bloggang.com mainmenu search


ร่างกฏหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บก่อนเดินเข้าโรงพยาบาล
////www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=312&Itemid=45

เขียนโดย เคมบริดส์

18 ส.ค. 2010 20:04น.

ข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนควรทราบ พรบ. คุ้มครองฯ : ร่างกฏหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บก่อนเดินเข้าโรงพยาบาล

"แพทย์ 7 พันคนทะเลาะกับแพทย์ NGO 10 กว่าคน ตามสื่อ"


ภาพความขัดแย้งในวงการแพทย์ที่ปรากฎเป็นข่าวในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า พรบ.คุ้มครองฯ นั้น ทางฝ่ายเสนอบอกว่าดีมาก ลดการฟ้องร้อง ประชาชนได้รับเงินเยียวยาเร็ว แต่ฝ่ายหมอชุดดำ 7 พันคนคัดค้านโดยอ้างว่าจะทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้นและค่ารักษาพยาบาลจะ แพงขึ้น โดยอำนาจไปตกอยู่กับบุคคลผู้ไม่เกี่ยวข้อง

ทางเครือข่ายผู้คุ้มครองบริการสาธารณสุขขอทำความเข้าใจเพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชน ดังต่อไปนี้



บุคคล 3 กลุ่มที่ต้องให้คำจำกัดความ

ใน นานาอารยประเทศทั่วโลก เมื่อประชาชนเกิดความไม่พึงใจหรือได้รับผลกระทบซึ่งคาดว่าจะเกิดจากการรักษาพยาบาลและเข้าร้องเรียนต่อศาลสถิตยุติธรรม, ร้องเรียนกองทุนชดเชย, ร้องเรียนสถานพยาบาล ฟ้องร้องแพทย์-พยาบาลผู้ให้การรักษา จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ


กลุ่มที่ 1 แพทย์ – พยาบาล ผิด ประชาชน ถูก

ประชาชนได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของการรักษาพยาบาลจริง ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

1.1 ความเสียหายเกิดจากความประมาทหรือจงใจประมาทโดยแพทย์หรือบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเจตนาหรือประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิชอบ

1.2 ความเสียหายซึ่งเกิดจากความขาดแคลนของระบบ และการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เช่น ขาดเครื่องมือ เตียงล้น คนไข้ล้น



ในกลุ่ม 1.1 นั้น ต้องฟ้องร้องและเอาผิดกับผู้ทำการรักษาต่อศาลสถิตยุติธรรม

โดยสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาลต้องดำเนินการสอบสวน และลงโทษทางจริยธรรมโดยอัตโนมัติ ทันที รวดเร็ว

รัฐบาลเตรียมการชดเชยและเยียวยาผ่านกองทุนส่วนกลางหรือจัดสรรไว้ในระดับจังหวัด หรือระดับสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ส่งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทันทีและเพียงพอ จากเงินของรัฐหรือเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ

กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก 200-300 รายต่อปีจากสถิติที่ผ่านมา



ในกลุ่ม 1.2 นั้น เนื่องจากความขาดแคลนของระบบ ดังนั้นความรับผิดจะอยู่ที่รัฐ

ต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือ เรียกค่าชดเชยจากกองทุนซึ่งจัดตั้งโดยเงินของรัฐ ไม่ใช่เงินของหมอ-พยาบาล เพราะบุคคลากรทางการแพทย์ได้ปฎิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและเกินความสามารถแล้ว คือ ตรวจคนไข้จำนวนเกิน เตียงล้น ซึ่งปกติแล้วควรตรวจคนไข้ 40 คนต่อ 3 ชั่วโมง แต่กลายเป็นว่าต้องตรวจคนไข้ 70-100 คนต่อ 3 ชั่วโมง จากความพยายามที่จะช่วย จึง “ห้าม” เรียกเก็บจากแพทย์-พยายาล หาก เอาเกณฑ์มาตรฐานมาจับก็พบว่าผิดตั้งแต่ต้น คล้ายกับเรื่องรถสิบล้อบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะเถ้าแก่(รัฐ)บังคับให้กระทำการ ความรับผิดอยู่กับคนขับหรือเถ้าแก่ ข้อเสนอ การแยก 1.1 ออกจาก 1.2 ต้องใช้ องค์กรวิชาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ



กลุ่มที่ 2 แพทย์ - พยาบาล ถูก ประชาชน ถูก

ตัวอย่างที่ดีคือ กรณีคนไข้แพ้ยา คนไข้ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้ยา และแพทย์ก็ไม่ทราบ เช่น คุณดอกรักที่เป็น Steven Johnson Syndrome ตาบอดซึ่งเกิดความเสียหาย พิการจริง เป็นผลกระทบจากากรักษาจริง แต่ไม่มีทางป้องกันได้ ยาทุกชนิดแพ้ได้หมด 1/1,000 - 1/10,000 กรณีนี้ต้องถามกลับมาที่สังคมว่าควรจ่ายหรือไม่ หากต้องการให้จ่าย จะเป็นเงินของใคร ในการเลี้ยงดูตลอดชีวิต

