Group Blog
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๒๘ ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๒๘ ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง

พ.สมานคุรุกรรม

ครั้นถึงปีระกา มีฝรั่งนายกำปั่นผู้หนึ่งบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจะเอาออกจากอู่ จึงให้ล่ามถามพ่อค้าฝรั่งเศสนั้นว่าจะกระทำอย่างไร จึงจะเอาออกได้ง่าย ฝรั่งผู้นั้นมีปัญญามากชำนาญในการรอกกว้าน จึงให้ล่ามกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะเอากำปั่นออกจากอู่ให้ โดยแต่งการผูกรอกกว้านแลจักร ชักลากกำปั่นออกจากอู่ลงสู่ท่าน้ำได้โดยสะดวก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก แล้วโปรดตั้งให้เป็น หลวงวิชาเยนทร์ พระราชทานที่บ้านเรือนแลเครื่องยศให้อยู่ทำราชการในกรุงนี้ แลหลวงวิชาเยนทร์นั้นก็มีความสวามิภักดิ์อุตสาหะในราชกิจต่าง ๆ มีความชอบมาก จึ่งโปรดให้เลื่อนเป็นพระวิชาเยนทร์ ครั้นนานมากระทำการงานว่ากล่าวได้ราชการมากขึ้น จึงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยา วิชาเยนทร์

อยู่มาวันหนึ่งจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ในเมืองฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชาเยนทร์ก็กราบทูลสรรเสริญสรรพสิ่ง เช่น นาฬิกา ปืนลม ปืนไฟ กล้องส่องทางไกลให้เห็นใกล้ เป็นต้น ทั้งเงินทองก็มีมาก ในพระราชวังของพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น หลอมเงินเป็นท่อนแปดเหลี่ยม ใหญ่ประมาณสามกำ ยาวเจ็ดศอกแปดศอก ประดุจท่อนเสากองอยู่ตามริมถนนเป็นอันมาก กำลังคนแต่สามสิบสี่สิบคนจะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว

ภายในท้องพระโรงนั้นดาษพื้นด้วยศิลามีสีต่าง ๆ จำหลักลาย ฝังด้วยเงินแลทอง แลแก้วต่างสีเป็นลดาวัลย์ แลต้นไม้ดอกไม้ภูเขาแลรูปสัตว์ต่าง ๆ พื้นผนังนั้นก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงาอันวิจิตรพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ แล้วผูกเป็นพู่พวงห้อยย้อย แลแขวนโคมแก้วมีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วแลสีทองก็รุ่งเรืองโอภาสงามยิ่งนัก

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงฟังพระยาวิชาเยนทร์ กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ แล้วก็มิได้ทรงเชื่อ มีพระราชดำริใคร่จะเห็นความจริง จึ่งมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เดิมคือขุนเหล็กว่า

“ เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเป็นนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษ ยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิชาเยนทร์หรือประการใด “

เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่น ซึ่งจะเป็นนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้ เห็นแต่นายปานผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อาจไปสืบข้อราชการ ณ เมืองฝรั่งเศส ดุจกระแสพระราชดำริได้ “

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หา นายปาน เข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า

“ ไอ้ปาน มึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะมีสมดั่งคำพระยาวิชเยนทร์กล่าว หรือจะมิสมประการใด “

นายปานกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศส สืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วก็กราบถวายบังคมลาออกไปจัดแจงการทั้งปวง

นายปานจึงจัดหาพวกฝรั่งเศส เข้ามาเป็นล้าต้าต้นหนคนท้ายและลูกเรือพร้อมเสร็จแล้ว ก็ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชา จนได้อาจารย์คนหนึ่ง ได้เรียนในพระกรรมฐาน ชำนาญญาณกสิน แลรู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยินดีจะไปด้วย

นายปานยินดีนักจึงให้เจ้าพระยา โกษาธิบดี ผู้พี่ชาย พาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา

พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น และแต่งตั้งให้นายปานเป็นราชทูต กับข้าหลวงอื่นเป็นอุปทูตและตรีทูต ให้นำพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ ออกไปจำเริญทางพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศส ตามพระราชประเพณี แล้วพระราชทานรางวัลแลเครื่องยศ แก่
ทูตานุทูตโดยควรแก่ฐานานุศักดิ์

