bloggang.com mainmenu search

 - Code Blue - 


เรื่องราวของคุณหมอเฮลิคอปเตอร์





Code Blue เป็นเรื่องราวของแพทย์ฝึกหัด 4 คน ผู้ได้รับเลือกเข้ามาประจำการในศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลโชโกกุ(Syohoku) ซึ่งมีหน่วยแพทย์กู้ชีพ “Doctor Heli” เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่สำคัญ
( ข้อมูลจาก internet : ชื่อเต็มของซีรี่ย์เรื่องนี้คือ “Code Blue: Doctor Heli Kinkyu Kyumei” หมายถึง คุณหมอเฮลิคอปเตอร์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน เนื้อเรื่องได้อิงจากโครงการในญี่ปุ่นที่เสนอให้มีการช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยได้ทันท่วงที ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านสภาเมื่อปี 2007 ซึ่งหมายความว่าจะมีผลบังคับใช้กันอย่างแพร่หลายต่อไป)

พวกเขา 4 คน เป็นนักเรียนทุนแพทย์มาจากสถาบันต่างกัน มีภูมิหลังความเป็นมาของชีวิตที่แตกต่าง แต่ก็มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน นั่นคือ ได้รับการฝึกหัดให้เป็น "Flight Doctor"

หากได้รับเลือกให้ขึ้นบินไปกับเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยกู้ชีพ “Doctor Heli” นอกจากจะเปรียบเหมือนได้รับการยอมรับในความสามารถแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่แพทย์คนนั้นจะได้สั่งสมประสบการณ์การรักษาในเคสต่างๆ ซึ่งแพทย์โดยทั่วไปยากจะได้พบเจอจากผู้ป่วยธรรมดาในโรงพยาบาล การออกไปยังสถานที่เกิดเหตุ ก็เหมือนกับออกไป “เรียนรู้สู่โลกกว้าง” ไปเป็นปราการด่านแรกที่ต้องเผชิญหน้า และรับมือกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้คน และต้องประคับประคองชีวิตเหล่านั้นไปยังโรงพยาบาลให้ได้รับการเยียวยารักษาต่ออย่างทันท่วงที

แต่พื้นที่บนเฮลิคอปเตอร์มีไม่มากพอสำหรับทุกคน ในการขึ้นบินแต่ละครั้ง นอกเหนือจากพื้นที่ที่จะเป็นของผู้ป่วย ก็จะมีแค่ที่นั่งของนักบิน 2 แพทย์ 2 ซึ่งจำเป็นต้องมี และต้องเป็น "แพทย์อาวุโส" บินไปด้วยหนึ่งท่าน นั่นหมายความว่ามีเหลืออยู่แค่ที่นั่งเดียวสำหรับคนที่เป็น "แพทย์ฝึกหัด"

ดังนั้น พวกเขาจึงตกอยู่ในฐานะ 'คู่แข่ง' อย่างเลี่ยงไม่ได้ ต้องพยายามแสดงฝีมือออกมาแข่งขันกันเพื่อ ‘พิสูจน์ตัวเอง’ ว่ามีความสามารถมากพอที่จะเป็น Flight Doctor และบินไปกับ Doctor Heli


แต่เพราะ ‘สถานที่เกิดเหตุ’ ไม่ใช่สนามประลองฝีมือ และ ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ ก็ไม่ใช่เครื่องมือทดสอบความสามารถ เพราะพวกเขาเป็นคน มีเลือดเนื้อ มีลมหายใจ ในสถานการณ์เร่งด่วน ในสถานที่ไม่เอื้ออำนวย อุปกรณ์การแพทย์ที่ไม่ครบครันเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พื้นที่จำกัด เวลาจำกัด และกำลังของการกู้ภัยก็จำกัด จึงเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่พวกเขาจะต้องรับมือและตัดสินใจ ความท้าทายที่เคยมุ่งมั่นจะกระโจนเข้าหาก่อนขึ้นบิน มันต่างกันกับการเผชิญหน้า ‘ของจริง’ เมื่อก้าวขาลงจากเฮลิคอปเตอร์และเท้าเหยียบถึงพื้น ....อุปสรรคหนักหนาของแพทย์มือใหม่ที่เพิ่งจะตระหนักได้ว่าคู่แข่งที่แท้จริงของตัวเองคือใคร

