bloggang.com mainmenu search
นำมาฝาก ..


//www.thaihospital.org/board/index.php?PHPSESSID=9112b8d2d96f995e98d0197ab50776dd&topic=763.0


คำถามที่ต้องตอบ และคำตอบที่ต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ
« เมื่อ: 28 ตุลาคม 2553, 08:22:00 »

คำถามที่ต้องตอบ และคำตอบที่ต้องใคร่ครวญเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ



ท่ามกลางข่าวสาร ข้อมูล สองด้านที่ตรงกันข้าม จากนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน และจากบุคลากรด้านสาธารณสุขในระยะเวลาเกือบครึ่งปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

คนทั่วๆไปที่ไม่ได้มีตัวร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ในมือ และไม่ได้หยิบขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจังก็คงลังเลว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ กลุ่มไหนถูก กลุ่มไหนผิด บางคนก็ตัดสินไปตามกระแสข่าว คติ และอคติที่มีติดตัวมา เป็นการตัดสินใจตามอารมณ์ และความรู้สึก

แม้แต่คนที่ตั้งใจหยิบร่างพ.ร.บ.ฯขึ้นมาอ่านมาพิจารณา แต่ถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น และไม่ได้มีความเข้าใจระบบสาธารณสุขดีพอ ก็ยากที่จะเข้าใจเนื้อหา และผลกระทบจากเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง

ผู้มีความรู้ด้านกฎหมายที่ไม่ได้มีความรู้ด้านสาธารณสุข คงรู้ความหมาย และเข้าใจถ้อยคำในร่างพ.ร.บ. แต่ก็คงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบด้านสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นการเข้าใจร่างพ.ร.บ.ฯแบบงูๆปลาๆ

ในทำนองเดียวกันผู้ที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขที่ไม่คุ้นกับภาษากฎหมาย และไม่ได้พยายามทำความเข้าใจ ไม่ได้ทุ่มเทเวลาศึกษาอย่างละเอียดทุกถ้อยคำ ก็อาจจะเข้าใจร่างพ.ร.บ.ฯแบบปลาๆงูๆ



จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมจึงมีผู้คนตั้งคำถาม ว่าทำไมหมอๆถึงใส่ชุดดำ ชูป้ายคัดค้าน และทำไมนักเคลื่อนไหวจึงเอาคนพิการ คนป่วยออกมาชูป้ายสนับสนุนที่ข้างถนน เบื้องลึกเบื้องหลัง รวมทั้งแรงจูงใจของแต่ละฝ่ายคงมีให้วิเคราะห์ให้วิจารณ์กัน แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของบทความนี้ ไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดกันที่นี่ แค่ลองมาดูข้อมูลแล้วมาตั้งคำถามกันดีกว่า



คำถามที่ต้องตอบ ก่อนคิดจะทำอะไรต่อไป

1. การเงินการคลัง

จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เกี่ยวกับผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล (ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)ในปี พ.ศ.2547 พบว่า มีการยื่นคำร้อง 99 ราย (มีการจ่ายเงิน 73 ราย) และในปี พ.ศ.2552 มีการยื่นคำร้องถึง 810 ราย (มีการจ่ายเงิน 660 ราย)

และจากสถิติของประเทศสวีเดน(ซึ่งเป็นประเทศที่มีการอ้างถึงว่ามีการใช้ กฎหมายลักษณะคล้ายร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้) ก่อนเริ่มมีการออกกฎหมาย (ปี ค.ศ.1975) มีการยื่นคำร้องประมาณสิบรายต่อปี พอปีค.ศ. 1997 มีประมาณเก้าพันราย พอถึงปี ค.ศ.2004 มีการยื่นคำร้องมากถึงหนึ่งหมื่นราย

นั่นคือ เป็นเกือบพันเท่าในระยะเวลายี่สิบกว่าปี ถ้าเอาข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ และของประเทศสวีเดน มาเขียนเป็นรูปกราฟ คงได้กราฟในลักษณะเดียวกัน คือ พุ่งขึ้นเป็นจรวด