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูตกับอุปทูตแลตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลาพาพรรคพวกบ่าวไพร่ ลงกำปั่นใหญ่ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเล ประมาณสี่เดือนก็บรรลุถึงวังวนใหญ่ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดเหตุเป็นลมพายุใหญ่พัดพากำปั่นไปในกลางวนเวียนอยู่ถึงสามวัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป

แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึงปรึกษาอาจารย์ว่า

“ กำปั่นของเราลงเวียนอยู่ในวนถึงสองสามวันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึงจะรอดพ้นจากความตาย “

อาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตกใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจนได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชาจุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาวห่มขาวเข้านั่งสมาธิ จำเริญพระกรรมฐานทางวาโยกสิณ ชั่วครู่หนึ่งจึงบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้นขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายก็มีความยินดียิ่งนัก

กำปั่นนั้นแล่นต่อไปจนถึงปากน้ำเมืองฝรั่งเศส แจ้งแก่นายด่านแลผู้รักษาเมืองกรมการว่า เป็นกำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุธยา โปรดให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญทางพระราชไมตรีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไปกราบบังคลทูลให้ทราบ

พระเจ้าฝรั่งเศสจึงโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ ลงมารับพระราชสาส์น กับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร ให้พำนักอยู่ ณ ตึกสำหรับรับแขกเมือง แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าที่เสด็จออก ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ

พระเจ้าฝรั่งเศสดำรัสพระราชปฏิสันถาร และให้เลี้ยงทูตานุทูตตามธรรมเนียม กับสั่งให้ล่ามถามทูตถึงทางอันมาในทะเลนั้นสะดวกดี หรือมีเหตุการณ์ประการใดบ้าง

ครั้นได้ทรงทราบว่ากำปั่นตกวนเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึงสามวัน จึงขึ้นพ้นมาได้ ก็ให้สงสัยพระทัยนัก ด้วยว่าแต่ก่อนแม้ว่ากำปั่นลำใดตกลงในวนนั้นแล้ว วนก็จะดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอีก ทูตให้การยืนคำอยู่ก็มิได้ทรงเชื่อ จึงให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือ ต่างก็ให้การสมคำราชทูตทั้งสิ้น ทรงเห็นเป็นมหัศจรรย์นัก จึงให้ซักถามราชทูตว่าคิดอ่านแก้ไขประการใด กำปั่นจึงรอดพ้นจากวนได้

นายปานราชทูตได้กราบทูลว่า

“ ข้าพเจ้าคิดกระทำสัตยาธิฐาน ขอเอาพระกฤษฎานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธ เจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธ์มีแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัจจาข้อนี้เป็นที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดเป็นมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นพ้นจากวนได้ “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูตก็เห็นจริงด้วย พระราชดำริว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญญามากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

อยู่มาวันหนึ่งจึ่งให้หาทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าหน้าพระลาน แล้วให้หาพลทหารฝรั่งแม่นปืนห้าร้อย เข้ามายิงให้แขกเมืองดู ให้แบ่งกันออกเป็นสองพวก พวกละสองร้อยห้าสิบ ยืนเป็นสองแถว ยิงปืนให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนแห่งกันและกันทั้งสองฝ่าย มิได้พลาดผิดแต่สักครั้ง แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนดังนี้พระนครศรีอยุธยามีหรือไม่

นายปานราชทูตให้ล่ามกราบทูลว่า ทหารแม่นปืนอย่างนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามิได้นับถือใช้สอย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เคืองพระทัย จึงให้ซักถามทูตว่าพระเจ้ากรุงไทยนับถือทหารฝีมือประการใดเล่า ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระเจ้ากรุงไทยทรงนับถือใช้สอยทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้ จะยิงใกล้แลไกลก็มิได้ถูกต้องกายทหาร บางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ลอบตัดเอาศรีษะนายทัพนายกองพวกข้าศึกมาถวายได้ ทหารบางพวกคงทนอาวุธต่าง ๆ จะยิงฟันแทงประการใดมิเข้า แลทหารมีวิชาอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงใช้สอยสำหรับพระนคร “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมิได้ทรงเชื่อ ตรัสว่าราชทูตไทยเจรจาอ้างอวดเกินหนัก จึ่งสั่งให้ซักถามว่า

“ ทหารไทยซึ่งมีวิชาเหมือนว่านั้น มีมาในกำปั่นบ้างหรือไม่ จักสำแดงถวายจะได้หรือมิได้ “

