bloggang.com mainmenu search

มีผู้ถามเกี่ยวกับ มะรุมแคปซูล ที่มีโฆษณาว่า รักษาโรคโน่นนี่สารพันว่าจริงหรือไม่ ???

แค่ดูที่เขาโฆษณา ผมก็ตอบได้เลยว่า " ไม่จริง " อะไรมันจะวิเศษขนาดนั้น ถ้าได้ผลจริงตามโฆษณา ก็ไม่ต้องมียา ไม่ต้องมีหมอ มีโรงพยาบาลกันแล้ว ทำขายส่งออกทั่วโลก รวยกว่ามาขายตรงเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (อาหารเสริม) แบบที่เป็นอยู่ ..

ผมว่า หลักง่าย ๆ ก็คือ เชื่อสามัญสำนึกของตนเอง .. " ถ้ารู้สึกว่า มันดีเกินไป มันไม่น่าเป็นไปได้ ก็ให้เชื่อความรู้สึกตนเองไว้ก่อนว่า .... ไม่จริง ... "

ลองค้นในเนต เกือบทั้งหมดเป็น "โฆษณาขายของ" .. แต่ก็ยังพอมีบทความที่น่าสนใจ นำมาฝากกัน .. อ่านไว้เป็นความรู้นะครับ ..


“มะรุม” พืชสมุนไพร แต่ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”

กระแสรักสุขภาพ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ประชากรไม่น้อยหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และยังคงมีวี่แววว่าจะสนใจไปอย่างนี้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหน “ฮิต” อะไร แต่ที่แน่ๆ และยังคงยืนพื้นในความนิยมของคนส่วนใหญ่ ยังคงเป็น “สมุนไพร” โดยใน ขณะนี้ “เทรนด์” ได้มาหยุด อยู่ที่ผักพื้นบ้าน เจ้าของนาม “มะรุม”

“มะรุม” เป็นพืชพื้นบ้านที่มีทั่วทุกภาคของ ประเทศไทย ทำให้มีการเรียกชื่อมะรุมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คำว่ามะรุมนี้ เป็นคำเรียกขานของคนภาคกลาง ในขณะที่ฝั่งอีสานบ้านเฮาเอิ้นว่า “ผักอีฮุม หรือ บักฮุ้ม” ส่วนหมู่เฮาจาวเหนืออู้ว่า “บะค้อนก้อม” ส่วนชาวกะเหรี่ยงแถบ กาญจนบุรีเรียก “กาแน้งเดิง” ด้านชายขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับให้ชื่อแก่มันอย่างชวนให้ลิ้มรส ว่า “ผักเนื้อไก่”

ครัวไทยแต่โบราณนำมะรุมมาปรุงเป็นอาหารหลากรสหลายตำรับ ในขณะที่ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยก็นำแทบทุกส่วนของมะรุม ไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ฝัก เมล็ด เปลือก ราก ฝัก ฯลฯ โดยสรรพคุณทางสมุนไพรในแต่ละส่วนก็มีต่างๆ กันไป

ปัจจุบันขณะนี้ ได้มีการโฆษณาสรรพคุณของมะรุมอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่าช่วยต้านมะเร็ง ช่วยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพ และสรรพคุณอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้แวดวงผู้รักสุขภาพทั้งหลายตื่นตัวและตื่นเต้นอีกครั้งกับสมุนไพรที่ดูเหมือนว่าจะ “มหัศจรรย์” ชนิดนี้ ไม่ต่างกับปรากฏการณ์กระชายดำและยอ ที่บูมเปรี้ยงปร้างช่วงก่อนหน้านี้ และก็เลือนหายไปกับสายลมแล้ว

และล่าสุด “กระแสมะรุมฟีเวอร์” ได้แพร่ ระบาดจนกระทั่งบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ผลิต “แคปซูล มะรุม” ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ด้านสมุนไพร รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาบำรุงสุขภาพ แต่อยากได้อาหารเสริมเพื่อเป็นการบำรุงทางลัด

ภญ.สุภาพร ปิติพร แห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ใช้แนวการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยเป็นหลัก กล่าวถึงคุณสมบัติของมะรุมว่า มะรุมเป็นผักที่มีสารอาหารเกือบครบ วิตามินเอสูง มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นอาหารที่เหมาะกับเยาวชนที่ขาดอาหารในพื้นที่กันดาร โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี เช่น เยาวชนในประเทศเอธิโอเปีย รวมถึงในพื้นที่ที่เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การบริโภคมะรุม ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่า มะรุมไม่ได้รักษาโรคได้สารพัดโรค ไม่ใช่ยามหัศจรรย์ หากคือผักพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารมาหลายรุ่นแล้ว ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างที่กระแสสังคมเข้าใจ

“มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ก็พอจะช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต แล้วก็มีความเชื่อว่ามันช่วยเรื่องเบาหวานกับความดันโลหิตสูง ในส่วนตรงนี้ต้องพิสูจน์วิจัยกันต่อไป แต่ที่ห่วงก็คือ หากคนเข้าใจว่ามันเป็นยา ไม่ใช่พืชผัก และรับประทานมันในฐานะยารักษาโรค คนจะไม่รับประทานยาแผนปัจจุบันที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคนั้นๆ โดยตรง”

