bloggang.com mainmenu search
อาหารเสริม....บนเส้นทางสู่อมตะ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์เหมะจุฑา

by Thiravat Hemachudha (Notes)on Wednesday, December 28, 2011 at 7:12am

อาหาร เสริมที่นิยมใช้กันในปัจจุบันผู้ใช้ต่างมีความต้องการที่จะมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรคทั้งปวงและถึงแม้จะมีวัยสูงแต่ตายยากแถมยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสมรรถภาพทางเพศฟิตปั๋งโดยเฉพาะเพศชาย ในบรรดาหลาย 100 ชนิด ที่ขายในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ส่วมมากจะขาดข้อมูลหลักฐานไม่ว่าจะเป็นในทางทฤษฎีวิทยาศาสตร์หลักฐานเชิงประจักษ์ จากการทดสอบในเซลล์ เนื้อเยื่อ หลักฐานในสัตว์ทดลองและในมนุษย์และข้อมูลทางระบาดวิทยาที่มีใช้กันในทางโฆษณาก็คือ การหาพยานว่าใช้แล้วหายจากโรค ใช้แล้วแข็งแรง ซึ่งอาจจะพิสูจน์ไม่ได้ทางการแพทย์ชัดเจน

อย่าง ไรก็ตามในวงการวิทยาศาสตร์เพื่อชะลอความแก่ ถึงแม้ว่าจะมีการพบยีนที่ยืดชีวิตออกไปในสัตว์และพบว่าภาวะขาดอาหารถ้าเข้าใกล้ระดับวิกฤติกลับช่วยยืดอายุสัตว์ รวมทั้งมีอัตราการเป็นมะเร็ง สมองเสื่อมเบาหวาน และโรคนานา นับประการที่เกี่ยวกับความแก่ลดลงอย่างชัดเจน แต่ทั้งปวงยังไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงในทางปฏิบัติได้

การค้นพบที่น่าตื่นเต้นเริ่มตั้งแต่ในปี คศ. 2006 คือ สารResveratrol ซึ่งพบในไวน์แดงและเป็นจุดสนใจของนักวิทยาศาสตร์นานาประเทศ ที่มาร่วมประชุมกัน จัดโดยสถาบันNew York Academy of Science ในเดือนมกราคม 2011 และอีกหลายครั้งต่อมา (www.nyas.org)   ถึงแม้ว่า Resveratrol จะช่วยยืดอายุหนูที่ถูกเลี้ยงโดยอาหารไขมันสูงได้ก็ตามโดยมีผลต่อเอ็นไซม์ sirtuins แต่ไม่สามารถยืดชีวิตอายุหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารปกติได้แต่กระนั้น Resveratrol  ยัง มีผลในทางดีโดยช่วยป้องกันบรรเทาต่อภาวะเบาหวาน ตับอ่อนอักเสบ และมีผลต่อภาวะอักเสบในสมองซึ่งเป็นตัวร้ายปัจจัยหนึ่งในโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เป็นต้น

กลางปี คศ.2009 เส้นทางสู่อมตะเริ่มสดใสขึ้นอีกเมื่อมีการพบว่าrapamycin (ค้นพบในปี 1972 มีฤทธ์ยับยั้งเชื้อราผลผลิตจากแบคทีเรีย ซึ่งนำมาศึกษาจากเกาะEaster (ภาษาพื้นเมือง Rapa Nui ) ในมหาสมุทรแปซิฟิกห่างจากชิลี 2,200 ไมล์ตั้งแต่ปี 1964   ศูนย์ปฏิบัติการ 3 แห่งรายงานตรงกันถึงประสิทธิภาพของ Rapamycin ที่ สามารถยืดชีวิตของหนูออกไปได้อีก12 เปอร์เซ็นต์ การวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศึกษาธรรมชาติของอายุขัยและศึกษากระบวนการยืดอายุชราอย่างมีคุณภาพ (National Institute of Aging, www.nia.nih.gov) และ Rapamycin ยังได้ผลในหนูที่ชราแล้วทั้งๆที่เครื่องในและอวัยวะต่างๆน่าจะเสื่อมไปหมด เป้าหมายที่ Rapamycin ออกฤทธ์อยู่ที่โปรตีน TOR (Target of Rapamycin) และยีนที่มีหน้าที่สังเคราะห์ นอก จากนั้นเริ่มมีผลการศึกษาทยอยตามมาในสัตว์และมนุษย์ โดยที่อาจจะมีผลลดอัตราการเกิดมะเร็งอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เบาหวาน กระดูกพรุน โรคประสาทจอตาเสื่อมข้อจำกัดขณะนี้ยังอยู่ที่ความมีพิษของ Rapamycin ซึ่งหวังว่าอีกไม่นานอาจจะมีตัวดัดแปลงของRapamycin หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีผลต่อยีน TOR และ ต่อตัวโปรตีนนี้เอง