ราชทูตได้เห็นวิชาของอาจารย์มาแล้ว จึงให้ทูลว่าทหารที่เกณฑ์มาสำหรับกำปั่นนี้ เป็นทหารกองนอกมีวิชาแต่อย่างกลาง จะสำแดงถวายให้ปรากฎก็ได้ จึงสั่งให้ถามว่าจะสำแดงได้อย่างไร ราชทูตให้ทูลว่า

“ ขอรับพระราชทานให้ทหารที่แม่นปืนทั้งห้าร้อยนี้ จงระดมยิงเอาทหารของข้าพระพุทธเจ้าโดยไกลและใกล้ ทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนเสียทั้งสิ้น มิให้ตกต้องกาย “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังเกรงพลทหารฝรั่งจะยิงทหารไทยตาย จะเสียทางพระราชไมตรีไป จึงสั่งห้ามการนั้นเสีย ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ทหารข้าพระพุทธเจ้ามีวิชาอาจจะห้ามได้ ซึ่งกระสุนปืนมิให้ต้องกายได้เป็นแท้ จะเป็นอันตรายนั้นหามิได้ เวลาพรุ่งนี้ขอได้ตั้งเบญจาสามชั้น ในหน้าพระลาน ให้ดาดเพดานผ้าขาว แลปักราชวัตรฉัตรธงล้อมรอบ แล้วให้ตั้งเครื่องโภชนาหาร มัจฉะมังสาสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดูทหารข้าพระพุทธเจ้า จะสำแดงวิชาให้ปรากฎเฉพาะหน้าพระที่นั่ง “

แล้วนายปานราชทูตกรุงศรีอยุธยา ก็ถวายบังคมลาออกมาสู่ที่พำนัก พระเจ้าฝรั่งเศสก็รับสั่งให้จัดแจงการทั้งปวงพร้อม ตามคำราชทูตทุกประการ

รอเวลาที่ทหารไทยจักได้สำแดงวิชา ในวันรุ่งขึ้น.

############



ความคิดเห็นที่ 2


เรื่องโกษาปานไปฝรั่งเศสในพงศาวดารไทยมีความน่าเชื่อถือต่ำครับเพราะเพิ่งมีปรากฏครั้งแรกเป็นความที่ถูกเขียนแทรกในพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนพงศาวดารที่เก่ากว่านั้นไม่มีกล่าวถึงครับ และเนื้อหาหลายเรื่องก็ไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยของทั้งไทยและฝรั่งเศสครับ

เชื่อว่าเอกสารเกี่ยวกับการส่งทูตไปฝรั่งเศสของไทยที่มีความค่อนข้างละเอียดครบถ้วนในสมัยกรุงศรีอยุทธยาคงมีอยู่ แต่ว่ามอดไหม้เป็นผงไปหมดตอนเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้ประวัติศาสตร์ขาดวิ่นมาแต่นั้น ต่อมามีการชำระพงศาวดารขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ฉบับที่มีความตั้งแต่สถาปนากรุงจนเสียกรุงครั้งที่ ๒ ที่เก่าที่สุดที่ค้นพบคือพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ชำระในจ.ศ.๑๑๕๗(พ.ศ.๒๒๓๘) สมัยรัชกาลที่ ๑

พงศาวดารฉบับนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกรัชกาลที่ ๑ ทรงชำระด้วยพระองค์เอง เข้าใจว่าเป็นการอิงจากเอกสารเก่าที่เหลืออยู่หรืออาจมีการชำระมาก่อนหน้า ระบุเหตุการณ์ตั้งแต่สถาปนากรุงศรีอยุทธยา มาจบลงใน จ.ศ.๑๐๖๐(พ.ศ.๒๒๔๑) สมัยพระเจ้าเสือ(ศักราชผิด)

ส่วนที่สองชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพิพิธพิชัย โดยชำระตั้งแต่ปลายรกาลสมเด็จพระนารายณ์ใหม่จนถึงเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยมีข้อความในบานแพนกระบุว่า 'เพียงนี้เรื่องพระเพทราชากับพระเจ้าเสือทำไว้แต่ก่อน บัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาพิพิธพิชัยกระทำเรื่องพระนารายณ์เป็นเจ้า กับพระเพทราชาพระเจ้าเสือ พระบรมโกศ พระเจ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ทำศักราชถัดกันไป'

