bloggang.com mainmenu search


No Fault ในความหมายทางการแพทย์
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

อ่านบทความของดร.เฉลิมพล ไวทยางกูรเรื่อง No Fault ในทางการแพทย์แล้ว(1) ผู้เขียนขอแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดความเสียหายในทางการแพทย์นั้น อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้เป็นความผิดของแพทย์ผู้ทำการรักษา กล่าวคือ ฝ่ายผู้รักษาไม่ได้ทำผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากภายในร่างกายของผู้ป่วยที่มีปฏิกริยาตอบสนองต่อการรักษาผิดจากบุคคลทั่วไป หรือเป็นอาการรุนแรงที่เกิดตามมาหลังจากเกิดโรคอื่น และมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือผู้ไปรับการรักษาได้ ในกรณีดังต่อไปนี้คือ

1. Adverse drug reaction คือการที่ร่างกายของผู้ป่วยมีปฏิกริยาตอบสนองต่อการได้รับยาที่ไม่เหมือนผู้อื่น ซึ่งอาจเรียกว่าแพ้ยา ปฏิกริยาภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ซึ่งปฏิกริยาจากการแพ้ยานี้ อาจเรียกว่า “อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา” ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจจะมีอาการเล็กน้อย เช่นเป็นผื่นคันที่ผิวหนัง ไปจนถึงอาการรุนแรงทั้งร่างกายเช่น กรณีที่เรียกว่า Steven Johnson’s Syndrome ” ที่ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นทั่วตัวแล้วยังทำให้ตาบอดได้ หรือมีอาการแพ้รุนแรง ทำให้หลอดลมบวม หายใจไม่ออกจนถึงกับเสียชีวิต เรียกวาเกิด Anaphylactic Shock ซึ่งการแพ้ยานี้ แพทย์จะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น โดยการถามประวัติการแพ้ยา หรือประวัติการแพ้อาหาร รวมทั้งประวัติภูมิแพ้อื่นๆของผู้ป่วยและครอบครัวก่อนจะให้ยาทุกครั้ง แต่ถึงแม้จะไม่มีประวัติการแพ้ยามาก่อน ผู้ป่วยก็อาจจะแพ้ยาตัวนี้ได้เช่นเดียวกัน

2. Complications หรือโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากอาการป่วยด้วยโรคหนึ่งต่อมามีอาการของอีกอวัยวะอื่นภายหลัง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความรุนแรงของโรคเอง หรืออาจเกิดจากการรักษาของแพทย์ ซึ่งในทางการแพทย์แล้ว โรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ มักจะมีการเขียนไว้ในตำราทางการแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ระมัดระวังและป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ป่วยของตน แต่โรคแทรกซ้อนบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะได้ใช้ความระมัดระวังอย่าง “สุดความสามารถ”แล้วก็ตาม ซึ่งในทางการแพทย์มักจะอธิบายว่าเป็นเหตุ “สุดวิสัย” ที่แพทย์จะรักษาหรือยื้อชีวิตผู้ป่วยไว้ได้

ตัวอย่างของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ได้แก่ “ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต” – septicemia ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบ หรือการอักเสบของข้อสะโพกในเด็กอาจมีผลให้เกิดความพิการจากการที่หัวกระดูกต้นขา (femoral head)ถูกทำลายจากการอักเสบ หรือการอักเสบของวัณโรคปอดทำให้เกิดวัณโรคของเยื่อหุ้มสมอง หรือการขาดน้ำอย่างรุนแรงจากอาการท้องเสียทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน หรืออาการป่วยตับอักเสบอย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะความผิดปกติทางสมอง หรือภาวะที่มีน้ำคร่ำหลุดเข้าไปในกระแสเลือดทำให้แม่ที่มาคลอดลูกตายจากภาวะที่หลอดเลือดที่ปอดอุดตัน (pulmonary embolism) หรือในกรณีที่หลังการผ่าตัดช่องท้องแล้วพบว่าเกิดลำไสส้อุดตันเนื่องจากในช่องท้องผู้ป่วยเกิดพังผืดมากมาย โดยอวัยวะในตังผู้ป่วยเองมีการซ่อมแซมบาดแผลแต่เกิดพังผืดมากผิดปกติ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นแม้แพทย์จะได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างระมัดระวังเต็มที่แล้ว หรืออาจจะเกิดจากความประมาทเลินเล่อของทีมแพทย์/พยาบาลผู้ทำการรักษาก็ได้ ฉะนั้นเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพิสูจน์ถุก-ผิดเสมอ เพื่อจะได้รู้ว่ามีจุดบกพร่องใดๆเกิดขึ้นจากการรักษาหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ชดใช้ไปตามระบบ No Fault ถ้ามีความบกพร่อง ก็ต้องพิสูจน์ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่ถ้าประมาท เลินเล่อก็ต้องดูว่าประมาทเลินเล่ออย่างอย่างร้ายแรงหรือไม่ หรือละทิ้งไม่ทำตามหน้าที่หรือไม่