ภญ.สุภาพร กล่าวต่อไปอีกว่า การบริโภคมะรุมนั้น อยากให้ประชาชนเข้าใจว่ามันคือผักพื้นบ้าน อยากให้บริโภคอย่างเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วมะรุมก็ไม่ได้ปลอดภัยไปเสียทั้งหมด เพราะในตัวมันก็เป็นพิษด้วยเหมือนกัน

“อย่างที่บอกมะรุมเป็นพืชร้อน หากสตรีมีครรภ์รับประทานอาจจะทำให้แท้งได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเลือดก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากจะทำให้เม็ดเลือดแตกง่าย รวมถึงคนเป็นโรคเกาต์ ก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากมะรุมมีโปรตีนสูง”

อย่างไรก็ตาม เภสัชกรแห่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรย้ำว่า ไม่ใช่การบริโภคมะรุมเป็นของไม่ปลอดภัย เพราะคนไทยแต่โบร่ำโบราณก็นำมะรุมมาประกอบอาหารในฐานะพืชผักท้องถิ่น แต่สำหรับผู้ที่คิดเสริมสุขภาพทางลัดด้วยการไปซื้อมะรุมสกัดเป็นเม็ดแคปซูล มารับประทานนั้น อยากให้ระมัดระวังสักนิด เพราะมะรุมสกัดยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“มะรุมรับประทานได้ในบริบทของอาหารปลอดภัย ไม่อันตราย และมีประโยชน์ตามสมควรในฤทธิ์ของสมุนไพร ที่ไม่อันตรายเพราะเราไม่ได้รับประทานทุกวัน และรับประทานในปริมาณไม่มากนัก

แต่อยากจะฝากเตือนไปยังผู้ที่รักสุขภาพว่า สำหรับมะรุมสกัดที่มีอยู่มากในตลาดขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง และหากจะเลือกรับประทานคงจะต้องดูกันดีๆ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาสกัดจากส่วนไหน แต่ละส่วนมีฤทธิ์และออกฤทธิ์ต่อกลไกอวัยวะในระบบต่างๆ กัน และไม่รู้ด้วยว่าที่สกัดมาจะมีสารอะไรบ้าง และมีมากน้อยแค่ไหน และใส่อะไรลงไปเพิ่มอีกบ้าง

ที่สำคัญคือตอนนี้ อย. ยังไม่รับรองผลิตภัณฑ์สกัดจากมะรุม และก่อนหน้านี้ก็เคยปรากฏเช่นกันในกรณีของขี้เหล็ก ที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชรักษาโรคได้ผล จึงมีการผลิตเป็นขี้เหล็กสกัดบรรจุแคปซูล ซึ่งพอคนไข้รับประทานเข้าไปปรากฏว่ามีหลายรายมีอาการผิดปกติที่ตับ”

เภสัชกรแห่งโรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรี ยังให้รายละเอียดถึงประสบการณ์ด้านเภสัชรักษาของมะรุมจากที่เธอได้ทำงานกับ หมอพื้นบ้านต่อไปอีกด้วยว่า เนื่องจากมะรุมมีฤทธิ์ร้อน จึงมีการนำมาใช้เพื่อแก้อาการปวดเมื่อย เหน็บชา ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ในบริบทของหมอพื้นบ้านก็ใช้มะรุมในการควบคุมอาการความดันโลหิตสูง โดยนำยอดมะรุมสด นำมาโขลกคั้นน้ำผสมน้ำผึ้ง ดื่มวันละครั้ง แก้ความดันขึ้น ซึ่งหมอพื้นบ้านทางแถบไทยใหญ่ก็ใช้มะรุมคุมความดันเช่นเดียวกัน

“ส่วนคนที่มีอาการเหน็บชา กินมะรุมก็ช่วยแก้ได้เหมือนกัน เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี แต่คุณสมบัติก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก นอกจากนี้ ดอกอ่อนของมะรุมยังช่วยป้องกันหวัด และมีวิตามินซีสูงอีกด้วย ดีที่สุดคือมองมะรุมเป็นอาหาร ต้องรับประทานอย่างเข้าใจ คนเราต้องรับประทานหลากหลาย รับประทานให้ครบทุกรส เพราะอาหารที่หลากหลายจะเข้าไปบำรุงหลายกลไกในร่างกายในทุกๆ ระบบ เราต้องการอาหารหลายอย่าง ไม่ใช่จากมะรุมอย่างเดียว ขออย่าให้เข้าใจผิด อย่ามองมะรุมเป็นยาวิเศษ”

ในขณะที่ รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่งในประเทศไทย คาดคะเนที่มาของกระแสนิยมมะรุมว่า น่าจะมาจากต่างประเทศ ที่มีคนไข้ทดลองรับประทานแล้วปรากฏว่าร่างกายดีขึ้น จากนั้นก็มีคนนำมาทำเป็นฟอร์เวิร์ดเมลบ้าง เป็นข้อมูลลงในอินเทอร์เน็ตบ้าง ทำให้กระแสสุขภาพของมะรุมแพร่ไปในวงกว้าง จนกระทั่งเข้ามาสู่ประเทศไทยในที่สุด

