bloggang.com mainmenu search




:: ก๋าราณีตอบคำถามคุณคล้ายดาว ::






** ใช้การพิจารณาความเป็นจริงเป็นเครื่องมือ
ในการแยกแยะความเป็นจริงต่างๆอย่างที่ “มันเป็น”
ไม่ใช่อย่างที่ “เราเชื่อ” **

(เขียนโดย – กะว่าก๋า)




"ความเป็นจริง" แทนการ"เชื่อ"

แล้วถ้าความเชื่อของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
หรือตามกติกาของสังคม

แต่ในความเป็นจริง...ขืนเรายังดึงดันที่จะทำในสิ่งที่เชื่อ
...ชีวิตเราคงไม่ปกติสุข


ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง"ตำรวจ กับส่วย "
สมมติว่าฉันเปิดร้านอาหารแบบผับในตอนกลางคืน

แล้วตำรวจมาขอเก็บส่วย
เราไม่อยากจ่ายเพราะเรา"เชื่อ"ว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย
ตามกติกาทั้งเวลาเปิด -ปิด

แต่อารยะแข็งข้อก็ถูกกลั่นแกล้งจนทุนหายกำไรหด


และเช่นกันถ้ายอมจ่ายตามคำเรียกร้องเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก
ธุรกิจก็ดำเนินไปได้ดี
แต่ทำแล้วตะกอนในใจกลับขุ่นมัว

เพราะเรา รู้" ว่าสิ่งที่เชื่อแล้วทำถูกต้องตามกฎหมาย
เป็นสิ่งที่สมควร

แต่เมื่อใช้การพิจารณาความเป็นจริงเป็นเครื่องมือ
ในการแยกแยะความเป็นจริงต่างๆอย่างที่ “มันเป็น”
เรากลับ...ไม่มีความสุข ที่จะทำตาม"ความเป็นจริง"


แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่ตะกอนในใจเราถึงจะหายไป
และค้นพบ “ที่สุดแห่งความเป็นจริง” ล่ะคุณก๋า..





คำถามโดย : คล้ายดาว
วันที่ : 3 กรกฎาคม 2554
เวลา : 3:43:05 น.


























อะไรคือ “ความเป็นจริง” ?



“ความจริง” คืออะไร ?



ผมชอบเพลงร็อก นี่เป็นความจริงหรือเปล่า ?
คุณชอบเพลงแจ๊ซเป็นความจริงหรือเปล่า ?

คุณชอบขับรถทางไกล ผมไม่ชอบขับรถเข้าห้าง
คุณชอบกินปลา แต่ผมไม่ทานปลาเลยสักชนิด

ผมชอบพรรคการเมืองนี้ คุณชอบพรรคการเมืองนั้น
ผมชอบคนที่จิตใจดีงาม ส่วนคุณชอบคนที่คอยเอาใจ
ฯลฯ



ในชีวิตคนเรามี “ความจริง” มากมายหลายแบบ
ที่เราต้องรับรู้และเผชิญหน้ากับมัน
ไม่ว่าเราจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม....


คำถามคือ “ความจริง” แบบไหนที่เราอยากเชื่อว่ามันจริง
ความจริงแบบไหนที่ใจเรายากจะยอมรับได้


คำถามคือ อะไรที่เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
และอะไรคือความจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา...







...............................








“ความจริง” ทางโลก คือ สิ่งที่เราสร้างขึ้นจากความคิดของตัวเราเอง

เช่น เรากินแคบหมูอร่อย เราจึงเชื่อว่าแคบหมูเป็นอาหารที่อร่อย
แต่พอเรายื่นแคบหมูให้เพื่อนลองชิม
เพื่อนกลับบอกว่ามันเหม็นและไม่น่าทานเลย


หลายคนไม่ชอบตำรวจเรียกส่วย
แต่พอตัวเองเกิดปัญหา เช่น ขับรถผิดกฎหมาย
กลับเลือกที่จะยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อจบคดีความตรงข้างทาง




คนเราจึงมักสร้าง “ความจริง” จากชุดความเชื่อและความชอบ
ที่มันตอบสนองความรู้สึกของเราได้อย่างน่าพึงพอใจเท่านั้นเอง








.................................






