bloggang.com mainmenu search




นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เจ็บป่วยฉุกเฉิน เมื่อนโยบายยังไม่ชัด ต้องคิดก่อนเข้า

https://www.hfocus.org/content/2017/02/13476

Tue, 2017-02-21 13:58 -- hfocus

ข้อเขียนจาก ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สะท้อนถึงการบริหารจัดการเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินของไทยที่ยังไปไม่ถึงไหน โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้ผู้ป่วยหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อไปฉุกเฉินที่ รพ.เอกชนและโดนเรียกเก็บเงินแบบสุดโหด ล่าสุดแม้จะเปลี่ยนชื่อเป็น "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิรักษาทุกที่" แต่ก็ยังไม่มีการจัดการที่ชัดเจน กระทั่ง นพ.ธีระ เสนอทางเลือกสำหรับประชาชนว่า ท่ามกลางความอึมครึมเช่นนี้ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินตรงเข้า รพ.รัฐไว้ก่อนหากทำได้จะดีที่สุด

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

...เสพข่าวกันจนมึน อึมครึมกันมานาน ไหว้วานใครก็ไม่มีใครกล้า เลยมาเขียนให้อ่านเองละกัน...

นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ" นั้นได้รับการเข็นออกมาอย่างรวดเร็วเมื่อหลายปีก่อน ท่ามกลางความไม่พร้อมของระบบและกลไกต่างๆ ที่จะดูแลประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกลไกการเงิน การเบิกจ่าย ตลอดจนสถานพยาบาลที่ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ภาครัฐ

เอาเข้าจริง เราก็เห็นข่าวการฟ้องร้องขอความเป็นธรรม จากการไปขอรับการดูแลรักษาเวลาเจ็บป่วยไม่สบายฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการไปแล้วได้รับการดูแลที่น่าเคลือบแคลงว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ตลอดจนการเรียกเก็บเงินทั้งในลักษณะการให้ลงนามในใบยินยอมรับสภาพหนี้ หรือการให้วางเงินมัดจำก่อนการรักษาในแต่ละขั้นตอน กระทั่งเคสล่าสุดมีเรื่องวางสร้อยทองค้ำประกันจนดราม่ากันไปทั่วว่า นี่มันเรื่องความเป็นความตายของคน ทำอะไรกันเนี่ย

เวลาเทศกาลอะไรสักที คนเดินทางเยอะ การบาดเจ็บก็เยอะ ปัญหาข้างต้นก็พบเห็นเป็นเท่าทวีคูณ

พอสะท้อนออกมาทางสาธารณะบ่อยเข้าๆ นักการเมืองและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มักร้อนตัว พยายามสยบข่าวด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้มาทำงานหาทางแก้ไขเฉพาะหน้า เพื่อให้ข่าวเงียบไปตามเวลา

ล่าสุด นโยบายนี้ได้แปลงกายออกมาเป็น "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิรักษาทุกที่"

เพราะเค้า (He/she who should not be named) ต้องการปลดล็อคเฉพาะหน้าอีกเช่นเคย เป็นอีเว้นท์ออกสื่อให้ทันหน้าเทศกาล

แต่เชื่อไหมว่า เอาเข้าจริง ประกาศนโยบายแปลงกายดังกล่าวก็จะไม่พ้นวังวนปัญหาเดิม ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ฉุกเฉินมีหลายระดับ แม้แต่ทางการแพทย์ หน้างานประเมินแล้วบางครั้งยังต้องเถียงกันว่า เฮ้ย นี่มันระดับไหน เหลือง แดง ดำ หรือสีรุ้ง นับประสาอะไรกับตาสีตาสา ประชาชี ที่จะแยกแยะว่าตรูจะฉุกเฉิน "วิกฤติ" สีแดงดังที่เค้าว่าไหม

แหม...ถึงจะลงรายละเอียดซะเยอะแยะ เพื่อหวังจะให้ชัดเจน แต่ดูดีๆ ก็ไม่ชัดเจนอยู่เช่นเดิม

เค้าบรรจงร่างมาให้ประชาชีอ่านว่า

"...วิกฤตคือ...