3. Underlying diseases หรือโรคที่ผู้ป่วยมีซ่อนเร้นอยู่แต่ยังไม่แสดงอาการหรือยังไม่เคยตรวจพบ แต่มาแสดงอาการเมื่อเป็นโรคอื่นแล้ว เช่น
3.1 การปวดหัวเรื้อรังอาจเกิดจาการมีเนื้องอกในสมอง หรืออาจเกิดจากการปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุทางกายภาพ เช่น Migraine หรือมีสายตาผิดปกติ
3.2 มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เบาหวาน) แต่ไม่มีอาการ แต่มาพบแพทย์เมื่อมีการของผิวหนังอักเสบเป็นหนอง (sepsis)
3.3 การมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการป่วยบางอย่างหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือเกิดการอักเสบจากเชื้อรา
3.4 ภาวะตับอักเสบเรื้อรังนำไปสู่การเป็นตับแข็งหรือมะร็งตับ
3.5 ในกรณีที่เด็กมีไข้และชักอาจเกิดจาการชักจากไข้สูงธรรมดา หรือเกิดอาการชักจากสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบก็ได้
ดังนี้ เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยมาด้วยอาการอย่างหนึ่ง แต่อาจเกิดจากภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลเสียหายรุนแรงกว่าที่ผู้ป่วยหรือญาติคาดการณ์ไว้ก็ได้ ฉะนั้นการเกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย จะไม่สามารถละเว้นการพิสูจน์ถูก/ผิดได้ เพื่อจะได้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดความเสียหาย และนำไปแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้

4. Sequelae หรือ อาการเจ็บป่วยที่เกิดตามหลังโรคหรืออาการเจ็บป่วยอื่น เช่น
4.1ภาวะสมองขาดเลือดอย่างฉับพลัน (stroke) ทำให้เกิดภาวะแขนขาอ่อนแรง ที่เรียกว่าอัมพาต
4.2 ภาวะเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมให้เหมาะสมก็จะเกิดภาวะไตวาย
4.3 การท้องผูกเรื้อรังก็อาจจะเกิดจากการอุดตันของลำไส้
4.4การที่แขนขาอ่อนแรงทั้งหมดเคลื่อนไหวไม่ได้เลยก็เกิดตามหลังกระดูกสันหลังส่วนคอหักจากการบาดเจ็บ (cervical cord injury)
4.5 การมีก้อนเนื้องอกกดทับไขสันหลัง ทำให้ขาสองข้างเป็นอัมพาต (paraplegia)
4.6 ภาวะสมองอักเสบ (encephalitis) ทำให้พูดไม่ได้ (Aphasia) ดังนี้เป็นต้น

5. ประวัติการเจ็บป่วยไม่ชัดเจน เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้สังเกตหรือจดจำอาการเจ็บป่วยในอดีตหรือปัจจุบัน หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยปกปิดความจริงจากการเจ็บป่วย เนื่องจากไม่ต้องการบอกข้อมูล(ที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นความลับส่วนตัวของตน)แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลนั้นเองอาจเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการเจ็บป่วยในขณะนี้ และเมื่อแพทย์ไม่ทราบก็อาจจะทำให้ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องจนอาจทำให้การรักษานั้นไม่เป็นผลดีก็ได้

6. ความเสียหายที่เกิดจากระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าระบบการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุของประเทสไทยนั้น มีความบกพร่องและไม่สมบูรณ์แบบอยู่มาก เช่น การขาดแคลนบุคลากร แต่มีจำนวนผู้ป่วยมาก การขาดแคลนพทยืผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำให้แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญ การขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์(ต้องอาศัยพี่ตูนบอดี้แสลม วิ่งการกุศลหาเงินมาซื้อเครื่องมือได้บ้าง แต่ยังขาดอีกเยอะ)
การฟ้องร้องแพทย์หรือบางคนเรียกว่า “ข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วย” นั้นแตกต่างจากข้อพิพาทอื่นอย่างไร?