ก็คือ ตัวของพวกเขาเอง ที่ต้องต่อสู้ทำลายกำแพงภายในใจ และก้าวพ้นมันไปให้ได้โดยมีชีวิตและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน

ยังติดอยู่กับเรื่องหมอๆ อยู่ค่ะพักนี้ หลังจากยังอินอยู่กับ Team Medical Dragon (IRYU ) ก็หา Code Blue มาดูต่อ โดยส่วนตัว ถ้าให้เทียบกันแล้ว IRYU สนุกกว่าในเรื่องของความลุ้นระทึกไปกับการผ่าตัดเอาชนะโรคภัย แต่ถ้าถามว่าชอบเรื่องไหนมากกว่า คำตอบกลับกลายเป็น Code Blue

เหตุผล... เพราะ Code Blue มีเนื้อหาที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและสมจริงมากกว่า

เรามองว่า 2 เรื่องนี้ เป็นการต่อสู้กับการทำงานในฐานะแพทย์เหมือนกัน แต่ต่างกันมากในมุมของการนำเสนอ



ในเรื่อง IRYU แพทย์ทุกคนเก่งกล้าสามารถกันเกือบจะทุกคน โดยมีอาซาดะ ริวทาโร่ เป็น เทพอัจฉริยะ .. เรียกบ้านๆ คือ “หมอเทวดา” หรือจะประดิษฐ์ถ้อยคำให้หะรูหะราขึ้นมาอีกหน่อย ขอเรียกท่านว่าเป็นผู้มี “หัตถ์แห่งการเยียวยา” เนื้อหาจึงไปอิงอยู่กับความสำเร็จของทีมดรากอน โดยยกเอาปัญหาการแก่งแย่งอำนาจในโรงพยาบาล(ภาค 1) หรือกระทั่งระบบการบริหารโรงพยาบาลและการช่วงชิงผลประโยชน์ในทางธุรกิจ (ภาค 2) มาเป็นอุปสรรคขัดขวาง ซึ่งมองแล้วมันเป็นปัญหาในระดับใหญ่ เหมือนคลื่นลูกใหญ่โถมใส่ลูกเล็ก และเคสการรักษาก็จะเป็นเชิง มหภาค เช่น ผลสำเร็จของการวิจัย การค้นพบวิธีรักษาใหม่ๆ ยกตัวอย่างการใช้คำพูดเช่น “สำเร็จครั้งแรกในญี่ปุ่น” “ตื่นตะลึงวงการแพทย์” “ที่สุดของประเทศ” “อันดับหนึ่งในญี่ปุ่น” "มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ" ฯลฯ เป็นการพยายามให้รู้สึกถึงความยากเย็น เพื่อจะเน้นย้ำต่อไปถึงผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ อารมณ์ของเนื้อหาจึงเป็นไปในลักษณะของฮีโร่ คือให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะ Theme ของดนตรีที่กินความรู้สึกมาก เดินยกทีมออกมาที หรือผ่าตัดสำเร็จแต่ละทีเหมือนเป็นอะไรที่ ...เพื่อมวลมนุษยชาติ (แม้จะไม่ได้เดินออกมาช่วยใครในภาวะฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย หรือเอเลี่ยนต่างดาวบุกโลกก็เถอะ) ดังนั้น เรื่องของความเก่งเว่อร์จึงต้องยกให้เป็นผลประโยชน์ของท่านไป เพราะถ้าไม่เก่งอย่างนั้น ก็คงไม่ได้ออกมาอารมณ์อย่างนี้ ..เหมือนพระเอกในหนังแอคชั่นที่กระสุนกี่ร้อยห่า รถราพลิกคว่ำไปมาไม่รู้กี่ตลบก็ทำอะไรท่านไม่ได้ ยังคงวิ่งหน้าเริ่ดออกมาซัดกับผู้ร้ายต่อจนจบ อะไรทำนองนั้น (และหนังพวกนี้ก็ทำให้เราต้องตามติดไปดูในโรงภาพยนตร์ เพราะว่าการรอดูแผ่น จะไม่ได้อารมณ์ยิ่งใหญ่เท่า)