ในปีใหม่นี้จะให้ของขวัญถ้าจะเลือกอาหารเสริมก็ไม่แปลก แต่ตัวที่ให้เลือกได้ขณะนี้ที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์พอสมควรได้แก่ น้ำมันปลา (DHA และ EPA) วิตามินB12 เข้มข้น  Resveratrol ทั้งนี้น้ำมันปลามีผลช่วยทางหัวใจและเส้นเลือด (วารสารนิวอิงแลนด์ มิถุนายน 2011) และวิตามิน B12 เข้ม ข้นอาจมีผลช่วยชะลอสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จากหลายรายงานแต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้คืออาหารเสริมนะครับ ถ้าส่งเสริมให้ใช้อาหารเสริม โดยไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาจริงๆและพิสูจน์สรรพคุณผลข้างเคียงแล้วไม่ควบคุมพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยง การใช้และให้อาหารเสริมก็คือ “แช่ง” ให้ ตายเร็วขึ้นเท่านั้น

นอกเรื่องท้ายสุดการให้สุราแบบชาย 2 หญิง 1 คือผู้ชายดื่มวันละ2 แก้ว ผู้หญิงวันละ 1 แก้ว ยังถือว่าเป็นประโยชน์ไม่ใช่เป็นการแช่งซะทั้งหมดหมอยังยินดีถูกแช่งครับ

ส่วนบนของฟอร์ม

ส่วนล่างของฟอร์ม

อาหารเสริมเลือกตัวไหนดี(ตอนที่ 1) ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

by Thiravat Hemachudha (Notes)on Tuesday, December 27, 2011 at 7:00am

เพื่อนๆ และท่านผู้อ่านคงคิดว่าผู้เขียนเป็นคนแอนตี้อาหารเสริมสุดโต่งเนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งบทความที่เขียนและคนไข้ที่มาพบ ถูกตอกย้ำถึงความไม่ดีงามและการขาดสรรพคุณที่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาหารเสริมเกือบทั้งหมด จะตกอยู่ในประเภทนั้น และทำให้คนที่เป็นโรคจริงๆซึ่งต้องการการรักษาที่ถูกต้องเสียโอกาส เพราะหลงเชื่อตามคำโฆษณายุยง

ไม่นานมานี้เพื่อนๆอดรนทนไม่ได้ถามว่า.......ถามจริงๆวะหมอเอ็งไม่กินอาหารเสริม จริงหรือเปล่า คำว่าอาหารเสริมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเสริมจริงๆในส่วนที่ขาดเช่น ในเด็กทารก คนชรา ทานอาหารไม่ได้ มีการดูดซึมอาหาร และเกลือแร่ผิดปกติ แต่หมายถึงเสริมเพื่อให้ตายช้าหมายถึงยืดอายุให้ยืนนาน ไม่แก่เฒ่า หน้าตาสวย หล่อตลอดกาล แข็งแรงเตะปิ๊บดัง   60 หรือกระทั่ง 90  ยัง แจ๋ว หัวใจกระชุ่มกระชวย สมรรถภาพทางเพศฟิตปั๋ง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่กินเงินชาวบ้านไปนักต่อนักจะอาศัยวิธีการทุ่มโฆษณา ใช้พรีเซ็นเตอร์ (Presenter) สวย หล่อหรือแก่แล้วย้อมผมดำขลับ ทำท่าเดินเหิน ออกกำลังกาย กระฉับกระเฉง เอาด็อกเตอร์จากที่ไหนมาไม่ทราบมาอธิบายศัพท์แสงทางวิชาการ ซึ่งเมื่อฟังแล้วทึ่ง (แต่คนรู้เรื่องต้องหัวร่องอหาย)หรือเอาฝรั่งมาบรรยายว่าค้นพบผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านเทือกเขาสูง ซึ่งประดาคนในหมู่บ้านไม่มีใครแก่เฒ่าตลอดจนเอาคนที่หายจากมะเร็ง มายืนยัน โดยที่อาจไม่เป็นมะเร็งจริง หรือ เป็นแต่ชนิดเศษๆ รักษาด้วยวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีสิทธิหายได้

