควร จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่พระยาพระราม ให้ห้ามชาวละเคิ่งมิให้โดยเสด็จ แลให้แต่งพระราชทานรางวัลไปแก่ชาวละเคิ่งผู้นั้นโดยบรรดาศักดิ์ แล้วก็ให้คืนไปยังทัพเรือ แลพระบาทสมเด็จบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงตรัสให้พระจันทบุรี แลขุนเพชรภักดี กับขุนหมื่นทั้งหลายอยู่รั้งเมืองหงสาวดี แล้วยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองหงสาวดีไปทางเมืองตองอู

ส่วนพระยาตองอูครั้นไปถึงเมืองตองอู ก็แต่งขุนนางพม่าชื่อมางรัดออง แลคนประมาณสองร้อย ให้ถือหนังสือกับพระธำรงค์เพชรสามยอดสำหรับพระเจ้าหงสาวดีทรง มาถวายเป็นทางพระราชไมตรี แต่บังเอิญมาเจอกับพระมหาเทพซึ่งเป็นทัพหน้าล่วงมาก่อนทัพหลวง มิทันได้พิจารณาว่าเป็นทูต จึงจับตัวมางรัดอองจำขังส่งมาถวายทัพหลวง พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงทรงพระบัญชาว่าพระมหาเทพทำมิชอบ ให้ลงพระอาญาแก่พระมหาเทพ แล้วก็ปล่อยมางรัดอองคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอู ซึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยกทัพหลวงเสด็จมาครานี้ ใช่จะเอาเมืองหงสาวดี แลซึ่งพระยาตองอูให้ราชทูตเอาสาส์นไปเชิญเสด็จมาเมืองหงสาวดี แลพระยาตองอูจะเอาพลมาช่วยแล้วไซร้กลับมิได้อยู่คอยท่าทัพหลวง แลชิงปล้นเอาเมืองหงสาวดีนั้น ได้ช้างดีม้าดีเท่าใด ให้แต่งไปถวายโดยคลองพระราชไมตรี แลทรงพระกรุณาจะเสด็จคืนไปยังพระนคร

พระยาตองอูก็ใช้มางรัดอองให้ออกมากราบทูลพระกรุณาว่า ขอให้ทัพหลวงตั้งอยู่ในที่เสด็จถึงนั้นขออย่าเพ่อยกเข้าไป พระยาตองอูจะแต่งราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการช้างม้า ซึ่งได้มาแต่เมืองหงสาวดีนั้นส่งออกมาถวาย จึ่งพระยารามกราบทูลพระกรุณาว่า ซึ่งพระยาตองอูกราบทูลเชิญทัพหลวงงดอยู่นั้น เหตุว่าพระยาตองอูจะแต่งการป้องกันเมืองยังมิพร้อมสรรพ จึ่งอุบายให้ออกมาห้าม ประสงค์จะแต่งการซึ่งจะรบพุ่งนั้นให้เสร็จสรรพ ขออัญเชิญเสด็จทัพหลวงเข้าไปอย่าให้ทันพระยาตองอูตกแต่งบ้านเมืองให้มั่น

พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการ ตรัสให้ส่งมางรัดอองคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอูว่าถ้ามิได้เสียสัจจะเป็นการพระราชไมตรีไซร้ ให้แต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่ออกมา แต่พระยาตองอูจะได้แต่งท้าวพระยาผู้ใดออกมาหามิได้ ก็ยกทัพหลวงเสด็จเข้าไปถึงเมืองตองอู เมื่อวันจันทร์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนสี่ ปีกุนนั้น พระยาตองอูก็มิได้แต่งให้ออกมาเจรจาความเมืองในทางพระราชไมตรี รุ่งขึ้นวันอังคาร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จไปยืนพระคชาธาร ให้พลทหารเข้าล้อมเมืองตองอู แลตั้งค่ายล้อม รอบทั้งสี่ด้าน หน้าค่ายในด้านทักษิณซึ่งทัพหลวงเสด็จอยู่นั้น เป็นพนักงานพระยาศรีสุพรรณ แลขุนหมื่นนายกองอีกหกนาย ด้านบูรพาเป็นพนักงานพระยาเพชรบูรณ์ หลวงมหาอำมาตย์ธิบดี เป็นนายกอง ด้านอุดรเป็นพนักงานเจ้าพระยาพระพิษณุโลก พระยากำแพงเพชร แลหมื่นภักดีศวรเป็นนายกอง ด้านปราจีนเป็นพนักงานพระยานครราชสีมา ขุนอินทรบาลแสนภูมิโลกาเพชรศวรเป็นนายกอง

ขณะเมื่อพระยาตองอู ยินข่าวว่าทัพหลวงเสด็จไป ก็ให้ย้ายช้างใหญ่ทั้งปวงไปนอกเมืองถึงตำบลแม่ช้างใกล้แดนเมืองอังวะ พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ตรัสใช้ให้ พระมหาเทพเป็นนายกอง แลข้าหลวงทั้งปวงก็ยกไปถึงตำบลแม่ช้าง ได้ช้างพลายพังซึ่งพระยาตองอูให้เอาไปซ่อนไว้นั้นห้าสิบเศษ