1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียก หรือกระตุ้น ไม่มีชีพจร จำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที

2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน

3. ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และ ลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ หรือ ร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ

4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น

5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ

6. อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด หรือกำลังชักขณะแรกรับที่จุดคัดแยก..."

ตาสีตาสา ยายมายายมี คุณพี่คุณน้อง แทบหมดสิทธิที่จะประเมินอาการตนเองหรือผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง

ไม่สบายมีอาการกระทันหันขึ้นมา ย่อมต้องตกอกตกใจ หวั่นเกรงว่าจะอันตรายถึงชีวิต โอกาสคิดว่าวิกฤติย่อมมากเป็นเงาตามตัว แต่ขืนมุ่งไป รพ.ต่างๆ โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ อาจเป็นหนี้ได้ง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว

8 ปีก่อน มีงานวิจัยที่แคนาดา ลองตรวจสอบว่าหมอที่หน้างานนั้นวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินที่คนไข้แสดงอาการทางระบบประสาทในรูปแบบต่างๆ ได้ถูกต้องเพียงใด ผลปรากฏว่า จากจำนวนทั้งหมด 500 ครั้ง ราว 1 ใน 3 วินิจฉัยไม่ถูกต้อง (1)

เกือบ 5 ปีก่อน ในประเทศกลุ่มยุโรปก็ศึกษาในลักษณะคล้ายกันในคนไข้ฉุกเฉินราว 600 ครั้ง ผลพบว่า ราวร้อยละ 20 วินิจฉัยภาวะฉุกเฉินด้านระบบประสาทคลาดเคลื่อนไปจากผลวินิจฉัยจริง (2)

2 ตัวอย่างข้างต้นคือผลที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ที่เราทราบดีว่าเป็นผู้มีความรู้และทักษะสูง

ดังนั้นน่าจะพออนุมานได้ว่า ประชาชนคนธรรมดาจะมีผลเช่นไร และส่งผลต่อความสามารถในการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องการไปโรงพยาบาลแน่ๆ

2. ต่อให้ฉุกเฉินสีแดงแจ๊ด การบอกว่ามีสิทธิรักษาทุกที่ โดยอ้างว่าใช้กฎหมายบังคับให้สถานพยาบาลทุกที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ต้องปฏิบัติตามตารางราคาที่กำหนดนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงตามมา

เอกชน...ย่อมหวังผลกำไร หากหนทางที่มีไม่ได้ทำให้เกิดกำไรอันเป็นประโยชน์ร่วม ย่อมทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและไม่ยั่งยืน แม้จะใช้กฎหมายต่างๆ มาบังคับให้เข้าร่วม หรือจะขอร้องในเชิงมนุษยธรรม ก็คงเป็นไปได้ชั่วคราว แต่สุดท้ายจะสะท้อนออกมาผ่านทางผลการดำเนินงาน

ถามว่าผลจะเป็นอย่างไร? เดาได้ไหม? จะลองยกตัวอย่างให้ดู...

ข้อมูลล่าสุด หากฉุกเฉินวิกี๊ดดดดวิกฤติ แล้วต้องไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

หากแอดมิทห้องธรรมดา...ค่าห้องเบิกได้ 400 บาทต่อวัน (รวมค่าอาหารแล้วนะ ห้ามเบิกแยก ^_^)

แต่ขึ้นชื่อว่าฉุกเฉินวิกฤติ โอกาสแอดมิทห้องไอซียู...ฉันเห็นคุณ...ย่อมมีสูงหากไปเอกชน แต่หากไป รพ.รัฐก็มักมีปัญหาเตียงเต็ม...เบิกได้วันละ 1,600 บาท รวมอาหารแล้วเช่นกัน

เจ้าพ่อประคุณเอ๋ย...ไปเที่ยวพักผ่อนยังแทบจะหาโรงแรมราคาถูกแบบนี้ได้ยากเย็นนัก นี่รักษาพยาบาล แต่เบิกได้แค่นี้!!!

อ่ะ แถมอีกหน่อย...

