bloggang.com mainmenu search


ขอให้คิดให้รอบคอบก่อนที่จะรับร่าง พรบ.คุ้มครองฯ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้



ร่าง พรบ. ที่จะจ่ายเงินให้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ (ร่าง พรบ.เรียกว่าผู้เสียหาย) จากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ดูอย่างผิวเผินน่าจะเรื่องที่ดีมากๆ เลย แต่มันเป็นไปได้หรือครับในเนื้อหาและวิธีปฏิบัติ ตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ จะมีแต่ได้กับได้จะไม่มีเสียเลยหรือ ลองพิจารณาดูนะครับ

ผู้ป่วยที่มารับการรักษา สิ่งแรกที่ผู้ป่วย คาดหวังคือ อยากจะหายจากโรค หมอและโรงพยาบาลร้อยทั้งร้อยก็อยากจะให้ผู้ป่วยหายจากโรค เช่นกันแต่รักษาไปแล้ว หายจากโรคก็มีมาก ไม่หายก็มีไม่น้อย เลวลงและมีโรคแทรกก็มีบ้าง เสียชีวิตก็มีเช่นกัน พวกที่ไม่หายจนถึงตาย สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือไหม??? และถ้าช่วยจะช่วยอย่างไร

1. ถ้าคิดแบบก่อนๆ ก็บอกว่ามันเป็น“กรรมเก่า” คนคลอดกันเยอะแยะไม่เป็นอะไร แต่ภรรยาเราไปคลอดกลับตายทั้งแม่ทั้งลูก ถ้าคิดว่าเป็นกรรมเก่ามันก็คงจบเรื่อง แต่ถ้าคิดว่าทำไมภรรยาเราตาย แต่ภรรยาคนอื่นทำไมไม่ตาย? ก็มีช่องทางให้อยู่แล้ว (นอกเหนือจากการเจรจากับแพทย์และโรงพยาบาลซึ่งอาจจะตกลงกันได้ก็ได้) คือ

1.1. การฟ้องร้องคดีผู้บริโภค ซึ่งง่ายมากไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่ที่ศาลจะเขียนคำฟ้องให้เอง แล้วรอคอยการไกล่เกลี่ยและถ้าไม่สำเร็จเพราะได้เงินมาไม่พอใจ ก็รอการตัดสินของศาล หรือ

1.2. แจ้งความตำรวจ ให้ดำเนินคดีอาญา หรือถ้าไม่อยากรอให้อัยการฟ้องก็

1.3. นำคดีขึ้นสู่ศาลเอง เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่เห็นศาลก็จะประทับรับฟ้อง หมอก็คงเป็นจำเลยในคดีอาญานี้ และต้องต่อสู้กันในศาลต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้คุณหมอขวัญเสียมาก เพราะถึงแม้หมอจะชนะแต่ก็ขวัญเสียไปแล้วและคงถอดใจที่จะรักษาต่อไป)


2. ถ้าคิดว่าผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร ต้องได้รับการช่วยเหลือ อยากจะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนอย่างไร รัฐบาลก็จัดวงเงินมาให้เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วย (หรือญาติ) ตามสภาพที่เป็นอยู่ก็สามารถทำได้

โดยจ่ายให้เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้มีเคราะห์กรรม ก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำนะครับ เพราะปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ดูแลสงเคราะห์ผู้ที่น่าสงสารอยู่แล้ว คนแก่ได้ 500 บาท/เดือน พิการได้ 500 บาท/เดือน ทั้งแก่ด้วยพิการด้วยได้ 1,000 บาท/เดือน รักษาฟรี การศึกษาฟรี รถประจำทางฟรี, รถไฟฟรี ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำฟรี เพิ่มอีก 1 อย่าง ไม่เห็นจะสิ้นเปลืองเพิ่มเติมอะไรและจะควบคุมว่าปีหนึ่งจะให้เท่าไรก็ได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้กำหนดวงเงิน