จากข้อมูลของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีกฎหมายลักษณะนี้ มีการยื่นคำร้องประมาณ 2,000 รายต่อประชากร 4 ล้านคนต่อปี ถ้าเอาประชากรประเทศไทยมาคิด จาก 63 ล้านคน ก็คงจะมีการยื่นคำร้องประมาณ สามหมื่นรายต่อปี

จำนวนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม มาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จ่ายสูงสุดรายละสองแสนบาท แต่ในร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เงินชดเชย และอาจมีเงินจากการไกล่เกลี่ยอีก โดยไม่กำหนดเพดาน และมีการคาดการณ์กันว่า เป็นหลักล้านบาทขึ้นไปต่อราย

เอาตัวเลขที่คาดการณ์มาคิดดู ถ้ามีการใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประเทศไทยคงมีการใช้จ่ายเนื่องจากผลของพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นหลักหมื่นล้านบาทใน ระยะเวลาไม่กี่สิบปีข้างหน้า

ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการฟ้องร้องบุคลากรทางการแพทย์มาก ที่สุดในโลก นอกจากแพทย์จะต้องซื้อประกัน(สำหรับความผิดพลาดจากการตรวจรักษาคนไข้) เพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกฟ้องร้องแล้ว ด้วยความกลัวการเป็นคดีความ แพทย์ยังป้องกันตัวเองด้วยการกระทำที่เรียกว่า การแพทย์เพื่อป้องกันตัวเองจากความผิดพลาด ( Defensive Medicine) ซึ่งมีสองลักษณะ

ลักษณะแรก คือ การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือส่งเอกซเรย์มากเกินความจำเป็น เพียงเพื่อลดความกังวลของตัวเองโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ นั่นคือไม่เกิดประโยชน์ต่อคนไข้เลย

อีกลักษณะหนึ่งก็คือ หลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธที่จะทำหัตถการ หรือตรวจรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายเนื่องจากการแพทย์เพื่อป้องกันตัว เองจากความผิดพลาด (Defensive Medicine) สูงมากถึงหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ



ถ้ามีการใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการคาดการณ์กันว่า จะเกิดการแพทย์เพื่อป้องกันตัวเองจากความผิดพลาด (Defensive Medicine)อย่างเต็มรูปแบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งบประมาณภาครัฐที่ใช้ในด้านสาธารณสุขของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในหลักแสนล้าน บาทต่อปี นั่นหมายความว่า เงินประมาณหลักหมื่นล้านบาทจะถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์เพื่อการนี้


คำถาม : ผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อระบบการเงินการคลังของประเทศเป็นอย่างนี้ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดูแล และบริหารประเทศจะคิดอย่างไร ???




2. การเข้าถึงบริการ

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข( ปีพ.ศ.2553) ในส่วนของโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ยังขาดแคลนแพทย์เกือบสี่พันคน ขาดแคลนพยาบาลสามหมื่นกว่าคน ขาดแคลนทันตแพทย์เกือบสี่พันคน และขาดแคลนเภสัชกรพันกว่าคน

นอกจากนี้โรงพยาบาลต่างๆจำนวน 570 แห่ง(จาก 830 แห่ง) มีรายรับต่ำกว่ารายจ่าย โรงพยาบาล 258 แห่งขาดสภาพคล่องด้านการเงิน และโรงพยาบาล 191 แห่งมีสถานะด้านการเงินในขั้นวิกฤต

นี่คือความขาดแคลนทั้งด้านบุคลากร และด้านการเงินที่จะใช้ทางเพื่อการสาธารณสุขของประเทศเราในปัจจุบัน

แผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ได้มีการดำเนินมายาวนาน รัฐบาลได้สร้างโรงพยาบาลอำเภอแห่งแรกของประเทศขึ้นที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และได้เปิดให้บริการประชาชนในปี พ.ศ. 2495 หลังจากนั้นได้มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นเกือบทุกอำเภอทั่วประทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเอาบริการเข้าไปหาประชาชน แบบใกล้บ้านใกล้ใจ มีการพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลอำเภอ(ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาล ชุมชน) มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด มีการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และบุคลากร จนสามารถดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น ยกเว้นเพียงการผ่าตัดใหญ่ๆ หรือโรคที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงจะส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งพัฒนาจากโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาดที่ใหญ่ขึ้นมีขีดความสามารถในการดูแลรักษาประชาชนมากขึ้น ความจำเป็นในการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ตัวจังหวัดก็น้อยลงเรื่อยๆ ประชาชนได้อาศัยโรงพยาบาลใกล้บ้านนี่แหละเป็นที่พึ่งพิงในยามเจ็บป่วย

การพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศเรามีแนวทาง และดำเนินมาในลักษณะนี้จนกระทั่งเกิด”คดีร่อนพิบูลย์” ซึ่งเป็นการฟ้องร้องคดีอาญาต่อบุคลากรด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีการผ่าตัดไส้ติ่งแล้วผู้ป่วยเสียชีวิตที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2545 และต่อมาเมื่อมีการตัดสินพิพากษาให้จำคุกแพทย์ท่านหนึ่งในคดีดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งของคำพิพากษา มีว่าแพทย์ท่านนั้นไม่ได้เป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้บุคลากรด้านสาธารณสุขตระหนักว่า ถ้าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญก็อย่าตรวจรักษา

ปรากฏการณ์ที่มีคนเปรียบเทียบเหมือน “เขื่อนแตก” ก็เกิดขึ้น ผู้ป่วยไหลจากอำเภอต่างๆเข้าไปท่วมที่ตัวจังหวัด นั่นคือ แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ลด บทบาท ลดขีดความสามารถ ลดหัตถการ ลดการผ่าตัดที่เคยทำมาตลอด โดยส่งตัวผู้ป่วยไปแออัดกันที่โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ในตัวจังหวัดซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่

ระบบใกล้บ้านใกล้ใจที่เพียรสร้างกันมา ก็ถูกทำลายลง ทรัพยากรที่ลงทุนไปในโรงพยาบาลชุมชน เช่น ห้องผ่าตัด เครื่องมือแพทย์ก็ถูกทอดทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ผลด้านตรงกันข้ามก็เกิดขึ้นในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป คือ ทรัพยากรที่จะใช้มีไม่เพียงพอ จนถึงทุกวันนี้สภาพการณ์ก็ยังเป็นแบบนี้


ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มี คำว่า มาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า หากพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ จะเกิดปรากฎการณ์ “เขื่อนแตก” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เพราะสภาพปัจจุบัน ผู้ป่วยที่มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปมีจำนวนมากเกิน กำลังของบุคลากรที่จะตรวจรักษาให้ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ มากเกินกว่าทรัพยากรทั้งทางด้านจำนวนเตียง ห้องผ่าตัด และเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลที่จะรองรับได้

การปรับให้ได้มาตรฐานจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นก็คือ ผู้ป่วยจำนวนที่เกินกำลัง เกินขีดความสามารถตามมาตรฐานวิชาชีพ เกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ก็คงหนีไม่พ้นโรงพยาบาลใหญ่ๆที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ถ้าเป็นภาคกลางก็ต้องมาที่กรุงเทพมหานคร ถ้าเป็นภาคเหนือ ก็อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และภาคใต้อยู่ที่จังหวัดสงขลา ภาพที่จะเกิดขึ้น คือ น้ำไหลจากอำเภอสู่จังหวัด ส่วนที่ท่วมล้นก็ไหลไปยังศูนย์กลางของภูมิภาค ประชาชนต้องเดินทางไปหาบริการไกลบ้าน เมื่อไกลบ้าน ภาระต่างๆจะตามมาให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับ ผู้ที่แบกไม่ไหวก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้


คำว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ทำให้เขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง (โรงพยาบาลชุมชน) ทั่วประเทศแตกมาแล้ว และคำว่า มาตรฐานวิชาชีพ ก็จะทำให้เขื่อนขนาดใหญ่ (โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป) ทั่วประเทศแตกได้อีกเช่นกัน

คำถาม : ผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเป็นอย่างนี้ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการจะคิดอย่างไร ???




3. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรด้านสาธารณสุข

การที่ผู้ป่วยซึ่งมีความทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาหาหมอเพื่อรับการตรวจ รักษาให้หาย หรือบรรเทาจากความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับหมอเป็นสิ่ง สำคัญมาก ความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกัน และกันเป็นกุญแจดอกสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดี

ถ้าคนไข้ไม่ไว้ใจหมอ และหมอไม่วางใจคนไข้ การตรวจการวินิจฉัย และการรักษาโรคจะไม่ได้ผลดีอย่างที่มุ่งหวัง และอาจผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น รวมทั้งอาจเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ได้โดยง่าย ความวิตกกังวลจะเกิดขึ้นกับทั้งหมอ และคนไข้ ภาวะตึงเครียดระหว่างคนไข้กับหมอไม่ส่งผลดีกับฝ่ายใดเลย

มีการคาดการณ์กันว่า หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ขึ้นมา จะมีผู้ยื่นคำขอเงินช่วยเหลือ และเงินชดเชยจากกองทุนที่เกิดจากพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นจำนวนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ ความกังวล หรือหวาดเกรงว่าจะถูกร้องเรียน หรือฟ้องร้องของบุคลากรด้านสาธารณสุขก็จะมากขึ้นเป็นทวีคูณ ฝ่ายคนไข้มีเงินเป็นแรงจูงใจ ฝ่ายบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความปลอดภัยจากคดีความเป็นสิ่งที่จะต้องปกป้อง

ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกัน ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การพึ่งพิงพึ่งพากัน ความดีงามเหล่านี้ที่มีมาในสังคมไทย และมีในวงการแพทย์ และสาธารณสุขที่บรรพบุรุษของเราปลูกฝังกันมาก็จะลดน้อยลง และหายไปในที่สุด สังคมที่เห็นเงินเป็นใหญ่จะเข้ามาแทนที่

คำถาม : ผล กระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรด้านสาธารณ สุขเป็นอย่างนี้ บุคลากรด้านสาธารณสุข และผู้ป่วย หรือผู้ที่อาจจะต้องเป็นผู้ป่วยในวันข้างหน้าจะคิดอย่างไร ???





คำตอบที่ต้องใคร่ครวญโดยปราศจากอคติ

ความคิดเห็นของคนเราเหมือนเรือที่ลอยลำในทะเล ซึ่งมีคลื่นคอยกระทบเรืออยู่เสมอ หากไม่ตั้งลำให้ดี ก็เอียงได้ คลื่นของความรักความชอบ คลื่นของความเกลียดความชัง คลื่นของความเกรงความกลัว และคลื่นของความไม่รู้ ความเขลา ทำให้เรือเอียงได้ทุกเมื่อ ก่อนที่จะให้คำตอบ ขอให้ทุกคนได้ใคร่ครวญให้ดี ใช้ความคิดอย่างตรงไปตรงมา ใช้ความคิดในยามคลื่นสงบ ในยามที่เรื่อตั้งลำได้ตรง

รัฐบาล ประชาชน และบุคลากรด้านสาธารณสุข น่าจะได้คำตอบที่ใคร่ครวญแล้ว น่าจะเห็นทิศทางที่เหมาะสมที่ประเทศชาติของเราควรจะมุ่งหน้าไป

คุณล่ะมีคำตอบหรือยัง







ปล. ผมคัดลอกมาให้อ่าน แหล่งต้นฉบับ ก็ไม่มีชื่อผู้เขียน .. แต่คิดว่า ข้อความเหล่านี้ มีแง่คิด ที่น่าสน อย่าพึ่งคิดว่า เป็นฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้ .. อยากให้ช่วยกันดู ช่วยกันคิดตรึกตรองให้ดี เพราะ คนไทยทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ และ ได้รับผลกระทบ ไม่ว่า พรบฯ นี้ จะผ่านออกมาใช้ได้หรือไม่ ก็ตาม ..
Create Date :31 ตุลาคม 2553 Last Update :31 ตุลาคม 2553 14:32:17 น. Counter : Pageviews. Comments :1