สำหรับ Code Blue เป็นการนำเสนอจากมุมเล็กๆ นั่นก็คือจิตใจของแพทย์แต่ละคน การฟันฝ่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในใจของตัวเอง แพทย์มือใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ ขาดความมั่นใจ จึงหวั่นกลัวต่อความผิดพลาด และไม่กล้าตัดสินใจ อีกทั้งการเป็นปถุชนคนธรรมดาย่อมมีความรู้สึกเจ็บปวดและเสียใจร่วมไปกับคนไข้ ตลอดจนญาติของคนไข้ ซึ่งเข้าใจว่าคนที่เป็นแพทย์ใหม่ๆ ทุกคนคงจะต้องเคยแบกรับเอาความรู้สึกเหล่านั้นไว้ในใจมาก่อนไม่มากก็น้อย เพราะ "หมอไม่ใช่พระเจ้า" (คำพูดนี้ในเรื่อง IRYU ก็มีอยู่เหมือนกัน) แม้จะช่วยยื้อชีวิตไว้ แต่ก็ใช่จะรักษาเอาไว้ได้ทุกคน การที่คนไข้ต้องตายไปต่อหน้าทั้งที่เครื่องมือแพทย์ยังคาอยู่ในมือ หรือแม้กระทั่งการรักษาให้คนไข้หายดี แต่ด้วยวิธีที่..ตัดสินใจตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งทิ้งไปและคนไข้คนนั้นต้องกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต มันก็คงทำให้หมอรู้สึกแย่ไปไม่น้อย ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน แต่กับคนเป็นหมอ ความผิดพลาดอาจหมายถึงชีวิตของคนไข้ และใครอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบให้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป
แต่หมอจะเป็นหมอต่อไปไม่ได้เลย ถ้ายังมัวจ่อมจมอยู่ในความรู้สึกเสียใจเมื่อมีคนไข้ตาย หรือมัวท้อแท้กับความผิดพลาดใดที่ผ่านไปแล้ว

สรุปคือ IRYU เป็นเรื่องที่หมอต้องต่อสู้กับพวกมีอิทธิพลที่คอยแย่งชิงผลประโยชน์ และต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคภัยที่ยากเย็นจะรักษา แต่ใน Code blue เป็นเรื่องที่หมอต้องต่อสู้กับตัวเอง เพื่อก้าวผ่านความผิดพลาดล้มเหลวและก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงให้ได้

ตัวละคร

ไอซาวะ โคซากุ (ยามาชิตะ โมโมชิสะ หรือยามะพี) (Flight doctor-in-training) หล่อ เก่ง ฉลาด มั่นใจในความสามารถของตัวเองมาก มีความสุขุม มีสติมั่นคงอยู่ได้เมื่อพบเจอกับภาวะฉุกเฉินต่างๆ ของผู้ป่วย เขาจึงตัดสินใจเลือกวิธีรักษาคนไข้ได้อย่างเฉียบไว แต่คุณสมบัติเหล่านี้ก็มีมาพร้อมกับความทะเยอทะยานสูง ความหยิ่งทะนงในตัวเอง และภูมิหลังในอดีตก็ส่งผลให้มีบุคลิกที่ดูเย็นชา ไร้หัวใจ (แม้จะไม่เข้าใจเลยว่ามันเกี่ยวกันตรงไหน ) แม้จะดูเป็นคนไม่แยแสใคร แต่เมื่อใครมีเหล่านั้นมีปัญหาเขากลับเป็นคนที่สังเกตเห็นอย่างเข้าใจ ทั้งยังพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้คนอื่นมองไอซาวะในทางที่ดีขึ้นสักเท่าไร

