bloggang.com mainmenu search
เมื่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. …เป็นกฎหมาย
การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยหลักการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในโรงพยาบาล จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป


นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระวงศ์ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงาน
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข แห่งประเทศไทย
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓



มาตรการ ๕ ข้อที่มีการกล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่คำขู่ หรือเป็นการประท้วงของหมอที่ดูแลผู้ป่วย แต่เป็นการบอกให้สังคมทราบว่า ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขบังคับให้หมอไม่สามารถใช้หลักความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ดูแลคนไข้อีกต่อไปได้

แต่ต้องใช้หลักการจัดสรรทรัพยากรในการดูแลคนไข้แทน เนื่องจากกฎหมายจะบังคับให้การดูแลคนไข้เป็นการขายบริการชนิดหนึ่ง
การขายบริการต้องขายตามทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรรมา



ในปีพ.ศ.๒๕๕๒การตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีถึง ๑๕๒ ล้านครั้งและผู้ป่วยในมีถึง ๑๐ ล้านครั้ง(จาก //bps.ops.moph.go.th/index.php?mod=bps&doc=5 ) เนื่องจาก หมอมีน้อยคนไข้มีมาก (ปัจจุบัน แพทย์ที่ลงทะเบียนและปฏิบัติงานในกระทรวงสาธสารณสุข-ไม่ใช่ผู้บริหาร มีจำนวน๙,๐๙๖คน...แพทยสภา)

คนไข้ ยอมอนุโลมกับหมอและรัฐบาล หมอ ยอมอนุโลมกับคนไข้และรัฐบาล เนื่องจาก รัฐบาลจัดทรัพยากร(คน-เงิน-ของ) มาดูแลประชาชนอย่างจำกัด ประชาชนจำเป็นต้องยอมรับการดูแลจากรัฐบาลเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติงานหรือหมอ ก็ยอมทำงานเพื่อประชาชนเช่นนั้น

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยการดูแลที่เต็มที่แล้ว ย่อมเหลือเหตุเพียงอย่างเดียวคือ เหตุจากการจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงพยาบาลอย่างจำกัด

รัฐบาลจัดกำลังคนผ่านกพ.(คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน)ซึ่ง ห้ามเพิ่มจำนวนข้าราชการ

รัฐบาลจัดเงินผ่านสปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ-ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕) ซึ่งจ่ายเงินไม่ครบตามที่โรงพยาบาลใช้ในการดูแลคนไข้และล่าช้า ทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากรอย่างรุนแรง

ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากปัญหาจริยธรรมบกพร่องและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนั้น น้อยมาก รัฐบาลจะทำการลงโทษอย่างไรก็ทำไป แต่ข้อผิดพลาดจากการอยู่ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างสาหัสนั้นเกิดจากการดูแลรักษาคนไข้ต้องเป็นไปโดยอนุโลม และการรักษามาตรฐานการทำงานโดยเคร่งครัดนั้นทำไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น



การรับคนไข้ของหอผู้ป่วยแห่งหนึ่ง หากกำหนดไว้ว่า ๓๐ เตียง แต่ความเป็นจริงอาจจะ ๓๕ เตียง มาตรฐานเตียงต้องห่างกันอย่างน้อย ๑ เมตรย่อมเป็นไปไม่ได้ และยังมีที่ระเบียงอีกนับ ๕ นับ ๑๐

คนไข้มีสิทธิที่จะบอกว่า ไม่ยอมอนุโลมให้รัฐบาลเพราะ" ระเบียง "ไม่ใช่มาตรฐานการรักษาในโรงพยาบาล
หมอก็มีสิทธิที่จะบอกว่าไม่ยอมอนุโลมให้รัฐบาลด้วยเหตุผลเดียวกัน





โดยเฉพาะที่ห้องตรวจคนไข้นอก คนไข้อาจบอกว่า เวลาตรวจน้อยไป เพราะเข้าไปในห้องยังไม่ทันนั่งถนัดเลย หมอตรวจเสร็จแล้ว