อย่าง ไรตาม ก็คงต้องมีเข็ม ในมหาสมุทรบ้างที่อุตสาหะก็จะงมเจอได้สักเล่มสองเล่มเช่นเดียวกับการพิสูจน์ความแน่ด้วยกระบวนการที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพที่จะทำ ให้เราเชื่อมั่นว่าได้ผลมากกว่าไม่ได้กินว่าสามารถเยียวยารักษาหรือป้องกันกระบวนการของการเกิดโรค ที่อาหารเสริมทั้งหลายมักออกมาอวดอ้างทั้งๆที่โรคนั้นๆยังไม่มีใครทราบชัดเจนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วยซ้ำ

ผู้เขียนเองจะเชื่อแม้ว่าเป็นยาแผนปัจจุบันต่อเมื่อมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากกระบวนการนั้นต้องมีการนำไปใช้ในการทดสอบระดับเซลล์ หรือเนื้อเยื่อ พบมีกลไกซึ่งเจ๋งตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ อันดับต่อไปคือทดสอบในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ที่มีโรคเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้โดยผ่านขั้นตอนความปลอดภัยก่อน และการทดสอบต้องพยายามจำกัดอิทธิพลของกำลังใจ (placebo effect) ซึ่ง พิสูจน์แล้ว ว่ากำลังใจที่ดีหรือศรัทธาก็ทำให้เกิดการชะลอโรคที่เป็นหรือทำให้มีอาการที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนได้ การทดสอบที่ดีดังกล่าวคือทั้งผู้รับผลิตภัณฑ์ และผู้ทดสอบต่างก็ไม่มีใครทราบว่าผลิตภัณฑ์คืออะไรเมื่อทำการศึกษาในกลุ่มทดสอบที่มีขนาดเหมาะสม ค่อยประเมินผลที่ได้รับ และเปิดโค๊ดลับดูว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเป็นผลิตภัณฑ์นั้นๆหรือได้รับยาหลอก กระบวนการที่เข้มงวดยิ่งกว่านั้นไปอีกคือ ทำการทดสอบในกลุ่มที่มีปัจจัยส่งเสริมในการเกิดโรคดังกล่าวเพียบทั้งภาวะทางพันธุกรรมว่า เกิดขึ้นชัวร์มากกว่าคนอื่นๆในครอบครัวอื่นๆหรือมีปัจจัยส่งเสริมที่สนับสนุนการเกิดโรค ทั้งที่ผ่านทางกลไกทางพันธุกรรมหรือเหนือขอบข่ายของพันธุกรรม(epigenetics)  และ นอกจากนั้นตัวออกฤทธิ์หลังจากที่ได้รับหรือบริโภคไปแล้วมีการผ่านกระบวนการในเลือด ในตับ จะสามารถซึมผ่านเข้าไปในอวัยวะที่ต้องการให้เกิดผลได้ เช่น ในสมองซึ่งเป็นระบบพิเศษที่ปกป้องไม่ให้สารหรือยาผ่านเข้าไปโดยง่ายนอกจากนั้นเป็นการตามศึกษาทางระบาดวิทยาเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควร แม้จะไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่นอนชัดเจนก็อาจจะได้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อบริโภคไปแล้ว ตายมากตายน้อย หรือเกิดโรคต่างกันหรือไม่