จากการอ่านบทความของดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร ที่เขียนว่า “ คำว่า No-Fault จึงอาจมีความหมายว่า ไม่ได้ทำผิด หรือไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นว่า ไม่ถือว่าเป็นความผิด มากกว่า เพราะแท้จริงแล้วการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นความผิดไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่ต้องมีการพิสูจน์และไม่ต้องรับโทษในชั้นนี้ เพราะไม่ถือว่าเป็นความผิด” ในทางการแพทย์จึงไม่เป็นความจริงในกรณีข้อพิพาทระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตามเหตุผลที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า “ความเสียหายที่เกิดจากการไปรับการรักษาจากแพทย์นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดได้ใน 6 กรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างในอีกหลายสิบหลายร้อยตัวอย่างซึ่งไม่สามารถยกมากล่าวได้หมดในที่นี้

ส่วนการที่ดร.เฉลิมพลเขียนไว้ว่า “ เมื่อมาพิจารณาเรื่องทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ถ้าจะเอาคำว่า No-Fault มาใช้ก็น่าจะมีความหมายเดียวกันคือ
หนึ่ง...มีการกระทำ ซึ่งจะเป็นไม่เจตนา หรือประมาทเลินเล่อ ก็แล้วแต่
สอง...การกระทำนั้นเป็นความผิด และ
สาม...แต่กฎหมายให้ถือว่าไม่เป็นความผิด..ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเว้น
แต่ถ้าเป็นเจตนา ก็เท่ากับเป็นเรื่องทุรเวช และไม่เข้าลักษณะ No-Fault แน่นอน”

จึงไม่น่าจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ เพราะคำว่าทุรเวชปฏิบัติหรือ Medical Malpractice นั้นมีความหมายว่า แพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วย “ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน”
แล้วจะตัดสินอย่างไรว่า “การรักษาผู้ป่วยในขณะนั้นมีมาตรฐานหรือไม่?” การที่เราจะเอามาตรฐานการแพทย์มาตัดสินการรักษาผู้ป่วย ก็ต้องเอามาตรฐานของแพทย์ในสภาพการณ์เช่นเดียวกัน รวมกับมาตรฐานของโรงพยาบาลในระดับเดียวกันมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินมาตรฐานในการรักษา เช่น ในกรณีของแพทน์ทั่วไปที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา (ยังขาดความเชี่ยวชาญหรือชำนาญการ)ที่รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชนที่ (ขาดแคลนเครื่องมือ เทคโนโลยี เอ๊กซเรย์ อัลตร้าซาวน์ ซีทีสแกน หรือ MRI ขาดแพทย์ผ่าตัด แพทย์ระงับความรู้สึก) มาเปรียบเทียบกับการรักษาผู้ป่วยแบบเดียวกันในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์(มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ) และมีเครื่องมือ เทคโนโลยี เวชภัณฑ์ และผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา เอามาเปรียบเทียบเป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ได้

ความสัมพันธ์ ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยแตกต่างจากความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมทั่วไป

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย นั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ “เสมอกัน” เนื่องจากแพทย์นั้นมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะ และการฝึกฝนมามากกว่าผู้ป่วย แพทย์จึงเป็นผู้ “แนะนำหรือออกคำสั่ง” ในการรักษาที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามจึงจะเกิดผลดีในการรักษาความเจ็บป่วย ฉะนั้นผู้เป็นแพทย์จึงต้องเป็น “ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ หรือความเชื่อถือ ศรัทธา”จากผู้ป่วยหรือประชาชน เขาจึงจะทำตามคำสั่งหรือคำแนะนำของแพทย์

การที่แพทย์จะได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยนั้น แพทย์จึงต้อง “ทำหน้าที่ของแพทย์” โดยต้องยึดหลัก “จริยธรรมทางการแพทย์” ในการทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด จริยธรรมเหล่านี้ มีความหมายรวมถึง
1. มีเป้าหมายให้เกิดผลดีที่สุดต่อผู้ป่วยของตน ที่ตนกำลังทำการรักษา
2. ต้องหลีกเลี่ยงจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ตัวอย่างผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น เลือกใช้ยา ก.ที่ไม่ให้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยของตน แต่เลือกใช้ยาข.ที่อาจมีผลดีไม่เหมือนยาก. เนื่องจากพราะบริษัทที่ขายยาข. ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากการสั่งยาข.
3. รักษาความลับของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
4. ทำงานโดยรักษาหลักในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และความเชี่ยวชาญด้านคลินิกอย่างเคร่งครัด

ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้นับเป็นหลักจริยธรรมที่แพทย์ทั่วโลกต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ในส่วนของแพทย์ในประเทศไทยนั้น ทางการได้จัดให้มี “แพทยสภา” เป็นสภาวิชาชีพ ที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในมาตรา 7(1) คือควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยในหมวด 5 ของพ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอยู่จากมาตรา 26-31
โดยมาตรา 31 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ต้องรักษาจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับของแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาได้ออก “ข้อบังคับ”แพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 มากมายหลายหมวดหลายข้อ
และมาตรา 32 ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม(แพทย์) ผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกโดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา
มาตรา 39 คณะกรรมการแพทยสภามีสิทธิวินิจฉัยชี้ขาดและลงโทษแพทย์ที่กระทำผิดได้ 4 ระดับ ตั้งแต่ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคฑัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต (ห้ามทำงานรักษาผู้ป่วย เรียกว่าจำคุกความเป็นแพทย์) มีกำหนดไม่เกินสองปี และขั้นรุนแรงที่สุดคือ เพิกถอนใบอนุญาต (ห้ามทำงานรักษาผู้ป่วยตลอดไป เรียกว่าประหารชีวิตความเป็นแพทย์)

แต่การทำงานของกรรมการแพทยสภานั้นอาจ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการไปรับการรักษา ผู้ป่วยไม่พอใจได้ในหลายกรณี ดังเช่น การแพ้ยาจนตาบอด เกิดจาก อาการอันไม่พีงประสงค์จากการใช้ยา เช่นในกรณี Steven-Johnson’s Syndrome โดยแพทยสภาได้ตัดสินว่าเป็น “เหตุสุดวิสัย” เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีประวัติแพ้ยามาก่อน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผลของการแพ้ยาจนทำให้เกิดความพิการนี้ นี่คือกรณีความเสียหายที่ไม่มี (แพทย์)ผู้ใดทำผิด ซึงในไทยมีกฎหมายให้เงินช่วยเหลือใน 2 กรณีคือ ถ้าเป็นผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และผู้ป่วยในระบบ 30 บาท โดย ผู้ป่วยก็จะได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายนี้จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ซึ่งจะมีการช่วยเหลือเบื้องต้นให้เป็นเงินสูงสุด 2 ล้านบาท

ผู้เขียนจึงขอสรุปว่า ความเสียหายของผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาจากแพทย์/โรงพยาบาลต่างๆนั้น มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เกิดจาก “ความผิดพลาดของแพทย์” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ความเสียหายนี้ มีกฎหมายช่วยเหลือแล้วในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบประกันสังคม โดยอาศัยหลักการสอบสวนเบื้องต้นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการได้ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล โดยเป็นความเสียหายที่เกิดจากทั้งการไม่มีการทำผิด ( No Fault) คือการชดเชยโดยปราศจากความผิด (No Fault Compensation) แต่ในขณะเดียวกัน มาตรา 41 ก็มีการชดเชยในกรณีที่มีการ “ทำความผิด”เนื่องจากยังมีการ “สอบสวน”ก่อนจ่ายเงินชดเชย และยังมีมาตรา 42 ให้ “ไปไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำความผิด” อีกด้วย

ในส่วนข้อเสนอเรื่องการใช้อนุญาโตตุลาการทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้น(2) ผู้เขียนเชื่อว่า คงไม่สามารถยุติ “ข้อพิพาทในทางการแพทย์”ได้ ซึ่งจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทยสภาทำหน้าที่ “พิจารณาข้อพิพาทาทงการแพทย์” โดยคณะกรรมการแพทยสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็น “คนกลาง”ที่มีความรู้ทางวิชาชีพแพทย์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ยังไม่สามารถทำความั่นใจให้กับคู่กรณีไม่ว่าแพทย์หรือประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากแพทยสภาเองก็ถูกคู่กรณีทั้งแพทย์และฝ่ายประชาชน นำคดีไปฟ้องศาลปกครองอยู่ตลอดมาเช่นกัน

ผู้เขียนขอเสนอว่า การป้องกันความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากแพทย์เป็นสิ่งสำคัญที่ในระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทยยังขาด “การป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย”เป็นอย่างมาก เช่น การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักเกินไป มีผู้ป่วยมาก ทำให้แพทย์ต้องเร่งรีบทำงาน จนเสี่ยงต่อความเสียหาย เช่นมีเวลาตรวจร่างกายผู้ป่วยคนละ 2- 4 นาที และไม่มีเวลาพอที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยฟังจนเข้าใจ ถึงข้อจำกัดในทางการแพทย์ว่า ในหลายๆกรณีก็อาจเกิดความเสียหายโดยไม่ได้มีความผิดของแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้ผู้ป่วยผิดหวังเมื่อเกิดความเสียหาย แม้ว่าความเสียหายนั้น ไม่ได้เกิดจากการรักษาผิดพลาด ต่ำกว่ามาตรฐาน ประมาทเลินเล่อ หรือละเลยไม่เอาใจใส่ผู้ป่วย