ถึงวันเสาร์แรมสิบสามค่ำ พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ตรัสให้พลทหารยกเข้าปีนกำแพงปล้นเอาเมืองตองอู ชาวเมืองก็ป้องกันเมืองเป็นสามารถ แลพลทหารเจ็บป่วยมาก ก็ให้คลายพลคืนออกมาเข้าค่าย แล้วจึ่งตรัสให้แต่งพลไปลาดทุกตำบลทั่วเมืองตองอูจนถึงแดนเมืองอังวะ แลได้เสบียงเป็นอันน้อยนัก ไพร่พลทั้งหลายมิได้อยู่เป็นมั่วมูลในทัพหลวง แลหน้าค่ายล้อมเมืองทั้งปวงนั้น ก็จ่ายยกออกไปลาดหากินทุกตำบล แลไพร่หลวงทั้งหลายขัดเสบียงล้มตายก็มากนัก

ขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ให้พระทูลองอันเป็นราชบุตร ยกทัพช้างม้ารี้พลขึ้นไปตามทัพหลวงถึงเมืองตองอู แต่พระเจ้าเชียงใหม่ติดขัดด้วยพระรามเดโชเจ้าเมืองเชียงรายเชียงแสน พระยาน่าน พระยาฝาง แลท้าวพระยาใหญ่น้อยทั้งปวงอันขึ้นแก่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น ชวนกันคิดร้ายจะรบเอาเมืองเชียงใหม่ จึงมิได้โดยเสด็จ

ฝ่ายเจ้าเมืองแสนหวีถึงแก่กาลพิราลัย หาผู้ที่จะครองเมืองมิได้ จึ่งเสนาบดีแต่งเครื่องราชบรรณาการ มาทูลเกล้าทูลกระม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองตองอู กราบทูลขอเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งได้มาเป็นข้าเฝ้า คืนไปเป็นเจ้าเมืองแสนหวี

ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ เมืองตองอูสามเดือนแล้ว ขาดเสบียงอันจะเลี้ยงไพร่พลทั้งปวง อนึ่งก็จวนเทศกาลฟ้าฝน พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ยกทัพหลวงจากเมืองตองอู มาโดยทางตรอกหม้อ ครั้นถึงตำบลคับแค จึงมีพระราชโองการ อัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเชียงใหม่ เพื่อระงับเหตุทั้งปวง

แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จมาทางสะโตง มายังเมาะลำเลิ่ง ข้าหลวงอันแต่งไว้ให้ซ่องสุมมอญอันกระจัดพลัดพรายทั้งปวง ก็เข้าที่อยู่ภูมิลำเนาในเมืองเมาะลำเลิ่งแลเมาะตะมะได้เป็นอันมาก จึงตรัสให้พระยาทละ อยู่รั้งเมืองเมาะลำเลิ่ง แลเมืองเมาะตะมะนั้น แล้วยกทัพหลวงเสด็จยังพระมหานคร

แลพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จไประงับเหตุทางเมืองเชียงใหม่ได้เรียบร้อย ให้พระยาลาวทั้งหลายปวง กระทำสัตย์ปฏิญาณถือน้ำพระพิพัฒน์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่ ในพระอารามพระมหาธาตุ เมืองลำพูน พระเจ้าเชียงใหม่ก็ถวายสัตย์ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ซึ่งมิได้อาฆาตจองเวร แก่ท้าวพระยาลาวทั้งหลายอันสุจริต แลให้อยู่รักษาเมืองดั่งเก่า บำรุงประชาราษฎรขอบขันฑเสมา โดยยุติธรรมประเพณีให้ถาวรวัฒนาสืบไป

ลุปีมะโรงจัตวาศก เดือนสิบสอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลทั้งปวงได้สรรพ จะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองตองอู ซึ่งมีข่าวมาว่าพระยาอังวะยกมาเอาเมืองนาย แลเมืองแสนหวีอันเป็นข้าขอบขันฑเสมา ครั้นถึงมาฆมาส พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยทางชลมารคเสด็จเข้าพักพล แล้วยกพยุหยาตราจากตำบลป่าโมก เสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช ให้ขุนแผนสท้านฟันไม้ข่มนาม โดยการพระราชพิธีพิชัยสงครามเสร็จ ก็เสด็จออกทัพชัยในตำบลพระล่อ แล้วเสด็จโดยพยุหยาตราโดยสถลมารคแห่โดยขนักซ้ายขวาหน้าหลังแลพลช้างเครื่อง แปดร้อย พลม้าพันห้าร้อย พลโยธาทหารสิบหมื่น

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จพยุหยาตราโดยสถลมารค ไปทางเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ก็เสด็จมาเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แล้วถวายช้างม้าแลเครื่องบรรณาการเสร็จ ก็อัญเชิญพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์ในเมืองเชียงใหม่ แลทัพหลวงตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั้นเดือนหนึ่ง จึ่งยกทัพเสด็จจากเมืองเชียงใหม่ ไปโดยทางเมืองอังวะ พระเจ้าเชียงใหม่แลลูกทั้งสามคนไปโดยเสด็จทัพหลวง

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยกพยุหโยธาทัพ เสด็จไปโดยทางเมืองห้างหลวง พระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ยกทัพเสด็จไปโดยทางเมืองฝาง แลเสด็จถึงเมืองฝางในวันพฤหัสบดี แรมสิบเอ็จค่ำ เดือนห้า ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จถึงเมืองห้างหลวง แลตั้งทัพหลวงอยู่ตำบลทุ่งแก้ แรมทัพในตำบลนั้น ส่วนพระยากำแพงเพชร แลพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลายผู้ทัพหน้าก็ยกช้างม้ารี้พลไปถึงแม่น้ำโขง

ในขณะนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรหนัก ก็ตรัสใช้ข้าหลวงให้ไปกราบทูลพระกรุณาถึงเมืองฝาง พระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จจากเมืองฝางมาเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองห้างหลวง ณ วันเสาร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง เบญจศก อีกสองวันถัดมา สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเสด็จสวรรคต

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนหกเพลาชายแล้วสองบาท พระชนมายุได้ห้าสิบพรรษา ศักราช ๙๕๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๓๖ ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ ส่วนประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเปนบาดพิษ สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๘ ต่างกัน ๑๒ ปีพอดี และได้ขยายความต่อไปอีกว่า

สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำสงครามกับพม่ามาแต่พระชันษาได้ ๒๐ ปี การสงครามในชั้นต้น เป็นการกู้สยามประเทศให้พ้นจากอำนาจพม่า พยายามรบพุ่งมา ๙ ปี เมืองไทยจึงได้เป็นอิสระภาพสมดังพระราชประสงค์ เมื่อคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชา การสงครามต่อมาใน ตอนกลาง เป็นการรวบรวมเขตแดนของสยามประเทศ ที่ได้เสียไป กลับมาเป็นของไทยหมดภายในระยะเวลา ๒ ปี การสงครามข้างตอนหลังในระยะเวลา ๔ ปี เป็นการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป

รวมเวลาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามมา ๑๖ ปี ด้วยสามารถ พระปรีชากล้าหาญ อันพึงเห็นได้ในเรื่องสงครามทุกคราวมา สยามราชอาณาจักรจึงรุ่งเรืองเดชานุภาพ มีอาณาเขตแผ่ไพศาลเป็นอย่างยิ่งในกาลครั้ง ๑ เพราะเหตุนี้คนทั้งหลายจึงยกย่องพระเกียรติยศ สมเด็จพระนเรศวรว่าวิเศษทั้งที่เป็นนักรบ และที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นับเป็นมหาราชพระองค์ ๑ ซึ่งเคยปรากฎมาในโลกนี้ การที่ยกย่องนี้จะได้เป็นแต่ในหมู่ไทยเท่านั้นหามิได้ถึงในหนังสือพงศาวดารของชาติอื่นเช่น พม่า มอญ เขมร ลานช้างและเชียงใหม่ แม้ที่สุดจนในจดหมายเหตุของจีนและฝรั่ง บรรดาที่กล่าวถึงเรื่องพงศาวดารประเทศทางตะวันออกในสมัยนั้น ก็ย่อมยกย่องสมเด็จพระนเรศวร ว่าเป็น วีรมหาราช อย่างเดียวกัน พระเกียรติยศจึงยังปรากฎอยู่ จนทุกวันนี้.

##########




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2558 7:57:55 น.
Counter : 287 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๑ เหยียบเมืองรามัญ

พลิกพงศาวดาร

เหยียบเมืองรามัญ
พ.สมานคุรุกรรม

หลังจากที่ได้จัดการเรื่องกบฏเมืองตะนาวศรีเรียบร้อยแล้ว ถึงปลายปี เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งก็ถือหนังสือมาถึงพระยากาญจนบุรี แจ้งว่าเจ้าเมืองเมาะตะมะจะ ยกทัพมาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง ขอให้กรุงศรีอยุธยายกทัพไปช่วยป้องกันเมืองด้วย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสให้พระยาศรีไสยณรงค์ เจ้าเมืองตะนาวศรีคนใหม่ถือพลสองพัน ยกไปช่วยเมืองเมาะลำเลิ่ง ทางเมืองเมาะตะมะก็กลัวพระเดชเดชานุภาพ จึงมิได้คิดอาฆาตต่อไป

แลในเพลานั้นเองเจ้าฟ้าแสนหวีได้ถึงแก่พิราลัย ราชบุตรสององค์ต่างมารดากัน ก็ทำยุทธนาชิงราชสมบัติแก่กันอยู่ ผู้น้องสู้มิได้กลัวพี่ชายจะฆ่าเสีย จึงพาสมัครพรรคพวกประมาณร้อยเศษ หนีลงมาหาพระยาศรีไสยณรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิ่ง

พระยาศรีไสยณรงค์ก็ส่งตัวมายังกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและทรงเลี้ยงไว้โดยฐานาศักดิ์

ต่อมาถึงปีชวดสัมฤทธิศกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลไว้ตั้งแต่เดือนห้า กะว่าเดือนสิบสองจะยกไปเอาเมืองเมาะตะมะ แลจะเลยไปตีเมืองหงสาวดีให้ได้ พอดีเจ้าเมืองตะนาวศรีแจ้งข่าวจากเมืองเมาะลำเลิ่งว่าซึ่งพระเจ้าแปร ผู้เป็นราชนัดดาเสียทัพไปเมื่อปีมะเมียนั้น พระเจ้า หงสาวดีเอาโทษให้ถอดเสียจากฐานาศักดิ์ ส่วนไพร่พลรามัญที่ไปทัพด้วยนั้นจับได้ให้ใส่เล้าคลอกเสีย ที่หนีรอดแตกฉานซ่านเซ็นไปก็มิได้เข้าเมือง ต่างคุมกันเป็นพวกเป็นเหล่าอยู่ในป่า

ทางหงสาวดีแต่งข้าหลวงออกไปจับก็ต่อรบด้วย แลหัวเมืองทั้งปวงก็เสียใจพากันกระด้างกระเดื่อง เมืองหงสาวดีเองก็เสียแก่มอญซึ่งเป็นกบฏ

พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ทรงทราบดั่งนั้น จึงพระราชทานอาญาสิทธิ์ให้เจ้าพระยาจักรี เป็นนายทัพยกพลหมื่นห้าพัน ช้างเครื่องร้อยหนึ่งม้าสองร้อย ออกไปตั้งมั่นปลูกยุ้งฉางทำไร่นาที่เมืองเมาะลำเลิ่ง คอยท่าทัพหลวง แลให้เจ้าฟ้าแสนหวีไปกับเจ้าพระยาจักรีด้วย แล้วเกณฑ์ทัพเมืองทวายห้าพัน ให้ขึ้นไปตั้งตำบลเกาะพรวก เมืองวังราว ขอบฝั่งทะเลตะวันตก คอยหนุนทัพเจ้าพระยาจักรี ส่วนกองทัพของเมืองตะนาวศรีนั้นเอาไว้ใช้ราชการ แต่ตัวพระยาศรีไสยณรงค์กับพรรคพวกนั้น ให้เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อเจ้าพระยาจักรียกไปถึงเมืองเมาะลำเลิ่งแล้ว ก็ระดมกำลังชาวเมืองแลไพร่พลในกองทัพ ทำไร่ทำนา ต่อเรือรบเรือไล่เป็นอันมาก ฝ่ายเจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองละเคิ่ง เจ้าเมืองขลิก เจ้าเมืองบัวเผื่อน เจ้าเมืองพะสิม เจ้าเมืองตองอู แจ้งข่าวต่างก็เกรงพระเดชเดชานุภาพ จึงแต่งขุนนางให้ถือหนังสือแลเครื่องราชบรรณาการ ลงมา ณ เมืองเมาะลำเลิ่ง เจ้าพระยาจักรีก็ส่งผู้ถือหนังสือแลเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นเข้ามายังกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาเสนาบดีก็กราบทูลเบิกพม่ารามัญ ผู้ถือหนังสือเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในหนังสือ เจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองพะสิม เจ้าเมืองบัวเผื่อน แลเจ้าเมืองขลิก ทั้งสี่นี้มีความว่า จะขอเป็นข้าขัณฑเสมากรุงเทพพระมหานคร ไปตราบเท่ากัลปาวสาน แต่หนังสือเจ้าเมืองตองอู กับเจ้าเมืองละเคิ่งนั้นว่า จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเอาเมืองหงสาวดีเมื่อใด พระยาตองอู พระยาละเคิ่ง ก็จะขอยกพลมาควบทัพโดยเสด็จงานพระราชสงครามด้วย

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้แจ้งในลักษณะอักษรนั้นแล้ว ก็มีพระทัยโสมนัส ตรัสให้พระราชทานสิ่งของแก่เจ้าเมืองทั้งปวงโดยฐานาศักดิ์ แลให้ตอบหนังสือไปแก่ท้าวพระยารามัญทั้งปวง

แต่เมื่อผู้ถือหนังสือกลับไปเมืองตองอูแล้ว พระยาตองอูก็เข้าปรึกษากับ พระมหาเถรเสียมเพรียม คิดกลับใจจะต่อสู้กองทัพกรุงศรีอยุธยา แลถ้าเพลี่ยงพล้ำก็จะเข้ายึดกรุงหงสาวดีเสียเอง แล้วจึงมีหนังสือคาดโทษเจ้าเมืองทั้งหลายที่ได้ยอมอ่อนน้อม ต่อกรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองรามัญเหล่านั้นก็ตกใจกลัวพระยาตองอูซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีไพร่พลมาก จึงพากันเป็นกบฏต่อเจ้าพระยาจักรีซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิ่ง แลตัวเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งก็พาครอบครัวอพยพ หนีออกจากเมืองข้ามไปเมืองเมาะตะมะด้วย

พวกกบฏรามัญก็แต่งกองโจร กองละสองร้อยสามร้อยให้เที่ยวเป็นเสือป่า คอยขัดขวางการสะสมเสบียงของทัพกรุงศรีอยุธยา ถ้าไพร่พลไทยออกเที่ยวหากินแลเกี่ยวข้าว ก็ลอบทำร้ายอยู่เนืองๆ นายทัพนายกองทั้งปวงก็เอาเหตุไปแจ้งแก่เจ้าพระยาจักรี

ครั้นเจ้าพระยาจักรีเห็นมอญกลับเป็นกบฏ ทำการกำเริบหนักขึ้น ก็บอกหนังสือเข้ามากราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ เสนาบดีก็นำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบก็ทรงพระโกรธ ตรัสว่าเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้ใหญ่ ก็เคยทำศึกสงครามมา ยังจะไปตีเอาเมืองเหล่านี้ก็หาได้ตีไม่ เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งก็เข้าสวามิภักดิ์ ขอกองทัพออกไปรักษาเมืองไพร่บ้านพลเมืองก็เป็นปกติอยู่สิ้น