ถึงครั้งนี้ คงเข้าใจแล้วนะครับว่า ผู้เขียน “เข้ม” มาก พอสมควรกับการให้คะแนนผลิตภัณฑ์หรือยาแต่ในที่สุดเหนือฟ้ายังมีฟ้า ผู้เขียนใจอ่อนกับตัวที่หนึ่งซึ่งรับประทานอยู่จนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่มีบทความในวารสารนิวอิงแลนด์ (NewEngland Journal of Medicine) ฉบับเดือนมิถุนายน 2011 คือ “น้ำมันปลา” แม้ว่าจะมีบทความพิเคราะห์ข้อมูลของน้ำมันปลา ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ(British Medicine Journal) ฉบับเดือน ธันวาคม 2008 ก็ตาม ว่าน้ำมันปลาไม่มีผลในการลดอัตราตายจากสาเหตุทั้งหมดแม้ว่าจะมีผลบ้างในโรคหัวใจขาดเลือด (จากการรวม 12 การศึกษาผู้ป่วย 32,779 คน) และไม่มีผลในการป้องกันหัวใจเต้นผิดปกติ ข้อมูลจากวารสารนิวอิงแลนด์เป็นการเจาะถึงผลการศึกษา 25 รายการรวม 280,000 ราย ในเชิงระบาดวิทยา พบประโยชน์ในการป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจจากการกินปลาหรือn-3 fatty acid (ซึ่ง จะกล่าวต่อไป)และในการศึกษาทางคลินิค ซึ่งมีการติดตามผู้ป่วยอย่างเข้มงวดที่เกิดมีเส้นเลือดหัวใจตีบไปแล้วพบว่าการปรับพฤติกรรมการกินอาหารที่ถูกต้องรวมทั้งกินปลาหรือเสริมด้วยกรด ไขมันn-3 หรือด้วยการใช้ EPA กับ DHA ให้ประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคใหม่ ในขณะที่วิตามิน E ไม่ มีผล เป็นการศึกษาทั้งในคนเอเชียคือญี่ปุ่น และฝรั่งในยุโรปหรือสหรัฐ อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันปลายังมีข้อพิสูจน์ไม่ชัดเจนในการป้องกันหัวใจเต้นผิดปกติ

ที่เรียกว่าน้ำมันปลานั้นความจริงหมายถึงแหล่งที่ให้กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid) ซึ่งมีทั้งชนิดn-6 และ n-3 (ชื่อเรียกตามจำนวนของโครงสร้างdouble bond ใน aliphatic chain และตำแหน่ง)โดยที่จะมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางชีววิทยาแตกต่างกันออกไป โดยที่น้ำมันปลาจะมีn-3 อยู่มาก ในคนรวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะไม่มีความสามารถในการสังเคราะห์ขึ้นมาเองจึงต้องใช้กรด linoleic และ alpha-linoleic (ALA) เป็นตัวตั้งต้น ทั้งนี้ถือเป็นกรดไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย(essential fatty acid) 

ในคนซึ่งบริโภค EPA และ DHA จะพบว่าระดับไขมันในเลือดชนิดไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) (ไม่ใช่โคเรสเตอรอล) ต่ำลงได้ และเมื่อวิเคราะห์ ดัชนีทางชีวภาพ(biomarker) จะพบว่ามีระดับของ cytokines IL-1β และ TNF α ต่ำ ลงอาจมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำลงเล็กน้อย โดยไม่มีผลทางการรักษา และทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นและปรับระดับการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีผลในการเต้นของหัวใจ(heart-rate variability) อีกทั้งทำให้เซลล์ของเส้นเลือดยืดหยุ่นขึ้นและมีการเกาะจับตัวของตะกรันเส้นเลือดน้อยลง

การที่จะได้ EPA และ DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวn-3 อาจไม่จำเป็นต้องซื้อปลาแซลมอนมากินทุกวัน ในช่วงระยะเวลา 10ปี เริ่มมีผลิตภัณฑ์บริสุทธิ์ของ EPA และDHA จาก หลายบริษัท และอาจมีส่วนช่วยอธิบายว่าทำไมผลการศึกษาในคน ในช่วงระยะก่อนหน้า10 ปีนี้ มีผลที่ได้ ไม่ตรงกัน และเกิดความสับสนในหลักฐานทางวิชาการ

ถึง ตอนนี้ทราบแล้วนะครับว่าผู้เขียนก็อยากมีชีวิตสดชื่น แข็งแรงเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ถ้าจะให้ตัวเองเชื่อและแนะนำให้คนไข้ซึ่งมีโรคประจำตัวมากมายต้องกินแล้วน่าจะมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เช่นข้างต้น ในบ้านเราพบว่ามีอาหารเสริม EPA และ DHA นับ สิบๆอาจเป็นร้อยยี่ห้อ คงต้องระวังความบริสุทธิ์ในการเตรียม และเลือกชนิดที่ไม่มีวิตามินเกลือแร่จิปาถะอีก 20 ชนิด ปนลงไปด้วย นอกจากนั้นยังพบว่ามีการปลอมอาหารเสริมโดยใช้ภาชนะหรือกระปุกของจริงแต่ของข้างในปลอม และขายราคาถูก กลายเป็นธุรกิจการขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ ก็จะมีน้ำมันปลานี่ตัวหนึ่งที่กินแล้วอาจดีกว่าไม่กินคราวหน้าหมอมีตัวที่ 2 อีกนะครับ