ชิราอิชิ เมกุมิ ( อารากาคิ ยูอิ) (Flight doctor-in-training) เป็นคนนิ่ง เงียบ เรียบร้อย และใจดี เพราะเป็นลูกของศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียง เธอจึงถูกมองว่ามีหนทางที่โรยมา..และจะโรยต่อไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนั่นเป็นการตัดสินจากการมองภายนอกที่คนมองไม่เคยรู้ว่า การเป็นลูกที่ถูกคาดหวัง มันยากเย็นเพียงใดที่จะต้องทำให้ได้อย่างที่ถูกหวังจะให้เป็น การเพียรพยายาม(เพื่อไม่ให้ใครต้องผิดหวัง)จึงเป็นความกดดันอย่างหนักมาตลอดด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้เธอกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าจะตัดสินใจทำอะไร เพราะกลัวจะเกิดความผิดพลาด ทั้งที่เป็นคนความรู้แน่น (เป็นหนอนหนังสือ) มีความแม่นยำในการอ่านค่าข้อมูลจากเครื่องมือทางการแพทย์(ทำให้วิเคราะห์อาการผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง) ทว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเธอมักจะตื่นกลัวและกลายเป็นคนเงอะงะที่ไม่กล้าทำอะไร แต่เมื่อได้ร่วมงานกับแพทย์มืออาชีพ ประกอบกับการได้เห็นความทะเยอทะยาน ความมุ่งมั่นในจิตใจของไอซาวะที่จะเป็น “หมอเทวดา” เป็น “ที่หนึ่ง” และเป็น “ที่ต้องการของคนไข้” ก็ช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ชิราอิชิไม่ยอมแพ้ที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปด้วยเช่นกัน

ฮิยามะ มิโฮโกะ (โทดะ เอริกะ) (Flight doctor-in-training) เป็นคนมุ่งมั่น จริงจัง และมั่นใจในตัวเองสูง บุคลิกของเธอจึงดูค่อนข้างเย่อหยิ่งและแข็งกระด้าง แต่ภายใต้เปลือกที่พยายามทำตัวเป็นคนเข้มแข็ง ฮิยามะกลับเป็นคนที่มีจิตใจเปราะบางมากที่สุด เธอมักจะอ่อนไหวไปกับความรู้สึกของคนอื่น ดังนั้น ถ้าไม่ทะเลาะกับคนไข้ก็เห็นอกเห็นใจคนไข้จนกลายเป็นทุกข์ที่ตัวเอง ถึงแม้การแสดงออกจะไม่โจ่งแจ้ง แต่ก็มองเห็นได้ว่ามีความอิจฉาคู่แข่ง เธอมักจะพูดจาถึงคนอื่นในแง่ร้าย แต่ท้ายที่สุด การทำงานร่วมกันกับคนที่เธอเคยคิดอยู่เสมอว่าเป็นคู่แข่ง ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างและปรับปรุงตัวเอง

ฟูจิคาว่า คัตสึโอะ (อาซาริ โยสึเกะ) (Flight doctor-in-training) “กระต่ายตื่นตูม” เป็นคำที่เหมาะจะอธิบายถึงบุคลิกของเขาได้มากที่สุด ใช่ว่าจะไม่เก่งซะทีเดียวเพราะเป็นถึงนักเรียนทุนแพทย์ แต่เพราะความตื่นตูมนี่แหละ ทำอะไรออกมาก็มักจะผิดพลาดไปซะหมด เขาจึงเป็นคนเฟอะฟะที่ถูกเมิน แม้จะเป็นหมอที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีและเอาใจใส่กับคนไข้มากแค่ไหน แต่หน่วยแพทย์กู้ชีพอย่าง Doctor Heli ต้องการหมอที่เก่งและ ‘พร้อม’ หมอที่ยังไม่พร้อม เพราะยังมัวตื่นเต้นจนเกินเหตุอย่างฟูจิคาว่า จึงไม่เป็นที่ต้องการ

แพทย์ฝึกหัดที่มุ่งมั่นจะเป็น Flight Doctor ทั้ง 4 คน ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย ( no one perfect) เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์อาวุโสจอมเฮี๊ยบอย่าง ศัลยแพทย์มือโปร คุโรดะ ที่เป็นทั้งอาจารย์สอน และโค้ชฝึกหัด ผู้ประกาศให้รู้ว่า

“พวกเธอทุกคนเป็นคู่แข่งกัน จงอยู่ให้ห่างจากคนไร้ความสามารถ”

พวกเขาจะได้เรียนรู้กันและกันเพื่อเติมเต็มข้อบกพร่องของตัวเอง และเติบโตขึ้น ทั้งในฐานะแพทย์และในฐานะของการเป็นมนุษย์

คำเตือน! ** ต่อไปนี้ Spoil ..เกือบหมดเปลือก** (ปกติถ้าเจอคำเตือนอย่างนี้ในเน็ตจะรีบอ่านทันที ด้วยความอยากรู้)