หมอก็อาจบอกว่า หมอคนหนึ่งจะต้องใช้เวลาตรวจตามมาตรฐานอังกฤษอเมริกาหรือสวีเดน จะต้องใช้เวลาสำหรับคนไข้ประมาณคนละ๑๕-๒๐ นาที วันหนึ่งหมอหนึ่งคนจะตรวจได้อย่างมาก ๒๘ คน(//www.commonwealthfund.org/Content/Performance-Snapshots/Responsiveness-of-the-Health-System/Time-Spent-with-Physician.aspx ) ตามมาตรฐาน

คนไข้กับหมอก็จำยอมและอนุโลมต่อการจัดทรัพยากรที่ขาดแคลนอย่างหนัก โดยรัฐบาล


แต่เมื่อรัฐบาลจะออกกฎหมายบังคับให้หมอที่ปฏิบัติงานโดยอนุโลม แต่เต็มที่ตามจริยธรรมและมาตรฐานเท่าที่จะสามารถทำได้นั้น มีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตลอดชีพมากขึ้น มีความเสี่ยงที่ทรัพยากรโรงพยาบาลจะลดน้อยลงเพราะถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนตามข้องกำหนดในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ซึ่งความเสี่ยงนี้ ทำให้หมอทั้งหลายต้องบอกประชาชนว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว

แต่ถ้าออกกฎหมายนี้มาเมื่อไร การที่หมอจะดูแลคนไข้โดยอนุโลมดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำไม่ได้ เพราะการอนุโลมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพชีวิตและครอบครัวของหมอและผู้ร่วมงานอย่างไม่เป็นธรรม

คนเสนอกฎหมายไม่ใช่คนทำงานและไม่ใช่คนที่จะมีความเสี่ยงเช่นหมอกับคนไข้ แต่เป็นคนที่จะไปนั่งบริหารกองทุนและสามารถเลือกสรรโรงพยาบาลให้แก่ตนเองโดยไม่ต้องเสี่ยงอย่างคนไข้ทั่วไป ดังไม่เคยปรากฏว่าผู้สนับสนุนร่างกฎหมายไปนั่งรอตรวจในโรงพยาบาลที่ซอมซ่อแออัดเช่นที่คนไข้ทั่วไปเป็นอยู่กันมา

ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากรและกฎหมาย หมอคนหนึ่งจึงต้องตรวจคนไข้เพียงวันละ ๒๘ ราย ตามมาตรฐานที่พึงปฏิบัติ โรงพยาบาลจังหวัดหนึ่งหากมีหมอไม่นับรวมผู้บริหารแล้วจำนวน ๓๓ คน สมมุติว่า ตรวจคนไข้เหมือนกันหมด (แต่ความเป็นจริงไม่เหมือนกัน เพราะต่างสาขาต่างโรค) จะตรวจคนไข้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ๕๐๐ ราย ใช้หมอจำนวน ๑๘ คน ตรวจคนไข้นอกใช้หมอที่เหลือคือ ๑๕ คน ตรวจได้เพียงวันละ ๔๕๐ ราย ดังนั้น แต่เดิมโดยอนุโลมโรงพยาบาลสามารถรับตรวจผู้ป่วยนอกวันละ ๑,๒๐๐ ราย จะลดจำนวนคนไข้นอกลงเหลือวันละไม่เกิน ๔๕๐ ราย อีก ๗๕๐ ราย ไม่สามารถรับบัตรคิวได้ นอกเวลาราชการเป็นการตรวจคนไข้อุบัติเหตุและฉุกเฉินเท่านั้น ที่ไม่ได้รับการตรวจก็สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนได้ตามอัธยาศัย

ดังนั้น การรักษาคนไข้ตามกำลังความสามารถที่เคยอนุโลมกันมานานก็จะเปลี่ยนไป โดยพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จะบังคับให้หมอต้องใช้มาตรฐานตามการจัดสรรทรัพยากรเป็นหลัก ไม่สามารถใช้ความเมตตากรุณาที่มีต่อกันได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้การดูแลรักษาคนไข้เป็นการขายบริการ ไม่ใช่การช่วยเหลือกันประสาเพื่อนร่วมทุกข์




