Group Blog
 
All Blogs
 
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๖) สามก๊กฉบับลิ่วล้อ

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๖)

สามก๊กฉบับลิ่วล้อ

ในอาณาบริเวณที่เรียกกันว่า สวนอ้อย ที่เป็นชุมชนใหญ่ ตรงข้ามวขิร พยาบาล ซึ่งได้ขยายขึ้นเป็น วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ และในปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย ไปแล้วนั้น มีสมาคมเกี่ยวกับสื่อมวลชนตั้งอยู่สองราย คือ สมาคมนักหนังสือพิมพ์ และพ่วงอะไรต่ออะไรอีกมาก อยู่ริมถนนสามเสน กับ สมาคมหนังสือพิมพ์ อยู่มุมถนนราชวิถีตัดกับถนนราชสีมา

เราเป็นคนเขียนหนังสือมาหลายสิบปี ก็ไม่มีโอกาสได้เกี่ยวข้องกับสองสมาคมนี้เลย จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้จัดพิมพ์นิยายอิงพงศาวดาร ฉบับของ “เล่าเซี่ยงชุน” ที่เรียกว่า สามก๊กฉบับลิ่วล้อ พอออกวางตลาดเขาก็เชิญให้ไปสมภาษณ์ ที่สมาคมหนังสือพิมพ์ เป็นการประชาสัมพันธ์หนังสือของเรา

แม้จะไม่ชอบการที่ต้องพูดอะไรกับบุคคลมาก ๆ นอกจากเวลาเมาเท่านั้น โดยเฉพาะการตอบคำถามโดยปฏิภาณ เพราะเป็นคนคิดช้า และเป็นคนขี้ลืมโดยสันดาน จึงขอให้เขาบอกหัวข้อที่จะสัมภาษณ์มา แล้วเราก็เขียนตอบไป แต่เขาก็เชิญไปปรากฏตัวจนได้ เพราะอยู่ใกล้หลังบ้านนิดเดียวเอง

รายการนั้นจะผ่านไปอย่างไรก็จำไม่ได้ เพราะตื่นเต้นมาก ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้เห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ของผู้ที่เขาสัมภาษณ์ จึงรู้ว่าได้พูดอะไรไปบ้าง

จาก หนังสือพิมพ์ มติชน ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๗๕๗๔ วันพฤหัสบดีที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑

สามก๊กฉบับลิ่วล้อ วรรณกรรมจีนที่มีชื่อเสียงแพร่ไปทั่วโลก ๓ ฉบับ ที่หากเป็นนักอ่านแล้วไม่ยอมพลาดเด็ดขาดนั้น นอกจาก วีรบุรุษเขาเหลียงซาน กับ ความฝันในหอแดง แล้ว สำหรับคนไทยก็รู้จักแต่เพียง สามก๊ก มาก่อนเท่านั้น

จากฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ที่เรียนมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บัดนี้มีแทบจะนับกันไม่ถ้วน เมื่อภูมิรู้จากการศึกษาของผู้คนมากขึ้น การถ่ายทอดใหม่จึงเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก นอกเหนือการแปลใหม่ ก็ยังมีการวิเคราะห์วิจารณ์เกิดขึ้น เช่น ชุดผ่าหัวใจหรือชำแหละคนนั้นคนนี้ ของ เล่าชวนหัว เป็นต้น

และเมื่อมี สามก๊กฉบับนายทุน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ สามก๊กฉบับวณิพก ของ ยาขอบ ที่เขียนขึ้นก่อนแล้ว วันดีคืนดีมี สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ของ เล่าเซี่ยงชุน ออกมาวางแผงยั่วสายตานักอ่าน ก็ย่อมไม่น่าประหลาดใจ

วรรณกรรมที่เสมือนขุมทรัพย์สำคัญแหล่งนี้ มีสมบัติปัญญาให้ขุดได้อีกไม่รู้สิ้น เมื่อเขียนกันได้ถึงตัวละครเอก ๆ ไม่ว่า เล่าปี่ หรือ กวนอู หรือ เตียวหุย หรือ โจโฉ หรือ ขงเบ้ง หรือ ลิโป้ กันชนิดจำชื่อกันได้เป็นรุ่น ๆ แล้ว ก็ย่อมถึงวันของบรรดาผู้มีความรู้ความสามารถ แต่ไร้ตำแหน่งใหญ่โตบ้าง และโดยผู้มีความสามารถ ซึ่งไร้ตำแหน่งเหล่านี้เอง ที่หนุนช่วยให้บรรดาตัวละครเอกข้างต้น สัมฤทธิ์ผลจากความคิดที่วาง ๆ แผนกันไว้

สามก๊กฉบับนี้สำหรับนักอ่านทั้งหลาย ที่ผ่านฉบับอื่น ๆ มาบ้าง พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง รีบ ๆ ไปหาได้.