*** ตามสไตล์ของซีรีย์ญี่ปุ่น คือ สั้น การจะใส่รายละเอียดลงไปจึงทำได้ไม่มาก ดังนั้นภูมิหลังครอบครัวที่ส่งผลต่อบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละคนจึงไม่ค่อยชัดเจนนัก

***** แต่ชอบในส่วนของการสร้างปมอุปสรรคให้แก่ตัวละครแต่ละคน เช่น

# เพราะสถานการณ์และอาการเจ็บป่วยที่คาดไม่ถึง จึงให้ความช่วยเหลืออะไรผู้ป่วยไม่ได้เลย นอกจากยืนดูด้วยความตื่นกลัว
# เพราะไม่มั่นใจ จึงปฏิเสธผู้ป่วย ด้วยการประกาศว่า “ฉันทำไม่ได้” แถมยังต้องถอยออกมาเพื่อหลีกทางให้คู่แข่งคนที่ ‘กล้าจะลงมือ’ เข้าไปรักษาแทน และต้องเป็นอีกคนเช่นกันที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากยืนดู
# ส่วนคนที่มั่นใจ ก็เพราะมั่นใจจึงไม่รอบคอบต่อการตรวจรักษา ส่งคนไข้กลับบ้าน และคนไข้ก็กลับมาด้วยอาการของโรคที่กำเริบเกือบถึงชีวิต
# คนที่ไม่กล้าพอจะบอกผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยให้รู้ว่า ต่อไปนี้คุณต้องพิการเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต
# คนที่รับรู้ความฝันของคนไข้ แต่ต้องส่งตัวคนไข้ไปตัดมือที่จะสร้างฝันนั้น
# คนที่ไม่เคยผ่าตัดกับเลือดเนื้อ ‘ของจริง’ แต่ต้องลงมือทำจริง เมื่อคนไข้กำลังจะสิ้นใจต่อหน้า ถึงไม่เคยทำมาก่อน ก็คิดซะว่า ทำแล้วคนไข้ตาย ก็ยังดีกว่า ไม่ได้ทำอะไรแล้วคนไข้ตาย
# คนที่ออกไปเริ่มต้นและกลับมาพร้อมกับความล้มเหลว อย่างน้อยก็ยังได้เริ่มต้น ถึงจะล้มเหลวก็คงไม่รู้สึกแย่ไปกว่าคนที่ไม่เคยถูกเลือกให้มีโอกาสเริ่มต้นเลย
# คนที่ไม่ได้เป็นแพทย์เพราะสอบเข้าเรียนไม่ติด จึงต้องผันตัวเองมาเป็นพยาบาล กลายเป็นคนที่ครอบครัวไม่ต้องการ ความขมขื่นนี้ จึงเปลี่ยนเป็นสารแอนตี้พวกหมอมือใหม่
# คนที่แอบหวังให้คนไข้ของตัวเองอาการทรุดลง เพราะจะได้มีโอกาสแสดงฝีมือในการผ่าตัด (อย่างนี้ก็แอบมีด้วย และถ้ามีอย่างนี้บ่อย...วงการหมอนี่ช่างน่ากลัว )
# คนที่ต้องขึ้นศาลเพราะการเสียชีวิตของคนไข้ เหตุการณ์ที่เป็นทั้งคดีติดตัวและบาดแผลติดอยู่ในใจ อนาคตและใบประกอบโรคศิลป์แขวนไว้กับคำตัดสินคดี
# ฯลฯ
เหล่านี้คือเรื่องราวใน Code blue ค่ะ




ส่วนตอนที่ชอบที่สุด… หุหุ เตือนอีกครั้ง ตรงนี้เป็นการ spoil อย่างหนัก

ต้องขออภัยนะคะ หากไปทำให้ใครต้องเสียอรรถรสในการชม เพราะเป็นอะไรที่ชอบมากและอยากพูดถึงจริงๆ มาแบบเดิมค่ะ ต้องเล่าถึงพระเอกนางเอกสิคะ ..นางเอก..--> ชิราอิชิ ที่ดูเหมือนระยะแรกจะเป็นคนที่ไม่ถูกกระทบกระเทือนจากปมปัญหาอะไรมากนัก แต่แล้วกลับเป็นคนที่สะดุดโครมเข้ากับตอใหญ่เกินหน้าเกินตากว่าใครเขา

