bloggang.com mainmenu search




////www.thaisarn.com/th/news_reader.php?newsid=479492

//www.thaihealth.or.th/node/14376

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ




จริง-เท็จ แผนเด็ดโฆษณา ฟิลเตอร์เทพ-แอร์ฆ่าหวัด09


นักวิชาการชี้ เป็นไปไม่ได้



สถานการณ์ หวัด 2009 ยังไม่คลี่คลายสักเท่าใดนัก และยังปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่แทบทุกวัน โดยเฉพาะช่วงระบาดระลอกใหม่นี้ คนจำนวนไม่น้อยเกิดความวิตกไม่อยากให้ตัวเองและคนในครอบครัวต้องได้รับเชื้อ ต่างก็หาวิธีป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเจลล้างมือหรือหน้ากากอนามัย


ด้าน อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรคดังกล่าว ต่างก็ผลิตสินค้าของตัวออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้า ไม่เว้นแม้กระทั่ง “เครื่องปรับอากาศ” หลายยี่ห้อต่างก็แข่งกันโหมโฆษณานวัตกรรมใหม่ๆ ของบริษัทตัวเองว่า กรองแบคทีเรียได้บ้างล่ะ หรือบางยี่ห้อถึงกับอวดอ้างว่าฆ่าเชื้อหวัด 2009ได้ด้วยซ้ำ!


จริงหรือไม่จริงอย่างไร งานนี้ผู้บริโภคเองก็ไม่แน่ใจ แต่ก็มีไม่น้อยที่เชื่อในคำโฆษณาจนซื้อหาไปติดที่บ้าน ผศ.ดร.กอบชัย ภัทรกุลวณิชย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความกระจ่างในมายาภาพแห่งการโฆษณาว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย


“ที่ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยก็เพราะฟิลเตอร์ที่กรองเชื้อโรคได้มันเป็นฟิลเตอร์เฉพาะมาก เรียกว่า เฮปป้าฟิลเตอร์ (HEPA) และ ราคาแพงมาก ราคาน่าจะเท่าเครื่องแอร์หรืออาจจะแพงกว่าด้วย ปกติฟิลเตอร์ชนิดนี้จะใช้ในห้องผ่าตัดหรือห้องเพาะเลี้ยงที่ใช้เพาะเชื้อ เพาะเนื้อเยื่อโดยเฉพาะที่ต้องการให้ปลอดเชื้อโรคจริงๆ เท่านั้น ผมเชื่อว่าไม่มีทางที่อุตสาหกรรมแอร์บ้านจะนำมาใส่ในเครื่องปรับอากาศแล้ว ขายในราคาปกติเท่านี้ได้”


ผศ.ดร. กอบชัย กล่าวถึงประเด็นการฆ่าเชื้อโรคว่า ที่มีการโฆษณาว่าฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยประจุไฟฟ้ายังไม่ยืนยันว่าสามารถทำได้ หรือไม่ เพราะเท่าที่ศึกษา ยังหาเอกสารพิสูจน์ไม่ได้ และ เอกสารการวิจัยที่มี ก็มีเฉพาะที่บริษัทวิจัยเองและรับรองตัวเองว่าสามารถทำได้เท่านั้น ยังไม่เคยเห็นเอกสารการวิจัยจากแหล่งอื่นๆ

แต่เรื่องกรองไวรัสและแบคทีเรียได้นี่ เป็นไปไม่ได้แน่นอน

“ขนาด ฝุ่นละอองเล็กๆนี่ยังกรองไม่ได้เลยครับ ส่วนเรื่องกรองหวัดหรือฆ่าหวัด 2009 ผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ หากโฆษณากันว่าได้นี่คงต้องขอดู เพราะในฟิลเตอร์ปกติอย่าว่าแต่แบคทีเรีย เชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัสที่เล็กกว่าแบคทีเรียตั้งหลายเท่านี้กรองไม่ได้แน่ นอนครับ”


ผศ.ดร. กอบชัย แนะนำวิธีการเลือกแอร์ด้วยเอาปัจจัยของการกรองสิ่งปนเปื้อนในอากาศเป็น ประเด็นหลักในการเลือกว่า ดีที่สุดคือสอบถามผู้ขายถึงขนาดฟิลเตอร์ที่ใช้ในเครื่องปรับอากาศนั้นๆ

“ต้องถามเลยว่าขนาดฟิลเตอร์เท่าไหร่ ที่กรองได้จริงๆ ต้องเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ถ้าฟิลใหญ่กว่านี้กรองไม่ได้”


ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาจากรั้วสีชมพูอธิบายต่อถึงเรื่องที่หลายคนอยากรู้ไม่แพ้กันนั่นก็คือการเลือกซื้อ “เครื่องฟอกอากาศ” ว่าควรเลือกซื้อแยกชิ้นเป็นเครื่องปรับอากาศชิ้นหนึ่งกับเครื่องฟอกอากาศชิ้นหนึ่ง