ฝ่ายเมืองเมาะตะมะ เมืองละเคิ่ง เมืองบ้วเผื่อน เมืองพะสิม เมืองขลิก เมืองตองอูเล่าก็อ่อนน้อม ควรหรือให้เป็นได้ถึงเพียงนี้ ประการหนึ่งเมืองเมาะลำเลิ่ง ก็อยู่ฟากตะวันออกเหมือนอยู่ในกำมือ ก็ยังให้เลิกหนีไปได้ ด้วยว่าทำดุจทารกอมมือ ครั้นจะให้ฆ่าเสียก็เสียดายคมหอกดาบ แลให้มีตราตอบคาดโทษออกไปว่า เจ้าพระยาจักรีจะตีเอาเมืองเมาะตะมะได้หรือมิได้ ถ้าเห็นได้ฝ่ายเดียวแล้วให้ตีเอา ถ้าเห็นมิได้ให้รักษาค่ายเมาะลำเลิ่งไว้ให้มั่น ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินถึง จึ่งจะตีเมืองเมาะตะมะทีเดียว

เจ้าพระยาจักรีแจ้งในท้องตรารับสั่งดั่งนั้น ก็กลัวพระราชอาญาเป็นอันมาก แลเร่งรัดให้นายทัพนายกองทำเรือรบเรือไล่เสร็จ แล้วก็ลากลงไว้ในคลองน้ำ แลคิดแต่งกองทัพไปป้องกันให้เกี่ยวข้าวสี่กอง กองละห้าร้อยคอยสกัดตีเหล่ารามัญกบฏทุกวัน พวกมอญเห็นกองทัพไทยมาก ต้านทานมิได้ก็หลบหลีกเข้าไปในป่า นายทัพนายกองเร่งให้ เกี่ยวข้าวเบาแลข้าวหนักในท้องนาแขวงเมืองเมาะลำเลิ่ง ขนข้าวไว้ในฉางได้ประมาณสองพันเกวียน

ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ครั้นให้หนังสือตอบไปยังเมืองเมาะลำเลิ่งแล้ว ก็มีพระราชโองการแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง ให้เตรียมทัพพร้อมเสร็จ ถึงวันเสาร์เดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกาได้มหาอุดมฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ทรงเครื่องอลังการสรรพาภรณ์วิชัยยุทธสรรพเสร็จ เสด็จลงสู่พระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวา อันรจนาด้วยกาญจนมณีรัตนชัชวาลทั้งคู่ดูพันลึก อธึกด้วยเรือจำนำ ท้าวพระยาสามนตราช ฝ่ายทหารพลเรือนเรียงประจำ จับสลากสลับสลอนคับคั่งตั้งโดยขบวนพยุหยาตรา

พระโหราราชครูธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นฆ้องชัยให้ขยายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อันทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระสารีริกบรมธาตุ ถวายพระนามสมญาพระชัยนั้นก่อน แลเรือขบวนหน้าทั้งปวงเดินโดยลำดับ เรือพระ
ที่นั่งแลเรือแห่ซ้ายขวาทั้งปวง เดินโดยเสด็จดาดาษในท้องพระมหานทีธาร ประทับรอนแรมห้าวันก็ถึงเมืองกาญจนบุรี เสด็จยังพลับพลาที่ประทับ พักช้างม้ารี้พลจัดกองทัพสามวัน แลกองทัพหลวงนั้น พลฉกรรจ์ลำเครื่องสิบหมื่น ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย

รุ่งขึ้นสามนาฬิกาหกบาทได้มหาเพชรฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ทรงเครื่องสำหรับพิชัยสงครามเสร็จ สมเด็จพระนเรศวรบพิตรเป็นเจ้า เสด็จทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นพระคชาธาร สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถทรงช้างเจ้าพระยาปราบมหิมาเป็นพระคชาธาร นำเสด็จโดยมารควิถีแถทางทุเรศ ประทับรอนแรมเจ็ดวันจึงบรรลุถึงด่านพระเจดีย์สามองค์ เสด็จไปประทับแรม ตั้งค่ายหลวงตำหนักแม่กษัตริย์ ประทับแรมอยู่อีกสามวัน จึงดำรัสให้เคลื่อนพยุหโยธาทวยหาญเดินโดยสถลมารควิถีประทับรอนแรมอีกหกวัน ก็เสด็จถึงเมืองเมาะลำเลิ่ง

เจ้าพระยาจักรีแลมุขมหาอำมาตย์กวีราชโหราจารย์ แลนายทัพนายกองทั้งปวงเฝ้าพระบาทยุคล เจ้าพระยาจักรีกราบทูลข้อราชการ เสร็จสิ้นทุกประการ ก็เสด็จพักพลอยู่สามวันพอหายเมื่อยล้า

ถึงวันพฤหัสเดือนสามแรมสิบสองค่ำ เพลารุ่งแล้วห้าบาท จึงมีพระราชบริหารสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ ให้พระกาญจนบุรีเป็นยกกระบัตร แลท้าวพระยาหัวเมืองพลอาสาสองหมื่น บรรจุเรือรบเรือไล่ยกพลข้ามไปรบเอาเมืองเมาะตะมะ

ฝ่ายพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ ก็แต่งทัพเรือออกมารบ ก็พ่ายแพ้แก่ทหารกรุงศรีอยุธยา ต้องหนีออกจากเมือง ไพร่พลไทยก็ไล่ซ้ำรุกขึ้นป่ายปีนเอาเมืองเมาะตะมะนั้นได้ ทหารหลวงไล่ฆ่าฟันแทงมอญกบฏล้มตายเป็นอันมาก ตัวเจ้าเมืองขึ้นช้างหนีไปได้ประมาณห้าสิบเส้น ก็ถูกหมื่นจินดาตามจับเอาตัวมาถวาย พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว

ทั้งสองพระองค์ก็ให้ลงพระอาญาแก่พระยาลาว แลไว้แต่ชีวิตเพราะว่าจะเอามาพิจารณาโทษในกรุงพระนคร แล้วทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการตรัสให้ข้ามช้างม้าทั้งปวงไป ตั้งทัพหลวงในเมืองเมาะตะมะ แต่ให้จำเจ้าพระยาจักรีไว้ในเมืองเมาะลำเลิ่ง แลไว้พระยาธนบุรีนอกราชการ แลขุนหมื่นทั้งปวง ให้อยู่รั้งเมืองเษฆมาะลำเลิ่ง กับมีพระราชกำหนดให้ซ่องสุมเอามอญอันซ่านเซ็นเข้าอยู่ในเมืองเมาะลำเลิ่ง แล้วให้พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย และพระยากาญจนบุรี แลขุนหมื่นทั้งหลายอยู่รั้งเมืองเมาะตะมะ

อีกสามวันต่อมาก็ยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองเมาะตะมะ โดยสถลมารคถึงฝั่งแม่น้ำสะโตง แล้วตรัสให้พระมหาเทพเป็นนายกองทัพม้าสองร้อย ให้ยกไปก่อนทัพหลวง แลตรัสให้พระยาเพชรบุรียกช้างม้าแลพลสามพันหนุนไป แล้วจึงยกทัพหลวงข้ามแม่น้ำสะโตงถึงเมืองหงสาวดี แต่เมืองนั้นได้ร้างลงเสียแล้ว เพราะเมื่อพระยาตองอูแจ้งข่าวว่าเสียเมืองเมาะตะมะ ก็ยกพลเข้าเมืองหงสาวดี สั่งให้เผาค่ายเหย้าเรือนทั้งปวงเสียแลพาพระเจ้าหงสาวดีรุดหนีไปเมืองตองอู ก่อนทัพหลวงของกรุงศรีอยุธยาจะยาตรามาถึง

พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์จึงตั้งทัพอยู่ที่ตำบลสวนหลวงในเมืองหงสาวดี

แผ่นดินรามัญอันเป็นข้าศึกสัตรูสำคัญของกรุงศรีอยุธยามาแต่กาลก่อน ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ด้วยประการฉะนี้.

##########




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 4 กรกฎาคม 2558 7:49:57 น.
Counter : 632 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๐ กบฏตะนาวศรี

พลิกพงศาวดาร

กบฏตะนาวศรี
พ.สมานคุรุกรรม

หลังจากเสร็จศึกกรุงกัมพูชาธิบดี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับคืนกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ทรงพระราชทานบำเหน็จรางวัล แม่ทัพนายกองทั้งปวง โดยสมควรแก่ความชอบ

แต่พระยาราชมานูนั้น ให้เป็นที่เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี สมุหพระกลาโหม
พระราชทานพานทองน้ำเต้าทอง เจียดทองซ้ายขวา กระบี่ฝักทองเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก

ถัดจากนั้นอีกสามปี มีใบบอกจากกรมการเมืองกุยบุรีว่า พระยาศรีไสยณรงค์ ซึ่งให้รั้งเมืองตะนาวศรีนั้นเป็นกบฏ เมื่อโกษาธิบดีกราบทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณายังเคลือบแคลงอยู่ จึ่งโปรดให้มีตราออกไปหาตัวพระยาตะนาวศรี ก็มิได้มา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จึ่งให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าเสด็จพระราชดำเนินยกพลสามหมื่น ช้างเครื่องสามร้อย ม้าห้าร้อย สมทบกับหัวเมืองปากใต้ มีเมืองไชยา เมืองชุมพร เมืองคลองวาน เมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพชรบุรี ถึงหกเมืองเป็นคนหมื่นห้าพัน ประชุมทัพที่ตำบลบางสะพาน แลเดินทัพไปทางสิงขร

ฝ่ายพระยาตะนาวศรีรู้ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยกมา ก็เกรงพระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก จะหนีก็ไม่พ้น จะแต่งทัพออกรับก็เหลือกำลัง จนความคิดอยู่แล้วก็นิ่งรักษามั่นไว้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงเมืองตะนาวศรีก็สั่งให้ตั้งค่ายล้อมไว้โดยรอบ แต่ทัพหลวงนั้นตั้งใกล้เมืองห้าสิบเส้น จึงทรงแต่งหนังสือรับสั่งเข้าไปว่า

พระยาตะนาวศรีเป็นข้าหลวงเดิม สัตย์ซื่อมั่นคง ได้ทำราชการโดยเสด็จงานพระราชสงคราม ความชอบหลังมามากมายนัก
จึ่งทรงพระมหากรุณาให้มากินเมืองตะนาวศรีนี้ แลยังหาเสมอความชอบไม่อีก
ด้วยจำเป็นด้วยเหตุว่าเมืองตะนาวศรีนี้เป็นเมืองหน้าศึก ครั้นจะแต่งผู้อื่นมาอยู่มิวางพระทัย จึ่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ ออกมาอยู่ต่างพระเนตรพระกรรณ เนื้อความข้อนี้รู้อยู่แก่ใจ

แลมีข่าวไปว่าพระยาตะนาวศรีคิดกบฏ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เชื่อ จึ่งมีตราออกมาให้หา ก็มิเข้าไปเฝ้า เนื้อความจึงมากขึ้นตรัสให้เราออกมา ก็มีความเมตตาหนักอยู่ พระยาตะนาวศรีผิดแต่ครั้งเดียวดอก ให้ออกมาหาเราเถิด
จะกราบทูลขอโทษไว้ครั้งหนึ่ง ถ้าจะมาก็ให้มาวันนี้ ถ้ามิมา เห็นว่าจะรับทัพเราได้ ก็ให้แต่งป้องกันไว้ให้มั่นคง

