bloggang.com mainmenu search


ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ โดย อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


17 เมษายน 2559 08:28 น.
ประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) ทางออกหนึ่งสำหรับคดีทางการแพทย์ แฟ้มภาพ
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


       การฟ้องร้องคดีทางการแพทย์ (Medical Lawsuits) ในสหรัฐอเมริกานั้นถือว่าแพร่หลายมาก เปิดโทรทัศน์ดูก็จะมีบรรดาบริษัททนายความ (Law Firms) ทั้งหลายโฆษณาบอกประชาชนว่าให้มาฟ้องเรียกร้องได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ให้บริการปรึกษาฟรี และจะพาไปฟ้องศาลฟรีด้วย หลายๆ บริษัทถึงกับโฆษณาว่าหากท่านได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้ยา xx หรือ การรักษาโรคด้วยวิธีการ xxx ท่านสามารถมาปรึกษาเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทางการแพทย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด เรามีความชำนาญเป็นพิเศษในการฟ้องร้องแพทย์ในคดีนี้ เมื่อท่านชนะคดีเราจึงคิดค่าบริการจากมูลค่าความเสียหายที่ท่านเรียกร้องจากแพทย์ได้ กลายเป็นว่าการฟ้องร้องคดีทางการแพทย์กลายเป็นธุรกิจทำเงินหารายได้ของทนายความ ในสหรัฐอเมริกานั้นอาชีพยอดฮิตที่คนแย่งกันสอบเข้าไปเรียนมีสองอย่าง อย่างแรกคือแพทย์เพราะทำรายได้ได้ดี อย่างที่สองคือทนายความ และท้ายที่สุดทนายความก็แสวงหารายได้จากแพทย์ที่รายได้ดีอีกต่อหนึ่งด้วยการรับจ้างฟ้องแพทย์ที่เกิดการทำเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Medical Malpractice)

       ผมเคยนั่งคุยกับนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คนหนึ่ง ทำให้ทราบว่าจบมาทางด้านวิสัญญีแพทย์ ทำงานมานานมาก จนกระทั่งถูกฟ้อง มีคนไข้ตายระหว่างดมยา ซึ่งเขาก็อธิบายให้เราฟังว่า ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้เสมอ พอถูกฟ้องแล้วก็เลยหมดกำลังใจ เลิกทำหน้าที่วิสัญญีแพทย์ เลิกทำหน้าที่แพทย์เลย ลาออกจากงานแพทย์ทั้งหมด แล้วมาสมัครงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ห้าหกปีแล้ว ได้เงินน้อยกว่ามาก แต่สบายใจ ไม่ต้องเสี่ยงอะไร ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนไข้ ใช้ชีวิตเป็นเวลา ไม่ต้องอดหลับอดนอน ไม่ต้องเครียด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน มาเป็นนักวิจัยทางการแพทย์แทน มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล เขียนเปเปอร์ เขียนขอทุนวิจัย แต่ไม่ต้องรับผิดชอบคนไข้อีกต่อไป เขาบอกว่าจริงๆ แล้วก็ทำ Professional liability insurance เอาไว้เรียบร้อย มูลค่าความเสียหายนั้นทางบริษัทประกันภัยก็จ่ายให้เกือบหมด แต่หมดกำลังใจทำหน้าที่แพทย์อีกต่อไปแล้ว ขอมาทำอย่างอื่นแทน แขวนเข็มวางยาสลบไปเรียบร้อย

       ถ้าถามว่าการมีคดีฟ้องร้องทางการแพทย์นั้นทำให้ต้นทุนทางการแพทย์สูงขึ้นหรือไม่ การมีประกันภาระรับผิดชอบในวิชาชีพของแพทย์ ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า malpractice insurance หรือประกันภัยสำหรับการทำเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด แพทย์ในสหรัฐอเมริกาต้องซื้อประกันภัยชนิดนี้ทุกคนไว้เผื่อที่จะมีการฟ้องร้อง หรือบางทีโรงพยาบาลที่แพทย์นั้นๆ ทำงานก็เป็นคนซื้อให้ แต่แน่นอนว่าสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้ก็ไปรวมอยู่ที่ Medical Bills นั่นเอง ทำให้เป็นภาระของประชาชน ดังที่เราทราบกันดีว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกานั้นสูงที่สุดในโลก

       วันนี้ก็มีเหตุบังเอิญให้ได้สอนนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงที่นิด้า ได้ยกตัวอย่างบทความที่พยายามพยากรณ์จำนวนครั้งของการถูกฟ้องร้องคดีทางการแพทย์ของแพทย์ในรัฐฟลอริด้า จากบทความของ Fournier, Gary M. & Melayne Morgan McInnes. ในปี 2001 ชื่อบทความ The case of experience rating in medical malpractice insurance: An empirical evaluation ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Journal of Risk and Insurance ฉบับที่ 68 หน้าที่ 255-276 ซึ่งใช้แบบจำลองพยากรณ์ความถี่ของความเสียหายที่เรียกว่า Poisson and negative binomial regression analysis ในการพยากรณ์ความถี่ในการฟ้องร้องแพทย์แต่ละคนจากเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด

ผลการศึกษาพบว่า

       1) ระยะเวลาที่ได้ใบประกอบโรคศิลปะมีความสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งทำอาชีพแพทย์มานานมีแนวโน้มจะถูกฟ้องร้องลดลง
       2) การเป็นแพทย์ชายมีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง แพทย์ชายมีจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องมากกว่าแพทย์หญิง
       3) ปริมาณคนไข้ที่ตรวจรักษามีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งรักษาคนไข้มากเท่าใด ยิ่งมีคดีที่ถูกฟ้องร้องมาก ของไทยแพทย์ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขออกตรวจคนไข้ผู้ป่วยนอก (OPD) วันละกี่คนกันเอ่ย?
       4) ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาของแพทย์แต่ละคนโดยเฉลี่ยมีความสัมพันธ์ทางลบกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง หมายความว่าแพทย์ที่เรียนกันยาวนานมีจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้องค่อนข้างน้อยกว่า
       5) รายได้เฉลี่ยของแพทย์แต่ละคน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับจำนวนคดีที่ถูกฟ้องร้อง ยิ่งแพทย์มีรายได้มากเท่าใด ยิ่งมีจำนวนคดีโดยเฉลี่ยที่ถูกฟ้องร้องเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นจริงดังนี้แพทย์โรงพยาบาลเอกชนของไทยน่าจะมีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องสูงกว่าแพทย์ในภาครัฐ
       6) สาขาแพทย์เฉพาะทางที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการถูกฟ้องร้องคือ 1) ศัลยแพทย์ 2) สูตินรีแพทย์ 3) หมอหูคอจมูก 4) วิสัญญีแพทย์ 5) เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 6) รังสีวิทยา 7) อายุรแพทย์ และ 8) กุมารแพทย์ มีความเสี่ยงต่ำสุดในการถูกฟ้องร้อง

       ข้อหก นี้ สอดคล้องกับที่ได้ยินมาในประเทศไทย เนื่องจากได้ไปนั่งทานกาแฟกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์แพทย์และกำลังจะซื้อ Professional Liability Insurance ที่ว่านี้ ทำให้ทราบว่า เบี้ยประกัยสำหรับศัลยแพทย์และสูตินรีแพทย์นั้นแพงสุด หมอหูคอจมูกนั้นเบี้ยประกันภัยแพงปานกลาง ส่วนหมออายุแพทย์กับกุมารแพทย์นั้นเบี้ยประกันภัยถูกสุด

       อันที่จริงการมีประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) หรือประกันภัยเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Malpractice Insurance) สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นเรื่องดี ทำให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองดูแลดีขึ้น แพทย์เองก็ทำงานระวังมากขึ้น เพราะปกติเบี้ยประกันภัยนั้นจะแพงขึ้นในปีถัดไปถ้าแพทย์คนนั้นๆ ถูกฟ้องร้องมากๆ เรียกว่ามีบทลงโทษ (Malus) สำหรับแพทย์ที่มีเวชปฏิบัติที่ผิดพลาดบ่อยๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เสียหายก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทประกันภัยได้โดยตรง ซึ่งต้องจ่ายสินไหมให้อย่างสมเหตุสมผลและต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นเวชปฏิบัติที่ผิดพลาดจริงเสียก่อนจึงจะจ่ายให้ ปัญหาใหญ่คือแพทย์ต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเอง ได้ทราบมาว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้ซื้อประกันภัยดังกล่าวให้แพทย์ของตนไว้บ้างแล้ว สำหรับแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขนั้นความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ทางอาญาต้องรับผิดชอบเอง เรื่องนี้กฎหมายไทยยังมีประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับการพัฒนาอีกมากให้ทันสมัยและตรงตามความเป็นจริง

       สิ่งที่น่ากังวลคือ การแพทย์และการสาธารณสุขไทยกำลังเข้าสู่ยุคมืดของการฟ้องร้องกันอย่างเต็มที่เหมือนสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เรายังขาดแคลนแพทย์แสนสาหัส และการฟ้องร้องเหล่านั้นได้บั่นทอนกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ของแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขไปพอสมควร
       การมีประกันภัยภาระรับผิดชอบในวิชาชีพ (Professional Liability Insurance) หรือประกันภัยเวชปฏิบัติที่ผิดพลาด (Malpractice Insurance) แม้จะช่วยบรรเทาความเสียหายทางแพ่งลงไปได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหากำลังใจของบุคลากร และความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีมาในอดีตระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชนไปได้แต่อย่างใด
Create Date :17 เมษายน 2559 Last Update :17 เมษายน 2559 20:52:38 น. Counter : 1975 Pageviews. Comments :2