“โดย หลักแล้วแอร์มีหน้าที่ทำความเย็น ผมแนะนำว่าควรจะดูประสิทธิภาพการทำความเย็น การประหยัดไฟ เพราะแอร์ธรรมดาราคาจะอยู่ระดับหนึ่ง แต่แอร์ที่มีเครื่องฟอกอากาศในตัวจะอีกราคาหนึ่ง แพงกว่า ถ้าอยากได้เครื่องฟอกอากาศก็ควรจะซื้อต่างหากเพราะจริงๆ แล้วมันเป็นคนละจุดประสงค์การใช้งาน ควรใช้แยกกันดีกว่า”

อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีวะฯรายนี้กล่าวโดยสรุปว่า แม้อนาคตอาจมีการคิดค้นแอร์ที่มีฟิลเตอร์ฆ่าเชื้อโรคขนาดเล็กอย่างไวรัสได้ จริงๆ แต่หากเราออกจากบ้านไปเจออากาศข้างนอกก็ยังคงเจอเชื้อโรคอยู่ดี


“ใน อากาศปกติมันมีอยู่แล้ว ทั้งเชื้อโรค รา ไวรัส แบคทีเรีย แต่ตัวที่มันร้ายจริงๆ มีไม่มากนัก ถึงติดแอร์ในบ้าน ออกไปมันก็ต้องเจอเชื้อโรค ผมอยากให้ดูเป้าหมายจริงๆ ของแอร์มากกว่า ว่า มันทำให้อากาศเย็น ไม่ได้มีไว้ฆ่าเชื้อโรคโดยตรง มันเป็นเรื่องของการโฆษณา แอร์มันก็แค่ทำความเย็น ทุกบริษัททำได้ แต่ทำอย่างไรให้มูลค่ามันเพิ่ม ก็ต้องเพิ่มฟีเจอร์การใช้ต่างๆ ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งผมว่ามันเป็นความฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น เหมือนเราใช้เครื่องซักผ้าปกติ ใส่ผงซักฟอก มันก็สะอาด และฆ่าแบคทีเรียระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราเลือกแบบนาโนซิลเวอร์ที่กำจัดแบคทีเรียได้มากขึ้น แต่ราคาแพงกว่ามาก มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนักเพราะแบบธรรมดามันก็ใช้ได้อยู่แล้ว”



ในขณะที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยรองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่าง “นพปฎล เมฆเมฆา” กล่าว ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมามีการโฆษณาเครื่องปรับอากาศในลักษณะกรอง จับ หรือฆ่าเชื้อโรคได้เป็นจำนวนมาก ทางสคบ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ได้ตรวจสอบผู้ผลิตหลายยี่ห้อ


“เรา ให้เขาพิสูจน์ เขาก็มีผลการวิจัยมาให้ แต่เท่าที่พบก็คือ มันเป็นการวิจัยของบริษัทแอร์เอง พื้นที่ทดลองในห้องวิจัยก็ไม่มาก ทดลองในพื้นที่จำกัด พอจับเชื้อได้ 4-5 ตัว ก็โฆษณาว่าจับเชื้อโรคได้ แต่พอเอามาใช้กับแอร์ซึ่งมีพื้นที่กว้างกว่าเราก็เกรงผู้บริโภคเข้าใจผิด จึงให้เขาใส่คำในโฆษณาด้วยว่าเป็นผลการทดลองจากห้องทดลอง ถ้าไม่ใส่ก็ถือว่ามีความผิด ปกปิดรายละเอียดสำคัญ ซึ่งถ้าเจตนาทำจะมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนเคสที่ทำป้ายใหญ่แต่คำชี้แจงรายละเอียดเล็กเราก็เชิญมาคุย ขอให้ปรับปรุง เพราะเชื่อว่าคนขับรถผ่านไปมาคงอ่านไม่ทัน”

รอง เลขาฯ นพปฎล กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาในปี 2549-2550 มีการโฆษณาประเภทนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่จะโฆษณาว่ากำจัดต้นเหตุภูมิแพ้ ฆ่าเชื้อ H1N1 ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริง ก็จับปรับไป 10 กว่าบริษัท

“ปี นี้สคบ.ก็เชิญบริษัทแอร์มาคุยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ขอให้เน้นการโฆษณาไปที่ความคงทน ความประหยัดไฟ และประสิทธิภาพการทำงาน อย่าเน้นไปในเรื่องฆ่าเชื้อโรคอะไรมากนัก เขาก็บอกว่าบอกเขาช้าไป เขาทำโฆษณาไปแล้ว ผมก็เลยบอกไปว่า ถ้าทำออกมาเกินจริงก็ต้องดำเนินคดีนะ แล้วมันก็จะเหนื่อยกันทุกฝ่าย

อยากฝากเตือนไปถึงผู้บริโภคด้วยว่า หากต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ทุกชนิด ควรทำการบ้านเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ซื้อก่อนจัดตัดสินใจ อย่าเชื่อคำโฆษณาโดยไม่หาข้อมูล” รองเลขาฯ นพปฎลทิ้งท้าย



Create Date :25 กุมภาพันธ์ 2553 Last Update :25 กุมภาพันธ์ 2553 17:11:12 น. Counter : Pageviews. Comments :1