พระยาศรีไสยณรงค์ผู้รั้งเมืองตะนาวศรีได้แจ้งหนังสือแล้ว ก็คิดว่าตนได้ทำการล่วงเกินผิดถึงเพียงนี้แล้ว แลซึ่งมีหนังสือรับสั่งมาน่าจะเป็นราชอุบาย ออกไปก็คงตาย ผิดชอบก็จะอยู่สู้ไป ถึงตายก็ให้ปรากฎชื่อไว้ภายหน้าจึงมิได้ออกไปเฝ้า

เพลารุ่งแล้วหนึ่งนาฬิกาพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จกรีธาทัพพลเลียบ ทอดพระเนตรดูท่วงทีซึ่งจะให้พลทหารเข้าปีนเมือง

ฝ่ายพระยาตะนาวศรีออกมายืนถือหอกกั้นสัปทนอยู่บนเชิงเทิน แลเห็นพลสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าดุจสายน้ำอันไหลหลั่ง ถั่งมาเมื่อวสันตฤดู แลได้ยินเสียงปี่ กลองแตรสังข์ก็ตกใจตลึงไป หอกพลัดตกจากมือมิรู้ตัว บ่าวไพร่ทั้งปวงเห็นดังนั้นก็เสียใจ
พูดเล่ากันต่อๆ ไปว่านายเราเห็นจะป้องกันเมืองไว้มิได้ พลทหารทั้งปวงก็ยิ่งครั่นคร้าม พระเดชเดชานุภาพเป็นอันมาก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบดูรอบเมืองตะนาวศรีแล้ว ก็เสด็จกลับมายังค่ายหลวง มีพระราชกำหนดให้นายทัพนายกอง ทำบันไดร้อยอัน ปลายบันไดนั้นให้ผูกพลุเพลิงพะเนียงครบ เพลาตีสิบเอ็ดจะปีนเอาเมืองให้จงได้

ครั้นได้ฤกษ์แล้วสั่งให้ปุโรหิตาจารย์ทั้งหลายประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรีปี่พาทย์ฆ้องชัยให้ฝรั่งแม่นปืนจุดจ่ารงค์คร่ำท้ายที่นั่งสามบอกไล่กันเป็นสำคัญ
นายทัพนายกองได้ยินเสียงปืนใหญ่ ก็ให้ทหารเอาบันไดพาดกำแพงเมืองจุดพลุพะเนียงเป็นโกลาหล

ไพร่พลบนเชิงเทินตกใจจะออกรบพุ่งก็ทนเพลิงมิได้ แลละทิ้งหน้าที่เสีย ฝ่ายทหารอาสาพันหนึ่งก็เข้าเมืองได้

พอเพลารุ่งขึ้นก็คุมเอาตัวพระยาตะนาวศรีพันธนาเข้ามาถวาย ยังค่ายหลวง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวให้ลงพระราชอาญา เฆี่ยนยกหนึ่งสามสิบที แล้วบอกข้อราชการเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรบรมบพิตรเป็นเจ้าแจ้งว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าได้เมืองตะนาวศรี จับได้พระยาศรีไสยณรงค์ดั่งนั้น

ก็ทีพระทัยปรีดาจึงทรงพระมหากรุณาให้มีตราตอบออกมาว่า อย่าให้เข้ามา ณ กรุงเลย ให้ตระเวนแล้วตัดศรีษะเสียบประจานไว้ ณ เมืองตะนาวศรี
อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง

แลให้พระยาราชฤทธานนท์เป็นเจ้าพระยาตะนาวศรีแทน

สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ก็กระทำตามพระราชบัญชาของสมเด็จพระเชษฐาธิราชทุกประการ ครั้นจัดแจงเมืองตะนาวศรี ราบคาบเป็นปกติดีแล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังกรุงเทพพระมหานคร เฝ้าพระบรมเชษฐาธิราชเจ้ากราบทูลเสร็จสิ้นทุกประการ

ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๘๖ มีเนื้อความโดยพิศดาร จึงขอคัดเอามาขยายพระราชพงศาวดาร ดังนี้


............เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองเขมรได้แล้ว ต่อมาในไม่ถึงปีพระยาศรีไสยณรงค์เจ้าเมืองตะนาวศรีก็เป็นกบฏ
ดูเป็นการใหญ่โตถึงสมเด็จพระเอกาทศรถต้องเสด็จยกกองทัพลงไปปราบปราม พิเคราะห์ดูน่าพิศวง
ด้วยพระยาศรีไสยณรงค์ เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงชุบเลี้ยงและเคยรบศัตรู เป็นคู่พระราชหฤทัยมาแต่แรก
ไฉนมาคิดทรยศ เป็นกบฏต่อเจ้านายของตนเอง

อีกประการหนึ่งพระยาศรีไสยณรงค์เป็นแต่เจ้าเมือง ๆ หนึ่ง จะเอากำลังที่ไหนมาต่อสู้กองทัพในกรุงกับหัวเมืองอื่นที่จะยกไปปราบปราม
จะหมายพึ่งต่างประเทศ เมืองตะนาวศรีก็มิได้อยู่ติดต่อกับประเทศไหน

ที่ตั้งแข็งเมืองเป็นกบฏก็เหมือนวางบทโทษประหารชีวิตตนเอง แม้พระยาศรีไสยณรงค์จะสิ้นความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนเรศวร
ก็คงต้องคิดถึงความปลอดภัยของตนเองก่อน ที่ว่าเป็นกบฏขึ้นลอย ๆ จึงน่าสงสัยว่าจะไม่ตรงกับความจริง.........

