bloggang.com mainmenu search



สืบเนื่้องจากมีผู้ตั้งกระทู้ในห้องสวนลุม ... ผมไปแจม เลยนำมาลงไว้ที่นี้ด้วย

เผื่อคนสนใจ ... แต่บอกไว้ก่อนว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง นะครับ ...




" ถามคุณหมอครับ หมอมีสิทธิที่จะปฏิเสธคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินหรือเปล่าครับ ???? "

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8220337/L8220337.html


ผมอ้างถึง ประกาศแพทยสภา ..

ประกาศแพทยสภา เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์


ประกาศแพทยสภา

ที่ 46 /2549

เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์


เพื่อให้การดำเนินการทางการแพทย์เป็นไปอย่างเหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(3)(ฎ) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 คณะกรรมการแพทยสภา ในการประชุมครั้งที่ 11/2549 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 จึงมีมติให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การแพทย์ ในที่นี้ หมายถึงการแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งคือการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประโยชน์

ข้อ 2 การแพทย์ยังไม่สามารถให้การ วินิจฉัย ป้องกัน และ/หรือบำบัดให้หายได้ทุกโรคหรือทุกสภาวะ บางครั้งอาจทำได้เพียงบรรเทาอาการหรือประคับประคองเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น บางโรคยังมิอาจ ให้การวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก

ข้อ 3 ในกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์อาจเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ได้ แม้ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้วก็ตามซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

ข้อ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมใช้ดุลยพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหารือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วย

ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน อันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยต้องให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วย ตามความเหมาะสม

ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ ย่อมมีสิทธิ และได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม

ข้อ 7 ภาระงาน ข้อจำกัดของสถานพยาบาล ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการทางการแพทย์

ข้อ 8 การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ทำการวินิจฉัยและรักษา ย่อมมีผลเสียต่อการวินิจฉัยและการรักษา

ข้อ 9 การไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีผลเสียต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค

ประกาศ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
(นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา)
นายกแพทยสภา

//www.tmc.or.th/detail_news.php?news


ต่อด้วย ...



ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน อันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยต้องให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วย ตามความเหมาะสม


กรณีนี้ื เคยมีการโต้เถียงกันมากมาย ทั้ง ๆ ที่ ปกติ แล้วก็มีการปฏิบัติกันทั่วไป ... เพียงแต่ ติดที่้คำว่า " ปฎิเสธ การรักษา " เท่านั้นเอง ...

ในเมื่อ หมอเห็นว่า รักษาไม่ได้ ( คนไม่พอ เครื่องมือไม่พร้อม เลือดไม่มี ฯลฯ ) หมอก็ส่งต่อ ผู้ป่วยไปรักษา รพ.อื่น ที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งทุกท่าน ก็คงได้ยินว่า " หมอ ส่งต่อ ไปรักษาที่อื่น "


ข้อนี้ จะมีประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็นคือ

๑. เพื่อประโยชน์ ของ ผู้ป่วย

๒. ไม่เร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือ อันตรายถึงชีวิต ... หรือพูดกันง่าย ๆ ถ้าไม่รักษา ตอนนี้ ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บป่วยหนักมากขึ้น

๓. ต้องให้คำแนะนำ และ ส่งต่อ อย่างเหมาะสม ...



จะเห็นได้ว่า กว่าแพทย์ จะปฎิเสธ การรักษานั้น มีเงื่อนไข เยอะแยะ ไม่ใช่ว่า อยู่ดี ๆ ก็มาอ้างข้อนี้ ปฏิเสธ คนไข้ ..



ยกตัวอย่าง ได้เยอะแยะ ครับ ...

ผมเป็นหมอกระดูก ... มีคนไข้ เป็นผื่นผิวหนัง ผมไม่มียา ไม่เชี่ยวชาญ ก็ส่งต่อไปให้หมอผิวหนังรักษา

หมอ รพ.รัฐ .. ตรวจคนไข้ ตอนเช้าเยอะมาก มีคนไข้มาด้วย ก้อนที่ขา สงสัยมะเร็ง รพ.รักษาไม่ได้ ก็ส่งต่อไป คณะแพทย์


หมอ รพ.รัฐ ... ผู้ป่วยสูงอายุ ๘๐ ปี ปวดท้องสงสัยไส้ติ่ง อักเสบ แต่เนื่องจากเป็น รพ.ชุมชม ไม่มีพยาบาลดมยา ห้องผ่าตัดเครื่องมือไม่พร้อม หมอก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่าได้ ..เลยส่งไป รพ.จังหวัด ทีี่ห่างออกไป ๕๐ กม. โดยโทรฯ แจ้งประสานงานกันเรียบร้อย ...

แต่ คนไข้ (ญาติ ) บอกว่า ไม่ไป บังคับให้หมอผ่าให้ที่ รพ.ชุมชน ทั้งที่หมอได้บอกเหตุผลแล้ว .. แต่ก็ยังบอกว่า หมอต้องผ่าให้ที่ รพ.นั้น และ คนไข้ต้องปลอดภัย ถ้าคนไข้เป็นอะไรไปจะเอาเรื่องหมอ ???? ... ( อย่าคิดว่า ไม่มีนะครับ ที่ผมบอกมานะเรื่องจริง )




หมอ รพ.รัฐ อยู่เวร .. มีคนไข้ ฉุกเฉิน อุบัติเหตุ มาพร้อมกัน ๕ ราย หมอก็ไปดูคนไข้หนักเหล่านั้น แต่ คนไข้ เป็นหวัด มารอที่หน้าห้องตรวจ แล้วบอกว่า หมอไม่สนใจดูแลรักษา แบบนี้ ผมว่า คนไข้ ก็เกินไป ... ( อย่าคิดว่า ไม่มีนะครับ ที่ผมบอกมานะเรื่องจริง )

ถ้าหมอ ไม่ได้ให้การรักษา แล้ว ก็ไม่ส่งต่อ ไม่แนะนำ ... ปล่อยให้คนไข้ อยู่ตรงนั้น เฉย ๆ ไม่สนใจ ... แบบนี้ สิครับ ถึงจะเรียกว่า " ผิด " แต่ ผมไม่คิดว่า หมอคนไหน จะทำแบบนั้น ..