1. เป็นเงินงบประมาณของรัฐ

2. เงินสมทบจากประชาชนทุกคนที่รับบริการทุกคนหยอดกระปุกเข้ากองทุน 5 บาท/ครั้ง จากจำนวนการใช้บริการ 200 ล้านครั้งต่อปี

3. เรียกเก็บจากแพทย์-พยาบาล ผู้ให้การรักษา ซึ่งกรณีหลังนี้คงไม่ดีแน่ๆ เพราะคงไม่มีใครเต็มใจให้การรักษา ทำมาก จ่ายมาก โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำเหตุ อย่าลืมว่า “เลี้ยงดูตลอดชีวิต” ใครเป็นผู้จ่าย

กลุ่มที่ 2 นี้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากเอาสถิติของต่างประเทศมาจับ อาจจะมีนับ 10,000 รายต่อปี เป็นลักษณะสังคมสงเคราะห์ ทุกพลภาพชั่วคราว จนถึงถาวรตลอดชีวิต

ข้อเสนอ การแยกว่าเป็นกลุ่ม 2 หรือไม่ ต้องใช้กรรมการวิชาชีพจำเพาะว่า “สุดวิสัยจริง” “มิใช่การกระทำโดยประมาท





กลุ่มที่ 3 แพทย์ - พยาบาล ถูก ประชาชน (บางคน(มิจฉาชีพ)) ผิด

กรณี นี้เกิดจากการใช้ พรบ.เป็นช่องทางหากิน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาชีพนางแบบ เกิดแผลกระเพาะอาหารทะลุหรือใส้ติ่งอักเสบ แพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิต คนไข้มีรอยแผลผ่าตัดหน้าท้องตลอดชีวิต เดินมาเรียกร้องสาธารณสุขว่าประกอบอาชีพไม่ได้เนื่องจากมีแผลเป็นที่หน้าท้อง ขาดรายได้ไปเดือนละ 50,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ที่จะต้องประกอบอาชีพนางแบบ รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาท

กองทุนนี้จะจ่ายกลุ่มนี้หรือไม่ ใครเป็นผู้จ่าย รัฐบาลจ่าย หรือแพทย์-พยาบาลจ่าย หรือเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการปกติครั้งละ 5 บาท (ฐานคำนวนจากกลุ่ม 1 หากระบบคิดกรองไม่ดีพอจะเป็นแบบประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งล้มละลายทางค่าใช้จ่ายทางการแพทย์) เป็นเงินหยอดกระปุก

เนื่อง จากการผ่าตัดหน้าท้องเพื่อรักษาชีวิต อย่างไรเสียต้องมีแผลเป็นที่หน้าท้องตลอดไป จะไม่มีทางเหมือนเดิมได้อีก จะเห็นได้ว่าความสำคัญของ พรบ.ฉบับนี้มาตรา 5-6 ต้องมีความเฉียบขาดเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือต้องมีกลุ่มคนวิชาชีพที่สามารถชี้ว่าเสียหายจริง หรือจงใจโกงระบบ เพื่อปกป้องเงินกองทุนไม่ว่าจะเรียกเก็บรัฐหรือเรียกเก็บจากประชาชนทั่วไป ครั้งละ 5 บาท – 10 บาท ปีละครั้ง 2,000 ล้านบาทในเบื้องต้น



องค์ประกอบคณะกรรมการฯใน พรบ.ฉบับนี้ไม่มีองค์ประกอบใดๆชี้ให้เห็นว่าจะมีขีดความสามารถคัดกรองผู้ที่จ้องจะโกงระบบได้อย่างไรในกลุ่มที่ 3 และความรับผิดของกรรมการเป็นอย่างไร


ส่วนในกลุ่มที่ 2 นั้นผลกระทบความเสียหายเกิดจริง แพทย์-พยาบาล ถูก ระบบ(รัฐ)ถูก ประชาชนถูก กรณีคุณดอกรักหรืออื่นๆใหญ่บ้างเล็กบ้าง ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายต่อปีนั้น รัฐจะดำเนินการสังคมสงเคราะห์ตลอดชีวิต หรือให้แพทย์-พยาบาลจ่ายค่าเลี้ยงดูกลุ่มนี้ตลอดชีวิต