แต่ชำระมา เมื่อปัจจุบันมาสอบกับหลักฐานร่วมสมัยหลายเรื่องก็ไม่ตรง รวมถึงศักราชด้วย(มีพงศาวดารฉบับความเก่าสมัยธนบุรีเหลือบางส่วน ยังคงมีศักราชถูกอยู่ แต่พอชำระใหม่กลับผิดไปเป็นรอบ ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด)

ในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ส่วนแรก เขียนต่อเนื่องมาถึงสมัยพระนารายณ์ตอนพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)ไปตีเมืองไทรโยค แล้วมีข้อความระบุต่อจากนั้นว่า 'ยังขาดอยู่ ๒ สมุด แต่ศักราช ๑๐๓๐ เศษ' ซึ่งก็คือพงศาวดารหายไป ๒ เล่ม ข้อความที่ปรากฏต่อมาคือสมเด็จพระนารายณ์ก็สวรรคตแล้ว ทำให้ประวัติศาสตร์ตอนนี้ขาดตอนไป

พงศาวดารฉบับที่เก่าแก่ลำดับถัดมาคือพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ซึ่งก็ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยรัชกาลที่ ๒ ทรงทูลเกล้าถวาย พงศาวดารฉบับนี้มีการรวมเนื้อหาที่เคยแยกเป็น ๒ ส่วนของฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม) ให้ต่อเนื่องไป แล้วมีการเพิ่มเติมเรื่องราวต่างๆเข้ามามาก และในส่วน ๒ เล่มที่ขาดไปก็มีการเพิ่มเรื่องราวเข้ามาเช่นกัน เรื่องของโกษาปานก็ถูกเพิ่มมาในตอนนี้เอง เนื่องจากชำระโดยการลอกของเก่าๆมาทำให้เนื้อหาในพงศาวดารฉบับต่อๆมาไม่ค่อยต่างจากฉบับนี้มากนัก

แต่เรื่องราวที่ถูกเพิ่มมานั้นเนื้อหานั้นเมื่อเทียบกับพงศาวดารเก่าที่มีอยู่ก่อนเนื้อความนั้นผิดแผกไปมาก ส่วนใหญ่ไม่มีการระบุศักราช เนื้อหามีการเพิ่มประวัติของปัจจเจกบุคคลมามากทั้งพระเจ้าเสือ พระยาวิไชเยนทร์(คอนสแตนซ์ ฟอลคอน) โกษาเหล็ก โกษาปานไปฝรั่งเศสซึ่งผิดกับคติการเขียนพงศาวดารเดิมซึ่งเขียนเรื่องพระมหากษัตริย์หรือเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง เนื้อหาหลายเรื่องดูเหมือนเรื่องเล่า หลายเรื่องดูเหนือจริงและไม่น่าเชื่อถือเช่น พระยาช้างที่รู้ภาษามนุษย์ พระยาสีหราชเดโชหายตัวไล่ฆ่าพม่า และเรื่องของโกษาปานที่ความพิสดารมาก ซึ่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์ไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้ตรวจพิเคราะห์ดูในหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับพระราชหัตถเลขา เห็นว่าเรื่องพระราชพงศาวดารที่ได้แต่งในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จะมาจบลงเพียงกองทัพเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) ชนะพม่าที่เมืองไทรโยคแล้วกลับมาพระนคร ความต่อนั้นที่กล่าวขึ้นเรื่องวิชเยนทร์ดูต่อไม่สนิท และข้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ต่อนั้นมา ก็อยู่ข้างจะคลาดเคลื่อน วันคืนก็ไม่ใคร่มี ดูเป็นแต่เอาเรื่องที่เขาเล่ามาเรียงลง เช่น เรื่องเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เรื่องหลวงสรศักดิ์ ตลอดจนเรื่องเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ไปเมืองฝรั่งเศส เรื่องราวแม้เท่าที่เรารู้ในเวลานี้ยังถ้วนถี่ถูกต้องกว่าที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงเห็นว่าจะเป็นผู้ที่เกิดทีหลังแต่งหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนั้นเป็นแน่ จึงเลยผิดถึงปีสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตได้เป็น ๖ ปี"


Voyage des ambassadeurs de Siam en France โดย Jean Donneau de Visé
พิมพ์ใน ค.ศ.๑๖๘๖ ปีเดียวกับตอนคณะทูตกลับอยุทธยา