หากเกิดต้องทำหัตถการเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากตาหูคอจมูก...เชื่อไหมว่าโรงพยาบาลเค้าเบิกค่าใช้จ่ายคืนจากกองทุนต่างๆ ได้แค่ค่ากาแฟชื่อดังแก้วนึง

ค่าตัดชิ้นเนื้อที่ตับ เบิกได้เท่ากับเอากล้องส่องรูก้น ราคาน้อยกว่าค่าปรับขับรถฝ่าไฟแดงครึ่งนึง

ที่น่าตกใจคือ หากช่วยฟื้นชีวิต หรือภาษาบ้านๆ คือปั้มหัวใจน่ะ ช่วยเสร็จแล้ว เบิกได้เท่าราคาบุฟเฟ่ต์หัวนึงเท่านั้นเอง

แม้จะมีค่าบริการของวิชาชีพเพิ่มอีกหน่อย แต่มันจิ๊บจ๊อยมาก เกินกว่าที่ทุกคนจะรับได้ นอกจากโรงพยาบาลรัฐและบุคลากรภาครัฐ ที่ล้วนทำงานแบบไม่มีปากมีเสียง ขาดทุนก็ยอม เงินเดือนและโอทีไม่ออกก็ไม่รู้ทำไง

สาธยายมาถึงตรงนี้คงเห็นชัดใช่ไหมว่า ฉุกเฉินนั้นหากท่านจะไป จะไปไหน?

ครับ...หากแนะนำตรงๆ คือ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น หากเกิดปัญหาฉุกเฉิน โปรดตรงดิ่งไปที่ รพ.รัฐเถิดครับ

ยกเว้นแต่คุณจะทำใจระดับหนึ่งว่า พร้อมจะดูแลค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่มันไม่วิกฤติจริงหรือส่วนเกินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่สามารถย้ายออกไปหลังจาก 3 วัน

สัก 10 ปีก่อน นักวิจัยในอเมริกาเคยมีการคาดประมาณว่า หากคนเกษียณแล้วอยากที่จะไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือคนใกล้ชิด จำเป็นต้องมีเงินเก็บไว้ประมาณ 8 ล้านบาท (ประมาณ 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐในสมัยนั้น) เพื่อใช้เป็นค่าดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งนี้เค้าบอกไว้ว่าการทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชนหรืออื่นๆ นั้นไม่ได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเท่าไรนัก เพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษานั้นสูงเกินกว่าที่ใดๆ จะรับความเสี่ยงแทนได้ทั้งหมด เราจึงเห็นแต่ต้องมีการร่วมจ่ายนั่นเอง และการร่วมจ่ายดังกล่าวนั่นแหละที่ส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลายมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ในเมืองเรายังไม่มีใครกล้าคาดประมาณ เพราะดูเหมือนว่าเรามีทางเลือกเยอะ จนใช้ชีวิตลั่ลล้าต่างจากฝรั่ง

แต่หากตามข่าวดีๆ สัญญาณการปฏิรูประบบสวัสดิการและกองทุนสุขภาพต่างๆ ดูแรงขึ้นทุกที แถมวงอำนาจก็ปล่อยข่าวบ่อยๆ ถึงการร่วมจ่าย และการผลักคนไปตกอยู่ในเงื้อมมือบริษัทประกันในไม่ช้า

เรามีข้อมูลเพียงว่า มีการวิจัยเมื่อไม่กี่ปีก่อนบ่งชี้ว่าค่ายาและเครื่องมือแพทย์ใน รพ.รัฐกับเอกชนนั้นต่างกันอย่างมาก โดยต่างกันสูงสุดถึง 60-400 เท่าเลยทีเดียว

สังคมในอนาคตเราและลูกหลานจะใช้ชีวิตยากลำบากขึ้น หากไม่เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้

แนวทางปฏิบัติที่อยากฝากไว้พิจารณาสำหรับพวกเราในฐานะประชาชนคือ

1. ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี รักษาสมดุลในการกินการจับจ่ายใช้สอย การพักผ่อน การทำงาน

2. เก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน แค่เรื่องการรักษาพยาบาล หากกันไว้สัก 200,000 บาทก็จะดี (ตัวเลขนี้เดาจากการสังเกตว่าเรามักก้าวตามหลังอเมริกาประมาณ 10-15 ปีในหลายด้าน และปัจจุบันเราเห็นแนวโน้มว่า รักษาที่เอกชนแบบผู้ป่วยนอกมักเป็นหลักพัน นอนพัก รพ.มักเป็นหลักหมื่น และการผ่าตัดใหญ่มักเป็นหลักแสน แต่บอกไว้ก่อนว่าผ่าสมองที่เอกชนค่าใช้จ่ายอาจเป็นล้าน หัวใจครึ่งล้าน สองแสนที่เตรียมไว้อาจพอสำหรับผ่าตัดอื่นที่เล็กกว่านั้น)