กลุ่มที่ 1 นั้น ค่อนข้างชัดเจน หากแพทย์-พยาบาลผิด ต้นทางของเงินต้องมาจากแพทย์-พยาบาล ซึ่งมีระบบประกันการประกอบวิชาชีพ (Malpractice Insurance) เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ครอบคลุม

ส่วนกลุ่ม 1.2 นั้นเกิดจากนโยบายรัฐ รัฐต้องเป็นผู้จ่ายไม่ใช่เรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์


องค์ประกอบคณะกรรมการมาตรา 7 มีลักษณะเป็นมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บจากบุคคลทั่วไป



คำถามยอดนิยม 7 คำถาม ซึ่ง พรบ.นี้ไม่มีคำตอบ

1. ความรับผิดของบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 คน ทำ ผิดมาตรฐานตั้งแต่ต้น

การตรวจผู้ป่วยนอกในเวลา 3 ชั่วโมงนั้น ควรตรวจผู้ป่วยประมาณ 40 คน แต่ความเป็นจริงในโรงพยาบาลของรัฐต้องทำการตรวจผู้ป่วย 70-80 คนซึ่งผิดมาตรฐานทุกราย ควรจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ป่วยทุกรายตั้งแต่ต้น

ความผิดอยู่ที่ระบบแต่บุคคลากรทางการแพทย์ต้องรับผิดก่อน เพื่อกองทุนนี้จึงจะจ่ายเงินออกมาได้ มาตรา 5-6 ต้องเฉียบขาด ในร่าง พรบ.ของรัฐฯฉบับนี้ มาตรา 5 ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ มาตรา6(2)

ในมาตรา 5 ให้จ่ายเร็ว จ่ายง่าย ซึ่งเป็น “คุณ” ต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย กลุ่มหมอก็ชอบมาตรานี้ แต่พอไปดูเงื่อนไขการจ่าย มาตรา6(2) กลับกลายเป็น “โทษ” ทั้งต่อแพทย์และผู้ป่วย คือแพทย์ต้องยอมรับว่าบกพร่อง กองทุนจึงจ่ายออกได้ ประชาชนก็ไม่ได้เงินเยียวยา ทันการแบบ ม41 ของ สปสช.เดิม

เข้าใจว่ามาตรา 6(2)นี้เป็นจุดที่ทำให้ทุกคนสะดุด คือ เน้นมาตราฐาน ไม่ใช่การเข้าถึง รพ.ของกระทรวงสาธารณะสุข ในส่วนภูมิภาค ทำงานเกิน ความสามารถจริงไป 20-30% แพทย์จะเน้น “มาตราฐาน” มากกว่าการ “เข้าถึง” คือตรวจผู้ป่วยเพียง 40 คนต่อวันไม่ใช่ตรวจ 70-80คนต่อวัน คุณภาพจะดีขึ้นแต่คนไข้จะล้นและต้องนัดคิวตรวจ อาจจะเป็นเดือน ลองนึกภาพว่า รพ.ทุกๆโรงกำหนดโควต้าการตรวจเหมือนโรงเรียนแพทย์ใหญ่ในกทม.ทั้งหมด


2. ความรับผิด-รับชอบของคณะกรรมการกองทุน

หาก คณะกรรมการกองทุนดำเนินการจ่ายเงินให้กับกลุ่มที่ 3 โดยเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างหรือโดยประมาทเลินเล่อ ความรับผิดของคณะกรรมการกองทุนในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐจะเป็นอย่างไร และบทลงโทษ

เพื่อป้องปรามและปราบปรามประชาชน(มิจฉาชีพ)บางส่วนซึ่งจงใจหากิน กับกองทุนมีมาตรฐานอย่างไร เงินทุกบาททุกสตางค์มาจากบุคคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งและเรียกเก็บจากผู้รับบริการอีกส่วนหนึ่ง คือเป็นเงินของพวกเราทุกคน ประเทศทางตะวันตกล้มละลายทางการแพทย์เพราะเหตุนี้


3. ความหวาดระแวงสงสัยในความโปร่งใสของคณะผู้ผลักดันกองทุน

ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ มีกลุ่มวิชาชีพแพทย์ 10 คนซึ่งมีความใกล้ชิดกับ NGO บางกลุ่มผลักดันกองทุนนี้ ท่านนักการเมืองนี้ ต้องการคะแนนเสียง หากเอาตัวเลขของ สวรส. มาจับ พบว่าจะมีเงินประมาณ 80/5 IPD/OPD 2,000 ล้านบาทต่อปีไหลเข้ากองทุน โดมีการจ่ายออกประมาณ 200 ล้านบาทเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามตัวเลข สปสช ที่เหลือ 1,800 ล้านบาทไม่ต้องส่งกลับ