ผมรู้จักเจ้าของกิจการเธค ผับ คาราโอเกะอยู่หลายคน
เมื่อผมถามว่าโดนตำรวจเรียกส่วยหรือเบ่งขอกินฟรีบ้างไหม
ทุกคนตอบตรงกันว่า

“โดน” (โดนตั้งแต่เดือนละเป็นพันจนถึงหลักหมื่น)

ผมถามต่อว่า

“แล้วยอมทำไม ? (ในเมื่อเราคิดว่าเราทำถูกต้อง)”

“ไม่ยอมก็มีปัญหาสิ”

“ทำไมถึงมีปัญหา” ผมถามต่อ

“ก็เพราะกฎหมายในประเทศนี้มันกำหนดไว้อยู่แล้วว่า
สถานบันเทิงไม่มีทางที่จะทำถูกต้องตามกฎหมายได้เลย
แค่เรื่องของจำนวนโต๊ะในร้าน แรงงานต่างด้าว
การตั้งราคาสินค้าในร้าน การค้าประเวณี
หยิบข้อไหนมาก็ผิด เราจึงต้องยอมจ่ายให้มันจบๆไป”







.........................







ธุรกิจหลายประเภทในบ้านเรา
มันเริ่มต้นจากการพลิกข้อกฎหมายที่มีอยู่
แล้วเลี่ยงบาลีเพื่อทำการค้า
เช่น การเปิดร้านอาหาร ผับ หรือคาราโอเกะ
มีหลายอย่างที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว
เช่น การตั้งราคาสินค้าที่สูงมาก (บางที่โค้กแก้วละ 500 บาท)
มีการค้าประเวณี ใช้คนงานต่างด้าว
ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในร้าน การเปิดปิดเกินเวลา
หรือการตั้งโต๊ะอาหารเกินจำนวนกว่าที่กฎหมายกำหนด ฯลฯ


เราเริ่มต้นด้วยการทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว
ไม่แปลกที่ตำรวจจะใช่ช่องโหว่ตรงนี้เรียกรับส่วย


ถามว่าไม่จ่ายได้ไหม ?
ได้...แต่ปัญหาตามมาแน่ๆ
เพราะไม่ว่าจะจับไปตรงไหนในร้านก็ผิดกฏหมายทั้งสิ้น




ไม่จ่าย --- ก็มีปัญหาตามมาได้โดยง่าย



เมื่อมองในมุมนี้ เป็นเพราะเราเลือกธุรกิจสีเทาเช่นนี้หรือเปล่า
เราถึงต้องยอมรับการโดนรีดไถ
ตำรวจเองก็รู้ว่าธุรกิจแบบไหนที่เขาจะเรียกเงินได้
ธุรกิจสีขาวที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีวันถูกจับผิดแน่นอน





เราเชื่อว่าเราไม่ควรต้องจ่ายส่วย
แต่ความจริงเราอยู่ในธุรกิจสีเทา
แบบนี้มันเป็น “ความจริง” ที่วิ่งสวนทางกับ “ความเป็นจริง”

เพราะเราไปเชื่อว่าเราไม่ควรต้องจ่าย
ทั้งที่เราต้องจ่าย…
เพราะความจริงคือ เราอยู่ในธุรกิจที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วนั่นเอง






..............................







ในโลกธุรกิจ ยากที่จะทำให้ทุกสิ่ง “ถูกต้อง” และ “ถูกใจ” เรา
ผมเคยเชื่อว่าการทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา
เป็นสิ่งดีที่ควรทำ
แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้ทำธุรกิจกับคนดีมีศีลธรรมเท่านั้น
บางคนเป็นคนเห็นแก่ตัว เอาเปรียบและฉกฉวย
บางคนคิดแบบโจรด้วยซ้ำไป

จะค้าขายกับโจร ก็ต้องคุยแบบโจร
ไปคุยแบบพระ คุยให้ตายก็ไม่มีวันคุยกันรู้เรื่อง

คุยกับเจ้าพ่อ คุยกับอธิบดีศาล คุยกับผู้ว่าราชการ
คุยกับพ่อค้าขายหมู คุยกับครูประชาบาล ฯลฯ