อาหารเสริมเลือกตัวไหนดี(2) ตอนบนเส้นทางสู่อมตะ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

by Thiravat Hemachudha (Notes)on Monday, January 9, 2012 at 10:29am


ความเป็นอมตะ คือ มีชีวิตยืนยาวสุขภาพดีสมองไม่เสื่อมไม่มีโรคเกี่ยวเนื่องกับอายุขัยเป็นสิ่งที่มนุษย์ (โดยเฉพาะตั้งแต่เลข 4 ขึ้นไป) แสวงหา กลไกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดที่ทำให้อายุยืนยาวแต่ไม่มีใครทำคือทำให้ตกอยู่ในภาวะอดอาหาร โดยเฉพาะขาดกลูโคสหรือน้ำตาล (Starvation และCaloric Restriction) ซึ่งพิสูจน์ได้ในสัตว์ทดลองเช่นหนู ตั้งแต่ 80ปีมาแล้วโดย Clive McCay และ MaryCrowell จากมหาวิทยาลัย Cornell และเป็นจริงในลิงเช่นกันในราวปี 1950 เป็นต้นมา Denham Harman ที่มหาวิทยาลัยCalifornia, Berkley ได้พัฒนาความรู้โดยเชื่อมโยงกับกระบวนการเกิดออกซิเจนพิษ(oxygen free radical species) ในร่างกายซึ่งในปัจจุบันก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกลไกทั้งหมดเท่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งหลายทั้งปวงดูจะมุ่งไปสู่ Sirtuins ซึ่งเป็นโปรตีนควบคุมกระบวนการในร่างกายซึ่งโดยปกติจะนิ่งเงียบกบดานอยู่ (silent information regulator หรือ SIR) และพบได้ตั้งแต่ในยีสต์ถึงมนุษย์โดยกลุ่มของ Leonard Guarente และได้ตีพิมพ์ผลงานในปี 1995ในวารสาร Cell และพบว่า SIRT 4 มีบทบาทในการยืดอายุของยีสต์ ในช่วงเวลา10 ปี จากปี 2000-2011 มีงานวิจัยเกี่ยวกับSIR และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องเกือบ 1,200 ฉบับโดยการประชุมซึ่งจัดโดย NYAS มีนักวิทยาศาสตร์จากWeill Cornell Medical College  จาก EcolePolytechnique Federale Lausanne จาก MIT และจากGladstone Institute (UCSF) รวมทั้งจาก Harvard MedicalSchool

จนถึงตรงนี้อาจยังนึกภาพไม่ออกว่าอาหารเสริมจะช่วยอะไร Resveratrol มีความเกี่ยวพันกับ Sirtuinต่างๆ และระดับของ NAD+  ซึ่ง เป็นตัวตั้งต้นของกระบวนการปรับความสมดุลย์ของพลังงานคงความมั่นคงแข็งแรงของโรงงานในเซลล์ คือ ไมโตคอนเดรีย ปรับสภาพเซลล์ให้คงทนอยู่ได้และซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และส่งผลในการบรรเทาโรคที่เกี่ยวข้องกับเมตาบอลิซึมทั้งหลายรวมทั้งเบาหวาน โรคไขมันสูง เป็นต้น

โลกได้รับทราบสรรพคุณของไวน์ที่มีผลต่อสุขภาพจากรายงานของฝรั่งเศสในปี1992 ในไวน์มีระดับแอลกอฮออล์ 11-14 % และมีสารประกอบPolyphenols ซึ่ง ตัวเสริมสุขภาพในไวน์นั้นได้จากทั้งแอลกอฮออล์(ดังที่ดื่มวิสกี้ วอดก้า บรั่นดี ไวน์ขาว ในปริมาณชาย 2 หญิง1แก้ว ก็ดีทั้งนั้น) และได้จาก สารPolyphenols Resveratrol อยู่ในเปลือกขององุ่น (ในไวน์แดง)และผลไม้นานาชนิด เช่น Cranberry,Mulberry,Lingonberry,Bilberry,Partridgeberry,Sparkleberry,Blueberry, Jackfruit, Peanut แม้กระทั่งใบและดอกของต้นไม้หลายชนิด

