Group Blog
 
All Blogs
 
ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๔) เหตุเกิดที่พระรูป

ผู้เฒ่าเล่าอดีต (๔)

เหตุเกิดที่พระรูป

เราย้ายบ้านจากตรอกโรงเรียนนายร้อย ถนนราชดำเนินนอก มาอยู่ที่สวนอ้อย หน้าวชิรพยาบาล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ แล้วก็ได้มีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นประปราย ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

เข่น พ.ศ.๒๔๘๕ น้ำท่วมใหญ่ต้องใช้เรื่องสัญจรไปมาแทนรถเมล์

พ.ศ.๒๔๘๗ สวนอ้อยโดนเครื่องบิน B29 มาทิ้งระเบิดกรุงเทพ เป็นครั้งแรกในโลก

พ.ศ.๒๕๑๘ น้ำท่วมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง น้ำขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระบา ผ่านสวนอ้อยมาถึงถนนราชสีมา

และ พ.ศ.๒๕๒๓ ก็เกิดเรื่องที่เกี่ยวกับสวนอ้อยอีกครั้งหนึ่ง

เดือนตุลาคมในอดีตที่ผ่านมาเกือบร้อยปีนั้น มีวันอันสำคัญยิ่งอยู่วันหนึ่ง ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งหลาย น้อมรำลึกถึงตลอดมา นั่นก็คือวันที่ ๒๓ ตุลาคม วันปิยมหาราช

เมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา การวางพวงมาลา ณ พระบรมราชอนุสาวรีย์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ลานพระราชวังดุสิต หรือที่เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น เป็นไปอย่างธรรมดาไม่มีการจัดระเบียบมากมายนัก ตอนค่ำก็จะมีผู้คนเบียดเสียดเข้ามาชมพวงมาลา และถวายสักการะพระบรมรูปอย่างเนืองแน่น ริมถนนราชดำเนินจะมีร้านขายของกินนานาชนิด และของเล่นประเภทหมวกกระดาษ หน้ากาก หัวโขนและชฎา กับดาบไม้ ปืนจุกไม้ก๊อก มีบรรยากาศคล้ายกับงานภูเขาทอง

รอบในที่ติดกับพระบรมรูป จะตั้งราวปักเทียนและกระถางปักธูปใบใหญ่ มีผู้เฒ่าผู้แก่จุดธูปเทียนสักการะกันหนาแน่นมาก กลิ่นธูปควันเทียนคละคลุ้งไปทั่วทั้งบริเวณ เป็นการแสดงความกตัญญู ต่อพระคุณอันมากล้นพ้นที่จะรำพันของพระองค์ท่าน จากผู้ที่อยู่ร่วมสมัยหรือได้ยินได้ฟัง พระบารมีอันแผ่ไพศาลปกเกล้าชาวประชา มาไม่นานนัก

ต่อมาการวางพวงมาลามีการประกวดประชันขันแข่งกันมากขึ้น ทั้งการจัดริ้วขบวนและวงดนตรีนำขบวน จนเกือบจะเป็นการแสดงไปแล้ว ทางราชการจึงได้จัดระเบียบมากขึ้น และบรรยากาศในตอนค่ำก็เปลี่ยนแปลงไป ร้านค้าริมถนนราชดำเนินก็ถอยไปรวมกันอยู่ในบริเวณสวนอัมพร แต่ร้านขายของเล่นที่คล้ายงานวัดนั้นก็สาบสูญไปสิ้น

การจุดธูปเทียนสักการะพระบรมรูปก็ลดน้อยลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมากันมากมาย ก็ลดน้อยลงจนเหลือแต่หนุ่มสาวและเด็กในรุ่นหลังเป็นส่วนใหญ่ จนมาถึงปัจจุบันจึงได้มีการรื้อฟื้นการเคารพบูชา ด้วยธูปเทียน ดอกไม้ พวงมาลัย และเครื่องสังเวย ขึ้นมาอีกเมื่อไม่กี่ปีนี้ แต่เป็นไปในทำนองการบูชาเทพเจ้า มากกว่าที่จะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ดุจกาลก่อน

แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า พระบรมรูปทรงม้าอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวไทยทั้งปวงมาร่วมศตวรรษนี้ จะมีเหตุการณ์ที่เป็นไปในทำนอง ลบหลู่พระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นได้ ในรอบทศวรรษที่แล้วมานี้เอง

ความจริงเคยมีนิยายปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระบรมรูปทรงม้าที่ประดิษฐานอยู่ ณ ลานพระราชวังดุสิตนี้ เดิมทีมียอดพระมาลาเป็นทองคำ แต่ในกาลครั้งหนึ่ง ได้มีผู้ยากจน ข้นแค้นไปกราบบังคมทูลขอเด็ดเอาไปขายกินเสีย โดยที่พระองค์ท่านก็พระราชทานแต่โดยดี จนต่อมากรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอนุสาวรีย์ได้อ้างหลักฐานว่า พระมาลาที่ทรงกับเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นั้น มีพู่ขนนกและไม่มียอดแหลม ไม่ว่าจะเป็นโลหะชนิดใดทั้งสิ้น สังเกตได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งทรงฉายในที่ต่าง ๆ เรื่องดังว่าจึงได้กลายเป็นนิทานโคมลอยไปในที่สุด