เรื่องพิสดารก็เช่น เปลี่ยนการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกลายเป็นจัดแจงเดินทางหาเรือกันไปเองเพื่อดูว่าที่ฟอลคอนพูดเป็นความจริง โกษาเหล็กเองก็ตายไปก่อนหน้าแล้ว เรือถูกพายุจมเหลือลำเดียว ทั้งที่ๆหลักฐานร่วมสมัยของไทยและฝรั่งเศสระบุว่ามีพายุแต่ไม่มีเรือจม เรื่องของนักเลงสุราช่วยให้พ้นจากพายุก็ไม่มีระบุในนิราศ 'ตนทางฝรงงเสษ' ซึ่งแต่งโดยกวีที่เดินทางไปด้วยได้บรรยายช่วงพายุอย่างละเอียด แต่ไม่มีปรากฏว่าได้ทำพิธีอะไร(มีแต่กวีอ้อนวอนเทวดาดาวนพเคราะห์ พระรัตนตรัย) คณะทูตเดินทางด้วยเรือไม่ใช่รถม้าตามหลักฐานร่วมสมัย(การจัดขบวนเรือมาแห่รับพระราชสาส์นเป็นธรรมเนียมของไทย) และเรื่องเอาอาจารย์นักเลงสุราไปโชว์อาคมที่ฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขัดต่อหลักฐานร่วมสมัยจำนวนมากอย่างจดหมายเหตุแบบวันต่อวันว่าคณะทูตทำอะไรที่ไหนบ้างและได้ตีพิมพ์ที่ฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ.๑๖๘๖(พ.ศ.๒๒๒๙) ซึ่งเป็นปีที่คณะทูตเดินทางกลับอยุทธยา

นอกจากนี้บันทึกของโกษาปานที่เหลืออยู่ก็แสดงให้เห็นว่าท่านจดทุกสิ่งตามท่านเห็นอย่างละเอียดตามความเป็นจริง ไม่มีข้อความใดที่พิสดาร บันทึกโกษาปานถูกเก็บอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามาตลอด ยังมีหลักฐานฝรั่งเศสระบุว่าเจ้าศรีสังข์โอรสเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเคยเอามาอ่าน แต่ก็คงหายไปแล้วตอนเสียกรุง ทำให้เกิดเรื่องพิสดารเหนือจริงที่ผ่านการเล่าแบบปากต่อปากจนเนื้อความฟั่นเฝือไปหมดครับ


เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ผู้แต่งตำรา 'ดรุณศึกษา'

เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้แปลจดหมายเหตุเรื่องคณะทูตไทยที่ไปฝรั่งเศส(Voyage des ambassadeurs de Siam en France)ของฌ็อง ด็องโน เดอ วีเซ(Jean Donneau de Visé)เป็นภาษาไทยในชื่อ 'โกศาปานไปฝรั่งเศส' ก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องโกษาปานให้อาจารย์โชว์อาคมในพงศาวดารของไทยไว้ว่า

"โท่ ช่างเขียนเล่นให้คนเซอะหลงเชื่อได้ ถ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังอยู่และทรงทราบเรื่องนี้คงทรงพระศรวลก๊ากใหญ่เป็นแน่ เพราะเป็นเรื่องน่าหัวเราะมิใช่น้อย แต่นึกไปนึกมาการที่จับปดเล่นในเรื่องพงศาวดารได้ถึงเพียงนี้ดูเป็นที่น่าสลดใจนัก เพราะทำให้นักเรียนเสื่อมศรัทธา คลายความเลื่อมใสในคำให้การแห่งพงศาวดาร ด้วยว่าเมื่อตนกำลังอ่านพงศาวดารนั้น ใช่จะมีพระครูยืนกำกับคอยตักเตือนอยู่เสมอว่า ข้อนี้จริง เชื่อได้ ข้อนี้เขียนเล่น ข้ามไปเถอะ