ภายใน 5 ปีจำนวนเงินจะสะสมเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ10 % คือ 1,000 ล้านบาทใน 5 ปี เป็นค่าเบี้ยประชุมและเครื่องใช้ในสำนักงานซึ่งบริหารด้วยคนประมาณ 10 กว่าคน ความเคลือบแคลงต่อสาธารณะถึงความโปร่งใส กลุ่มบุคคลนี้กำลังผลักดันอยู่นี้ โดยอ้างประชาชนเป็นการอำพราง


4. มีกองทุนแล้ว.... ก็ยังฟ้องได้จริง

แล้วคนจ่ายเงินจะจ่ายไปทำไม บังคับจ่ายด้วย ใครมีคำตอบ...ช่วยตอบที


5. ทำไมไม่ขยาย ม.41 จาก 46 ล้านคนเป็น 65 ล้านคน

ทำไมฝ่ายผลักดันเรื่องกฎหมายเงียบงัน ตาม ม. 41 ได้กันเงินไว้ปีละ 1,000 ล้านบาท จ่ายปีละประมาณ 100 กว่าล้าน เหลือ 900 ล้าน ต้องคืนคลังทุกๆปี เป็นเหตุให้ผู้ผลักดันกองทุนต้องการ ”หนี” จากอำนาจตรวจสอบของรัฐทางด้านการเงิน เช่น สตง......ใช่หรือไม่


6. ทำไมออกกฎหมายแล้วไม่ถามคนจ่ายเงินก่อน...... ไม่มีคำตอบ

เรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 คนแล้วเรียกเก็บรายหัว 5 บาทต่อครั้ง 80 บาทต่อการนอน เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท ทำไมไม่ถามคนจ่ายเงินว่ายินดีจ่ายหรือไม่

ปีที่ 5 ปีที่ 7 จะขึ้นราคาจาก 5 บาท เป็น 10 บาท เป็น 80 บาท เป็น 160 บาท หรือไม่

ใน 5 ปี ข้างหน้า..ผู้ป่วยทุกคนต้อง หยอดกระปุก 10 บาท ทุกครั้งที่เดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อเป็นเงินสังคมสงเคราะห์ ต่อมูลนิธิการกุศลที่ตนเองไม่ได้นิยมชมชอบ.... พวกเราตกลงไหม

ทั้ง นี้มีมูลนิธิการกุศลที่...โปร่งใส...เมตตา...เป็นจำนวนอีกมากที่ให้บริจาค...โดยจิตเมตตา...การบังคับจ่ายเงิน...คงไม่เกิดจิตเมตตาแน่ๆ......


7. ประชาสงเคราะห์ข้ามชาติ

แรงงานอพยพ พม่า-ลาว-เขมร จำนวน 4 ล้านคนในประเทศไทยใช้บริการ 12 ล้านครั้งต่อปี ในอุตสาหกรรมประมง แรง งานก่อสร้าง อีกทั้งคนต่างชาติ (คนรวย) มีเงิน ที่บินมารักษาอีก 1 ล้านครั้งต่อปี พวกเรายินดีช่วยบริจาคผ่านมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ใช่หรือไม่ เป็นการเลี้ยงดูตลอดชีวิตใช่ไหม เพราะว่าเหตุเกิดจากโรงพยาบาลในไทย ซึ่งความเสียหายเกิดในประเทศไทย

พวกเรายินดี...เลี้ยงดู...ให้การสังคมสงเคราะห์กลุ่มนี้ตลอดชีวิต....ใช่ไหม





โดยสรุปแล้ว ร่างกฎหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลและประชาชนผู้เดินเข้าโรงพยาบาลทุกครั้งนั้น ยังมีข้อบกพร่องมากมาย ทั้งด้าน

ความโปร่งใสของคณะผู้ผลักดัน

การใช้อำนาจทางการเมืองบังคับเรียกเก็บ จากประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์

ทำไมต้องทำเป็นสังคมสงเคราะห์ข้ามชาติ

ความรับผิดชอบของผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างไร

มาตรการในการคัดกรองกลุ่มที่หาผลประโยชน์ เรียกร้องเงินกองทุนโดยมิชอบเป็นอย่างไร

การบังคับเรียกเก็บเงินเป็นมูลนิธิสงเคราะห์นี้จะไม่เกิดเมตตาจิต เพราะลักษณะบังคับ



ขอนำเรียน ทางเครือข่ายศูนย์กลางระบบบริหารสาธารณสุข ประชาชน โดยทั่วไป และบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 ชีวิต เพื่อช่วยกันพิจารณาร่างกฎหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บ ฉบับนี้ด้วย



ด้วยความรัก เคารพในเพื่อนมนุษย์

เครือข่ายคุ้มครองบริการสาธารณสุข





Create Date :31 สิงหาคม 2553 Last Update :31 สิงหาคม 2553 15:08:55 น. Counter : Pageviews. Comments :1