Resveratrol ที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในปัจจุบันเตรียมจากรากแห้งของ Polygonum Cuspidatum ในญี่ปุ่นและจีนโดยที่สมุนไพรที่สกัดจาก Polygonum ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราโรคผิวหนัง โรคตับ และโรคหัวใจมาแต่โบราณกาล 

ที่ กล่าวมายืดยาวเป็นเครื่องแสดงว่าการคัดสรรอาหารเสริมไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และต้องท่องขึ้นใจว่าอาหารเสริมไม่ใช่ของวิเศษ ไม่เป็นยา ยังใช้รักษาโรค ป้องกันโรคไม่ได้ดีเลิศเช่นยา เป็นของ เสริม ตราบใดที่ไม่สามารถมีข้อมูลชัดเจนถึงประสิทธิภาพการรักษาว่าลดการเจ็บป่วยการตายได้เพียงใด ป้องกันการเกิดโรคได้กี่เปอร์เซ็นต์ จะใช้ขนาดเท่าใดจึงจะเริ่มเห็นประสิทธิภาพมีผลข้างเคียงระดับใด ก็ยังจัดเป็นยาไม่ได้ ห้ามใฃ้แทนยามาตรฐานเป็นอันขาดอาจจะใช้เป็นของ “บำรุง” ได้ และถึงแม้Resveratrol จะ ดู “เก่ง” เพียงใด แต่ในทางสู่อมตะ แม้ว่าจะมีผลในการยืดอายุของหนูที่ให้อาหารไขมันสูงก็ตามแต่ในหนูที่ได้อาหารปกติกลับอายุไม่ยืนกว่าเดิมตามที่คาด แม้ว่ากลไกในการปกป้องเซลล์จะคงมีอยู่ก็ตามเพราะฉะนั้นตอนต่อไปเตรียมตัวพบเส้นทางอมตะเส้นใหม่ TOR สดชื่นในปีใหม่นะครับ


อาหารเสริมเลือกตัวไหนดี(3) ตอน ทอร์เส้นทางสู่อมตะ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

by Thiravat Hemachudha (Notes)on Monday, January 9, 2012 at 10:36am

จากตอนที่แล้ว เส้นทางสู่อมตะผ่านยีน Sirtuins ซึ่งมีสาร Resveratrol ทำ หน้าที่ในการควบคุมให้ร่างกาย รวมทั้งสมองแข็งแรง โดยที่แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พอสมควรแต่ยังไม่สามารถจัดเป็นยา โดยน่าจะเป็นแค่ผู้ช่วยพระเอก นั่นก็คือรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อน อาหารหลักเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วปลา ถ้ามีโรคประจำตัวให้คุมด้วยยามาตรฐานให้ถึงขีดสุด และอาหารเสริมจัดเป็นตัวช่วยเท่านั้นในเรื่องของอายุยืนอย่างมีคุณภาพ Resveratrol แม้ จะช่วยระงับผลร้ายไปบ้างที่ทำให้อายุในหนูที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงสั้นลงแต่ในหนูปกติกลับไม่ช่วยยืดอายุนัก แต่กระนั้น อนาคตเริ่มสดใสอีกครั้ง เมื่อมีการประกาศจากห้องปฏิบัติการพร้อมกัน3 แห่ง ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสถาบันศึกษาธรรมชาติของอายุขัยและศึกษากระบวนยืดอายุชราอย่างมีคุณภาพ (National Institute of Aging, www.nia.nih.gov) ว่า Rapamycin ยืดชีวิตออกไปได้

           Rapamycin ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1972  มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราโดยทั้งนี้เป็นผลผลิตจากแบคทีเรีย ซึ่งนำมาศึกษาจากเกาะ Easter (ภาษาพื้นเมือง Rapa Nui) ในมหาสมุทรแปซิฟิกห่างจากชิลี2,200 ไมล์ ตั้งแต่ปี 1964  Rapamycin ยืดชีวิตของหนูออกไปได้อีก12 เปอร์เซ็นต์ และยังได้ผลกับหนูที่ชราแล้ว ทั้งๆที่เครื่องในอวัยวะต่างๆน่าจะเสื่อมไปแล้ว เป้าหมายของ Rapamycin มีการตั้งชื่อว่า“โปรตีนทอร์” (TOR, Target of Rapamycin) ซึ่งพบได้ทั้งในสัตว์และคน โดยยังมีฤทธิ์ในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มาพร้อมอายุขัยที่มากขึ้นซึ่งรวมถึงมะเร็ง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมเบาหวานในผู้ใหญ่ (ชนิดที่ 2)  กระดูกผุบาง และจอประสาทตาเสื่อม