จริงอยู่การเขียนพงศาวดารเป็นของยาก เพราะบางข้อจับความจริงไม่ค่อยจะได้ แต่สิ่งที่รู้จริงๆ ทำไมยังเปลี่ยนรูปให้เป็นอื่นไปได้เล่า? ไม่มีหิริโอตตัปปะแลหรือ? ทุกวันนี้ลวงกันยากกว่าก่อนหน่อย แต่กระนั้นก็ยังต้องระวังเมื่ออ่านเหมือนกัน เพราะยังอาจพบคนที่เขียนลวงให้ผู้ไม่รู้เท่าเชื่อถืออยู่บ้าง เช่น ข้อความใดเกี่ยวข้องกับผู้ที่ตนชอบ ข้อความเรื่องนั้นอาจกลายเป็นเรื่องงามไปหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้อื่นซึ่งตนไม่สู้จะชอบ ความดีของเขาอาจศูนย์หายไปหมดไม่ปรากฎให้คนเห็น หรือว่ากล่าวบ้างแต่พอสังเขป เพื่อกันมิให้มีข้อครหาว่าแกล้งปิดบังเท่านั้น ทุกวันนี้การที่จะปั้นลมปั้นน้ำให้เป็นตัวเหมือนสมัยก่อนค่อนข้างยากๆ อยู่ เพราะนักรู้ออกจะหนาแผ่นดินอยู่แล้ว แต่พิเคราะห์ดูอาการพวกนักเขียนชะนิดนั้น หากว่าโอกาสให้ดูเหมือนคนจำพวกนี้ จะยังไม่สิ้นความพยายามที่จะลวงให้ผู้อื่นซึ่งไม่รู้เท่า หลงเข้าใจความผิดๆ ถูกๆ อยู่เสมอ"


จิตร ภูมิศักดิ์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ตัวพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาเองในตอนกลาง ๆ ก็มีเรื่องอภินิหารพิลึกกึกกือเมื่อคราวโกษาปานไปฝรั่งเศสอยู่ทั้งท่อน. ซึ่งเป็นการจดด้วยความอัศจรรย์ที่คนไทยไปไกลถึงเมืองฝรั่งเศสได้ มากกว่าจะเป็นบันทึกเรื่องการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองประเทศ, จนนักศึกษาทางการทูตบางท่านถึงกับกล่าวว่า เมื่อเทียบกับจดหมายเหตุและเอกสารทางฝรั่งเศสแล้ว พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนนี้นับว่าจดอย่างน่าขายหน้าเป็นที่สุด ! แต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิได้ทำให้พงศาวดารทั้งเล่มสูญค่าไปทั้งหมด เพราะตอนที่จดจากความจริงตามลำดับยุคสมัยลงมาก็ยังมีเป็นส่วนมากของพงศาวดารนั้นอยู่, อาศัยแต่ว่าเราต้องศึกษาโดยยึดพื้นฐาทางสังคมไว้ให้มั่นคงแลัวสอบทานกับหลักฐานอื่น ๆ ให้รอบด้านโดยระมัดระวังเท่านั้น."
แก้ไขข้อความเมื่อ วันพฤหัส เวลา 21:11 น.
ตอบกลับ
0 1
ศรีสรรเพชญ์
วันพฤหัส เวลา 17:24 น.
เจียวต้าย ถูกใจ
∨ดู 2 ความเห็นย่อย ∨

ความคิดเห็นที่ 3
ส่วนหนึ่งที่ผิดความจริงไปมากคือให้ทหารฝรั่งเศสยิงกรอกเข้าไปในลำกล้อง สมัย Louise XIV นั้นปืนไฟของฝรั่งเศสไม่ได้มีความแม่นยำอะไรมากไปกว่าปืนไฟของอยุธยาสักเท่าไรเลย อีกกว่าร้อยปีต่อมาช่วงสงครามประกาศอิสระของอเมริกาปืนไฟก็ยังหาความแม่นยำได้น้อยมาก แม้จะใช้การตั้งแถวยิงก็ยังหวังผลอะไรได้ไม่มาก ไม่ต้องพูดถึงการยิงกรอกเข้าไปในลำกล้องเลย
ตอบกลับ
0 1
zodiac28
วันพฤหัส เวลา 22:49 น.
เจียวต้าย ถูกใจ

ความคิดเห็นที่ 3-1
ถ้าเป็นตำนวนก็ว่าไป แต่นี่เป็นพงศาวดารจึงไม่ควรมีเรื่องเช่นนี้ ผมเห็นด้วยครับ.
ตอบกลับ
0 0
เจียวต้าย
1 นาทีที่แล้ว



Create Date : 09 กรกฎาคม 2558
Last Update : 12 กรกฎาคม 2558 5:49:33 น. 0 comments
Counter : 1462 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.