............พระยาศรีไสยณรงค์เป็นทหารเอกรุ่นแรกของสมเด็จพระนเรศวร คู่กันกับพระยาชัยบูรณ์มาแต่ยังทรงครองพิษณุโลก
เมื่อพระยาชัยบูรณ์เป็นที่พระชัยบุรีและพระยาศรีไสยณรงค์เป็นที่พระศรีถมอรัตน ได้ไปรบชนะเขมรที่เมืองนครราชสีมา ด้วยกันทั้งสองคนครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวร ทรงประกาศอิสรภาพของเมืองไทยแล้ว โปรดให้คุมพลไปขับไล่กองทัพพม่าไปจากเมืองกำแพงเชรด้วยกันทั้งสองคน
ได้รบกับข้าศึกถึงชนช้างมีชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง คงเป็นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ โปรดให้เลื่อนยศพระชัยบุรี เป็นพระยาชัยบูรณ์
และเลื่อนยศพระศรีถมอรัตน เป็นพระยาศรีไสยณรงค์

ต่อมาถึงครั้งสมเด็จพระนเรศวรรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ มีชื่อทหารเอกปรากฎขึ้นอีกคนหนึ่งคือ พระราชมนู ซึ่งคุมกองทัพหน้าในครั้งนั้น
เห็นจะเป็นคนรุ่นหลัง และบางทีจะได้เคยเป็นตัวรองอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาศรีไสยณรงค์มาแต่ก่อน ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวร
ที่ถึงขึ้นชื่อในพงศาวดารจึงมีสามคนด้วยกัน........

...........ครั้นเสร็จสงคราม (ตีเมืองตะนาวศรีแก้ตัว) สมเด็จพระนเรศวรก็เลยทรงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี เพราะได้รักษาเมืองอยู่ก่อนแล้ว
ไม่ใช่ยกความชอบแต่อย่างใด พระยาศรีไสยณรงค์คงจะเสียใจ แต่ยังพอคิดเห็นว่าเป็นพราะตัวมีความผิดอยู่เมื่อแต่ก่อน แต่ต่อมาถึงคราวพูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึกเขมร สมเด็จพระนเรศวร ทรงตั้งพระราชมนู เป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหม คราวนี้พระยาศรีไสยณรงค์เห็นจะเสียใจมาก ถึงเกิดความโทมนัสแรงกล้าสาหัส ด้วยรู้สึกว่าคนรุ่นหลัง ได้เลื่อนยศข้ามหัวขึ้นไปเป็นใหญ่กว่าตน อันได้ทำความดีความชอบมาก่อนช้านาน แต่ก็คงมิได้คิดจะเป็นกบฏ น่าจะเป็นแต่แสดงความโทมนัสออกนอกหน้า ตามประสาคนมุทะลุ

..............กรมการที่ไม่ชอบพระยาศรีไสยณรงค์ หรือที่ตกใจจริง ๆ ลอบเข้าไปบอกเจ้าเมืองกุย เจ้าเมืองจึงมีใบบอกเข้ามากราบทูล
สมเด็จพระนเรศวร ไม่ทรงเชื่อก็เป็นธรรมดา เพราะพระยาศรีไสยณรงค์เป็นข้าหลวงเดิม ทรงชุบเลี้ยงอย่างสนิทสนมมาแต่ก่อน ไม่เห็นว่าจะเป็นกบฏได้
แต่เมื่อถูกฟ้องต้องหาเช่นนั้นก็จำต้องไต่ถาม จึงตรัสสั่งให้มีท้องตราให้หาตัวเข้ามาแก้คดี

ข้างฝ่ายพระยาศรีไสยณรงค์ไม่ได้คาดว่า คำที่ตัวพูดโดยกำลังโทสะ จะรู้เข้าไปถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวร ได้เห็นท้องตราก็ตกใจ เพราะได้พูดเช่นนั้นจริง จะเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรก็เกรงถูกประหารชีวิต จึงมีใบบอกบิดพริ้ว เช่นว่ายังป่วยเป็นต้น โดยหมายว่าจะรอพอให้คลายพระพิโรธแล้ว จึงจะเข้ามาเฝ้า แต่ทำเช่นนั้นกลับเป็นอาการขัดรับสั่ง สมข้อหาว่าเป็นกบฏ........

............สมเด็จพระนเรศวรทรงสิ้นเยื่อใยในข่ายพระกรุณาพระยาศรีไสยณรงค์ เสียแต่เมื่อทรงทราบว่า ตั้งแข็งเมืองเอากับสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จึงตรัสสั่งให้ประหารชีวิตพระยาศรีไสยณรงค์เสียที่เมืองตะนาวศรี อย่าให้พาเข้ามาในกรุง เพื่อมิให้มีโอกาสที่สมเด็จพระเอกาทศรถ จะทูลขอให้ลดหย่อนผ่อนโทษ................

พระยาศรีไสยณรงค์ทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงต้องถึงที่สุดแห่งชีวิตด้วยประการฉะนี้.

##########




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2558    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2558 13:49:35 น.
Counter : 692 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.