มรรคแปด...ข้อปฏิบัติให้ถึงการพ้นทุกข์


๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! ก็ อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือ
แห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐ
นี้เอง, องค์แปดคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ
อาชีวะชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.
ภิกษุ ท. ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความรู้ในทุกข์
ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ใน
หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า
ความเห็นชอบ.


ภิกษุ ท. ! ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ความดำริใน
การออก (จากกาม) ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน,
นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.


ภิกษุ ท. ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการพูด
เท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการพูดหยาบ การเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ.


ภิกษุ ท. ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! การเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการ
ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.

ภิกษุ ท. ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! อริยสาวกในกรณีนี้
ละการหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ,
นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ


ภิกษุ ท. ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณี
นี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต
ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก
ที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันลามก
ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ที่ยังไม่ได้บังเกิด ; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือน ความ
งอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ที่บังเกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ


ภิกษุ ท. ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นกายในกายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาปมีความ
รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ;
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผา
บาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออก
เสียได้ ; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่, มีความเพียรเครื่องเผาบาป
มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ ;

เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่, มีความเพียรเครื่องเผา
บาป มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออก
เสียได้. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ความระลึกชอบ.


ภิกษุ ท. ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุ
ในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง
ฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. เพราะ
วิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน
ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่
สมาธิ แล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ
มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อัน
เป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ ว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้
มีสติ มีความอยู่เป็นปกติสุข” แล้วแลอยู่ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และ
เพราะความดับหายแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่
อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. !
นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.


ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจคือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์.
- มหา. ที. ๑๐/๓๔๐-๓๕๐/๒๙๔-๒๙๙.

นี่คือมรรคแปดอริยสัจตัวที่สี่ ...

อริยสัจสี่เป็นธรรมะสูงสุดของศาสนา และจากอริยสัจสี่ได้แตกลูกธรรมะออกไปมากมาย แต่สุดท้าย

ธรรมะทุกข้อก็จะมาถึงซึ่งคำว่า...การปฏิบัติให้พ้นทุกข์ นั่นคือ มรรคมีองค์แปดนั่นเอง...



Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2556 10:43:20 น.
Counter : 962 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รู้ธรรม
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติ
ไว้แล้ว, จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด
All Blog