3. หมั่นตามข่าวและศึกษาเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง หรือประกันเอกชนก็ตาม จะได้ไม่มึนเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน

4. สร้างสัมพันธ์อันดีกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือและแนะนำยามจำเป็น

5. หมั่นช่วยกันทำนุบำรุงโรงพยาบาลรัฐตามกำลังที่มี ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันให้กำลังใจคนทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วนี่คือบ้านของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

6. เลิกมองการดูแลรักษาความเจ็บป่วยเป็นเหมือนบริการที่ซื้อมาขายไป เพราะเอาเข้าจริง เวลาไม่สบายหนัก ท่านจะทราบทันทีว่า มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ส่วนกลุ่มผู้บริหาร และวงอำนาจนั้น สิ่งที่ควรทำก่อนจะสายเกินไปคือ

1. ยอมรับความจริงว่านโยบายที่พยายามผลักดันนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหน หากยังดำเนินการแบบที่ทำมา

2. ขอโทษประชาชน และแก้ไขนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง "คิดก่อนเข้า" และ "รณรงค์ให้เกิดการวางแผนชีวิต หากเกิดภาวะฉุกเฉิน ไปที่ รพ.รัฐจะบรรเทาปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน"

3. หาก รพ.เอกชนบางแห่งจะเข้าร่วมภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนด ก็ควรเป็นไปด้วยความเต็มใจ ไม่บังคับ

4. สนับสนุนคน เครื่องมือ งบประมาณแก่ รพ.ให้มากกว่าปัจจุบัน ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ลดภาระที่ไม่จำเป็น และเลิกป่วนระบบด้วยแนวคิดสร้างงานเอาข่าวเฉพาะหน้าแบบที่เห็นกันเนืองๆ ไม่ว่าจะเรื่องฉุกเฉิน ปั้มลูก ติดดาวสถานบริการสาธารณสุข หรืออื่นๆ

5. ใส่ใจคุณภาพชีวิตคนทำงานและครอบครัว รักษาพวกเค้าให้อยู่ในระบบรัฐอย่างมีความสุข

ฉุกเฉิน...คิดก่อนเข้า...อย่ามัวเมากับนโยบายที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและภาระแก่คนใกล้ชิด...คิดวางแผนช่วยเหลือตนเองล่วงหน้า...ตรงมาโรงพยาบาลรัฐก่อนหากทำได้

ด้วยรักต่อทุกคน

หมอธีระ

(ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

แหล่งข้อมูล

1. Diagnostic accuracy of neurological problems in the emergency department. (Available at: www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18714802)

2. Accuracy of prehospital diagnoses by emergency physicians: comparison with discharge diagnosis. (Available at: www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21971293)


...............................

แถม เรื่องที่เกี่ยวข้อง ..

infographic9 ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เจ็บป่วยฉุกเฉินเมื่อนโยบายยังไม่ชัด ต้องคิดก่อนเข้า

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-02-2017&group=7&gblog=212

เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว นโยบายดีแต่การปฏิบัติล้มเหลว ?...

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-10-2014&group=7&gblog=185

สพฉ. จับมือ สธ.พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิ์”

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=02-04-2015&group=7&gblog=186

คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง... ( นำมาฝาก )

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=28-05-2015&group=7&gblog=189

โรงพยาบาลเอกชน "แพง" ..ข้อมูลที่ยังไม่รู้ หรือว่า แกล้งไม่รู้ ? ( ฟังความอีกข้าง ^_^ )

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-06-2015&group=7&gblog=190

ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล Online ได้ที่//www.hospitalprice.org หรือ สายด่วนสุขภาพ 02 193 7999

Create Date :21 กุมภาพันธ์ 2560 Last Update :6 มิถุนายน 2560 22:11:28 น. Counter : 3593 Pageviews. Comments :1