วิธีคุย วิธีทำการค้าย่อมแตกต่างกัน


ผมได้เรียนรู้ว่า “ความยืดหยุ่น” เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน
เพราะเราต้องพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา
ในการงานมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ในธุรกิจมีกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ



ขึ้นอยู่กับไหวพริบและปัญญาของเรา
ที่จะเลือกใช้ “วิธีใด” มารับมือกับ “ความจริง” ที่เป็น



ที่แน่ๆ ผมคิดว่าสนามการค้า
ไม่ใช่สนามกีฬาแห่งศีลธรรมแน่นอน
มันมีการแข่งขัน มีการต่อสู้ มีการประลองกำลังกันตลอด
ไม่มีที่ว่างสำหรับคนแพ้ มีการเล่นนอกกฏกติกา
และไม่มีใครกำหนดรูปแบบของการต่อสู้ให้เราได้.....


แต่ถามว่าเราจำเป็นต้องทำทุกอย่างแม้แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง
เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและผลกำไรอย่างเดียวรึเปล่า ?
ผมว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นในสิ่งที่เราเกลียด
เรารักษาความเชื่อ รักษาความถูกต้องดีงามในตัวเราได้
ในขณะที่เราอาจจำเป็นต้องฝืนทำในบางสิ่งที่เราไม่ชอบ
เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้การงานหรือธุรกิจของเราดำรงอยู่ต่อไปได้





.......................................







“ความจริง” ในทางธรรม
คือเป็นจริงอย่างที่มันเป็น
ไม่ใช่อย่างที่เรา “เชื่อ”


ความจริงในทางธรรม มันคือ ความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
เราเกิด เราแก่ เราเจ็บป่วย และเราทุกคนต้องตาย
นี่เป็นสัจธรรมนะครับ

สัจจะ แปลว่า ความจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เป็นจริงตลอดเวลา
ธรรม คือ เป็นอย่างที่มันเป็น

สัจธรรม คือ ความจริงที่เป็นของมันอย่างนั้นจริงๆ


มันไม่มี “ความเชื่อ” “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึก” ของใครคนใดเข้าไปเกี่ยวข้อง

“สัจธรรม” ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้
จะกลับมาเกิดอีกกี่รอบก็ต้องเจอ “ความจริง” ชุดนี้



“ที่สุดแห่งความเป็นจริง”

จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรายอมรับ “ความจริง” อย่างที่มันเป็นจริงๆ
โดยไร้ข้อสงสัยหรือคำถามใดใด






......................................







ในโลกธุรกิจการค้าจึงไม่มี “ความจริง” ในแบบสัจธรรมให้เราค้นหา
แต่มันมีชุด “ความเชื่อ” มากมายที่เราสร้างขึ้นมา
เพื่อรองรับคำตอบในใจ
ว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องแล้ว ถูกทางแล้ว
ซึ่งคำตอบมันอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้
พอใจหรือไม่พอใจก็ได้
เพราะมันไม่ใช่สัจธรรม
เมื่อมันไม่ใช่สัจธรรม จึงตั้งอยู่บนความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจที่มีล้มเหลว มีประสบความสำเร็จ







..............................






ย้อนกลับไปที่คำถามนะครับ


ถ้าไม่อยากจ่ายส่วย
ก็คงต้องกลับไปเริ่มต้นด้วยธุรกิจสีขาว
รับรองไม่มีใครมากวนใจเราแน่ๆ
แต่ถ้าเราเลือกแล้วว่าอยากทำธุรกิจสีเทา
คงต้องเลือกเอาแล้วล่ะครับ
ว่าจะยอมจ่ายส่วยด้วยความเซ็งจิต
หรือคิดจะเลิกกิจการไปเลยด้วยความสะใจ.





























Create Date :18 พฤศจิกายน 2554 Last Update :18 พฤศจิกายน 2554 5:12:23 น. Counter : Pageviews. Comments :106