เนื่องจากว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถจะรักษาชีวิตผู้ป่วยทุกคนได้ ทำได้แต่เพียงรักษาได้จนสุดความสามารถ แต่ผู้ป่วยจะรอดหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับบุพกรรมที่ทำมา หรือตามแต่ประสงค์ของพระเจ้าจะบันดาลให้เป็นไป แม้แพทย์จะได้ใช้ความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการแพทย์ อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของตนและทำตามมาตรฐานที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ทุกคน ผู้ป่วยบางคนเดินมาโรงพยาบาลแต่ต้องหามออกไป ผู้ป่วยบางคนถูกหามมา แต่เดินปร๋อกลับบ้านก็มี

เนื่องจากมีคำกล่าวของ Sir William Osler (Father of Modern Medicine) ว่า Medicine is a Science of Uncertainty and an Art of Probability แปลว่า การแพทย์เป็นวิทยาศาตร์ของความไม่แน่นอน และเป็นศิลปศาสตร์ของความ น่าจะเป็น


..............................................

เมื่อดร.ทางด้านกฎหมายจะผลักดันการเสนอร่างกฎหมายโดยอ้างว่า "ไม่พิสูจน์ความผิด"
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา
ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณศุข
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ผู้เขียนเรื่องนี้ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ให้ไปร่วมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "การชดเชยความเสียหายโดยไม่พิสูจน์ความผิดในการให้บริการสาธารณสุข : ประสบการณ์ตามกฎหมายไทยและต่างประเทศ
"No FAULT COMPENSATION SCHEMES" IN HEALTH CARE SERVICES: THAI AND FOREIGN EXPERIENCES ที่จัดโดยศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยการสัมมนานี้ มีวิทยากรที่มาบรรยาย 5 คน เป็นดร.ด้านกฎหมายที่เป็นคนไทย 4 คน และเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายชาวต่างประเทศ 1 คนโดยใช้เวลาตั้งแต่ช่วงเช้าในการเปิดการสัมมนา จนเกือบหมดเวลาอภิปรายและซักถาม (ให้เวลาตรงส่วนนี้น้อยมากไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าการสัมมนา น่าจะเรีนกว่า "การบรรยาย" น่าจะถูกต้องกับการดำเนินการในวันนี้)

ผู้เขียนจะขอสรุปการนำเสนอหรือการบรรยายของวิทยากรแต่ละคนดังนี้

ศ.วิทูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสัขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ได้แจกเอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปความรับผิดทางกฎหมายของแพทย์"สรุปได้ว่าวัฒนธรรมการฟ้องคดีในศาลได้ปรากฎเพิ่มขึ้นทั่วโลก ในหลายประเทศมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยจากแพทย์มากขึ้น แต่แพทยสมาคมในหลายประเทศได้ตื่นตัวต่อปัญหาเหล่านี้ ที่มีการฟ้องเรีนกค่าเสียหายจากแพทย์เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั้งนี้การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาพยาบาลที่ขาดแคลนอยู่แล้วต้องถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในศาลแทนที่จะได้ใช้ในการรักษาผู้ป่วย และอ้างว่าการฟ้องคดีในศาล ยังไม่สามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างความประมาทเลินเล่อ (negligance) กับผลอันไม่พึงประสงค์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (unavoidable adverse outcome)ออกจาก "ผลอันไม่พีงประสงค์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"ได้อย่างชัดเจน

นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ได้อ้างคำแถลงของแพทยสมาคมโลก (The World Medical Association Statement) ว่าขอเรียกร้องอย่างแรงให้แพทยสมาคมในประเทศต่างๆ ใหีมีการเสนอเพื่อให้สร้างระบบยุติธรรมทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้(A reliable system of Medical Justice) ขึ้นในประเทศของตน

ขณะที่รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอ "บทวิเคราะห์และผลการทบทวนประสบการณ์ใน 6 ประเทศ โดยได้สรุป แนวคิดและปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบระบบการชดเชยความเสียหายจากระบบการแพทย์ว่า

1.ความเสียหายในการรับบริการทางการแพทย์มีอยู่จริง
2.ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Errors) จำนวนมากมายที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดพลาดหรือความบกพร่องของบุคคล อาจเป็นปัญหาเชิงระบบก็ได้
3. ความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นในระบบไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความขัดแย้ง

