bloggang.com mainmenu search

//www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000117999

นัก กม.แจง กมธ.สธ.คุ้มครองผู้เสียหาย “ยุติธรรม เอื้อ 2 ฝ่าย”


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 สิงหาคม 2553 17:37 น.



นักกฎหมาย แจง กมธ.สธ.

มาตรา 5-6 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไม่ขัดกัน ตรงข้ามมีความยุติธรรมเอื้อให้เกิดประโยชน์ กันคนแห่มารับเงิน

เห็นด้วยเพิ่มสัดส่วนสภาวิชาชีพ-ตัวแทนราชวิทยาลัยใน คกก.

ลั่น รพ.เอกชนไม่ร่วมกองทุนชดเชยกับ รพ.รัฐทำได้ แต่ต้องแก้กฎหมาย ในขั้น กมธ.




ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ลงความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... จำเป็นต้องมีการแก้ไขบางมาตราที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยความเสียหาย ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้เขียนกฎหมายให้ขัดแย้งกัน แต่เป็นการเขียนกฎหมายที่ดี มีความยุติธรรม โดยมาตรา 5 ระบุให้ผู้เสียหายได้รับการชดเชยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ส่วนมาตรา 6 ระบุข้อยกเว้นที่ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการชดเชย หากเป็นการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้คนแห่มาขอรับเงินชดเชยตามมาตรา 5 ทั้งนี้ หากกังวลว่าอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านกฎหมายและทำให้เกิดความสับสน ก็สามารถแก้ไขได้ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

ศ.แสวง กล่าวต่อว่า หากต้องมีการแก้ไขก็ควรแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนของคณะกรรมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข จำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยการชดเชยความเสียหาย ตามมาตรา 5 และ 6 โดยเพิ่มตัวแทนอีก 6 คน รวมเป็น 24 คน ซึ่งมาจากสภาวิชาชีพ 5 องค์กร ได้แก่ จากสภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด และตัวแทนจากราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องอีก 1 คน เพื่อความเหมาะสม

“กฎหมายนี้ดี คือ ไม่ต้องไปศาล เพราะเมื่อไปถึงศาลจะสู้กันด้วยเทคนิค ดังนั้น การไกล่เกลี่ยจึงดีกว่าการฟ้องร้อง และช่วยให้หมอไม่เดือดร้อน ไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะถ้าผู้เสียหายไม่พอใจเงินชดเชยก็ให้ฟ้องกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่เกี่ยวกับหมอ ส่วนหลังจากนั้น สธ.จะมาไล่บี้กับหมอได้หรือไม่ ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดฐานละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดไว้ว่า สธ.จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงและไม่เคยมีคดีใ ดที่ประมาทเลินเล่อร้ายแรงมาก่อน”ศ.แสวง กล่าว

ศ.แสวง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่สถานพยาบาลเอกชนต้องการให้แยกกองทุนชดเชยระหว่างสถานพยาบาลรัฐและเอกชนนั้น ส่วนตัวเห็นว่า หากภาคเอกชนไม่ต้องการเข้าร่วมตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ได้ เพราะมีฝ่ายกฎหมายและไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว โดยให้แก้ไขในร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้ชัดเจนว่ามีผลบังคับใช้เฉพาะสถานพยาบาลรัฐเท่านั้น







แถม ความเห็นเพิ่มเติม ..จาก คุณ 716:16 ..

สรุป..ขอบคุณ ความเห็น อ.แสวงครับ

1.เห็นว่าตัวแทนต้องมีสภาวิชาชีพอีก 6 คน

2.เห็นว่าแยกรัฐบาลและเอกชน

3.เห็นว่า ม.6 ที่มีเพื่อกันคนไข้ แห่ไปเบิก ตามมาตรา 5 ..ค้านกับที่ NGO บอกว่าไม่มีคนเอาความเจ็บป่วยพิการมาเบิกหรอก..

ความเห็นจะเข้าสู่สภาพความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆครับ ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ข้อสรุปที่ WIN WIN และประชาชน -รัฐ ได้ประโยชน์..

คงต้องใช้เวลาอีกสักนิด และเชิญอาจารย์ ไปเยี่ยม รพ.ชุมชน อีกหน่อย ก็จะเข้าใจผู้ทำงานมากขึ้นครับ..

ผมคิดว่าลึกๆแล้ว อาจารย์ ไม่มีอคติ อะไร และออกจะหวังดี ..เพียง..
แต่..ข้อมูลของท่านอาจยังไม่ตรง เพราะ ไม่เข้าใจผู้ทำงานภาคปฏิบัติมากพอครับ.. และแพทย์ที่ใกล้ชิดก็อาจเป็นผู้บริหารไปหมดแล้ว..

จะรอฟังความเห็นอาจารย์ในครั้งต่อไปครับ..

--::ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ประเทศไทยยังคงต้องอยู่อีกนาน ..เรายังมีเวลาอีกมากมาย
ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องเร่งรีบออกกฎหมายหรือสร้างระบบที่อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ...อ.สุจิตรา :::--

ส่งโดย: 716:16




Create Date :31 สิงหาคม 2553 Last Update :31 สิงหาคม 2553 15:16:07 น. Counter : Pageviews. Comments :1