บทสรุปเพิ่มเติม


๑.เดิม หมอกับคนไข้อนุโลมกับรัฐบาล คนไข้ยอมรับการตรวจรักษาตามที่โรงพยาบาล(รัฐบาล)สามารถจัดให้ หมอยอมตรวจรักษาคนไข้จนกว่าจะหมด ไม่ได้กำหนดเวลา ไม่มีทรัพยากรก็หาเอง ทอดกฐินผ้าป่า

๒.รัฐบาลมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะ ต้องมีคน-เงิน-ของ(เครื่องมือ-สถานที่) แต่รัฐออกนโยบายไม่เพิ่มข้าราชการ เอาเงินให้สปสช.แทนการให้โรงพยาบาล สปสช.ออกมาตรการไม่จ่ายเงินให้โรงพยาบาล

๓.รัฐบาล ออกกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯแต่ทำให้ให้เกิดกลไกให้มีการจูงใจให้ร้องเรียน และฟ้องร้องมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงมหาศาลแก่หมอและผู้ร่วมงาน และเกิดช่องทางสูญเสียเงินของโรงพยาบาลมากขึ้นตามกฎหมาย

๔.หมอต้องใช้ มาตรฐานการทำงานตามมาตรฐานสากล คือ ประเทศอังกฤษและอเมริกา แพทย์จะตรวจคนไข้ใช้เวลา ๑๕-๒๐นาที ใช้มาตรการทำงานตามการจัดสรรทรัพยากร โดยหลักธรรมชาติ ไม่มีเงินไม่มีข้าวกิน ไม่มีเครื่องมือ ทำงานไม่ได้







ปล. สิ่งที่เป็นอยู่ ในสภาพตอนนี้ ก็คือ เราขาดแคลนทุกอย่าง แต่ถ้าต้องการมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่านี้ ( ซึ่งจริง ๆ ก็ควรเป็นแบบนั้น ) ก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำกันมา

บางที ผมก็คิดเหมือนกันว่า หมอเรา เอาคนไข้ ประชาชน มาเสี่ยง กับความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุข ..

รพ.รัฐ แห่งไหน ไม่มีหมอดมยา แทนที่จะให้พยาบาลดมยา ก็ควรจะส่งต่อไปยังสถานที่มี หมอดมยา ซึ่งมีมาตรฐานความปลอดภัยมากกว่า ... ดีกับคนไข้ด้วย ???

รพ.รัฐ แห่งไหน หมอน้อย คนไข้เยอะ ตรวจไม่ทัน แทนที่จะตรวจคนละ ๒ - ๓ นาที แบบที่เป้นอยู่ ( คนไข้ก็บ่นว่า รอนาน ตรวจแป๊บเดียว ยังไม่ทันนั่งเลย หมอให้ไปรับยาแล้ว ไม่ได้คุยซักถาม ไม่ได้แนะนำอะไรเลย ) ก็ควรให้เวลามากขึ้นกับ คนไข้(ญาติ) จะได้มีเวลาซักถาม มีเวลาให้คำแนะนำ ดีกับคนไข้ด้วย ???

รพ.รัฐ แห่งไหน ที่เครื่องไม้เครื่องมือไม่พร้อม แทนที่จะดัดแปลง ใช้โน่นนี่แทน ถูไถไปเรื่อย ก็ส่งไปผ่าตัดยัง รพ.ที่เครื่องมือ อุปกรณ์พร้อมกว่า ดีกับคนไข้ด้วย ???

ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ .. แต่ก็น่าแปลกใจ ดันเลือก วิธีที่มีข้อขัดแย้ง มีข้อสงสัยว่า นอกจากไม่แก้ปัญหาเดิมแล้วยังจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่อีก

Create Date :11 ตุลาคม 2553 Last Update :19 ตุลาคม 2553 9:47:20 น. Counter : Pageviews. Comments :1