3. แต่ถ้าสร้างระบบที่จ่ายให้ผู้ป่วยเหล่านี้แล้ว ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลและแพทย์อีก ต้องเรียกแพทย์มาให้การ ต้องไปให้โรงพยาบาลรายงานว่าจะปรับปรุงอย่างไร ในขณะที่เวลานี้โรงพยาบาลมีขบวนการพัฒนาดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและความเสี่ยงอยู่ทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว

อยู่ดี ๆ ก็ไปเพิ่มภาระให้ทางโรงพยาบาลอีก โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขมีงานล้นมาก แต่ก็ตั้งใจทำสุดความสามารถของมนุษย์ (ไม่ใช่ทำชุ่ย ๆ) แต่ว่า ยิ่งงานมากผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็จะมีจำนวนมากเป็นเงาตามตัวและก็ต้องไปให้การต้องเขียนแผนการแก้ไขมากราย ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งนั้น รักษาผู้ป่วยก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว ต้องมีภาระเพิ่มเติมอีก

ผลสุดท้ายจะกลายเป็นว่า เราไม่ได้ออกแบบระบบให้แพทย์และโรงพยาบาลอยากจะทำงานช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทำได้ กลับกลายเป็นว่าทำมาก ๆ ไปทำไม เสี่ยงมากก็มีเรื่อง ต้องเข้าให้การมาก ต้องเขียนแผนการแก้ไขมาก สู้ทำน้อย ๆ ทำโรคง่าย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ ? ถ้าเมื่อไรแพทย์และโรงพยาบาลทั้งหมดคิดอย่างนี้ผมว่าผู้ป่วยลำบากแน่นอน


4. สำหรับ โรงพยาบาลของรัฐ ถ้ากองทุนมาจากภาษีก็คงจะไม่มีเรื่อง แต่ ถ้าต้องไปเก็บจากโรงพยาบาลคนไข้ยิ่งมามากโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายให้กองทุนมาก ดูมันสวนทางกับความเป็นจริงยังไงก็ไม่รู้ ถ้ายังงั้น ให้มาน้อยๆ ไม่ดีกว่าหรือผู้ป่วยในก็รับตามจำนวนที่มีอยู่ ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งเตียงเสริมไว้ตามระเบียงตามทางเดินก็จะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยก็จะต้องเดือดร้อนอีก

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบัตรทอง ประกันสังคม ที่เป็นทางเลือกของประชาชนก็ต้องเก็บเงินส่งเข้ากองทุน โรงพยาบาลคิดราคาตามต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าต้นทุนสูงขึ้นการคิดราคาก็สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปรกติถ้าต่อครั้งไม่มากนัก คงจะไม่เป็นไร แต่ถ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยก็จะเดือดร้อนโดยไม่ได้รับอะไรชัดเจน ที่จับต้องได้ เพราะโดยปรกติแล้ว ต้นทุนสูงขึ้น จากการที่มีแพทย์ให้เลือกมากขึ้น มีเครื่องมือใหม่ๆ ทันสมัยมีสถานที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถจับต้องได้ และได้รับโดยตรง แต่ต้นทุนสูงขึ้นประเภทนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จ่ายไป จะไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลยที่เกี่ยวกับการรักษาโรค

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า วัตถุประสงค์เดียวและแท้จริง ของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์นั้น ต้องการมารักษาโรค ซึ่งอาจจะหายบ้างไม่หายบ้าง ตายบ้างก็ตามสภาพที่มีความหลากหลาย และมีเงื่อนไขและองค์ประกอบเยอะมากๆ ผู้ป่วยคงไม่ได้มาโดยตั้งใจว่าถ้ามันไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ ก็จะมีการตอบแทนให้ในรูปแบบของการช่วยเหลือ และชดเชย

แต่ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือและชดเชยแล้ว ซึ่งแน่นอนเลยว่า ผู้ได้รับการช่วยเหลือและชดเชยอาจจะมีน้อยครั้ง ซึ่งไม่น่าจะเกิน 1% ของจำนวน 200 ล้านครั้ง ของการมารับบริการสาธารณสุข แต่กลับไปปรากฏว่าทำให้แพทย์และโรงพยาบาลเกิดความกังวล ความไม่แน่ใจ ความไม่เต็มใจ ในการรักษาพยาบาล