แต่ดร.ลือชัย ศรีเงินยวงไม่ได้พูดถึง "ผลอันไม่พีงประสงค์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (unavoidable outcome)" กล่าวคือ มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยโดยไม่มีแพทย์หรือบุคลากรผู้ใดทำผิด และระบบก็ไม่ผิด (ทั้งนี้เป็นเพราะดร.ลือชัยฯ ไม่ใช่แพทย์จึงไม่เข้าใจเรื่องนี้เหมือนประชาชนทั่วไป เช่นการมีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยแพ้ยา หรืออาการป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั้งๆที่แพทย์ได้ดำเนินการรักษาตามมาตรฐานและจริยธรรมแล้ว -ผู้เขียน)

ทั้งนี้ดร.ลือชัยฯ ได้ยกตัวอย่างความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และกล่าวว่า ปัญหาความเสียหายทางการแพทย์หรือกรณีฟ้องร้องแพทย์นี้ กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่มากของวิชาชีพทางด้านกฎหมาย แต่เขาคิดว่า "การฟ้องศาลเป็นระบบที่ได้ไม่คุ้มเสีย" เช่นเสียความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เสียสุขภาพจิตทั้งสองฝ่าย กระทบต่อการเงินการคลังระบบสุขภาพ รวมทั้งค่าชดเชยที่ผู้ป่วยได้รับมักน้อยกว่าเงินที่ต้องจ่ายในการดำเนินการฟ้อง
และเขายังกล่าวอีกว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ทำให้เกิดวิกฤติของระบบประกันภัยทางการแพทย์ เพราะการฟ้องร้องที่มากขึ้นและการที่ศาลตัดสินให้บริษัทประกันจ่ายเงินชดเชยสูงขึ้นมาก ทำให้บริษัทรับประกันหลายแห่งเลิกรับประกัน รวมทั้งมีการขึ้นค่าเบี้ยประกัน (จากแพทย์) ซึ่งทำให้แพทย์ขึ้นราคาค่าดูแลรักษาผู้ป่วยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้นมากเพราะการฟ้องเรียกค่าเสียหายเหล่านี้

ดร.ลือชัยฯ ยังสรุปอีกว่ายังมีผู้ป่วยส่วนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงกลไกการไปฟ้องศาล ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการชดเชย โดยอ้างรายงานของ Harvard Medical Practice Study ในปี 1999 ว่า ผู้เสียหายในสหรัฐเพียง 1 ใน 8 คนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงและใช้ระบบฟ้องศาล และมีเพียง 0.5 ใน 8 คน ที่ฟ้องศาลแล้วได้รับการชดเชย และกระบวนการฟ้องศาลนั้นใช้เวลานาน โดยอ้างว่าในอังกฤษใช้เวลานาน 5-6 ปี และเพียงร้อยละ 10 ของผู้ฟ้องศาลเท่านั้นที่จะได้เงินชดเชย
แล้วเขาก็สรุปว่า จากวิกฤติดังกล่าว จึงนำมาสู่คำถามว่า การให้คนไข้ไปฟ้องศาลเป็นกลไกเดียวที่ "เหมาะสม"หรือไม่ และเขาได้สรุปว่า ต้องมีการเดินคู่กัน ระหว่าง การปฏิรูประบบการชดเชยค่าเสียหายและสร้างระบบความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย (ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย 100% เต็ม)

เขาได้อ้างว่าประเทศอังกฤษนั้น สมาคมแพทย์อังกฤษ เอง เป็นผู้มาเรียกร้องให้มีสิ่งที่เรียกว่า No Fault Compensation System) ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้ ก็เห็นด้วยว่าประเทศไทยเราก็ควรมีระบบ No Fault Compensation (NFC) แต่ไม่ใช่เป็นแบบที่ยกร่างกันขึ้นมาของกลุ่มนักกฎหมายและเอ็นจีโอ หรือเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ในประเทศไทย ว่า"เป็นกฎหมายชดเชยความเสียหายแบบที่ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด" เหมือนหัวข้อการสัมมนาของศูนย์กฎหมายสุขภาพแบะจริยศาสตร์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง และอีกหลายๆดร.ของศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาตร์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ดร.วีรวัฒน์ จันทโชติ หรือ ดร.นิรมัย พิศแข ได้นำเสนอในการสัมมนาวันนี้

แต่มีนักกฎหมายท่านหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ท่านไม่ได้บอกว่าท่านเป็นด็อคเตอร์ ท่านใช้ชื่อว่า Mr. Archie A. Alexander III เป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์มธ.ได้อธิบายความถูกต้องตามความหมายของกฎหมาย ชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข 2 แบบ ดังต่อไปนี้คือ