ติด แค่ คำบางคำ เท่านั้น ... เวลาอ่าน เวลาตีความ ก็ต้องอ่านให้ครบถ้วน ทั้งหมด ด้วย ...




ขอทำความเข้าใจหน่อยละกัน ..

กระทู้ก่อนหน้า ไม่เข้าไปแจม เพราะ ดู ๆ แล้ว คนที่เข้าไป ตั้งใจเข้าไปด่าอย่างเดียว ไม่ได้อยากรู้เหตุผล .. เข้าไปชี้แจง ก็โดนด่า ว่า เข้าข้างหมอด้วยกันเอง เสียเวลาเปล่า ๆ





มีคำถามต่อเนื่อง ...

แล้วหากเป็นกรณีที่ว่า หมอไม่ชอบโดยส่วนตัว (อย่างเรื่องที่ผมสมมุติ หรือเรื่องที่เป็นข่าว) อาจเกิดอคติ จนกลัวว่าตนจะรักษาได้ไม่เต็มที่ นี่สามารถส่งต่อ เหมือนอย่างกรณีเครื่องมือไม่พร้อม ได้หรือไม่ครับ

หากสามารถทำได้ แล้วผู้ป่วยควรได้รับการชี้แจง หรือคำแนะนำอย่างไรครับ เพราะดูเหมือนผู้ป่วยก็ไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้คาดมาก่อนว่าหมอจะไม่ชอบตนเอง

จากคุณ : ธัมมนันท



ผมก็ตอบไปว่า ....



ลองย้อนมาพิจารณาหลักการเบื้องต้น ๓ ข้อว่า หมอมีสิทธิ์ปฏิเสธ ได้หรือไม่ ???


ข้อนี้ จะมีประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็นคือ

๑. เพื่อประโยชน์ ของ ผู้ป่วย ???

....... ถ้าตนเองมีอคติ ไม่ชอบ แล้วส่งไปให้หมอคนอื่น ผมก็คิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับ คนไข้เอง เสียด้วยซ้ำ ...

....... ดีกว่า รักษาไป แบบไม่เต็มใจ ไม่ใส่ใจ ... ถ้าผมเป็นคนไข้ ผมกลับจะชื่นชมหมอเสียด้วยซ้ำ ที่รู้ข้อจำกัดของตนเอง ว่าจะรักษา ผม ได้ไม่ดี ... แล้วส่งผมไปรักษากับหมอคนอื่นที่รักษาได้ดีกว่าตัวหมอ

...... ในแง่กลับกัน ถ้าผมเป็นคนไข้ ... ผมไม่ชอบหน้าหมอ คนนี้ ผมก็ขอไปรักษาหมอคนอื่นดีกว่า



๒. ไม่เร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือ อันตรายถึงชีวิต ... หรือพูดกันง่าย ๆ ถ้าไม่รักษา ตอนนี้ ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บป่วยหนักมากขึ้น

........... ที่ยกตัวอย่างมาก็ไม่เข้ากับข้อนี้ ..


๓. ต้องให้คำแนะนำ และ ส่งต่อ อย่างเหมาะสม ...

........... หมอได้ชี้แจง แนะนำ ให้ไปรักษากับหมอท่านอื่น ซึ่งผมก็คิดว่า เพียงพอ เหมาะสมแล้ว นะครับ





แต่ถ้ามีอคติ .. แล้วไม่บอก ไม่ทำอะไร หรือ ทำอะไรที่ไม่เหมาะสมลงไป โดยที่คนไข้ไม่รู้ .. ผมว่า แบบนี้ แย่ยิ่งกว่า เสียอีก ....


หมอ ก็คน ธรรมดา นี่แหละครับ ... มีรักโลภโกธรหลง ... เพียงแต่ ได้รับการฝึกอบรม ให้มีคุณธรรม จริยาธรรม มากขึ้นเท่านั้น ..

ถ้ารู้ว่า ตนเอง ไม่สามารถที่จะให้การรักษาที่ดี กับผู้ป่วยได้ (ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม) ... แล้วส่งไปรักษา กับแพทย์ท่านอื่น ที่มีความสามารถมากกว่า รักษาได้ดีกว่า ตนเอง ... ผมว่า แค่นี้ ก็ถือว่า ใช้ได้ แล้วครับ


( ต่างจากกรณีฉุกเฉิน ถ้าไม่ช่วยแล้วเสียชีวิต หรือ ช่วยไม่เต็มที่กับศักยภาพที่มี ...แบบนี้ สมควรถูกลงโทษ สูงสุดเท่าที่มีระบุไว้ )


Create Date :20 สิงหาคม 2552 Last Update :28 กรกฎาคม 2560 14:07:12 น. Counter : Pageviews. Comments :9