“จริงๆ แล้วข้อมูลมันยังไม่คอนเฟิร์มนะ เป็นกระแสนิยมแบบไฟไหม้ฟาง พอฝรั่งในอเมริกากินแล้วดี ก็มีการส่งเมล์บอกต่อๆ กัน จนเข้ามาประเทศไทย น่าจะเข้ามาทางชุมชนอโศกซึ่งนิยมบริโภคผักและอาหารออร์แกนิกอยู่แล้ว"

รศ.ดร.นพมาศ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบงานวิจัยด้านมะรุมทางวิทยาศาสตร์มีค่อนข้างน้อย หากเทียบกับสมุนไพรที่อยู่ในกระแสนิยมตัวก่อนๆ นี้ และแม้ว่าจะมีบ้าง ก็อยู่ในระดับของการทดลองกับหนู และมีข้อมูลด้านลบแจ้งไว้เช่นกัน เช่น มะรุมมีโปรตีนสูง และเป็นโปรตีนที่เกาะกันเป็นก้อน จะไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางโรค รวมถึงต่อผู้ป่วยด้วยโรคเลือดบางชนิด ก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากในมะรุมมีสารบางชนิดที่เป็นพิษต่อผู้ป่วยโรคดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม ในมะรุมก็มีวิตามินสูง มีสรรพคุณบำรุงสายตา มีวิตามินเอ มีเบตาแคโรทีน และอาจจะมีฤทธิ์ทางเภสัชที่ช่วยด้านลดน้ำตาลได้บ้าง การเลือกใช้ต้องระมัดระวัง แต่การนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารนั้น ถือเป็นปริมาณที่ปลอดภัย แต่ในส่วนของการเลือกจะดูแลสุขภาพแบบรวดเร็วโดยการไปซื้อมะรุมที่สกัดเป็น เม็ดเหมือนยาหรืออาหารเสริมนั้น ต้องดูให้ดีว่าส่วนใหญ่ออกฤทธิ์อย่างไร ทางที่ดีรับประทานสดเป็นอาหารจะปลอดภัยที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรรายนี้ทิ้งท้าย


ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ
Update 28-05-52 อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
//www.thaihealth.or.th/node/9239


ส่วนในบทความเรื่องนี้ ก็จะมีข้อมูลทางเภสัชวิทยาว่า แต่ละส่วนของมะรุมมีฤทธิ์อย่างไรบ้าง และมีผลการศึกษาในสัตว์ทดลองถึงอันตรายที่เกิดขึ้น ถ้ามีเวลาก็แวะไปอ่านหน่อยก็ดีนะครับ

“มะรุม: พืชสมุนไพรหลากประโยชน์”

โดยรองศาสตราจารย์ วิมล ศรีศุข ซึ่งอยู่ในจุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับ 26เดือนกรกฎาคม 2552
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือติดต่อโดยตรงที่ 02-354-4327
//www.medplant.mahidol.ac.th/document/moringa.asp

เพื่อการรักษาโรค ก็อาจทำได้แต่อย่าหวังผลมากนัก และ ไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก หรือติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งอาจมีการสะสมสารบางอย่างและอาจเป็นพิษได้

และจากรายงานความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดการแท้ง ดังนั้นควรระมัดระวังการใช้ส่วนต่างๆ ของมะรุมในสตรีมีครรภ์


หลายคนอาจมีความคิดว่า " เป็นสมุนไพร มาจากธรรมชาติ ไม่มีอันตราย " ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือไม่ ถ้ามากเกินไป หรือ ใช้ไม่ถูกต้องก็เกิดอันตรายได้ทั้งนั้น ..

อย่าไปเชื่อโฆษณา ไม่มีทางลัดในการดูแลสุขภาพ เงินซื้อสุขภาพ ไม่ได้หรอกครับ ..

หมายเหตุ

เนื่องจากบทความนี้ ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ตอนนี้มี ทาง อย. ได้ขึ้นทะเบียน อย. ให้กับ มะรุม หรือไม่ แต่เห็นตามโฆษณาในเวบต่าง ๆ ว่าได้รับอนุญาต ขึ้นทะเบียน อย.แล้ว นะครับ ...

ถึงแม้ว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. จริง .. แต่ ก็อย่าลืมว่า อย.รับรองแค่ ไม่อันตราย ไม่ได้รับรองว่า ได้ผลจริงตามโฆษณานะครับ


แถม ..

มหัศจรรย์สมุนไพรไทย ‘ต้านโรค’ คนเมือง

//www.thaihealth.or.th/node/9084


ยา กับ อาหารเสริม (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างกันอย่างไร ???

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-08-2008&group=7&gblog=5

Create Date :09 พฤษภาคม 2553 Last Update :9 พฤษภาคม 2553 19:48:52 น. Counter : Pageviews. Comments :5