1. การชดเชยความเสียหายโดยไม่มี(ผู้ทำ)ความผิด หรือเรียกว่า NO FAULT COMPENSATION (NFC) หมายถึงการชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ทำผิด ระบบก็ไม่ผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจาก "ผลอันไม่พีงประสงค์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ Unavoidable Adverse Outcome" เช่นมีอาการแทรกซ้อน ผู้ป่วยแพ้ยา หรือการรักษาตามมาตรฐานแต่ผลลัพท์ไม่เป็นไปตามนั้น มีอาการอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น
โดยMr.Alexander ได้ยกตัวอย่างกฎหมายของสหรัฐที่เป็นลักษณะ NFC เช่น National Childhood Vaccine Injury Act of 1986 แะ Florida Birth-Related Neurological Injury Compensation Act และ Virginia Birth-Related Neurological Injury Compensation Act และ General NFC Medical Plans Multiple States มีในหลายๆรัฐ

2. การชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการทำความผิด(medical malpractice) เรียกว่า Post-Fault Patient Compensation Schemes หมายถึงการชดเชยความเสียหายแก่ผู้ป่วยในกรณีที่มีการทำผิดมาตรฐานหรือประมาทเลินเล่อ (Malpractice or negligence) โดยยกตัวอย่างกฎหมย New York State Medical Indemnity Fund และ State Sponsored Compensation Fund ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนไว้สำหรับชดเชยความเสียหายแก่ผู้ป่วยในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการที่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทำผิดมาตรฐานหรือประมาทเลินเล่อ

นอกจากนี้ก็จะมีระบบการฟ้องศาลเรียกว่า Tort Law หรือกฎหมายแพ่ง ให้ศาลตัดสิน
การขอรับการชดเชยความเสียหาย

Mr.Alexander ได้อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติในการที่ผู้ป่วย(หรือญาติของผู้ป่วย)ที่ได้รับความเสียหายจากการไปรับการรักษาหรือการบริการสาธารณสุข นั้นว่า การชดเชยความเสียหายจากNFC นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อิสระ (Require Claims Review by Independent Medical Experts) และไม่ให้นำไปฟ้องศาลจนกว่าขบวนการการเรียกร้องจะสิ้นสุด และอนุญาตให้นำไปฟ้องศาลได้ ถ้ามี "การกระ ทำที่เลวร้าย" (bad act) และในการพิจารณาจ่ายค่าเสียหายนี้จะต้องรายงานต่อ Medical Disciplinary Authority ด้วย โดยผู้ที่ต้องร่วม "จ่ายเงิน"เข้าสู่กองทุนชดเชยความเสียหายนั้น มาจากแพทย์ โรงพยาบาล และบริษัทประกัน

อย่างไรก็ตาม Mr. Alexander ได้สรุปว่า ผลจากการมีกฎหมาย NFC ในรัฐเวอร์จิเนียและรัฐฟลอริด้า ได้ทำให้การฟ้องร้องเกี่ยวกับ Medical Malpractice ลดลง การประกัน Medical Malpractice ก็ ไม่เปลี่ยนแปลง(เบี้ยประกันไม่พุ่งสูงขึ้น Stabilized) กระบวนการชดเชยความเสียหายก็ยุติธรรมมากขึ้น (improved fairness)

แต่ในอีกหลายมลรัฐของสหรัฐที่พยายามจะออกกฎหมายเกี่ยวกับ NFC ก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการอ้างว่า มีกลุ่มผลประโยชน์(Special interest groups) ต่อต้านการออกกฎหมาย NFC ได้แก่ กลุ่มกฎหมายที่อ้างถึงการเข้าถึงสิทธิ์ในการฟ้องร้องRight to Access Courts)และองค์กรทางด้านการแพทย์ (Organized Medicine "Tort Reform Work')

และสรุปสุดท้ายว่า ประสบการณ์การใช้กฎหมาย NFC ของสหรัฐ นั้นได้ผลดี แต่ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานก่อนที่จะมีการใช้กฎหมายนี้โดยทั่วไป ไม่ใช่มีใช้เฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการชดเชยในบางเรื่อง(การฉีดวัคซีนและ การคลอด) ในบางมลรัฐเท่านั้น

ส่วนในกรณีการชดเชยโดยกระบวการ Post Fault Compensation หรือการฟ้องศาลนั้น ก็ย่อมมีการตรวจสอบหรือพิสูจน์กระบวนการรักษาผู้ป่วยว่าถูกต้องหรือทำความผิด (malpractice) หรือไม่
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในการจ่ายเวินค่าชดเชยความเสียหายในการรับบริการสาธารณสุขนั้นมจะต้องมีการดิสูจน์ถูก/ผิด ในการดำเนินการทางการแพทย์ทุกกรณี