ความเป็นมาของ Rapamycin นับแต่ห้องปฏิบัติการใน มอนทรีออล(Montreal) ชื่อ Ayerst พบสรรพคุณในการยับยั้งเชื้อราและก็ยังได้ทำการศึกษาต่อจนพบว่า Rapamycin ยัง มีฤทธิ์กดระบบภูมิคุ้มกันและสามารถนำไปใช้ป้องกัน ปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายใหม่ โดยในปี คศ.1999สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐขึ้นทะเบียน Rapamycin ให้ใช้ได้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายไต และในปี 2007 บริษัทยาPfizer ได้ขึ้นทะเบียนยา Temsirolimus และบริษัทยาNovartis ได้ขึ้นทะเบียนยา Everolimus เป็นยารักษามะเร็งหลายชนิด

บนเส้นทางคู่ขนานกับการค้นพบสรรพคุณในการรักษามะเร็งความที่ Rapamycin สามารถ คุมและกดการทำงานของยีนซึ่งมีผลในการเติบโตของเซลล์ทั้งจำนวนและขนาดในช่วงที่กำลังแบ่งตัว โดยยีนนี้มีทั้งในยีสต์จนถึงมนุษย์ 

อุปสรรค์สำคัญในการใช้ Rapamycin ที่ จะยืดอายุอยู่ที่ความเป็นพิษและการที่มีผลในการกดภูมิคุ้มกัน (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) 

แม้ว่าTOR จะเสมือนเป็นประตูเปิด-ปิด ความชราแต่ก็ยังมีกลยุทธ์ที่จะเข้าถึงประตูแห่งความสำเร็จโดยใช้วิธีทางอื่นๆผ่านอินซูลินและโปรตีน FoxO รวมทั้งSirtuins ซึ่งน่าจะร่วมในกระบวนการยับยั้ง TOR (กรุณาอ่านตอน 2 และบทบาทของ Resveratrol)

วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ในการยืดชีวิตผ่านทางประตูต่างๆเช่นTOR เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ธรรมชาติ กำหนดมนุษย์ให้ผ่านความเยาว์วัยสดใสของเด็ก-หนุ่มสาวและให้เติบโต จวบจนถึงอายุที่สมควร ยีนต่างๆจะกำหนดให้มนุษย์มีการพัฒนาจนจุดหนึ่งที่มีการเสื่อมโดยจำกัดให้มีพฤติกรรมสมวัย แม้ในอนาคตมนุษย์จะมีอายุยืนกว่า 100 ไม่มีโรคภัยร้ายแรง แต่ก็คงงกๆเงิ่นๆ อยู่ดีเพราะฉะนั้นเราควรเผชิญความตายอย่างสมศักดิ์ศรีและตลอดเวลาที่อยู่ไม่สร้างภาระให้ใคร น่าจะดีกว่านะครับ

Smiley



แถม ..

หนังสือ เคล็ด(ไม่)ลับ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างรู้เท่าทันโฆษณา ( หนังสือ pdf แจกฟรี)    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-08-2012&group=7&gblog=160

หนังสือ ทุกข์ล้นเหลือ เหยื่อโฆษณา ............ของดี ฟรีด้วย โหลดอ่านกันได้เลยครับ     //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=26-10-2012&group=7&gblog=163

"คลอโรฟิลล์" .. ดีจริง ตามที่โฆษณา หรือว่า แค่หลอกเล่น เหมือนกับที่เคย ๆ ...    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-09-2010&group=7&gblog=105

ยา กับ อาหารเสริม (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ต่างกันอย่างไร ???    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=10-08-2008&group=7&gblog=5

อาหารเสริม เลือดจระเข้ ดีจริงหรือ ???    //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-12-2009&group=7&gblog=41

Create Date :23 สิงหาคม 2556 Last Update :23 สิงหาคม 2556 14:20:53 น. Counter : 10398 Pageviews. Comments :0