จาก หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๓๘๓๒ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒

หนังสือสามก๊กในประเทศไทยที่คนรู้จักกันดี อาทิ ฉบับวณิพก ของ ยาขอบ และ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ของ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ทั้งสองฉบับมีลักษณะแตกต่างกันออกไป และได้รับกสารกล่าวขาน ได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างกว้างขวาง

อยู่ ๆ ก็มีฉบับใหม่ปรากฏนามว่า สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ผลงานของ เล่าเซี่ยงชุน ชื่อหากฟังเฉพาะเสียงที่เปล่งออกมา ช่างน่ากระดกดื่ม และช่างยั่วน้ำลายคอทองแดง งานเปิดตัวจัดขึ้นที่ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มี อาทร เตชะธาดา เลือดใหม่ของ ประพันธ์สาส์น ผู้จัดพิมพ์หนังสือ เป็นแม่งาน ลักษณะการจัดเป็นงาน เล็ก ๆ คุยกันฉันท์คนวรรณกรรม มี ฉันทลักษ์ รักษาอยู่ เป็นผู้ซักถาม เล่าเซี่ยงชุน เกี่ยวกับประวัติคนเขียน และความเป็นมาของหนังสือ

นามปากกา เล่าเซี่ยงชุน มาจากเหล้ายี่ห้อหนึ่ง เป็นที่นิยมกระดกดื่มของคอทองแดงผู้ยากไร้ ซึ่งตอนหนุ่ม ๆ หลงรสชาติอยู่ เลยนำมาใช้เป็นนามปากกา

ความเป็นมาของ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ เล่าเซี่ยงชุน บอกว่าเป็นคนหลงรสวรรณคดีไทยมาตั้งแต่เด็ก อ่านมาทั้ง ผู้ชนะสิบทิศ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน แต่เล่มที่ชอบมากที่สุด และอ่านมาประมาณ ๓๐ เที่ยวคือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

แรกรับราชการทหารก็เป็นลูกน้อง เรียกอีกอย่างว่าระดับ ลิ่วล้อนั่นเอง

“ หากเป็นผู้มีบทบาทผลักดันพลิกผันสถานการณ์ในสมรภูมิ เพื่อให้นายก้าวขึ้นสู่อำนาจในสงครามสามก๊ก ผู้ที่มีความสามารถ รู้สถานการณ์รอบด้าน ไม่อาจครองแผ่นดินได้ หากไร้ซึ่งคนมีฝีมือ “

ไม่มีขุนพลผู้ทรงประสิทธิภาพ จอมทัพจะเกรียงไกรได้ ฉันใด ดูแต่ชีวิต เล่าเซี่ยงชุน เองเถิด กว่าจะไต่เต้ามาปลดเกษียณเอาที่ยศ พันเอก ก็สาหัสสากรรจ์ อาจด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดเห็นใจตัวเองขึ้นมา และยังเผื่อแผ่ต่อ ลิ่วล้อ คนอื่น ๆ ด้วย สำหรับลิ่วล้อในสามก๊ก ออกจะเข้าใจเป็นอย่างดี

โอกาสเปิดให้ เล่าเซี่ยงชุน เขียนเรื่องราวอย่างแท้จริง ก็ต่อมาเมื่อนิตยสารของทหารต้องการเรื่องลง จึงเขียนออกมาเป็นตอน ๆ ทยอยส่งไปลง และเป็นที่ถูกอกถูกใจของพี่น้องทหารเป็นอย่างดี เขียนเพลินจนได้กว่า ๑๕๐ ตอน ก็ได้รับการทาบทามจาก สนพ.ประพันธ์สาส์น ขอรวมเล่ม จึงนำเอาเรื่องราวที่เขียนมาทั้งหมด จัดหมวดหมู่ใหม่ ขัดเกลาสำนวนอีกครั้ง แล้วก็ส่งเข้าโรงพิมพ์

ทำไม เล่าเซี่ยงชุน จึงจับปากกาเขียนเรื่อง สามก๊กฉบับลิ่วล้อ คำตอบก็คือ ต้องการให้คนอ่านวรรณคดีเรื่องนี้เข้าใจง่าย เอกสารประกอบการเขียน ใช้หนังสือคือ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง เล่มเดียว สาเหตุง่าย ๆ คือ เล่มอื่น ๆ มีความขัดแย้งกันอยู่ หากใช้หลายเล่ม ก็จะไม่ชัดเจนว่า เรื่องราวเป็นอย่างไรแน่ ผู้อ่านจะเกิดความสับสนได้