ส่วนในประเทศไทยนั้น ผู้เขียนได้ติดตามความเคลื่อนไหวในการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... มาอย่างยาวนานตั้งแต่พ.ศ. 2553 ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลของนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมาในยุครัฐบาลคสช.นี้ ก็มีความเคลื่อนไหวของผู้ที่อยากผลักดันให้เกิดพ.ร.บ.นี้ผ่านคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาปฏิรูปแห่งชาติ ผ่านกลุ่มกฎหมายของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลักดนร่างกฎหมายนี้ ต่างก็มีความเข้าใจผิดว่า No Fault Compensation คือการชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งผู้เขียนเรื่องนี้ ได้สอบถามนักกฎหมายมหาชน คือนายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ ว่ามีประเทศใดในโลกบ้างที่จะชดเชยความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากแพทย์โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งนักกฎหมายผู้นี้ได้บอกผู้เขียนว่า ไม่มีประเทศใดเลยในโลกนี้ที่จะชดเชยผู้เสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด

และถ้าดูจากการบรรยายของวิทยากรในการสัมมนาเมื่อวานนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการชดเชยความเสียหายนั้น ต้องมีการทบทวนกระบวนการรักษาผู้ป่วยแล้วทั้งสิ้น  แม้แต่การชดเชยโดยไม่มีผู้ทำผิดก็เช่นเดียวกันที่จะต้องมีการตรวจสอบกระบวนการรักษา เพื่อจะได้รู้ว่าความเสียหายจากการไปรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือการละเลย(ไม่ทำหน้าที่)หรือมีการทำผิดมาตรฐาน(หรือเรียกว่า malpractice) หรือเกิดจากการที่ไม่มีผู้ใดทำผิดแต่ความเสียหายเกิดขึ้นจากผลอันไม่พึงประสงค์หรืออาการแทรกซ้อน (unavoidable adverse outcomes or complications) ทั้งนี้การทบทวนกระบวนการรักษา(หรือการพิสูจน์ถูก/ผิด) จะทำให้ได้ทราบถึงความบกพร่องในการดำเนินการทางการแพทย์นั้นๆ และสามารถนำเอาข้อบกพร่อง(ถ้ามี)ในการให้การรักษาผู้ป่วยนั้น ไปแก้ไขและพัฒนาการดำเนินการทางการแพทย์ในเวลาต่อไปได้

ฉะนั้นถ้าอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ที่อาจจะเชี่ยวชาญด้าน(การอ่านกฎหมาย) แต่ไม่เข้าใจกระบวนการทางการแพทย์และผลจากการดำเนินการทางการแพทย์) และไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ (ง่ายๆว่า No Fault แปลว่าไม่มีความผิด กลับไปแปลเอาเองว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด) ก็จะทำให้การร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (ถ้าออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ) จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขของไทยอย่างมากมายมหาศาลไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั้งผู้ไปรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์ และแก่บุคลากรทางการแพทย์เช่นเดียวกัน

ผู้เขียนจึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข ที่รับผิดชอบระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ได้ให้ความสนใจต่อการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักกฎหมายสากลของนานาอารยะประเทศด้วย ก่อนที่จะทำให้ความเข้าใจผิดของนักกฎหมายบางคน สร้างความเสียหายต่อระบบความยุติธรรมในด้านสาธารณสุข และความเสียหายอื่นๆดังกล่าวแล้ว


..............................................


การแก้ปัญหาปลายเหตุ ... ศ.นพ.สมศักดิ์โล่ห์เลขา //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=20-04-2016&group=7&gblog=198

ได้ไม่เท่าเสีย ....โดย สุนทร นาคประดิษฐ์ (ความเห็น เกี่ยวกับ การฟ้องร้องแพทย์ ) //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=13-03-2009&group=7&gblog=21

ถอดความ รายการสามัญชน คนไทย ตอนกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบทางสาธารณสุข ... ชเนษฎ์ ศรีสุโข //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-11-2016&group=7&gblog=208

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขานายกแพทยสภาชี้คดีฟ้องหมอพุ่ง หวั่นอนาคตระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะเจ๊ง //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=19-09-2016&group=7&gblog=201

นศ.แพทย์ เจอดี! ประชาชนฟ้อง ฉีดยาชุ่ย!ฆ่าทารก ! //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=24-01-2009&group=7&gblog=11

ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (ProfessionalLiability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-04-2016&group=7&gblog=197

ฟ้องร้องแพทย์ ความยุติธรรมแก่ใคร ฤๅ??? //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2009&group=7&gblog=12

เมื่อแพทย์และพยาบาลต้องล้มละลายเพราะถูกไล่เบี้ย //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=15-11-2016&group=7&gblog=207

Create Date :05 กันยายน 2560 Last Update :5 กันยายน 2560 17:31:10 น. Counter : 1639 Pageviews. Comments :0