ชิราอิชิ ที่ปกติก็ไม่ค่อยจะมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว การมุ่งมั่นจะช่วยเหลือผู้ป่วยจนไม่ทันคิดถึงอะไร กลายเป็นความประมาทเลินเล่อที่ทำให้ คุโรดะ แพทย์อาวุโสผู้เป็นอาจารย์หมอของตัวเอง ต้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และเพื่อจะรักษาชีวิตของหมอคุโรดะเอาไว้ ทำให้ไอซาวะจำเป็นต้องตัดสินใจ ‘ตัดแขน’ ข้างนึงออกไป ..

การสูญเสียแขนของผู้เป็นของศัลยแพทย์ฝีมือเลิศแห่งโรงพยาบาลโชโกกุ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของแพทย์พยาบาลคนอื่นๆไปยังวงกว้าง แม้กระทั่งหน่วยกู้ชีพ Doctor Heli ก็ต้องถูกหยิบยกมาพิจารณาว่าควรจะมีอยู่หรือยุบตัวลงไปซะ แต่คนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดนอกเหนือจากหมอคุโรดะที่ต้องพิการและทำการผ่าตัดไม่ได้อีกต่อไป ก็คือ ชิราอิชิ ที่โทษตัวเองเป็นต้นเหตุ และไอซาวะคนที่ลงมือตัดแขนข้างนั้นด้วยตัวเอง

คนแรกจมอยู่กับความรู้สึกผิดและเสียใจ ส่วนคนหลังเสียใจและสูญเสียความมั่นใจ ในฐานะแพทย์ผู้รักษา ณ จุดเกิดเหตุ ไอซาวะเฝ้าแต่สงสัยตัวเองว่า..นั่นเป็นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนั้นแล้วหรือไม่ หรือเพราะเขาเป็นเพียงแพทย์ฝึกหัดจึงคิดหาวิธีการอื่นที่ดีกว่าไม่ออก

ต่างคนต่างก็มีปัญหา เลยไม่มีเวลาปลอบใจกันเอง แต่สายตาของไอซาวะก็มองเห็นปัญหาของชิราชิอิเสมอ ( เมื่อไม่มีเวลาให้สร้างความหวานในเรื่องราว ก็ขอปลาบปลื้มเอาเองกับ สายตา และความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ที่มีให้ )

ทั้งที่อยู่ในสภาพจิตใจอย่างนั้น ทั้งคู่ก็ดันมีผู้ป่วยฉุกเฉินให้ต้องผ่าตัดแยกกันคนละเคสในเวลาเดียวกัน ชิราอิชิ ต้องต่อสู้กับใจของตัวเองเพื่อจะยอมลงมือผ่าตัดในเคสที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วนไอซาวะก็มีชีวิตของแม่ลูก(ในท้อง)คู่หนึ่งอยู่ในมือ สองชีวิตที่จะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับการ 'ตัดสินใจ' ของไอซาวะและผลที่จะตามมา

การเป็นหมอที่ผิดพลาดไม่อาจเอาความเป็นหมอที่ดีมาหักกลบลบกันได้ ..ดูเหมือนว่าอาชีพหมอจะเป็นอย่างนั้นนะคะ

ก็เลยทำให้ชอบคำพูดของคุณหมอท่านหนึ่งในเรื่อง ที่บอกว่า จงเป็นแพทย์ที่เข้มแข็ง!

ต้องทำตัว ทำใจ ให้เข็มแข็ง ต้องทำให้ได้ แต่ปัญหาคือมันทำไม่ง่าย......
แต่สุดท้าย..ไม่ว่ายังไงก็ต้องทำ

โชคดีจังที่ไม่เคยแอบคิดจะเรียนหมอ..
หนึ่งกลัวเลือด
สองเกลียดแผล
สามเป็นวิชายากแท้
และสี่..เป็นของแน่ว่าไม่มีตังค์ ...
ก็เรียนหมอมันแพงจะตาย

เป็นซีรีย์ที่ดำเนินเรื่องไปเรียบๆ แต่ดึงดูดใจให้ติดตามค่ะ





ข้อมูลและรูปภาพจาก

//kuangtong.ipbfree.com
//www.serieslovers.com