สามก๊กจากอดีตสู่ปัจจุบัน ในวิถีชีวิตของคนไทยคือ เมื่อก่อนผู้ใหญ่ใช้สอนเด็ก ประการแรกใช้สอนอ่านการผันชื่อของคนจีนในสามก๊ก ผันยาก แล้วก็การเว้นวรรคตอนของเรื่อง เด็กที่สนใจอ่านแล้ว จะเขียนหนังสือเป็น แต่งประโยคเป็น ส่วนเนื้อหาของสามก๊ก เมื่อเด็กเรียนแล้วก็จำไม่ไหว สมัยนั้นเขาให้เรียนตอนโจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งเป็นการใช้โวหาร สำนวนของปราชญ์ในเมืองกังตั๋ง ต่อสู้กับขงเบ้ง ซึ่งอันนั้นเมื่ออายุมากแล้วถึงจะเข้าใจ เมื่อเด็กอ่านแล้วก็อ่านไปอย่างนั้นเอง ไม่ซาบซึ้งว่าเขาฉลาดกันอย่างไร

ตอนที่ชอบมากเป็นพิเศษ เล่าเซี่ยงชุน บอกว่ามีหลายตอน แต่ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ก็ถือว่าเป็นตอนที่สุดยอดตอนหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการใช้ไส้ศึก การใช้เล่ห์เพทุบายจริง ๆ เรื่องลมที่จะพัดมานั้น มันพัดมาอยู่แล้วตามฤดูกาล ขงเบ้งรู้ก่อนก็เลยตั้งพิธีขึ้น ตอนนี้ถือว่าเป็นการต่อสู้กันด้วยสมอง

เป้าหมายของการเขียนที่แท้จริงแล้ว ประการหนึ่ง ต้องการให้เจ้านายเข้าใจจิตใจของลูกน้อง ประการที่สอง เมื่อเห็นใจลิ่วล้อ ก็เอามาเชิดชูให้ผู้อ่านรู้จัก และประการที่สาม คือเป็นการท้าทายผู้อ่านด้วยว่า ตอนที่เขียนนั้นมีอยู่ในตอนไหน

สรุปแล้วคือ “ เราเป็นคนเสนอสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง ให้อ่านกันมาก ๆ “

#############


Create Date : 21 มีนาคม 2555
Last Update : 21 มีนาคม 2555 20:33:48 น. 2 comments
Counter : 1193 Pageviews.

 
เริ่มจากหนังสือเรื่อง กลยุทธโจโฉ ซื้อมาอ่านเพราะเกิดอารมณ์เซ็งๆที่ทำงาน ครอบครัว และตัวเอง พออ่านไปอ่านมาก็เลยชอบไปซื้อสามก๊กฉบับใหม่ ของ นายหนหวย มาอ่าน เออชักสนุกแฮะ ต่อมาเลยนึกไปถึงคำที่คุณย่าเคยบอกว่า อ่านสามก๊กจบ 3 หนคบไม่ได้ ก็เลยนึกสนุกอยากลอง เลยไปหาซื้อ ฉบับเจ้าพระยาคลังหน พิมพิ์ครั้งที่2 ของสำนักพิมพ์แสงดาวมา กะจะอ่านต่อจากเล่มที่อ่านอยู่ ไปๆมาๆ ไปเจอะเข้ากับ พิชัยสงครามสามก๊กฉบับบูรณาการ ของ สังข์ พัฒโนทัย กิเลสครอบงำเอามาอ่านก่อนซะ ยังไม่ทันจบดี ดันไปเจอะเข้ากับ นักแต่งนาม เล่าชวนหัว ก็ดันไปกวาดหนังสือเค้ามาอ่านอีกมากมาย จนล่าสุดได้ สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของ โรเบิร์ตมอส มาด้วย 5555 ค่อยๆอ่านค่อยๆซึมซับเอาไว้เล่าให้ลูกฟัง แม่อ่านจบจำได้ลูกก็รู้เรื่องพอดี ....... สนุก อยากมีเวลาเยอะๆจะได้อ่านมากๆ ต้องหาเวลาอ่านตอนนั่งรถกับยืนบนรถไฟฟ้าเอา แล้วจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ขอไปอ่านให้แตกฉานก่อน โดยส่วนตัวแล้ว เลิฟๆโจโฉมากๆ รองมาก็ จิวยี่ เคาทู สุมาอี้ ลิโป้ หูยยยย เหมือนเป็นคนขี้โกงเลยเนอะ


โดย: นิชชี่ IP: 110.168.244.193 วันที่: 10 มิถุนายน 2555 เวลา:23:23:05 น.  

 
อ่านสามก๊ก ของ เล่าเซี่ยงชุน แล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ
ในบล็อกนี้มีหลายตอน ไม่ต้องเสียเงินซื้อ

ถ้าชอบใจอยากเก็บไว้เคียงข้างฉบับอื่น
ก็ก็อปเอาไปถ่ายเอกสารเย็บเล่มเลยครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 11 มิถุนายน 2555 เวลา:15:19:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.