ดังนั้น ประชาชนคนไทยทั้ง 64 ล้านคน ที่ไปรับการรักษาปีละกว่า 200 ล้าน ก็ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน (กรุณาอ่านข้อ 4 อีกครั้งหนึ่ง) แล้วเหตุไฉนจึงจะให้มันเกิดขึ้นละครับ ช่องทางที่จะให้การช่วยเหลือก็สามารถทำได้ตามข้อ 3 โดยร่าง พรบ.ใหม่ หรือจะเอา ม.๔๑ ซึ่งได้ดูแล 47 ล้านคนมาแก้ไขเพิ่มเติมจนครอบคลุมทั้ง 63 ล้านคน โดยที่จะเพิ่มเติมเงินเป็นเท่าไรก็ให้สำนักงบประมาณกำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานะของประเทศ

ข้อคิดข้อเสนอของผมนี้ อาจจะไม่ถูกใจคนบางกลุ่มที่ตั้งใจว่า ถ้าโรงพยาบาลและหมอทำไม่ดีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามอำนาจศาลเตี้ย (เพราะไม่ได้เอาความรู้เฉพาะวิชาชีพมากำหนดเป็นมาตรฐาน) และนอกเหนือจากนี้แล้วก็อยากที่จะมีอำนาจในการควบคุมโรงพยาบาลโดยให้เขียนแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงมาให้ดู (โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการบริหารโรงพยาบาลและบริหารความเสี่ยงเลย)

ตลอดจนได้แสดงความเกลียดชัง และอาฆาตมาดร้ายอย่างปกปิดไว้ไม่อยู่ โดยไปเขียนกฎหมายลงโทษถ้าส่งเงินเข้ากองทุนช้ากว่ากำหนดถึงร้อยละ 24 ต่อปี แต่แอบแฝงโดยเขียนว่า ร้อยละ 2 ต่อเดือน ซึ่งแพงกว่าเงินกู้นอกระบบ ที่รัฐบาลกำลังจัดการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน น่าละอายไหมครับ ที่ พรบ.ของรัฐบาลแท้ๆ กลับปล่อยปละละเลยผ่านหูผ่านตาให้ออกมาเช่นนี้ได้ และนอกจากนี้ยังเขียนกฎหมายแสดงอำนาจด้วยความสะใจว่า ถ้าขัดขืนให้เอาไปเข้าคุกเสีย 6 เดือน จะได้เข็ดหลาบจำ กฎหมายออกมาอย่างนี้มันจะปรองดอง (ตามนโยบายของรัฐอีกนั่นแหละ) ได้อย่างไรครับ

ผมขอยืนยันว่าในหัวจิตหัวใจของแพทย์ทุกคนก็มีความสงสารและเห็นใจผู้ป่วยเหล่านี้เสมอ และอยากเร่งให้รัฐบาลได้จ่ายเงินช่วยเหลือสงเคราะห์ตามฐานานุรูป ตามฐานะทางการเงินของรัฐบาล ดังนั้นจัดการได้เลยครับ อย่าให้ความแตกแยกมันเกิดขึ้นและต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ผลกระทบแต่รู้สึกไม่ชอบใจว่าของดี ๆ อย่างนี้พวกแพทย์ไปต่อต้านมันทำไม เพราะประชาชนไม่ได้ทราบถึงผลกระทบที่ผมกล่าวแล้ว ดังนั้นจะช่วยผู้ป่วยก็จ่ายเถอะครับ และขอให้จบลงแค่การจ่าย อย่าไปทำเรื่องยุ่งให้กับโรงพยาบาลและแพทย์อีกเลย

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์








ปล.ถ้าเรายังไม่แน่ใจ ยังสับสนกันอยู่แบบนี้ ทำไม ไม่มานั่งคุยกันให้เข้าใจกันก่อน ทำไมต้องรีบผลักดันให้เข้าสภาในตอนนี้ด้วยเล่า ???
Create Date :19 สิงหาคม 2553 Last Update :19 สิงหาคม 2553 17:51:40 น. Counter : Pageviews. Comments :1