แต่คราวนี้เกิดเรื่องจริงขึ้นมาจนได้ แม้ว่าค่อนข้างจะเหลือเชื่ออยู่สักหน่อย คือในกลางดึกของคืนวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๒๓ ขณะที่ใกล้จะถึงงาน วันปิยมหาราช ซึ่งกรมศิลปากร จำเป็นต้องบูรณะตกแต่ง องค์พระบรมรูปทรงม้าเป็นประจำ ด้วยการทำความสะอาดลงรักสีดำ และนำพวงมาลัยคล้องคอม้า เจ้าหน้าที่จึงได้ตั้งนั่งร้านขึ้นไป เพื่อจะดำเนินการดังกล่าว ก็มีชายไทยชื่อ สมชาย (นามสมมุติ) อาชีพขับสามล้อเครื่อง กับ นาย น้อย (นามสมมุติเหมือนกัน) ซึ่งเป็นเพื่อนเกลอ ทั้งคู่ดื่มเหล้ากันมาได้ที่ดีแล้ว ก็ไต่นั่งร้านขึ้นไปช่วยกันถอดพระแสงกระบี่ ออกจากแผงอานม้า ด้านซ้ายของพระบรมรูป ในเวลาค่อนรุ่ง แล้วก็เอาไปห่อกระดาษซุกซ่อนไว้ ที่ต้นไทรใหญ่ใบหนาทึบและมีรากดกแถวสวนอ้อย ซอยหน้าวชิรพยาบาล ซึ่งอยู่ในบ้านอันกว้างขวาง ที่ในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคยเป็นบ่อนตีไก่กัดปลาประจำตำบล แต่ในขณะนั้นได้ดัดแปลงเป็นห้องเล็ก ๆ ให้ครอบครัวของโชเฟอร์สามล้อเครื่อง เช่าพักอาศัยอยู่นับสิบราย ห่างจากบ้านของเราไม่ไกลนัก

พอวันรุ่งขึ้นสองนายก็แอบหอบหิ้วพระแสงกระบี่ ซึ่งยาวเกือบ ๒ เมตร หนัก ๖๐ กิโลกรัม มูลค่ามหาศาล แค่เฉพาะเนื้อโลหะซึ่งเป็นทองสัมฤทธิ์ก็มีราคาประมาณสิบล้านบาท ไปขายที่ร้านค้าของเก่าแถวหน้าไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง ได้เงินมาแบ่งกันเพียง ๒,๕๐๐ บาท แล้วก็แยกย้ายกันหลบหนีอาญาแผ่นดิน ไปคนละทิศ

เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลดุสิต ซึ่งได้รับแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ผู้รับ ผิดชอบของกรมศิลปากรแล้ว ก็ได้รีบออกติดตามควานหาตัวคนมือไวใจกล้าทั้งสองนายอย่างกวดขัน และในเวลาอันรวดเร็วเพียงสามวันต่อมา ก็ตะครุบตัวนายสมชายได้ที่บ้านเพื่อน แถวซอยสันติสุข ถนนประชาสงเคราะห์ ได้โดยละม่อม

นายสมชายให้การรับสารภาพว่า เหตุเกิดขึ้นจากการที่ได้เอาเงินของภรรยา ที่ให้ไปวางประกันหาเช่ารถตุ๊กใหม่จำนวน ๓๐๐ บาท ไปกินเหล้ากับเพื่อนเสียจนหมด จึงไม่กล้ากลับบ้านมือเปล่า และเกิดความคิดวิตถารที่จะขโมยพระแสงกระบี่ไปขาย เพราะนึกว่าคงจะมีบางส่วนที่เป็นทองคำอยู่บ้าง แต่เมื่อขายได้เงินมาแล้ว ก็ไม่มีความปกติสุขเลยทั้งเวลากินเวลานอน ได้ยินแต่เสียงเหมือนคนเดินลากโซ่ตรวน รบกวนอยู่ในจิตใจตลอดเวลา ครั้นหลับก็ฝันเห็นสมเด็จพระปิยมหาราชทรงชี้หน้าทวงพระแสงกระบี่อยู่ทั้งคืน เป็นที่ทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่งยวด

เรื่องก็เป็นอันจบลงด้วยดี เป็นที่โล่งหัวอกหัวใจของประชาราษฎร์ ที่จงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยทั่วหน้ากัน สำหรับผู้ที่กระทำผิดโดยความโลภเพียงชั่วครู่ รวมทั้งผู้ร่วมมือ ก็ได้รับโทษตามสมควรแก่กรณี

นับว่าเป็นคดีตัวอย่างของเมืองไทยอีกคดีหนึ่ง ที่เราจะได้จดจำเอาไว้เล่าขาน ให้ลูกหลานได้ฟังในภายหน้า อีกนับร้อยปีทีเดียว

ถ้าไม่ตายเสียก่อน.

##########



Create Date : 21 มีนาคม 2555
Last Update : 21 มีนาคม 2555 8:47:35 น. 1 comments
Counter : 827 Pageviews.

 
มาอ่านอีกค่ะคุณปู่


"พระมาลาที่ทรงกับเครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นั้น
มีพู่ขนนกและไม่มียอดแหลม ไม่ว่าจะเป็นโลหะชนิดใดทั้งสิ้น
สังเกตได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งทรงฉายในที่ต่าง ๆ
เรื่องดังว่าจึงได้กลายเป็นนิทานโคมลอยไปในที่สุด"


พวก สทร. ปากมากจริงๆ



"แต่เมื่อขายได้เงินมาแล้ว ก็ไม่มีความปกติสุขเลยทั้งเวลากินเวลานอน
ได้ยินแต่เสียงเหมือนคนเดินลากโซ่ตรวน รบกวนอยู่ในจิตใจตลอดเวลา
ครั้นหลับก็ฝันเห็นสมเด็จพระปิยมหาราชทรงชี้หน้าทวงพระแสงกระบี่อยู่ทั้งคืน
เป็นที่ทุกข์ทรมานใจอย่างยิ่งยวด"



ดี สม ดีที่ไม่กลัวจนกระโดดบ้านลงมาตาย...


โดย: nart (sirivinit ) วันที่: 21 มีนาคม 2555 เวลา:12:57:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.